สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

โรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค







พอเห็นชื่อ หลายคนคงจะนึกว่ามีโรคแปลกใหม่อะไรเกิดขึ้นอีกหรือ จริง ๆ แล้วมีโรคจำนวนไม่น้อยที่คนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เพราะไม่ได้มีการกล่าวถึง จะรู้เฉพาะแพทย์ผู้รักษากับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ยกตัวอย่าง เช่น โรค เอสแอลอี ถ้าไม่ใช่เพราะมีนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอย่างคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรค เอสแอลอี (SLE) ที่ย่อมาจากคำว่า Systemic Lupus Erythematosus คนไทยส่วนมากก็ยังไม่รู้จักโรคนี้ ทั้ง ๆ ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้อยู่จำนวนไม่น้อย โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือที่เรียกว่ากลุ่มโรค autoimmune disease เป็นกลุ่มโรคที่มีสมาชิกเป็นโรคหลาย ๆ โรค ซึ่งมีสาเหตุการเกิดมาจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดผิดปกติจนจำอวัยวะหรือร่างกายของตัวเองไม่ได้จึงเกิดเป็นโรคขึ้น อาการหนึ่งที่มักจะพบได้เสมอในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเองเหล่านี้คือ อาการปวดข้อ หรือมีข้ออักเสบ โรคบางโรคก็จะมีอาการอักเสบของข้อต่าง ๆ เด่นชัดมาก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ บางโรคอาการทางข้อจะเกิดร่วมด้วยเป็นส่วนหนึ่งของการอักเสบของอวัยวะ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เช่น โรค เอสแอลอี แต่โรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค (Palindromic Rheumatism) ที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นโรคหนึ่งที่มีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบเด่น แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา แต่จะมีข้ออักเสบหรือปวดข้อ เป็น ๆ หาย ๆ ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกและน่าสนใจ

มีผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 35 ปี มีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ มีข้อนิ้วมือบวม อาการปวดบวมข้อนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วอาการปวดบวมจะหายไป ตอนที่ไม่มีอาการจะปกติดีทุกอย่างเหมือนคนธรรมดา อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งในช่วงเวลา 1-2 เดือน แต่บางเดือนก็เป็นเดือนละ 2 ครั้ง สังเกตว่าช่วงไหนที่มีงานมากต้องอดนอน ทำงานหนัก หรือมีเรื่องเครียดไม่สบายใจ อาการนี้จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น ผู้ป่วยมีอาการแบบนี้มาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค ซึ่งโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิคนี้เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ในคนประมาณ 100-1,000 คน ที่เป็นโรคข้อจะมีคนเป็นโรคนี้ประมาณ 1 คน คนไทยป่วยเป็นโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิคมากกว่าฝรั่งในยุโรปหรือประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาคือโรคข้ออักเสบพาลิน โดรมิคเป็นโรคที่แพทย์ทั่วไปส่วนมากไม่รู้จักและให้การวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยจำนวนมากจึงไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และไม่ได้รับการรักษาหรือคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

คำว่า พาลินโดรมิค (palindromic) มา จากภาษากรีกแปลว่ากลับมาอีกครั้ง (to run back หรือ to recur) โรคนี้มีผู้รายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1944 คือเมื่อ 65 ปีที่แล้ว โดย Hench และ Rosenburg ลักษณะของโรคนี้เป็นโรคที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันเป็น ๆ หาย ๆ การอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และการอักเสบก็อาจจะหายหรือทุเลาลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน พอการอักเสบหายจะตามมาด้วยช่วงปลอดอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะเหมือนคนปกติทั่วไป การอักเสบของข้อส่วนมากจะเป็นครั้งละหนึ่งข้อ แต่ก็อาจจะเป็นครั้งละ 2-3 ข้อ หรือมากกว่านี้ก็ได้

บางครั้งอาจมีการอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณรอบ ๆ ข้อร่วมด้วยทำให้มีอาการบวม ขณะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นส่วนมากจะไม่มีไข้ และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบพาลิน โดรมิคจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลาย ๆ ปี มีบางรายที่โรคจะพัฒนาไปเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่มีอาการปวดบวมข้อนิ้วมือและข้อต่าง ๆ ต่อเนื่องกันไปไม่มีช่วงปลอดอาการ มีน้อยรายที่โรคจะสงบลงไปเองหรือกลายไปเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดอื่น เช่น โรค เอสแอลอี โรคข้ออักเสบพาลินโดรมิคเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคข้อที่เป็น ๆ หาย ๆ (intermittent syndrome) ซึ่งหมายถึงโรคที่มีอาการของโรคเป็น ๆ หาย ๆ แต่ช่วงระยะเวลาที่จะกลับมาเป็นไม่สม่ำเสมอ

ระยะเวลาของการเกิดข้ออักเสบจนถึงหายไปโดยทั่วไปประมาณ 3-7 วัน แต่ความเจ็บปวดเมื่อเริ่มปวดจนถึงระยะที่มีการเจ็บปวดสูงสุดจะเร็วมาก อาจเกิดขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนมากจะมีความรู้สึกบอกได้ล่วงหน้าว่ากำลังจะมีข้ออักเสบรุนแรงเกิดขึ้น การที่มีการอักเสบของข้อแต่ละครั้ง บางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด และพิการได้มาก โดยเฉพาะถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้นที่ข้อใหญ่ ๆ เช่น ข้อเข่า

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบบริเวณใกล้ข้อร่วมด้วย ทำให้มีผื่นเป็นปื้นแดงบริเวณผิวหนังบนข้อหรือใกล้ ๆ ข้อ เช่น บริเวณแขนหรือฝ่าเท้า เป็นลักษณะแดง เอามือลูบแล้วจะเจ็บ ขนาดของปื้นแดง โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 ซม. ความรุนแรงของการเจ็บปวดของผู้ป่วยแต่ละราย หรือการเกิดข้ออักเสบแต่ละครั้งจะไม่มีความแน่นอน แปรผันได้มาก ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยไปจนถึงปวดมากจนข้อแทบจะแตก

การอักเสบแบบเฉียบพลันของข้อมักจะเริ่มต้นตอน บ่าย ๆ เย็น ๆ อาจจะไปปวดมากในตอนกลางคืน บางครั้งทำให้นอนไม่หลับขณะมีข้ออักเสบเฉียบพลัน หรือการอักเสบบริเวณใกล้ข้ออาจสร้างความลำบาก รำคาญ และความพิการให้กับผู้ป่วยได้มากชั่วคราว การอักเสบของข้อในระยะแรก ๆ ของการเป็นโรคจะเกิดการอักเสบซ้ำ ๆ ข้อเดิม แต่ต่อมาการอักเสบจะมีลักษณะที่เคลื่อนย้าย เปลี่ยนตำแหน่งข้ออักเสบไปเรื่อย ๆ ไม่แน่นอน ความรุนแรงของการเจ็บปวดก็ไม่แน่นอน ในผู้ป่วยบางรายมีแต่การเจ็บปวดข้อเพียงอย่างเดียว ไม่มีอาการบวมแดงและร้อนให้เห็นก็มี

นอกจากนี้ความบ่อยหรือความถี่ของการมีข้ออักเสบก็ไม่มีความแน่นอน มีความแตกต่างกันได้มาก ๆ ผู้ป่วยบางคนอาจมีข้ออักเสบ 2 ถึง 3 ครั้งต่อปี ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันได้สัปดาห์ละ 2 ถึง 3 ครั้งในระยะแรกของการเป็นโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค การอักเสบจะไม่บ่อยและข้ออักเสบก็มักเป็นครั้งละข้อ ต่อมาการอักเสบอาจจะบ่อยหรือถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และการอักเสบอาจเป็นครั้งละหลาย ๆ ข้อก็ได้ ในระยะต่อมาอาจจะไม่มีเวลาที่หายจากการอักเสบของข้อคือไม่มีช่วงปลอดอาการ มีการอักเสบของข้อต่อเนื่องหลายข้อจนกลายเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในที่สุด

โดยทั่วไปอาการข้ออักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นแน่ชัด แต่ก็พบได้บ่อย ๆ ว่า ผู้ป่วยสามารถเชื่อมโยงการเกิดการอักเสบของข้อกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างแน่ชัด บางรายบอกว่าการออกแรงใช้ข้อนั้นมาก ๆ ทำให้ข้อนั้นอักเสบขึ้น เช่น การหิ้วของ ถือของหนัก ๆ วันถัดมาข้อมือก็เกิดการอักเสบขึ้นได้ ผู้ป่วยบางรายให้ประวัติว่าหลังจากการวิ่งออกกำลังกาย ข้อเข่าจะอักเสบขึ้นมาแบบเฉียบพลัน แม้แต่การนวดแผนโบราณซึ่งมีการดัดข้อ ผู้ป่วยบางรายก็บอกว่าวันถัดมาจะเกิดการอักเสบของข้อได้ นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ภาวะเครียด ภาวะเศร้าหมอง การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เช่น อากาศเย็น อากาศชื้นวันฝนตก ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อได้

โรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค ทำให้เกิดการพิการชั่วคราวได้มากขณะที่มีการอักเสบเฉียบพลันของข้อ บางครั้งการอักเสบทำให้เกิดการเจ็บปวดมากและใช้งานข้อไม่ได้ ที่สำคัญถ้าการอักเสบเกิดขึ้นกับข้อเข่าแล้ว บางครั้งทำให้เดินไม่ได้ขณะที่มีข้ออักเสบ การอักเสบแต่ละครั้งจะรุนแรงและยาวนานมากน้อยเพียงไรก็แล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ในระยะยาว ถ้าติดตามผู้ป่วยโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิคไปจะพบว่า ร้อยละ 48 ยังคงเป็นอย่างเดิม คือมีการอักเสบซ้ำ ๆ แบบเดิมไปเรื่อย ๆ ร้อยละ 33 จะกลายไปเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ร้อยละ 15 โรคจะสงบลงไปคือไม่มีอาการอะไรเลย และร้อยละ 4 จะกลายไปเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดอื่น เช่น โรค เอสแอลอี โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นต้น

การรักษาโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิคด้วยยาต้านการอักเสบ และยาปรับภูมิคุ้มกันจะทำให้อาการปวด อาการอักเสบน้อยลง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อาการแสดงออกมามีน้อยลง แต่จะสามารถทำให้โรคสงบลงไปได้มากน้อยเพียงใด (บางครั้งพอหยุดยาอาการอักเสบก็ขึ้นมาใหม่แบบเดิมได้อีก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาที่เหมาะสม ประกอบกับการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วย ดังนั้นในการให้การรักษาจึงต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

โรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อย การอักเสบของข้อทำให้เกิดความพิการชั่วคราว ทำให้เกิดอาการปวดทรมานหรือรำคาญ นอกจากนี้ยังมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรค เอสแอลอี ดังนั้นถ้าท่านมีอาการข้ออักเสบ แล้วสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบพาลินโดรมิค ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยเฉพาะกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ หรือแพทย์รูมาโตโลจิสต์



ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ และเดลินิวส์ออนไลน์









 

Create Date : 04 เมษายน 2552
0 comments
Last Update : 4 เมษายน 2552 14:31:35 น.
Counter : 7899 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
4 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.