bloggang.com mainmenu search









วันนี้พาคุณๆที่ไปแวะขอนแก่นเพื่อเที่ยวตามคำแนะนำเส้นทางของ ททท. สำนักงานพื้นที่ขอนแก่นกันครับ ที่จริงเส้นทางนี้เขาจัดไว้ช่วงการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 40 ที่ขอนแก่น เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมาครับ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางระยะสั้นๆ สามารถเที่ยวได้ภายในครึ่งวัน ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวที่ขอนแก่นเขาจัดเอาไว้หลายเส้นทาง และนี่ก็คือหนึ่งในนั้น

ต้องบอกคุณๆก่อนนะว่า เช้าที่ขอนแก่นเห็นท้องฟ้าโปร่ง เหมือนจะได้ภาพท้องฟ้า สีฟ้า สวยๆ แต่พอเข้าพื้นที่จริงกลับไม่เหมือนที่ตัวเมือง คือฟ้าหม่น คลื้มฝน ภาพชุดนี้จึงออกหม่นๆอย่างที่จะเห็นต่อไปครับ







สิมวัดบ้านลาน (หลังคาสิมที่เห็นถูกสร้างขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลป์ฯเพื่อป้องกันความเสียหายของฮูปแต้ม





ช่วงก่อนวันสงกรานต์เราเห็นฟ้าใสแม้มีเมฆบ้าง นึกครึ้มอกครึ้นใจอยากเดินทางไปที่ไหนสักแห่งเพื่อเก็บภาพ เลยเปิดดูคำแนะนำการท่องเที่ยวระยะสั้นๆของ ททท. พื้นที่จังหวัดขอนแก่นดู ก็เห็นรายการที่เราจะพาคุณๆไปนี่แหละน่าไปมาก (เพราะไม่เคยไปเลย) เส้นทางท่องเที่ยวในอีสานส่วนมากก็จะหนักไปทางท่องเที่ยวเพื่อชมอารยธรรมในพื้นที่ โดยที่ภาคอีสานเองจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานมากมาย ....

เราเลือกเอารายการที่ 5 "เส้นทางอารยธรรมขอมที่ขอนแก่น" ด้วยมติเอกฉรรท์ คือ 2: 0 เสียง ฟังดูยังกะมีมากมายหลายคนนะครับ จริงๆแล้วเมื่อก่อนเรามี 3 เสียง คือเจ้าลูกชายหนึ่งเสียง แต่ตอนนี้เขาไปศึกษาต่อที่ กทม. แล้ว ยังเหลือแค่สองเราที่ต้องทำงานที่ขอนแก่น ..... รถพร้อม คนพร้อม ออกเดินทางกันเลยครับ






ฮูปแต้มที่สิมวัดบ้านลาน





เราออกจากขอนแก่นช่วงสายๆ ประมาณ 09:30 น โดยมีเป้าหมายที่ "ปราสาทเปือยน้อย" โดยจะขับวน ผ่าน บ้านไผ่ บ้านลาน เปือยน้อย หนองสองห้อง วัดสระบัวแก้ว เมืองพล วัดสนวนวารี บ้านไผ่ และกลับขอนแก่น

เส้นทางเราจะขับเป็นวงกลม วนกลับไปขอนแก่นโดยไม่ซ้ำทางเดิม ในเส้นทางนี้นอกจากเป้าหมายหลักที่เราจะไป คือ ประสาทเปือยน้อยแล้ว ยังมีการชมจิตรกรรมฝาผนังของสิมในวัดต่างๆ 3 วัดด้วยกัน ซึ่งแต่ละแห่งก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน และทางกรมศิลปากรได้อนุรักษ์ไว้ให้เราได้ศึกษากัน.








จากขอนแก่น เราขับตามทางมิตรภาพ (#2) ไปที่บ้านไผ่ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทาง อ.บรบือ (#23) พอถึงป้ายบอกทางว่าไป อ.หนองสองห้องเราเลี้ยวขวาตามนั้น (#2301) พอเข้าบ้านลานจะเห็นวัดบ้านลานทางขวามือ อยู่ติดถนน นั่นแหละเลี้ยวขวาเข้าไปเลยครับ เพื่อชมฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง) ที่เขียนไว้รอบๆผนังด้านนอกของสิม (โบสถ์) .....

ตัวสิมปัจจุบันได้สร้างหลังคาขนาดใหญ่และกว้างเพื่อครอบตัวสิมเดิมไว้ โดยตัดหลังคาสิมเดิมออก หลังคาใหม่นี้คงใช้ป้องกันความเสียหายของภาพ เนื่องจากหลังคาเดิมเล็กและน่าจะชำรุดมาก (จขบ.)
(ดูภาพสิมสมัยก่อนที่วัดพระธาตุขามแก่น)





สิมวัดบ้านลาน (วัดมัชฌิมวิทยาราม)

เป็นสิมทึบ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านอีสาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ฮูปแต้ม) เขียนด้วยสีฝุ่นที่ผนังทั้งด้านนอกและด้านใน ผนังด้านในเขียนภาพพระพุทธรูป 2 องค์ ด้านนอกเขียนเรื่องพระเวสสันดร มี อักษรไทยและไทยน้อยบรรยาย (อ่านเพิ่มเติม)








ออกจากวัดบ้านลานแล้ว เราขับต่อตามถนนหมายเลข 2301 ก่อนที่จะแยกซ้ายไปตาม 2297 เพื่อจะไป อ.เปือยน้อย ก่อนถึงตัวอำเภอ จะเห็นปราสาทเปือยน้อยอยู่ทางขวามือครับ






ปราสาทเปือยน้อย




ปราสาทเปือยน้อย หรือกู่เปือยน้อย

ปราสาทเปือยน้อย หรือ กู่เปือยน้อย หรือ พระธาตุกู่ทอง เป็นปราสาทหินศิลปะขอมหรือลพบุรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงในแถบภาคอีสานตอนบน ชาวบ้านเรียกว่า "ธาตุกู่ทอง" องค์ปรางค์ปราสาทหันหน้าสู่ทิศตะวันออก สร้างด้วยหินทรายจำหลักลวดลายสวยงาม กำแพงขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบเป็นเขตปราสาทสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนหนึ่งขององค์ปรางค์พังทลายลงมาบ้างและอยู่ระหว่างการบูรณะ










ทุกๆปีสำนักงานเทศบาลตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น จะจัดให้มีงานงานประเพณี "ศิวะราตรี ปูชนียาลัย ปราสาทเปือยน้อย" ณ บริเวณปราสาทเปือยน้อย บ้านหัวขัว หมู่ 1 ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น โดยภายในงานจัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง ชุด "เปือยปุระเทวาลัย บุษบาใจแห่งมหิธร" กิจกรรมผูกเสี่ยวแบบโบราณ การแสดงสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP และลานวัฒนธรรมอาหารอร่อย .















เราเดินชมปราสาทพอประมาณแล้วออกจึงออกเดินทางต่อ เราขับย้อนกลับมาเพื่อเข้าทาง 2301 เดินทางไป อ. หนองสองห้อง ก่อนถึงตัวอำเภอ เราเลี้ยวขวาไปทาง อ. พล ตามถนนสาย พล-หนองสองห้อง (#207) ทางซ้ายมือจะเห็นหมู่บ้านวังคูณ เราเลี้ยวซ้ายเข้าไปในหมู่บ้าน และขับทะลุไปที่วัดสระบัวแก้วเพื่อชมฮูปแต้มที่สิมวัดสระบัวแก้ว






สิมวัดสระบัวแก้ว





วัดสระบัวแก้ว

ตั้งอยู่ที่บ้านวังคูณ ต.หนองเม็ก อ.หนองสองห้อง สิมสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2474 สมัยรัชการ7 โดยพระครูวิบูลย์พัฒนยุกต์ (หลวงพ่อผุย) เจ้าอาวาสในขณะนั้น ได้นำแบบวัดบ้านยาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เป็นแบบในการก่อสร้าง ช่างแต้มคือ นายกิ นายทองมา นายน้อยบ้านโศกธาตุ และนายพรหมา จาก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ร่วมเขียนด้วย










สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ นายกร ทัพพะรังสี ธนาคารเอเชียฯ บริษัทมลิฟ้าฯ หน่วยราชการจังหวัดขอนแก่น และประชาชน ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ สิมหลังนี้จนแล้วเสร็จและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ เสด็จประกอบพิธียกยอดผาสาท(ปราสาท) สิน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2544






ฮูปแต้มที่สิมวัดสระบัวแก้ว






จุดเด่นของวัดแห่งนี้ คือ ภาพจิตรกรรมและประติมากรรม ตรงเชิงบันไดทางขึ้นสู่โบสถ์ ที่เป็นสิงห์หมอบทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าสิงห์ทั้งสองมีรูปปั้นคนนั่งเหยียดเท้า รูปปั้นทั้งสองล้วนเป็นฝีมือของหลวงพ่อผุย พระอุปัชฌาย์ วัดสระบัวแก้ว ส่วนผนังของโบสถ์แห่งนี้ก่ออิฐถือปูน บริเวณภายในและภายนอกผนังทั้งสี่ด้าน จะปรากฏจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คน ชาดก สวรรค์ นรก หรือนิทานพื้นบ้าน เป็นต้น



จากนั้นเราขับต่อไปที่ อ. เมืองพล แวะทานมื้อเที่ยงที่ร้านเต็กกอเมืองพล ก่อนขับต่อไปทาง อ.บ้านไผ่ โดยก่อนที่เข้าตัวเมืองบ้านไผ่เราแวะที่บ้านหัวหนอง เพื่อชมฮูปแต้มที่วัดสนวนวารีพัฒนาราม






สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม




วัดสนวนวารีพัฒนาราม

เป็นวัดเก่าแก่ มีสิม (โบสถ์) สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยช่างก่อสร้าง คือ นายแกว ทองผา มีขนาดความกว้าง ๕ เมตร ยาว ๗.๓๐ เมตร เป็นสถาปัตยกรรมอีสาน มุงหลังคาใหม่ด้วยสังกะสี ต่อหลังคาลงมาเป็นปีก รอบสิม ใต้วงกบมีช่องลมเล็กๆ เพื่อระบายอากาศ ด้านหน้ามีประตู ๑ ช่อง หน้าต่าง ๒ ช่อง ด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ ๓ ช่อง ตรงบันใดจะมีรูปปั้นพญานาคอยู่ ๒ ตัว








ช่างแต้ม หรือผู้เขียนภาพฝาผนัง คือ นายหยวก และนายแดง เขียนภาพฝาผนังเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เขียนภาพทั้งด้านในและด้านนอกด้วยสีฝุ่น เป็นเรื่องราววรรณกรรมพื้นบ้าน ด้านในเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ ราหูอมจันทร์ นาค ครุฑ สิงห์ ด้านนอกเขียนเรื่อง สินไซ (สังข์ศิลป์ไชย) และนรกภูมิ









รูปแบบหน้าต่างทำเป็นวงโค้ง ๒ ชั้น เขียนลวดลายเครือเถาประดับอย่างสวยงาม และไม่ซ้ำแบบกัน ผนังด้านนอกมีเสาติดผนัง เขียนลายเครือเถา และลวดสายพญานาคเกี่ยวพันกัน ภายในสิม หรือโบสถ์ มีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน มีลักษณะผอมสูง แต่องค์อื่นมีลักษณะธรรมดา

ปัจจุบันนี้ภาพบางส่วนได้ลบเลือนไป และบางส่วนมีรอยขูดขีดเสียหาย สิม หรือโบสถ์เก่าแก่นี้ยังอนุรักษ์ไว้ แต่ได้สร้างโบสถ์ใหม่ แบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้ว สิม หรือโบสถ์ของวัดนี้ก็เป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวที่ชอบงานจิตรกรรมฝาผนังอีกแห่งหนึ่ง

ที่มา : //khonkaen.nfe.go.th/0521/RRR_PW_Huanong.html






ฮูบแต้มที่เขียนเล่าเรื่อง สังข์สินไซ ที่สิมวัดสนวนวารี





เมืองขอนแก่นโดยเทศบาลนครขอนแก่น ได้นำอาเรื่องราวนิทานชาวบ้านเรื่อง สังข์สินไซ มาประดับเสาไฟตามถนนหลายสายในตัวเมือง และใช้เรื่องราวของสังข์สินไซมาเล่นประกอบในงานต่างๆมากมาย เช่น การเปิด-ปิดกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 40 ที่ผ่านมา..

นอกจากนี้ชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่นยังนำเอาเรื่องราวของนิทานพื้นบ้านนี้มาแสดงในรูปแบบหมอลำ "สินไซ" ซึ่งมีท่วงทำนองที่แปลกไปจากการร้องหมอลำทั่วไป โดยเรียกว่า "ลำสินไซ" นอกจากนั้นดนตรีโปงลางยังนำเอาไปเล่นเพราะเป็นจังหวะทำนองที่สนุก





ตัวอย่างดนตรีทำนองสินไซ






เรื่องย่อ สังข์สินไซ (หรือสังข์ศิลป์ชัย)

ที่นครเปงจาล พระยากุศราช เป็นเจ้าเมือง มีน้องสาวรูปงามชื่อนางสุมุณฑา วันหนึ่งนางไปชมสวน มียักษ์กุมภัณฑ์มาอุ้มเอานางไปยังเมืองอโนราช แล้วแต่งตั้งเป็นมเหสี พระยากุศราชเสียใจมาก จึงออกบวชติดตามไปถึงเมืองจำปา และได้พบธิดาทั้ง 7 ของนันทะเศรษฐี จึงสึกและขอนางเป็นมเหสี

พระยากุศราชเรียกมเหสีทั้ง 8 มา ให้ทุกนางตั้งจิตอธิษฐานขอเอาลูกชายผู้มีบุญฤทธิ์มาเกิด เพื่อจะได้ติดตามเอานางสุมุณฑากลับคืนมา พระอินทร์ได้ส่งเทพ 3 องค์มาเกิดในท้องนางทั้งสอง องค์หนึ่งเกิดเป็นสีโห (หัวเป็นช้าง) เกิดในท้องเมียหลวง องค์สองศิลป์ชัย (เป็นคน) และสังข์ทอง (หอยสังข์) เกิดในท้องเมียน้อย เมียหกคนได้คนสามัญมาเกิด โหรหลวงได้ทำนายว่าลูกที่เกิดจากเมียน้อยและเมียหลวงจะเป็นผู้มีบุญ

คำทำนายของโหร ไม่เป็นที่พอใจของมเหสีทั้งหก มเหสีทั้งหกจึงว่าจ้างให้โหรทำนายใหม่ โหรเห็นแก่อามิสสินจ้างจึงทำนายใหม่ว่าลูกที่เกิดจากมเหสีทั้ง 6 มีฤทธิ์เดชมาก ลูกที่เกิดจากนางจันทาและนางลุน เป็นทั้งคนทั้งสัตว์ เกิดมาอาภัพอัปปรีย์และจัญไร....







เสาไฟที่ประดับด้วยสังข์





เมื่อประสูติ พระยากุศราชจึงขับไล่นางจันทา นางลุน พร้อมพระโอรสออกจากเมือง พระอินทร์เล็งเห็นความทุกข์ยาก จึงมาเนรมิตเมืองไว้ต้อนรับให้ได้อยู่อาศัย ยังเมืองนครศิลป์แห่งนี้ พระยากุศราชเมื่อขับไล่เมียแล้วให้โอรสทั้งหกไปตามเอาน้องสาวของตนคืน จากยักษ์กุมภัณฑ์ โอรสทั้งหกหลงทางมายังเมืองนครศิลป์ และได้โกหกศิลป์ชัย ให้ส่งสัตว์ป่าเข้าเมืองด้วยเพื่อเป็นพยานว่าพวกของตนได้พบกับศิลป์ชัยแล้ว

เมื่อถึงเมืองโอรสทั้งหกก็โอ้อวดกับบิดาว่า พวกเขามีอำนาจเรียกสัตว์ทุกชนิดเข้าเมืองได้ ทุกคนก็หลงเชื่อว่าโอรสทั้งหกมีอำนาจ

เมื่อบิดาสั่งให้โอรสทั้งหกติดตามหาอา พวกเขาก็มาโกหกศิลป์ชัยว่าบิดาสั่งให้ศิลป์ชัยไปตามหาอา ถ้าได้อาคืน ความผิดที่แล้วมาพ่อจะยกโทษให้ ศิลป์ชัยและน้องไปถึงด่านงูซวง กุมารทั้งหกไม่กล้าเดินทางต่อไป ให้สังข์ทองกับศิลป์ชัยเดินทางต่อไปรบกับยักษ์ฆ่ายักษ์ตาย เอาอาคืนมาได้

เมื่อถึงแม่น้ำใหญ่ กุมารทั้งหกผลักศิลป์ชัยตกเหว และบอกอาว่าศิลป์ชัยตกน้ำตาย อาไม่เชื่อจึงเอาผ้าสะใบ ปิ่นเกล้าและช้องผมเสี่ยงทายไว้ เมื่อกลับมาถึงเมืองพระยากุศราช ได้จัดงานต้อนรับ และทราบความจริงว่ากุมารทั้งหกเป็นคนโกหกมาโดยตลอดจึงถูกลงโทษขังคุกพร้อมมารดาของตน






เสาไฟในเมืองขอนแก่นที่ประดับยอดเสาด้วยรูปสีโห (คชสีห์)





พระยากุศราชพร้อมน้องสาวเชิญเอานางจันทาและนางลุน พร้อมศิลป์ชัย สีโหและสังข์ทองเข้ามาในเมือง อภิเษกศิลป์ชัยให้เป็นเจ้าเมืองเปงจาล ต่อมาศิลป์ชัยได้ปล่อยให้คนทั้งหมดออกจากคุกปกครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา

ยักษ์กุมภัณฑ์ พระยาเวสสุวัณชุบชีวิตคืนชีพขึ้นมา คิดถึงนางสุมุณฑาผู้เป็นมเหสี จึงจัดการสู่ขอนางจากศิลป์ชัยและทั้งสองอยู่เป็นสุขตราบสิ้นอายุ
ที่มา : //www.lib.ubu.ac.th/bailan/abstract.html


ออกจากวัดสนวนวารีพัฒนาราม เราขับกลับเมืองขอนแก่นตามถนนมิตรภาพ (#2) ผ่านบ้านไผ่...

อำเภอบ้านไผ่ เป็นที่รู้จักของนักเดินทางทั่วไป เพราะนอกจากจะเป็นชุมทางการเดินรถที่จะแยกไปทาง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลฯ สกลฯนครแล้ว บ้านไผ่ยังมีกุนเชียงอร่อยขึ้นชื่ออีกด้วย ถ้าเราเลี้ยวซ้าย (มาจาก กทม) เราจะไปที่ อ.ชนบท ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ขึ้นชื่อครับ

เราถึงเมืองขอนแก่นตอนบ่ายแก่ๆ ..... หวังว่าทริปนี้คงพอเป็นแนวทางให้คุณๆที่ชอบศึกษาเรื่องราวของอารยธรรมและภาพจิตรกรรมฝาผนังบ้างนะครับ







ลาด้วยภาพ สิมเก่า และโบสถ์ ที่วัดสนวนวารี









_____________END____________





Create Date :08 พฤษภาคม 2555 Last Update :19 สิงหาคม 2557 10:05:11 น. Counter : Pageviews. Comments :26