bloggang.com mainmenu search



PHUWIANG DINOSAUR MUSEUM



พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง (Phuwiang Dinosaur Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งหนึ่ง โดยเน้นที่การจัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกสนามบินเนื้อที่ 100 ไร่ ในเขตพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอยู่ในความกำกับดูแลของกรมทรัพยากรธรณี เริ่มเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เปิดให้บริการระหว่างเวลา 09.00 - 17.00 น. ปิดบริการทุกวันจันทร์ ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวัดหยุดนักขัตฤกษ์จะเปิดให้บริการตามปกติ












ประวัติความเป็นมา

ฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย และฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียงคณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับให้การศึกษาแก่เยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น









ทางเข้า







แหล่งขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ภายหลังจากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกแล้ว
ต่อมาได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลรวมถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ รวม 9 หลุม ดังนี้

หลุมที่ 1 (ประตูตีหมา)
พบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรายอยู่ในชั้นหิน

หลุมที่ 2 (ถ้ำเจีย)
พบกระดูกส่วนคอของไดโนเสาร์ซอโรพอดเรียงต่อกัน จำนวน 6 ชิ้น

หลุมที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา)
พบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงหลายชิ้น ของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่

หลุมที่ 4 (โนนสาวเอ้)
พบฟอสซิลกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 10 ตารางเมตร ประกอบด้วยกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ และที่อยู่ในวัยเยาว์
นอกจากนั้นยังพบเกล็ดปลาเลปิโดเทสและกระดองเต่า

หลุมที่ 5 (ซำหญ้าคา) หลุมที่ 6 (ดงเค็ง) และหลุมที่ 7 (ภูน้อย)
พบไดโนเสาร์ทั้งขนาดใหญ่และที่ยังเยาว์
และยังพบฟอสซิลของจระเข้ขนาดเล็กอีกด้วย

หลุมที่ 8 (หินลาดป่าชาด)
พบรอยเท้าไดโนเสาร์ มากกว่า 60 รอยใน 10 แนวทางเดิน
เป็นของไดโนเสาร์พวกกินเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งเดินด้วย 2 ขาหลัง

หลุมที่ 9 (หินลาดยาว)
พบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินเสาขัว และยังพบส่วนของสะโพกด้านซ้าย
และกระดูกส่วนหางกว่า 10 ชิ้นของพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร.....








แผนผังการเข้าชม








ห้องนิทรรศการเป็นอาคาร 2 ชั้น แบ่งออกเป็น 8 โซน ชั้นล่างมี 5 โซน และชั้นบนมี 3 โซน การจัดแสดงเริ่มจากทางเข้าหลักที่โซน1 และต่อเนื่องไปจนครบ เส้นทางการเดินชมจะทำเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ให้เราเดินตาม โดยที่โซน 1 จะอยู่ชั้นล่าง

หลังจากชม โซน 4 เสร็จ เราควรเข้าไปที่โซน 5 เลยจะได้ต่อเนื่อง เพราะบางครั้งเราอ่านเพลินอาจเดินอ้อมขึ้นชั้นสองเลย และจะนำท่านๆปสู่ประตูทางออก.... โซน 5 จะมีประตูแยกออกไปสู่ห้องจัดแสดงต่างหาก เรามาตามไปดุแต่ละโซนเลยดีกว่าว่า เขามีอะไรจัดแสดงไว้ให้เราได้ศึกษาบ้าง... ตามมาเลยครับ



โซนที่ 1

กำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ สุริยะจักรวาล และโลก










จักรวาล











กำเนิดจักรวาล







โซนที่ 2

กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดแรกของโลกเมื่อ 3,600 ล้านปีมาแล้ว ที่แตกแขนงวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตต่างๆมากมายในการต่อมาจนถึงปัจจุบัน










สัตว์ดึกดำบรรพ์









โซนที่ 3

จัดแสดงวัตถุทางธรณีวิทยา ได้แก่ หิน แร่ และซากดึกดำบรรพ์ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะไขปริศนาประวัติความเป็นมาของโลก










หินชนิดต่างๆ








โซนที่ 4

เรื่องราวของไดโนเสาร์ไทย ทั้งกระดูกจริง และกระดูกจำลอง รอยพิมพ์ตีนไดโนเสาร์ และเรื่องราวที่ได้จากการวิจัยทางบรรพชีวินวิทยา









โครงกระดูกไดโนเสาร์








Guide Trip : ฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทย

ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันมีอายุอยู่ระหว่าง 100-200 ล้านปีมาแล้ว แบ่งเป็นยุคต่างๆดังนี้

• ยุค Triassic ตอนปลาย
ในปีพ.ศ.2535 กรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบกระดูกสะโพกส่วนหน้าของไดโนเสาร์โปรซอโรพอด ในชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหิน น้ำพอง ในเขตอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอายุประมาณ 200ล้านปี นับเป็นกระดูกไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการพบฟอสซิลของพวกโปรซอโรพอดเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับฟอสซิลชนิดนี้จากแหล่งต่างๆทั่วโลก พบว่าโปรซอโรพอดของไทยมีขนาดใหญ่ แข็งแรง อาจยาวถึง 8 เมตร โปรซอโรพอด เป็นไดโนเสาร์ที่กินพืช ฟันมีรอยหยักแบบเลื่อยอย่างหยาบ มีคดยาว เท้าหน้ามีขนาดค่อนข้างเล็กกว่าเท้าหลัง มีเล็บแหลมคม

• ยุค Jurassic
ในปีพ.ศ.2539 คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้พบแหล่งฟอสซิลฟันไดโนเสาร์ที่อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ในชั้นหินหมวด ภูกระดึง อายุ 150-190 ล้านปี เป็นฟันของไดโนเสาร์เทอโรพอดซึ่งกินเนื้อมีลักษณะหยักแบบฟันเลื่อย ฟันของซอโรพอดและฟันของสเตโกซอร์ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

• ยุค Cretaceous
ยังไม่พบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์เลย พบเพียงแต่รอยเท้าไดโนเสาร์ ทำให้ทราบถึงรูปร่างลักษณะ ขนาด ชนิดและลักษณะการเดิน ชั้นหินที่พบได้แก่หมวดหินพระวิหารอายุประมาณ 140 ล้านปี บริเวณที่พบมี 4 แห่ง ได้แก่

- ลานหินป่าชาด ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
พบรอยเท้าไดโนเสาร์ซึ่งทำให้ทราบว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ เดินด้วยขาหลัง เคลื่อนไหวว่องไว มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์พวกคาร์โนซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า
- น้ำใสใหญ่ เขาใหญ่ จังหวัดปราจีณบุรี
พบรอยเท้าไดโนเสาร์เทอโรพอดซึ่งเป็นไดโนเสาร์เดิน 2 เท้า ขนาดใหญ่ มีรอยเท้ากว้าง 26 ซม. ยาว 31 ซม. รวมทั้งพวก ออร์นิโธพอด และซีลูโรซอร์ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็ก รอยเท้ากว้าง 14 ซม. ยาว 13.7 ซม.
- ภูแฝก กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์ รอยเท้ากว้าง 40 ซม. ยาว 45 ซม.
- ภูเก้า จังหวัดหนองบัวลำภู
พบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดย่อม แต่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด

• ฟอสซิลไดโนเสาร์ในชั้นหินหมวดเสาขัว อายุ 130 ล้านปี
พบฟอสซิลไดโนเสาร์ที่บริเวณประตูตีหมา ภูเวียง และบริเวณใกล้เคียงหลายชนิดคือ
- กระดูกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับซอโรพอดจากอเมริกาเหนือซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 15 เมตร คอยาวหางยาว เดิน 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร ต่อมาพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดนี้ที่มีสภาพดีทำให้ทราบว่าเป็น ฟอสซิลของไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลใหม่ซึ่งได้รับ พระราชทานพระราชานุญาตอันเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเป็นชื่อไดโนเสาร์นี้คือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน(Phuwiangosaurus sirindhornae)
- ฟันของไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ชื่อสยามโมซอรัส สุธีธรนี(Siamosaurus suteethorni)
- กระดูกขาหลังท่อนล่างและขาหน้าท่อนบนของไดโนเสาร์ซีลูโรซอร์(Coelurosaur) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ขนาดเล็ก มากชนิดหนึ่งเดินด้วย 2 ขาหลัง และกินเนื้อเป็นอาหาร

ดังนั้นบริเวณภูเวียงจึงถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปีพ.ศ. 2535 และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกใน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้









หลุมขุด











เป็นแหล่งเรียนรู้











ประวัติการขุดค้น











ห้องปฏิบัติการ











หุ่นจำลอง











ไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ภูเวียง










กระดูกไดโนเสาร์จากหนองบัวลำภู










ซากที่สมบูรณ์ที่สุด








โซนที่ 5

ภูมิทัศน์โบราณสมัยไดโนเสาร์ และไดโนเสาร์ชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทย ประกอบพืชพรรณไม้โบราณเหมือนดั่งอยู่ในยุคไดโนเสาร์










ไดโนเสาร์ไทยบนผืนแผ่นดินอีสาน











ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosauraus sirindhornae)




ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae, marin, Buffetaut and Suteethorn, 1994)

ยุค : ครีเตเซียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว

ไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดแรกของไทย และตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยในงานด้านโบราณชีววิทยาเป็นอย่างมาก ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นทอโรพอดขนาดกลางมีความยาว 15 - 20 เมตร เดิน 4 เท้า คอและหางยาวกินพืชเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูง และยังพบกระดูกของพวกวัยเยาว์รวมอยู่ด้วย ซึ่งมีขนาดยาว 2 เมตร และสูงเพียงครึ่งเมตร

สถานที่พบ : ทวีปเอเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี และนครราชสีมา


















สยามโนสอรัส สุธีธรนิ (Siamnosaurus Suteethorni)







สยามโมซอรัส สุธีธรณี (Siamosaurus suteethorni, Buffetaut and ingavat, 1986)

ยุค : ครีเตเซียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว

ไดโนเสาร์ชนิดแรกของไทย ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้มีส่วนร่วมในการสำรวจ ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นเทอโรพอดขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 7 เมตร ลักษณะฟันรูปทรงกรวยมีแนวร่อง และสันเรียงสลับตลอด ฟันคล้ายของจระเข้ จึงน่าจะอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และกินปลาเป็นอาหาร

สถานที่พบ : ทวีปเอเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร ชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา และมุกดาหาร









คอมพ์ซอกเนซัส (Compsognathus)








คอมพ์ซอกเนรซัส (Compsognathus Iogipes, Buffetaut and ingavat, 1984)

ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก พวกชีลูโรซอร์ขนาดยาวประมาณ 70 ซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.5 กิโลเมตร วิ่งด้วย 2 ขาหลัง









สยามโมไทรันนัส อีสานแอนซิส (siammotyrannus Isanensis)








สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis, Buffetaut and Tong, 1996)

ยุค : ครีเตเซียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว

ไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 7 เมตร ขาหลังมีขนาดใหญ่ และแข็งแรง พบกระดูกสันหลัง สะโพกและหาง ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ฝังในชั้นหินทราย จากการศึกษาพบว่าอยู่ในวงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุด ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มของ ไทรันโนซอร์เริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในเอเซียแล้วค่อยแพร่กระจาย ไปทางเอเซียเหนือ และสิ้นสุดที่อเมริกาเหนือก่อนที่สูญพันธุ์ไป

สถานที่พบ : ทวีปเอเชีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา


















ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)







ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacesaurus sattayaraki, Buffetaut and Suteethorn, 1992)

ยุค : ครีเตเซียสตอนต้น ประมาณ 100 ล้านปีมาแล้ว

ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่นายนเรศ สัตยารักษ์ ผู้ค้นพบ ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นไดโนเสาร์พวกเซอราทอปเซียน กินพืชขนาดเล็กมีความยาวเพียง 1 เมตร

ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว นี้ในอดีตเราพบว่ามีแพร่หลายอยู่เฉพาะในแถบเอเชียกลาง บริเวณซานตุง มองโกเลีย และไซบีเรียเท่านั้น ซึ่งการพบฟอสซิสครั้งนี้เป็นการยืนยันว่า เมื่อต้นยุคครีเตเซียส แผ่นดินอินโดจีน เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียแผ่นดินใหญ่แล้ว

สถานที่พบ : ทวีปเอเชีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จังหวัดชัยภูมิ









บริเวณห้องจัดแสดง









โซนที่ 6

หลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวิวัฒนาการอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะตระกูลไพรเมต
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกลิง เอป (ลิงไม่มีหาง) มนุษย์ดึกดำบรรพ์ จนถึงมนุษย์ปัจจุบัน

















โซนที่ 7

ธรณีวิทยาประเทศไทย ลักษณะทางธรณีสัณฐาน และแหล่งธรณีสัณฐานที่สวยสะดุดตา ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เช่นภูผาตั้ง แพร่เมืองผี

















โซนที่ 8

เรื่องราวของภูเวียง ทั้งภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา หุบเขาที่แปลกตาแห่งนี้มีทรัพยากรธรณีหลากหลายและธรรมชาติสวยงาม






กำเนิดพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง








การค้นพบแหล่งไดโนเสาร์บนเทือกเขาภูเวียง ถือเป็นการค้นพบที่สร้างชื่อเสียงให้กับเทือกเขาภูเวียงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอบ่างยิ่งไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลและชนิดใหม่จากภูเวียงที่ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ที่ใช่ชื่อภูเวียงเป็นชื่อสกุล และใช้นามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อชนิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานมีความเห็นว่าสมควรก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงขึ้น และได้เลือกพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกสนามบินเนื้อที่ 100 ไร่เป็นสถานที่ก่อสร้าง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ทั้งด้วยเนื้อที่ใช้สอย 5,500 ตารางเมตร กรมทรัพยากรธรณีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแล โดยได้ทำการจัดนิทรรศการถาวร และเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2544









ไดโนเสาร์ภูเวียง








ออกจากโซน 8 เราก็แวะทานน้ำ หรืออาหารที่ร้านก่อนก็ได้ หรือถ้าไม่ทาน ก็ลองแวะดูของที่ระลึกที่ร้านตรงบริเวณทางออกได้ ซึ่งมีสินค้าให้เลือกไปฝากเพื่อนฝูงเยอะแยะครับ

ภายในห้องแสดงทั้ง 8 โซนยกเว้นโซน 5 จะปรับอากาศเย็นสบายและให้แสงสบายตา เหมาะกับการเข้าไปศึกษามาก ส่วนที่ลานจอดรถก็ร่มรื่นด้วยต้นไม้ และกว้างขวาง อยู่ไม่ห่างจากตึกพิพิธภัณฑ์นัก

นับว่าเป็นสถานที่ๆน่าพาน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจไปเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี่ทำให้เราได้รู้จักชื่อแปลกๆของไดโนเสาร์ที่ตั้งเป็นเกียรติแด่นักธรณีวิทยาของบ้านเราหลายชื่อด้วย.










แวะซื้อของที่ระลึก






บริเวณหลุมขุดที่ อช.ภูเวียง


ในบริเวณที่ขุดพบจะจัดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง ซึ่งจัดทำทางเดินไว้อย่างดี เหมาะที่จะไปเดินออกกำลังกาย ยิ่งตอนหน้าปลายฝนที่อากาศดี ยิ่งน่าเดินมาก นอกจากจะได้เห็นหลุมขุดเจาะที่ยังสมบูรณ์ดีทั้งหลุมที่ 1, 2 และ 3 แล้ว ยังจะได้เห็นสุสานหอยล้านปีอีกด้วย








หลุมขุดที่ 1








หลุมขุดที่ 2








ในหลุมขุดที่ 3








สถานที่ตั้ง

ศูนย์ศึกษาวิจัยแลพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 87 กิโลเมตร การเข้าถึงพื้นที่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ซึ่งเป็นถนนสายยาว ติดต่อจากจังหวัดตากทางด้านทิศตะวันตกผ่านจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อำเภอหล่มสัก อำเภอชุมแพไปที่จังหวัดขอนแก่น ไปสิ้นสุดที่ชายแดนทิศตะวันออก ที่มุกดาหาร

โดยหากเริ่มจากจังหวัดขอนแก่นให้ใช้เส้นทางไปชุมแพ และแยกขวาเข้าอำเภอภูเวียง ตามเส้นทางหลวงสาย 2038 ซึ่งปากทางเข้าอยู่เลยอำเภอหนองเรือไปเล็กน้อย หรือหากเริ่มต้นจากอำเภอชุมแพให้ไปทางขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหลวงสาย 2038 เช่นเดียวกัน เมื่อเลยอำเภอภูเวียงเล็กน้อยให้ใช้เส้นทางตรงไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง ระยะทาง 16 กม. พิพิธภัณฑ์จะอยู่ ก่อนถึงอุทยานฯ ประมาณ 2 กม. (มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง)














ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่าน และขอบคุณสำหรับข้อมูลบางส่วนที่ใช้ในการเรียบเรียงครั้งนี้ จากเวบไซต์กรมทรัพยากรธรณีครับ.


อ่านเพิ่มเติมที่ : กรมทรัพยากรธรณี
อ่านต่อเนื่อง : พิพิธภัณฑ์สิรินธร (ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว)


_________END________










Create Date :24 สิงหาคม 2552 Last Update :18 มิถุนายน 2558 23:23:28 น. Counter : Pageviews. Comments :26