Love is All Around.
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
6 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

ทดลองขับ NISSAN ALMERA (ตอนที่ 2)

Pic_228185


ตอนที่สองกับการขับขี่ทดสอบระยะทางไป-กลับ กรุงเทพฯ ปราณบุรีกว่า 600 กิโลเมตร ในตัวรถ Eco Car รุ่นล่าสุด Nissan All New Almera เพื่อค้นหาประสิทธิภาพ และสมรรถนะในการวิ่งทางไกลหลากรูปแบบ...

22 ธันวาคม 54 ขณะที่หลายๆ คนเริ่มหยุดพักผ่อนในช่วงคริสต์มาสกันแล้ว ผมกลับกำลังควบเจ้ารถทดสอบรุ่นใหม่ล่าสุดในวงการ Eco Car ของ Nissan มุ่งหน้าจากกรุงเทพฯ ลงใต้สู่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากตอบรับคำเชิญจากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของค่ายนี้ ที่ต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากผลกระทบครั้งใหญ่จากมหาอุทกภัยในเขตภาคกลาง การทดสอบรถ Eco Car All New Almera ถูกจัดขึ้นเป็นรอบสุดท้ายสำหรับสื่อมวลชน ซึ่งในรอบปิดท้ายนี้ ผมต้องร่วมคณะไปกับคอลัมนิสต์ไลฟ์สไตล์ของนิตยสารชั้นนำในเมืองไทย จากปัญหาติดการไปทำข่าวงาน Tokyo Motor Show 2011 เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม จึงไม่สามารถไปร่วมกับเพื่อนๆ สื่อมวลชนสายยานยนต์ อย่างที่เคยประพฤติมาตลอดระยะเวลาของการขับขี่ทดสอบรถยนต์






เจ้า หน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ Nissan Motor Thailand Co.,ltd. จัดเส้นทางทดสอบในวันแรก โดยออกสตาร์ตที่โรงแรมแห่งหนึ่งในซอยมหาดเล็กหลวง 3 ขึ้นทางยกระดับที่แยกบ่อนไก่ ลงที่เส้นพระรามสองแล้วมุ่งหน้าสู่แยกวังมะนาว บนทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร แล้วขับไปตามทางหลวงจังหวัดสู่เพชรบุรี เลี้ยวซ้ายใกล้เขาย้อยเแวะทานก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเด็ด เสร็จแล้วออกเดินทางมุ่งหน้าไปแยกท่ายาง เลี้ยวขวาที่อำเภอท่ายางเพื่อมุ่งหน้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งทะลุ แล้วตัดเข้าเส้นบายพาสอ้อมกลับมายังอำเภอหัวหิน ทางทดสอบในวันแรกเป็นเส้นทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิ่งในเมือง หรือวิ่งบนถนนไฮเวย์ กับสภาพเส้นทางคดเคี้ยวไปมา ขึ้นลงเขาบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งทะลุในเขตจังหวัดเพชรบุรี เพื่อค้นหาสมรรถนะ และประสิทธิภาพในการวิ่งใช้งานของ All New Nissan Almera รถ Eco Car รุ่นล่าสุด ที่กำลังร้อนแรงมากในตลาดรถราคาประหยัดของเมืองไทยอยู่ในเวลานี้






ผม จับคู่กับคุณเอจากนิตยสาร volume ในขบวนรถทดสอบ All New Almera ทั้งหมด 8 คัน โดยผมรับหน้าที่ควบเจ้า All New Almera VL AT รุ่นท็อปสุด และเริ่มขับตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ โดยให้คุณเอนั่งเป็นผู้โดยสารไปก่อนในช่วงแรก การขับทดสอบในกลุ่มไลฟ์สไตล์มักขับกันแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เกาะไปกันเป็นขบวนด้วยความเร็วเดินทางที่ไม่สูงมากนัก ประมาณ 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นย่านความเร็วปกติของมนุษย์ทั่วไป ที่ใช้ขับขี่เดินทางไกลบนตัวรถขนาดเล็ก แตกต่างจากการขับทดสอบกับสื่อมวลชนสายยานยนต์แท้ๆ ที่ว่ากันชนิดสุดฤทธิ์ สุดเดชกันเลยทีเดียวไม่ว่าตัวรถทดสอบจะเป็นแบบใด การขับทดสอบรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Eco Car ของค่าย Nissan ในครั้งนี้ จึงเป็นการขับขี่ที่ผ่อนคลาย ในรูปแบบของการท่องเที่ยวเดินทางเป็นหลัก ไม่เน้นการทำความเร็วโดยไม่จำเป็น และค่อนข้างเน้นหนักเป็นพิเศษ ในเรื่องของความปลอดภัย และกฎจราจร การขับขี่ทดสอบ Nissan Almera ในครั้งนี้ จึงเหมือนกับการขับรถพาครอบครัวเดินทางไกลออกไปท่องเที่ยว มากกว่าจะซิ่งกันทุกโค้งอย่างที่เคยกระทำเมื่อมีโอกาส ยามได้ออกไปพบปะกับเพื่อนสื่อมวลชนสายยานยนต์แท้ๆ ที่มักอุดมไปด้วยพวกสุดยอดฝีมือ






ตำแหน่ง ของการนั่งขับที่สูงโด่งของ Almera ช่วยทำให้คนที่มีรูปร่างเล็กขับได้อย่างสะดวกสบาย มุมมองที่เปิดโล่งรอบตัวเกิดจากการออกแบบท่านั่งขับใหม่ทั้งหมด โดยเน้นไปที่ความสูงของตัวเบาะ และหลังคาที่มีมากกว่า Nissan March แม้ผมจะพยายามปรับเบาะให้เตี้ยมากที่สุดแล้ว ตำแหน่งท่านั่งของคนตัวสูงประมาณ 175 เซนติเมตร ก็ยังคงสูงโด่ง ทำให้รู้สึกแปลกไปบ้าง หลังจากเคยนั่งขับในท่านั่งที่เตี้ยติดดิน กระจกรอบตัวที่ไม่ได้ติดฟิล์มกันแดด ทำให้ผมเห็นได้อย่างชัดเจน เพิ่มความปลอดภัยยามต้องเปลี่ยนเลนกะทันหัน จุดที่วางอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ปุ่มควบคุมอุณหภูมิ ชุดเครื่องเสียงดิจิตอลแบบ 2 DIN รวมถึงตำแหน่งของการวางซุ้มเกียร์ พวกมันทั้งหมดถูกออกแบบให้ง่ายต่อการเอื้อมมือไปใช้งาน ช่องวางแก้วน้ำยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายยามขับขี่เดินทางไกล มันคือความจำเป็นที่คุณต้องพกพาเครื่องดื่มไปด้วย และ Nissan Almera ก็มีช่องวางแก้วน้ำมาให้เพียบ มาตรวัดวางตัวอยู่ในระดับของสายตา ดีไซน์มาเพื่อให้อ่านค่าได้ง่ายดายที่สุดแล้ว พวงมาลัยแบบสามก้านของมันปรับขึ้น-ลงได้ แต่ปรับระยะใกล้-ไกลไม่ได้ ท่านั่งที่สามารถปรับเบาะได้กว้างมากจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้แทน






ก่อน ถึงแยกวังมะนาว การจราจรบนถนนธนบุรี-ปากท่อ เริ่มลื่นไหลคล่องตัวจนขบวนสามารถใช้ความเร็วในระดับ 120-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วเดินทางย่านนั้น การทรงตัวของ Nissan Almera ยังมั่นคงดี ต่อเมื่อผมลองยึดระยะความห่างของขบวนจากรถคันหน้า แล้วกดคันเร่งไปที่ระดับ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวงมาลัยและช่วงล่างเกิดอาการโหวงๆ เบาๆ เป็นเพราะยางขอบ 15 ที่มีหน้ากว้างแค่ 185 กับผิวถนนที่เป็นลอนคลื่นในบางช่วง ที่ความเร็วสูงเกิน 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เจ้า Almera จึงออกอาการเบาโหวงอยู่บ้าง แต่ยังไม่สร้างปัญหาในการควบคุมพวงมาลัยมากนัก หากได้ล้อขอบ 16 บวกยางหน้ากว้างสัก 205 ช่วงล่างด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทของเจ้า New Almera น่าจะเกาะยึดกับผิวทางได้ดีกว่านี้มาก ซึ่งเหมาะมากกับเจ้าของ Almera คันใหม่ที่ชอบใช้ความเร็วยามขับเดินทาง ยางไซส์ 205/50/R16 ดูจะเหมาะเจาะกับเจ้านี่อย่างที่สุดแล้วสำหรับพวกเท้าหนัก ส่วนยางติดรถ เจ้าของจะได้ความประหยัดเป็นของแถม เนื่องจากยางที่ติดมาให้จากโรงงาน เป็นยางที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงต้าน ที่ช่วยเพิ่มเติมสมรรถนะในการประหยัดเชื้อเพลิง เมื่อคุณเปลี่ยนยางของเจ้า New Almera โดยเพิ่มขนาดหน้ายางให้กว้างขึ้น แรงต้านจากยางหน้ากว้าง จะทำให้ตัวเลขการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเปลี่ยนไป






ระบบ ส่งกำลังแบบ XTronic CVT เนียนใช้ได้ ให้ความต่อเนื่องในย่านของแรงบิดได้ดี ตั้งแต่รอบต่ำไปจนถึงรอบกลางๆ ของเครื่องยนต์ ทำให้การออกตัวจากสัญญาณไฟไม่ต้องใช้เวลาไต่หาอัตราเร่งกันมากนัก น้ำหนักตัวที่เบาเพียง 1,026 กิโลกรัม ในรุ่นเกียร์ออโต้ ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา มีน้ำหนักตัวแค่ 900 กว่ากิโลกรัม ถึงแม้จะใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กเพียงสามกระบอกสูบ แต่ตีนต้นของ Almera ไม่มีอืด มันไปตามแรงของเท้าที่ส่งไปยังคันเร่งไฟฟ้าชนิดฉับพลัน คันเร่งออกอาการค่อนข้างเบามาก มันอาจไม่มีแรงดึงมากพอที่จะทำให้รู้สึก แต่ความเร็วของตัวรถเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและลื่นไหล จากการทำงานของเกียร์และน้ำหนักตัวที่เบามากของมัน ลักษณะการออกแบบระบบส่งกำลัง โดยเน้นให้ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ขนาดเล็กได้อย่างลงตัว คืองานวิศวกรรมที่ดีของเหล่าบรรดาวิศวกรและนักออกแบบของ Nissan ที่ต้องทำงานประสานกันไปตลอดตั้งแต่ขั้นตอนของการพัฒนา ทดสอบ และสำเร็จจนส่งเข้าไลน์การผลิต นี่คือรถ Eco Car ราคาถูกที่ขับได้ดีคันหนึ่งในตลาดรถยนต์ของประเทศไทย มันเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างต้องสมเหตุสมผล แม้กระทั่งประสิทธิภาพกับราคาที่ต้องลงตัวกันเป็นอย่างดี และมีรถไม่มากนักที่ทำได้แบบนี้






ระบบ Idling Stop ที่เพิ่มเข้ามาให้มีลักษณะการทำงานที่ช่วยให้เครื่องยนต์ กินเชื้อเพลิงได้น้อยลงไปอีกระดับ มันจะตัดการทำงานของเครื่องยนต์โดยไม่จำเป็น ในขณะจอดเดินเบาบนทางราบ การทำงานของชุด Idling Stop จะแยกจากกันกับชุดปรับอากาศดิจิตอลโดยสิ้นเชิง เซนเซอร์ของระบบ Idling Stop จะทำงานตลอดเวลา แม้ผู้ขับจะเปิดระบบปรับอากาศหรือสวิตช์ AC/ON หากต้องการปิดระบบทิ้ง ผู้ขับขี่ต้องปิดสวิตช์ยกเลิกการทำงานของ Idling Stop ระบบจะทำการรีเซต และจะกลับมาทำงานทุกครั้งที่สตาร์ตเครื่องยนต์ ในกรณีที่ผู้ขับปิดระบบ Idling Stop มันจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับสวิตช์ AC/ON รวมถึงการเปิดสวิตช์ไล่ฝ้า ระบบ Idling Stop ก็ยังคงทำงาน ชุดเซนเซอร์ดังกล่าวถูกออกแบบมาให้ทำงานอย่างรวดเร็วภายใน 2-5 วินาที ขึ้นอยู่กับการไหลของกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เครื่องยนต์จะทำงานทันทีที่ระบบ Idling Stop สั่งการให้เครื่องยนต์ดับประมาณ 175 วินาที และเครื่องยนต์จะสตาร์ตตัวเองอีกครั้ง หลังจากผู้ขับขี่ยกเท้าออกจากแป้นเบรกประมาณ 5 วินาที ส่วนการหยุดทำงานโดยอัตโนมัติของชุด Idling Stop ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขดังต่อไปนี้

-พื้นผิวถนนมีความลาดเอียง 3% หรือประมาณ 1.7 องศา
-อุณหภูมิของน้ำหล่อเย็นไม่อยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 45-110 องศาเซลเซียส
-น้ำมันเกียร์ ไม่อยู่ในอุณหภูมิ 20-110 องศาเซลเซียส
-ก่อนที่จะใช้งานระบบ Idling Stop ต้องขับขี่ให้มีความเร็วมากกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้เวลาประมาณ 2 นาที
-ความเร็วของตัวรถต้องไม่ต่ำกว่า 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
-Idling Stop จะหยุดทำงานทันทีที่เปิดฝากระโปรงเครื่องยนต์
-อุณหภูมิของน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ต้องไม่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส
-อุณหภูมิอากาศ (เซนเซอร์ตรวจวัดอากาศ) ต้องมากกว่า 205 องศาเซลเซียส
-ไม่มีเซนเซอร์วัดแรงกดอากาศ กรณีที่ใช้รถในระดับความสูงเหนือน้ำทะเลมากกว่า 2,000 เมตร






หลัง จากวิ่งวกไปวนมาบนทางลาดยางแคบๆ แบบสองเลนสวน รถทดสอบทั้ง 8 คันรวมถึงรถของเจ้าหน้าที่ Nissan มาถึงยังสันอ่างเก็บน้ำเอาในช่วงบ่ายสองโมงเศษ วิทยุคลื่นสั้นที่ทีมเจ้าหน้าที่ของ Nissan ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างรถแต่ละคัน ช่วยทำให้ขบวนสามารถขับเกาะกลุ่มกันได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของ Nissan ทุกท่านที่คอยอำนวยความสะดวกในการเคลียร์เส้นทางตลอดทั้งไปและกลับ หลังจากจอดแวะถ่ายรูป ดื่มน้ำ และพูดคุยถึงการขับทดสอบในตอนเช้าบริเวณอ่างเก็บน้ำแล้ว ขบวนรถทดสอบ Nissan All New Almera ก็ออกเดินทางต่อ โดยใช้เส้นบายพาสเพื่อมุ่งหน้าสู่โรงแรมที่พักในอำเภอหัวหิน เส้นทางช่วงนี้ผมย้ายก้นไปนั่งที่เบาะหลังโดยคุณเอจากนิตยสาร volume เข้ามารับหน้าที่ขับต่อจนถึงโรงแรม หลังจากนั่งชิลๆ มาจากกรุงเทพมหานคร ทางในช่วงนี้อุดมไปด้วยสารพัดโค้งและทางขึ้น-ลงเขาวกไปวนมา เนื่องจากเป็นกลุ่มนักข่าวแนวไลฟ์สไตล์ การทำความเร็วจึงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างช้าและเน้นหนักในเรื่องความปลอดภัย ทำให้การนั่งเก็บภาพอยู่เบาะหลังเต็มเปี่ยมไปด้วยความสบาย จากขนาดความกว้างของห้องโดยสารที่แทบจะไม่แตกต่างจาก Sunny Neo เลยแม้แต่น้อยทั้งๆ ที่มันคือ Eco Car ตำแหน่งใจกลางเบาะหลัง ยังสามารถดึงพนักเท้าแขนที่แถมช่องวางแก้วมาให้อีกด้วย ช่างเอาอกเอาใจกันเสียจริง






ระบบ เสียงดิจิตอลจาก ชุดเครื่องเสียง CD / MP3 / AM / FM ให้เสียงในระดับปานกลาง มันใช้งานได้สะดวกจากขนาดหน้าจอที่ใหญ่โตแบบ 2DIN เล่นแผ่น MP3 หรือจะเสียบช่อง AUX เพื่อต่อเชื่อมอุปกรณ์เล่นเพลงแบบพกพาก็ยังได้ ระบบปรับอากาศให้ความเย็นสมกับเป็นรถญี่ปุ่น มันเย็นอย่างรวดเร็วแม้อุณหภูมิภายนอกจะสูงถึง 33 องศา เมื่อเข้ามาภายในห้องโดยสารแล้วเปิดระบบปรับอากาศเพียงครู่เดียว ก็จะเย็นฉ่ำไปทั่วทั้งคันแล้ว เบาะหลังนั่งได้สบายแต่ค่อนข้างจมไปสักนิด อาจทำให้ง่วงนอนโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว ขบวนรถทดสอบ Nissan All New Almera มาถึงยังโรงแรมที่พักในอำเภอหัวหินเอาเมื่อเวลาประมาณ 4 โมงเย็น ผมไม่รู้สึกเมื่อยล้าเหมือนตอนที่ขับรถทดสอบกับเพื่อนสื่อมวลชนสายยานยนต์ เนื่องจากไม่ต้องขับเร็วขับไล่จี้ใครในทริปนี้นั่นเอง






เช้า วันรุ่งขึ้น รถทดสอบ Nissan All New Almera ออกเดินทางจากหัวหินมุ่งหน้าไปยังปากน้ำปราณบุรี ผมเข้ามารับหน้าที่ขับขี่โดยให้คุณเอเป็นผู้โดยสารเหมือนเดิม ใช้เวลาแค่เพียงครึ่งชั่วโมงเศษก็มาถึงยังศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่า ชายเลนสิรินาถราชินี บริเวณใกล้อำเภอหัวหินห่างออกไปราว กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ "โครงการพัฒนาปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผืนป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า-คลองคอย 1,984 ไร่ ห้อมล้อมด้วยป่าชายเลน ป่าบกภูเขา ที่ดินริมหาดติดทะเล รวมถึงพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พัฒนาเป็นป่าอเนกประสงค์ต่อการผลิตไม้ ป้องกันลมพายุ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งเพาะพันธุ์และเลี้ยงสัตว์น้ำ กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ทะเล ใช้เป็นที่หลบภัยจวบจนถึงทุกวันนี้






เนื่อง จาก ปี 2517 กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี ตามพระราชประสงค์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในคราวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความสนพระราชหฤทัย สนับสนุนการปลูกพันธุ์ไม้บริเวณปากน้ำปราณบุรี กรมป่าไม้จึงได้จัดตั้งเป็นโครงการพิเศษ เพื่อดูแลชีวิตพืชและสัตว์อนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นต่อไปได้ใช้เป็นแหล่ง ศึกษาเรียนรู้ ต่อมาปี 2527 จึงได้จัดตั้งเป็นวนอุทยานขึ้น ควบคู่กับการรักษาสภาพป่าชายเลน ทิวทัศน์ธรรมชาติ หาดทรายอันงดงาม ยังประโยชน์แก่การท่องเที่ยวและเป็นสถานที่พักผ่อน สำหรับครอบครัวและบุคคลทั่วไปเพื่อการเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติ






ระยะ เริ่มต้นในปี 2517 กรมป่าไม้เข้าไปบุกเบิกปลูกป่า และจัดทำพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นวนอุทยานขนาด 400 ไร่ ต่อมาในปี พศ 2539 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เนื่องจากมีผู้บุกรุกทำนากุ้งและต้องวัดหลักเขตอย่างถูกต้อง ทรงรับสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดขอพื้นที่นากุ้งคืน โดยทางกรมป่าไม้กับ ปตท.เข้าไปร่วมปลูกป่าขึ้นมาใหม่ 1 ล้านไร่ ขณะนี้สภาพผืนป่ากลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เยาวชน และกลุ่มบุคคลทั้งภาครัฐ เอกชน เข้าไปเยี่ยมชม เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการฯ ได้จัดทำระบบบริการไว้เป็นอย่างดี โดยอธิบายนักท่องเที่ยวเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด ก่อนจะพาเดินไปตาม "เส้นทางชมป่าชายเลน" (walkway) ติดทะเล อากาศเย็นสบาย ใต้ร่มเงาไม้หนาทึบที่ร่มรื่นมาก ทางเดินสะพานไม้เล็กๆ ลัดเลาะไปตามพันธุ์พืชทะเลของต้นโกงกาง ตะบูนขาว ตะบูนดำ สนทะเล สนปฏิพัทธ์ โกงกาง ปรง นนทรี หางนกยูง สะเดา กระถินณรงค์ หูกวางทะเล ทำให้สื่อมวลชนได้รับประโยชน์ในการเดินทางมาทดสอบรถ Almera เนื่องจากได้เรียนรู้การปลูกป่าและระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นของแถม ซึ่งมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติสำหรับคนรุ่นต่อไป






หลัง จากเดินชมป่าชายเลนแล้ว คณะทดสอบรถ Almera ทั้งหมดก็ลงเรือชาวประมงขนาดเล็กเพื่อล่องลำน้ำปราณบุรี ชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงและอู่ต่อเรือประมงขนาดใหญ่ ลำคลองเก่าคือสายธาราที่ไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำปราณบุรีที่ใกล้ปากน้ำ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือลัดเลาะไปออกแม่น้ำปราณบุรี เที่ยวชมหมู่บ้านชาวประมงและการลอยเรือหาปลาตามลำน้ำ รวมทั้งได้ชมระบบนิเวศในป่าชายเลน หลังจากนั้นได้ร่วมกันโยนลูกบอล EM เพื่อบำบัดน้ำเสียบริเวณที่เป็นจุดนำปลา กุ้ง ปู หอย ถ่ายจากเรือใหญ่ขึ้นฝั่ง รวมถึงแถบที่ชาวประมงนำหมึกมาล้างเพื่อตากแห้ง การโยนลูกบอลบำบัดน้ำเสียเริ่มต้นและจบลงบนเรือด้วยความสนุกสนาน หลังจากนั้นคณะทั้งหมดก็เดินทางไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ปากน้ำปราณบุรี แล้วมุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯ เอาเมื่อเวลาประมาณบ่ายสองโมง






โดย ภาพรวมแล้ว Nissan All New Almera เหมาะสมกับสมรรถนะ และราคาค่าตัว 6 แสนบาทของมันมากที่สุดแล้ว นี่คือ Eco Car อีกคันที่ขับได้ดีและมีพื้นที่ใช้สอยภายในห้องโดยสาร มากกว่ารถยนต์ราคาประหยัดทุกรุ่นทุกคันในประเทศไทย ปัจจุบัน จากเทคโนโลยีด้านวัสดุ ระบบเครื่องยนต์ ชุดส่งกำลัง ช่วงล่าง เบรกและระบบอิเล็กทรอนิกส์ของวงการยนตรกรรมมีความก้าวหน้าไปไกลมาก จนแทบจะไม่มีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ค่ายใดจะกล้าทำรถยนต์ที่มีคุณภาพต่ำออกมา อีกแล้ว การตลาดที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดส่งผลให้เกิดการค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรม ใหม่ของการขับเคลื่อนออกมาอยู่เสมอ และกลายเป็นประโยชน์สำหรับผู้ซื้อที่สามารถเลือกรถยนต์ส่วนตัวได้โดยใช้ราคา เป็นที่ตั้ง ลองไปหาทดสอบด้วยตัวของคุณเองตามโชว์รูมของ Nissan แล้วดูว่ามันตรงกับความต้องการของคุณหรือไม่ และนี่คือวิธีเดียวที่ดีที่สุด ในการเลือกพาหนะคันใหม่แทนที่คันเก่าที่โดนน้องน้ำจัดซะมิดหลังคาเมื่อช่วง ปลายปีที่ผ่านมา.

Arcom Roumsuwan
E-Mail chang.arcom@thairath.co.th
Facebook //www.facebook.com/chang.arcom




 

Create Date : 06 มกราคม 2555
0 comments
Last Update : 6 มกราคม 2555 9:10:21 น.
Counter : 1414 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


poprockcool
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




พื้นที่โฆษณาพิเศษ
Friends' blogs
[Add poprockcool's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.