bloggang.com mainmenu search



ประเพณีบุญบั้งไฟ







บั้งไฟที่เอ้ (ตกแต่ง) แล้ว






"ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ต๊กพรำๆ กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา.... ฝนต๊กทีไร คิดถึงขวัญใจของข้า แม่ดอกโสนบ้านนา น้องเคยเรียข้าฯพ่อดอกสะเดา..."



เสียงเพลงฝนเดือนหก ของ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ นักร้องชื่อดังในอดีต ได้ทำให้เราหวลระรึกถึงบ้านนาในท้องถิ่นภาคอีสาน ว่าได้ถึงเวลาที่จะมีงานเฉลิมฉลองสนุกสนานอีกวาระหนึ่ง ก่อนที่จะถึงฤดูกาลลงไร่ไถนาทำมาหากินกันในช่วงหน้าฝนปีนี้.












ยิ่งได้ยินเสียงพิณและแคนอันแสนเร้าใจ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและการต่อสู้อย่างทรหดอดทนของชาวอีสาน ที่ต้องสู้กับธรรมชาติที่แสนโหดร้ายผ่านร้อน ผ่านหนาว กันมาเป็นร้อยๆ พันๆปีแล้ว ยิ่งวทำให้อารมณ์การคิดถึงบ้านได้ถมทวีคูณยิ่งขึ้น เราจึงจะพาคุณๆไปรู้จักกับประเพณีอันเก่าแก่ ของชาวอีสานนี้ว่าเป็นมาอย่างไร ลองตามมากับเราสิครับ.....

ชาวอีสานหลายพื้นที่จะมีงานบุญหนึ่งในทั้งหมดสิบสองบุญ (ฮีตสิบสอง) นั่นก็คือ "บุญเดือนหก" หรือ "บุญบั้งไฟ" ซึ่งมีความเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและพอเพียงทีจะได้ทำไร่ ทำนา.













ตำนาน

ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย













ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้

1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์

2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว

3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้














สัญญลักษณ์


บุญบั้งไฟเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานนิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง












ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์ สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝนซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า














ความสนุกสนานในบุญบั้งไฟ....เจ้าของบั้งไฟจะโดนอุ้มไปคลุกขี้โคลน ถ้าบั้งไฟเขาจุดแล้วไม่ขึ้น






ขนาดการทำบั้งไฟ

บั้งไฟร้อย มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 3 ก.ก.

บั้งไฟหมื่น มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 12 ก.ก.

บั้งไฟแสน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 120 ก.ก.

บั้งไฟล้าน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 500 ก.ก










อ่านเพิ่มเติมที่ : www.panyathai.or.th
ขอบคุณภาพสวยๆจากเวบครับ




___________END___________


Create Date :16 พฤษภาคม 2554 Last Update :11 กรกฎาคม 2556 21:34:49 น. Counter : Pageviews. Comments :12