พฤศจิกายน 2548

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
นิ้วกลม “หนังสือบางเล่มอันตราย!!"
นิ้วกลม “หนังสือบางเล่มอันตราย!! ถึงชอบผมก็อ่านมากไม่ได้”

อยากรู้ไหม?

“นิ้วกลม” มีทัศนะคติอย่างไรกับวาทะเด็ด “จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เรา ต้องดูแลเป็นพิเศษ”

ใครเป็น เพื่อนสนิทชิดใจของ “นิ้วกลม”

??
?

เรื่องเหล่านั้นถ้าคุณอยากรู้ เราเองก็ไม่รู้ แถมที่นี่ไม่มีให้อ่านด้วย



แต่ถ้าอยากรู้ว่าเค้าเป็นคนยังไง ให้ถามหนังสือเล่มโปรดที่เขาอ่าน

แค่นี้ก็รู้แล้วว่า คนคนนี้เป็นคนยังไง


คุณชอบเขียนหนังสือสารคดี นี่ก็มีออกมา 2 เล่มแล้ว ชอบอ่านแนวนี้ด้วยหรือเปล่า?
มีฮะ เล่มที่เป็นแรงบันดาลใจเลย คือ ข้างหลังโปสการ์ด ของหลานเสรีไทย อ่านตั้งแต่สมัยปี4 ปี5

ชอบมาก รู้สึกว่าได้เดินทางไปกับความคิดของเค้าด้วย และที่สำคัญ ความคิดของเค้าก็คมคายเหลือเกิน หนังสือเที่ยวบางเล่มไม่ได้พรรณาถึงที่เที่ยว แต่ทำให้เราอยากไปเที่ยว


ข้างหลังโปสการ์ดเป็นแบบนั้นเลย เค้าเดินออกจากโลกของตัวเองไปอินเดีย ไปเนปาล เขาได้ไปเจอโลกอื่น มันกลับทำให้เค้าได้คิด มีทัศนะคติต่อโลกใบนั้นและก็ต่อโลกของตัวเองด้วย

เค้าไม่ได้เล่าว่าภูเขาสวย เมืองน่าอยู่ แต่เค้าเล่าถึงคน เราคิดว่าถ้าเราเดินทางไป เราได้ไปเจอคนเหล่านั้นเหมือนกัน แต่สิ่งที่มันน่าสนใจคือ ถ้าเราเจอคนในสถานที่เดียวกัน สถานการณ์เดียวกันกับเค้า เราอาจคิดไม่เหมือนเขาก็ได้ มันก็กลายเป็นว่าแทนที่เราจะอยากไปเที่ยวเพราะมันสวย แต่ข้างหลังโปสการ์ดกลับทำให้เราอยากไปเที่ยวเพราะอยากไปเห็น อยากไปเจอ และก็อยากจะรู้ว่า ถ้าเป็นเราไปยืนอยู่ตรงนั้นเราจะคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ายังไง

และสารคดีท่องเที่ยวที่ชอบก็มีอีกนะครับ เล่มที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่า สารคดีเที่ยวมันเขียนแบบนี้ได้ด้วยแฮะ คือ อยู่ชั่วคราว ของของพี่โจ้ วชิรา ที่เค้าไปบาหลี เค้าจะเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไปเจอมากกว่าสถานที่น่ะครับ แล้วก็ไปสะดุดกับคำนำที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาเขียนไว้ว่า การเดินทางของแต่ละคน ไม่มีทางซ้ำกันเลย คือให้เดินตามรอยตามเส้นทางเดียวกัน ก็ไม่มีทางซ้ำ เพราะคนที่เราได้ไปเจอ สถานการณ์ที่ได้ไปเจอ มันไม่มีทางเหมือนของใคร อ่านแล้วมัน ‘ใช่’ มากๆ ทำให้เราอยากออกไปเดินทาง อยากมีเรื่องของเราเองน่ะครับ

และก็ยังได้คิดอีกว่า สิ่งที่เราไปเจอระหว่างทาง ถ้ามันน่าสนใจมันก็เอามาเล่าได้ เพราะว่าไม่มีใครเจอแบบเราแน่ๆ

คุยกันได้สักพัก ผู้ชายหน้ามลนิ้วกลมๆ ก็บอกกับเราว่า หนังสือที่เขาชอบนั้นจริงๆ มีเยอะมาก ดีที่นิ้วกลมเข้าใจว่าเราไม่ได้สัมภาษณ์เขาไปลงคอลัมน์ “100 หนังสือดีที่นิ้วกลมชอบอ่าน” จึงไม่ได้รื้อลงมาเล่าให้เราฟังทั้งตู้ เพราะฉะนั้นการคุยถึงเล่มโปรดในวันนี้ จึงอยู่ในแนวทางที่นิ้วกลมบอกว่า “เอาเป็นเล่มที่มันเปลี่ยนความคิดของเรา และส่งผลกระทบต่อชีวิตเราดีกว่าเนอะ จะได้แคบลงหน่อย คือมีคำพูดที่นักเขียนคนหนึ่งพูดเอาไว้ว่า ถ้าหนังสือเล่มไหน อ่านแล้วไม่รู้สึกเหมือนถูกตีกบาล อ่านไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรสำหรับเรา เราว่าทุกเล่มที่อ่านไม่จำเป็นต้องตีกบาลก็ได้ แหม คนเราก็คงต้องอ่านเอาสนุกกันบ้าง แต่หนังสือที่ตีกบาล หรือส่งผลกระทบต่อความคิดของเราเนี่ยะ เราจะจำได้ไม่ลืมเลย”

มาดูกันซิ ว่าหนังสือเล่มไหน ตีกะบาลนิ้วกลมบ้าง

เล่มแรกเลยคือ แก่นพุทธศาสน์ ของท่านพุทธทาส แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยนะว่า เรามีนิสัยแย่มากเลย คืออ่านหนังสือแล้วลืมหมด จำเนื้อหาเป็นท่อนเป็นตอนเป็นประโยคอะไรไม่ได้เลย แต่รู้ตัวเลยว่ามันซึมเข้าไปในหัวแล้ว คือมันถูกดูดเข้าไปเป็นความเข้าใจมากกว่าจะจำเป็นข้อความน่ะครับ มันจะเข้าไปปนในหัวกันเอง

แก่นพุทธศาสน์ นี่จำได้ว่าอ่านตอนอกหัก อ่านแล้วหายเศร้าเลย เราว่าบางทีคนเราต้องมีแผล ต้องผิดหวังถึงจะเข้าใจชีวิตมากขึ้น อ่านแล้วเริ่มรู้จัก ‘ความว่าง’ เฮ้ย! ทุกอย่างมันสมมติ เราคิดมันขึ้นมาเองทั้งนั้นเลยนี่หว่า ‘เธอเป็นของเรา’ ไม่หรอกไม่มีใครเป็นของใคร ถ้าเราไม่มีตัวกูของกู ก็สบายใจไปเยอะ

แล้วก็เริ่มเข้าใจโลก เพราะมองเห็นหลักของเหตุ-ผล เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็เลยเกิดตามมา มันเหมือนว่าเห็นชีวิตทะลุขึ้นเยอะเลย ดวงตาเห็นธรรมว่างั้น (ยิ้ม) อ๋อ! เค้าไม่ชอบเรา เพราะเพิ่งมารู้ว่าที่แท้เราเป็นแบบนี้ อ๋อ! เค้าความคิดเปลี่ยนไปแล้ว อ๋อ! เราเองก็เปลี่ยนนี่หว่า

หลังจากอ่านจบ กลับไปฟังเพลง แล้วได้เพลงสองเพลงที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตเลยครับ คือ เพลง ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ ของเฉลียง ที่พูดถึงเรื่องที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ที่รถคันหลังเค้าบีบแตร อาจเพราะมีคนท้องจะคลอดอยู่ในรถเค้าก็ได้ ที่คนนี้เป็นแบบนี้ อาจเพราะเค้ามีเหตุผลแบบนั้น มีภูมิหลังแบบนั้นส่วนอีกเพลงก็คือ เพลง ‘Let it be’ ของ The Beatles ปล่อยมันไปบ้าง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด



อีกเล่มคือ ความคิดคู่ขนาน ของ Edward de Buno เล่มนี้เปิดโลกความคิดเป็นอีกใบนึงไปเลย อ่านจบปุ๊บเราเลิกมองอะไรเป็นขาว-ดำอีกแล้ว ทุกอย่างมันมีถูกมีผิด ที่ว่าดีก็มีแย่ ที่ว่าแย่ก็มีดี ทุกอย่างมีดีทั้งนั้น เลยทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่รีบปฏิเสธความคิดใคร เฮ้ย! เค้าอาจจะถูกก็ได้ พยายามหามุมที่ดีในความคิดเค้าของทุกอย่างมีดี เฮ้ย! แมลงสาบก็มีประโยชน์ของมัน คนเกลียดก็จริง แต่เอาไปเป็นอาหารปลาได้นะ ของที่แย่สำหรับคนคนนึง อาจดีต่อคนอีกคนนึงก็ได้ ความคิดที่ต่างจากเรา จริงๆ แล้วมันสามารถคิดไปด้วยกันได้ ร่วมงานร่วมทางกันได้ แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ยังทำให้กลายเป็นคนไม่ยอมรับว่าอะไรถูก อะไรคือความจริงง่ายๆ และก็ไม่ปฏิเสธอะไรแบบด่วนสรุปเกินไป คือไม่รีบเชื่อเกินไป ก็ดูพุทธๆ ดีเหมือนกัน



อีกเล่มที่เปลี่ยนความคิดที่มีต่อโลกต่ออเมริกาไปเลยคือ มายาโลกาภิวัฒน์ ของ คุณ ยุค ศรีอาริยะ คือเราเป็นคนที่ คิดว่าอเมริกาเป็นฮีโร่มาตั้งแต่เด็ก แต่พอมาเจอหนังสือเล่มนี้แล้วเปิดโลกเลย อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ทำให้ไม่ไว้ใจโลกง่ายๆ ไม่ไว้ใจผู้มีอำนาจง่ายๆ และชวนให้อยากรู้จักประเทศอื่นๆ หรือความสัมพันธ์ หรือการเมืองระหว่างประเทศโน้นประเทศนี้มากขึ้น


ส่วนถ้าเป็นทางด้านรูปแบบก็น่าจะเป็นอาเพศกำสรวลและสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ของพี่วินทร์ เลียววาริณ อ่านแล้วอยากเขียนหนังสือ เฮ้ย! เขียนแบบนี้ได้ด้วยว่ะ การเขียนหนังสือมันน่าสนุกดี ไม่ต้องเขียนแบบเดิมๆ ตลอดก็ได้ มันดีไซด์รูปแบบนำเสนอได้

แล้วอันที่ชอบมากเหมือนกัน จริงๆ แล้วชอบหนังสือเกือบทุกเล่มของพี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) แต่ที่ช็อกที่สุดคือ เมืองมุมฉาก ก็ยอมรับว่าไม่เข้าใจทุกเรื่อง อ่านไม่เข้าใจหมดหรอก คืออ่านแล้วฮึ! อะไรวะนี่ แต่อ่านแล้วสนุกมาก ความสนุกของพี่คุ่นคือภาษา และการพาไปในอีกโลกหนึ่ง บางทีก็ทิ้งเราคาไว้ตรงไหนก็ไม่รู้

แต่ได้มาอ่านสองเล่มหลัง คือ ฝนตกตลอดเวลา กับ ความสะอาดของผู้ตาย รู้สึกว่าเป็นยุคใหม่ของพี่คุ่นครับ มีเรื่องความสัมพันธ์ของคนมากขึ้น และสื่อสารกับคนอ่านมากขึ้น ช่วงหลังเหมือนเค้าเขียนเพื่อคนอื่นมากขึ้น ช่วงแรกเหมือนเขียนออกจากตัวเอง (ยิ้ม)


เดี๋ยวเอาแบบหนังสือเก่าๆ บ้างเนอะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เก๋า ( หัวเราะ)

พอได้อ่านงานพี่คุ่นก็ไปตามอ่านหนังสือของ ฮิวเมอริสต์ ก็รู้สึกว่า สุดยอดเข้าไปอีก สนุกมากๆ

เล่นภาษาได้อร่อยขนาดนี้เชียวรึ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อนิสัยในการเขียน



ถ้าตามไปอ่านฮิวเมอริสต์ เพราะพี่คุ่นแล้วของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ล่ะคะ ?

ก็ชอบครับ ก็ชอบในเรื่องของภาษา และความมันในอารมณ์ แต่บังเอิญว่า เป็นคนที่อ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นแล้วชอบเพลินไปกับเนื้อเรื่อง อะไรที่กระทบความรู้สึกก็จะรู้สึก ณ ตอนนั้น แต่ไม่ได้จดจำเอาไว้ ต่างจากเวลาอ่านหนังสือวิชาการหรือฮาวทู แต่ถ้าเรื่องภาษาก็ต้องยกให้อยู่แล้ว เขาฉายภาพชีวิต และประสบการณ์ของเขาที่โชกโชนมากๆ คล้ายๆ กับเวลาอ่านงานของ คุณชาติ กอบจิตติ เหมือนเค้าพาเราไปเห็นในสิ่งที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นในชีวิตประจำวัน ให้เราได้เห็นชีวิตอีกแบบ ให้ได้คิดถึงคนในสังคมอื่นบ้าง

แต่อย่างงานของ คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ จะรู้สึกกระทบมากกว่า คือเขาชวนให้เราไปคิดถึงคนที่เราไม่เคยคิดถึง เขาชอบเขียนถึงคนชั้นล่าง คนขับแท็กซี่ คนขายของข้างถนน เค้าไปขุดคุ้ยปรัชญาชีวิตจากคนเหล่านั้นขึ้นมาได้ เขาฉายภาพให้เรารู้ว่าพวกเขามีความยากลำบาก อ่านของคุณอาจินต์ แล้วอยากจะสนใจคนเหล่านี้ คงไม่ถึงขั้นจะไปช่วยเหลือ แต่ก็มองคนเหล่านี้อย่างมีคุณค่า ชีวิตพวกเขาก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน คุณอาจินต์เป็นนักเขียนที่ต้องนับถือในความเป็นสุภาพบุรุษครับ เค้าเขียนงานชื่นชมยกย่องคนอื่นตลอด อ่านแล้วรู้สึกว่า เออ...เราน่าจะชมกันมากกว่าด่ากันเนอะ ชมกันมันชื่นใจดี

และก็มีอีกสองคนที่มีผลกระทบต่อความคิดอย่างมาก อันนี้ไม่รู้ว่าเพราะตัวหนังสือหรือตัวเขาก็คือ พี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และก็พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ได้ผลกระทบในเรื่องความฝัน พี่สองคนนี้เป็นนักฝันและเป็นนักลงมือทำ ก็นับได้ว่าเป็น Idol แล้วก็อย่างเพลงของวงเฉลี่ยงก็ใช่ แต่ก็คือตัวพี่จิ๊กอีกนั้นล่ะ



ส่วนหนังสือแปลเจ้าตัวออกปากว่าอ่านน้อย นี่ขนาดอ่านน้อยนะ ยังโปรดเสียหลายเล่ม

เพื่อนยาก (OF MICE AND MEN) ของ จอห์น สไตน์เบ็ก ก็สุดยอดอ่านแล้วโดน ชอบมุมของความสัมพันธ์ของเพื่อนที่รักและสนิทกันมากๆ แถมยังมีเรื่องชีวิตของคนในชนชั้นนั้นซึ่งไม่มีทางออก

ความฝันที่ยังคงเป็นความฝันอยู่วันยันค่ำ เป็นเล่มที่บางๆ ที่อ่านจบแล้วจับประเด็นได้

The Old Man and the Sea เล่มนี้อ่านจบแล้วจำได้ไม่ลืมเลย คาอยู่ในความรู้สึก

ชอบความกลมของเนื้อเรื่อง คือสู้สุดชีวิตแต่ก็ไม่ชนะ แต่ก็ไม่แพ้นะ มันโคตรจริงเลย

ถ้าเป็น หนังสือที่แบบอ่านแล้วติดจัดๆ ก็ต้อง The Ring ทั้ง 3 เล่ม ก็ชอบมากนะ มันเจ๋ง อยากติดตาม วางไม่ลง ไม่หลับไม่นอน อ่านไปก็คิดไปว่า คิดได้ไงวะ

The Da Vinci code ก็โอเค แต่รู้สึกไม่สนุกเท่า The Ring สนุกกว่า มันมีบรรยากาศความน่ากลัว แล้วก็ซับซ้อนกว่า ส่วน The Da Vinci code จะเป็นข้อมูลมากกว่า ความเจ๋งอยู่ที่การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ของเค้า Harry Potter ก็ชอบนะ แต่ไม่ได้อ่านมาหลายเล่มแล้ว

อีกเล่มที่ชอบคือ โต๊ะก็คือโต๊ะ เล่มนี้กวนมาก แต่อ่านแล้วชวนให้คิดอะไรหลายอย่าง

ถ้าพวกวรรณกรรมเยาวชนก็ชอบเรื่องสุดฮิตทั้งสองเรื่องน่ะครับ เจ้าชายน้อย เพิ่งได้กลับไปอ่านเมื่อไม่นานมานี้ แล้วรู้สึกเหมือนย้อนเวลา เออแฮะ...เราลืมความคิดของตัวเราเองไปได้พอโตขึ้น อ่านจบแล้วเราไปบอกเพื่อนเลยว่า อย่างน้อยสองปีน่าจะอ่านทีนึง จะได้ไม่ลืมความเด็กของตัวเอง

อีกเล่มก็ ต้นส้มแสนรัก ถึงทุกวันนี้ยังไม่กล้าอ่านเล่มสองเลย เพราะชอบเล่มแรกมาก และก็ไม่กล้าอ่านครั้งที่สองด้วย กลัวไม่ประทับใจเท่าครั้งแรก เป็นหนังสือเล่มเดียวที่อ่านแล้วร้องไห้ฟูมฟาย อ้อ! อีกเล่มที่ร้องไห้คือ ข้างหลังภาพ ครับ

ช่วงหลัง เห็นคนอื่นเค้าสนใจ Haruki Murakami เยอะ ก็ลองอ่านดู ชอบเล่มที่คุณโตมรแปล “การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก” (South of the Border, West of the Sun) ก็ชอบมากเหมือนกัน Murakami เป็นอีกคนที่เขียนงานมีบรรยากาศ มีจังหวะการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ อ่านงานของเขาบ่อยๆ มันอันตราย มันทำให้ไปดูดจังหวะเขามาได้ หลังจากอ่านได้ 3-4 เล่มก็หยุดพักก่อน เพระมันมีเอกลักษณ์มาก มันเป็นโลกของเขา คล้ายตัวหนังสือของพี่คมสัน (นันทจิต) ถ้าอ่านบ่อยๆ มันจะชิน พอกลับมาเขียนงานของตัวเองจะกลายเป็นโลกของเค้าไป

..
ไม่แปลกถ้าอ่านจบแล้ว คุณรู้สึกว่า รู้จักนิ้วกลมมากขึ้น

ก็แหม ... ขนาดเจ้าตัวยังออกปากว่า “เราอ่านคำตอบของตัวเองเสร็จ แล้ว เข้าใจตัวเองมากขึ้นยังไงก็ไม่รู้”

//www.praphansarn.com/new/c_link/detail.asp?id=151




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 2 กันยายน 2549 16:19:43 น.
Counter : 991 Pageviews.

5 comments
  
เราอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน.... หลายเล่ม
โดย: ดาริกามณี วันที่: 24 พฤศจิกายน 2548 เวลา:19:53:28 น.
  
จริงด้วย
โดย: เอ๋ IP: 202.183.146.5 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2548 เวลา:13:44:43 น.
  
อืม..เห็นด้วย หลายเล่มในนั้นเยี่ยมมากๆ
โดย: รักบังใบ วันที่: 6 มกราคม 2549 เวลา:19:18:34 น.
  
ชอบอ่านหนังสือที่คุณเขียนมากค่ะ อ่านแล้วเป็นธรรมชาติมาก เข้าใจง่าย ไม่เครียด ไม่ต้องตีความหมายมากมาย
โดย: mam IP: 61.47.110.156 วันที่: 8 มิถุนายน 2549 เวลา:17:25:46 น.
  
กำลังอ่าน โตเกียวไม่มีขา ค่ะ ก็เลยอยากรู้จัก นิ้วกลม
ดีจัง ได้รู้ว่านักเขียนที่เราชอบชอบอ่านอะไร
เราก็อ่านของคุ่น กับ ของคุณวินทร์ เหมือนกัน
บล็อกน่าสนใจมากค่ะ แล้วจะแวะมาอีกนะคะ
ยินดีที่รู้จักค่ะ เราอยู่ Location เดียวกันเลย คิดว่าเราอาจเคยเดินสวนทางกันบ้าง แต่ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องรู้จักกัน ..... จนวันนี้ค่ะ
โดย: เจ้านู๋จังไม IP: 203.144.146.2 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2549 เวลา:8:19:53 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาริกามณี
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



Just Do it :


* มีอีกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้

* เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์
รักข้ามรั้ว (หญ้าเจ้าชู้)
ลุ้นสุดฤทธิ์ พิชิตรัก (หญ้าเจ้าชู้)
ภารกิจรักพิทักษ์เธอ (หญ้าเจ้าชู้)
ปีกแห่งฝัน (ดาริกามณี)

* เป็นสาวก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
* เป็นแฟน คาราบาว
* เป็นกิ๊ก เฉลียง
* ฝืนอะไรที่เป็นอื่น ฝืนอัตตา
สูงเทียมฟ้าก็มิเท่า เป็นเราเอง

* การปรากฎตัวของคนคนหนึ่ง
อาจเปลี่ยนใครอีกคนไปทั้งชีวิต

* หากต้องการอ่านนิยายที่ใส่รหัส,
รบกวน "ฝากข้อความหลังไมค์" จ่ะ