bloggang.com mainmenu search






ลับมาเที่ยวเมืองไทยบ้านเราอีกครั้งครับ บล๊อกต่อไปนี้เป็นบล๊อกพิเศษเลยก็ว่าได้ครับ เพราะนี่เป็นการปีนภูกระดึงครั้งที่ 4 ของผู้เขียน และไม่แน่ใจว่าคราวต่อไปยังจะมีพลังพอจะปีนไหวไหมนะ .... ภูกระดึงซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติบนที่สูงที่สวยงาม และเป็นที่วัดใจของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ชอบความท้าทาย และฝักใฝ่ในธรรมชาติครับ .... แต่ก่อนที่จะได้ชมความงามของยอดภู เรามาดูความท้าทายในการปีนขึ้นภูกระดึงกันก่อนดีไหมครับ



เขาลูกไกลสุดคือภูกระดึง (ถ่ายจากเขาป่าเปาะ)


การเตรียมการสำหรับการไปปีนภูกระดึงสมัยนี้แทบจะไม่ต้องเตรียมอะไรไปมากนัก นอกจากเงินและความฟิต ทำไมเหรอ? ก็เพราะบนภูและระหว่างทางขึ้นภูสมัยนี้มีร้านค้า ขายของกิน น้ำ และของจำเป็นมากมาย ไม่เหมือนสมัยก่อนต้องแบกสัมภาระและของกินขึ้นไปด้วย เพราะระหว่างทางขึ้นเขไม่มีร้านค้าขายของเลย ส่วนบนภูนั้นก็มีร้านของอุทยานเพียงร้านเดียวเท่านนั้นครับ


ติดต่อจองเต้นท์ที่นี่


จะไปภูกระดึงต้องทำและเตรียมการอย่างไร

1. การเดินทางท่านสามารถนั่งรถโดยสารไปที่ อ. ภูกระดึงได้และต่อสองแถวเข้าถึงอุทยานได้
2. ขับรถไปเอง ก็สามารถนำรถเข้าไปจอดในอุทยานในพื้นที่จอดค้างคืนได้ โดยต้องเสียค่านำรถเข้า อช. คันละ 40 บาท ส่วนนักท่องเที่ยวก็จ่ายค่าเข้า อช. ท่านละ 30 บาท ผู้ที่มีอายุ 60 หรือมากกว่าไม่ต้องจ่ายครับ โดยจ่ายตั้งแต่ประตูผ่านเข้า อช. ด้านนอกเลย
3. การจองที่พัก ถ้าท่านอยากพักบ้านพักก็สามารถจองผ่านเว็บไซต์ได้ที่ https://nps.dnp.go.th/reservation.php?id=62  ส่วนท่านที่จะนอนเต้นท์ก็ไปจองได้ที่ Information สำนักงานอุทยานที่ภูกระดึงเลย เมื่อท่านจะขึ้นภูก็จะมีการทำประกันอุบัติเหตุคนละ 10 บาท สำหรับท่านที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ส่วนท่านที่อายุเกินไม่มีให้ทำครับ  จากนั้นถ่ายภาพแนบบัตรเข้า อช.เก็บไว้ สำหรับท่านที่จองได้แล้วทางเจ้าหน้าที่จะออกเอกสารให้ไว้ เมื่อขึ้นถึงบนภูก็แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านบนที่ที่ทำการอีกครั้ง
4. สำหรับเครื่องนอน สามารถเช่าได้ที่ที่ทำการฯด้านบนภู ถุงนอน 30 บาท ที่รองนอน 20 บาท ผ้าห่ม 20 บาท หมอน 10 บาท
5. ท่านที่มีสัมภาระสามรถแจ้งที่อาคาร 4 จุดรับ-ส่งสัมภาระได้ โดยมีค่าใช้จ่ายคือ ค่าแท็ก ใบละ 5 บาท ค่าสัมภาระ กก.ละ 30 บาท แล้วท่านจะได้รับหางแท็กอีกส่วนเพื่อรับของด้านบน


อุทยานแห่งชาติภูกระดึง :  ปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายน ของทุกปี และ  เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม
ประกันอุบัติเหตุ



เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เรามาไปปีนภูกระดึงกันเลยครับ ... ต้องบอกกล่าวกันไว้ว่า ผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับภูกระดึงไว้ 2 บล๊อกนะครับ บล๊อกแรกจะเกี่ยวกับการขึ้น-ลงภู ส่วนบล๊อกที่ 2 จะเป็นภาพบรรยากาศบนภูครับ


เรามารู้จักภูกระดึงหน่อยดีไหม

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง : ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึง ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร


ที่รับ-ส่งของลูกหาบ



ประวัติภูกระดึง

ตามตำนานกล่าวไว้ว่ามีพรานป่าผู้หนึ่งได้พยายามล่ากระทิงซึ่งหลบหนีไปยังยอดเขาลูกหนึ่งในตำบลศรีฐาน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอภูกระดึง) ซึ่งเป็นภูเขาที่ไม่เคยมีใครขึ้นมาก่อน เมื่อนายพรานได้ตามกระทิงขึ้นไปบนยอดเขาแห่งนั้น ก็ได้พบว่าพื้นที่บนภูเขาลูกนั้น เต็มไปด้วยพื้นที่ราบกว้างใหญ่สวยงาม เต็มไปด้วยป่าสน พรรณไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด มนุษย์จึงรู้จักภูกระดึงแต่นั้นเป็นต้นมา

ภูกระดึงเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีปรากฏเป็นหลักฐานเมื่อสมุหเทศาภิบาล (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ได้ทำรายงานสภาพภูมิศาสตร์เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2486 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกาป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นที่ภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแห่งแรก แต่เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่จึงใด้ดำเนินการไปเพียงเล็กน้อยและหยุดไป

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดป่าในท้องที่จังหวัดต่างๆรวม 14 แห่งเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้เป็นการถาวรเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรมป่าไม้จึงได้เสนอจัดตั้งป่าภูกระดึงให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูกระดึงในท้องที่ตำบลศรีฐาน กิ่งอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 217,581 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติในบริเวณที่กองทัพอากาศขอใช้ประโยชน์ตั้งเป็นสถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ในราชการทหารมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ทางกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการขอเพิกถอนพื้นที่ดินดังกล่าวในปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 217,576.25 ไร่





ทำไมถึงเรียกว่าภูกระดึง
คำว่า "ภูกระดึง" มาจากคำว่า ภู แปลว่า ภูเขา และ กระดึง แปลว่า กระดิ่ง เป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย ด้วยเหตุนี้ ภูกระดึง จึงอาจแปลได้ว่า ระฆังใหญ่ ชื่อนี้มาจากเรื่องเล่าที่ว่าในวันพระชาวบ้านมักได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากภูเขาลูกนี้เสมอ เล่ากันว่าเป็นระฆังของพระอินทร์ ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือในบริเวณบางส่วนของยอดเขาหากเดินหนักๆหรือใช้ไม้กระทุ้งก็จะมีเสียงก้องคล้ายระฆังซึ่งเกิดจากโพรงข้างใต้ จึงได้รับการตั้งชื่อว่า "ภูกระดึง"


ทางขึ้นภูกระดีง



ทุกอย่างพร้อม...เรามาขึ้นภูกันเลยครับ

พอเลยป้ายด้านล่างไปจะเป็นประตูเส้นทางพิชิตภูกระดึง เราก็ต้องลงทะเบียนตามธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานครับ เลยไปถ้าเจอไม้เท้าไม้ไผ่ ก็เลือกถือขึ้นไปด้วยได้ และเมื่อถึงที่ทำการด้านบนภูก็นำไปเก็บรวมกันไว้ตรงหน้าอาคารเพื่อให้เพื่อนๆนักเดินทางท่านอื่นได้นำไปใช้ต่อไปครับ .... สำหรับระยะทางเดินขึ้นภูทั้งหมดก็ประมาณ 9 กม.เศษๆครับ คือจากพื้นราบ-หลังแป 5.5 กม. และจากหลังแป-ที่ทำการวังกวาง 3.526 กม. ครับ .... ทางขึ้นภูก็จะไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ (ดูแผนที่ประกอบครับ) โดยแยกเป็นช่วงๆดังนี้
- ที่ทำการ อช.ภูกระดึง - ปางกกค่า ระยะทาง 800 เมตร ทางเดินเป็นหินภูเขา และมีราวเหล็กกั้นตกเขาเป็นช่วงๆ ช่วงนี้ชันเดินค่อนข้างยาก พยามพักไปเรื่อยๆ เมื่อหายใจสะดวกแล้วค่อยเดินต่อนะครับ - ปางกกค่า - ซำแฮก ระยะทาง 200 เมตร แต่ชันมาก มีราวเหล็กกั้นตกเขาเป็นช่วงๆ ... พอถึงซำแฮกมีร้านขายอาหาร น้ำ น้ำเกลือแร่ หลายร้าน รวมทั้งขายของที่ระลึกด้วย ราคาอาหารก็ยังไม่แพง มีห้องน้ำแบบโมบายที่นี่ - ซำแฮก - ซำบอน ระยะทาง 700 เมตร เดินสะบายไปขึ้นนิดๆตอนจะถึงซำบอน ที่ซำบอนไม่มีร้านค้านะครับ - ซำบอน - ซำกกกอก ระยะทาง 360 เมตร ยังเดินสบายอยู่ ซำกกกอกไม่มีร้านค้า - ซำกกกอก - ซำกอซาง ระยะทาง 440 เมตร มีร้านค้าและห้องน้ำ พักที่นี่ได้ มีร้านค้าและห้องน้ำแบบโมบาย - ซำกอซาง - พร่าพรานแป ระยะทาง 200 เมตร ทางขึ้นชัน มีทางเดินและราวเหล็กกั้น ด้านบนเหมือนเป็นสันเขา - พร่าพรานแป - ซำกกหว้า ระยะทาง 440 เมตร ทางเป็นหินภูเขา บางช่วงปีน แต่ก็ไม่ชันมากนัก ... ที่ซำกกหว้ามีร้านค้า มีห้องน้ำแบบโมบาย ... จากซำกกหว้าขึ้นไปราคาน้ำและอาหารจะปรับแพงขึ้นแล้วนะครับ - ซำกกหว้า - ซำกอไผ่ ระยะทาง 460 เมตร ทางเป็นหินภูเขา บางช่วงปีน แต่ก็ไม่ชันมากนัก เป็นทางช้างเดินผ่านด้วย - ซำกกไผ่ - ซำกกโดน ระยะทาง 300 เมตร ทางเป็นหินภูเขา บางช่วงปีน เป็นจุดสกัดของอุทยาน หน้าผาทางด้านหน้าที่ทำการ เห็นวิวด้านล่างสวยงาม มีร้านค้าและห้องน้ำถาวรที่ซำนี้ .... จากซำกกโดนทางจะเริ่มชันมากขึ้น - ซำกกโดน - ซำแคร่ ระยะทาง 450 เมตร ทางเป็นหินขลุขระ ชันขึ้น มีร้านค้าและห้องน้ำ คารพักที่นี่ก่อนแล้วค่อยไปต่อ มีร้านค้าและห้องน้ำแบบโมบาย - ซำแคร่ - หลังแป ระยะทาง 1300 เมตร ทางชันมาก แต่มีบันไดเป็นช่วงๆ ต้องระวังมาก ควรให้ทางลูกหาบก่อนนะครับ - หลังแป - ที่ทำการ หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ระยะทาง 3526 เมตร ทางเรียบบนพื้นราบ เดินสบาย หรือจะเช่าจักรยานปั่นไปที่พักก้ได้ แต่ต้องไปทางผาหมาดูก - ที่พัก (ระยะทางประมาณ 4 กม)


ผู้เขียนขอสรุปช่วงยากๆมี 3 ช่วงคือ
1. ยากที่สุด พื้นราบ - ซำแฮก ถ้าคนจะถอดใจก็ช่วงนี้แหละ 2. จากซำแคร่ - หลังแป แม้จะมีบันไดเป็นช่วงๆ แต่ก็ถือว่าชันมากๆ 3. จากซำกอซาง - พร่าพรานแป นี่ก็ชัน แต่ทำทางเดินค่อนข้างดี เลยง่ายกว่าสองที่แรก
นอกนั้นก็สูสีครับ ... ขาลงก็ 3 ที่นี่เช่นกันยาก ควรหารองเท้าให้เหมาะสมกับเรา เช่นรองเท้าเดินเขา ไม่คับมากโดยเฉพาะเล็บเท้าเพราะขาลงจะกดเล็บและทำให้เจ็บครับ



ลงชื่อเข้าออกอุททยานที่นี่ (ก่อนขึ้นเขา)




ลูกหาบแต่ละคนหาบสัมภาระอยู่ระหว่าง 50 - 70 กก.
ลูกหาบยุคนี้เขามีวิทยุเปิดเพลงฟังไปด้วยตลอดทางทำให้เราเพลินไปด้วย


ที่พักหาบของลูกหาบตามเส้นทาง ... จะวางพักบนราวคู่คล้ายๆบาร์คู่


จุดถ่ายภาพยอดนิยม


ซำแฮก


บางช่วงเป็นทางราบพอได้พักแรงบ้าง











ทางขึ้นสู่พร่าพรานแป


พร่าพรานแปเหมือนเดินบนสันเขา



ทางเดิน (ตอนขาลง) ไม้เท้าคืออุปกรณ์สำคัญ



ลักษณะทางที่เดินโดยทั่วไป มีบางช่วงที่ชันมาก



ซำกกไผ่


ทางเดินบนหินภูเขา






จากซำกกโดน ป่าเริ่มเป็นสีเขียว





ทางขึ้น ลง จาก ซำแคร่ - หลังแป


ลูกหาบ หาบถังแก้สถังละ 32 กก. และสัมภาระตัวเองอีกประมาณ 5-6 กก.




สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้ถึงหลังแป


วันนี้เราใช้เวลาเดินทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึงระยะทาง 5.5 กม. ใช้เวลา 5 ชั่วโมง (เริ่มขึ้น 10.28 น. ถึงหลังแป 15.15 น.) เดินไปพักไป .... แม้จะเหนื่อย แต่ก็รู้สึกสนุกที่ได้กลับมาดูความเปลี่ยนแปลงที่นี่อีกครั้ง หลังจากที่ครั้งสุดท้ายที่มาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2522 ซึ่งวันนี้เห็นอะไรๆที่นี่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่นตามเส้นทางเดินมีร้านค้าเกือบตลอดทาง ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี อย่างมากก็คนมาขายมะขามป้อมจิ้มเกลือเท่านั้น ... ด้านบนภูก็มีจักรยานให้เช่า ซึ่งวันที่ไปถึงเราเช่าแบบระยะสั้นจากหลังแป - ที่ทำการอุทยาน ราคาคันละ 60 บาท โดยเขาให้ใช้เส้นทางเลียบผาไปเลี้ยวขวาเข้าที่พักที่ผาหมากดูก ระยะทางประมาณ 4 กม.


เลือกเช่าจักรยานใกล้ๆที่ขึ้นสู่หลังแป


สู่ที่พักโดยจักรยาน ผ่านผาหมากดูก







วันนี้เข้าที่พักเสร็จแล้วเดินไปที่ร้านขายอาหารใกล้ๆที่กางเต้นท์เพื่อทานมื้อเย็น (ณ จุดกลางเต้นท์ห้องน้ำใกล้ๆหลายจุด สะอาดด้วย รวมทั้งห้องน้ำแบบโมบายใกล้ที่นั่นด้วย) .... ทานมื้อเย็นในร้าน ซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้าน ก่อนกลับกลับมาอาบน้ำเย็นแล้วนอนหลับสบายๆตลอดทั้งคืน .... พรุ่งนี้ไปชมสถานที่ต่างๆด้วยกันครับ

Smiley ขอบคุณที่ตามอ่านครับ Smiley



ลาด้วยภาพยามเย็นที่ลานกางเต้นท์






Create Date :06 กุมภาพันธ์ 2562 Last Update :7 กุมภาพันธ์ 2562 8:09:45 น. Counter : 2543 Pageviews. Comments :15