Group Blog
 
All blogs
 

กลางชีวิตอันมั่นคง ณ บ้านดง-บ้านต่อแพ จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน
บ้านดง แม่ลาน้อย และบ้านต่อแพ ขุนยวม ที่ที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม


กลางชีวิตอันมั่นคง บ้านดง-ต่อแพ (อ.ส.ท.)

ฐากูรโกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

หลายวันกลางหุบเขาเราไม่อาจลืมห้วงเวลาเช่นนั้นไปได้ มันย้ำเตือนให้ใครสักคนที่ดั้นด้นขึ้นมาถึงที่นั่นรำลึกอยู่เสมอว่า ที่ทางบางประเภทก็อาจเกิดมาเพื่อใครบางคน อาจไร้เหตุผลอธิบายกับสิ่งที่ปรากฏตกหล่นอยู่ตรงหน้า ทว่าก็เด็ดเดี่ยวและทระนงเกินกว่าจะไหวเปลี่ยนไปตามทิศทางโยกคลอนใด ๆ คืนหนึ่งกลางม่านฝนคลี่คลุมยอดดอย หมู่บ้านของชาวละว้าแห่งอำเภอแม่ลาน้อยต้อนรับเราด้วยภาพขุนเขาและผู้คนที่ปักหลักหันหน้ามองแผ่นดินผืนเดิม ด้วยดวงตาและความคิดความเชื่ออันแสนจริงแท้

          ขณะ ณ ที่ราบกลางแอ่งหุบเขาไม่ไกลกันที่อำเภอขุนยวม ชีวิตที่พ้นผูกอยู่กับพระพุทธศาสนาล้วนเล่าขานตัวตนของหมู่บ้านชาวไทยใหญ่แห่งหนึ่งไว้อย่างสงบงัน เนิบเนื่องงดงาม ทว่าคงทนราวมันไม่เคยหายสูญ ระหว่างคืนวันกลางคดโค้งของขุนเขา เราใช้บางช่วงของทางหลวงหมายเลข 108 ค่อย ๆ พาตัวเองไปเป็นหนึ่งเดียวกับแววตาผู้คนในบางหนแห่งของแม่ฮ่องสอน กลางนาข้าวเขียวอิ่มตาซ้อนตัวเองเป็นเชิงชั้น หรือรอยยิ้มจากเฒ่าชราอันแสนอบอุ่นในวันฝนพรำ ไม่มีสิ่งใดงดงามไม่กว่าภาพเป็นตัวของตัวเองอย่างที่มันเคยเป็นมา และการข้ามผ่านของวันเวลาก็ดูเหมือนจะไม่ไร้ค่าและขาดห้วง

แม่ฮ่องสอน
บ้านดง คือชุมชนชาวละว้าอันเติบโตเหนือยอดดอยแห่งแม่ลาน้อย ชีวิตรุ่นต่อรุ่นมีหนทางที่ดีขึ้น ควบคู่กับบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง

          1. เรามาถึงแม่ลาน้อยหลังคืนค่ำยาวไกลจากเมืองหลวง ถนนสายสวยเส้นเดิมกำกับหมายเลข 108 มันดำสนิทยามหมาดฝน รอบข้างเขียวรื่นเย็นตาเมื่อป่าเขาเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด จากแยกเล็ก ๆ หน้าที่ทำการไปรษณีย์แม่ลาน้อย ทางดำชั้นดีอย่างทางหลวงหมายเลข 1266 ไต่ลัดพารถคันเล็กขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับทะเลภูเขาที่โอบล้อม รถกระบะเขรอะดินแดงที่สวนลงมาบ่งบอกว่านี่คือฤดูทางยากของข้างบน ไร่ถั่วแดงหลวงแผ่ผืนต้นอ่อนสีเขียวไล่ลัดไปตามผืนภูเขา หมอกลงจัดแม้ยามใกล้เที่ยง ไม่มีสิ่งใดงดงามไปกว่าการจอดรถยืนมองมันด้วยตาเปล่า

กว่า 30 กิโลเมตร จากทางสายหลัก พาใครสักคนพรึงเพริดกับวิวภูเขากระจ่างตาสองข้างทาง จากไร่ข้าวโพดแถบล่างดอย เมื่อเราขึ้นสู่ความสูงไปเรื่อย ๆ พื้นที่ทำกินกลับกลายเป็นป่าทึบสมบูรณ์รวมไปถึงที่ทางที่ใครสักคนได้ปักหลักอยู่ร่วม เฮือกสุดท้ายที่ถนนเหวี่ยงเราไปมา เบื้องหน้าราวพรมสีเขียวที่มีหมอกไหลเอื่อยคลี่คลุม หมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งวางตัวอยู่ในโอบล้อมทุกทิศทางของผืนนาขั้นบันได เพื่อนร่วมทางแยกกันหามุมงดงามสำหรับบันทึกภาพ เราดิ่งลงไปสู่ "บ้านดง" หมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าละว้าอันแสนเก่าแก่แห่งตำบลห้วยห้อม โลกตรงหน้าเงียบเชียบอันเป็นผลมาจากนาขั้นบันไดอันสวยงามไพศาลนั้นดึงพวกเขาไปสู่การงาน

          "แต่ก่อนเราอยู่กับป่ากับดอย วัน ๆ มีแต่ปลูกข้าวกับหาของป่า" คำว่า "แต่ก่อน" ที่ พ่อเฒ่าบุญสม แก่นเจิง หมายถึงนั้นกินเวลาต่อเนื่องยาวนานย้อนไปในอดีตนับ 300 ปี เรานั่งอยู่กับชายชราในวันที่ทุกอย่างดูมั่นคง อากาศฉ่ำฝนนอกชานบ้านเย็นชื่น มองลงไปเห็นนาข้าวแปลงสวยที่กำลังแตกกอ หมู่บ้านเล็ก ๆ กลางแดนดอยของแม่ฮ่องสอนแห่งนี้มีที่มาจากผู้คนชาวละว้าจาก 4 ตระกูล ที่อพยพโยกย้ายมาจากต่างที่ต่างถิ่น ทั้งตระกูลกวนจุยะ กวนลวด โกลงปัด และตระกูลสะมัง ตกทอดเป็นหมู่บ้านกลางป่าเขาที่ความคิดความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษมีคุณค่าสำหรับพวกเขาพอ ๆ กับการเพาะปลูกอยู่กิน

แม่ฮ่องสอน
(ธนดิษ ศรียานงค์...ภาพ)

ช่วงหนึ่งลงบุญสมก็เคยดำรงตำแหน่งพ่อหลวงของหมู่บ้าน "ที่นี่มันยากไร้ ในหลวงท่านเสด็จมาบอกให้เรารู้จักปลูกผัก เลี้ยงหมู รักษาป่า"

เรายืนกันอยู่หน้า "เสาสะก้าง" อันเป็นเหมือนสัญลักษณ์และศูนย์รวมศรัทธาของคนที่นี่ มันสลักเสลาอย่างง่าย ๆ ต้นเล็กปักล้อมต้นใหญ่ ต้นหนึ่งเท่ากับผู้นำคนหนึ่ง บ่งบอกถึงความต่อเนื่องยาวนานของหมู่บ้าน จากครั้งที่บ้านดงคือหมู่บ้านของคนละว้าอันห่างไกล ผู้คนข้างบนนี้รู้จักสัมผัสสัมพันธ์กับคนข้างล่างก็เพียงยามที่เป๊อะข้าวดอยและของป่าลงไปแลกเกลือหรือปลาเค็ม ซึ่งมันคือของกินอันมีค่าสำหรับคนข้างบนนี้

แม่ฮ่องสอน

          ต่อหน้าเสาสะก้างและเรือนไหว้ผีโบราณที่ด้านในคือกลองไม้อันแสนเก่าคร่ำ พ่อเฒ่าประกอบพิธีกรรมไหว้ผีให้เราชม ความเชื่อจากอดีตอันไม่เคยตกหล่นของที่นี่ถูกถ่ายทอดผ่านการไหว้ผีตะงอเพื่อความอยู่ดีมีสุข กลางหมู่บ้านอันเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของวันเวลา

          ทุกวันนี้คนละว้าบ้านดงเต็มไปด้วยความศรัทธาอันหลากหลาย ทั้งพุทธและคริสต์ ซึ่งมันประกอบกันขึ้นในนามของการเปลี่ยนแปลง ทว่าคนอย่างพ่อเฒ่าบุญสมยังรู้สึกสบายใจกับทิศทางเดิม ๆ ที่หล่อหลอมพวกเขาขึ้นมา

"เดี๋ยวนี้เด็กใหม่ ๆ มันเริ่มไม่เห็นด้วย คนที่ถือศาสนาก็อีก แต่เราก็ทำตามปู่ย่าที่เคยทำมา" นาทีเช่นนี้ถนนเล็ก ๆ กลางหมู่บ้านราวลานศักดิ์สิทธิ์ และเหล้าขาวจอกนั้นที่ราดรดไปโคนเสาสะก้างก็เปี่ยมไปด้วยความหมาย

แม่ฮ่องสอน

หมู่บ้านอันแน่นหนามั่นคงวางตัวเองไปตามลาดเนินของดงดอย เราค่อย ๆ เดินเลาะไปตามโอบล้อมอันน่าทำความรู้จัก แม่เฒ่าในชิ่นลายสวยสวมลูกปัดสีสดเต็มแผงคอยืนสูบใบยาสบายอารมณ์ เรือนคนละว้าแบบโบราณแทบไม่ปรากฏ หากแต่เมื่อก้าวย่างขึ้นไปตามแต่ละบ้าน ครัวไฟกรุ่นควันฟืนที่แยกส่วนตามแบบฉบับบ้านคนละว้าดั้งเดิมยังคงทำหน้าที่ของมัน

แม่ฮ่องสอน
(ธนดิษ ศรียานงค์...ภาพ)

"ผ้าคือสิ่งสำคัญของคนละว้า" หลังฝนหมาดเม็ด ใครสักคนพบตัวเองอยู่หน้าผ้าทอผืนใหญ่ของ พิมพ์ ขยันใหญ่ยิ่ง ใกล้กันนั้น แสงจันทร์ ขยันใหญ่ยิ่ง ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องพันผูกตัวเองอยู่ในกี่เอว สายตาและมือจดจ่ออยู่ที่ลวดลายโบราณอันตกทอด บ้านไม้ยกพื้นแข็งแรงที่ใต้ถุนเรียงรายด้วยท่อนฟืนราวกำแพงแสนสวยหลังนี้ คือ "ต้นทาง" ของผ้าทอหลากหลายที่ปรับเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หากแต่เมื่อถามถึงทิศทางเก่า พี่พิมพ์กลับเลือกให้เรารู้จักกับ "ลายตวน" อันถือเป็นส่วนสำคัญของผ้าทอที่สะท้อนความเป็นคนละว้า

แม่ฮ่องสอน

"ดูสิ มันคล้ายงูเหลือมไหม" เธอว่าคนที่นี่นับถืองูเหลือมเป็นบรรพบุรุษ เช่นนั้นเองส่วนลายที่สำคัญที่สุดของผ้าทอจึงถอดแบบมาจากลายงูเหลือม "แต่ดั้งแต่เดิมเราไม่ฆ่างูเหลือมนะหากเจอในป่า คนเฒ่าเขาถือ"

          กลางชานบ้านพื้นไม้เรียบเย็น แสงจันทร์ชวนให้ดู "ปุ๊ก" เธอว่ามันถอดลายมาจากหางนกยูง เป็นส่วนเสริมให้ผ้าทอของคนละว้ายิ่งงดงาม

"หญิงละว้าทุกคนต้องทอและเก็บลายด้วยตัวเองได้ ถ้าทำไม่ได้คนแต่ก่อนเขาถือว่าไม่ทัดเทียมคนอื่น" แสงจันทร์ว่าความคิดความเชื่อเช่นนี้ไม่เคยตกหล่น แม้ว่ามันจำเป็นต้องต่อสู้และสวนทางกับค่านิยมใหม่ของเด็ก ๆ ในทุกวันนี้

แม่ฮ่องสอน
(ปณต คูณสมบัติ...ภาพ)

"ก่อนแต่งงานหญิงสาวชาวละว้าต้องทอซิ่นลายตวนไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดผีหากไปทอเอาตอนแต่งแล้ว" ผ้าเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา "หลังแต่งงานนะผู้หญิงต้องเอาตวนติดตัวไปด้วยคนละ 2 ผืน ให้บ้านตายาย 1 ผืน เป็นสมบัติตัวเองอีกผืน" พี่พิมพ์ว่าผ้าที่ติดตัวผืนนั้นจะอยู่กับเธอไปจนวันตาย ใช้ใส่ไปกับศพยามที่พวกเขาพรากจากผืนแผ่นดินไปเมื่อบั้นปลาย

          ไม่เพียงผ้าทอผืนสวยที่ห่มคลุมพวกเธออยู่ในทุกฤดูกาลชีวิต หากแต่นับจากหมู่บ้านเติบโต ผลิตผลทางการเกษตรเริ่มมีทิศทางในการหล่อหลอมชีวิต หญิงสาวบ้านดงได้รับการส่งเสริมให้ใช้ทักษะอันน่าทึ่งในงานหัตถกรรมของพวกเธอมาสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างผ้าพันคอ ย่าม เสื้อ ล้ำเลยไปถึงเครื่องใช้ร่วมสมัยอย่างซองไอแพด ซองโทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นมีจุดเริ่มมาจากลวดลายและการถักทอจากบรรพบุรุษ มันเริ่มมาพร้อม ๆ กับการมาถึงที่นี่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยที่ตั้งอยู่บนสันดอยของบ้านดง รอบด้านเมื่อเราขึ้นไปถึง มองไปลับตา คือ ผืนนาขั้นบันไดและแปลงผักผลไม้เมืองหนาว แอ่งที่ราบตรงนั้นเปรียบดังตะกร้าแห่งพืชผลที่หล่อเลี้ยงคนละว้าที่นี่อย่างถึงที่สุด

"ที่นี่นับเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลักของแม่ฮ่องสอนเลยครับ" หัวหน้าบรรจง กาวีวน มิตรเก่าที่เราเคยพบกันในดอยลึกแห่งบ้านป่าแป๋ในเขตอำเภอแม่สะเรียง ยิ้มรับกลางนาทีห่มฝนยามเรามาถึง อะราบิกากรุ่นหอมในห้องอาหารเล็ก ๆ กลางโอบล้อมของบ้านดงทำให้หลายอย่างผ่อนคลาย มิตรภาพถักทอระหว่างคนของขุนเขาและผู้ก้าวขึ้นมาเยือน

แม่ฮ่องสอน
(ปณต คูณสมบัติ...ภาพ)

จากวันที่ 9 มกราคม 2514 วันที่รอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับลงเหนือแผ่นดินแถบบ้านดง และอีกหลายหมู่บ้านในเขตตำบลห้วยห้อม ณ โมงยามนั้น การทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นยังคงดำเนินไปควบคู่กับความยากไร้ ด้วยทุนพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หมู่บ้านเล็ก ๆ เหล่านี้ซึ่งรวมไปถึงบ้านดงได้รับการเข้าอยู่ในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ไล่เลยมาถึงปี พ.ศ. 2522 วันที่ลุงบุญสมที่เป็นพ่อหลวงของบ้านดงในขณะนั้นมีโอกาสร่วมรับเสด็จ

"ท่านให้พวกเรารู้จักการเกษตรและสาธารณสุข ปลูกพืชผัก เลี้ยงหมู ดูแลส้วมให้สะอาด" เรานึกถึงเรื่องใกล้ตัวที่ลุงบุญสมบอก อันหมายถึงความยั่งยืนเป็นสุขของชีวิต ดูเหมือนจากนั้นเป็นต้นมา อะไร ๆ จะเริ่มเปลี่ยนไป บ้านดงที่เคยหลากไหลตัวเองไปตามฤดูกาลของขุนเขาและชะตากรรมก็เริ่มมีทิศทางให้ผู้คนยืดเหนี่ยวเดินตาม หลังจากที่ศูนย์พัฒนาฯ แม่ลาน้อยได้ก่อสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เต็มไปด้วยการส่งเสริมทั้งด้านเพาะปลูกและพัฒนาอาชีพ

"จนปี พ.ศ. 2535 ละครับ ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมบ้านดงอีกครั้ง ท่านรับสั่งเหมือนทุกครั้ง คือให้คนที่นี่รักษาป่าไม้ ป่าต้นน้ำ" หัวหน้าบรรจงเล่าอารมณ์เย็น เรื่องราวเช่นนั้นตกทอดอยู่ในแววตาและความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่รุ่นลุงบุญสมอย่างแยกกันไม่ออก

หลังพาตัวเองเดินลัดลงไปในผืนนาที่กำลังแตกกล้าเขียวนวล ใครสักคนชวนเข้าไปดูกล้าพันธุ์เบบีฮ่องเต้และเบบีคอสตามโรงเรียน มันยืนต้นกล้าราวงานกราฟิกสีเขียวบนพื้นผิวสีน้ำตาลเข้มของเนื้อดินในกระถาง ชายชาวละว้าประคบประหงมดูแลมันราวกับผักเมืองหนาวเหล่านี้ไม่แตกต่างไปจากพืชผลอื่น ๆ ที่พวกเขาใช้ยังชีพกลางผืนป่ามาแต่ดั้งเดิม

"เราศึกษาและพัฒนาส่งเสริมครับ ผักของเรากระจายกันไปอยู่ตามโรงเรียนของชาวบ้านให้เขาได้ทำได้ปลูกเอง นั่นคือจุดหมาย" หัวหน้าบรรจงว่าการส่งเสริมที่แท้จริงไม่ได้อยู่แค่ให้พวกเขาได้เข้ามาเป็นลูกจ้างโครงการ แต่หมายถึงอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เขามีอาชีพและหันห่างจากการทำลายผืนป่าอันเป็นบ้านอันจริงแท้ ไม่ว่าจะด้วยการถากถางทำกิน หรือปลูกผักที่ต้องการยาฆ่าแมลงอันเป็นสารพิษร้ายอย่างกะหล่ำปลี

แม่ฮ่องสอน
(ปณต คูณสมบัติ...ภาพ)

          ฤดูกาลของกรีนโอ๊กและเบบีคอสเวียนมาถึงพร้อม ๆ กับข้าวดอยในผืนนาที่รอวันตั้งท้อง มันคือผลผลิตจากขุนเขาที่พร้อมจะเคียงข้างคนของที่นี่ไม่แตกต่าง

"นอกจากส่งเสริม เรารับซื้อและหาที่ขายผลผลิตให้เขาทั้งหมดทุกขั้นตอน" หัวหน้าบรรจงหมายถึงระบบสหกรณ์ ที่สำคัญยิ่งสำหรับคนห่างไกลบนขุนเขาที่ต้องต่อสู้กับระบบทุนที่กำลังรุกคืบขึ้นมาตามแรงเหวี่ยงของคืนวัน

          ผักเมืองหนาวของชาวบ้านบ้านดงและใกล้เคียงนั้นเปลี่ยนเวียนกันไปตามฤดูกาล โอ๊กลีฟแดง โอ๊กลีฟเขียว มะเขือเทศเชอร์รีเหลือง รวมไปถึงผลไม้อย่างเสาวรสและอะโวคาโด ล้วนเปลี่ยนเวียนกันออกผลิตผล

          "ทั้งหมดเรารับซื้อและส่งตรงลงศูนย์ใหญ่ที่แม่โถครับ และที่นั่นอาจได้เปรียบที่อื่นหน่อย คือส่งลงที่ตลาดไทได้เลยในบางชนิด"

ฝนพรำสายยามเราติดอยู่ที่กระท่อมเฝ้านาของใครสักคน การได้นั่งมองพืชผลกลางหุบดอยในความชื่นเย็นดูจะมีค่าอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อเดินลัดตามเสียงเจื้อยแจ้วขึ้นมาถึงห้องเรียนเล็ก ๆ ของโรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดงก็ราวจุดเล็ก ๆ ที่ได้เชื่อมโยงโลกใบเก่าและนาทีปัจจุบันให้ร้อยเรียงเข้าหากัน

"นอกจากการเรียนหลักสูตรธรรมดาสามัญ เราพยายามมากครับให้ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่หล่นหาย" ครูเทวัญ ประจักษ์พนา เล่าผ่านเสียงเซ็งแช่ของเด็ก ๆ ในห้องสมุดเล็ก ๆ นั้นเต็มไปด้วยผู้คนหลากวัย

          เด็กน้อยคล้องกี่เข้าที่เอวและกำลังหัดขึ้นลายผ้า ขณะที่แม่เฒ่าชาวละว้าที่เริ่มคุ้นหน้าตากันนั่งมองมัดย้อมเส้นใยฝ้าย หรือ "มัดปุ๊ก" ที่กำลังได้ขนาด ปุ๊กสีขาว ดำ แดง และน้ำตาลแดง อันถือเป็นสีหลักของผ้าทอชาวละว้าเรียงรายรอการถักทอ

"จะมีกี่คนครับที่เรียนรู้มันได้กลางการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า" ราวกับประโยคที่ครูเทวัญพูดนั้นตั้งความหวังไว้กับขุนเขาและวันเวลา ทว่าที่จริงแท้มันอาจฝากฝังอยู่ในแววตาและสองมือเล็ก ๆ ตรงหน้าในขณะนี้

แม่ฮ่องสอน

          วันทั้งวันกลางม่านเมฆฝน บ้านดงผ่านพาตัวเองไปตามการหมุนเวียนของฤดูกาล บ้านเรือนอันแน่นหนาสะท้อนชีวิตที่ดีขึ้นหลังหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการส่งเสริมและเติบโต ตามซอกซอยล้วนเต็มไปด้วยภาพจริงแท้ของรูปแบบชีวิต รอยยิ้มและความคิดความเชื่อจากคนละว้ารุ่นดั้งเดิมของรูปแบบชีวิต รอยยิ้มและความคิดความเชื่อจากคนละว้ารุ่นดั้งเดิมไหลเวียนถ่ายเทจนต่อยอดมาสู่ลูกหลาน มันผสานรวมให้พื้นที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่งกลางหุบเขาเปี่ยมค่า

ในยามเช้าขณะที่พระสงฆ์ 4 รูป จากสำนักสงฆ์บนยอดดอยเดินลิ่วลงสู่หมู่บ้าน หรือโมงยามมิสซาในวันอาทิตย์ของโบสถ์โปรเตสแตนต์เล็ก ๆ ที่แว่วกังวานบทเพลงอวยพรต่อพระเจ้า ใครสักคนที่ขึ้นมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้อาจสัมผัสได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่หล่อหลอมให้คนที่นี่มีคืนวันเย็นจริงแท้ หาใช่เพียงแค่แรงศรัทธาต่อความติดความเชื่อที่ผสมผสาน มิใช่แค่ลวดลายผ้าทอหรือการดำรงตนในบ้านเรือนรูปแบบโบราณอันตกทอด ทว่าอาจหมายถึงชีวิตที่กล่อมเกลาและเติบโตอย่างมีทิศทางภายในกำแพงป่าเขาอันแสนอุ่นเอื้อเช่นที่เคยเป็นมา

แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน

          2. ถนนสายนั้นยังคงทอดเนื่องคดโค้งไปในขุนเขา มันพาเราออกจากแม่ลาน้อย ลัดเลาะผ่านคดโค้งสู่เมืองไกลอย่างขุนยวม อำเภอเล็ก ๆ บนเส้นทางแห่งนี้เชื่อมโยงภูเขาและที่ราบเข้าด้วยกันอย่างอบอุ่นละมุนละไม เชื้อเชิญให้คนผ่านทางก้าวเท้าลงจากรถ ย่ำเดินสัมผัสภาพจริงแท้อย่างที่มันควรจะเป็น

          บ้านไม้เรียงรายกันอยู่ในใจกลางทางหลวงหมายเลข 108 ที่ตัดผ่านลาดเนินใจกลางขุนยวม มันฉายชัดภาพอำเภอแสนสงบเงียบกลางอากาศฉ่ำเย็น ของกินในตลาดเล็ก ๆ สะท้อนถึงชีวิตและความเป็นผู้คนของที่นี่ ทว่ายามที่เรามาถึงทุกอย่างกลับเงียบเชียบ ราวกับมันได้หลากไหลไปตามครรลองของตัวเองตั้งแต่เช้ามืด

"ตลาดที่นี่ติดกันเร็วตั้งแต่ตี 2 ราว ๆ 6 โมงเช้าก็วายแล้ว คนที่นี่ซื้อกับข้าวกันวันต่อวัน" หลังจากพบคำตอบว่าขนมกินเล่นของคนไทยใหญ่ที่ตลาดเดินทางออกมาสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ไปก่อนหน้า ใครสักคนที่นั่นบอกว่าตลาดสำหรับคนขุนยวมนั้นอาจเป็นที่พบปะกันเองนอกจากไร่นาเสียมากกว่า

          แดดสายจาง ๆ ไม่อาจละลายหมอกฝนของหมู่บ้านไทยใหญ่เล็ก ๆ กลางหุบเขาที่มีสายน้ำยวมไหลเอื่อยอิ่มเคียงคู่ เราจ่อมจมตัวเองกันในบ้านต่อแพ คุ้มบ้านเรียงรายไปตามซอกซอยท่ามกลางถนนที่สะอาดสะอ้าน มันบริสุทธิ์งดงามเช่นเดียวกับวิถีชีวิตอันแสนเก่าแก่ที่ตกทอดของพวกเขา

แม่ฮ่องสอน

          "เราอยู่กันมานาน" ลุงณัฐพล สุวรรณสังข์ เริ่มต้นด้วยประโยคง่าย ๆ ในบ้านไม้โฮมสเตย์แสนน่าอยู่ ทว่ามันกินความถึงรายละเอียดยิบย่อยนานาอันประกอบขึ้นเป็นพวกเขาระหว่างที่เราเพียรพาตัวเองมารู้จัก มื้อเที่ยงเรียบง่ายในบ้านของลุงเรียงรายด้วยผัดกระเจี๊ยบ แกงบอนน้ำพริกถั่วเน่า รวมไปถึงขนมเส้นไทยใหญ่ มันคือรสชาติอันน่าทำความรู้จัก

          "คนไทยใหญ่ไม่นิยมกินสัตว์ใหญ่อย่างวัว กินกันได้ไหม" ระหว่างถ้อยทีเอ็นดูเมื่อจบมื้อ ลุงชวนให้ลองความหอมมันของขนมฮะละหว่า ขนมข่างปองเต็กเบิ้ง ที่เป็นมะละกอดิบปรุงรสแล้วทอด "เบิ้ง คือกระทะที่มันแบน ๆ นั่นละ"

บ้านเรือนที่กระจายกันตามหมู่เล็ก ๆ ที่พวกเขาเรียกกันว่า "ป๊อก" นั้น ซุกซ่อนอยู่ด้วยมิติทางความเป็นอยู่อันน่าหลงใหล เราเลี้ยงซ้ายตรงทางเข้าวัดต่อแพ ก่อนจะไปพบว่า พ่อเฒ่าละอ๋อง เก็ดสถาพร นั่งสบายอารมณ์อยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่เช้า

แม่ฮ่องสอน
(ปณต คูณสมบัติ...ภาพ)

"กุ๊บไต" หรือหมวกสานตามแบบฉบับคนไทยใหญ่วางเรียงรายอยู่ตรงหน้าชายชรา มันงดงามตามความละเอียดที่ผ่านประสบการณ์อันยาวนานพ่อเฒ่าค่อย ๆ ขึ้นลายเส้นตอก เป็นลายสอง ลายสาม หรือใบที่ละเอียดลออนั้นก็กลายเป็นกุ๊บลายดอกพิกุล

          "เดี๋ยวนี้หากระดาษสายาก" พ่อเฒ่าหมายถึงการรุกระดาษสาด้านในกุ๊บ ซึ่งเดี๋ยวนี้ต้องสั่งซื้อตรงมาจากเชียงใหม่ ไม่ได้หาง่ายเหมือนแต่ก่อน

          คนไทยใหญ่นิยมสวมกุ๊บกันทั้งหญิงและชาย มันเป็นภาพงดงามยามที่ใครสักคนเดินสวมมันผ่านสายฝนหรือแดดจัด เช่นเดียวกันเองที่เราลัดเลาะมาถึงบ้านหนึ่งใกล้ลำน้ำยวม ไร่อ้อยเหยียดขยายเคียงข้างนาข้าว พร้อมเสียงเอี๊ยดอ๊าดเป็นจังหวะ มัดกล้ามของชายกลางคนสะท้อนเงาแสงเป็นมันวาว

          "เดี๋ยวนี้คนอีดอ้อยน้อยลง น้ำอ้อยหอม ๆ ดี ๆ ก็หากินกันยากแล้ว" ต่อหน้าเครื่องอีดอ้อยโบราณอันใหญ่โตที่หลงเหลือเพียงเครื่องเดียวในบ้านต่อแพ เรานั่งลงมองภูมิปัญญาทางการเกษตรของชาวไทยใหญ่ มันสอดประสานระหว่างคนหมุนคานอันเหยียดยาวหนักหน่วง และคนที่คอยสอดแท่งอ้อยเข้าไปในเฟืองไม้ รอจนน้ำอ้อยหวานหอมไหลไปลงรางพร้อมเสียงเอี๊ยดอ๊าดที่ค่อย ๆ เบาคลาย

แม่ฮ่องสอน

          "แต่ก่อนทำมาก ๆ ต้องใช้วัวใช้ควายลากคาน แรงมันมากนัก" ระหว่างสิ่งเล็ก ๆ ที่สะท้อนความเป็นอยู่ในงานกสิกรรมอันสั่งสมในบ้านต่อแพ ชีวิตกลางไร่นาอันแสนเก่าแก่นั้นผูกพันกับพระพุทธศาสนามาพอ ๆ กับการตั้งบ้านเรือน เราตาม สุรเดช วันนะเด็จ ขึ้นไปบนดอยเวียง ทางชันนั้นผ่านไร่สวนและผู้คนที่เฝ้าประคบประหงมมันในฤดูฝน

          "ผมเข้าป่าเข้าดอยตามพ่อแม่มาแต่เด็กละครับ ทั้งดอยเวียง ดอยจ่าตี่ ดอยห้วยกล้วย" ด้วยภูมิประเทศของเทือกดอยโอบล้อมบ้านไทยใหญ่และเป็นเหมือนแหล่งหากินของคนที่นี่มาเนิ่นนาน บนยอดดอยเวียงปรากฏเป็นโบราณสถานในความรกเรื้อของแมกไม้ ส่วนปล้องไฉนตกหล่นอยู่เคียงข้างฐานอิฐที่ก่อขึ้นเป็นเจดีย์ล้านนาอันเก่าแก่กว่า 1,900 ปี ราวพุทธศตวรรษที่ 19-24 สะท้อนความเป็นเมืองโบราณของบ้านต่อแพ และมันไม่จางคลายความสำคัญอันยืดเหนี่ยวพวกเขาไว้แม้จะผ่านพ้นกาลเวลา

แม่ฮ่องสอน

"ทุกวันนี้คนที่นี่ยังคงไปสักการะศาลต่าง ๆ ที่อยู่บนดอยเวียงครับ" สุรเดชเรียกการสักการะศาลว่า "ต่างซอมต่อ" พวกเขาจะประกอบพิธีกันในทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา

          บนดอยลูกเล็ก ๆ อันสั่งสมเรื่องราวของผู้คนและวันเวลา แม้ว่าบางอย่างจะเก่ากร่อนพังทลาย แต่หากเป็นสิ่งที่วิ่งเต้นหล่อหลอมอยู่ข้างใน ดูเหมือนว่ามันจะไม่เคยขาดห้วง

แม่ฮ่องสอน

ยามบ่ายที่สายน้ำยวมไหลรี่มักดึงให้ใครสักคนมานั่งมอง ชาวบ้านสวมกุ๊บกลับจากเก็บผักชีที่ปลูกแซมไว้ในนาข้าว พวกเขานั่งล้างมันตรงสันเขื่อน สายน้ำสายนี้นี่เองที่เป็นต้นกำเนิดของชื่อหมู่บ้าน ที่แต่เดิมผู้คนมักเริ่มต่อแพกันที่นี่ ขนข้าวและของป่าล่องลงไปยังแม่สะเรียง ก่อนจะต่างวัวเดินเท้าไปยังเมืองเชียงใหม่

          วัดเก่าแก่เสียดยอดแหลมของจองหรือวิหารตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมไทยใหญ่ หน้าจั่วยกคอสองชั้นนั้นแสนงดงาม ตามเชิงชายสลักเป็นรูปใบไม้และเครือวัลย์ละเอียดลออ

แม่ฮ่องสอน

          ทุกเช้าหลังจากแสงตะวันแตะสันดอยเวียง ไม่เพียงเราที่มานั่งมองชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาอย่างแยกกันไม่ออกของพวกเขา ทว่าแม่เฒ่ารวมไปถึงหญิงกลางคนนับสิบต่างทยอยกันเดินตัดคันนา ในมือถือปิ่นโตที่เต็มไปด้วยอาหารคาวหวาน หลังพวกเธอวางกุ๊บลงที่หน้าวิหาร เสียงให้พรจากพระคุณเจ้าด้านบนก็ล่องลอยขับกล่อมให้ภาพสงบงามผ่านพันไปอีกวัน วัดต่อแพเต็มไปด้วยความเรียบง่ายอันแสนเก่าแก่ ตั้งแต่ผ้าผ่านประดับมุกลูกปัดและทับทิมที่ใช้กั้นในงานบุญที่ตั้งอยู่ด้านในวิหาร มันเล่าเรื่องตอนสำคัญในเทศชาดก ตอนพระเวสสันดรเสด็จประพาสอุทยาน ผ่านงานปักผ้าอันละเอียดวิจิตร ว่ากันว่าเก่าแก่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 และมันยังสำคัญยิ่งในงานบุญต่าง ๆ ของคนบ้านต่อแพ อย่างงานปอยส่างลองในเดือนมีนาคม หรืองานปฏิสันถารพระเถระชั้นผู้ใหญ่

          สถาปัตยกรรมไทยใหญ่อันละเอียดอ่อนตกทอดอยู่ทั้งส่วนวิหาร ไล่เลยไปถึงศาลาสรงน้ำที่พวกเขาเรียกกันว่า "จองซอน" หรือแม้แต่เวจกุฎีหรือส้วมของพระสงฆ์ ก็ล้วนน่าสนใจด้วยหลังคาทรงปั้นหยายกคอซ้อนสองชั้นประณีตงดงามด้วยงานไม้ที่ผนังซึ่งสร้างตีแผ่นไม้เป็นเส้นแนวทแยงสลับมุม

แม้ระหว่างเดือนที่เรามาถึง คือ ช่วงไม่ค่อยมีพิธีสำคัญทางศาสนา อันเนื่องจากเป็นช่วงทำนา มีเพียงแม่เฒ่าพ่อเฒ่าที่มาถือศีลนอนค้างที่วัดด้วยแรงศรัทธาอันยิ่งยวด ที่พวกเขาเรียกว่าประเพณี "ปอยจ่าก๊ะ" ทว่าภายในวัดก็เต็มไปด้วยความเป็นศูนย์รวมของผู้คนในทุกเช้า ศาลาไม้โย้เย้ที่หันหน้าเข้าหากันตรงข้างวัดนั้นเปิดวิวเพลินตาให้เห็นนาขั้นบันไดสีเขียวสดที่เบื้องหลังเป็นดอยเวียงห่มหมอก มันบอกเล่าถึงความเชื่อมโยงอันร้อยรัดผู้คนแห่งหมู่บ้านเล็ก ๆ ดินดอยเวียงแห่งนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น เป็นความเชื่อมโยงระหว่างขุนเขา การใช้ชีวิต เชื้อชาติภาษา รวมไปถึงสิ่งนึกคิดที่สะท้อนออกมาในนามของคำว่าความอบอุ่นร่มเย็น

แม่ฮ่องสอน

          3. บ้านหลังนั้นยังคงงดงามและคุ้มแดดฝนให้คนครอบครัวชัยณรงค์มารุ่นต่อรุ่น เราอยู่กันไม่ไกลจากวัดต่อแพ ใน "เฮินไต" หรือบ้านเรือนไทยใหญ่หลังเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านต่อแพ คุณแม่ทุน วรสกุล ยังคงนั่งมองลูกหลานเติบโตไปจากบ้านไม้ที่เคยมุงหลังคาตองตึงหลังนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

          "มันเปลี่ยนไปแต่หลังคานั่นละ คุ้มแดดฝนไม่ทนเท่าของใหม่" บ้านไม้ไทยใหญ่อายุกว่า 100 ปี หลังนี้เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคพ่อเฒ่าน้อยยูง ชัยณรงค์ ที่เป็นผู้สร้าง คติการตั้งบ้านเรือนไทยใหญ่ชัดเจนทั้งส่วนของห้องนอนหลัก ห้องนอนลูกหลาน ส่วนของ "เติ๋น" หรือพื้นที่ใช้สอยที่ไว้รับแขก ขณะที่ครัวซึ่งเรียกกันว่า "แม่เตาไฟ" นั้นเคยจางหายควันไฟในเส้าฟืน

"ห้องน้ำอยู่หลังบ้านโน่น บ้านไทยใหญ่ไม่สร้างห้องน้ำไว้กับเรือน" คุณแม่ทุนเป็นย่าของหลานหลาย ๆ คน บ้านโบราณเลขที่ 32 หลังนี้กลับเก็บงำเรื่องราวของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไว้อย่างเรียบง่ายและงดงาม

หลังกราบไหว้หิ้งพระเจ้าหรือหิ้งพระที่แยกส่วนให้พ้นออกจากตัวบ้าน อันเป็นการสะท้อนความเชื่อเรื่องสิ่งเคารพกับคนธรรมดาสามัญนั้นต้องแยกจากกัน เราออกมายืนเฝ้ามองบ้านหลังโบราณของแม่ทุนกันนอกบ้าน ขณะรายรอบล้วนทึมเทาด้วยหยาดฝนและอากาศเยียบเย็น และมันเป็นเช่นนี้ในทุกเช้าที่เราอยู่กัน ณ บ้านต่อแพ เฮินไตโบราณไม่เคยห่างหายผู้คนมาไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ และวัดต่อแพก็ยังเต็มไปด้วยผู้คนสวบกุ๊บใบเก่าคร่ำ หอบหิ้วอาหารคาวหวานไปใส่บาตรพระในทุกเช้า

มันเป็นความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับทุกที่ที่คำว่าศรัทธาและชีวิตเรียบง่ายยังคงวิ่งเต้นและดำเนินตัวตน เป็นภาพอันคล้อยเคลื่อนเลื่อนไหลไปโดยปราศจากการปรุงแต่ง ทุกอย่างเกิดขึ้นตามครรลองที่สืบทอดกันมาช้านาน และการเปลี่ยนผ่านของคืนวันก็เป็นเพียงสิ่งสะท้อนบอกต่อว่า โดยแท้ชีวิตนั้นแสนมั่นคงตราบเท่าที่ผู้คน ณ แห่งนั้นยังยึดโยงหัวใจไว้ในวงล้อมเดียวกัน

แม่ฮ่องสอน

ขอขอบคุณ

คุณบรรจง กาวีวน และทุกคนที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย สำหรับการต้อนรับและดูแลอันแสนอบอุ่น
คุณบุญสม แก่นเจิง คุณพิมพ์และคุณแสงจันทร์ ขยันใหญ่ยิ่ง สำหรับความรู้และเรื่องเล่าอันแสนมีค่า
คุณณัฐพล สุวรรณสังข์ สำหรับค่ำคืนในโฮมสเตย์บ้านต่อแพและอาหารไทยใหญ่
คุณวิรัตน์ เกษตรการ สำหรับการประสานงานอันเยี่ยมยอด

คู่มือนักเดินทาง

          ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านดง ในเขตอำเภอแม่ลาน้อย คือหมู่บ้านชาวละว้าอันน่าไปเที่ยวชม ส่วนบ้านต่อแพ ในเขตอำเภอขุนยวม คือหมู่บ้านชาวไทยใหญ่อันแสนสงบงาม เปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมให้สัมผัส โดยทั้งสองหมู่บ้านต่างมีเอกลักษณ์และความแตกต่าง ทั้งสภาพภูมิประเทศ ภาษา วัฒนธรรม รวมไปถึงบรรยากาศน่าท่องเที่ยวพักแรมให้เลือกสัมผัสได้อย่างประทับใจ

การเดินทาง

จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียงในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากแม่สะเรียง มุ่งหน้าอำเภอแม่ลาน้อย เมื่อถึงที่ทำการไปรษณีย์แม่ลาน้อย แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1266 ไปอีกราว 30 กิโลเมตร ผ่านบ้านหมากหนุน บ้านแม่ละกั๊ว แล้วแยกขวาเข้าบ้านดงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับหมู่บ้าน รวมระยะทางจากเชียงใหม่ราว 250 กิโลเมตร

จากแม่ลาน้อย ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 มุ่งหน้าสู่อำเภอขุนยวม เมื่อถึงขุนยวมแยกซ้ายไปบ้านต่อแพอีกราว 5 กิโลเมตร

ที่นอน-ที่กิน

          ทั้งสองหมู่บ้านมีที่พักรับรอง โดยที่บ้านดงสามารถพักที่บ้านพักของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย รวมไปถึงมีอาหารให้บริการ ขณะที่บ้านต่อแพมีรูปแบบการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ รวมที่พัก อาหารไทยใหญ่ การเที่ยวชมหมู่บ้านและวัฒนธรรม

สอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย บ้านดง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58120 โทรศัพท์ 0 5361 9533-4, 08 3324 3062 เว็บไซต์royalprojectthailand.com/maelanoi

โฮมสเตย์ชุมชนบ้านต่อแพ โทรศัพท์ 08 1980 7743, 08 4803 2561 และ 08 6994 5015


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 55 ฉบับที่ 2 กันยายน 2557




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2557    
Last Update : 14 ตุลาคม 2557 20:31:58 น.
Counter : 1800 Pageviews.  

ผู้ว่าฯ เชียงราย ผุดไอเดีย สร้างถนนดอกซากุระ สั่งซื้อจากญี่ปุ่น



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

  ผู้ว่าฯ เชียงราย ผุดไอเดียเก๋ สร้างถนนดอกซากุระแห่งอาเซียน หวังดึงดูดนักท่องเที่ยว เผยไปปรึกษาผู้ว่าฯ จ.คุมะโมะโตะ ที่ญี่ปุ่นแล้ว สั่งซากุระที่เหมาะกับสภาพอากาศมา 1 พันต้น ต้นละ 1 พันบาท ปลูกเรียงยาวจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงถึงพหลฯ ยาวกว่า 20 กิโลเมตร

   เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ว่า ทางจังหวัดเตรียมทำเชียงรายให้เป็นเมืองซากุระบานแห่งประชาคมอาเซียน โดยที่ผ่านมา ตนพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังเมืองคุมะโมะโตะ จ.คุมะโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อไปหารือเรื่องการค้าการท่องเที่ยว เพราะเมืองนี้มีภูมิประเทศและอากาศไม่แตกต่างจากบ้านเรา ซึ่งการพูดคุยกับผู้ว่าฯ คุมะโมะโตะ ท่านได้พาชมดอกไม้ประจำชาติ นั่นก็คือซากุระ

          ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ เผยว่า ทางผู้ว่าฯ คุมะโมะโตะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับดอกซากุระว่า มีหลายชนิดทั้งชั้นเดียวและหลายชั้น ทั้งยังได้มอบดอกไม้ชนิดนี้ให้จังหวัดเชียงรายนำมาปลูกด้วย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะกับอากาศในประเทศไทย ส่วนตนเองเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสของจังหวัดเชียงราย ที่จะต่อยอดเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองแห่งดอกไม้ ตนเลยผุดโครงการ "ถนนดอกซากุระ" จึงสั่งต้นซากุระในล็อตแรกจำนวน 1 พันต้น ในราคาต้นละ 3 พันเยน หรือเป็นราคาไทยต้นละ 1 พันบาท คาดว่าต้นซากุระจะส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนธันวาคม 2557

สำหรับต้นซากุระทั้งหมด จะนำไปปลูกสองริมฝั่งถนนสายใหม่ จากหน้าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงรายไปจรดถนนพหลโยธิน ระยะทาง 20 กิโลเมตร ซึ่งทางจังหวัดเชียงรายได้ทำข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเตรียมคนไว้ปลูกต้นซากุระแล้ว โดยเชื่อว่าในช่วงเวลา 3-4 ปี ข้างหน้า ถนนสายนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังจังหวัดเชียงรายได้เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

 ปล.ชอบซากุระจะได้ไปเที่ยว ญี่ปุ่นก็เอาต้นคูนของไทยไปปลูกบ้าง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 30 เมษายน 2557    
Last Update : 30 เมษายน 2557 17:35:05 น.
Counter : 1703 Pageviews.  

สงกรานต์ 2557 คึกคัก คนแห่เดินทางท่องเที่ยว ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์

สงกรานต์เชียงใหม่


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

สงกรานต์ 2557 หลายจังหวัดจัดกิจกรรมสงกรานต์คึกคัก นักท่องเที่ยวทยอยสาดน้ำ ร่วมกิจกรรมวันหยุดสงกรานต์

          เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ประชาชนยังคงทยอยเดินทางออกต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพการจราจรในหลายจุดติดขัด ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังตามภาคต่าง ๆ ก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ถือโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว และมีหลายจังหวัดที่เริ่มเล่นน้ำสงกรานต์กันแล้ว

ถนนข้าวสาร กรุงเทพมหานคร

          แม้จะยังไม่มีการปิดถนนอย่างเป็นทางการ แต่วันนี้ นักท่องเที่ยวก็เริ่มทยอยเข้ามาร่วมสาดน้ำแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา และในวันพรุ่งนี้ (13 เมษายน) จะมีการเปิดงานเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารอย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมพื้นที่ และซักซ้อมการแสดง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมวางกำลังรักษาความปลอดภัยพื้นที่โดยรอบ


จังหวัดเชียงใหม่

          ในวันนี้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ หรือป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ แล้ว โดยเฉพาะที่บริเวณคูเมือง และข่วงประตูท่าแพ ซึ่งเป็นจุดหลักในการเล่นสาดน้ำ


โคราช
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด


สวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

          นายอาคม มณีกุล ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา แถลงข่าวจัดงาน เทศกาลสงกรานต์สวนสัตว์โคราช แวะถั่วะถนนเข่าเปียก 13-15 เมษายน 2557 ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุก ทั้งการเล่นน้ำสงกรานต์ รวมทั้งปะแป้งสัตว์ ทั้ง ม้า เต่า และงูเหลือม พร้อมร่วมชมความสามารถของสัตว์ป่าด้วย






อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เริ่มคึกคัก โดยในวันนี้เป็นวันที่ 2 ของการจัดงานหาดใหญ่มิดไนท์ สงกรานต์ บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ ทยอยมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานตั้งแต่ช่วงเช้า บริเวณถนนเสน่หานุสรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานได้มีการปิดถนนให้นักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสะดวกสบาย

          นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยว ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ บางส่วน ที่ยังทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ อ.หาดใหญ่ สำหรับงานหาดใหญ่มิดไนท์ สงกรานต์ จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในคืนนี้


เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

           ในวันนี้มีรถยนต์ของนักท่องเที่ยวมารอเข้าคิวขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากเส้นทางดอนสัก-เกาะสมุยเป็นจำนวนมาก โดยมีแถวยาวล้นออกมาถึงถนนด้านนอกตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ทำให้ทางบริษัทต้องเสริมเที่ยวเรือเพิ่มอีก เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการข้ามฟากไปยังเกาะสมุยและเกาะพะงันกว่า 10,000 คน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 12 เมษายน 2557    
Last Update : 12 เมษายน 2557 17:45:00 น.
Counter : 1228 Pageviews.  

ททท. ประเมินท่องเที่ยวครึ่งปีแรก คาดสูญรายได้ 9 หมื่นล้าน

ททท. ประเมินท่องเที่ยวครึ่งปีแรก คาดสูญรายได้ 9 หมื่นล้าน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ททท. ประเมินผลกระทบการท่องเที่ยว คาดเสียหาย 2 ไตรมาสแรกราว 9 หมื่นล้านบาท เตรียมระดมความร่วมมือหน่วยงานหลักและภาคเอกชน 8 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จัดแคมเปญส่งเสริมท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติ

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2557) นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.  ดำเนินการปรับสมมติฐานผลกระทบของการท่องเที่ยวจากภาวะการเมืองที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ โดยคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงเดือนเมษายนและมีความรุนแรงต่อเนื่อง ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ การท่องเที่ยวจะเสียโอกาสในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา 9 แสนคน หรือคิดเป็นรายได้ราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่จะมาจากนักท่องเที่ยวประเภทกรุ๊ปทัวร์ที่มีสัดส่วนอยู่ราว 30-35 เปอร์เซ็นต์

          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการประชุมร่วมกับภาคเอกชน 8 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ได้มีการหารือกันถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติ ครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมจัดทำแคมเปญฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นตลาด รองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 เพราะจากการประเมินวิกฤตการทางการเมืองในครั้งที่ผ่านมา พบว่า ไทยมักจะฟื้นตัวได้รวดเร็วหากเหตุการณ์สงบ

  โดยจากนี้ไปอาจมีการระดมความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลัก อาทิ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ในการจัดแคมเปญดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา โดยจะไม่เน้นการลดราคา แต่ใช้วิธีสมนาคุณพิเศษเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับให้เอกชนทำข้อเสนอว่า ต้องการอะไรบ้างในการฟื้นฟูตลาดเมื่อเหตุการณ์สงบ โดยอาจจะโฟกัสตลาดที่กลับมารวดเร็วก่อนในกลุ่มประเทศเอเชีย

          ด้าน นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ต้องการให้จัดทำแคมเปญส่งเสริมตลาดแบ่งตาม 4 คลัสเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา-ระยอง, หัวหิน-ชะอำ และกาญจนบุรี โดยอาจมีการหารือร่วมกับสมาชิกกลุ่มโรงแรมเพื่อให้โปรโมชั่นที่พักพิเศษ ซึ่งหลังจากรับแนวคิดจาก ททท. มาแล้ว คาดว่าจะจัดทำข้อเสนอแผนฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้

  ขณะที่ นายเกษียร วัฒนเชาวน์พิสุทธิ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า ตลาดจีนที่มีผู้ประกอบการราว 209 ราย ได้รับผลกระทบแล้วจากช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา แต่ช่วงนี้ผู้ประกอบการยังมีความหวังว่าเหตุการณ์จะสงบลงภายในเดือนมีนาคม เพราะยังมีโอกาสที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน ซึ่งปรกติมีชาวจีนเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคนทั่วประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อคาดว่าจะมีการเดินทางเข้ามาเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2556

          อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมครั้งที่ผ่านมา ยังมีการรายงานจากสำนักงาน ททท. ต่างประเทศด้วยว่า สายการบินต่างชาติเริ่มทยอยยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินมาไทยมากขึ้น เช่น สายการบินเอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ ที่หยุดให้บริการเที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพ-นาริตะ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม ขณะที่ตลาดจีนมีการยกเลิกเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจาก เสิ่นหยาง-กรุงเทพฯ ส่วนการบินไทย มีแนวโน้มปรับลดเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-เฉินตู อีก 6 เที่ยวบินตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2557    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2557 20:28:44 น.
Counter : 651 Pageviews.  

นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวชมแม่คะนิ้ง ภูหินร่องกล้า

แม่คะนิ้ง ภูหินร่องกล้า

แม่คะนิ้ง ภูหินร่องกล้า

นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวชมแม่คะนิ้งภูหินร่องกล้า (ไอเอ็นเอ็น)


นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แห่ขึ้นไปเที่ยวชมปรากฏการณ์แม่คะนิ้งยอดหญ้า ภูหินร่องกล้า

วันนี้ (26 มกราคม 2556) ที่บ้านใหม่ร่องกล้า หมู่ 10 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นหมู่บ้านภายในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โดยวันนี้เป็นวันที่ 4 ของการเกิดแม่คะนิ้ง ซึ่งวันนี้อุณหภูมิอยู่ที่ 7 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิยอดหญ้าอยู่ที่ 3 องศา แต่ก็ยังมีน้ำค้างแข็งยอดหญ้าให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน แม้จะไม่มากเหมือน 3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิอบอุ่นขึ้น

          เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ากันจำนวนมาก และมาคอยชมปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งยอดหญ้า บางจุดมีน้ำค้างแข็งที่บริเวณหลังคารถนักท่องเที่ยว เห็นเป็นเกล็ดน้ำแข็ง บางจุดอยู่บนหลังคาแฝก ของชาวบ้าน และไร่กะหล่ำของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง โดยปรากฏการณ์แม่คะนิ้ง ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 05.00 น. จนถึงเวลา 07.00 น. น้ำค้างแข็งยอดหญ้าได้ละลายไปอย่างรวดเร็ว




 

Create Date : 26 มกราคม 2557    
Last Update : 26 มกราคม 2557 17:36:52 น.
Counter : 740 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.