bloggang.com mainmenu search


บล็อกนี้เป็นเรื่องของหนึ่งในการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักกันอย่างสามัญที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เกี่ยวกับเด็กไม่เอาไหนและแมวสีฟ้าที่มีของวิเศษต่างๆคอยช่วยเหลือที่เรียกว่า "โดราเอม่อน" ครับ

วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันเกิดของโดราเอม่อนตามที่ อ.ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ (นามปากกา Fujiko F. Fujio) ผู้เขียนเรื่องนี้กำหนดไว้ แต่ปีนี้ไม่ใช่วันเกิดธรรมดา เนื่องจากผู้เขียนกำหนดให้โดราเอม่อนถูกสร้างขึ้นในปี 2112 ดังนั้น วันที่ 3 ก.ย. 2012 นี้จึงถึงเป็นวัน "ครบรอบ 100 ปี ก่อนจะถึงวันที่โดราเอม่อนถูกสร้างขึ้นมา" ครับ



บทความในบล็อกนี้รวบรวมจากกระทู้ที่ผมตั้งไว้ในพันทิปเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2012 เรื่อง "Doraemon FAQs"
ในพันทิปมีคำถามเกี่ยวกับโดราเอม่อนที่น่าสนใจกระจัดกระจายอยู่ตามกระทู้ต่างๆ และส่วนมากก็ได้รับคำตอบไปแล้ว แต่ก็มักถูกนำกลับมาถามใหม่เรื่อยๆ ผมอยากทำบทความรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามที่เจอบ่อยๆ เช่น "ตอนจบของโดราเอม่อน" หรือ "จำนวนตอนของโดราเอม่อน" มานานแล้ว เลยขอใช้โอกาสวันเกิด -100 ปีครั้งนี้ รวบรวมคำถามเกี่ยวกับโดราเอม่อนที่พบบ่อยที่สุดในกระทู้ต่างๆมาไขข้อข้องใจกันครับ

บทความนี้อ่านยากนิดหน่อย ต้องตั้งสมาธิหน่อยนะครับ แต่รับรองว่าไม่มึนหมุนติ้วๆแบบบทความ S.E.Lain ว่าแล้วเราไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆของโดราเอม่อนกันดีกว่า...

โดราเอม่อนมีทั้งหมดกี่ตอนกันแน่?

Note: ข้อมูลนี้นับเฉพาะตอนที่ อ.ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ เป็นผู้เขียนเอง ตอนสั้นตอนสุดท้ายคือ "ผู้มาเยือนแห่งดาวการาป้า" และตอนยาวตอนสุดท้ายคือตะลุยเมืองตุ๊กตาไขลาน ตอนยาวลำดับที่ 17 (ซึ่ง อ. เขียนไม่จบ แต่ได้ลูกมือมาเขียนต่อ) ครับ ตอนต่อมาหลังจากนั้นลูกมือเขียนขึ้นมาทั้งหมด จะไม่นับมารวมนะ

โดราเอม่อนที่นักอ่านบ้านเราคุ้นเคยกันมากที่สุดคือตอนสั้นทั้งหลายที่อยู่ในชุด 45 เล่มลิขสิทธิ์ของ NED (หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าชุดเท็นโทมุชิคอมิคส์ของโชกากุคัง) ซึ่งมีจำนวนตอนรวมทั้งสิ้น 823 ตอน และตอนยาวอีก 17 ตอน

...แต่แท้จริงแล้วโดราเอม่อนนั้นมีจำนวนตอนสั้นและตอนยาวรวมทั้งสิ้น 1,345 ตอน ครับ

แรกเริ่มเดิมทีนั้น โดราเอม่อนตีพิมพ์ลงในนิตยสาร เช่นเดียวกับการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆที่ลงนิตยสารรายประจำก่อนนำมาทำฉบับรวมเล่ม แต่โดราเอม่อนนั้นลงนิตยสารทั้งหมดถึง 12 หัว! แล้ว อ.ฟูจิโมโตะจึงคัดเอาเพียงบางตอนจากนิตยสารเหล่านั้นมาทำให้เนื้อเรื่องเป็นหนึ่งเดียวกันในฉบับรวมเล่มทั้ง 45 เล่ม โดยเล่มสุดท้ายตีพิมพ์วันที่ 26 เม.ย. 1996 ก่อน อ.เสียไม่นาน

นิตยสารทั้ง 12 หัว ได้แก่นิตยสาร Yoiko (เด็กดี), Yōchien (โรงเรียนอนุบาล), Shogaku 1-nensei (นักเรียน ป.1), Shogaku 2-nensei (นักเรียน ป.2), Shogaku 3-nensei (นักเรียน ป.3), Shogaku 4-nensei (นักเรียน ป.4), Shogaku 5-nensei (นักเรียน ป.5), Shogaku 6-nensei (นักเรียน ป.6), Terebi Kun, CoroCoro Comic, Shougakusei Book และ Shonen Sunday นอกจากนี้ยังมีนิตยสารอื่นๆที่ไม่ได้ลงเป็นรายประจำอีก ซึ่ง อ. จะปรับแนวทางการวาดและการดำเนินเรื่องให้เหมาะสมกับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิตยสารนั้นๆ เช่นตอนที่ลงในนิตยสารเด็กอนุบาลจะเป็นสี่สีหน้าละ 2-5 ช่องและความคิดอ่านของโนบิตะจะเป็นแบบเด็กๆ ในขณะที่ตอนที่ลงในนิตยสารเด็ก ป.6 เขียนหน้าละ 4 แถว (8-10 ช่อง) และเนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

นิตยสารสำหรับเด็กนักเรียนนั้นออกรายเดือน โดยฉบับแรกของชั้นปีคือฉบับเดือน เม.ย. และฉบับสุดท้ายของชั้นปีคือฉบับเดือน มี.ค. นั่นคือเด็ก ป.4 จะอ่าน Shogaku 4-nensei ฉบับ มี.ค. เป็นเล่มสุดท้าย แล้วเปลี่ยนไปอ่าน Shogaku 5-nensei ฉบับเดือน เม.ย. เป็นฉบับต่อไป ดังนั้นเราจะเห็นว่าหลายๆตอนฉบับเดือน มี.ค. ของนักเรียนชั้นต่ำกว่า จะมีความต่อเนื่องกับฉบับเดือน เม.ย. ของชั้นสูงกว่า เช่นตอน "ลาก่อนโดราเอม่อน" ที่ลงในฉบับ ป.3 ฉบับเดือน มี.ค. 1973 จะมีเนื้อหาต่อเนื่องกับตอน "โดราเอม่อนกลับมาแล้ว" ซึ่งลงนิตยสาร ป.4 ฉบับเดือน เม.ย. 1973

โดราเอม่อนเริ่มตีพิมพ์ในปี 1969 ในนิตยสาร 6 ฉบับพร้อมกัน ได้แก่ Yoiko, Yōchien, Shogaku 1-nensei, Shogaku 2-nensei, Shogaku 3-nensei , และ Shogaku 4-nensei ซึ่งฉบับปฐมฤกษ์นั้นวางจำหน่ายในวันที่ 1 ธ.ค. 1969 ซึ่งเป็นฉบับเดือน ม.ค. 1970 ทั้งนี้ฉากเปิดตัวของทุกฉบับจะแตกต่างกันออกไปครับ และเวอร์ชั่นที่เราคุ้นเคยที่สุดคือฉากเปิดตัวโดราเอม่อนของ Shogaku 4-nensei ซึ่งลงเป็นตอนแรกในชุด 45 เล่มนั่นเอง นอกจากนี้หลายๆคนยังได้อ่านตอนแรกของโดราเอม่อน คัลเลอร์ เล่ม 5 ซึ่งเป็นฉากเปิดตัวในนิตยสาร Shogaku 2-nensei ด้วย

เนื่องจากโดราเอม่อนนั้นลงในนิตยสาร 6 ฉบับพร้อมกัน นั่นหมายถึงทุกเดือน อ.ฟูจิโมโตะจะต้องเขียนตอนสั้นที่ไม่ซ้ำกันถึง 6 ตอนครับ จากนั้นก็มีสลับไปลงนิตยสารอื่นๆและลดจำนวนตอนที่เขียนในนิตยสาร Yoiko และ Yōchien ลง

โดราเอม่อนได้พิมพ์เพิ่มเติมลงใน Shogaku 5-nensei และ Shogaku 6-nensei ในปี 1973 เรื่อยมาจนถึงปลายยุค 80s ที่อาจารย์เจ็บป่วยไม่ได้ลงครบทุกฉบับทุกเดือนอย่างที่เคยเป็น และช่วงหลังๆ อ. เขียนเฉพาะตอนพิเศษลงในเก็กคัง โคโระโคโระคอมิค นานๆจึงจะเขียนตอนธรรมดาลงในฉบับพิเศษ
ปีที่ อ. เขียนโดราเอม่อนได้จำนวนตอนมากที่สุดคือปี 1980 ที่เขียนได้ถึง 88 ตอนภายในปีเดียว!

ในนิตยสารแต่ละฉบับลงโดราเอม่อนทั้งหมดกี่ตอน และรวมเล่ม 45 เล่มนั้นนำตอนต่างๆมาจากนิตยสารใดบ้าง ตามตารางด้านล่างเลยครับ
(ส่วนตอนพิเศษทั้ง 17 ตอนนั้นมาจากนิตยสาร เก็กคัง โคโระโคโระคอมิค ทั้งหมด)



ในบ้านเรามีโดราเอม่อนของ NED จำหน่ายหลายชุด ทั้งชุด 45 เล่มหลัก, ตอนพิเศษ, บิ๊กบุ๊คชุด 16 เล่ม, ผจญภัยแก๊งค์เพื่อนๆโดราเอม่อน, โดราเอม่อนสอนประวัติศาสตร์, โดราเอม่อนสองภาษา ฯลฯ แต่หากต้องการซื้อโดราเอม่อนตอนของ อ.ฟูจิโมโตะจริงๆ (ไม่ใช่คนอื่นเขียน) ให้ได้ตอนไม่ซ้ำกันทั้งหมดเท่าที่มีพิมพ์รวมเล่มออกมาในภาษาไทยจะต้องซื้อ 5 ชุดนี้ครับ
- รวมเล่มชุด 45 เล่ม 823 ตอน
- ตอนยาว 17 เล่ม 17 ตอน
- โดราเอม่อน พลัส 6 เล่ม 125 ตอน
- โดราเอม่อนคัลเลอร์ 6 เล่ม 119 ตอน
- โดราเอม่อน คัลเลอร์ สเปเชียล 1 เล่ม 24 ตอน



รวมทั้งสิ้น 1,108 ตอน ยังมีอีก 237 ตอนที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ฉบับลิขสิทธิ์เป็นภาษาไทยในบ้านเรา ซึ่งหลายๆตอนหลายคนจะได้อ่านตั้งแต่ในยุคที่โดราเอม่อนฉบับไพเรทเข้ามาแข่งกันขายหลายสำนักพิมพ์เมื่อ 15-30 ปีก่อน ซึ่งหลายๆเจ้าได้นำตอนที่ลงในนิตยสารมาแปลแล้วรวมเล่มโดยตรง
ทีแรกก็อยากลองนับตอนที่ไม่ซ้ำกับของ NED ว่าได้อ่านมาทั้งหมดแล้วกี่ตอน แต่ตอนนี้รอชุด Fujiko F. Fujio's Complete Works ครับ



เนื่องจาก อ.ฟูจิโมโตะ ได้ทำการปรับปรุงเนื้อหาหลายๆตอนเพิ่มเติมเล็กน้อยขณะรวมเล่ม ทำให้ตอนที่ลงในชุดรวมเล่ม มีจำนวนช่องมากกว่าตอนที่ลงในนิตยสารนิดหน่อย โดยเฉพาะตอนพิเศษที่ทุกตอนจะเพิ่มขึ้นมาหลายสิบหน้า ดังนั้นคนที่ติดตามมาตั้งแต่ยุคไพเรทจะได้อ่านหลายๆตอนทั้งสองแบบ คือเวอร์ชั่นตอนลงนิตยสาร ซึ่งไพเรทนำมารวมเล่มแปล และเวอร์ชั่นที่แปลจากฉบับรวมเล่มซึ่งปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมแล้ว

ชุดของ NED ทั้งตอนสั้น 45 เล่ม และตอนยาวนั้นแปลจากฉบับรวมเล่มเท็นโทมุชิ คอมิคส์ ซึ่งทำการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมจากฉบับนิตยสารแล้ว คนที่เก็บไพเรทฉบับเก่าๆไว้จึงมีเวอร์ชั่นเก่าของหลายๆตอนที่หาได้ยากยิ่ง เก็บกันไว้ดีๆนะครับ



ความสามารถของโดราเอม่อน

นอกจากตอนหลักที่ อ.ฟูจิโมโตะ เป็นผู้เขียนแล้ว ยังมีตอนย่อยอีกหลายตอนที่ลงในโคโระโคโระ คอมิคส์ เช่น ตอนชุดสารานุกรมโดราเอม่อน เขียนโดย คาตาคุระ โยจิ (รวมอยู่ในท้ายเล่ม 11) หรือ ความลับโดราเอม่อน (รวมอยู่ในชุด Zoku Zen Hyakka) ซึ่งให้รายละเอียดต่างๆของโดราเอม่อน เช่น กำเนิดโดราเอม่อน, ข้อมูลความสามารถต่างๆ ไปจนถึงคำถามที่ผู้อ่านสงสัย ซึ่งชุด Hyakka บางทีก็เขียนเอาฮา เช่นบอกว่าในตัวโดราเอม่อนมีไม้หนีบตากผ้าอยู่ด้วย -__-" ไม่รู้จะเรียกว่าใช้อ้างอิงได้ดีไหม?

ส่วนประกอบต่างๆของโดราเอม่อนมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
สมอง - เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว
ตา - เป็นอินฟราเรด มองเห็นได้ในความมืด
จมูก - ดมกลิ่นได้ไวกว่ามนุษย์ 20 เท่า (เสีย)
ปาก - กว้างมาก ใส่กาละมังได้ทั้งอัน ปกติไม่มีฟัน แต่สามารถยิงฟันเพื่อแสดงอารมณ์ได้ด้วย
หนวด - เป็นเรดาร์ตรวจหาสิ่งของในระยะไกลได้ (เสีย)
หู - เป็นเครื่องรับเสียงพลังสูง (เสีย) ส่วนใบหูถูกหนูแทะขาด
มือ - ดูดติดสิ่งของทุกอย่าง แต่เป่ายิงฉุบไม่ได้นะครับ ออกได้แต่ค้อน
ผิว - เป็นโลหะผสมต้านแรงดึงดูด ฝุ่นละอองไม่เกาะ จึงไม่จำเป็นต้องอาบน้ำ แต่ก็มีฉากอาบน้ำให้เห็นบ่อยๆ
กระพรวน - ใช้เรียกแมว (เสีย) ตอนหลังเปลี่ยนเป็นกล้องถ่ายรูปขนาดจิ๋ว
กระเพาะ - เป็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณู สิ่งที่กินเข้าไปจะถูกย่อยเป็นพลังงานหมด จึงไม่จำเป็นต้องขับถ่าย แต่ตดได้นะ
กระเป๋ามิติที่ 4 - ข้างในใส่ของได้ไม่จำกัด
ขา - สั้น แต่สามารถนั่งคุกเข่าได้นะ
เท้า - ลอยจากพื้นเล็กน้อย ทำให้เดินได้เงียบเหมือนแมว แต่เวลาวิ่งจะมีเสียงเพราะเกิดแรงต้านอากาศ
หาง - เป็นสวิตซ์ หากดึงจะหยุดการทำงาน

สูง 129.3 ซม.
หนัก 129.3 กก.
รอบอก 129.3 ซม.
ความสูงเวลานั่ง 100 ซม.



สำหรับของวิเศษต่างๆนั้นใส่มาพร้อมโดราเอม่อนตั้งแต่ตอนผลิตจากโรงงาน แต่สามารถซื้อของเพิ่มได้จากห้างสรรพสินค้าอนาคต ราคาไม่แพงมากเพราะของวิเศษส่วนใหญ่เป็นเพียงของเล่นในโลกอนาคต

รายละเอียดต่างๆของเรื่องนี้ถูกเปลี่ยนแปลงหลายรอบ ตราบเท่าที่ยังพิมพ์อยู่ บางทีสิ่งที่แอนิเมชันเพิ่มเติมเข้ามาอาจไม่ตรงกับต้นฉบับ บางทีการ์ตูนเสริมที่ควรจะอธิบายเรื่องต่างๆให้เคลียร์กลับทำให้งงมากขึ้น และบางทีแม้แต่ตัวการ์ตูนที่ อ. เขียนเองก็ยังแย้งกันเอง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องครับ ออกฮาด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างเช่น โดราเอม่อนเป่ายิงฉุบ Smiley




ตัวละครที่ปรากฏตัวในเรื่อง

นอกจากแก๊งค์โนบิตะแล้ว ยังอีกมีหลายๆตัวละครเป็นขาประจำที่ปรากฏตัวในเรื่องบ่อยๆ แม้จะไม่ได้มีบทโดดเด่นอะไร เช่นคู่หูอ้วนผอม ฮารุโอะและยาซุโอะ, คุณโคอิเขะที่ออกมากินบะหมี่, คุณคามินาริแสนดุ, คุณครู รวมทั้งญาติๆของตัวละครหลักทั้งหลาย

คุณโยโกยาม่า ยาสุยุกิ ได้ทำข้อมูลจำนวนครั้งที่ตัวละครต่างๆปรากฏตัวขึ้น ลงในหนังสือ "ความลับแห่งโดราเอม่อน" โดยได้นับข้อมูลจากเฉพาะในชุด 45 เล่ม และตอนพิเศษ 17 ตอน ได้ผล 20 ตัวละครที่ปรากฏตัวบ่อยที่สุดดังนี้ครับ

อันดับ 1 - โนบิ โนบิตะ ปรากฏตัวครบทั้ง 840 ตอน เพราะเป็นตัวเอกของเรื่อง
อันดับ 2 - โดราเอม่อน ไม่ได้ปรากฏตัวในตอนที่โดรามีแสดงนำ
อันดับ 3 - โกดะ ทาเคชิ (ไจแอนท์)
อันดับ 4 - โฮเนคาวะ ซูเนโอะ
อันดับ 5 - มินาโมโตะ ชิซุกะ
อันดับ 6 - โนบิ ทามาโกะ แม่ของโนบิตะ
อันดับ 7 - โนบิ โนบิซุเกะ พ่อของโนบิตะ
อันดับ 8 - ครูของโนบิตะ
อันดับ 9 - ยาซุโอะ เด็กใส่หมวก เพื่อนร่วมชั้นของโนบิตะที่ออกมาบ่อยๆ
อันดับ 10 - ฮารุโอะ เด็กอ้วน เพื่อนร่วมชั้นของโนบิตะที่ออกมาบ่อยๆ
อันดับ 11 - ฮิเดโตชิ เดคิซุงิ กว่าจะปรากฏตัวขึ้นมาเป็นคู่แข่งความรักของโนบิตะก็ล่อไปปี 1979 ทำให้มีจำนวนตอนน้อยกว่าที่คิด
อันดับ 12 - แม่ของไจแอนท์
อันดับ 13 - แม่ของซูเนโอะ
อันดับ 14 - แม่ของชิซุกะ
อันดับ 15 - มาซามิ เพื่อนร่วมชั้นของโนบิตะ
อันดับ 16 - โดรามี
อันดับ 17 - คุณคามินาริ ลุงแก่ที่แก๊งค์โนบิตะมักไปทำกระจกแตกหรือทำบอนไซแกพังอยู่เรื่อย (ข้อควรจำ: แกมีหลานสาวสวย)
อันดับ 18 - คุณอาโนบิโร่ น้องของพ่อโนบิตะ ให้แต๊ะเอียมาก และเป็นคนผจญภัยบ่อย
อันดับ 19 - ไจโกะ น้องสาวของไจแอนท์
อันดับ 20 - ย่าของโนบิตะ



ทีแรกผมนึกไม่ออกว่ามาซามิเนี่ยใคร เมื่อปี 53 เคยตั้งกระทู้ถามในพันทิปไปหนหนึ่งก็ได้คุณ Naruno และคุณ EnDiMioN มาช่วยไขข้อข้องใจ ทำให้หารูปทุกคนมาทำตารางนี้ได้ในที่สุดครับ

หลายๆตัวละครเช่นคามินาริและโคอิเขะนั้นเคยปรากฏตัวในผลงานอื่นๆมาก่อน นอกจากนี้ยังมีตัวละครจากเรื่องอื่นของ อ.ฟูจิโมโตะมาเป็นดารารับเชิญด้วย เช่นซุมิเระ (หรือรู้จักกันในนามปาร์โกะจากเรื่องปาร์แมน), คิวทาโร่, มามิ, เจ้าชายจอมเปิ่น, 19เอม่อน (บรรพบุรุษของ 21เอม่อน) รวมทั้งไคบุซึของ อ.อาบีโกะ ด้วย
อันที่จริงหากนับการปรากฏตัวจากทั้ง 1,345 ตอนแล้ว เซวาชิน่าจะติดอันดับได้ไม่ยาก เพราะเฉพาะการปรากฏตัวในตอนแรกสุดทั้ง 6 เวอร์ชั่นก็ล่อเข้าไป 6 ตอนแล้ว แต่เนื่องจากข้อมูลนี้นับเฉพาะ 823 ตอนใน 45 เล่ม + ตอนพิเศษ 17 ตอน เซวาชิจึงถูกคุณย่าแซงไปในที่สุดจ้า

ตอนของโดรามี

ในหลายๆตอนเราจะเห็นโดรามีเป็นตัวละครสนับสนุนโนบิตะแทนโดราเอม่อน และในตอนพวกนั้นจะไม่มีซูเนโอะ แต่เป็นตัวละครปากแหลมชื่อซุรุกิ อีกทั้งรายละเอียดหลายๆอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเรื่องโดราเอม่อนปกติ

แท้จริงแล้วตอนเหล่านี้มาจากซีรี่ยส์ "โดรามีจัง" ที่ลงใน Shougakusei Book ซึ่งซีรี่ยส์นี้เป็นซีรี่ยส์คู่ขนานของโดราเอม่อนครับ ตัวเอกจริงๆแล้วไม่ใช่โนบิตะ แต่เป็นโนบิทาโร่ ญาติห่างๆของโนบิตะ ตัวละครที่คล้ายไจแอนท์ท์ชื่อคาบาตะ ตัวละครที่คล้ายชิซูกะชื่อมิโยะ และมีโดรามีเข้ามาแทนที่โดราเอม่อน ซุรุกิเข้ามาแทนที่ซูเนโอะ แต่เมื่อนำมารวมในฉบับรวมเล่ม ได้ทำการดัดแปลงให้เป็นตัวละครเรื่องโดราเอม่อนปกติ ยกเว้นซุรุกิที่จะแปลงให้เป็นซูเนโอะก็คงไม่ไหว ด้วยเหตุนี้ซูเนโอะจึงหายสาบสูญไปในตอนดังกล่าวให้พวกเราเฝ้าคิดถึง และ อ.ฟูจิโมโตะ ได้เขียนหน้าแทรกไว้ในรวมเล่ม 4 ว่าโดรามีมาทำหน้าที่แทนโดราเอม่อนชั่วคราว เพราะพี่ชายต้องการพักผ่อน จากนั้นก็เริ่มตอน "ผจญภัยใต้สมุทร" ซึ่งจริงๆแล้วมาจากซีรี่ยส์โดรามีจังนั่นแหละ อ้อ ซีรี่ยส์โดรามีจังนี้นับรวมใน 1,345 ตอนของโดราเอม่อนนะครับ

ก่อนจะมีซีรี่ยส์เป็นของตัวเองนั้น โดรามีปรากฏตัวในเรื่องโดราเอม่อนครั้งแรกในปี 1973 ตอน "ไปปิ๊คนิคกันเถอะ" (ไม่ได้รวมเล่ม) ซึ่งโดรามีโผล่มาจากลิ้นชัก เพื่อบังคับให้โดราเอม่อนไปพักผ่อนแล้วมาทำหน้าที่แทนชั่วคราว โดรามีช่วงแรกๆนั้นป่าเถื่อนและชอบใช้กำลัง ซึ่งโดราเอม่อนผู้เป็นพี่ชายก็ไม่กล้าขัดขืนเพราะเธอมีกำลังถึงหมื่นแรงม้า (โดราเอม่อนมีกำลังแค่ 129.3 แรงม้า) ส่วนความชำนาญในการใช้ของวิเศษนั้นแย่กว่าโดราเอม่อนเสียอีก

แต่ช่วงหลังๆโดรามีได้มาปรากฏตัวในซีรี่ยส์โดราเอม่อนจริงๆ (ไม่ใช่ซีรี่ยส์โดรามีจัง) อีกครั้ง ในฐานะตัวละครที่จะมาช่วยเหลือโนบิตะเป็นครั้งคราว เช่นตอนที่เซวาชิต้องการส่งโดรามีมาดูแลโนบิตะแทนโดราเอม่อน ตอนเข้าไปรักษาโดราเอม่อนที่เครื่องรวน ตอนช่วยเหลือโนบิตะเรื่องความรัก และอีกหลายๆตอนรวมถึงในตอนพิเศษด้วย จะเห็นว่าโดรามีในช่วงหลังๆสุภาพเรียบร้อยและใช้ของวิเศษเก่งผิดกับช่วงแรกๆ

ดีไซน์แรกของโดรามีก็ตามที่เห็นในรูปด้านล่างครับ ลงโฆษณาไว้ในฉบับนักเรียน ป.4 เดือน มี.ค. 1973 เพื่อบอกว่าในนิตยสารนักเรียน ป.5 ฉบับหน้า (เม.ย. 1973 - เด็ก ป.4 จะเปลี่ยนไปอ่านฉบับของ ป.5 ตามที่อธิบายไว้ด้านบน) โดรามีจะมาปรากฏตัวแล้วนะ ซึ่งพอออกมาในตอน "ไปปิ๊คนิคกันเถอะ" ก็เปลี่ยนดีไซน์เป็นดังที่เห็นในปัจจุบัน




ความเปลี่ยนแปลงของตัวละคร

นอกจากโดรามีแล้ว ตัวละครอื่นๆจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงแรกๆที่พิมพ์หลายอย่าง เรียกว่า อ. ค่อยๆปรับลักษณะนิสัย รวมทั้งข้อมูลความสัมพันธ์ต่างๆ ของตัวละครให้เหมาะสมกับเรื่องมาจนกระทั่งลงตัวในที่สุด

โดราเอม่อนในตอนแรกๆนั้นมีคุณสมบัติแตกต่างจากในปัจจุบันหลายประการ เช่น เมื่อดึงหางแล้วจะหายตัว (ปัจจุบันดึงหางแล้วหยุดการทำงาน), มักติดคอปเตอร์ไม้ไผ่ที่กลางหลังแทนการติดบนหัว, หัวเล็กรูปร่างอ้วนกว่าปัจจุบัน แถมยังก่อปัญหาให้โนบิตะต้องคอยตามแก้บ่อยๆซะอีก สำหรับกระพรวนเรียกแมวที่เสียอยู่นั้น ตอนหลังๆได้เปลี่ยนเป็นกล้องถ่ายรูปขนาดเล็ก


แม่โนบิตะในตอนแรกๆจะใจดีและคอยโอ๋โนบิตะ แต่ต่อมาจะกลายเป็นคุณแม่แสนเข้มงวด ซึ่งก็เหมาะสมกับการบริหารโนบิตะที่ไม่เอาไหนให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น คุณพ่อของโนบิตะในตอนแรกใช้ชื่อว่าโนบิโซ แต่เปลี่ยนเป็นโนบิซุเกะภายหลัง และคุณพ่อนั้นมีพี่น้องออกมาหลายคน ทั้งสารพัดน้องชายพี่ชาย แถมยังมีน้องสาวอีก สุดท้ายก็กำหนดให้คุณอาโนบิโร่ เป็นน้องชายเพียงหนึ่งเดียวของคุณพ่อไป ในตอนแรกๆ ตัวโกงหลักที่คอยกลั่นแกล้งโนบิตะคือซูเนโอะครับ ไจแอนท์เป็นเพียงลูกไล่ที่มีแต่กำลัง ไม่มีบารมี จนพิมพ์ไปได้สักพักหนึ่งก็เปลี่ยนเอาไจแอนท์เป็นหัวโจกและซูเนโอะกลายเป็นลูกน้องของไจแอนท์ไป ชิซุกะช่วงหลังๆจะแสดงความเป็นนางเอกผู้แสนโอบอ้อมอารีย์มากขึ้น จากช่วงแรกๆที่เหมือนเด็กทั่วไปที่ถูกซูเนโอะเอาของน่าสนใจมาล่อง่ายๆ และมักหัวเราะเยาะโนบิตะเหมือนกับคนอื่นๆ ก็เปลี่ยนเป็นคนที่คอยปกป้องและเห็นใจโนบิตะมากขึ้น ในตอนแรกๆเธอใช้ชื่อว่า "ชิซุโกะ" ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชิซุกะในปี 1972 ทำให้ไพเรทหลายๆฉบับเรียกเธอว่าชิซูโกะมาตลอดด้วย ไจโกะที่โผล่มาในช่วงแรกนั้นเป็นผู้หญิงน่าเกลียดโหดร้าย (ฉากที่ตะโกนล้อโนบิตะว่า "เย้ โดนแขวนคอๆ" มันหลอนมากนะครับ) แต่หลังจากกลับมาในช่วงหลังๆก็กลายเป็นคุณน้องที่ทุ่มเทให้กับงานการ์ตูน และคอยห้ามปรามไม่ให้พี่ชายใช้กำลังกับคนอื่นๆ ตอนแรกที่ไจโกะกลับมานั้น เธอแอบมาเฝ้าดูโนบิตะ... เพื่อเอาไปเป็นแบบการ์ตูนตลกเท่านั้นเอง นั่นแสดงให้เห็นว่าไจโกะไม่ได้สนใจในตัวโนบิตะแบบที่โนบิตะเคยกลัวแล้ว


ซูเนโอะมีน้องชายคนหนึ่งชื่อซูเนสึกุ ซึ่งปรากฎตัวออกมาในตอนแรกๆ แต่ก็หายไปนานจนกระทั่งกลับมาอีกครั้งในตอน "ซูเนโอะคือพี่ชายในอุดมคติ" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1984 บอกไว้ว่าสาเหตุที่หายไปเป็นเพราะคุณลุงที่นิวยอร์คขอรับตัวไปเลี้ยงนั่นเอง สำหรับช่วงเวลาตามเนื้อเรื่องคงไม่สามารถบอกได้ว่าซูเนสึกุหายตัวไปนานแค่ไหน แต่สำหรับคนอ่านแล้ว นี่คือการกลับมาอีกครั้งหลังจากน้องชายคนนี้หายตัวไปถึง 14 ปี! ในช่วงแรกๆซูเนสึกุจะขี้แกล้งเหมือนซูเนโอะ แต่เป็นแบบเด็กๆและมีชั้นเชิงการแกล้งด้อยกว่าพี่ชาย แต่ในตอนที่เขากลับมาอีกครั้งนี้ ซูเนสึกุเป็นมิตรกับเพื่อนๆของซูเนโอะทุกคน และอยู่ในฐานะน้องชายที่เคารพพี่ เพราะพี่ชายมักจดหมายไปโม้ให้ฟังถึงความเก่งกาจของตัวเองเสมอ




ตอนจบของโดราเอม่อน

เมื่อราวๆ 10 ปีก่อนตอนจบของโดราเอม่อนเป็นที่สงสัยและเป็นกระทู้ยอดนิยมพอๆกับกระทู้โทบิในช่วงนี้ เพราะแฟนหลายๆคนสงสัยว่าตอนจบของโดราเอม่อนเป็นอย่างไรกันแน่? มีกระแสที่สร้างตอนจบขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่ให้โนบิตะนอนป่วยอยู่โรงพยาบาลและโดราเอม่อนเป็นเพียงความฝันที่สร้างขึ้นมาเอง หรือเวอร์ชั่นที่โดราเอม่อนเสีย โนบิตะจึงตั้งใจเรียนและกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ซ่อมโดราเอม่อนได้สำเร็จ ซึ่งก็ไม่ใช่ตอนจบของจริงทั้งสองแบบ

ความจริงก็คือตอนจบที่ อ.เขียนนั้นมีจริงๆ แต่เป็นเพียงการจบจากหัวนิตยสารที่ตีพิมพ์บางเล่ม เพื่ออำลาน้องๆในชั้นปีนั้น และกลับมาในฉบับต่อไปทันทีครับ โดยการ์ตูนเรื่องนี้ เคยมีตอนจบแล้ว 3 ครั้ง ลงในฉบับเดือน มี.ค. ทั้งหมด ตามที่เล่าไว้ใน #1 ว่าฉบับเดือน มี.ค. เป็นฉบับสุดท้ายของชั้นปีครับ

ครั้งที่ 1 ลง Shogaku 4-nensei ฉบับเดือน มี.ค. 1971 เมื่อพิมพ์ครบ 1 ปี
เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวกาลเวลามาเยี่ยมบ้านโนบิตะและก่อความวุ่นวาย ทำให้เขาบ่นเรื่องแขกที่มาให้โดราเอม่อนฟัง ซึ่งโดราเอม่อนก็บอกว่าตอนนี้รัฐบาลของศตวรรษที่ 22 กำลังจะออกกฎห้ามเดินทางข้ามเวลาแล้ว และนั่นทำให้โดราเอม่อนต้องลากลับโลกอนาคต จากลิ้นชักที่มีไทม์แมชชีนก็กลายเป็นเพียงลิ้นชักโต๊ะธรรมดาๆ ทุกครั้งที่เปิดลิ้นชัก โนบิตะจะคิดถึงโดราเอม่อนเสมอ
ครั้งที่ 2 ลง Shogaku 4-nensei ฉบับเดือน มี.ค. 1972 เมื่อพิมพ์ครบ 2 ปี ตอนนี้เขียนต่อจากตอน "เจ้าสาวของโนบิตะ" ที่ลง Shogaku 4-nensei ฉบับเดือน ก.พ. 1972 ซึ่งเปิดเผยว่าสุดท้ายแล้วโนบิตะจะได้แต่งงานกับชิซุกะ เรียกได้ว่าโดราเอม่อนได้ทำหน้าที่สำคัญสำเร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว
เซวาชิเป็นห่วงว่าการที่โนบิตะพึ่งพาโดราเอม่อนมากเกินไปจะทำให้เขาทำอะไรไม่เป็น จึงเรียกโดราเอม่อนกลับโลกอนาคต ทีแรกโนบิตะไม่ยอม โดราเอม่อนจึงต้องแกล้งทำเป็นเครื่องยนต์ขัดข้อง ทำให้โนบิตะต้องขอให้เซวาชินำตัวเขากลับไปซ่อมที่ศตวรรษที่ 22 โนบิตะสัญญากับโดราเอม่อนว่าต่อจากนี้เขาจะพยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง
ครั้งที่ 3 ตอน "ลาก่อนโดราเอม่อน" ลง Shogaku 3-nensei ฉบับเดือน มี.ค. 1974 และต่อด้วยตอน "โดราเอม่อนกลับมา" ลงใน Shogaku 4-nensei ฉบับเดือน เม.ย. 1974 ตอนนี้อยู่ในรวมเล่ม 6 ตอนสุดท้าย และเป็นตอนจบเวอร์ชั่นเดียวที่เราได้อ่านกันครับ
โดราเอม่อนมีสาเหตุทำให้ต้องกลับไปโลกอนาคต แต่ก็เป็นห่วงว่าโนบิตะจะลำบาก โนบิตะจึงสัญญาว่าเขาจะจัดการทุกอย่างด้วยตนเองให้ได้ ทั้งสองคนออกมาเดินคุยกันตอนกลางคืน แต่โดราเอม่อนขอแยกตัวไปเพราะไม่อยากให้โนบิตะเห็นตัวเองร้องไห้ คืนนั้นไจแอนท์เดินละเมอออกมาและโนบิตะเผลอไปหัวเราะเข้า ทำให้ไจแอนท์ตื่นมาอัดโนบิตะ การต่อสู้ครั้งนี้โนบิตะบอกกับไจแอนท์ว่าจะไม่ให้โดราเอม่อนต้องเข้ามายุ่งด้วย แล้วเขาก็ฮึดสู้จนไจแอนท์ต้องยอมแพ้ไปในที่สุด โดราเอม่อนมาพบโนบิตะที่สะบักสะบอม แต่เขาก็บอกกับโดราเอม่อนว่า "เห็นมั้ยโดราเอม่อน ฉันชนะด้วยตัวของฉันเองแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงฉันแล้วกลับไปเถอะนะ..." โดราเอม่อนพยุงโนบิตะกลับบ้าน เขาเฝ้าโนบิตะอยู่จนเช้าแล้วก็กลับโลกอนาคตไป
ว่ากันว่าตอน "ลาก่อนโดราเอม่อน" นี้ ในทีแรกตั้งใจจะให้เป็นตอนจบที่แท้จริง เนื่องจากการ์ตูนทีวีได้จบลงและคู่หู Fujiko Fujio ต้องเขียนผลงานชิ้นใหม่ เรื่อง "บาเครุ" "แฝดสลับยุค" และผลงานใหม่ที่ยังไม่ได้คิดอีก 2 เรื่อง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเขียนโดราเอม่อนนี่แหละ

หลังจากนั้นโดราเอม่อนก็ไม่มีตอนจบอีกเลยครับ อ.ฟูจิโมโตะเคยให้สัมภาษณ์ว่า "พอต้องคิดถึงเรื่องใหม่ทีไร ผมก็จะต้องวนกลับมาหาโดราเอม่อนทุกที"



ภาพตอนจบทั้งสามแบบ จากหนังสือ "ไขความลับของโดเรมอน" ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์


ไทม์ไลน์ของโดราเอม่อน

3 ก.ย. 2112 โดราเอม่อนถูกสร้างขึ้นที่โรงงานประกอบหุ่นยนต์มัตสึชิบะ แต่สภาพไม่สมบูรณ์จึงถูกขายเลหลัง

19 ม.ค. 2115 โดราเอม่อนมาอยู่ที่บ้านของเซวาชิ ลื่อของโนบิตะ

7 มี.ค. 2119 ไปเดินทางไกลกับโนราเมียโกะ หุ่นยนต์แมวแฟนสาว

30 ส.ค. 2122 นอนกลางวันและถูกหนูแทะหูแหว่ง ทำให้เกลียดหนูมาตั้งแต่นั้น

2 ก.ย. 2122 โนราเมียโกะมาเยี่ยม แต่เมื่อเห็นโดราเอม่อนหัวโล้นก็หัวเราะไม่หยุด

ธ.ค. 2122 ถูกโนราเมียโกะบอกเลิก เพราะเธอไม่ชอบหุ่นยนต์แมวที่ไม่มีหู ด้วยความเครียดทำให้จากลำตัวที่เคยมีสีเหลืองก็กลายเป็นสีน้ำเงิน



จากนั้นโดราเอม่อนได้เดินทางมายังยุคของโนบิตะ เพื่อทำให้โนบิตะมีชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานจะได้ไม่ลำบาก และเซวาชิจะได้มีเงินซ่อมแซมหูให้เขา หากนับตั้งแต่วันที่สร้างแล้ว เท่ากับโดราเอม่อนมีอายุ 10 ขวบ เท่ากับโนบิตะ


สำหรับโดรามี เกิดวันที่ 2 ธ.ค. 2114 หลังจากโดราเอม่อนสองปี ในการ์ตูนเสริมฉบับ Hyakka บอกว่าผู้สร้างให้เป็นน้องสาวของโดราเอม่อนเพราะใช้น้ำมันหล่อลื่นกระป๋องเดียวกัน แต่โดรามีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะน้ำมันที่ใช้อยู่ก้นกระป๋อง ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า (เป็นเหตุผลที่ห่วยสิ้นดี)
โดรามีได้พบโดราเอม่อนครั้งแรกในวันที่ 1 ม.ค. 2115 ในตอนแรกนั้นเมื่อโดราเอม่อนรู้ว่าโดรามีถูกสร้างขึ้นมาปลอบใจตัวเองที่ถูกหนูแทะหูก็ดีใจมาก แต่โดรามีดันมีหู ไม่เหมือนกับตัวเองที่หัวล้าน ทำให้โดราเอม่อนงอน ภายหลังเธอจึงเปลี่ยนจากหูเป็นโบว์
...ซึ่งเรื่องของโดรามีที่ว่ามาทั้งหมดมาจากการ์ตูนเสริมชุด Hyakka ซึ่งเขียนส่งเดชอย่างที่ว่าไป และไม่ได้สอดคล้องกับไทม์ไลน์ของโดราเอม่อนเลย ดังนั้นไม่ต้องสนใจก็ได้ครับ


ประวัติชีวิตของโดราเอม่อนได้ถูกสร้างเป็นแอนิเมชัน "2112 กำเนิดโดราเอม่อน" ในปี 1995 ความยาว 30 นาที ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลายจุด แต่ก็ช่วยอธิบายหลายๆเรื่องเพิ่มเติมได้มาก และเนื้อเรื่องก็น่าประทับใจมากขึ้นด้วย

โดราเอม่อนถูกสร้างขึ้นที่โรงงานหุ่นยนต์มัทสึชิบะในศตวรรษที่ 22 แบบแมสโปรดัคต์ แต่เจาเป็นตัวเดียวที่ถูกลูกหลงจากการไล่ล่านักล่าไดโนเสาร์ ทำให้เสียตั้งแต่ตอนสร้าง น็อตหลุดไปตัวนึง และมีนิสัยแตกต่างจากตัวอื่นๆไป โดราเอม่อนกระเด็นเกือบตกลงไปในเตาหลอมขยะ โชคดีที่โนราเมียโกะ หุ่นยนต์แมวสาวสวยนักเต้นรำมาช่วยเอาไว้ได้

ในโรงเรียนฝึกสอนหุ่นยนต์ โดราเอม่อนมีผลการฝึกย่ำแย่ และเนื่องจากโดราเอม่อนผิดแผกไปจากหุ่นรุ่นเดียวกันตัวอื่นๆ เขาจึงถูกส่งไปเรียนแยกในห้องเรียนหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว



วันหนึ่งโนราเมียโกะได้นำโดรายากิให้โดราเอม่อนกินเพื่อให้กำลังใจเขา ทำให้โดรายากิกลายเป็นของโปรดของเขามาตั้งแต่นั้น



และแล้วก็มาถึงวันออดิชั่น ซึ่งการซื้อขายหุ่นยนต์ที่เรียนจบจากโรงเรียนฝึกหุ่นยนต์นี้ จะทำโรบอตออดิชั่นถ่ายทอดไปทั่วประเทศ หากใครสนใจจะซื้อหุ่นยนต์ตัวไหน ให้กดแจ้งความจำนงเข้ามา ซึ่งโดราเอม่อนนั้นแสดงความสามารถในฐานะพี่เลี้ยงเด็กได้น่าผิดหวัง แต่เซวาชิซึ่งตอนนั้นยังเป็นทารก ได้เผลอไปกดปุ่มซื้อโดราเอม่อนเข้า

ถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่ทารกเซวาชิก็ติดใจโดราเอม่อนที่แสนน่ารักและใจดีเข้าแล้ว เขาจึงได้อยู่บ้านโนบิพร้อมเลี้ยงดูเซวาชิเรื่อยมา



เวลาผ่านไปหลายปี เซวาชิเติบโตขึ้น เขาต้องการปั้นดินน้ำมันเป็นของขวัญให้โดราเอม่อน แต่ปั้นหูไม่ค่อยเหมือนเลยใช้หุ่นยนต์หนูเพื่อทำให้เหมือนตัวจริง แต่หุ่นยนต์หนูเข้าใจผิด เลยไปแทะหูตัวจริงให้แหว่งเหมือนดินน้ำมัน



เมื่อเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาหู โดราเอม่อนเผลอจามใส่ทำให้หมอกดปุ่มผิด เครื่องมือทำงานผิดพลาด จนหูถูกตัดหายไปหมด เหลือแต่หัวเจ๊งเหม่ง แถมยังถูกโนราเมียโกะที่มาเยี่ยมหัวเราะเยาะเข้าอีก



โดราเอม่อนพยายามลืมความเศร้าและกินยาทำให้ร่าเริง แต่ดันหยิบผิดไปกินยาโศกเศร้าเข้า ทำให้ยิ่งเศร้าหนักกว่าเดิม เขาร้องไห้ข้ามวันข้ามคืน จนวงจรช็อต สีตัวที่เคยมีสีเหลืองหลุดลอกเป็นสีน้ำเงิน เสียงที่เคยเล็กแหลมก็แหบเป็นเสียงโดราเอม่อนที่เราคุ้นเคย



โดราเอม่อนได้พบโดรามีที่ชายหาดแห่งหนึ่ง เธอถูกสร้างขึ้นเป็นน้องสาวของโดราเอม่อนโดยเฉพาะ โดรามีบอกให้รู้ว่าเซวาชิได้ออกตามหาโดราเอม่อนจนหายตัวไป



โดราเอม่อนจะกินยาร่าเริง แต่ก็หยิบยาผิดอีกรอบ หนนี้กินยาเร่งความเร็วเข้าไป แต่ก็ทำให้เขามีส่วนช่วยในการจับตัวนักล่าไดโนเสาร์ได้แบบฟลุ๊คๆ และช่วยเซวาชิที่ถูกจับเป็นตัวประกันไว้ได้

เซวาชิได้กลับมาพบโดราเอม่อนอีกครั้ง แม้จะเปลี่ยนไปมากแต่เขาก็ยังจำหุ่นยนต์ไม่เอาไหนที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กได้แม่นยำ "จำได้สิ แถมยังหล่อขึ้นซะอีก"



โดรามีและโนราเมียโกะมาหาทั้งสองคน โนราเมียโกะขอโทษที่หัวเราะเยาะโดราเอม่อนจนกรามค้าง แถมบอกว่าทั้งสีและเสียงของโดราเอม่อนดูดีขึ้นกว่าเดิมจนเธอชอบเขามากขึ้นไปอีก

แล้วก็มาถึงเทศกาลคริสต์มาส เซวาชิมอบตุ๊กตาโดราเอม่อนให้เป็นของขวัญคริสต์มาส แต่โดราเอม่อนไม่มีของจะมอบให้ ซึ่งเซวาชิได้บอกว่าการที่โดราเอม่อนเป็นเพื่อนกับเขาตลอดไปนั่นคือของขวัญที่วิเศษที่สุดแล้ว นอกจากนี้โรงงานหุ่นยนต์ยังได้ผลิตมินิโดร่าให้รูปร่างเหมือนโดราเอม่อน เพื่อตอบแทนที่เขาช่วยตำรวจกาลเวลาจับนักล่าไดโนเสาร์ได้



หลังจบงานฉลอง เซวาชิได้ส่งโดราเอม่อนมาช่วยเหลือโนบิตะ ทวดของเขาในศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นของขวัญคริสต์มาส

นับว่าตอนนี้ช่วยอธิบายหลายๆอย่างที่ต้นฉบับไม่เคยอธิบายไว้ เช่นเรื่องรูปร่างของมินิโดร่าที่เหมือนกับโดราเอม่อน ทั้งที่ตอนแรกโดราเอม่อนมีหู หรือเรื่องความประทับใจที่มีต่อโดรายากิ แต่บางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างขั้นตอนการสร้างโดราเอม่อนผมก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เพราะมันดูเป็นการ์ตูนเกินไป (เช่น ลำตัวเป็นผ้าห่อโครงเหล็กไว้ และสีเหลืองของลำตัวมาจากไข่อบ ส่วนจมูกสีแดงเป็นลูกเชอรี่)

ตอนนี้ยังเป็นแอนิเมชันแรกที่พวกเพื่อนๆแก๊งค์โดราเอม่อน อย่างโดราเดอะคิด, โดรานิคอฟ และคนอื่นๆ ปรากฏตัวขึ้นหลังเคยปรากฏตัวในเกม 3DO และมังงะของ อ.โดเม ทานากะ และตอนนี้ยังได้รวมเนื้อหาเข้ากับเรื่อง "กำเนิดโดราเอม่อน" ซึ่งเป็นการ์ตูนพิเศษลงในโคโระโคโระ คอมิคส์ ดีลักซ์ ปี 1978 เนื้อเรื่องเขียนถึงตอนที่ อ.ฟูจิโมโตะ คิดเรื่องโดราเอม่อนครั้งแรกด้วย



เราจะเห็นว่าโดราเอม่อนนั้นมีความผูกพันกับเซวาชิมาก แม้จะถูกส่งมาดูแลโนบิตะ แต่เมื่อโนบิตะเติบโตเข้มแข็งได้แล้ว โดราเอม่อนก็จะได้กลับไปยังโลกอนาคตที่มีเซวาชิคนที่อยู่กับเขามาทั้งชีวิต, โดรามีน้องสาวที่น่ารัก, โนราเมียโกะรักแรก และเพื่อนๆแก๊งค์เดียวกันรออยู่ ในตอนจบแบบที่ 3 คุณแม่เคยบอกกับโนบิตะตอนที่โดราเอม่อนจะต้องกลับโลกอนาคตว่า "โดราเอม่อนเขาก็มีชีวิตของเขา" เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องเข้มแข็งเพื่อให้โดราเอม่อนได้ใช้ชีวิตของตัวเองเสียที โนบิตะก็พยายามทำทุกอย่างให้โดราเอม่อนกลับโลกอนาคตไปอย่างหมดห่วง ผมคิดว่าต่อให้ตอนจบของโดราเอม่อนมีเวอร์ชั่นที่เป็นตอนจบสุดท้ายจริงๆ เนื้อหาก็คงไม่ต่างจากตอนจบแบบที่ 3 นี้สักเท่าไหร่

มีครั้งหนึ่งที่เซวาชิเห็นว่าการดูแลของโดราเอม่อนไม่ค่อยได้ผล เพราะไม่ช่วยให้โนบิตะเติบโตขึ้นในทางดีนัก จึงส่งโดรามีมาดูแลโนบิตะแทนชั่วคราว ซึ่งโดรามีก็ทำได้ดีมาก แต่สุดท้ายแล้วเมื่อรู้ว่าโดราเอม่อนจะต้องกลับโลกอนาคต โนบิตะถึงกับกระโดดกอดโดราเอม่อนไว้ ไม่ยอมให้เซวาชิพาตัวเขากลับไป โนบิตะเลือกที่จะอยู่กับโดราเอม่อนเท่านั้น และเขาสัญญาว่าจะทำตัวดีไม่ให้โดราเอม่อนต้องเสียใจ

เรียกได้ว่าทั้งสองคนนี้เติบโตและมีพัฒนาการไปพร้อมๆกัน จากบล็อกที่แล้วเราได้เห็นกันแล้วว่าชีวิตของโนบิตะนั้นเติบโตขึ้นอย่างไร สำหรับโดราเอม่อนที่ล้มเหลวมาเกือบทั้งชีวิต แต่สุดท้ายก็มีคนยอมรับและให้โอกาสเขาอย่างเซวาชิและโนบิตะอยู่ นั่นทำให้โดราเอม่อนต้องการช่วยเหลือเพื่อนคนนี้ให้เติบโตขึ้น และเมื่อมาส่งโนบิตะถึงฝั่งแล้วเท่านั้น เขาจึงจะสามารถกลับโลกอนาคตได้

เกร็ดอื่นๆที่น่าสนใจ

ในฉบับรวมเล่มชุดต่างๆรวมทั้งในตอนยาวพิเศษนั้น โนบิตะถูกกำหนดให้อยู่ ป.4 และความสูงของโดราเอม่อน 129.3 ซม. ก็เป็นค่าเฉลี่ยความสูงของเด็ก ป.4 ในญี่ปุ่นจากสถิติจริงด้วย และด้วยการที่โดราเอม่อนมี 1293 เป็นเลขประจำตัวนี้ ทำให้ผู้เขียนกำหนดให้โดราเอม่อนเกิดวันที่ 3 ก.ย. 2112 ซะเลย (คนญี่ปุ่นจะอ่านวันที่ตามลำดับ ปี-เดือน-วัน) สาเหตุที่ อ.ฟูจิโมโตะออกแบบไม่ให้โดราเอม่อนมีหูเพราะหากเขียนเหมือนแมวมากเกินไปจะดูน่ากลัวเหมือนแมวผี (ตอนตกหลุมรักแมวตัวเมียหนหนึ่งโดราเอม่อนเคยลองติดหูดูเพื่อให้ตัวเองดูเหมือนแมว แต่โนบิตะมาเห็นเข้าก็ตกใจกลัว คิดว่าเป็นแมวผี) ส่วนสาเหตุที่ตัวสีน้ำเงินเพราะปกหนังสือนิตยสารเพื่อการศึกษาซึ่งเรื่องโดราเอม่อนลงอยู่นั้นจะใช้สีเหลืองเป็นสีพื้น และใช้โลโก้ชื่อเรื่องเป็นสีแดง จึงให้โดราเอม่อนตัวสีน้ำเงินเพื่อตัดกับอีกสองสีหลักนั้น ในตอนแรกสุดนั้นโดราเอม่อนได้กินขนมโมจิที่บ้านของโนบิตะ ไม่ใช่โดรายากิ พอหลังจากพิมพ์ไปสักพักจึงกำหนดให้โดรายากิเป็นของโปรดของโดราเอม่อน และในอนิเมชั่นตอน "กำเนิดโดราเอม่อน 2112" ก็เพิ่มเติมเนื้อหาว่าโดรายากิชิ้นแรกที่โดราเอม่อนได้ทานนั้น โนราเมียโกะหุ่นยนต์แมวสาวสวยในโลกอนาคตเป็นคนเอามาให้ จากเพลงเปิดแอนิเมชันโดราเอม่อน "อั๊ง อัง อั่ง โตเตโม เดอิสุคิ โดระเอมอหงื่อ" ...คำว่า "อัง" คือถั่วแดงกวนครับ โดรายากิไส้ถั่วแดงกวนเป็นของโปรดของโดราเอม่อน นับว่าการ์ตูนเรื่องนี้ช่วยโปรโมทของกินของญี่ปุ่นในช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกกำลังเข้ามาแรงในญี่ปุ่นด้วย จากชุด 45 เล่ม + ตอนพิเศษ 17 เล่ม ของวิเศษที่ใช้บ่อยที่สุดคือคอปเตอร์ไม้ไผ่ ซึ่งมีตอนที่นำมาใช้ 263 ตอน รองลงมาคือ ไทม์แมชชีน 122 ตอน, ประตูสารพัดสถานที่ 89 ตอน, ไฟฉายย่อส่วนและทีวีกาลเวลา 30 ตอน ในปี 1986 นิตยสารโคโระโคโระ คอมิคส์ ได้จัดการประกวดของวิเศษ ให้ผู้อ่านออกไอเดียของวิเศษชิ้นใหม่ของโดราเอม่อน และ "มินิโดร่า" ของ ด.ช.โอโนะ โคเฮ อายุ 13 ปี ก็ชนะการประกวดของวิเศษครั้งนี้ และได้ปรากฏตัวในฐานะของวิเศษอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1987 ของวิเศษอื่นๆที่ชนะการประกวดและได้ปรากฏตัวในเรื่องเช่น ลำแสงถนน และปากกาหลุมขาว-หลุมดำ ตอนพิเศษตอนแรกที่ลงในนิตยสารคือ "ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" แต่ตอนพิเศษตอนแรกที่มีการรวมเล่มของเท็นโทมุชิ คือตอน "ตะลุยปราสาทใต้สมุทร" ซึ่งเป็นตอนพิเศษลำดับที่ 4 ชื่อจริงของไจโกะนั้น อ. ไม่ตั้งให้ เพราะกลัวว่าหากตั้งชื่อแล้วไปซ้ำกับเด็กผู้หญิงคนไหน เด็กคนนั้นจะถูกเพื่อนๆล้อว่าเป็นยัยไจโกะอ้วนน่าเกลียด (แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้เขียนเป็นอย่างมาก) ส่วนนามปากกาตอนเขียนการ์ตูนของเธอคือ คริสทีน โกดะ โดราเอม่อนใช้เวลาในการหยิบของวิเศษออกจากกระเป๋า 3 วินาที โนบิตะใช้เวลาจากยืนจนกระทั่งหลับสนิทเพียง 0.93 วินาที เป็นสถิติหลับเร็วที่สุดในโลก ชิซุกะชอบอาบน้ำมาก สนพ.โชกากุคัง ได้ทำสถิติจำนวนครั้งการอาบน้ำของชิซุกะ จากชุด 45 เล่มพบว่ามีการอาบน้ำทั้งหมด 25 เล่ม อาบน้ำ 43 ตอน โดยฉากอาบน้ำครั้งแรกสุดนั้น พิมพ์ในปี 1971 ใน 45 เล่ม ไจแอนท์จัดคอนเสิร์ตทั้งหมด 15 ครั้ง ลูกของโนบิตะและชิซุกะคือโนบิซุเกะ เด็กที่เข้มแข็งกล้าหาญ ลูกของซูเนโอะในทีแรกชื่อว่าซูเนทาโร่ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นซูเนคิ ส่วนลูกของไจแอนท์ถูกเรียกว่าไจจิบิ และลูกของเดคิซุงิชื่อฮิเดโยะ


บทความนี้ขอขอบคุณ...
- หนังสือ "ไขความลับของโดเรมอน" ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เรียบเรียงโดย Shogakukan Doraemon-room มีเนื้อหาที่ไม่เคยทราบและน่าสนใจเยอะมาก
- หนังสือ "ความลับแห่งโดราเอมอน เส้นทางสู่การเป็นขวัญใจมหาชน" ของสำนักพิมพ์ sic เขียนโดยโยโกยาม่า ยาสุซุกิ ที่มีข้อมูลสถิติจำนวนตอนและประวัติการตีพิมพ์ต่างๆค่อนข้างละเอียด แต่แปลไทยอ่านไม่รู้เรื่อง
- หนังสือการ์ตูนโดราเอม่อน ฉบับลิขสิทธิ์ของ NED ทั้งชุด 45 เล่ม, ตอนพิเศษ, โดราเอม่อนพลัส, โดราเอม่อนคัลเลอร์และคัลเลอร์สเปเชียล, เปิดกระเป๋าหรรษา
- หนังสือการ์ตูนโดราเอม่อน ฉบับไพเรท ทั้งของวิบูลย์กิจ, มิตรไมตรี, สามดาว, สุภาพ, ยอดธิดา, จัมโบ้, สยามสปอร์ตพรินติ้ง, สยามอินเตอร์คอมิคส์, คิง คอมิคส์, แชมป์ คอมมิค, มิตร คอมมิคส์, คิด คอมมิค, สตาร์ คอมมิค, super comic, หมึกจีน และอนิเมท ที่มีสารพัดรูปเล่ม สารพัดชื่อเรื่อง ทั้งโดราเอม่อน โดเรม่อน ไปจนถึง โดราม่อน (ส่วนไดโรม่อนไม่เกี่ยว) ที่สร้างสรรค์ผลงานให้พวกเราสนุกสนานกันตั้งแต่เด็ก และเปิดโอกาสให้ได้อ่านตอนที่ไม่ได้รวมเล่มในฉบับลิขสิทธิ์หลายๆตอน


Create Date :06 กันยายน 2555 Last Update :23 กรกฎาคม 2560 16:51:25 น. Counter : 24206 Pageviews. Comments :54