ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
+-+-+-+ย้อนรอย 8 ปี ผู้หญิง 5 บาป บทบาททางเพศของสตรีที่ (ไม่) เปลี่ยนไปของหนังคัลท์ร่วมสมัย+-+-+-+

เนื่องจากเป็นวโรกาสอันดี (หรือเปล่า?) ที่ตอนนี้ดีวีดี "ผู้หญิง 5 บาป 2" ออกวางแผงทั้งในร้านดีวีดีทั้งแบบจำหน่ายและให้เช่าแล้ว (มีสายข่าวรายงานมาหลายท่าน บอกตรงกันว่า ตอนนี้เกลี้ยงแผงแล้ว!)
จึงได้โอกาสนำบทความวิเคราะห์ "ผู้หญิง 5 บาปภาคแรก" ซึ่งเคยเผยแพร่ในนิตยสาร Starpics มาปัดฝุ่นใหม่ นำมาเผยแพร่ในบลอกอีกรอบ

ซึ่งบทความนี้ เป็นบทความแรกของข้าพเจ้าที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร starpics
ก่อน ที่กองบก.จะให้โอกาสข้าพเจ้าได้เขียนบทความส่งให้นิตยสารเล่มนี้เรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ (ขอขอบคุณกองบก. starpics มา ณ โอกาสนี้ด้วย อิอิ)

บทความนี้ วิเคราะห์ถึงหนังเรื่องนี้ในมิติสังคม เพศ สตรีนิยม หนังอีโรติค และอื่นๆ อีกมากมาย ใครที่ยังไม่ได้ดู อ่านบทความนี้จบแล้วลองไปหามาดูได้ แต่ถ้าใครดูแล้วอยากเขวี้ยงแผ่นทิ้งก็ตัวใครตัวมันนะครับ ผู้เขียนไม่ขอรับผิดชอบในทุกกรณี 55

**************************

ย้อนรอย 8 ปี ผู้หญิง 5 บาป
บทบาททางเพศของสตรีที่ (ไม่) เปลี่ยนไปของหนังคัลท์ร่วมสมัย

โดย บดินทร์ เทพรัตน์

*เนื่องจากผู้เขียนไม่กลัวว่าจะถูกสาปเป็นหมู บทความนี้จึงมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องในตอนจบ*


-จากหนังห่วยสู่ตำนานหนังไทย



ในบรรดาหนังประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก หนังคัลต์ถือเป็นหนังอีกประเภทหนึ่งที่น่าศึกษา เพราะเป็นหนังที่มีลักษณะแปลกประหลาด ยากจะคาดเดาว่าว่าคนดูจะยี้ใส่ และไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าหนังเรื่องไหนจะกลายเป็นหนังคัลต์ที่มีคนดูซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคตหรือจบชะตากรรมลงที่กระบะซีดีราคา 19 บาท

เหตุเพราะหนังคัลต์ไม่ได้แปลว่าหนังห่วย แต่แปลว่า เป็นหนังที่มีลักษณะและเกณฑ์คุณภาพต่างกับกระแสหลักของผู้ชมในสังคม แต่กลับสามารถครองใจผู้ชมกลุ่มหนึ่งได้เป็นเวลานาน ดังนั้นเราจึงไม่มีทางคาดเดาได้แน่นอนเลยว่า หนังเรื่องไหนที่คนดูจะชอบจนกลายเป็นหนังคัลต์
ต่างประเทศมีหนังคัลต์ที่น่าสนใจและฮิตผ่านกาลเวลาหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น A Clockwork Orange, The Rocky Horror Picture Show, Blade Runner, Blue Velvet, เปรตเดินดินกินเนื้อคน หรือ หนังสยองขวัญของดาริโอ อาร์เจนโต้ แล้วหนังไทยล่ะ มีเรื่องไหนบ้างที่เราสามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า หนังไทยเรื่องนี้คือ หนังคัลท์
หากพิจารณาจากนิยามของหนังคัลต์ของธิดา ผลิตผลการพิมพ์1ที่ว่า “หนังคัลท์มักมีลักษณะบางอย่างซึ่งแปลกประหลาด หลุดโลก การเล่าเรื่องหรือเทคนิคภาพยนตร์ มีลักษณะไม่ธรรมดาที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่น อาจจะมีตัวละครที่หวือหวาโฉ่งฉ่างอย่างกับการ์ตูน เนื้อเรื่องที่ไม่สนใจความจริง บ่อยครั้งจะได้รับสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นประเด็นถกเถียง” แล้ว หนังไทยที่อาจเข้าข่ายได้ว่าเป็นหนังคัลท์คลาสสิคอันดับต้นๆ อย่างไม่มีข้อสงสัย น่าจะเป็นหนังเรื่อง “ผู้หญิง 5 บาป”

หนังที่หลายคนก่นด่าเรื่องนี้ สามารถทำในสิ่งที่หนังไทยคุณภาพดีหลายเรื่องทำไม่ได้ นั่นคือ เป็นที่จดจำและกล่าวขวัญถึงจากนักดูหนังชาวไทยตลอดโดยตลอด ซึ่งขัดกับลักษณะทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของหนังไทยส่วนใหญ่ นั่นคือ อยู่ในลักษณะเห่อของใหม่ ลืมของเก่า หนังไทยที่เก่าเกิน 3-4 ปีมักจะถูกหลงลืม ไม่มีการอนุรักษ์หรือเก็บรักษาให้ผู้ชมย้อนกลับไปดูได้ง่ายๆ ต่างจากหนังต่างประเทศเก่าๆ ที่ถึงแม้จะเก่าสักกี่ปีแต่ก็สามรถหาดูได้ง่ายกว่าหนังไทยในยุคเดียวกันหรือใหม่กว่า ในขณะที่หนังที่ดังกว่าเรื่องอื่น เช่น แฟนฉัน องค์บาก ผีหัวขาดถูกหลงลืมไปหมดแล้ว แต่หนังเรื่องนี้ สามารถอยู่ทนท้าทายกาลเวลา ถูกกล่าวขวัญจนถึงบัดนี้ แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 8 ปีแล้ว (หนังฉายวันแรกเมื่อวันที่ 4 ธค. 2545) ทั้งที่ต้องบอกว่า ชะตากรรมที่หนังเรื่องนี้ประสบ ก็ไม่ต่างจากหนังคัลต์เรื่องอื่น นั่นคือ ไม่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านรายได้และคำวิจารณ์ ทางรายได้ อาจจะถือว่าไม่บาดเจ็บมาก เพราะทำเงินไปได้เกือบ 20 ล้าน และหนังไปประสบความสำเร็จจากวีซีดีตอนหลัง แต่ทางด้านผลตอบรับจากคนดูและนักวิจารณ์ ต้องบอกว่าเข้าข่าย “หายนะ” เพราะถูกโจมตีอย่างรุนแรงถึงคุณภาพของหนัง ในการสอบถามถึงหนังที่ห่วยที่สุดตั้งแต่เคยดูมาในความคิดของใครหลายๆ คนทางอินเตอร์เน็ท หนังเรื่องนี้มักจะติดโผเสมอ ความจริงหนังเรื่องนี้อาจหายไปอย่างเงียบๆถ้าไม่ได้บทความวิจารณ์หนังซึ่งเป็นบทวิจารณ์ที่เป็นที่กล่าวขวัญอย่างสูง ของนักเขียนในโลกอินเตอร์เน็ทอย่างเจ๊สี่3เป็นตัวจุดชนวน บทวิจารณ์นี้ยิ่งทำให้เสียงตอบรับที่ย่ำแย่ของหนังถูกแพร่กระจายและผลิตซ้ำจนหนังเรื่องนี้ถูกกล่าวขวัญหนักขึ้นกว่าเดิมอีก
หนังเรื่องนี้ฉบับอันเซ็นเซอร์ยังถูกถามถึงในอินเตอร์เน็ทตลอด (เนื่องจากดีวีดีที่ออกวางขายของหนังเรื่องนี้ ถูกตัดออกบางส่วนเมื่อเทียบกับฉบับฉายโรง) ยังถูกพูดถึงอยู่เนืองๆ เวลามีคนถามถึง สุดยอดหนังหักมุม หรือหนังที่ทำให้เหวอที่สุด ตั้งแต่เคยดูมา หนังกลายเป็นประเด็นหลายอย่าง อย่างล่าสุดที่ขึ้นหน้าหนึ่ง คือ การที่นักแสดงท่านหนึ่งซึ่งตอนหลังได้กลายเป็นสส. ถูกโจมตีโดยเวบไซต์แห่งหนึ่งว่า ไปเล่นหนังเรตอาร์2

ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงยังรักษาความดังและการถูกกล่าวขวัญถึงได้ นั่นเป็นคำถามที่ชวนให้สงสัยและสมควรมีการหาคำตอบ

จริงอยู่ที่ว่า ความที่หนังเรื่องนี้ เป็นหนังอีโรติค ขายเซ็กซ์ ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ชมที่ต้องการอะไรวับๆ แวมๆ อยู่แล้ว อีกทั้งหนังประเภทนี้เป็นประเภทที่แทบจะไม่มีให้เห็นในหนังไทยสมัยใหม่ เวลาที่มีใครถามถึงหนังอีโรติคไทยที่ฉายบนดิน ชื่อแรกที่คนดูคิดถึง (และอาจเป็นเรื่องเดียวที่คิดออก) นั่นคือ หนังเรื่องนี้ แต่นั่นคือเหตุผลหลักเหตุผลเดียวหรือ

เมื่อพิจารณาคุณภาพของหนังตามเนื้อผ้าแล้ว ต้องขอบอกว่า ผู้หญิง 5 บาป เป็นหนังที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน หนังมีความขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัวตลอดทั้งเรื่อง ทั้งเทคนิคภาพยนตร์อย่างเรื่องการถ่ายภาพ ตัดต่อ ฉาก การแสดง ดนตรีประกอบที่แย่กว่าระดับมืออาชีพ บทภาพยนตร์ที่ไร้ชั้นเชิง อยากเล่าอะไรก็เล่าผ่านปากตัวละครและการกำกับที่เล่นสนุกกับหนังจนเกินเหตุจนหลงลืมที่จะควบคุม ความลงตัวของหนัง

แต่ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบของหนัง สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หนังมีความสนุกและมีความบันเทิงมอบให้แก่ผู้ชมค่อนข้างสูง ตัวหนังมีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ ทั้งมุขตลกที่ปล่อยออกมาในปริมาณถี่ทั้งขำบ้างฝืดบ้าง (แต่ต้องขอชื่นชมที่กล้าปล่อย) บวกกับดารารับเชิญชื่อดังเกือบ 30 ชีวิต ทั้งนักร้อง นางแบบ นักแสดง อาจารย์ นักวิชาการ ไฮโซ บรรณาธิการ ที่มารับบททั้งในรูปแบบทั้งล้อเลียนตัวเอง เช่น โจ นินนาทในบทขวัญ จาเรื่องขวัญเรียม และมีการรับบทที่แตกต่างโดยบิดขนบจากภาพจำพลิกความคาดหมายของคนดู เช่น ทั้งการนำเด๋อ ดอกสะเดามาเป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาล เอาพงษ์สิทธิ์ คำภีร์เป็นยามที่แอบถ่ายคลิปโป๊ เป็นต้น

ซึ่งถ้าจะยืมศัพท์เทคนิคที่นักวิจารณ์หนังต่างประเทศชอบใช้ ต้องบอกว่า หนังเรื่องนี้มัน แย่จนกลายเป็นดี หรือ แย่จนกลายเป็นสนุก ซึ่งสิ่งนี้อาจขึ้นเหนือความคาดหมายของผู้กำกับ เนื่องจากลักษณะพิเศษของหนัง ที่มีร่องรอยสะดุดตลอดเวลา จนเป็นการกระตุ้นคนดูให้ตื่นตัว ไม่หลุดไปอยู่ในโลกของหนัง ทำให้สุดท้ายคนดูเลิกหวังในความสมจริง หันมาขำกับร่องรอยสะดุดของหนังแทน จนผู้ชมเปลี่ยนไปมองหนังเรื่องนี้ในรูปแบบการจับผิด หรือมองหนังในรูปแบบของหนัง surreal ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ตามรูปแบบของหนังของหลุยส์ บุญเยลแทน (ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ได้จงใจใช้แนวคิดนี้ในการสราง เพราะตัวหนังเต็มไปด้วยมายาคติเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมไทยอีกมากมายดังจะกล่าวต่อไป)

และสิ่งที่ยิ่งเสริมความดังของหนังเรื่องนี้ ให้ดังสู่ขีดสุด นั่นคือ จุดหักมุมสุดกู่ในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นการหักมุมแบบอยากหักก็หักโดยไม่มีการปูความเป็นไปได้หรือมีเบาะแสให้ผู้ชมทราบล่วงหน้ามาก่อนทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นจุดหักมุมแบบหักคอที่สร้างความตกตะลึงแก่ผู้ชมถึงขีดสุด จนทำให้จุดหักมุมนี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้ชมมักจะคิดถึง มากกว่าตัวหนังเสียอีก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับหนังเรื่อง who are you? ใครในห้อง ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่มักจะกล่าวขวัญถึงบทสรุปในตอนท้ายที่สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชมส่วนใหญ่ จนบดบังสิ่งที่อยู่ในตัวหนังไปเลย

ซึ่งด้วยความหวือหวาทั้งหมดที่ผ่านมา ทำให้เวลาใครพูดหรือเอ่ยถึงหนังเรื่องนี้ พวกเขามักจะโฟกัสไปที่มุข จุดหักมุม หรือส่วนประกอบอื่นๆ ของหนังมากกว่า จนมองข้ามสิ่งที่น่าสนใจในตัวเรื่องหักหรือเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของเรื่อง ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะหนังเรื่องนี้มีแง่มุมอีกหลายอย่างที่น่าสนใจและน่าพูดถึง ทั้งในด้านเนื้อหา แง่มุมทางเพศในแง่ต่างๆ แง่มุมทางศีลธรรม แง่มุมเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ และอื่นๆ
เรามาวิเคราะห์กันดีกว่าว่า แง่มุมต่างๆ ที่กล่าวมานี้ มีรายละเอียดอะไรบ้าง


-บาปของตัวหนัง



การที่หนังได้รับก้อนอิฐจากผู้ชมมากมายขนาดนี้ นอกจากจะต้องโทษที่ตัวหนังเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังต้องโทษที่การประชาสัมพันธ์ของตัวหนังด้วย ทั้งโปสเตอร์ซึ่งเป็นรูปตัวละครหญิงในเรื่องกำลังทานอาหารที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งเน้นจุดขายเรื่อง sex ของหนัง จนทำให้คนดูหนังคาดหวังว่า จะได้เจอหนังอีโรติคแบบโจ๋งครึ่ม ขายความสวยงามของร่างกายสตรีและฉากเซ็กซ์ ซึ่งหนังเรื่องนี้ไม่มีให้ ผู้ชมที่เข้าดูแล้วรู้สึกขำมากกว่าสยิวจึงรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง (เช่นเดียวกับการโปรโมตหนังเรื่อง รักแห่งสยาม ที่มีการโปรโมตเนื้อหาในรูปแบบที่สวนทางกับสิ่งที่หนังเป็นจริงๆ)

แต่คุณจะเข้าใจในตัวหนังมากขึ้น ถ้าคุณมองว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนัง Erotic แต่เป็นหนัง black comedy หรือตลกร้าย โดยมีเรื่องเพศในสังคมเป็นเป้าหมายหลักที่หนังเรื่องนี้พยายามเสียดสี ซึ่งหากจะเปรียบหนังเรื่องนี้กับหนังหรือซีรีย์ต่างประเทศสักเรื่อง ผู้หญิงห้าบาปน่าจะเปรียบได้กับ “sex and the city” เพราะเป็นการพูดเรื่องหญิงสาวในเมืองกับเรื่องเพศในเชิงเสียดสีเช่นกัน (เพียงแต่ ความคมคายต่างกันหลายขุม)
ตัวละครหลัก 5 คนในหนังเป็นตัวแทนของหญิงสาวผู้ใช้ชีวิตในเมือง ได้แก่ แอน (ศลยา ปิ่นนรินทร์) พยาบาลสาวผู้มีเซ็กซ์กับคนไข้, จอย (ทอฝัน จิตธาราทิต) ครูมีอะไรกับลูกศิษย์ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นหลานตัวเอง, ก้อย (กมลชนก เวโรจน์) สาวไฮโซผู้หนีปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่จนได้กับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, แหม่ม (ชุติมา เอเวอรี่) สาวเลสเบี้ยนเจ้าของบริษัทโฆษณาผู้ร่วมรักกับยามของบริษัทตัวเอง และจุ๋ม (คลาวเดีย จักรพันธุ์) เจ้าของฟาร์มสุนัข ผู้กุมความลับของเรื่องทั้งหมด ซึ่งเดินทางมางานศพของเพื่อน แล้วได้มีการนัดสังสรรค์กันที่บ้านของจุ๋ม สุดท้าย เมื่อจิบไวน์จนเมา ทั้ง 5 สาวจึงแข่งกันเล่าเรื่องประสบการณ์เพศของตัวเองที่คิดว่าเลวร้ายและบาปที่สุด

หากพิจารณาดูดีๆ จะเห็นว่า ลักษณะของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ omnibus หรือภาพยนตร์ที่แบ่งเป็นตอนสั้นๆ หลายตอนในเรื่องเดียว ซึ่งเป็นที่นิยมในภาพยนตร์ไทยยุคปัจจุบัน เช่น 4 แพร่ง, 5 แพร่ง, ปายอินเลิฟ, ตายโหง หรือปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น โดยเปลี่ยนจากเรื่องผี หรือเรื่องรัก มาเป็นเรื่องประสบการณ์เซ็กซ์ 5 เรื่องแทน โดยทั้ง 5 เรื่องมีลักษณะเป็นเอกเทศไม่เชื่อมต่อกัน ตัวละครไม่ซ้ำกัน (ยกเว้นในฉากรวมที่ตัวละครหลักทั้ง 5 คนล้วมวงคุยกัน) และสุดท้ายมีการจบแบบหักมุม

และถ้าเราพิจารณาตัวหนังในวัฒนธรรมของสื่อทางเพศดีๆ เราจะพบว่า ที่จริงแล้วหนังเรื่องนี้ คือ หนังสือปกขาวในรูปแบบของหนังนั่นเอง

รูปแบบของหนังมีลักษณะคล้ายเรื่องสั้นในหนังสือปกขาว นั่นคือ ขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยความใคร่มากกว่าความรัก และมีการใช้เนื้อเรื่องที่ too good to be true และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ยากที่จะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงเพื่อสร้าง male sex fantasy ต่อผู้เสพสื่อเพศชาย ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในสื่ออื่น เช่น การ์ตูนโป๊, หนัง AV, หนังสือปกขาว หรือนิยายปลุกใจเสือป่า ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของสื่อเหล่านี้เป็นเพศชาย (ในบทความนี้ของดเว้นไม่พูดถึงสื่อลามกของเพศหญิงหรือเพศที่สาม) ซึ่ง pattern ของเนื้อเรื่องเหล่านี้มักจะมีลักษณะเป็นเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีสถานะหรือลักษณะต่างกัน เช่น ผู้ชายที่เจนโลกกับผู้หญิงที่บริสุทธิ์ ผู้หญิงที่ฐานะสูงส่งกับชายหนุ่มที่ดูด้อยกว่า เป็นต้น ซึ่งผู้หญิง 5 บาปได้นำ pattern นี้มาใช้ประโยชน์เต็มที่ ต่างกันที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เลือกที่จะผลักดันความเป็นอีโรติดให้สุดทาง แต่กลับเบี่ยงเบนมาอีกทาง นั่นคือ มองเรื่องเพศเล่านี้เป็นเรื่องตลกร้าย ซึ่งตลกร้ายดังกล่าว ผู้กำกับเลือกที่จะผลักมันให้ไปในทางเหนือจริง จนทำให้คนดูมองว่าทุกสิ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งไร้สาระหรือ absurd ในเรื่องจึงมีสถานการณ์ที่ไร้เหตุผล เหลือเชื่อและชวนขำขันมากมาย เช่น ฉากไอ้ขวัญเจอตัวละครในหนังแล้วคิดว่าเป็นอีเรียม ฉากเจ้ากอแก้วตัดริบบิ้น และฉากที่สำคัญที่สุดคือ ฉากที่ตัวละครที่เป็นแม่มดสาปตัวละครอื่น ซึ่งถ้าดูผ่านๆ อาจจะมองว่า เป็นฉากที่เหลวไหล แต่ถ้าเรามองว่า หนังทั้งเรื่องคือ หนังที่มีความ absurd แล้ว เราจะมองฉากเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนไปกับตัวหนังทั้งเรื่องทันที และด้วยเทคนิคภาพยนตร์ที่ลักปิดลักเปิด ไม่ลงตัว นั่นยิ่งทำให้คนดูตระหนักอยู่เสมอว่านี่คือหนัง ส่งผลให้คนดูไม่ใส่ตัวเองลงไปในตัวละครเหมือนหนัง erotic ทั่วไป (แน่นอนว่า เวลาเราดูหนังอย่าง The Lover เราคงอดไม่ได้ที่จะแทนตัวเราเองเป็นพระเอก แต่สำหรับเรื่องนี้ เราคงไม่แทนตัวเองเป็นยาม มอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้ากาม แน่นอน) นั่นยิ่งทำให้เกิดเป็นผลดีโดยไม่คาดฝัน นั่นคือ ทำให้หนังกลายเป็น absurd มากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่อง irony ที่ความไม่ลงตัวของหนัง ส่งผลให้หนังเรื่องนี้เกิดความลงตัวขึ้นมาได้


ชะตากรรมหนัง erotic ในประเทศไทย



จะสังเกตว่า หนังเรื่องนี้สามารถเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นถึงการปิดกั้นมุมมองเรื่องเพศของวัฒนธรรมไทยได้ ซึ่งสาเหตุที่หนังออกมาเป็นลักษณะแบบนี้ หลายครั้งที่สุกิจ นรินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์ออกตัวถึงสาเหตุที่ตัวหนังและตอนจบออกมาเป็นแบบนี้ว่า เกิดจากกองเซนเซอร์ไทยที่ทำให้เขาไม่สามารถพูดเรื่องนี้ออกมาตรงๆได้ ซึ่งแน่นอนว่า อิทธิพลของกองเซนเซอร์ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แรงบีบจากองค์กรสตรีหรือผู้ชมกลุ่มอนุรักษ์นิยมเรื่องเพศซึ่งจ้องจะต่อต้านก็เป็นอีกสาเหคุนึง แต่อิทธิพลของมุมมองที่สังคมไทยมีแต่เรื่องเพศในเรื่องต่างๆ (เช่น ปิตาธิปไตย ฯลฯ) ก็มีอิทธิพลต่อสุกิจเช่นเดียวกัน โดยสิ่งนี้มีทั้งที่แทรกอยู่ในตัวหนังตรงๆ และแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดของหนังซึ่งผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงต่อไป

และด้วยอิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ ทำให้หนังเรื่องนี้และหนังอีโรติคไทยที่จะมีการสร้างในอนาคต ไม่มีทางที่เป็นได้อย่างหนังอีโรติคระดับโลกอย่าง In the Realm of the Senses, The Lover หรือ Last tango in Paris ได้เลย สาเหตุที่หนังพวกนั้นสาเหตุเป็นตำนาน และเป็นที่ถูกกล่าวขวัญถึงทุกวันนี้ เนื่องมาจากการที่หนังเข้าใจถึงความเป็น erotic และเลือกที่จะผลักหนังไปในเส้นทางนั้นได้อย่างสุดทาง
ก่อนอื่น เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า ลักษณะของหนังอีโรติค เป็นอย่างไร หนังอีโรติค คือ หนังที่เน้นไปในทางเรื่องเพศ ความใคร่ สเน่หาที่มีต่อกันของตัวละคร ซึ่งลักษณะของวัฒนธรรมดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นสิ่งแปลกปลอมในวัฒนธรรมไทย เพราะเราสามารถพบเจอได้ตามศิลปะไทยเก่าๆ เช่น ลำตัด เพลงอีแซว บทอัศจรรย์ในวรรณกรรมไทย เช่น ขุนช้างขุนแผน ลิลิตพระลอ และศิลปะกรรมฝาผนัง น่าเสียดาย ที่เหตุด้วยกระบวนการสร้างความเป็นไทยของรัฐไทยสมัยใหม่ ทำให้การพูดเรื่องเพศอย่างโจ๋งครึ่มกลายเป็นเรื่องผิดบาป เลวร้าย และห้ามพูดถึง จนทำให้ประชาชนต้องหลบไปพูดเรื่องนี้ตามใต้โต๊ะใต้เตียงและที่ที่อำนาจรัฐสาดไฟฉายไปไม่ถึงแทน (ซึ่งสิ่งที่ไม่สามารถพูดได้ในสังคมไทย มีอยู่หลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องเพศเรื่องเดียว)

เราสามารถดูว่า สิ่งที่ผู้มีอำนาจซึ่งผูกขาดจริยธรรมในประเทศไทยพยายามปิดกั้นในงานศิลปะมีอะไรบ้าง ได้จาก สิ่งที่ถูกเซนเซอร์ โดยหลายครั้ง เราจะเห็นว่า หลายฉากในภาพยนตร์หรือในโทรทัศน์ที่หมิ่นเหม่และน่าจะถูกเซนเซอร์ (ถ้าใช้มาตรฐานศีลธรรมชุดนี้) กลับหลุดรอดไปได้อย่างง่ายดาย เช่น ฉากที่ใช้ความรุนแรง ปืนยิงหัว ดาบฟันขาขาดกระจุย คำพูดด่าทอกันในละครหลังข่าว แต่สิ่งที่ส่อไปในทางเพศ (แม้จะไม่ก่อให้เกิดอารมณ์) เช่น งานศิลปะแนวรูปปั้นที่เห็นอวัยวะเพศ ตัวละครเด็กหญิงในอนิเมชั่นซึ่งกำลังอาบน้ำ หรือหุ่นทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เห็นอวัยวะเพศของหุ่น กลับถูกเซนเซอร์อย่างเข้มงวด แสดงให้เห็นว่า เรื่องเพศยังเป็นเรื่องเลวร้ายและไม่ควรถูกพูดถึงในสังคมไทย มากกว่าความรุนแรงหรือการฆ่ากัน

จากมุมมองของกองเซนเซอร์ ที่มองศิลปะภาพยนตร์ว่า ไม่ควรเป็นสิ่งไร้สาระแต่มองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยหนังส่งเสริมศิลธรรมอันดี ทำให้หนังที่ถูกแบนส่วนใหญ่ เป็นหนัง 2 กลุ่ม คือ สยองขวัญ และหนัง erotic การสร้างหนังสองกลุ่มนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากในไทย เพราะหนังกลุ่มนี้ถูกตีขลุมว่า ไม่ใช่หนังที่สร้างความบันเทิงแล้วจบแล้วจบเลย แต่เป็นหนังที่สร้างความเลวร้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทย หนทางในการสร้างหนัง 2 แนวน้ให้สุดทางในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

แล้วจะทำอย่างไร ถ้าผู้สร้างหนังเกิดอยากสร้างหนัง Erotic ขึ้นมา!

ทางเลือกแรก คือ ทำมันในรูปแบบใต้ดิน ไม่ถูกตรวจสอบโดยอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่น หนังอีโรติคของจอห์น แว่น, ทาเคชิ และคนอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะดุดัน และเล่นกับเนื้อหาแนวความใคร่แบบสุดๆ แต่ข้อจำกัดของหนังกลุ่มนี้ คือ เนื่องจากไม่สามารถประชาสัมพันธ์ได้แบบสุดๆ เนื่องจากติดข้อกฏหมาย ทำให้ผู้สร้างจำเป็นต้องใช้วิธีดึงดูดความสนใจผู้ชมให้ได้มากที่สุด อาจจะทำหนังโดยอ้างอิงจากหนังหรือละครที่มีอยู่แล้ว เช่น ดงดอกงิ้ว, ปอบหวีดสยิว หรือตั้งชื่อแบบรุนแรงโจ่งแจ้งหรือชวนค้นหา ดึงคนดูได้ตั้งแต่ชื่อเรื่องไปเลย อย่าง หนูอยากดัง ไม่อยากเป็นอึ้งย้ง เป็นต้น

อีกรูปแบบนึง คือ การทำหนัง Erotic บนดิน โดยผู้สร้างต้องยอมที่จะสมาทานความคิดหลักของสังคม และใส่แนวคิดที่ตรงกับอุดมการณ์ของภาครัฐมาด้วยเพื่อให้หนังผ่านเซนเซอร์และได้รับการยอมรับจากสังคมไทย ซึ่งผู้หญิงห้าบาป ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ชัดจากฉากสอนใจเรื่องการใส่ถุงยางอนามัยที่ดูประดักประเดิดในเรื่อง เป็นต้น

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ หนังผู้หญิง 5 บาป ไม่ได้ถูกหล่อหลอมจากผู้กำกับอย่างเดียว แต่ Texture ในหนังล้วนถูกทอถักจากมายาคติของสังคมไทยจนหล่อหลอมให้หนังออกมาในเป็นสภาพแบบที่ซึ่งถ้าใช้ศัพท์ทางการเมืองที่กำลังมาแรง คงต้องบอกว่า หนังเรื่อง ผู้หญิงห้าบาป คือ หนังอีโรติกแบบไทยๆ

ลักษณะการเล่าเรื่องของ ผู้หญิงห้าบาป ช่างเสียดเย้ยกับสิ่งที่สภาพสังคมไทยเป็นจริงๆ นั่นคือ เรื่องเพศซึ่งกุลสตรีไทยถูกวางบทบาทให้ไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้ามีการเล่าเรื่องเพศโดยสตรีเกิดขึ้นนั่นย่อมแปลว่าไม่สามารถเล่าแบบโจ่งแจ้งเปิดเผย Free Speech ได้ แต่ต้องรอให้ผู้เล่าอยู่ในที่ลับสายตาคน และมีการใช้แอลกอฮฮล์ช่วยจึงจะสามารถเล่าได้


บาปที่ซ่อนอยู่ในตัวหนัง



เห็นได้ชัดว่า เรื่องเพศในหนัง ผู้หญิงห้าบาป ไม่ได้เป็นเรื่องของเจตจำนงเสรีหรืออัตภาวะวิสัยของแต่ละคนที่ใครใคร่ทำก็ทำ แต่กลับถูกมองว่า พฤติกรรมทางเพศที่หลุดจากกรอบสังคมกลับถูกมองเป็นเรื่องของความเลวร้าย เป็นบาป และตัวละครสมควรที่จะต้องได้รับกรรม คือ เป็นการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการใช้หลักศีลธรรมเข้ามาจับ ซึ่งโดยการสอนศีลธรรมของหนังเรื่องนี้ทำได้โจ่งแจ้งและแข็งทื่อได้ไม่แพ้ประดุจหนังส่งเสริมจริยธรรมช่อง 7 ตอนเช้าเลย

ถ้าเราพิจารณาสถานะภาพของตัวละครทั้ง 5 คู่ หญิง-ชาย ที่มีเพศสัมพันธ์กัน ดังนี้
นางพยาบาล-คนป่วย
อาจารย์-ลูกศิษย์
สาวไฮโซ-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
หัวหน้าบริษัทโฆษณา-ยามที่เป็นลูกจ้าง
แม่มด-ผู้ชายที่ถูกสาป
ซึ่งทั้งหมดเป็นคู่ตรงข้ามโดยตรง ยกเว้นคู่ที่ 3 ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กันโดยตรงแต่ออกไปในแนวสถานะต่างชนชั้นมากกว่า

เราจะพบว่า ตัวละครหญิงทุกคนในเรื่องล้วนมีอำนาจเหนือตัวละครชาย ซึ่งการผลกรรมที่เธอได้รับนั้น ไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์นอกกรอบศีลธรรมเพียงอย่างเดียว (อาจารย์-ลูกศิษย์, พยาบาล-คนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) แต่เกิดจากการที่ตัวละครหญิงมีเพศสัมพันธ์แบบกับชายที่มีชนชั้นหรือสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าด้วย หรือว่าการข้ามชนชั้นจะถือเป็นอีกหนึ่งบาปที่ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นตกนรก แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไม่ต้องการเห็นในระบบศีลธรรมที่ตัวเองได้เป็นผู้ร่วมกำหนดไว้ และเมื่อตัวละครผู้ชายในเรื่องได้สูญเสียสถานะภาพทางสังคม ตกเป็นฝ่ายด้อยกว่าพวกเขาจึงลุกขึ้นมาทวงคืนด้วยเวทีที่ผู้ชายมองตัวเองเหนือกว่าเพศตกข้ามเสมอ นั่นคือ เวทีทางเรื่องเพศสัมพันธ์

ซึ่งดูเผินๆ แล้ว หนังเรื่องนี้เหมือนจะเป็นหนัง Feminist ที่แสดงให้เห็นความเก่งของผู้หญิง และสนับสนุนเจตจำนงเสรีในการเลือกที่มี sex ของเธอ ด้วยภาพของตัวละครผู้หญิงในเรื่องที่ดูมั่นใจ หลุดจากกรอบกุสตรีไทยในอุดมคติ เป็นผู้หญิงทำงานตัวละคร ไม่ง้อผู้ชาย ใช้มารยาหญิงเป็น และที่สำคัญคือ เพศสัมพันธ์ทั้งหมดในเรื่องเกิดจากความยินยอมของเธอที่เป็นคนเลือกที่จะทำเอง ไม่ได้เกิดจากการข่มขืน (มีบางตอนที่ฝ่ายหญิงโดยข่มขืนในทีแรกแต่สุดท้ายกลับยอมโดยดี เช่น ตอนของแหม่ม ซึ่งมีเนื้อเรื่องคล้าย pattern ของหนัง AV ญี่ปุ่น แถมยังมีบางตอนที่ใช้ตัวละครในเรื่องถืออำนาจที่เหนือกว่าในการไปข่มขืนฝ่ายชายโดยอ้อมด้วยซ้ำ) และตัวเร่งการตัดสินใจของเธอ น่าจะเกิดจากการต้องทนอยู่ในกรอบที่สังคมกำหนดให้มานาน เช่น การเป็นพยาบาล ครู หรือสาวที่ต้องสร้างภาพให้เรียบร้อยและสะอาดมายุ่งกับเรื่องนี้ เป็นการทำลายความคาดหวังของสังคม

แน่นอนว่า แม้หนังเรื่องนี้จะมีลักษณะเหมือนสร้างมาจากหนังสือปกขาว หรือไทยเพลย์บอยซึ่งมักจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชายและมีการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่หนังเรื่องนี้ กลับคิดต่างจากหนังสือเหล่านั้นด้วยการใช้ตัวดำเนินเรื่องและเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่งดูเหมือนเป็นความก้าวหน้า แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะหากพิจารณาเข้าจริงๆ แล้ว เจตจำนงของเธอก็ไปได้ไม่สุดทาง เพราะถูกอุดมการณ์เรื่องบาปกรรมและปิตาธิปไตยของภาครัฐเป็นตัวคอยขัดขวางไว้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ความคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวก็ไม่ได้ฝังรากลึกอยู่กับสังคมไทยนานเท่าที่หลายคนคิด เพราะความคิดนี้เกิดมาจากการปลูกฝังอุดมการณ์เรื่องผัวเดียวเมียเดียวซึ่งสืบเนื่องมาจากนโยบายสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม ทำให้การนอกใจคู่รักไปหาคนอื่น จึงกลายเป็นเรื่องที่เลวทรามและควรได้รับผลกรรม อย่าง เป็นเอดส์ ถูกแอบถ่าย ถูกทราบว่าเป็นหลาน หรือโดนถอนหมั้น เป็นต้น ไม่มีตัวละครหลักใดในเรื่องซึ่งมีความคิดนอกกรอบเรื่องเพศแล้วจะพบกับชะตากรรมอันแสนสุขเลยสักคนเดียว

ดังนั้น หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นหนัง anti-feminist ภายใต่เปลือกนอกของ feminist และมี treat ตัวละครผู้หญิงด้วยแนวทางที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยเลยทีเดียว4 ซึ่งน่าเศร้าที่นานๆ จะเห็นหนังที่เล่าจากมุมมองผู้หญิง แต่หนังเรื่องนี้แม้จะใช้ตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง แต่ก็ยังรับเล่าเรื่องในมุมมองของ ปิตาธืปไตยอยู่ดี ซึ่งไม่ต่างจากที่หนังเรื่อง Twilight, New Moon หรือรถไฟฟ้ามาหานะเธอทำสักเท่าไร สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่า หนังที่มีตัวละครหลักเป็นหญิง ใช่ว่าจะเป็นหนัง feminist เราต้องพิจารณาถึงเนื้อในดีๆ ด้วย

อีกสิ่งนึ่งที่น่าพูดถึงคือ การพูดถึงศาสนาในหนังเรื่องนี้ โดยผู้สร้างหนังได้โยงสิ่งเลวร้ายในเรื่องด้วยคำอธิบายง่ายๆ ว่า กรรม5 ความเลวร้ายที่เกิด ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ผู้ชายมองตัวเองเป็นใหญ่ เรื่องอำนาจนิยม หรือเรื่องโครงสร้างสังคมใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันถูกอธิบายง่ายๆ ด้วยเหตุผลเรื่องกรรม แล้วจบ
นอกจากจะเป็นการ simplified ปัญหาในรูปแบบคนไทยสบายๆ ไม่คิดมากแล้ว ยังเป็นการนำพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ยากต่อการแย้งและวิจารณ์มารับใช้อุดมการณ์เรื่องเพศของสังคมไทย
แต่การเลือกที่จะใช้แม่มด เป็นเหตุผลในเรื่องการกระทำกรรมของตัวละคร (สรุปว่า ตัวละครในเรื่องไม่มีใครตั้งใจทำ แต่ทำไปเพราะโดนแม่มดสาป) ก็ทำให้รู้สึก irony ว่า การที่ตัวละครถูกลงโทษนั้น ไม่เกิดจากการกระทำของตัวละครอย่างแท้จริง แต่เป็นผลมาจากอำนาจมืดที่อยู่นอกศาสนาเป็นผู้ทำต่างหาก

ตราบใดที่ผู้หญิงยังเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งจากสังคม ผลกรรม และอำนาจนอกศาสนาแบบนี้ โอกาสที่จะเห็นหนัง erotic ไทยที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายกำหนดชะตากรรมตัวเองได้คงเป็นสิ่งเลือนลาน ถึงขนาดว่า ต่อให้มีหนังผู้หญิง 5 บาปภาคที่ 10 (รวมเป็น 50 บาปพอดี) คนดูหนังไทยก็คงยังไม่เห็นหนังอีโรติคในอุดมคติเรื่องนั้นอยู่ดี





Create Date : 27 สิงหาคม 2553
Last Update : 27 สิงหาคม 2553 5:34:19 น. 1 comments
Counter : 15698 Pageviews.

 
เพิ่งมาตามอ่านเนื่องจากผู้หญิง 5 บาปเข้า Netflix วิจารณ์ได้ดีมากๆเลยค่ะ อ่านไปก็ขนลุกไป ไม่รู้ว่าคนเขียนจะยังเห็นอยู่ไหม แต่อยากบอกให้รู้ว่าชอบมากๆ อ่านไปก็ขนลุกไป


โดย: เฟมท่านหนึ่ง IP: 110.77.229.183 วันที่: 25 มีนาคม 2565 เวลา:12:41:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.