bloggang.com mainmenu search

ตาดฟาน ไร่ชา ตาดผาส้วม
วัดหลวง ช่องเม็ก

(สะบายดีจำปาสัก ตอนจบ)



อ่านตอนที่ 1 : คล๊กที่นี่
อ่านตอนที่ 2 : คล๊กที่นี่
อ่านตอนที่ 3 : คล๊กที่นี่
อ่านตอนที่ 4 : คล๊กที่นี่





เราออกจากตาดเยือง โดยขับกลับมาทางเดิม แล้วขับตามถนนใหญ่ไปทางปากเซ ก็จะเจอทางแยกซ้ายมือ (มาจากตาดเยือง) บอกว่าไปน้ำตกตาดฟาน ขับเข้าไปหน้ารีสอร์ท จะมีที่ฝากรถเสียค่าฝาก 5000 กีป ส่วนนักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านเข้าไปได้เลย โดยจะผ่านร้านอาหารของรีสอร์ท แลเลยไปจะเป็นจุดชมวิวหน้าหน้าผา











น้ำตกตาดฟาน

ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 เส้นทางไปปากซอง มาถึงหลักกิโลเมตรที่ 38 มีทางแยกเข้าขวามือ (ถ้ามาจากปากเซ)

ตาดฟาน เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในแขวงจำปาสัก เรียกอีกชื่อว่า น้ำตกดงหัวสาว (ฟาน แปลว่า เก้ง) จุดเด่นอยู่ตรงสายน้ำ 2 สายที่ไหลลงจากหน้าผาสูงราว 120 เมตร (บางข้อมูลก็เขียนไว้ว่าสูงกว่านี้) โดยสายน้ำทางซ้ายมือไหลมาจากห้วยผักกูด และทางขวามือเป็นสายน้ำที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติดงหัวสาว มีจุดชมวิวที่ตั้งอยู่คนละฟากเขากับตัวน้ำตก ในระดับความสูงเท่าๆกัน จากตรงนี้สามารถชมวิวตัวน้ำตกในมุมสูงได้อย่างชัดเจน และในยามเช้ายังเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงามอีกด้วย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้สามารถเดินลงไปชมตัวน้ำตกบริเวณด้านล่างได้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากจุดชมวิว ด้านบน ใช้เวลาเดินเท้าค่อนข้างนาน ต้องเตรียมอาหารและอุปกรณ์กางเต็นท์ไปเองเพื่อพักแรมบริเวณด้านล่าง 1 คืน และเดินกลับขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น แนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่บริเวณน้ำตกเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางและการเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัย

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสะดวกสบายสามารถเลือกใช้บริการที่พักบริเวณก่อนถึงจุดชมวิวได้เช่นกัน มีชื่อว่า ตาดฟาน รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทสวยท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขา จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ถ้าทานอาหารไม่ถูกปาก แนะนำว่าที่นี่ไม่เพี้ยนจากเมืองไทยเลย เช่นผัดกระเพา







น้ำตกตาดฟาน







น้ำตกตาดฟาน







ตาดฟานรีสอร์ท







ชิมชา






ออกจากตาดฟานก็ขับกลับมาทางปากเซ พอถึงหลัก 32 ก็จะมีไร่ชาอยู่ด้านซ้ายมือ (ถ้าเราขับมาจากตาดฟาน) เจ้าของไร่เป็นคนญวน วันนี้แกไม่ได้ออกมาต้อนรับพวกเรา เพราะแกเหนื่อยจากการรับแขกในช่วงเช้า

เมื่อก่อนเราเคยมาแวะชิมน้ำชากับลุงที่นี่เหมือนกัน สภาพของสถานที่ไม่แตกต่างจากปี 2003 มากนัก สิ่งที่คนที่นั่นบอกเราว่าแตกต่างคือ ตอนนี้แกส่งลูกไปเรียนต่างประเทศแล้ว...

เราสามารถเดินชม และสอบถามวิธีการเก็บใบชาจากคนที่ไร่ได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราได้ความรู้เรื่องการเก็บชาคือ เขาจะเก็บเฉพาะช่วงเช้าๆเท่านั้นถึงจะได้ใบชาที่ดีที่สุด








ไร่ชา







ร้านอาหารน้ำตกผาส้วม






น้ำตกผาส้วม

มาตามทางหลวงหมายเลข 23 จนถึงบ้านห้วยแร่ประมาณกิโลเมตรที่ 21 แล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงหมายเลข 20 ประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวน้ำตก

น้ำตกผาส้วม แค่ชื่อก็อาจฟังดูไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าไรนัก แต่จริงๆแล้วค่ำว่า ส้วม ของลาวหมายถึงห้องนอนที่กั้นไว้สำหรับลูกสาวลุกเขยโดยเฉพาะ ส่วนตาดแปลว่าลานหินที่เป็นชั้นๆ จุดเด่นของน้ำตกตาดผาส้วมคือ สายน้ำที่ไหลผ่านหินผาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ รูปร่างคล้ายห้องหอของคู่บ่าวสาวดูสวยงาม

นอกจากนี้ภายในอุทยานยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเอาหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่ามาจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน เช่น บ้านของขาวกระต้าง ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆน้ำตกนี้ บ้านของชาวเผ่าอาลัก บ้านของชาวกระตู้ หอกวน ที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าละแว ภายในจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของชาวเผ่าให้ชมเป็นจำนวนมาก และหอสูงของชาวละแวที่ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ภายในหมู่บ้าน และที่น่าสนใจที่สุดคือบ้านพักของทางอุทยานที่ตกแต่งได้สวยงามอย่างลงตัว ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น

ตรงทางเข้าน้ำตกผาส้วมจะมีที่เก็บเงินค่าเข้าชม คนละ 5000 กีป โดยรถสามารถขับข้ามสะพานเข้าไปจอดข้างๆ ร้านอาหารได้เลย







มื้อเที่ยง






ขณะที่นั่งรออาหารอยู่ เราเหลือบไปเห็นป้ายที่เขียนไว้ข้างห้องครัวว่า "สาเหตุที่คนชอบมาทานอาหารที่ร้านนี้ เพราะเราไม่ใช้ผงชูรสในการปรุง" แต่อาหารวันนั้รสชาดก็ไม่เลว แต่ที่นี่ค่าอาหารต่อหัวจะตก 180 บาทซึ่งแพงกว่าร้านทั่วไป 30 บาท....







ทางเดิน







น้ำตกผาส้วม







สะพานแขวน







น้ำตก อีกมุม







บริเวณน้ำตกผาส้วมจะธารน้ำไหลมาสองสาย เป็นรูปตัววาย (Y) ไปรวมเป็นธารน้ำเดียวกันด้านล่างของรีสอร์ท โดยสายธารแรกจะเป็นที่เกิดน้ำตกผาส้วม ส่วนอีกหนึ่งจะเป็นที่เกืดน้ำตกผาแงว ซึ่งอยู่ทางที่จะเดินไปชมหมู่บ้านชนเผ่า

ระหว่างสองสายธาร หรือระหว่างตัววาย จะมีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว จุดเด่นคือแต่ละบ้านจะมีห้องอาบน้ำใต้แสงจันทร์ คือหลังคาโล่งท่ามกลางธรรมชาติที่เป็นต้นไม้ใหญ่นาๆพันธุ์

ส่วนลำธารหลังจากน้ำทั้งสองสายมารวมกันแล้ว จะมีกิจจกรรมล่องเรือขึ้นที่นั่นด้วย








บ้านพัก







น้ำตกผาแงว






บันไดบ้านชนเผ่าแงะ ที่สมเด็จพระเทพฯทรงเหยียบขึ้นไป 2 ขั้นเขาเลยตัด

ไว้บูชา






ภาพบน เป็นนันไดขึ้นบ้านของชนเผ่าแงะ ที่สมเด็จพระเทพฯ เคยเสด็จ และเหยียบขึ้นไปสองขั้น เขาเลยตัดสองขั้นนั้นเอาไว้บูชาที่หน้าบ้าน (ซ้ายมือ ในภาพ)







การทอผ้าของชนเผ่า







ตรงนี้มีผ้าทอสีสรรสวยงามมาก ดูจากสภาพ และวิธีการทอแล้วคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการผลิตผ้าแต่ละผืน วันนั้นเราซื้อผ้าผืนหนึ่ง และต่อรองราคากัน คนทอบอกเราว่ากว่าจะได้ผืนนั้นต้องใช้เวลาทอ 14 วัน เราเลยต่อราคาไม่ลง เลยต้องซื้อเขาในราคานั้น

เราออกจากน้ำตกผาส้วมขับย้อนกลับมาที่สามแยก ตรงถนนสายที่ 23 เพื่อจะกลับเข้าปากเซ ตรงสามแยกนั้นจะมีร้านขายผลไม้ พวกกล้วยคล้ายๆกล้วยหอม และสับปะรด ไกด์อ๊อดบอกเราว่ากล้วยที่นั่นปล่อยให้สุกคาต้น โดยไม่มีการตัดมาบ่มเหมือนบ้านเรา ฉะนั้นรสที่ได้จึงหวานหอมเป็นพิเศษ เราซื้อติดรถกลับบ้านกันพอสมควร








วัดหลวง






วัดหลวง

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซโดน ทางทิศเหนือของตลาดเก่า วัดหลวงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2478 เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญในเมืองปากเซ เพราะเป็นสถานที่เก็บอัฐิของราชวงศ์สายจำปาสักหลายพระองค์ รวมทั้งอัฐิของท่านกระต่าย โดนสะโสลิด อดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยม มีลักษณะเป็นสถูปเจดีย์เรียงรายโดยรอบวัด จุดเด่นน่าชมอยู่ที่บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ แกะสลักด้วยไม้ลวดลายสวยงาม ถัดมาทางขวาของพระอุโบสถเป็นอาคารเก่าแก่ ซึ่งใช้เป็นหอสมุดและสำนักงานของครู ส่วนด้านหลังเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น อยู่ติดกับแม่น้ำเซโดนใช้เป็นโรงเรียนสอนพุทธศาสนาสำหรับพระสงฆ์








พระประธานในโบถส์







เจดีย์ในวัดหลวง







บานประตูไม้แกะสลัก







เราเดินทางออกจากากเซประมาณ 1630 น พอรถขึ้นสะพาน ก็หันกลับไปมองเมืองนี้อีกครั้งก่อนจาก โดยเราหวังว่าคงได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนที่นี่อีกครั้ง บริเวณใกล้เคียงปากเซ เช่นที่ราบสูงบอละเวน ยังมีธรรมชาติที่สวยงามรอให้เรามาพิสูจน์กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก "ตาดตาเก็ด" ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทีลอซูบ้านเรา หรืออาจจะใหญ่กว่า หรือตาดต่างๆที่อยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น

หนุ่มอ๊อดยังบอกเราว่า มีน้ำตกมากมายกว่า 64 น้ำตกที่ที่ราบสูงบอละเวนแห่งนั้น รอเพียงการพัฒนาเส้นทางให้เข้าไปถึงเท่านั้น.... ถึงแม้เส้นทางยังเข้าไม่ถึง ก็ยังมีนักผจญภัยจากเมืองไทยเดินเท้าเข้าไปสัมผัสมาแล้วหลายกลุ่ม

ปากเซและลาวใต้ยังมีธรรมชาติมากมายสำหรับการไปเยือน เพียงแต่เจ้าของสถานที่ต้องเข้าใจที่จะรักษา และอยู่กับเขาอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และวันหนึ่งข้างหน้า ธรรมชาติก็จะคืนความมั่งคั่งให้ผู้รักษามากกว่าที่คาดคิด.








ด่านช่องเม็ก







เรามาถึงด่านว้งเตา-ช่องเม็กตอนเกือบ 1730 น ดีแต่ว่าเดี๋ยวนี้เขาให้เราผ่านด่านได้จนถึง 2000 น

เราหาซื้อสินค้าบางอย่างที่ร้าน ดาวเรือง ก่อนกลับออกจากประเทศลาว โดยที่ร้านนี้เราก็สามารถใช้บัตรเครดิตพวก VISA ได้แต่จะโดนชาร์ท 3 เปอร์เซ็น เช่นที่ปากเซ

เราอำลาไกด์หนุ่มของเราที่นั่น ที่ด่านวังเตา แต่ไม่ลืมจะสั่งเสียกันว่า ให้เขาช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลรักษาสภาพของธรรมชาติที่มีอยู่ ให้อยู่คู่กับแขวงจำปาสัก และประเทศลาวตลอดไป.....ลาก่อนปากเซ จำปาสัก จนกว่าจะพบกันอีก.

หนุ่มอ๊อดเดินทางไปขึ้นรถกลับปากเซ ส่วนเราเดินเข้าช่องทางกลับประเทศไทย และด่านตรวจคนเข้าเมือง.








ฝั่งลาว







ฝั่งไทย







ตรวจตราพาสปอร์ตเสร็จ ก็กลับเข้าแดนสยามอย่างปลอดภัย หลังจากนั้นก็ไปรับรถที่ฝากไว้บ้านคุณตี๋ และไปซื้อหมูยอที่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลฯ.


การเดินทาง

1 มกราคม 2009 : ขอนแก่น อุบลฯ พิบูลมังสาหาร ช่องเม็ก ปากเซ วัดพู โรงแรมแสงอรุณ ปากเซ

2 มกราคม 2009 : ปากเซ นากะสัง หลี่ผี คอนพะเพ็ง ต้นมณีโคตร คอนพะเพ็งกอล์ฟแอนด์รีสอร์ท วัดกิ่งแก้ว ตลาด กม.13 โรงแรมจำปาสักแกรนด์

3 มกราคม 2009 : ปากเซ ปากซอง ตาดเยือง ตาดฟาน ตาดผาส้วม วัดหลวง ช่องเม็ก อุบลฯ ขอนแก่น



อ่านตอนที่ 4 ll


_______จบบริบูรณ์_______





Create Date :12 มกราคม 2552 Last Update :14 สิงหาคม 2555 23:11:15 น. Counter : Pageviews. Comments :25