bloggang.com mainmenu search
 


อัพบล๊อกวันนี้ จะพาไปชื่นชมภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวลุ่มน้ำหมัน ที่บ้านนาหมูม่น หมู่ 2 ตำบลนาดี อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ... ภูมิปัญญานี้กลายเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลานของคนที่นั่นมาเป็นร้อยๆปี หรืออาจจะมากกว่า..


ลำน้ำหมันที่ไหลผ่านหมู่บ้านนาหมูม่นประมาณ 4-5 กม.


เราใช้เวลาเดินทางตั้งแต่เช้ามืดขับรถจากขอนแก่นไปบ้านนาหมูม่น อำเภอด่านซ้าย ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 280 กม. ตามเส้นทางขอนแก่น-เมืองเลย-ด่านซ้าย-บ้านนาหมูม่น เพื่อไปชมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิศวกรรมเพื่อจัดการน้ำของชาวบ้านนาหมูม่นโดยเฉพาะ เมื่อมาเห็นแล้วก็อดภูมิใจในวิธีคิดของบรรพบุรุษของคนที่นี่ไม่ได้ ... มันเป็นวิธีการที่ผู้คนปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้นอย่างลงตัว ... โดยการสร้างตัวช่วยเพื่อจะผันน้ำที่มีอยู่มากมายในคลองหรือลำน้ำหมันขึ้นมาใช้ประโยชน์ในพื้นนาเพื่อปลูกข้าวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานอย่างอื่น นอกจากพลังงานจากธรรมชาติซึ่งนั่นก็คือพลังน้ำในลำน้ำหมันนั่นเอง โดยสิ่งที่จะต้องลงแรงงานก็คือการซ่อมและสร้าง "พัดทดน้ำ" ที่เป็นภูมิปัญญาทางวิศวกรรมจัดการน้ำนั่นเอง
 

 
พัดทดน้ำ เป็นภูมิปัญญาการจัดการน้ำของท้องถิ่น เป็นอัตลักษณ์ของคนลุ่มน้ำหมัน โดยอาศัยธรรมชาติการไหลของน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้สามารถดึงน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปยังที่สูงกว่าได้ เพื่อใช้ผันน้ำเข้าสู่แปลงนาได้

เมื่อก่อนในลุ่มน้ำหมันที่ อำเภอด่านซ้ายนี้มีพัดทดน้ำเป็นร้อยๆตัว แต่เนื่องจากบริเวณ อ.ด่านซ้ายเป็นที่ราบลุ่มในหุบเขา จึงมีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่ม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการเกษตร ในทุกๆปี ปีละ 4 ครั้ง จากต้นฝนถึงปลายฝน ... จึงทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้ง แบ่งออกเป็นสอง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชื่อว่า สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมมาจาก "พัดทดน้ำ"  เพราะหลักหร่วย (ส่วนประกอบหนึ่งของพัดทดน้ำ) ไปขวางการไหลของน้ำในยามน้ำหลากจึงทำให้ระบายได้ช้าและเอ่อท่วม นำมาสู่การรื้อถอนพัดทดน้ำ  ขณะที่กลุ่มพัดทดน้ำที่น้ำท่วมนาเช่นเดียวกันกลับมองว่า ปัญหาน้ำท่วมมาจากการพังทลายของหน้าดินที่เกิดจากการทำไร่บนที่สูงที่พัดเอา เศษไม้ ทราย และดินตะกอนลงมาทำให้น้ำหมันตื้นเขิน.. (ที่มา :
มติชนออนไลน์)  
 


การติดตั้งกระบอกตักน้ำจะเอียงจากซ้ายไปขวาเพื่อน้ำจะไม่หกตอนขาขึ้น และเทได้ตอนอยู่ด้านบน


จากความเห็นต่างกันของชุมชนจึงนำมาสู่การจัดทำประชาคมเรื่องพัดทดน้ำในปี 2522 และเกิดการแก้ไขโดยการขุดลอกลำน้ำหมันโดยโครงการภาครัฐ ทำให้ระบบนิเวศลำน้ำหมันเปลี่ยนแปลงไป และทำให้พัดทดน้ำที่เคยมีกว่าร้อยตัวลดลง .... ปัจจุบันที่ลำน้ำหมันช่วงบ้านนาหมูม่นที่เราไปดูเหลือพัดทดน้ำเพียง 13 ตัวเท่านั้น

จากจำนวนพัดที่ลดลง ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเป็นห่วงอนาคตพัดทดน้ำว่าจะสูญหายไปจากน้ำหมัน จนกระทั่งปี 2557 ทีนักวิจัยได้เข้าไปสำรวจปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการ "พัดทดน้ำ" เพื่อรื้อฟื้นเทคโนโลยีการจัดการน้ำขึ้นในปี 2559-2560 โดยสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้การทำพัดทดน้ำและแนวทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือในการจัดการน้ำที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 


พัดไม้ไผ่ที่สานติดโครง (ซี่) ของของขอบวง ... และการติดตั้งกระบอกไม้ไผ่เพื่อตักน้ำ

 

เขาทดน้ำเข้านาได้อย่างไร ... เนื่องจากน้ำในลำน้ำหมันอยู่ต่ำกว่าพื้นนา วิธีการดึงน้ำในปัจจุบันก็คงต้องใช้ปั๊มน้ำ อาจจะใช้พลังงานเครื่องยนต์จากรถไถนาเดินตาม ซึ่งก็ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นั่นก็คือ เงิน ...

แต่ที่นี่ในอดีตไม่มีเครื่องจักร เครื่องยนต์ ชาวบ้านที่นี่เขาจึงหาวิธีทำ
"พัดทดน้ำ" นี้เป็นตัวช่วยดึงน้ำเข้านา โดยให้พัดหมุนเป็นวงกลม ช่วงที่ลงด้านล่าง (จมลงในน้ำ) ก็จะใช้กระบอกไม้ไผ่ตักน้ำ พอขึ้นด้านบนน้ำก็จะเทเข้ารางตามแรงดึงดูดของโลก และปล่อยน้ไปตามท่อ (เมื่อก่อนน่าจะเป็นท่อไม้ไผ่) เข้าสู่แปลงนาตามหลักการการไหลของของเหลวจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ประมาณนั้น.

การคิดและสร้างซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ยอดเยี่ยมของบรรพบุรุษนี่สิ น่าทึ่ง (ในสมัยนั้น) .

เขาใช้วัสดุเกือบทั้งหมดจากไม้ไผ่ที่หาได้จากภูเขารอบๆนั่นแหละครับ ... เริ่มจาก ดุมหรือเพลาที่เป็นจุดหมุนที่เป็นไม้เนื้อแข็งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-25 ซม. และเป็นที่่ติดตั้งของซีโครง (ลำไม้ไผ่ขนาด 1.5-2 นิ้ว) ยาวไปเท่ากับรัศมีของวงล้อ  ในซี่ตอนปลายๆที่จะติดกับเส้นขอบวง (ไม้ไผ่ผ่าซีกมัดติดกับไม้โดยรอบ 3 วง) จะสานไม้ไผ่เป็นพัด ยาวเข้าหาจุดศูนย์กลางตามซี่ ประมาณ 2 ฟุต (เขาเอาด้านในของไม้ไผ่ที่ผ่าเข้าหาทางน้ำเพื่อรับแรงของน้ำ)  ระหว่างพัดก็จะติดตั้งกระบอกไม้ไผ่เพื่อตักน้ำ โดยให้เอียงจากซ้ายไปขวา 15 องศาโดยประมาณ เจ้ากระบอกนี้จะตักน้ำเมื่อพัดหมุนลงมาด้านล่าง และเทตอนขึ้นสู่ด้านบนโดยมุมเอียงจะได้พอดีกับการเท ในตัวซี่โครงพัดก็จะถูกยึดให้แน่นโดยลำไม้ไผ่อีกชั้น ... จากนั้นก็ติดตั้งเข้ากับลำน้ำห่างจากฝั่ง 3-4 เมตรใช้เสา 2 เสา ประกบ มีคานไม้ทำร่องให้เพลาหมุนอยู่ติดกับเสา ด้านเหนือน้ำ จะทำกรงหรือคอกดักเศษไว้...เมื่อมีการหมุนของพัด กระบอกไม้ไผ่ก็จะตักน้ำจากในลำน้ำหนัน ขึ้นไปเทบนรางที่สูงตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของพัด (ซึ่อยู่ที่ 3-5 เมตร) ปล่อบยให้ไหลเข้านาผ่านท่อ โดยอาศัยหลักการการไหลของๆเหลวที่ที่สูงกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่า และปล่อยให้เจ้าพัดทำงานเไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรืองเชื้อเพลิงเลย.

พัดทดน้ำจะทำงานช่วงต้นฝน - ปลายฝน (ก่อนหน้าเก็บเกี่ยว) แล้วจะหยุด พอชาวบ้านเสร็จจากนาก็จะใช้เวลาซ่อมแซมเพื่อเตรียมใช้งานในหน้าฝนต่อไป

 



เพลากลางเป็นไม้เนื้อแข็ง เป็นที่ติดตั้งซี่โครงพัดเพื่อเป็นแขนยึดติดขอบโดยผูกไม้ไผ่ยึดให้แน่น



ใช้รางไม้รับน้ำจากการเทของกระบอกไม้ไผ่ และให้ไหลเข้านาผ่านท่อ PVC โดยอาศัยความสูงที่ต่างกัน
ส่วนด้านหน้าพัดเป็นกรงคล้ายๆหัวเรือ จะเป็นตัวดักเศษ เช่นสวะ ไม้ และอื่นไม่ให้ไปติดพัดทำให้หมุนไม่ได้







พัดจะติตั้งห่างจากฝั่งประมาณ 3-4 เมตร .... พัดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เมตร หมุนโดยใช้พลังน้ำไปดันใบ และกระบอกตักน้ำขึ้นเทใส่ราง



น้ำจะถูกส่งตามท่อเข้าสู่นาและผ่องถ่ายไปตามไร่นาญาติมิตรที่อยู่ใกล้ๆ โดยจะทำเช่นนี้ตลอดช่วงต้นฝน-ปลายฝน (ก่อนหน้าเก็บเกี่ย)





ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทุ่งรอบๆน้ำหมัน .... เมื่อนามีน้ำ วัชพืชก็น้อยลงไม่ต้องเสียเวลกำจัด



ถนนจากวัดจอมมณีไปตามลำน้ำหมันทำเป็นคอนกรีตแล้ว



แผนที่การเดินทางในหมู่บ้านนาหมูม่น


การเดินทาง
การเข้าไปดูพัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น ขับรถจากด่านซ้ายไปตามทางหลวงชนบท หมายเลข 2114 ประมาณ 10 กม. ถึงบ้านนาหมูม่น หมู่ 2 ต. นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย ... เมื่อถึงแล้วให้ขับเข้าไปทางวัดจอมมณี ก่อนถึงวัดจะมีศูนย์เรียนรู้ "พัดทดน้้" และตรงข้างกำแพงวัดจะมีทางคอนกรีตเล็กๆลงไปยาวเลียบลำน้ำหมัน แนะนำให้จอดรถไว้ถนนด้านบน หรือ ในวัด แล้วเดินลงไปไม่ไกลก็จะเห็นพัดทดน้ำ เพราะถนนเลียบนำหมันแคบ หาที่จอดยาก.

 
ลาด้วยภาพนาข้างริมน้ำหมันครับ






_____________
 






Create Date :16 สิงหาคม 2563 Last Update :10 มีนาคม 2564 10:04:47 น. Counter : 4039 Pageviews. Comments :8