Group Blog
 
All blogs
 
5 ศาสตร์ยอดฮิต พิชิตความดันโลหิตสูง

    ปวดหัว


    5 ศาสตร์ยอดฮิตพิชิตความดัน (ชีวจิต)
    เรียงเรียงโดย พาฝัน รงศิริกุล

    สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงส่วนหนึ่งมาจากอาการที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ดังนั้น ถ้าเรารู้จักเลือกกินอย่างถูกต้อง โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงใส่เกิดภาวะความดันโลหิตสูง แล้วหันมากินอาหารที่ไม่แสลงต่อโรคและช่วยเสริมภูมิชีวิต อาหารก็จะเป็นยารักษาโรคอันประเสริฐ

           วันนี้ ชีวจิต จึงรวบรวมสูตรสำเร็จจาก 5 ศาสตร์ที่จะช่วยให้คุณปราบโรคความดันโลหิตสูงได้อยู่หมัดและเปลี่ยนให้คุณเป็นคนใหม่ที่มีสุขภาพ แข็งแรงเกินร้อยมาฝากกันค่ะ ใครชอบศาสตร์ไหน ลองเลยค่ะ


    ชีวจิต

    ศาสตร์ 1 ชีวจิต

               อาจารย์สาทิส อินทรกำแพหง กูรูต้นตำรับชีวจิต กล่าวว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เราเป็นนั้นล้วนเกิดมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ตรงกันข้าม ถ้าเรากินให้ถูกต้อง อาหารก็จะกลายเป็นสิ่งวิเศษที่ทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ

    ช่วยบำรุงเลี้ยงร่างกาย
    ช่วยซ่อมแซมสิ่งสึกหรอในร่างกาย
    เป็นยารักษาโรคให้แก่ร่างกาย

    แต่การกินอาหารให้ได้ประโยชน์ครบ 3 อย่างนี้ จะกินตามใจปาก ตามใจท้อง หรือกินโดยยึดเอาความอร่อยเป็นที่ตั้งอย่างเดียวคงไม่ได้

               อาจารย์สาทิสกล่าวไว้ในหนังสือ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิตเล่ม 4 ว่า โรคความดันโลหิตสูงสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไขมันในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไขมัน และอาหารหวานมันมากเกินไป ดังนั้น วิธีแก้ง่าย ๆ ก็คือหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้เสีย

               อาหารชีวจิตเน้นการกินผักและโปรตีนจากพืชหรือจากปลาแทน เพราะเนื้อปลามีไขมันชนิดดี ที่ช่วยขจัดไขมันชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ปลาจึงเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาความดันโลหิตสูงและไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล เพราะมีไอโอดีน ส่วนข้าวกล้องหรือข้าวที่ยังไม่ได้ขัดสีมีสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามิน โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ อยู่ครบถ้วน ในขณะที่ข้าวที่ขัดสีแล้ว จะสูญเสียวิตามินไปหมดสิ้น เหลือเพียงแป้งขาวหรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งทำให้อ้วน

    ฉะนั้น อาหารชีวจิตจึงเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาความดันโลหิตสูงเป็นที่สุด

    กินอาหารชีวจิต

    อาจารย์สาทิสมีสูตรการกินอย่างง่าย ๆ สไตล์ชีวจิตที่เหมาะกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงเป็นอย่างยิ่ง หรือคนปกติทั่วไปแม้ไม่ป่วยก็กินได้ ดังนี้

    1. กินข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวซ้อมมือ ถ้าชอบขนมปังก็กินขนมปังโฮลวีท ปริมาณของข้าวหรือแป้งนี้รวมกันแล้วให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารแต่ละมื้อ

    2. กินผักสดและผักปรุงสุกอย่างละครึ่ง รวมกันแล้วเป็นปริมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ

    3. กินโปรตีนจากพืช คือ ถั่วต่าง ๆ และผลผลิตจากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตรรวมแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ และให้เพิ่มปลาหรืออาหารทะเลได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

    4. กินอาหารเบ็ดเตล็ด เช่น สาหร่ายทะเลเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ผลไม้ไม่หวานในปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของอาหารแต่ละมื้อ


    อาหารเพื่อสุขภาพ


    สูตรสร้างตัวเองเป็นคนใหม่ใน 14 วัน

               สำหรับโรคที่ไม่มีเชื้อโรคอย่างความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง สูตร 14 วันของอาจารย์สาทิสจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ชีวจิตขอแนะนำให้ลองปฏิบัติ เวลา 14 วันอาจทำให้คุณกระเถิบไกลจากความเจ็บป่วยทั้งกายและใจ อย่ารีรอ ลองมาปฏิบัติกันเลย ดังนี้

    อาหาร

    งดน้ำชา กาแฟ และบุหรี่ ให้ดื่มชาสมุนไพร เช่น ชาเก๊กฮวย มะตูม ดอกคำฝอย แทน

    ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 60 กิโลกรัม วันแรกของรายการให้งดอาหาร ดื่มน้ำมะนาวสด ๆ คั้น 3 ลูก ตอนเช้าและเย็น หลังจากนั้นให้ดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ขวด จะดื่มน้ำสมุนไพรสลับบ้างก็ได้ และวันแรกของรายการให้นอนพักตลอดวัน

    รับประทานอาหารตามสูตรชีวจิต แต่ 3 วันแรกของรายการให้ปรับอาหารเป็นผัก-ข้าวทั้งหมด

    วันที่ 4-6 รับประทานอาหารเบา ๆ เช่น ข้าวต้ม ตั้งแต่วันที่ 7 จนถึงวันที 14 จึงรับประทานอาหารได้เต็มที่ (มีอาหารทะเลได้) ตลอดรายการห้ามปรุงอาหารรสจัด

    ดื่มน้ำคั้นจากผัก เช่น น้ำแตงกวา น้ำขึ้นฉ่ายหรือเซเลอรี่ ครั้งละ 1 แก้ว วันเว้นวัน

    ตั้งแต่วันที่ 4 เป็นต้นไป รับประทานวิตามินและแร่ธาตุเสริมได้


    แพทย์แผนไทย


    ศาสตร์ 2 แพทย์แผนไทยประยุกต์

               แพทย์แผนไทยประยุกต์เป็นแพทย์แผนไทยแบบใหม่ ซึ่งต่างจากแพทย์แผนไทยแบบเดิม (โบราณ) ตรงที่ผนวกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามามากขึ้น จึงช่วยให้แพทย์แผนไทยประยุกต์นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

    แพทย์แผนไทยประยุกต์ได้อธิบายถึงมูลเหตุการณ์เกิดโรคว่ามาจากสาเหตุ 8 ประการ ได้แก่ อาหาร อิริยาบถ ความร้อน-ความเย็น การอดนอน-อดข้าว-อดน้ำ กลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะ ทำงานกินกำลัง ความเศร้าโศกเสียใจ และมีโทสะมาก

               วันใดวันหนึ่งหากสาเหตุทั้งแปดประการมากระทบธาตุทั้งสี่ในร่างกาย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ จนเกิดการแปรปรวน เมื่อนั้นโรคภัยไข้เจ็บก็จะถามหา

               คุณลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์ ผู้จัดการคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม ในพระสังฆ-ราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกล-มหาสังฆปริณายก และในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า

    "ถ้ามองในเรื่องมูลเหตุของโรคตามหลักการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ไขมันในเลือดสูง (ส่งผลให้ความดันในเลือดสูง) นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการกิน คือกินอาหารมันมากเกินไป ทำให้เสมหะ (ธาตุน้ำ) กำเริบ และตัวความมันยังมีความร้อน เมื่อมากระทบร่างกายก็ทำให้ปิตะ"


    แพทย์แผนไทย

    ศาสตร์ 3 การแพทย์แผนไทย

               การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการห่างไกลโรค ด้วยการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งกายและใจ พร้อมกับหวนคืนสู่ธรรมชาติ

               ตำราการแพทย์แผนไทยได้พูดถึงสาเหตุของโรคว่า เกิดจากการขาดสมดุลของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ)

    มูลเหตุของโรคจะเกิดจากธาตุทั้งสี่ ถ้าธาตุทั้ง 4 อยู่ในภาวะที่สมดุลร่างกายก็จะอยู่ในสภาพปกติ แต่ถ้าธาตุใดหย่อน พิการ หรือกำเริบสภาวะสมดุลของร่างกายก็จะหมดไป รวมถึงอายุที่เปลี่ยนไป ถิ่นที่อยู่อาศัย และอิทธิพลของกาลเวลาที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

               คุณบุญยืน ผ่องแผ้ว หรือ หมอน้อย แพทย์แผนไทยพื้นบ้านจากบ้านหนองบง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรลองสังเกตตัวเองดูบ้าง ว่ามีอาการตาฝ้าฟาง ปวดศีรษะจี๊ด ๆ หายใจไม่เต็มอิ่ม เหนื่อยง่าย จุกในทรวงอก เกิดเป็นตุ่มนูนตามผิวหนัง ตามเส้นเลือดทั่วตัวหรือไม่ ถ้ามีก็อาจเข้าข่ายเป็นไขมันในเลือดสูง และถ้าลิ้นมีตุ่มปลายมนสีแดงที่โคนลิ้น หมอน้อยก็จะฟันธงได้เลยว่า ในร่างกายมีย้ำตาลและคอเลสเตอรอลสูงอย่างแน่นอน

               "ส่วนความดันโลหิตสูงนั้นก็จะดูว่าที่บริเวณตาขาวมีเส้นเลือดปรากฏขึ้นมาหรือเปล่า" หมอน้อย กล่าว เพราะธาตุไฟกำเริบตามไปด้วย

    "ส่วนการรักษานั้นจะไม่พึ่งยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการกินและการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเลือดลงได้มาก"

               นี่คือแนวทางการรักษาตามแบบฉบับแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่คุณลัดดาวัลย์เน้นย้ำ โดยแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามหลักธรรมานามัย ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจอย่างยั่งยืน

    ธรรมานามัยประกอบด้วย

    กายานามัย การออกกำลังกาย การกินอาหารให้ถูกกับธาตุ กินแต่พอเหมาะ มีสติในการกิน การนอน ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท

    จิตตานามัย การฝึกสมาธิให้จิตเข้มแข็ง จิตมีพลังจะเกิดปัญหา เกิดความสุขสงบ ย่อมจะทำให้ความต้านทานโรคดีขึ้น ไม่ตามใจตนเองด้วยก็เลส และความอยาก

    ชีวิตานามัย การดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลางย่อมไม่เกิดความเครียด รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ รวมถึงการดำเนินชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ

    สมุนไพรไทย


    กินอาหารเป็นยา

               หมอน้อยแนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรรสร้อน เช่น ขิง ตะไคร้ ต้นพริก โดยนำมาตากแห้งแล้วชงดื่มแทนน้ำชา จะช่วยขับเหงื่อและละลายไขมันให้ออกไปจากร่างกาย

               กินผัก 3 รส คือ รสขม ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ รสเปรี้ยว ช่วยละลายเลือด ทำให้ไหลเวียนคล่องช่วยให้ความดันโลหิตลด และรสจืด ช่วยบำรุงเลือด

               บางครั้งถ้าความดันโลหิตขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน หมอน้อยก็แนะนำยาดีจากกันครัวอย่างผลมะกรูด นำมาผ่าแล้วบีบเอาแต่น้ำ เติมน้ำร้อนและเกลือเล็กน้อย ดื่มทันที จะช่วยให้ความดันโลหิตลดได้ทันใจ


    ฝังเข็ม


    ศาสตร์ 4 การแพทย์แผนจีน

    หยิน-หยาง เหตุแห่งความดันโลหิตสูง

              แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์แผนจีน อธิบายว่า โดยปกติร่างกายของเรานั้น หยินกับหยางจะสมดุลกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น หยินหรือกายเนื้อจะลดลงตามธรรมชาติ โดยหายไปครึ่งหนึ่ง พอหยินตก (หยินพร่อง) แต่หยางยังอยู่เท่าเดิม จึงดูราวกับว่าร่างกายมีหยางมากกว่าหยิน

              ส่วนหยาง คือความร้อน เป็นลม เป็นพลังงานเมื่อไม่มีหยินควบคุมเพราะหยินพร่อง หยางก็จะลอยขึ้นมาที่ศีรษะพร้อมกับเลือด เลือดซึ่งมาคั่งที่ศีรษะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดแบบมึนตึบ ๆ แน่น ๆ ซึ่งเป็นอาการของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

              ส่วนภาวะไขมันในเลือดสูง ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน คุณหมอศรันยาอธิบายว่า ต้นเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบตับ (การเดินของเลือดลม / ความเครียด) และระบบม้าม (ระบบย่อยทั่วร่างกาย) ตามแบบแผนจีน

    "ความเครียดที่สะสมจะทำให้ระบบตับ (การเดินของเลือดลม / ความเครียด) อ่อนแอและเกิดเป็นความร้อนจนไปทำร้ายระบบม้าม (ระบบย่อยทั่วร่างกาย) จนประสิทธิภาพการทำงานของระบบม้ามลดลงและส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร แพทย์แผนจีนเชื่อว่าจะทำให้มีความชื้นส่วนเกินและเกิดเสลดสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมาก"

              "เสลดและความชื้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นน้ำหนืด ๆ ถ้าสะสมในร่างกายนาน ๆ จะข้นขึ้นและกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ จนก่อให้เกิดโรคเรื้อรังที่อวัยวะนั้น" คุณหมอศรันยา กล่าว

    กินเพิ่มหยิน

              คุณหมอศรันยาบอกว่า อาหารเพิ่มหยิน หรือมีสรรพคุณเย็น เมื่อกินเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายรู้สึกเย็น ได้แก่ฟักเขียว ถั่วงอก ผักกาดขาว แตงโม น้ำเก๊กฮวย

    ไม่ควรกินอาหารสรรพคุณร้อน เช่น ขิง ขนุน ลำไย ทุเรียน หรือดื่มกาแฟ

              การรู้จักเลือกกินอาหารเพิ่มหยินเพื่อความเย็นในร่างกายจึงช่วยควบคุมหยางให้สมดุลได้ในระยะยาว


    โยคะ

    ศาสตร์ 5 อายุรเวท

              แม้จะเป็นศาสตร์โบร่ำโบราณ แต่กาลเวลากลับไม่ได้ทำให้ศาสตร์อายุเวทตกยุคหรือล้าสมัยไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่อย่างใด

              ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน ผู้เขียนหนังสือ หลอดเลือดแข็งตีบตัน ป้องกันได้ เคยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองโดยรักษาด้วยการแพทย์ผสมผสานและศาสตร์อายุรเวท อธิบายว่า

    ตามตำราอายุเวทบอกว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีธาตุพื้นฐานหรือปัญจมหาภูตรูปอยู่ 5 ชนิด ซึ่งคล้ายคลึงกับการแพทย์แผนไทย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ

              ร่างกายของคนเราก็มีพื้นฐานทั้ง 5 อย่างนี้เหมือนกัน โดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มของลมหรือวาตะ กลุ่มของดินและน้ำ ซึ่งเรียกรวมกันว่าเสมหะ และกลุ่มที่ 3 คือ ไฟ

    "กลุ่มที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงนั้นเกิดจากการสะสมของเสมหะ คือ ดินและน้ำมาก การดูแลและป้องกันการเกิดโรคจึงต้องมาดูกันว่ามีอาหารอะไรบ้างที่เพิ่มดินและน้ำ (เสมหะ) ให้เรา ซึ่งในอายุเวทได้ระบุไว้ชัดเจนว่าคือ อาหารหวาน อาหารมัน และอาหารเค็ม ซึ่งตรงกับการแพทย์แผนปัจจุบัน" คุณหมอเฉลียว กล่าว

    อดอาหารในแนวทางอายุรเวท

              คุณหมอนเฉลียว แนะนำว่า การอดอาหารในแนวทางของอายุเวท ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเลือดอย่างได้ผล เพราะเมื่ออดอาหาร น้ำย่อยในร่างกายจะยังคงออกมาตามธรรมชาติ แต่เมื่อในกระเพาะอาหารไม่มีอาหาร น้ำย่อยก็จะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายแทนและขับสิ่งที่เป็นพิษในร่างกายออกมา

    หลักการอดอาหาร 1 วันแบบอายุรเวท

    อดอย่างแรง คือ งดอาหารและน้ำ
    อดอย่างปานกลาง คือ ดื่มน้ำได้
    อดอย่างเบา คือ ดื่มน้ำผลไม้ได้

    กินอย่างอายุรเวท

              อายุรเวทได้กล่าวถึงความสำคัญของอาหารที่เรากินว่า อาหารคือ สิ่งที่ไปสร้างสรรค์กายและหล่อเลี้ยงจิตใจ ดังนั้น อาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ จึงไม่ช่วยให้เกิดสมาธิ เพราะกระตุ้นให้ระบบย่อยทำงานมากกว่าปกติ


    ได้ความรู้เรื่องการกินเพื่อลดความดันโลหิตกันไปแล้ว ชีวจิตยังมีของแถมท้ายเป็นสูตรอาหารลดความดันโลหิตให้คุณผู้อ่านไปลองทำกินเอง รับรองว่าอร่อย คุณค่าอาหารครบ และปลอดภัยจากโรคความดันโลหิตสูงอย่างแน่นอน

    เมนูอาหารลดความดัน ปลาเก๋าผัดพริกหวานกับมันฝรั่งอบ

    ส่วนผสม

              เนื้อปลาเก๋าหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ    300    กรัม
              มันฝรั่ง                1    หัว
              น้ำมันมะกอก            2    ช้อนโต๊ะ
              หอมหัวใหญ่สับ            2    ช้อนโต๊ะ
              เซเลอรี่ซอยบาง            ¼    ถ้วย
              พริกหวานสีเขียวและเหลืองหั่นเป็นเส้นบาง    ¼    ถ้วย
              มะเขือเทศลูกเล็กหั่นตามขวาง    ¼    ถ้วย
              พริกไทยป่น            ¼    ช้อนชา
              น้ำมะนาว            ¼    ถ้วย
              ผงกระเทียม (ไม่ใส่ก็ได้)        ¼    ช้อนชา
              ผงปาปริก้า (ไม่ใส่ก็ได้)        ¼    ช้อนชา


    วิธีทำ

    1. หั่นมันฝรั่งทั้งเปลือก (แบ่งออกเป็น 8 ส่วน) วางในถาดสำหรับอบ เทน้ำมันมะกอกลงไปเล็กน้อย เสร็จแล้วนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 220 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที นำออกจากเตาแล้วพักไว้

    2. นำเนื้อปลาเก๋าที่หั่นแล้วมาแช่น้ำมะนาวสักพัก พอให้น้ำมะนาวซึมเข้าเนื้อปลาดีแล้วเทออก พักไว้

    3. ผัดหอมหัวใหญ่ เซเลอรี และพริกหวานให้เข้ากัน โรยพริกไทยป่น ผงปาปริก้า และผงกระเทียม ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง จากนั้นใส่เนื้อปลาที่พักไว้ในข้อ 2 และมะเขือเทศลงไปหรี่ไฟอ่อน ปิดฝาหม้อ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมมันฝรั่งอบ


    เกร็ดข้างจาน

    เนื้อปลา มีไขมันชนิดดีที่ช่วยขจัดไขมันชนิดเลว ออกไปจากร่างกายได้ จึงเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไขมันไม่เลือดสูง

    พริกหวาน ช่วยลดความดันโลหิต โดยทำให้หลอดเลือดอ่อนตัว และช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

    ซเลอรี่ ช่วยลดความดันโลหิต มีปริมาณโซเดียมต่ำ การบริโภคน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว ยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดและช่วยให้ผนังหลอดเลือดแดงทำงานดีขึ้น

    อาหารให้โรคความดันโลหิตสูงไปแล้วไปลับไม่กลับมาแวะเวียนอีก อย่าลืมเข้านอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้าขึ้นมารับแสงวันใหม่ หมั่นออกกำลังกายทุกเช้า และเจริญสมาธิควบคุมสติอารมณ์ เพียงแค่นี้คุณก็จะมีสุขภาพกายใจที่สมบูรณ์และมีชีวิตที่มีความสุข

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก

    คู่มือรักษา 3 โรคยอดฮิต เบาหวาน ความดัน หัวใจ



Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2557 20:00:51 น. 0 comments
Counter : 1521 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.