Group Blog
 
All blogs
 
โรคตาดับ...หมั่นจับสังเกตตัวเอง ก่อนมองไม่เห็น

    ดวงตา


    โรคตาดับ (หมอชาวบ้าน)
    โดย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เมื่อหลายปีก่อน คนไทยคงได้ยินโรคใหม่โรคหนึ่งคือ "โรคหูดับ" คือภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถในการได้ยินอย่างเฉียบพลัน สำหรับอวัยวะที่มีความสำคัญอีกอวัยวะหนึ่งคือ "ดวงตา" ก็อาจเกิดปัญหา "โรคตาดับ" ได้เช่นกัน

              โรคตาดับ หมายถึง โรคหรือภาวะที่มนุษย์มีการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างเฉียบพลัน อาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน โดยอาจมีสาเหตุได้จากหลายโรค เช่น โรคต้อหินเฉียบพลัน โรคของจอประสาทตา หรือโรคของเส้นประสาทตา

              ความสำคัญที่เราต้องรู้จักกับภาวะตาดับ เพราะหลาย ๆ โรคอาจสามารถได้รับการรักษาให้กลับมามองเห็นอีกครั้งได้ แต่มักต้องเป็นการรู้ตัวอย่างทันทีและได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ด้วยวิธีที่เหมาะสมในเวลาอันรวดเร็ว

    ดังนั้น คงต้องขอแนะนำท่านผู้อ่านให้มีการสังเกตความสามารถในการมองเห็นของตาตนเองเป็นระยะ ทั้งการมองเห็นของตา 2 ข้างพร้อมกัน หรือการทดสอบปิดตามองทีละข้างเพื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ตาเป็นระยะ หรือเมื่อเกิดอาการผิดปกติสงสัยว่าตาข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ ต้องทำการทดสอบและหาทางเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

    หากแบ่งสาเหตุของโรคตาที่ทำให้เกิด "โรคตาดับเฉียบพลัน" สามารถแบ่งตามลักษณะอาการปวดที่พบร่วมกับการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้ 2 กลุ่มดังนี้

    กลุ่มที่ 1 สาเหตุตาดับจากโรคที่การมองเห็นแย่ลงโดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย

    กลุ่มที่ 2 สาเหตุตาดับจากโรคที่การมองเห็นแย่ลงโดยมีอาการปวดตาร่วมด้วย


    ดวงตา


    โรคที่การมองเห็นแย่ลงโดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย

    1. โรคหลอดเลือดแดงจอประสาทตาอุดตัน (Central retinal artery occlusion) จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาข้างใดข้างหนึ่งมืดลงทั้งหมดอย่างทันทีในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย โรคนี้เป็นโรคร้ายแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์อย่างรวดเร็วภายในเวลา 6-24 ชั่วโมงจึงอาจมีโอกาสกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

    2. โรคจอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ การลอกตัวของจอประสาทตา จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นเหมือนมีม่านดำบังการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่ง เริ่มเห็นเป็นเงาดำ บางบริเวณและขยายขนาดเงาดำกระทั่งอาจมองไม่เห็นอย่างสมบูรณ์ ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเห็นจุดหรือเส้นดำลอยไปมาจากภาวะวุ้นในตาเสื่อม หรือมีอาการเห็นฟ้าแลบในตาข้างนั้นนำมาก่อน หรืออาจไม่มีอาการใดนำมาก่อนเลยก็ได้

    3. โรคเลือดออกใต้จุดรับภาพ (Submacular hemorrhage) อาจเกิดตามหลังผู้ที่มีปัญหาจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ หรือเคยมีอุบัติเหตุกับดวงตาทำให้เกิดหลอดเลือดผิดปกติบริเวณใต้จุดรับภาพ และเกิดภาวะเลือดออกใต้จุดรับภาพ ทำให้การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลงทันที และอาจขยายขนาดบริเวณการมองเห็นที่ถูกบังได้ เช่นเดียวกับโรคจอประสาทตาลอก


    โรคที่การมองเห็นแย่ลงโดยมีอาการปวดตาร่วมด้วย

    1. โรคต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวข้างใดข้างหนึ่งร่วมกับอาการปวดบริเวณดวงตาและศีรษะข้างนั้นอย่างรุนแรง ภายในเวลาไม่กี่นาทีถึงชั่วโมงตาข้างนั้นจะแดงและมัวลงอย่างมาก จากภาวะความดันในลูกตา บางรายอาจปวดศีรษะมากกระทั่งคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย หากสงสัยอาการจากโรคต้อหินเฉียบพลันต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว

    2. โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ตา โดยมักมีอาการปวดลึก ๆ ในตาเมื่อมีการกลอกตา การสูญเสียการมองเห็นอาจเป็นทุกบริเวณหรือเป็นเฉพาะบางบริเวณก่อนในช่วงแรก การให้การรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้สามารถกลับมามองเห็นใหม่ได้

              จะเห็นได้ว่า "โรคตาดับ" เป็นภาวะอันตรายต่อดวงตา อาจเกิดจากโรคร้ายแรงทางตาได้หลายโรค ดังนั้นหากพบผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นอย่างเฉียบพลัน ควรรีบสังเกตให้เร็วที่สุดและไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้ภาวะโรคตาดับสามารถได้รับการรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก




Create Date : 18 มกราคม 2557
Last Update : 18 มกราคม 2557 18:55:57 น. 0 comments
Counter : 847 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.