สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ
เมื่อโรคอยากผอมระบาดเมือง








ทุกวันนี้ บรรดาสาวๆ ในสังคมเมืองทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่พยายามที่จะลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การกินอาหารลดน้ำหนัก ไปจนถึงการกินยาลดความอ้วน ขอเพียงให้ได้มาซึ่ง “รูปร่างผอมบาง” พวกเธอเป็นยอมทำทุกอย่าง ยิ่งรูปแบบ “แฟชั่น”เสื้อผ้าอาภรณ์ส่วนใหญ่ที่ล้วนแต่เข้ารูป เน้นทรวดทรง จนผลักดันให้บรรดาสาวร่างท้วมทั้งหลาย รู้สึกอับอายและขาดความเชื่อมั่น หันมาหาวิธีลดหุ่นกันจ้าละหวั่น ...แต่ใครบ้างจะรู้ว่า ความอยากผอมที่มากเกินพอดี จะกลายเป็น “ความเจ็บป่วย”ได้


ความ “อยากผอม”กำลังระบาด

รู้หรือไม่ว่า “โรคอยากผอม” ที่หลายคนกำลังประสบอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน”(Eating Disorder) ที่นักจิตวิทยาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน หัวหน้าแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช คาดการณ์ถึงทิศทางของปัญหาความผิดปกติด้านการกินเอาไว้ว่า “ทุกวันนี้ตัวเลขของผู้ป่วยที่มีปัญหาการกินเพิ่มสูงขึ้นครับ ทั้งที่เมื่อก่อนในบ้านเราพบน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศฝั่งตะวันตกมากกว่า แต่ทุกวันนี้ สื่อจากทางตะวันตกเข้ามา ค่านิยมพวกนี้ก็แฝงเข้ามาด้วย โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่คนเริ่มรับเอาความรู้สึกที่ว่า “ผอมคือสวย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”





ต้นเหตุของความอยากผอม

เราสามารถแบ่งสาเหตุที่สนับสนุนให้เกิดโรคได้เป็น 3 ระดับ

1. เจ็บป่วยที่ตัวเรา

2. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แม้ในบ้านเราจะยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง แต่ผลจากการศึกษาในต่างประเทศทำให้พบความสัมพันธ์ที่บ่งชี้ว่า ความผิดปกติด้านการกินนี้ สามารถถ่ายทอดกันทาง “พันธุกรรม” ได้ โดยเด็กที่มารดาหรือญาติใกล้ชิดมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสจะเป็นโรคเดียวกันได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเดียวกันได้มีมากกว่าความสัมพันธ์ในระดับอื่นหลายเท่า และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอยากผอมนั้นมาจากครอบครัวที่มีการศึกษาดีเสียส่วนใหญ่

3. สารเคมีในสมอง และฮอร์โมนผิดปกติ จาการศึกษาของนักวิจัย พบว่าอาการผิดปกติของพฤติกรรมการกินนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสารโคเลซิสโตไคนิน ซีโรโทนิน นอร์อีพิเนฟริน และโดพามีนที่อยู่ในสมองมีระดับที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความพอใจหลังจบมื้ออาหาร ทำให้ผู้กินยังมีความอยากอาหารต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากินต่อไปไม่ไหว กลัวการโตเป็นผู้ใหญ่ กรณีนี้เกิดกับเด็กในช่วงกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่การเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งทำให้เด็กบางคนกลัวว่าจะต้องสูญเสียความสุขในวัยเด็กไป เขาจึงพยายามอดอาหารเพื่อหยุดพัฒนาการทางร่างกายเอาไว้ในขณะที่ยังเป็นเด็กอยู่





เพราะครอบครัวป่วย เราจึงป่วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า “ครอบครัว” คือสังคมแห่งการเรียนรู้ที่แรกของเด็กๆ ทุกคน และมีพ่อแม่ เป็นครูคนแรกที่สอนให้ลูกได้รู้จักการใช้ชีวิตบนโลกกว้าง แต่เพราะพ่อแม่ในบางครอบครัวไม่เข้าใจและไม่ทำตามหน้าที่เหล่านี้ จึงเกิดปัญหา ครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติด้านการกินนี้ ส่วนหนึ่งเติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เอาแต่ทะเลาะเบาะแวงกันให้เห็นเป็นประจำ พวกเขาไม่ชอบ และพยายามแสดงออกถึงความไม่พอใจพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยการควบคุมอาหารตนเองจนซูบผอม

เด็กบางคนอาจใช้วิธีนี้ เพื่อดึงไม่ให้พ่อแม่หย่าร้างกัน นอกจากนี้ มีการสำรวจพบว่า 1 ใน 2-4 ของผู้ป่วยเหล่านี้ อาจเคยตกเป็นเหยื่อของเพศสัมพันธ์ในครอบครัว หรือถูกลวนลามทางเพศ ซึ่งทำให้เด็กมีความเครียดที่สูงมาก และเลือกที่จะจำกัดอาหารตนเอง เพื่อทดแทนที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้

ความไม่เข้าใจในพัฒนาการตามช่วงวัย สาเหตุที่อาการความผิดปกติด้านการกินมักจะเกิดขึ้นในวัยรุ่น เป็นเพราะพวกเขาต้องเจอความยุ่งยากในการข้ามผ่านช่วงวัย จากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น หรือจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ เขาเริ่มมีการเรียนรู้สังคมใหม่ๆ ต้องการความอิสระ และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ ผศ.นพ.พนม ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ในผู้ป่วยโรค อะนอเรกเซีย เนอร์โวซา ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ครอบครัวมักเป็นแรงผลักให้เด็กป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น แม่บางคนชอบเลี้ยงลูกเหมือนเป็นเด็กตลอดเวลา คอยจ้ำจี้จำไชแม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเด็กวัยรุ่นจะไม่ชอบ และจะแสดงการต่อต้านด้วยการทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการหันมาควบคุมการกินของตัวเอง เพราะต้องการให้แม่เห็นว่า เขาโตพอจะควบคุมตัวเองได้แล้ว”

พ่อแม่ที่เข้มงวดจนเกินไป พ่อแม่ที่เข้มงวด มีระเบียบ และคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบของลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกพยายามทำตัวเองให้ “สมบูรณ์แบบ” อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน หน้าที่การงาน บุคลิกภาพและรูปลักษณ์ที่แสดงต่อคนภายนอก ทั้งที่อาจยังไม่มีวุฒิภาวะในการจัดการที่เพียงพอ ความไม่พร้อมเหล่านี้จะแสดงออกมาในรูป “การกลัวความล้มเหลวอย่างไม่สมเหตุสมผล” ยกตัวอย่างเช่น กลัวการสอบเพราะไม่อยากได้คะแนนต่ำ ไม่กล้าไปสัมภาษณ์งานเพราะกลัวถูกปฏิเสธ หรือกลัวที่จะอ้วน เป็นต้น





เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีปัญหา

กินผิด-อยู่ผิด วิถีชีวิตคนเมืองใหญ่ ในขณะที่ผู้คนในบางส่วนของโลก กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร แต่ปัญหาสุขภาพที่คนในสังคมเมืองทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่กำลังประสบอยู่ กลับเป็นเรื่อง การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือที่เราเรียกกันว่า “อ้วน” โดย 2 ปัจจัยสำคัญ อย่างแรก คือ “คนเมืองกินอาหารขยะ” อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และบรรดาฟาสฟูดส์ทั้งหลาย ที่เต็มไปด้วยแป้ง และไขมัน นอกจากนี้ วิถีการใช้ชีวิตแบบเมือง การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย หรือการบริหารเวลาที่เปลี่ยนไป เช่นนอนกลางวัน-ทำงานกลางคืน ทำให้การเผาผลาญพลังงาน และระบบอื่นๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ และนำมาซึ่งความอ้วน และนำมาซึ่งความพยายามในการลดน้ำหนักกันอย่างมโหฬาร

ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ในอดีต เราจะพบผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติด้านการกินในเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องควบคุมน้ำหนักเป็นพิเศษ เช่น อาชีพนางแบบ นักแสดง นักบัลเล่ต์ หรือนักยิมนาสติก แต่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไป เรามีชีวิตที่เน้นการบริโภคเป็นหลัก สื่อต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทสร้างให้ตัวสินค้ามีความหมายทางวัฒนธรรม และมีความสำคัญกับตัวผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมของความงาม ยุคนี้มีทัศนคติในเชิงลบกับคนที่อ้วน เพราะบุคลิกภาพไม่ดี และมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากมาย จึงหันมาให้ความชื่นชมคนที่รูปร่างผอมเพรียวบาง ว่าสวย งดงาม และนำมาซึ่งโอกาสดีๆ ในชีวิต โดยมีตัวอย่างความสำเร็จ เป็นนางแบบ นักแสดง หรือนางงาม ที่ได้ดีเพราะความสวย และรูปร่างดี เป็นจุดเริ่มต้นของการ “เลียนแบบ”ในที่สุด
รู้จัก “โรคอยากผอม”ให้ลึกขึ้น

แม้ว่าอาการของโรคดังกล่าวจะเพิ่งมาปรากฏตัวอย่างชัดเจนไม่ถึงครึ่งศตวรรษ แต่ใครจะรู้บ้างว่า กลุ่มโรคเหล่านี้ถูกค้นพบมากว่า 100 ปี ในยุคโรมันโบราณ ที่สังคมช่วงนั้นกำลังนิยมการจัดงานเลี้ยงฉลองในเทศกาลต่างๆ กลุ่มอาการที่ถูกจัดว่าเป็นโรคอยากผอม แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ





อะนอเรกเซีย เนอร์โวซา

คำว่า “อะนอเรกเซีย” มีความหมายว่า ไม่อยากอาหาร ซึ่งก็ตรงกับลักษณะอาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ คือ จะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกินอาหาร แม้ในความจริงแล้ว พวกเขาจะมีความรู้สึก “หิว”และมีจิตใจที่หมกมุ่นแต่เรื่องอาหารอยู่ตลอดเวลา โดยจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรมแปลกๆ เช่น การสะสมอาหารเป็นจำนวนมาก และซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ ทำอาหารแจกคนรอบตัว แต่ตนเองจะไม่ยอมทาน หรือเลือกทานเฉพาะอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ความผิดปกติทั้งหมด เกิดจากผู้ที่ป่วยเป็นอะนอเรกเซียนั้น มีความเข้าใจที่บิดเบือนไปว่า ตัวเองอ้วนมาก และไม่ว่าจะพยายามลดน้ำหนักได้มากสักเท่าไร ก็ยังมีความรู้สึกกลัวอ้วนอยู่ จึงมองว่า “อาหารคือศัตรู” และนำไปสู่ความพยายามที่จะกำจัดน้ำหนักที่รู้สึกว่าเป็นส่วนเกินนี้ให้หมดไป

วิธีการที่ผู้ป่วยโรคนี้ใช้บ่อยๆ มีทั้ง การพยายามขจัดอาหารที่กินเข้าไปให้ออกมาโดยเร็ว ด้วยการล้วงคอให้อาเจียนออกมา การรับประทานยาขับปัสสาวะ และยาถ่าย หรือความพยายามที่จะใช้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปให้หมด ด้วยการอดอาหารติดต่อกันหลายวัน หรือการพยายามออกกำลังกายอย่างหนัก ติดต่อกันเป็นเวลานาน แม้วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วตามต้องการ แต่ก็นำมาซึ่งอันตรายต่อระบบการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก





ลักษณะอาการที่สังเกตได้

น้ำหนักตัวที่ลดต่ำลงกว่า 20 เปอร์เซนต์ ของน้ำหนักตัวเดิม และมองเห็นได้ว่าดูผ่ายผอมจนน่าใจหาย แต่ไม่ชอบให้ใครพูดถึงรูปร่างของตัวเอง เพราะรู้สึกว่ายังอ้วนอยู่

หลีกเลี่ยงการทานอาหารแทบทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน หรือให้พลังงานสูง และชอบหลบไปรับประทานอาหารคนเดียว

พยายามชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนต่างๆ ของร่างกายวันละหลายครั้ง รวมทั้งลองสวมชุดเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ด้วยกลัวว่าจะคับขึ้น

มีอาการย้ำคิดย้ำทำในบางเรื่อง เช่นล้างมือบ่อยๆ หรือเอาจริงเอาจัง และตั้งใจทำบางสิ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย





บูลิเมีย เนอร์โวซา

ลักษณะที่เด่นของผู้ที่ป่วยเป็นบูลิเมีย เนอร์โวซา คือ เป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีกับอาหาร(ชอบการกินมาก) โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ขนมหวาน เค้ก ไอศกรีม แต่จะเป็นการกินที่ไม่สามารถควบคุม หรือยับยั้งตนเองได้ จะหยุดกินต่อเมื่อถูกขัดจังหวะ หรือรู้สึกอิ่มแน่นจนกินต่อไม่ไหว และมีความรู้สึกผิดที่เสียการควบคุมตัวเอง กับความกลัวอ้วนตามมา ทำให้ตัดสินใจขจัดออกจากร่างกายด้วยวิธีต่างๆ (เหมือนกับ อะนอเรกเซีย เนอร์โวซา)เพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่เช่นเดิมต่อไป ผู้ป่วยบูลิเมียส่วนใหญ่จึงยังคงมีน้ำหนักตัวในระดับที่ปกติ และยังสามารถใช้ชีวิตหรือทำหน้าที่ได้ปกติเช่นเดิม เพียงแต่ภายในจิตใจนั้นจะหมกมุ่นอยู่กับการวางแผนเรื่องการกินตลอดเวลา

นอกจากนี้ มีสถิติกล่าวว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ที่ป่วยเป็นบูลิเมีย เนอร์โวซา นั้นเคยป่วยเป็นอะนอเรกเซียมาก่อน แต่เมื่อค้นพบวิธีการอันไม่เหมาะสมที่จะช่วยรักษาน้ำหนักให้คงที่เท่าเดิมได้ จึงไม่กลัวที่จะกินอีกต่อไป แม้จะรู้ว่าวิธีการดังกล่าวเป็นอันตราย แต่เขาเลือกที่จะป่วยเป็นบูลิเมียดีกว่าเป็นโรคอ้วน


ลักษณะอาการที่สังเกตได้

อาจมีร่างกายผอมบาง แต่มีหน้าท้องยื่นออกมา เนื่องจากการกินอาหารอย่างไม่บันยะบันยังบ่อยๆ ผู้ป่วยส่วนมากกินอาหารไม่เป็นเวลา และมักจะชอบกินอาหารคนเดียวที่บ้าน เพราะความอับอาย และรู้สึกผิดในพฤติกรรมการกินของตนเอง มักมีปัญหาฟันสึกกร่อน และเหงือกอักเสบ และยังมีรอยขีดข่วนด้านหลังมือ ที่เกิดการเสียดสีของมือกับฟันในช่วงที่ล้วงคอเพื่อกระตุ้นการอาเจียน


ผลเสียของโรคอยากผอม

ร่างกายถูกทำร้าย ผลจากการพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการอดอาหาร ออกกำลังกายอย่างหนัก ล้วงคออาเจียน หรือการใช้ยาระบาย จะทำให้เกิดผลต่อสุขภาพตั้งแต่ระดับธรรมดาไปจนถึงขั้นร้ายแรง

- ผมร่วง ผิวหนังแห้ง เล็บหักง่าย หนาวง่าย ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องผูก และมีอาการฟันผุ กับเหงือกอักเสบตามมา เพราะน้ำย่อยที่เจือปนในอาหารจะกัดกร่อนจนฟันและเหงือกเสื่อมสภาพ
- ร่างกายสูญเสียน้ำไปอย่างรวดเร็ว จากการล้วงคออาเจียน กินยาขับปัสสาวะ หรือยาถ่าย
- ร่างกายขาดสารอาหาร ขาดความสมดุลของแร่ธาตุ และสารเคมีต่างๆ ส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายทุกส่วนไม่เป็นปกติ เกิดอาการโลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ ตับทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติไปจนถึงประจำเดือนขาด ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ร่างกายขาดสารอาหารถึงขีดสุด
- ประสาทการรับรู้ผิดเพี้ยน และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนทั่วไป
ทั้งการขาดสารอาหาร ขาดสมดุลของแร่ธาตุและสารเคมี อวัยวะทำงานผิดปกติ รวมทั้งร่างกายที่ขาดน้ำ ล้วนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น





จิตใจเสื่อมโทรม มีโอกาสป่วยเป็นโรคต่อไปนี้

- โรคซึมเศร้า ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ฉุนเฉียว ความคิดสับสน และกระวนกระวายใจ และรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย และคิดอยากทำร้ายตัวเอง เพราะรู้สึกว่าด้อยค่า
- โรคย้ำคิดย้ำทำ ทำให้คิดห่วงกังวล หรือกลัวในบางเรื่องซ้ำไปซ้ำมา หากเป็นหนักจะไม่สามารถเลิกคิดได้ จนต้องหาวิธีระบายความกังวล เช่นการดื่มสุราเพื่อลดความเครียด ไปจนถึงการทำร้ายตัวเองได้
- โรคกลัวการเข้าสังคม ทำให้เมื่อรู้สึกประหม่าเมื่ออยู่ท่ามกลางคนมากๆ กลัวจะทำในสิ่งน่าอับอาย ไปจนถึงขั้นกลัวการอยู่ในที่ที่คนเยอะๆ หรือร่วมทำกิจกรรมทางสังคมกับคนอื่น เช่น การเข้าคิวซื้อสินค้า อาการเหล่านี้จะทำให้เขาหลีกหนีจากผู้คน และทำให้พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติแก้ไขได้ยากขึ้น

อาการทั้งหมดที่กล่าวมา นำไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และบุคคลภายนอก รวมถึงมีพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อตัวเอง เช่น การติดสารเสพติด การขโมยอาหาร และการทำร้ายตัวเอง จนถึงการฆ่าตัวตายได้


วิธีการรักษาที่เหมาะสม

สิ่งที่ยากที่สุดของการรักษาพฤติกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น นั่นคือการทำให้ผู้ป่วยยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำหรือเป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น “ผิดปกติ” ผู้ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักไม่มาขอรับการรักษาด้วยตัวเอง ไม่ยอมรับว่าตนเองมีความผิดปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นที่คนรอบข้าง(พ่อแม่ ครูอาจารย์ และเพื่อน) ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติ และพูดให้เขาเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมาพบแพทย์ ก่อนที่สุขภาพจะทรุดโทรมจนเกินเยียวยา

รักษาโรคทางกาย ขั้นตอนแรก คือ “กระบวนการเพิ่มน้ำหนัก” เพื่อแก้ปัญหาอาการแทรกซ้อนต่างๆ และเรียกระบบการทำงานของร่างกายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานของสมองในส่วนของความเข้าใจให้กลับคืนมา โดยการให้อาหาร ยา และวิตามินต่างๆ ที่จำเป็น โดยควรเพิ่มน้ำหนักอย่างช้าๆ (ประมาณ 113 กรัมต่อวัน ) และพิจารณามาตรฐานการฟื้นฟูจากดัชนีมวลกายเป็นหลัก ระหว่างนี้ อาจมีการให้ยาระงับอาการซึมเศร้า เพื่อให้การรักษาได้ผลขึ้น เมื่ออาการทางร่างกายพ้นขีดอันตรายแล้ว จึงจะทำการรักษาทางจิตใจซึ่งเป็นต้นเหตุ





เยียวยาจิตใจ

- การรักษาโดยพฤติกรรมบำบัด ต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าใจให้ได้ ว่าพฤติกรรมการกินของเขานั้นไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ...เรื่องความอ้วนผอมนั้น ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
- การรักษาโดยครอบครัวบำบัด บ่อยครั้งที่พฤติกรรมการกินที่ผิดปกตินั้น มีสาเหตุมาจากครอบครัว และแม้รักษาจนหายแล้ว หากต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มกลับมาป่วยด้วยโรคเดิมอีกได้ หากพบว่าครอบครัวคือต้นเหตุของทุกอย่าง พ่อแม่จะต้องหันมามองว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ควรทำความเข้าใจในพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกมากขึ้น และผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ที่เคยมีกับลูกให้น้อยขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยให้เด็กยังป่วยควบคุมชีวิตประจำวันของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว
- การรักษาโดยกลุ่มบำบัด เพราะถึงอย่างไร ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันคงเข้าใจกันได้ดีที่สุด จึงควรจัดให้มีการรวมกลุ่มของผู้มีปัญหาเดียวกัน และเชิญผู้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าว มานั่งอธิบายถึงข้อดี-ข้อเสีย และการรักษาตัวเอง รวมถึงทัศนคติที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ผศ.นพ.พนม กล่าวว่า สาเหตุของการควบคุมน้ำหนักของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เราคงต้องสำรวจว่า สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีคืออะไร หรือเขาใช้การควบคุมน้ำหนักเพราะยึดติดกับเรื่องใด อย่างเช่นในเด็กวัยรุ่นบางคนที่รู้สึกไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง หากเขามีความสุขในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องกีฬา เพื่อน หรือการเรียน ก็ไม่ต้องใช้ Body Image ของตัวเองเป็นการสร้างความภูมิใจ

วิธีการป้องกันไม่ให้กลับมาป่วยด้วยโรคเดิมอีก นอกจากการปรับความเข้าใจให้ถูกต้องอย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว ยังต้องดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ระวังอย่าให้หิวจัด เพราะเมื่อหิวมาก จะทำให้มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ และเมื่อเริ่มทานมากก็อาจจะมีความกังวลเรื่องน้ำหนักตามมา และนำไปสู่การกลับเข้ามาในวงจรเดิมได้อีก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารฟาสฟูดส์ที่มีทั้งแป้งและน้ำตาลมาก เพราะจะทำให้เกิดไขมันสะสมได้ง่าย รวมถึงการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหม เพื่อให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานอย่างปกติมากขึ้น ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องคอยเป็นตัวอย่างที่ดีของการส่งเสริมพฤติกรรมการทานอาหารที่ถูกต้อง หรือการควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีที่เหมาะสม

หลังจากจบเรื่องนี้แล้ว หวังว่าใครหลายคนคงมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วนะคะว่า “อ้วน-ผอม” เป็นเพียงตัวหนังสือเล็กๆ ในมุมหนึ่งของบรรทัด บนหน้าหนึ่งของบันทึกชีวิตเราเท่านั้น แล้วจะปล่อยให้คำเล็กๆ เพียงสองคำนี้ เปลี่ยนชีวิตของคุณตลอดไปเชียวหรือ





Tips แนะนำการควบคุมนำหนักแบบชีวจิต

“ชีวจิต เน้นการใช้ชีวิติอย่างเรียบง่าย และพอดี” บัญญัติข้อนี้ เราชาวชีวจิตก็ยังยึดถือไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ ดังนั้น วันนี้จึงไม่ได้มาบอกเล่าเคล็ดลับดีๆ นี้เพื่อให้ใครนำไปลดน้ำหนักให้มีหุ่นผอมบางจนลมโกรก แต่เป็นการนำวิธีการดูแลสุขภาพดีๆ ที่ทำไปพร้อมกับการควบคมน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ เคล็ดลับดีๆ ที่ว่าก็คือ การกินอาหารในสัดส่วนของ “อาหารชีวจิต สูตร 2” ที่จัดขึ้นเพื่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักโดยเฉพาะ


สัดส่วนของอาหาร
- อาหารจำพวกแป้งและคาร์โบไฮเดรต 30 เปอร์เซนต์
- ผักสด หรือผักสุก 35 เปอร์เซนต์
- โปรตีนจากถั่วและธัญพืช 25 เปอร์เซนต์
- อื่นๆ ประเภทสาหร่ายทะเล เมล็ดธัญพืช หรือผลไม้รสไม่หวาน 10 เปอร์เซนต์


Tips ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

- หลังจากการลดน้ำหนักได้แล้วครั้งแรก ต้องควบคุมไม่ให้น้ำหนักขึ้นมาอีก เพราะจะไม่สามารถลดได้อีกเลย
- อาหารที่ดี คืออาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ส่วนอาหารที่เลว คืออาหารที่มีแคลอรี่สูง
- ไขมันไม่ดีต่อร่างกาย
- คนอ้วนคือคนที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาของตนเองได้
- การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยาถ่าย จะทำให้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว (จริงๆ สิ่งที่เราสูญเสียไปไม่ใช่น้ำหนัก แต่เป็นน้ำในร่างกายค่ะ)
- การกินแต่อาหารที่มีโปรตีนจะทำให้ไม่อ้วน เพราะโมเลกุลของโปรตีนนั้นไม่ซับซ้อน






Create Date : 15 มกราคม 2552
Last Update : 15 มกราคม 2552 16:37:05 น. 1 comments
Counter : 1224 Pageviews.

 
เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณนะคะ


โดย: TayoHall วันที่: 17 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:02:15 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
15 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.