bloggang.com mainmenu search








4 ตุลาคม 2553 หลังทริปไปอยุธยา เราผ่านมาทางสีคิ้วแล้วเลี้ยวไปทาง อ.โชคชัยเพื่อแวะด่านเกวียน เพราะคุณแม่บ้านเธออยากได้พวกของตกแต่งบ้านและสวน.... แต่เอาไว้มีเวลา แล้วจะเอาภาพสดๆใสๆพวกตุ๊กตาพวกนั้นมาให้ชมกันนะครับ... ผ่านโคราชจะกลับเมืองขอนแก่นตกลงว่าจะแวะชมปราสาทหินพิมายกัน เพราะนานมากๆที่ไม่ได้ไปที่นั่น

หลายครั้งที่เราคิดแบบนี้ แต่ไม่สมหวังซักครั้ง เพราะฝน.... เที่ยวนี้ก็ทำท่าว่าจะเป็นเช่นนั้นอีก เพราะพอออกจากโคราช บนฟ้านั้นครึ้มดำทะมึนไปหมด แต่ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า (ยังกะจะไปรบเน๊าะ) เลยตัดสินใจแวะเข้าไป ระหว่างทางจากตลาดแคเข้าไปพิมาย สิบกว่า กม. เจอฝนจนได้... ฝนก็ฝนสิ ไหนๆมาแล้วนี่นา แต่โชคก็ยังเป็นของเรา เพราะพอถึงเมืองพิมาย ฝนมลายหายไปทางอื่นหมด เปิดช่องให้เราเดินชมได้ ท่ามกลางสีท้องฟ้าที่หม่นขาว เลยได้ภาพออกมาไม่ดีเท่าที่ควร.... เอาน๊ามาชมของโบราณ ไม่ได้มาชมวิวซักกะหน่อย....

ก่อนเข้าชมคุณๆต้องจ่ายค่าเข้าชมก่อนนะครับ โดยซื้อบัตรได้ที่ซุ้มทางเข้าติดกับลานจอดรถ โดยที่ชาวไทย ราคา 20 บาท ส่วนชาวต่างประเทศ 100 บาทครับ..... เมื่อผ่านเข้าไปจะมีไก๊ด์เยาวชนคอยให้การต้อนรับ และพาท่านชม (ถ้าท่านต้องการ) จากนั้นควรเข้าไปที่ศูนย์บริการ เพื่อหาข้อมูล ก่อนเดินเข้าไปชมครับ

พร้อมแล้วตามมาชมด้วยกันเลยดีกว่าครับ










แผนผังปราสาทหินพิมาย






เดินออกมาจากศูนย์ข้อมูล แล้วดูแผนที่การเดินชมนะครับ ถ้าตรงไปเลยก็จะเจอพลัพลา แต่วันนี้เราจะพาคุณๆเลี้ยวขวา ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวจากลาว ที่เดินไปก่อนหน้าเรา..








สะพานนาคราช 1












สะพานนาคราช 2 : วันนั้นเจอนักท่องเที่ยวจากประเทศลาวเข้ามาชมด้วย (เดินอยู่ด้านหน้าเรา)







ประวัติปราสาทหินพิมาย


ปราสาทหินพิมายมีลักษณะเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 16 -17 และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศาสนสถานตั้งอยู่กลางเมืองพิมาย เปรียบเป็นเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาลอันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า

เมืองพิมาย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 565 เมตร ยาว 1030 เมตร ประกอบด้วยคูน้ำและกำแพงดินล้อมรอบ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทางทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทางทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลขึ้นไปบรรจบกับลำน้ำมูล

คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมร ที่กรอบประตูห้องกลางด้านทิศตะวันออกซุ้มโคปุระระเบียงคดทางทิศใต้ ระบุชิอ “กมรเตงชคตวิมาย” และกล่าวถึงการสร้างรูปสำคัญชื่อ “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ใน พ.ศ. 1651..... (จากแผ่นพับอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย)













จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2532 ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยาน

ที่มา : วิกิพีเดีย ( online November 24, 2010)










สะพานนาคราช 3






สะพานนาคราช

สะพานนาคราช ปราสาทหินพิมายตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน










ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว











รูปแกะสลักบนซุ้มประตู





ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว

ซุ้มประตูซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า










ชาลาทางเดิน: จะเห็นเสาหินขนาดมหึมา พร้อมรอยเจาะรูสำหรับการติดตั้ง





ชาลาทางเดิน

ชาลาทางเดินก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้










อีกมุมบนชาลาทางเดิน












ทางเดินเข้าชมปรางค์ประธาน จะมีสระน้ำหรือบารายอยู่ทั้งสองด้าน











ซุ้มประตูระเบียงคต




ซุ้มประตูและระเบียงคต

เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651-1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนางมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1









ปราสาทประธาน




ปราสาทประธาน (ปรางค์ประธาน)

เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศรรตวรรษที่ 16-17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร

















ปราสาทประธาน จากด้านข้าง












ปราสาทประธาน จากด้านปรางค์พรหมทัต












พระพุทธรูปนาคปรก อยู่ในปราสาทประธาน





















ด้านข้าง











เยื้องด้านหลัง












ด้านหลัง












นักท่องเที่ยวชาวลาว กำลังชมปราสาทประธาน (ปรางค์ประธาน)












ลวดลายบนซุ้มประตู และกรงหน้าต่าง












กรงหน้าต่าง











ลวดลายบนซุ้มประตู











ระเบียงคต







เราเดินชมที่นี่ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ อาจจะเก็บรายละเอียดได้ไม่มากนัก กอปรกับขาดความรู้ทางด้านนี้อยู่มาก จึงได้ภาพที่ปราสาทหินพิมายมานำเสนอคุณๆเพียงน้อยนิด..... แนะนำว่าถ้าท่านอยากชมให้ได้ความครบถ้วน ท่านควรเลือกมักคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นลูกหลานของเรานำทางนะครับ

อากาศที่สลับร้อนสลับฝนในเมืองพิมายในวันนั้น ทำให้เราต้องรีบจากที่นั่นมาด้วยความอิ่มเอิบ แม้ว่าศิลปและสถาปัตยกรรมนี้มาจากขอมก็จริง แต่นั่นก้เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ หรือ ทั่วทั้งอุษาคเนย์ในอดีต มีความสามารถมากมาย เรียกได้ว่าไม่แพ้ชุมชนใดๆในโลก.....









ลากันด้วยภาพนี้ครับ





การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี เมื่อถึงตัวเมืองสระบุรีแยกขวาเข้าทาง หลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ตรงแยกต่างระดับปักธงชัยจะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้าย ขับไปตามถนนบายพาส แล้วเลยไปถึงสามแยกตลาดแค (ประมาณ 51 กม.จากโคราช) แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปพิมาย ตามถนนหมายเลข 206 ประมาณ 14 กม. ถึงอำเภอพิมายและอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวามือ


รถประจำทาง

จากสถานีขนส่งหมอชิตโดยสารรถประจำทาง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมามีทั้งรถโดยสารธรรมดาและ รถปรับอากาศ ตลอด24 ชั่วโมง และต่อรถโดยสารประจำทางสาย นครราชสีมา-พิมาย-ชุมพวง ซึ่งมีรถถึง 4ทุ่ม ทุกวัน


รถไฟ

จากสถานีหัวลำโพง โดยสารรถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือ สุรินทร์ ลงที่สถานีนครราชสีมา และต่อรถ โดยสารประจำทางสาย นครราชสีมา-พิมาย-ชุมพวง


เวลาทำการ

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 07.00 - 18.00 น.
อัตราค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท.
สอบถมเพิ่มเติมที่ Tel / Fax : 044 471 568






อ้างอิง : วิกิพีเดีย ( online November 24, 2010)



ขอบคุณที่ตามอ่านครับ




_____________ END ____________