bloggang.com mainmenu search
 

 

บล๊อกนี้มาอัพเดทเกี่ยวกับธรรมชาติสรรสร้างกันครับ โดยจะพาไปเที่ยว "ภูสิงห์" หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู ต.โคกก่อง อ.เมือง จ.บึงกาฬ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้  ซึ่งเป็นอันซีน (Unseen) ของจังหวัดบึงกาฬเลยล่ะครับ...บนภูสิงห์ที่ประกอบไปด้วยก้อนหินทรายขนาดมหึมาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิงโลกเรื่อมาตั้งแต่เมื่อ 75 ล้านปีที่แล้ว  วางเป็นกลุ่มๆ จึงทำให้ผู้พบเห็นตั้งชื่อไปตามจินตนาการของตัวเอง .... กลุ่มหินสามวาฬซึ่งเป็นไฮไลท์ของบล๊อกนี้ก็เช่นกัน เมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วจะเห็นเหมือนกลุ่มปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก กำลังลัวแหวกว่ายอย่างสนุกสนาน.



 

แผนที่เที่ภูสิงห์ - หินสามวาฬ

วันนี้ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เรามาถึงภูสิงห์แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติก็สายแล้ว เวลาประมาณ 11 โมง แต่ก็ยังเป็นกลุ่มแรกๆ จอดรถตรงหน้าทางเข้าจุดลงทะเบียน ซึ่งอีกฝั่งของถนนมีร้านขายของชำของชาวบ้าน ถ้าเผื่อว่าท่านยังไม่มีน้ำดื่มก็ซื้อหาได้จากที่นั่นครับ จากนั้นก็เดินเข้าไปที่จุดลงทะเบียนเช็คอุณหภูมิไข้ตามปกติในช่วงที่โควิดกำลังระบาดแบบนี้  ถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับรถเช่าเขาบอกว่าคันละ 500 บาท พาชม 7 จุดใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ค่าเช่ารถสามารถแชร์กันได้และถ้ามาเป็นกลุ่มขึ้นได้สูงสุดกลุ่มละ 10 คน เราไปกัน 2 คน พอดีมีน้องยูทูบเปอร์เขามาไลฟ์ให้แฟนๆเขาดูเลยขึ้นไปพร้อมกันโดยแชร์ค่าเช่ารถกัน ... โดยวันนี้จะไปตามจุดต่างๆที่มาร์คเป็นตัวเลขสีน้ำเงินไว้ในแผนที่

พื้นที่ป่าภูสิงห์กว่า 1.2 หมื่นไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าละเมาะเขา ด้านบนไม่มีแหล่งน้ำและเต็มไปด้วยผาหินทรายที่มีอายุกว่า 75 ล้านปีขึ้นไป จึงไม่มีสัตว์ใหญ่  .... ถนนที่ขึ้นไปสู่จุดชมวิวได้พัฒนาเป็นทางคอนกรีตพอรถวิ่งผ่านไปได้ ขึ้นเขาแต่ไม่ชันเท่าไหร่ ผ่านหินทรายก้อมมหึมมาตามทางที่ผ่าน โดยจุดแรกที่จะแวะคือ ลานธรรมภูสิงห์
 



ลานธรรมภูสิงห์
 

"กล่าวกันว่า ตามลักษณะวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา กล่าวว่าในอดีตพื้นที่แถบอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน เมื่อหลายล้านปีมาก่อน ประมาณยุคมหายุคพาลีโอโซอิก จากนั้นกาลเวลาผ่านไปหลายล้านปี จึงทำให้โลกเคลื่อน ทะเลจึงถูกดันขึ้นเป็นแผ่นดิน จึงทำให้ดินต่างๆก่อตัวกลายเป็นหิน โดยเฉพาะหินทราย ตามคำกล่าวอ้างของนักธรณีวิทยา จึงทำให้แถบอีสานจึงมีหินทรายเป็นจำนวนมาก"

ลานธรรมภูสิงห์ เป็นลานสนสนามหญ้ากว้างใหญ่ประใหญ่กว่าสนามฟุตบอลเล็กน้อย มีหินทราย 2 ก้อนขนาดใหญ่ ก้อนทางขวามมือดูเหมือนเป็นสิงห์หมอบอยู่ หันหน้าออกไปทางป่า (ขวามือ) แต่ถ้าเราพิจารณามองอีกมุมก็จะเห็นเหมือนพระนอนหันศรีษะมาทางองค์พระสิงห์ ... ก็สุดแต่ท่านจะจินตนาการครับ ส่วนหินก้อนทางซ้ายมือ ยังไม่มีใครตั้งชื่อ .... เพราะหินเหมือนสิงห์หมอบจึงเป็นที่มาของชื่อ ภูสิงห์ แห่งนี้

บริเวณนี้ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคที่มีการสู้รบระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ โดย พคท. ใช้ที่นี่เป็นฐานที่มั่นและหลบภัย โดยอยู่ใกล้ๆ กับ "ถ้ำใหญ่"  โดยภายในถ้ำเป็นถ้ำโล่งกว้างจุคนได้นับร้อย เป็นที่อยู่อาศัยของ พคท. ในยุคนั้น โดยยังคงเหลือร่องรอยของห้องปฐมพยาบาล และที่หลบภัยอยู่ด้วย (การเที่ยวถ้ำใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง... แต่วันนี้เราไม่ไ้ไป)





 

จากลานธรรมภูสิงห์ เราไปขึ้นไปจอดรถที่ศาลาทางแยก ซึ่งมี 2 ทาง ซ้ายไปจุดชมวิวถ้ำฤๅษี ขวาไปหินสามวาฬ เราเลือกไปซ้ายก่อนครับ..จุดชมวิวถ้ำฤๅษี


 

จุดชมวิวถ้ำฤๅษี


หน้าผาหินตรงนี้เป็นจุดชมวิวคุ้งแม่น้ำโขงที่ อ.บุ่งคล้าได้ชัดเจนและสวยงามมาก ในช่วงปลายฝนต้นหนาวด้านล่างนี้จะเป็นทะเลหมอกสวยงาม ยามหน้าฝนสวนยางพาราก็เขียวขจีไปหมด ... เสียดายวันที่ไปในเดือนกุมภาพันธุ์ต้นยางกำลังผลัดใบเหลือแต่ความแห้งแล้ง ตรงนี้เป้นลานอันกว้างพอควร ผู้คนมาเที่ยวมักจะมีแอ๊คชั่นกันหลากหลายครับ



Moment สนุกๆที่ลานหินถ้ำฤๅษี
 
 
หินสามวาฬ ... จากจุดชมวิวถ้ำฤๅษีเราเดินกลับมาที่ศาลาที่รถเราจอดอยู่ แล้วเดินผ่านป่าไผ่บนทางราบออกไปหน้าผาซึ่งนั้นก็คือ "หินสามวาฬ" ก้อนหินทรายขนาดใหญ่ที่โดนสายลม แสงแดด น้ำฝน ใช้เวลาเป็นล้านๆปีปั้นแต่งเป็นประติมากรรมธรรมชาตินี้ให้พวกเราได้เชยชมเป็นที่อัศจรรย์ในวันนี้ 

หินสามวาฬ มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ติดหน้าผาสูง เหตุผลที่เรียกว่า หินสามวาฬ เพราะลักษณะของจุดชมวิวนี้เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ 3 ก้อน รูปร่างคล้ายปลาวาฬเรียงกันยื่นออกไปสู่หน้าผา หากมองในมุมสูงจะเหมือนกลุ่มวาฬที่มีพ่อ แม่ ลูก จึงเรียกกันว่า หินสามวาฬ ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามโดดเด่นของภูสิงห์ สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า เบื้องหน้าคือ ชมวิวของผืนป่าเขียวขจีและสายหมอกบาง 
 


ทางเดินออกไปสู่หินสามวาฬ

หินสามวาฬ ซึ่งเป็นสันยาวขนาดใหญ่ของหินภูสิงห์ ยื่นออกไปในหน้าผาสูง แยกเป็น 3 สัน มองไกลๆ หรือมองจากมุมสูง มีลักษณะคล้าย วาฬพ่อแม่ลูก กำลังว่ายน้ำ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก กระบวนการผุพัง กัดกร่อนของหินทราย และอีกหลายปัจจัยจากธรรมชาติ จนเกิดเป็นหน้าผาลักษณะแปลกตาคล้ายวาฬ 3 ตัว ... วิวที่ไปถ่ายกันได้มาโดยการให้ช่างภาพให้ไปถ่ายจากวาฬตัวแม่ซึ่งอยู่ตรงกลางและยื่นออกไปยาวที่สุด แล้วตัวแบบเขาจะอยู่ที่วาฬตัวพ่อ หรือซ้ายมือมือสุด ... ส่วนวาฬตัวลูกจะอยู่ขวาและเล็กสุด

การเดินชมและถ่ายภาพควรเดินตามแนวที่เจ้าหน้าที่กำหนด ห้ามออกไปเกินแนวซึ่งอาจจะพลัดตกเอาได้ ความสูงของหน้าผาหินสามวาฬก็สูงมากด้วย ...ที่นี่ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นด้วย เวลาที่เหมาะจะมาคือประมาณตีห้า



บนหินสามวาฬตัวแม่



ภาพมุมสูงหินสามวาฬ (CR: mgronline.com)



ไกลสุดคือหินสามวาฬตัวพ่อ



บนหินสามวาฬตัวพ่อ







 
จุดต่อมาคือรูป หินหัวช้าง ซึ่งเหมือนช้างมากๆ



หินหัวช้าง

จากหินหัวช้างไม่ไกลเราก็มาถึงประตูภูสิงห์ ที่เป็นสูง มีช่องแหวกเหมือนกับเป็นประตู บริเวณนี้เคยมีการมาถ่าบแบบโฆษณาของเหล้าชนิดหนึ่งด้วย ... เลยประตูนี้ออกไปจะเป็นหน้าผาครับ มีการวางแผนว่าจะสร้าง Skywalk ตรงหน้าผานี้ด้วย
 


ประตูภูสิงห์



บริเวณประตูภูสิงห์




บริเวณประตูภูสิงห์



ส้างร้อยบ่อ
จุดต่อมาคือ ส้างร้อยบ่อ ที่ลักษณะทั่วไปเป็นลานหินที่มีหลุมเล็กใหญ่จำนวนมาก เป็นที่มาของคำว่า ส้างร้อยบ่อ (ส้าง เป็นภาษาอีสาน หมายถึงบ่อน้ำที่ขุดลึกเพื่อหาแหล่งน้ำ) ซึ่งในภาษากลางคือ "บ่อน้ำร้อยบ่อ"  ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา การเซาะกร่อนของกระแสน้ำวนเมื่อครั้งอดีต อยู่ติดหน้าผาตะวันตก เหมาะที่จะไปชมพระอาทิตย์ตกดิน.

ส้างร้อยบ่อ เป็นปรากฏการทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "กุมภลักษณ์" หรือ Pot Hole เช่นเดียวกับที่เกิดใน สามพีนโบ จ.อุบลราชธานี ต่างกันก็แต่ส้างร้อยบ่อที่ภูสิงห์เกิดจากน้ำโบราณในอดีตที่ไหลผ่านบริเวณนี้ น้ำที่ไหลผ่านหินทรายหมู่หินภูทอกน้อยที่ลักษณะพื้นผิวนูนบ้าง เว้าบ้าง ทำให้เกิดการไหลวนของน้ำเป็นจุดๆ จึงเกิดการกัดกร่อน (erosion) เกิดขึ้น เม็ดทรายที่หลุดร่อนบวกกับน้ำที่ไหลวน กัดลึกลงไปเรื่อยๆทำให้ก้นบ่อส้างลึกและใหญ่ทรงกลมเหมือนหม้อนึ่งข้าวเหนียว เมื่อน้ำหยุดไหล หลงเหลือน้ำค้างไว้เต็มบ่อบวกกับเศษใบไม้หมักหมมเน่าเปื่อย หินทรายในบ่อก็ผุพัง (weather) เมื่อน้ำใหม่ไหลมาการกัดกร่อนพัดพาก็ง่ายขึ้น ปีแล้วปีเล่า เกิดเป็นบ่อ เกิดเป็นโบก เกิดเป็น "ส้างร้อยบ่อ"

ที่มา :  https://library.dmr.go.th/Document/Proceedings-Yearbooks/M_1/2558/25742.pdf







ส้างร้อยบ่อติดหน้าผาทางทิศตะวันตก จึงเหมาะกับการชมพระอาทิตย์ตกดิน



กำแพงภูสิงห์ ... ดูลักษณะหินที่เป็นรอยแตกบนกำแพง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเกิดจากซันแครก (Suncrack) 
 

กำแพงภูสิงห์ ก้อนหินที่ตั้งตระหง่านเหมือนเป็นกำแพง มีรอยแตกที่เรียกว่าซันแครก ... “ซันแครก” (Suncrack) หรือหมอนหินซ้อน ซึ่งเกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดซันแครก และเห็นเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางซ้อนกันเป็นชั้น ขนานไปกับแนวชั้นหิน

ที่ภูสิงห์ยังมีจุดให้ท่านได้เที่ยวชมอีกนะครับ  เช่นถ้ำใหญ่ที่มีประวัติมาในอดีตเมือครั้งคนไทยเรายังมีความคิดแตกต่างกันด้านการปกครอง สะพานภูสิงห์ที่เป้นสะพานหินวางพาดลำห้วยที่มีน้ไหล ลานหินลาย หินรถไฟที่มองไกลๆคล้ายหัวรถไฟ ซึงแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถสอบถามและติดต่อผู้นำทางได้จากเจ้าหน้าที่ 

 บริเวณภูสิงห์ไม่มีบ้านพัก แต่มีจุดกางเต้นท์ให้บริการ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร  088 563 8852


การเดินทาง: 
ขับรถมาจากตัวจังหวัดบึงกาฬประมาณ 24 กิโลเมตร ไปตามถนนเลียบแม่น้ำโขง (ถนนหลวงสาย 212) ไปทางจังหวัดนครพนม จะเจอสามแยกทางเข้าภูสิงห์อยู่ทางขวามือ เลี้ยวรถเข้าไปทาง อ.ศรีวิไล ประมาณ 6 กิโลเมตรก็จะเจอ ทางเข้าซ้ายมือ
 




ลาด้วยภาพที่ลานหินจุดชมวิวถ้ำฤๅษีครับ





 




Create Date :27 มีนาคม 2564 Last Update :27 มีนาคม 2564 7:27:24 น. Counter : 4639 Pageviews. Comments :8