ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

บทเรียนจากแคนาดา 10 ปีหลังอนุญาตแต่งงานเพศเดียวกัน



กฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอไป เช่นในแคนาดา ซึ่งรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันมาแล้วถึง 10 ปีแล้ว และเผชิญผลกระทบในแง่ลบจากการเปลี่ยนแปลงนี้หลายประการ


หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า การแต่งงานไม่ใช่จุดจบแบบนิยายรักทั่วไป แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิต กฎหมายรับรองการแต่งงานของกลุ่มรักร่วมเพศก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าการได้สิทธิจากรัฐบาลในการจดทะเบียนสมรสเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี หลังการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคและการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่กฎหมายการนี้ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและธรรมเนียมปฏิบัติหลายๆ อย่างในสังคม ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งการเปลี่ยนแปลงในทางบวกและทางลบ


สังคมแคนาดาเป็นสังคมที่เปิดรับการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายมานานถึง 10 ปีแล้ว และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายประการจากกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์นี้ โดยผลกระทบที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดหลังจากมีการออกกฎหมายที่ได้ชื่อว่าเป็นไปเพื่อรับรองเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศและสร้างความเท่าเทียมในหมู่ประชาชน กลับกลายเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพที่ถูกละเมิด แต่คราวนี้เป็นเสรีภาพของฝ่ายที่ต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศ


โดยนิตินัย การรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติต่อคู่รักร่วมเพศอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทุกประการโดยไม่มีข้อยกเว้น เช่นโบสถ์ในแคนาดา ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะทำพิธีให้คู่เกย์ หรือ เลสเบียน รวมถึงไม่สามารถเผยแผ่คำสอนในเชิงดูหมิ่นหรือต่อต้านรักร่วมเพศได้ ซึ่งทำให้กลุ่มบาทหลวงนิกายโรมันคาธอลิกและกลุ่มเคร่งศาสนาที่ยังคงแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องนี้ ออกมาโจมตีว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาอย่างรุนแรง โดยในระยะหลายปีมานี้ มีบาทหลวงที่ถูกดำเนินคดีจากการเทศนาในเชิงต่อต้านรักร่วมเพศมาแล้วหลายคน


และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การที่สังคมแคนาดาต้องปรับตัวตามกฎหมายโดยการทำให้คู่รักร่วมเพศกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ทำให้ทุกวันนี้ เด็กๆ ชาวแคนาดาต้องเรียนรู้เรื่องของคู่รักเพศเดียวกันตั้งแต่ในวัย 4 ขวบ เช่นแบบเรียนก็ต้องมีเรื่องราวของครอบครัวแม่-แม่-ลูก และ พ่อ-พ่อ-ลูก แทนที่จะเป็นครอบครัวพ่อ-แม่-ลูกแบบที่เราๆ คุ้นเคย ซึ่งนี่อาจจะถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องในการปลูกฝังทัศนคติแบบเปิดกว้างตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่พ่อแม่บางส่วนก็ยังเห็นว่าวิธีนี้ออกจะเป็นการยัดเยียดความคิดเกี่ยวกับรักร่วมเพศให้เด็กเร็วเกินไป


อีกประเด็นที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมแคนาดากำลังถกเถียงกันมาก ก็คือการเปลี่ยนแปลงนิยามของครอบครัวและการแต่งงาน อันเป็นผลมาจากการยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกัน โดยการทำลายกรอบนิยามของการแต่งงานในฐานะการผูกสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง ให้เปิดกว้างกลายเป็นเพียงการบรรลุเป้าหมายในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ ทำให้มีชาวแคนาดาบางกลุ่มเรียกร้องให้การแต่งงานเปิดกว้างมากขึ้นจนครอบคลุมถึงการมีสามี หรือ ภรรยาทีละหลายๆ คน หรือ Polygamy โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งผิดหลักศาสนาคริสต์ เกิดขึ้นได้ การมีสามีหรือภรรยาทีละหลายๆ คน ซึ่งผิดหลักศาสนาคริสต์ไม่ต่างกัน ก็จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายได้เช่นเดียวกัน


บทเรียนจากแคนาดาสะท้อนความจริงที่ว่า การอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมาย ไม่ได้ส่งผลต่อเพียงกลุ่มรักร่วมเพศเท่านั้น แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลทั้งทางวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตทั่วไปของคนทั้งประเทศ จึงเป็นเรื่องที่คงต้องมีการเตรียมการรับมืออย่างจริงจัง หากจะมีการเปลี่ยนแปลงในทำนองเดียวกันนี้กับประเทศไทยของเรา



ที่มา
//news.voicetv.co.th/global/63187.html



Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2556 18:22:19 น. 0 comments
Counter : 2060 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sitcomthai
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 53 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add sitcomthai's blog to your web]