ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2549
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
31 ธันวาคม 2549
 
All Blogs
 
เซนเซอร์หนังตูทำไม!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!

หัวข้อนี้นำเสนอบทความเกี่ยวกับสื่อบันเทิง อย่างเช่น ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ ละคร ที่สามารถเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมได้

สังคมอาจจะมองว่าวงการบันเทิงก็ต้องเป็นเรื่องที่บันเทิงพักสมอง ไม่มีสาระอะไรให้จับต้องได้ แต่จริงๆ แล้ว วงการบันเทิงนั้นสามารถส่งผลทางสังคมได้มากกว่าที่หลายคนคิด หัวข้อนี้จะพาไปดูว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้าง และสามารถส่งผลได้อย่างไร


เซ็นเซอร์- เส้นบางๆ ระหว่างศิลปะและศีลธรรม

ขึ้นชื่อว่าภาพยนตร์นั้น จะให้ได้อรรถรสในการรับชมสูงสุดก็ต้องไปที่โรงภาพยนตร์ครับ
แต่ในสภาวะการณ์ปัจจุบันที่การจะเดินทางไปไหนมาไหนทีเป็นเรื่องยาก บวกกับค่าตั๋วหนังที่แพงยิ่งกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน ทำให้คนอยากดูหนังแต่ใจไม่สู้ (อย่างผมเป็นต้น) เลือกที่จะหาความบันเทิงจากหนังด้วยการดูหนังแผ่นมากกว่าหนังโรง

สำหรับท่านผู้อ่านที่มีอุดมการณ์รักหนังแผ่นเหมือนกันกับผม เชื่อว่าช่วงนี้พวกท่านคงจะได้เห็นปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับหนังในแผ่นของท่านแล้ว ซึ่งพอเห็นแล้วแทนที่ดูหนังแล้วจะเกิดความบันเทิง กลับยิ่งเครียดขึ้นกว่าเดิมจนอยากเขวี้ยงแผ่นทิ้งหรือเอาแผ่นไปแขวนไล่แมลงวันแทน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ การที่ภาพยนตร์ทั้งในวีซีดีและในดีวีดีประเภทถูกลิขสิทธิ์ต้องเจอกับสภาวะ “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” มีหมอกลงเป็นบางที่โดยเฉพาะบริเวณจุดล่อแหลม

เหตุการณ์หมอก บัง เบลอร์ ตัด หรือแบนนี้ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นหนังชาติไหน สร้างเมื่อไร เป็นต้องเจอ
แต่สาเหตุที่ต้องมานั่งปลุกผี ขอขุดเอาเรื่องเก่าๆ เป็นประเด็นในการเขียนในครั้งนี้ ก็เพราะผมสังเกตว่า ช่วงนี้หนังแผ่นโดนเซ็นเซอร์เล่นงานมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าโดนแค่นิดหน่อยและบังตรงบริเวณที่ไม่สมควรเห็นจริงคนดูหนังอย่างผมก็พอเข้าใจได้ แต่เท่าที่เห็นคือ เจอมันแทบทุกเรื่อง (ใครที่เคยเจอหนังที่ไม่มีเซ็นเซอร์หรือคำเตือนขึ้นเลย กรุณาแจ้งเบาะแสแก่ผู้เขียนมาด่วน) บางเรื่องหมอกขึ้นมาทุกห้านาที มากเสียจนทำไม่รู้ไม่ชี้ทำใจให้สนุกกับหนังเรื่องนั้นต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว
ขนาดวันก่อนผมไปซื้อการ์ตูนเรื่องโดราเอมอนมา กะจะดูให้หายเซ็งกับเซ็นเซอร์ ที่ไหนได้พี่แกยังตามมาหลอกหลอน ฉากน้องหนูชิซูกะอาบน้ำยังไม่รอด โดนทำเบลอร์ป้ายยาหม่องทั้งฉากเลย
จนตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่คนดูหนังแผ่นพูดถึงกันหนาหูว่า หรือสิทธิเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสารของพวกเรากำลังถูกลิดลอนเข้าแล้ว!

ความหมาย
ก่อนจะไปเจาะลึกไปไกลกว่านี้ เรามาวิเคราะห์กันก่อนดีกว่าว่า เซ็นเซอร์มันคืออะไร
เซ็นเซอร์ คือ กระบวนการคัดกรองไม่ให้ข้อมูลหรือสารที่เป็นอันตราย (ทั้งต่อคนรับสื่อและต่อรัฐเอง) ปะปนไปกับสื่อที่ประชาชนได้รับ
เปรียบง่ายๆ เหมือนเราจะดื่มน้ำนั่นแหละครับ ก่อนเราจะดื่มก็ต้องมีเครื่องกรองคอยจับไม่ให้สิ่งไม่ดีหรือมีอันตรายติดไปกับน้ำที่เรากระเดือกลงคอไปด้วย ทำให้เราได้ดื่มแต่น้ำสะอาดและปลอดภัย
ถ้าชีวิตจริงมันง่ายขนาดนั้นก็ดี แต่ถ้าเราไม่ตรวจสอบอะไรเลย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องกรองที่เราใช้มีคุณภาพดีจริง
บางทีตาข่ายที่กรองอาจจะเล็กเกิน จนติดเอาแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ไปกับมันด้วย
หรือมันอาจจะมัวดักจับแต่อนุภาคเล็กๆ แต่ดันปล่อยให้แมลงสาปตัวใหญ่หลุดเข้าปากเราก็ได้

การแบนหรือการเซ็นเซอร์สื่อนี่ไม่ใช่ว่าเพิ่งมามีตอนภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้น ความจริงมันก็มีมานมนานกาเลตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มรับสื่อเป็นนั่นแหละครับ กรณีที่คนรู้จักกันเยอะก็สมัยกาลิเลโอ ที่หนังสือดาราศาสตร์ของเขากลายเป็นหนังสือต้องห้ามของคริสตจักร หรือไม่ใกล้ไม่ไกลในเมืองไทยก็มี อย่างกรณีหนังสือต้องห้าม (หาอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารสารคดีฉบับ ตค.2549) หรือภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน เมื่อตอนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ครับ
การเซ็นเซอร์เกิดขึ้นได้กับหลายสื่อครับ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังสือ เพลง บทละคร ภาพวาด แต่ในที่นี้จะขอจำกัดวงเขียนเฉพาะแค่เรื่องภาพยนตร์อย่างเดียวนะครับ เพื่อไม่ให้เรื่องมันตีวงกว้างเกินไป (ความจริงแค่เรื่องเดียวก็พูดได้ไม่จบไม่สิ้นแล้วครับ)

การเซ็นเซอร์มันก็เหมือนดาบสองคมนั่นแหละครับ ถ้าใช้ให้ดีก็ดีไป แต่ถ้าใช้ไม่ดีก็เหมือนยื่นดาบให้โจร
ถ้าใช้ให้ถูกก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยบดบังไม่ให้ผู้บริโภครับสื่อที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น หนังที่มีคนเอาปืนไล่ยิงสมองคนกระจายทั้งเรื่อง หรือเพลงที่ร้องว่า “เรามาขมขื่นผู้หญิงกันซิจ๊ะ สนุกดี” ลองคิดดูสิครับ ถ้าคนที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอมาดูแล้วเกิดโง่เชื่อทำตาม เรื่องไม่ดีก็สามารถเกิดขึ้นได้
ซึ่งถ้ามองในเชิงสังคม การเซ็นเซอร์ ก็คือการขอลดทอนเสรีภาพของประชาชนบางส่วนเพื่อประโยชน์ของสังคมตามหลักนิติรัฐนี่แหละครับ

แต่การพิจารณาว่า สิ่งไหนอันตรายควรให้ตัดทิ้ง หรือสิ่งไหนไม่อันตรายมากอยู่ในหนังต่อไปได้นี่ หาเกณฑ์มาตรฐานที่ตายตัวยากครับ
ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งมักจะเป็นแค่คนกลุ่มเดียวอีกทั้งยังมีจำนวนไม่มากและไอ้ที่ไม่มากนั่นก็ยังไม่มีความหลากหลายทางความคิดอีกด้วย
คณะกรรมการไม่ว่าจะตรวจสอบอะไร ความหลากหลายสำคัญครับ เพื่อจะได้เอาดุลยพินิจของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนกัน ดุลยพินิจของวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ก็ไม่เหมือนกัน ของศิลปินกับนายทุนก็ไม่เหมือนกัน คนเห็นหนังเป็นศิลปะกับเป็นสิ่งบันเทิงก็ไม่เหมือนกันครับ
การเอาความคิดเห็นของคนไม่กี่คนมาชี้ชะตาทั้งระบบก็ดีในด้านความฉับไว แต่ถ้าคนทำงานไม่รู้จริง ระบบก็จะล่มสลายได้ ดูการทำงานของ กกต.เป็นตัวอย่างก็พอเห็นภาพรวมได้นะครับ

ตัวอย่างการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์
สาเหตุที่การเซ็นเซอร์เข้มงวดกว่าเดิม น่าจะเกิดจาก การโอนย้ายความรับผิดชอบงานด้านนี้ จากที่เคยอยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแล (ซึ่งป่านนี้ผมก็ยังไม่ทราบว่า ผู้รับผิดชอบเข้าใจหรือยังว่าหน้าที่ของกระทรวงนี้หลักๆ ต้องทำอะไรบ้าง)
ผมคิดเล่นๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะทำให้ทำให้หลักเกณฑ์ที่เคยถูกใช้โดนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะคนดูแล ตอนอยู่กับตำรวจหลักเกณฑ์พิจารณาอาจจะดูแค่ว่า ไม่ให้มีภาพที่ขัดต่อกฎหมายและส่งผลต่อความมั่นคง แต่ถ้าไปอยู่กับกระทรวงวัฒนธรรมแล้วแค่นั้นยังไม่พอ หนังจะต้องไม่มีขัดต่อวัฒนธรรมและจริยธรรมอันดีด้วย ทำให้หลักเกณฑ์คงเข้มข้นมากกว่าเดิมทีเดียว
ตอนนี้เรื่องที่โอนย้ายไปให้กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบมีแค่โทรทัศน์-หนังวีซีดีและดีวีดี ส่วนหนังโรงซึ่งยังให้ตำรวจรับผิดชอบอยู่กำลังจะถูกโอนย้ายในเร็ววันนี้ รอถึงวันนั้นคงจะมีอะไรมันๆ ให้เห็นกันอีกรอบแน่นอน เตรียมปูเสื่อรอดูได้เลยครับ

ลักษณะของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในวีซีดี-โทรทัศน์มีหลายแบบ ผมลองจัดหมวดหมู่คร่าวๆ แล้วได้ 4 แบบครับ
1.การใช้ภาพโมเสสมาบด
บังสิ่งที่ไม่ประสงค์ที่จะให้คนดูเห็นไว้เป็นบางจุด เรียกง่ายๆว่า หมอกลงหรือป้ายยาหม่อง สิ่งที่มักจะโดนเรียกว่าเห็นปุ๊บโดนป้ายปั๊บได้แก่ บุหรี่ เหล้า หัวนม ก้น จู๋ ปืนจ่อหัว(แต่ยิงระยะไกลเห็นได้ไม่โดน เป็นสิ่งที่ผมนึกสงสัยอยู่ทุกวันนี้ว่า มันเลวต่างกันอย่างไร)

2.ขึ้นคำเตือนเอาไว้ข้างล่างจอว่าเป็นสิ่งไม่ดีห้ามเลียนแบบ มักจะขึ้นเวลาบุคคลในเรื่องทำพฤติกรรมไม่ดี เช่น ตอนกำลังเล่นไพ่ก็ขึ้นว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี (แต่หวยบนดินเล่นได้)

3.ตัดฉากนั้นทิ้งไปเลย ส่วนใหญ่มักจะเป็นฉากตัวละครมีเพศสัมพันธ์กันอย่างรุนแรงและสมจริง ทำให้หนังเรื่องไหนที่เคยเป็นที่ฮือฮา เรทอาร์เรทเอ็กซ์ พอมาฉายเมืองไทย ภาพที่ท่านจะได้เห็นก็คือ พระเอกนางเอกโอ้โลมกันแป๊บนึงจากนั้นก็ตัดไปช่วงเสร็จกิจบนเตียงเลย ตัวอย่างเช่น La Belle, The Dreamers

4.ไม่ให้ออกฉายหรือจัดจำหน่ายเลย ทั้งๆที่เตรียมจะเข้าฉายแล้ว ตัวอย่างคือ Syriana ที่โดนเซนเซอร์ห้ามฉายโรงแต่กลับมาออกขายเป็นวีซีดีได้ กับ City of God ทั้งๆที่ฉายโรงลิโด้แล้วแต่ไม่ให้ออกวีซีดี เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรเด็ก (น่าส่งไปออกรายการแปลกแต่จริงไหมล่ะครับ ท่านผู้อ่าน!)

การเซ็นเซอร์แต่ละวิธีก็มีรูปแบบแตกต่างกันไป
แน่นอนว่าวิธีที่สี่นั้นสุดโต่ง ดูโบราณและปิดกั้นข้อมูลข่าวสารมากที่สุด
แต่วิธีที่ทำลายศิลปะ ส่งผลให้หนังผิดไปจากเดิมมากที่สุดก็คือวิธีที่สาม
ส่วนวิธีที่หนึ่ง นั้นสร้างความรำคาญและส่งผลรบกวนสมาธิในการรับสื่อมากที่สุด
ส่วนวิธีที่สองแม้จะรบกวนการรับสื่อเหมือนกัน แต่ก็น้อยกว่าวิธีแรก และมีท่าทีประนีประนอมไม่ยัดเยียดเหมือนวิธีอื่น และเชื่อว่านักดูหนังน่าจะรับได้มากกว่าวิธีอื่น
น่าเสียดายที่วิธีนี้ถูกใช้น้อยที่สุด สงสัยเนื่องมาจากมาตรการมันยังรุนแรงไม่พอ ไม่สะใจคอซาดิสต์!

เซ็นเซอร์บางอันผมเห็นแล้วก็เซ็งแต่บางอันผมเห็นแล้วก็อดขำไม่ได้ครับ
อย่างเช่น ในวีซีดี Memoirs of a Geisha ในฉากตอนที่มีตัวละครสูบไปป์แบบโบราณที่คงหาดูที่ไหนไม่ได้แล้ว แต่คณะกรรมการคงเห็นว่ามันเป็นสายพันธุ์เดียวกับบุหรี่จึงจัดการบดบังมันให้เราไม่ได้เห็นไปป์แบบนั้นต่อไป
หรือวันก่อน ผมนั่งดูหนังเรื่อง Sugar & Spice ที่ฉายทางช่องเจ็ดสี เนื้อเรื่องเป็นไงก็จำไม่ได้หรอก แต่ที่จำได้ดีคือ ในฉากที่นางเอกไปหาหมอ แล้วหมอก็เอาภาพวาดรังไข่และอวัยวะเพศแบบที่ใช้ในหนังสือเรียนแพทย์มาให้นางเอกดู ปรากฏภาพนั้นก็ยังโดนครับ! ทั้งที่ผมดูแล้วเป็นภาพเพื่อการศึกษา ไม่น่าจะปลุกอารมณ์ใครต่อให้โรคจิตแค่ไหนได้เลย (ใครเห็นภาพพวกนี้แล้วเกิดอารมณ์ก็ช่วยบอกมาหน่อยนะครับ)
เมื่อก่อนผมอาจจะคิดว่าผมแค่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่พอหลังจากผมเปิดไปดูช่องโมเดิร์นไนน์วันก่อน ผมก็เชื่อแล้วว่า คณะกรรมการไม่มีศิลปะในหัวใจและไม่คิดเอามาเป็นหลักเกณฑ์ในเกณฑ์การพิจารณาเลย วันนั้นมีสารคดีเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของแวนโกะห์ครับ แล้วผมก็แทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง เมื่อดูภาพวาดหญิงสาวเปลือยและภาพที่แวนโกะห์วาดรูปตัวเองสูบไปป์โดนเซ็นเซอร์ครับ! ทำให้ผมไม่อยากคิดเลยว่า ถ้าเกิดมีสารคดีเกี่ยวกับศิลปะโลกมาฉายทางทีวี อย่างนี้ภาพวิทรูเวียนแมนของดาวินชี่หรือรูปปั้นนักคิดจะเหลืออะไร
หมายเหตุ-ส่วนใหญ่การเซ็นเซอร์ในโทรทัศน์มักจะเป็นทางช่องทำเองมากกว่า โดยยึดหลักเซ็นเซอร์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้

ปัญหาที่เห็น
อย่างที่บอกไว้นั่นแหละครับ คนชอบดูหนังไม่ใช่คนใจแคบ ถึงขนาดว่าห้ามตัดห้ามเซนเซอร์เลย ฉันต้องดูหนังแบบไร้รอยขีดข่วนให้ได้ ถ้ามันมีภาพที่ไม่เหมาะสมหรืออันตรายมากจริงๆ เขาก็ยอม ผมเชื่อว่าคนที่ชอบเสพงานศิลปะอย่างน้อยจิตใจก็ไม่น่าจะคับแคบจนเกินไปนัก
แต่สิ่งที่ทำให้คนดูเขาหงุดหงิดนี้ ก็เพราะการทำอะไรเกินพอดีต่างหากครับ

ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกองนี้มาก ที่รู้มาก็ศึกษาจากที่อื่นมาทั้งนั้น
และเข้าใจด้วยว่าพวกท่านทำไปก็ด้วยความห่วงใยต่อประเทศชาติ
แต่ผมว่ากองเซ็นเซอร์นี้มีลักษณะอำนาจและการใช้อำนาจไม่ต่างจากองค์กรล่าแม่มดหรือล่าคอมมิวนิสต์สมัยก่อน (หรือสมัยใหม่หน่อยก็กกต.) ตรงที่ใช้อำนาจแบบชงเองกินเอง หน่วยงานอื่นตรวจสอบไม่ได้
ใช้คนไม่กี่คน มากำหนดว่าแบบนี้ดีไม่ดี แบบนี้ต้องบัง แบบนี้ต้องตัด แล้วจัดการลงโทษโดยหมดสิทธิ์เรียกร้อง
พูดห้ามไม่กี่คำก็ทำง่ายอยู่ครับ แต่ไอ้คนทำหนังที่ใช้ทุนสร้างไปสิบๆ ล้าน ถ่ายกันตั้งนานหลายเดือน ใช้หัวสมองคิดหัวแทบแตกนี่ มันจะพูดไม่ออก
บางทีการตัดหนังออกแค่ 1 นาที มันไม่ใช่ว่าหนังจะเสียหายแค่ 1 นาทีนะครับ แต่บางทีมันส่งผลเป็นโดมิโนล้มทำให้หนังห่วยแตกไปเลยทั้งเรื่องก็ได้

ผมเคยอ่านบทความที่คุณทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับเด็กหอเขาให้สัมภาษณ์ว่า ตอนทำวีซีดีทางกองเซ็นเซอร์จะบังคับให้เขาตัดฉากที่มันล่อแหลมไม่เหมาะสมฉากนึง (คนที่ดูแล้วคงรู้ว่าฉากอะไร) ความจริงมันก็ยาวไม่กี่นาทีครับ แต่ถ้าตัดทิ้งไปแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหนังเรื่องนี้ครับ
สาเหตุที่พระเอกต้องถูกส่งมาที่หอ เหตุผลที่โกรธพ่อ เหตุการณ์ที่ทำให้คนดูกดดันแทนพระเอกหายวับไปกับตา จนอาจจะเหลือแค่ความรู้สึกว่า พระเอกเป็นอะไร ทำไมนั่งหน้าตูดทั้งเรื่อง
สุดท้ายหลังการเจรจาก็ได้ทางออกว่า ให้เขียนไว้ที่ปกวีซีดี-ดีวีดีว่า หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะกับคนอายุต่ำกว่า 18 ปี เรื่องนี้จึงจบลงได้

ผมเชื่อว่า คนจะมาเป็นผู้กำกับคุมงานยักษ์ขนาดนี้ อย่างน้อยต้องมีสำนึกต่อสังคมครับ
ต่อให้คนที่ทำหนังมีฉากล่อแหลมหรือรุนแรง เขาก็ทำเพื่อสะท้อนสังคม สะท้อนความเป็นจริง
หรือไม่ก็ต้องมีฉากเหล่านี้เพราะให้หนังมันถึงพร้อมด้านความบันเทิง
ไม่มีใครอยากสร้างหนังที่พอดูเสร็จแล้วคนดูอยากเอาหน้าสามไปฟาดกระบาลใครหรอกครับ
หรือถ้าท่านกรรมการเซ็นเซอร์เห็นว่ามันไม่เหมาะ มันไม่ควรจริง ก็ไม่ควรไล่ถีบส่งเป็นศาลเตี้ยอย่างนั้น น่าจะเปิดโอกาสให้เขาอุทธรณ์หรือบอกถึงความจำเป็นของฉากเหล่านั้น หรือถ้าเขาไม่ยอมรับก็มีที่ให้เขาสู้คดีกันต่อไป ให้คนทำศิลปะมีส่วนร่วมตัดสินด้วย
อะไรที่มันเป็นศาลเตี้ยในสังคม อยู่ได้ไม่ค่อยนานหรอกครับ

ปัญหาการทำงานที่ผมเห็นคือ หลักการเซ็นเซอร์ที่ไม่ยืดหยุ่น
เซนเซอร์เป็นอย่างๆ ตามโพยเป๊ะๆ โดยไม่ดูบริบทเหตุการณ์โดยรวม อย่างเช่น เห็นบุหรี่ปุ๊บบังไว้ก่อน-แต่เห็นควันได้ บังเหล้า-แต่เห็นคนเมาได้ บังคนเอาปืนจ่อ-แต่เห็นยิงระยะไกลได้ บังหัวนม-แต่เห็นส่วนอื่นของนมได้
การไม่ดูบริบทโดยรวม ทำให้ได้เห็นอะไรแปลกๆ อยู่เสมอ อย่างเช่นโฆษณาให้เลิกบุหรี่ยังมีการเซ็นเซอร์บุหรี่ หรือการที่เซ็นเซอร์คนโป๊ทั้งที่กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่แต่ฉากที่คนมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่กำลังใส่เสื้อผ้าอยู่กลับหลุดรอดตาข่ายฟ้ามาได้

ต่อให้มาตรฐานแย่แค่ไหนถ้าทำตามนั้นให้ตลอดก็ยังพอรับได้ครับ แต่ที่ผมสังเกตคือ มาตรฐานความสม่ำเสมอมันช่างบิดเบี้ยว ไม่คงเส้นคงวาเอาเสียเลย
หนังเรื่องนึงห้ามอย่างนี้ แต่อีกเรื่องกลับปล่อยออกมาได้
บางเรื่องดูแล้วก็ไม่มีอะไร เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี พอมีสูบบุหรี่นิดหน่อย กลับเซ็นเซอร์ซะเต็มจอ
แต่หนังบางเรื่องกลับปล่อยให้เห็นได้ทั้งบุหรี่ เห็นทั้งหัวนม และขนบริเวณที่ลับ โดยไม่มีอะไรมาบังทั้งสิ้น
ซึ่งที่สำคัญทั้งสองเรื่องต่างก็ผ่านการรับรองและออกมาวางขายตามท้องตลาดได้เหมือนกัน
และไม่รู้เป็นไง ไอ้พวกหนังสุดยอดคลาสสิคได้รางวัลออสการ์มักจะโดนแบบแรก ส่วนพวกหนังเกรดบีแผ่น 29 บาท มักจะโชคดี ได้เป็นแบบหลังซะด้วย คิดแล้วก็เจ็บใจจริงๆ
ความจริงไม่ต้องถึงกับต้องใช้กับตัวแปรนอกเทียบระหว่างเรื่องก็ได้ ขนาดในหนังเรื่องเดียวกันเองยังไม่ได้มาตรฐาน บางฉากยังกำลังเซ็นเซอร์อยู่ดีๆ เปลี่ยนมุมกล้องแป๊บเดียว หมอกลงไม่ทัน ไอ้ที่บังๆ ไว้เลยเห็นอล่างฉ่างเลย อย่างนี้เข้าตำราเข้าตำราตาดีได้ตาร้ายเสีย
หนังบางเรื่องที่ 30 กว่าปีก่อนเคยเข้าฉายได้สบาย ไม่ตัดไม่บังอย่าง The Godfather, The Blue Lagoon พอย้อนมาทำเป็นวีซีดีใหม่ออกฉายในปัจจุบัน กลับโดนตัด โดนบังซะเละเทะ
เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร คนไทยมีศีลธรรมมากขึ้น
หรือคนไทยฉลาดรับสื่อน้อยลงดี

วิเคราะห์ปัญหา
ปัญหาการเซ็นเซอร์จะดูว่ามันผิวเผินก็ผิวเผินแหละครับ แต่จะดูว่ามันลึกก็ลึก
แต่ที่แน่ๆ ปัญหานี้ไม่ได้แก้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนทีมเก่าแล้วเอาทีมใหม่ใส่แล้วปัญหามันจะหายวับไป
ก็เหมือนกับการไล่นายกทักษิณออกไปแล้วแต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไทย สุดท้ายปัญหามันก็ค้างคาอยู่อย่างนั้นล่ะ

ถ้าเก็บมาคิดดีๆ แล้ว การเซ็นเซอร์เป็นแห่งๆ โดยไม่ดูบริบทโดยรวมนั้น มันสามารถสะท้อนถึงหลักการแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ตอนผมดูข่าว เวลาเกิดเหตุอาชญากรรม เด็กเอาปืนไล่ยิงกันปืนหรือไปข่มขืนลูกสาวชาวบ้านเขาเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา
สิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจะทำเป็นอย่างแรกเพื่อไม่ให้โดนด่า ก็คือ หาแพะมาบูชายัญสักตัว
และแพะตัวใหญ่ที่หาจับมาเชือดได้ง่ายที่สุด ทายซิครับว่าคืออะไร
ก็พวกสื่ออย่างภาพยนตร์ และโทรทัศน์อย่างไงล่ะครับ
ไม่เฉพาะกับรัฐ ผมเห็นผู้ปกครองบางท่านที่มีลูกติดเกม มาเที่ยวกล่าวโทษว่าสาเหตุเกิดจากคนผลิตเกมกับร้านเกม แต่ไม่เคยโทษตัวเองเลยว่า เลี้ยงลูกไม่ดีเอง
เห็นพอมีปัญหาทีก็บอกให้เข้มงวดกับสื่อที ไม่เป็นไรครับ มีแรงฆ่าแพะได้เท่าไรก็ฆ่าไป
แต่ขอโทษ ถ้าปัญหามันแก้ง่ายเหมือนจับแพะเชือดคอล่ะก็ ป่านนี้เมืองไทยกลายเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองไปแล้วครับ

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เอย การไปตรวจฉี่ที่อาร์ซีเอเอย การหว่านเงินลงหมู่บ้านเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนเอย การอัดฉีดจะให้บอลไทยไปบอลโลกแต่ไม่ยอมทำลีกไทยให้แข็งแกร่งเอย
แม้จะทำอย่างขยันขันแข็งน่ายกย่องขนาดไหน แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งนั้น!
หรือจะบอกว่า ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ก็จริงครับ
แต่ผมมีปัญหาตรงที่ไม่เคยเห็นใครสนใจไปแก้ที่ตัวต้นเหตุจริงๆ เลยซักครั้ง มัวแต่ไปมะรุมมะตุ้มแย่งกันไปฟันฉับเอาที่ปลายเหตุ
เพราะหาปัญหาเจอง่ายกว่า แก้ง่ายกว่า เร็วกว่าแถมทำแล้วดังมีคนมาสนใจเยอะกว่า
ไม่เหมือนแก้ที่ต้นเหตุ ต้องเหนื่อยสาวจากส่วนหางกว่าจะเจอส่วนหัว แถมต้องศึกษาเยอะ ใช้เวลานาน ไม่สะใจวัยรุ่นเลย!

ถ้าจะเราจะแก้ที่ต้นเหตุ ต้องให้การศึกษาแก่คนไทยครับ บอกกับเขาว่าสิ่งที่เห็นนั่นเป็นสิ่งไม่ดี พาไปดูให้รู้ว่าผลสุดท้ายของสิ่งนี้จะเกิดเหตุร้ายอะไร สอนให้เขารู้จักไฟดีกว่าปิดตาเขาไม่ให้เห็นเลย ถ้าเกิดเขามาเห็นเอาทีหลัง ถ้าเกิดไม่รู้เรื่องเอามือไปแหย่เล่นล่ะก็ ไฟลวกตัวขึ้นมาจะรักษาไม่ทันครับ
ต้องให้คนดูที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอรู้เท่าทันในการรับสื่อครับ อย่างเวลาเด็กดูอะไรก็ควรจะมีผู้ปกครองคอยแนะนำอยู่ข้างๆ ตัว บอกเขาเกี่ยวกับเนื้อหาว่าแบบนี้สมควรหรือไม่สมควร
อีกอย่างคือ น่าจะปลูกฝังค่านิยมในการรับสื่อของคนไทยด้วยว่า หนังละครที่คุณดูมันคือเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง
แต่ที่มันคล้ายเรื่องจริงก็เพราะภาพยนตร์มันก็คือภาพสะท้อนสังคมมนุษย์ขนาดย่อมๆ เท่านั้น
ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ปัญหาคนประท้วงหนังสือดาวินชี่ โคด แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือภาพยนตร์หมากเตะก็คงหาทางลงได้ดีกว่านี้ครับ
ถ้าเราเอาแต่เซ็นเซอร์ดะแต่ไม่เคยสนใจเรื่องสังคม ไม่สนใจเรื่องพฤติกรรม ครอบครัว ต่อให้บังเต็มจอ ก็อย่าหวังเลยว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ หรือได้ก็ต้องตามล้างตามเช็ดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

นี่ถ้าผมมีเงินซักหมื่นล้านนะ ผมจะให้ทุนนักวิชาการลงไปทำงานวิจัยดูเลยว่า ในเมื่อหนังมันมีการเซ็นเซอร์กันระเบิดขนาดนี้แล้ว มันช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่กินเหล้าได้จริงไหม
แต่สิ่งที่ผมไม่ต้องวิจัยก็รู้ผลเลยก็คือ วันหนึ่งผมนั่งดูหนังกับน้องนุ่งอายุประมาณ 6-7 ขวบที่บ้าน แล้วมันมีการป้ายยาหม่องตรงบุหรี่ที่ตัวประกอบร้อยเมตรคนนึงสูบอยู่ซึ่งถ้าปกติก็คงไม่มีคนสนใจ แต่พอมีหมอกลง ไอ้หนูตัวดีก็หันมาถามผมทันทีว่า ที่มันบังไว้คืออะไร หนูอยากรู้
ซื้อให้หนูได้ไหม!?

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจตือ เขาใช้อะไรเป็นเกณฑ์กำหนดว่าสิ่งนี้ไม่สมควรจะเอาออกมาให้คนดูเห็น
นี่ถ้าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว เพิ่งเอายานมาลงบนโลกมนุษย์ อยากจะมาศึกษาว่าสิ่งที่มนุษย์คิดว่าดีงามผ่านทางหนังวีซีดีล่ะก็
ผมจะต้องคิดว่า การสูบบุหรี่ กินเหล้า หรือมีเพศสัมพันธ์กันเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายสามานย์มากจนไม่สมควรให้คนอื่นเห็น
ส่วนการไล่ยิงกัน รถระเบิด ยิงบาซูก้าตึกถล่ม หรือนางร้ายพูดด่าเสียงแหลม (กรณีได้ไปดูละครช่อง7) เป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป
แต่พวกเราชาวโลกคงรู้กันดีว่า แบบแรกนั่นคือสิ่งที่หาดูได้ทั่วไป ท่านผู้อ่านก็คงทำกันบ่อยๆ ใช่ไหมล่ะครับ
ส่วนแบบหลังนี่ถ้าได้ไปเจอของจริงเข้า คงได้วิ่งหนีกันอุตลุดแน่นอน
ทำไมเขาถึงกำหนดเกณฑ์เซ็นเซอร์แบบนั้น ทั้งที่เกณฑ์ศีลธรรมจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นซะหน่อย
หรือว่าคนยิงกัน ฆ่ากัน สูบบุหรี่จับต้องมองเห็นได้ง่ายกว่า ส่วนความอาฆาต เห็นแก่ตัวเอง คดโกง โกหก เอาเปรียบคนอื่นจับต้องได้ยากกว่า
หรือว่าแบบหลังมันกลายเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป จนไม่รู้สึกผิดปกติกับมันอีกต่อไปแล้ว

และอีกอย่างที่ผมลองคิดเล่นๆ ดู นั่นคือ ถ้าเราทำตามอุดมคติที่เราตั้งไว้ได้ทุกอย่าง มีการให้ความรู้ผู้รับสื่อ หลักเกณฑ์ดี กรรมการตรวจสอบมีคุณภาพ แล้วปัญหาเรื่องนี้มันจะจบลงไปเลยไหม
ผมคิดว่า มันยังไม่จบง่ายๆ หรอกครับ
เพราะต้นตอความขัดแย้งจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่อำนาจรัฐกับประชาชนซึ่งเป็นแค่ตัวแทน คู่ขัดแย้งตัวจริงอยู่ที่ศิลปะกับศีลธรรมซึ่งเป็นไส้ในต่างหากครับ
โดยอำนาจรัฐเป็นฝ่ายควบคุมศีลธรรม ส่วนบรรดาศิลปินกับผู้เสพศิลปะก็เป็นตัวแทนอีกข้างหนึ่ง
ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้ขัดแย้งแบบความดีสู้กับความชั่วนะครับ ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นสิ่งที่ดีและมีความสำคัญต่อสังคมมนุษย์ทั้งคู่ แถมถ้าจับมันมาใช้ร่วมกันก็จะเกิดประโยชน์มากมายไม่รู้จบ อย่างเช่น ศิลปะเกื้อหนุนศีลธรรม- ภาพวาดเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมในวัด หรือศีลธรรมเกื้อหนุนศิลปะ- ศิลปินที่ก่อนทำงานใหญ่ต้องใช้จิตว่างดังคำท่านพุทธทาส
แต่ถึงจะดีทั้งคู่แต่ โดยเนื้อแท้แล้วทั้งสองมีความขัดแย้งในตัวของมันเอง ไม่สามารถสมาสเข้าหากันได้เต็มร้อยครับ
หลักการสร้างงานศิลปะ คือ ต้องสร้างความแปลกใหม่ ที่ต้องกระทบใจให้คนดูทึ่งหรือสะดุดตา สะกิดใจ
ซึ่งไอ้ความดีงาม ความสงบมันน่าตื่นเต้นสะกิดใจซะที่ไหนล่ะครับ
อย่างภาพวาดตามผนังของยุโรปสมัยก่อน หรือดนตรีคลาสสิคของบีโธเฟน อารมณ์ความรู้สึกขัดแย้งที่โหมกระหน่ำนั้นแหละครับคือสิ่งที่ทำให้ผลงานยังเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้
หรือคิดง่ายๆ ถ้าหนังหรือละครเรื่องไหนมีแต่คนดีทำดีกันทั้งเรื่อง มันจะหาความขัดแย้งของเรื่องได้ที่ไหน และมันจะสนุกตรงไหนใช่ไหมครับ
ลักษณะของศิลปะอีกอย่างนึงคือ การเอาความเป็นจริงของสังคมหรือของมนุษย์มาตีแผ่แบบสมจริง
ศิลปะสะท้อนชีวิตครับ คนที่เติบโตมาจากที่แบบไหนก็มักจะเอาความเป็นจริงในสังคมที่เขาเห็นมาถ่ายทอดให้ดู
ถ้าสังคมยังคงเหลวแหลกอยู่ จะให้หนังออกมาเป็นโลกยูโทเปีย ผู้คนใฝ่ธรรมะกันหมดเลย ยากครับ
ทำออกมาก็จะเป็นการหลอกตัวเองซะเปล่าๆ
ผมมองว่าปัญหาที่เกิดเนื่องมาจากการรุกล้ำของศีลธรรมเข้าสู่เขตศิลปะมากเกินพอดี
ทุกสิ่งบนโลกต้องมีความสมดุลตามหลักหยินหยางครับ
ถ้าอะไรมันหลุดภาวะสมดุลเมื่อไร ระบบมันก็ล่มเอาได้ง่ายๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เป็นกับทุกเรื่องครับ

การแก้ปัญหา
พูดเรื่องปมปัญหาซะหลายหน้ากระดาษ เรามาพูดถึงการแก้ปมนั้นมั่งดีกว่า
อย่าคิดว่าต้องรอให้สังคมมันดีวิลิศมาหราขึ้น จึงจะมีบุญได้ดูหนังไม่เซ็นเซอร์นะครับ เพราะกว่าจะถึงวันนั้นรอให้ลูกหลานโตก็ไม่แน่ว่าจะได้ดู
ยังพอมีมาตรการง่ายๆ ที่สามารถแก้ปมปัญหาไปได้หลายเปาะเลยครับ
อย่างหนังโรงนั้นทางแก้นั้นง่ายซะจนสามารถพูดได้ด้วยคำ 4 คำ
จัดเรทคนดู!!

การตรวจสอบว่าหนังเรื่องไหนเหมาะกับคนดูอายุมากกว่าเท่าไร เป็นการแก้ปัญหาการรับสื่อที่ไม่เหมาะสมต่อวุฒิภาวะของคนดุได้ดีมาก แม้อาจจะแก้ไม่ได้ทั้งหมด 100% แต่ก็ช่วยได้มาก แถมยังเป็นวิธีการที่ง้าย…ง่าย ซัดได้ตรงจุด และเป็นวิธีที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ใช้กันแทบทั้งสิ้น
จะมีพิเศษไม่ทำเหมือนใครในโลกก็ไทยแลนด์แดนเมกาโปรเจคต์นี่แหละครับ
สาเหตุที่เมืองไทยไม่ทำระบบจัดเรทคนดู และคาดว่าคงไม่สามารถจัดได้ในเร็วๆนี้ค้วย (ทั้งที่เรื่องอื่นล่ะ ต่ำกว่า 20 ห้ามได้ห้ามดี) สาเหตุมีหลายประการครับ
ประการแรกเนื่องจาก กลุ่มคนดูส่วนใหญ่ที่ไปดูหนังในโรงมักจะเป็นเด็กวัยรุ่น ถ้าไปห้ามว่า หนังเรื่องนี้ต่ำกว่า 18 ห้ามดูนะคะ มีหวังโรงร้าง
ทั้งเจ้าของหนังและเจ้าของโรงหนังคงไม่มีใครอยากถอนขนหน้าแข้งตัวเองเล่นด้วยการสนับสนุนกฏนี้หรอกครับ
อีกประการนึงคือ ต่อให้ฝืนทำไปก็ใช่ว่าจะสำเร็จด้วยดี เนื่องจากสังคมไทยมีมาตรการการควบคุมหลายอย่างที่ไม่เข้มเข็ง ด้วยความที่สังคมไทยนั้นค่อนข้างอะลุ่มอล่วย ถึงสั่งว่าห้ามเข้า แต่ลองให้เด็กไปอ้อนวอนขอ หรือใช้วิธีซิกแซกฝากคนอื่นไปซื้อให้ล่ะก็
เผลอๆ โรงฉายหนังเอ็กซ์ เด็กเต็มโรง!!
ผมขอฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่า ตราบใดที่ผับเธค เมื่อไรตำรวจไม่ลงมาตรวจปุ๊บ ปล่อยเด็กเข้าปั๊บ ปกติเปิดกันตีสามตีสี่ แต่พอเข้าช่วงเทศกาลทำเป็นเฮี้ยบอย่างนี้
การจะจัดเรทคนดู…ย้ากส์!!!!

ถ้าหวังพึ่งคนอื่นไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องใช้หลัก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนกันแล้วล่ะครับ
แต่จะให้ไปประท้วงเย้วๆ เป็นสมัชชาคนดูหนังปิดทำเนียบเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์นั่น คงทำไม่ได้ เผลอๆ อาจจะโดนชาวประชาด่ากลับมาว่าชาวบ้านเขาประท้วงเพราะจะอดตาย ส่วนนี่ประท้วงเพราะดูหนังไม่สนุก!
ต้องโทษที่ตัวศิลปะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องท้องอิ่ม หรือคะแนนเสียงของสส.ที่เพิ่มขึ้นครับ
เขาถึงมีคำกล่าวไว้ไงครับ ที่ไหนคนยังกินข้าวไม่อิ่ม จะให้เขามาสนใจเรื่องศิลปะนั้น…ยากสสส์

วิธีที่ดี (หรือชั่ว?!) ที่สุดที่ผมคิดได้ตอนนี้ก็คือ เหมือนวิธีโต้ตอบของผู้บริโภคทั่วไปครับ
คนเดือดร้อนมารวมตัวกันเป็นสมาคม เพื่อให้เสียงพูดเรามันดังขึ้น พร้อมออกแถลงการว่า
ถ้าหนังเรื่องไหนมีการบดบังภาพ หรือตัดฉากใดทิ้งโดยไม่สมควรหรือกระทำเกินกว่าเหตุ
ทางผู้บริโภคจะไม่ขออุดหนุนสินค้าที่มีปัญหานั้น ไม่ว่าจะดูในโรง ซื้อหรือเช่ามาดู!
คราวนี้คนที่จะวิ่งเต้นต่อไปไม่ใช่ผู้บริโภคอย่างเราแล้วล่ะครับ แต่จะเป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย คนทำหนัง ซึ่งพอหนังเขาขายไม่ได้
คราวนี้แหละรับรองเสียงดังยิ่งกว่าโทรโข่ง

ส่วนเรื่องกรรมการตรวจเซ็นเซอร์ ก็อาจจะมีการเรียกร้องขอเปลี่ยนคณะกรรมการ โดยกำหนดให้มีตัวแทนจากผู้ผลิตหนัง ผุ้จัดจำหน่าย ศิลปินผู้สร้างหนัง ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหรือภาพยนตร์ และผู้บริโภคมีโอกาสร่วมด้วย
แม้ตัวแทนจากฝ่ายหลังๆ จะไม่มากมายแต่หลายหัวก็ยังดีกว่านั่งหัวโด่คนเดียว อย่างน้อยจะได้มีคนที่มีความคิดแตกต่างมาช่วยคิดช่วยแย้งช่วยทะเลาะบ้างครับ
ดีกว่ามีแต่คนไม่กี่คน ที่แม้แต่หนังก็ยังไม่รู้ว่ามันทำอย่างไร ทำตัวเป็นครูไหวมาตัดสินชี้ชะตาเด็กป.4อย่างพวกเราอยู่เลยครับ

วิธีแก้ทั้งหมดที่ผมเสนอ ท่านอาจจะรู้สึกว่า มีปากกาจะเขียนให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่จะให้ทำออกมาเป็นรูปเป็นร่างออกมาได้จริงๆ นั้นยาก
ขนาด John Lennon ยังเขียนเนื้อเพลง Imagine ไว้ว่าครับว่า It’s not hard if you do
แม้จะทำไม่ได้เต็มร้อยแต่อย่างน้อยทำให้มันเป็นโครงร่างก็ดีกว่าก้มหน้ารับชะตากรรมอยู่เฉยๆ
นี่ถ้าเกิดอนาคตเด็กที่เห็นตัวอย่างเกิดโตขึ้นมาเป็นเผด็จการมากกว่าเป็นศิลปินล่ะก็
อย่าหาว่าผมไม่เตือนนะ ฮ่าๆๆ

ถ้าสังคมทุกวันนี้สร้างสรรค์ผลงานออกมาดีแค่ไหน แต่เอะอะอะไรก็เซ็นเซอร์ๆ
ไม่นานศิลปินที่อยู่ยากอยู่แล้วในสังคมไทยทุกวันนี้ก็ย่อมหมดกำลังใจ
เขาบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ไม่ใช่การที่รัฐเป็นคนเซ็นเซอร์ผลงานศิลปินหรอกครับ
แต่อยู่ที่ศิลปินโดนแรงบีบคั้นรอบข้างจนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองต่างหาก
***************************************************************************************************************

ใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับเซนเซอร์อย่างไร เขียนมาบอกหน่อยสิครับ




Create Date : 31 ธันวาคม 2549
Last Update : 24 มีนาคม 2551 2:17:24 น. 6 comments
Counter : 2421 Pageviews.

 
ก็เป็นเรื่องเสียอารมณ์กันมานานแล้ว
จะเซ็นเซอร์ก็เซ็นเซอร์ที่มันยั่วยุกามารมณ์เกินเหตุ หรืออนาจารโทงๆจริงๆ

ไอ้บุหรี่ ไปป์ แก้วเหล้า นี่ไม่รู้จะเซ็นเซอร์หาอะไร

อย่างนี้อีกหน่อย ฉากชกต่อย ตบตี มิต้องเซ็นเซอร์รึ ก็ชกต่อยมันเป็นเรื่องไม่ดีไม่ใช่รึ ?

น่าจะเอาคนทำหนังไปเป็นคนเซ็นเซอร์ เพราะผมว่าเค้ารู้ว่าอย่างไหนควรเซ็นเซอร์อย่างไหนไม่ควร


โดย: ตงฉิน IP: 58.136.16.180 วันที่: 1 มกราคม 2550 เวลา:0:18:08 น.  

 
เดี๋ยวนี้การเซนเซอร์เรียกว่า ทำแบบเกินเหตุครับ
แค่ตบกบาล เล่นเท้า ก็ต้องตัดภาพออก ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะมือถือสากกันไปถึงไหน


โดย: nanoguy (nanoguy ) วันที่: 1 มกราคม 2550 เวลา:22:52:16 น.  

 
ผมไม่ค่อยดูหนังจากดีวีดีหรือทางทีวี ส่วนใหญ่ดูแต่ในโรง
เลยไม่ค่อยเจอปรากฎการณ์เซนเซอร์เท่าไหร่


แต่เท่าที่อ่านดู ก็รู้สึกว่ามันงี่เง่าจิงๆ
เช่น กรณีเรื่องเด็กหอ
ตัดฉากนั้นไปแล้วมันจะดูรู้เรื่องหรอว้า วัยรุ่นเซงง


โดย: เล่งฮู้ IP: 58.9.173.32 วันที่: 21 มกราคม 2550 เวลา:23:40:36 น.  

 
โห ขยันเขียนมากเลยอ่ะ
คนขี้เกียจอย่างเรานับถือ นับถือ

ยังไม่ได้อ่านนะคะ
ช่วงนี้งานยุ่งๆ
ไว้จะกลับมาอ่านจ้า


โดย: idLer IP: 210.203.176.186 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:0:07:08 น.  

 
ผมมีความเห็นต่อเซ็นเซ่ออย่างไร ...

ผมว่าผมคงรู้สึกมาหลายอย่างจนตอนนี้รู้สึกขำๆ แล้วหละครับ
อาจจะเป็นเพราะสภาวะประเทศตอนนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า เกิดเป็นคนไทยต้องทน
ทนกับการปกครอง ทนกับการเอารัดเอาเปรียบ ทนกับการละเมิดสิทธิต่างๆ
ถ้าทนไม่ได้ต้องหาทางย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเอาเอง
เพราะผมเชื่อแน่ๆ ว่า อะไรบางอย่างในประเทศไทย มันเปลี่ยนไม่ได้

เขียนไปๆ รู้สึกซีเรียสเกินประเด็น 555+

จริงๆ แล้วเกี่ยวกับเซ็นเซ่อนี่ มีบางส่วนที่ผมเห็นด้วย
เพราะผมคิดว่า วุฒิภาวะของคนไม่เท่ากันครับ
ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ( อย่างที่คุณบอกว่ายาก )
ก็คงต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างที่เห็นนั่นแหละครับ
บางอย่างที่เรามีวิจารณญาณพอ แต่เยาวชน หรือ คนหื่นกามขี้ยา เขาก็ไม่ได้คิดอย่างเรานะครับ

แล้วผมก็ว่า แบ่งเรทตามอายุมันคงน้อยไป
ถ้าแบ่งเรทตามระดับไอคิวและอีคิวได้จะดีมากครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ...
สมควรเริ่มจากวัดระดับไอคิวและอีคิวของคนหั่นเซ็นเซ่อก่อนเลย



โดย: พลทหารไรอัน วันที่: 3 เมษายน 2550 เวลา:1:29:10 น.  

 
อืม น่าเบื่อเนอะ


โดย: calcium_kid วันที่: 25 มีนาคม 2551 เวลา:17:09:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.