Group Blog
 
All blogs
 

ถนนล่องลอยดอยเปเปอร์

วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยว ป่าเขา เหมือนเดิม ชีวิตที่เรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ และขุนเขา ปั่นจักรยาน ตระเวนเที่ยวทั่วโลกกันเลยค่ะ 



ฐากูร โกมารกูล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

ระหว่างลมหนาวประกาศตัวตนบนดอยแดนไกล มากมายไปด้วยความเย็นเยียบ ท้องฟ้าฉายสีน้ำเงินสด ใครบางคน ณ พิกัดนั้นเริ่มใช้ชีวิตไปกับภูเขาและเส้นทางสายเดิม โดยมีฤดูกาลเป็นสิ่งขับเคลื่อน เส้นทางสายหนึ่งข้างบนนั้นก็เช่นกัน เปลี่ยนผ่านตัวเองไปตามม่านฝน ลมแล้ง และฝุ่นผง หากแต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการทอดตัวรองรับหลายชีวิตที่ผ่านพาตัวเองไปกับมันอย่างขาดกันไม่ได้



ทางป่าสู่ดอยดิบเถื่อนในอดีต ที่ดึงดูดให้มิชชันนารีจากตะวันตก ดั้นดันขึ้นไปเผยแผ่ศาสนา ทางดินหล่มโคลน ร่องลึกสูงชัน ของนักเดินทางผู้หลงใหลการขับรถตรากตรำและทรมานตัวเองในฤดูฝน ถนนสายอุ่นเอื้อ เชื่อมโยงพี่น้องปกากะญอหลากหลายหมู่บ้านให้รู้จัก "ชีวิตที่ดี" ของคืนวันปัจจุบัน กับการเดินทางติดต่อสัมพันธ์กับโลกเบื้องล่าง หรืออาจเป็นทางไกลแสนโรแมนติก ที่นำพาผู้คนข้างล่างขึ้นมารู้จักสายลมหนาวและชีวิตกลางแจ้งบนรอยต่อเทือกทิวของตากเชียงใหม่ ในทุกเช้าเย็นที่หมู่หมอกหลอมเลือนคลื่นภูเขาไปกับแสงตะวัน



ที่นี่ ดอยเปเปอร์ ระหว่างสายลมหนาวกำลังกวัดไกวทำนองชีวิตให้เคลื่อนไหวไหลลอย ยามสายที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คึกคักด้วยภาพตลาดจริงแท้ในปลายสาย พี่น้องไทยและพม่าผสมผสานกันอยู่ในการค้าอย่างมีชีวิตชีวา ของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ เป็นสิ่งสามัญที่ผู้คนเข้ามาค้นหาเลือกซื้อ ทั้งชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่บนภูเขา ทั้งแถบอุ้มผางและตามทิศทางที่มุ่งเลียบแม่น้ำเมย



          หลังผ่านพาตัวเองไปในตลาดสด ทางหลวงหมายเลข 105 ทอดตัวลิบไกลไปตามความเปลี่ยวเงียบอย่างที่มันเคยเป็นมา ฟ้าต้นฤดูหนาวใสสด แดดสายเริ่ม ร้อนเร่า และเสียงเครื่องยนต์ก็ดังกระหึ่ม บดล้อยางไปบนถนนสาย "ชายแดน" อันมากมายไปด้วยภาพชีวิตสองข้างทาง เราผ่านแม่ระมาดในสายเร่าร้อน น้ำเมยวิบวับเปลวแดดเต้นไหวอยู่ด้านข้าง ทุ่งข้าวหลังเก็บเกี่ยวเหลือเพียงฟ่อนฟางก่ายกอง เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอท่าสองยาง ความรู้สึกประเภท "ห่างไกล" ทำหน้าที่ของมันผ่านเส้นทางและความเป็นอยู่อันอิงอยู่กับภูเขาของผู้คน



ว่ากันตามตรง ถนนสายนี้เคยเป็นเส้นทางสาย "สุ่มเสี่ยง" สำหรับคนเดินทางไกลเลาะเลียบชายแดน ความมั่นคงทางการเมืองและสงครามระหว่างเชื้อชาติ ของประเทศที่อิงอยู่กับแม่น้ำเมยที่ฝั่งตรงข้าม ส่งผลให้ชีวิตตามชายแดนมากไปด้วยคราบเลือดและหยาดน้ำตา แคมป์อพยพของพี่น้องปกากะญอก่อนถึงแม่ระมาด อันครอบคลุมผืนภูเขาร่วมหมื่นหลังคาเรือนคือสิ่งยืนยัน มันสวยงามราวโปสการ์ดสักใบอันมากไปด้วยองค์ประกอบของภูเขา กระท่อมใบตองก๊อ และพี่น้องปกากะญอในชุดสีสวย ทว่าซ่อนเร้นภาพแห่งความหวังและการรอคอยไว้ในความทุกข์ยาก ความ "ไร้ถิ่นฐาน" และมีชีวิตอยู่ด้วยการรอความช่วยเหลือ



          ถนนลากผ่านความจริงสองข้างทาง ก่อนถึงอำเภอท่าสองยางราว 5 กิโลเมตร เราแยกขวาที่บ้านพะนอคี ผละจากถนนดำ พารถคันเล็กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา อากาศเย็น เทือกดอย และทางยาก คล้ายไม่รับรู้การมาถึงของเรา บางสิ่งอย่างมีไว้เพียงคนที่เหมาะสมกับมัน ถนนเล็ก ๆ ที่รถสวนกันแทบไม่ค่อยได้ลากจากเนินเขาที่หมู่บ้านพะนอคี ผ่านไปตามห้วยสายเล็กและไร่ข้าวโพดสีน้ำตาลทมอง จากที่เป็นคอนกรีตในช่วงแรก ๆ เมื่อตีโอบสันเขา ลากพาเข้าในหมู่บ้านเล็ก ๆ จากนั้นก็เปิดวิวแห่งความสันโดษดิบเถื่อน เป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

          ทางดินแดงช่วงแรกยังมากไปด้วยร่องสูงชัน เพิ่งผ่านพ้นฤดูฝนมาไม่นาน งบเกรดทางยังมาไม่ถึง ส่งผลให้การโขยกเขยกรถคันเล็กในช่วงเราเป็นไปด้วยความยากลำบาก กระนั้นก็ตาม หากเป็นช่วงที่มันยังเป็นหล่มโคลน ก็ใช่ว่าจะร้างไร้ผู้คน หากไม่นับชาวบ้านแถบบนดอยที่ต้องลงมาซื้อหาข้าวของ ใช้เวลาร่วมวันกับระยะทางไม่กี่กิโลเมตร



ทางเล็ก ๆ เส้นนี้คือสิ่งเย้ายวนใจของกลุ่มออฟโรคจากเมืองไกล ที่ต่างมาค้นหา "จุดมุ่งหมาย" และหนทางด้วยการขับรถอันยากลำบาก นับเป็นห้วงเวลาอันรื่นรมย์ เมื่อทางแห้งสนิทและพาเราขึ้นสู่สันเขา มันไต่เวียนไปราวงูยักษ์ที่แนบตัวลงซอนซบเทือกดอย เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เปิดภาพกระจ่างตาของทะเลภูเขาในแนวเขตท่าสองยางและแม่ระมาดให้เห็นลิบตา บางช่วงแดดบ่ายสะท้อนแม่น้ำเผยยิบยับ สลับโฟร์ไฮและโฟร์โลว์ไปตลอดเส้นทาง ฝุ่นดินคละคลุ้ง เกือบ 15 กิโลเมตร ที่มีเพียงเราคันเดียวกับเวลาร่วม 3 ชั่วโมง ทางดินบางช่วงได้รับการเกรดให้กว้างนาน ๆ ที่มีรถกระบะคร่ำคร่าของพี่น้องปกากะญอสวนมาบ้าง มอเตอร์ไซค์ก็เช่นกัน พวกเขาขี่มันอย่างคนเข้าใจและคุ้นเคยกับภูเขา คล้ายเป็นเส้นทางกลับบ้านอย่างทุกฤดูกาล

          เรามาถึงที่ "หน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์" เมื่อแดดบ่ายราแรง สาดแสงอุ่นให้พื้นที่เล็ก ๆ อันเป็นต้นน้ำของทั้งฝั่งตากและเชียงใหม่ดูงดงามราวเมืองไกลในนิทานปรัมปรา "น้ำแม่ตื่นและอีกหลายสายก็เริ่มจากดอยเปเปอร์นี่ละครับ" พรเทพ พรปิยรัตน์ หรือ พี่สอน บอกเบา ๆ ในสายลมแรงจัดยามย่างเย็น เขาบอกให้เราตั้งแคมป์ให้เสร็จก่อนมืด ลานหญ้าตรงริมจุดชมวิวนั้นเนียนนุ่ม ทอดสายตาออกไปเป็นหุบดอยไล่เรียงสูงต่ำ มันราวกับสวรรค์ของคนรักชีวิตกลางแจ้ง

          หน่วยฯ เล็ก ๆ แห่งนี้ก่อตั้งมาสิบกว่าปี เพื่อสื่อสารและดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำของเชียงใหม่และรายรอบ หลังจากที่ตรงนี้เคยมากมายไปด้วย ฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย "การทำไร่แบบเมื่อก่อนไม่ค่อยมีแล้วครับ มันไม่ยั่งยืน" พี่สอนเองก็มีเชื้อสายปกากะญอ และย้ายตัวเองมาจากแม่ลาน้อย จะว่าไปในหน่วยฯ ก็มีเพียง ราชันย์ คำพร หัวหน้าหน่วยฯ ที่เป็นคนไทยจากข้างล่าง

การทำไร่เลื่อนลอยอย่างที่หลายคนเรียกขานนั้น จริง ๆ แล้ว ในอดีตพวกเขาเรียกมันว่าการทำไร่หมุนเวียนมากกว่า แม้จะต้องตัดไม้บนภูเขาออกบ้าง แต่ก็มีวิธีฟื้นป่าอันน่าใส่ใจ "พวกคนรุ่นก่อนเขาตัดต้นไม้เพื่อทำไร่แท้ ๆ ครับ เหลือลำต้นพอให้มันแตกใหม่ ถ้าไม่ตัดเลยมันจะบังแดด ข้าวไม่งอกงาม แต่ไม่ตัดหมดโคน เดี๋ยวป่าหมด" พี่สอนเล่าเพลิน ๆ ระหว่างที่แคมป์เพิ่งกางเสร็จ กาน้ำจากเตาก๊าซแบบพกพาถูกจุด และกาแฟร้อนหอมก็ถูกแจกจ่ายคลายลมหนาว

          ชาวปกากะญอจะเริ่มต้นเลือกหาพื้นที่สำหรับถางไร่ ซึ่งหมายความว่าการผลิตและวงจรชีวิตเริ่มต้นในรอบปีใหม่มาถึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้พื้นที่แล้ว ก็จะทำเครื่องหมายเอาไว้โดยจะทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่ต้นไม้ เพื่อแสดงให้รู้เห็นกันว่า พื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของจับจองแล้ว ไร่หมุนเวียนของพวกเขาเกี่ยวโยงกับความคิดความเชื่อต่อป่าที่เรียกว่าบ้าน ต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าต้องห้ามตามประเพณี และที่สำคัญ ต้องไม่มีลางบอกเหตุ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การทำไร่หมุนเวียนถูกทดแทนด้วยการทำนาตามพื้นที่ทำกินอันถาวร การปลูกพืชเสริมอย่างผักผลไม้ที่ชอบอากาศเย็น กาแฟเองก็เริ่มหยั่งรากลงตามหุบเขา ซึ่งทั้งหมดมันสอดคล้องกับการมาถึงและจุดมุ่งหมายของหน่วยฯ

"เขาทำกินได้ ป่าต้นน้ำบนนี้ก็ยิ่งสมบูรณ์ แต่ก่อนตอนมาตั้งหน่วยใหม่ ๆ หัวหน้าบอกว่าลำห้วยไม่มากมายน้ำอย่างทุกวันนี้" พี่สอนนั่งมองไปยังเบื้องล่างตรงจุดชมวิว ทั้งป่า ภูเขา และหมอก ย้อมอยู่ในแสงเหลือง ๆ ยามเย็น



          พูดกันถึงยอดดอยชื่อแปลกหูที่เราฝ่าทางภูเขาขึ้นมาเยือน ก่อนการมีชื่อของมัน เทือกเขาที่ทอดยาวเป็นแนวป่าเขา กั้นเขตตาก-เชียงใหม่ ผืนนี้ นอกจากเป็นแหล่งน้ำและอาหารอันอุดมของผู้คนและล่ำสัตว์ มันคือถิ่นที่อยู่ของพี่น้องปกากะญอมาเนิ่นนาน "หากกางแผนที่ดูนะครับ มีหมู่บ้านกะเหรี่ยงเกิน 40 หมู่บ้านกระจายตัวอยู่ตามหุบเขา มากเสียจนผมเองยังไปมาไม่หมด" พี่สอนว่าป่าเขากับเผ่าพันธุ์ของพวกเขาไม่เคยแยกจากกัน

          "ชื่อดอยนั้นมาจากยุคก่อนราว 50 ปีครับ ที่มิชชันนารีจากตะวันตกเดินเท้าเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา บ้างว่ากันว่าพวกเขาลงหมายไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่บางคนก็ว่าเส้นทางที่พับวนไปมาในหุบเขาทอดยาวนั้นเหมือนกับม้วนกระดาษ" เขาตอบคำถามเช่นนี้บ่อยครั้งที่สุด ตั้งแต่มาประจำอยู่ที่หน่วยฯ





อย่างไรก็ตาม ยามเย็นบนดอยเปเปอร์เผยความงามจริงแท้อย่างไม่ต้องการการขนานชื่อนาม เราไต่สันดอยไปเที่ยวพระมหาธาตุโลกะวิทู (โฆ๊ะผะโต๊ะ) ที่ราบเล็ก ๆ เหนือสันเขาสูงปรากฏเจดีย์สีทองอร่ามพร้อมวิหารไม้หลังน้อยสมถะ ส่วนของกุฏิไล่ไปตามเชิงเขา เรียบง่าย สะอาดสะอ้าน คำว่าศรัทธาเข้มขลังไม่ว่ามันจะวางตัวอยู่ที่ใดก็ตาม พระสงฆ์รูปเดียวของวัดงดงามด้วยวัตรปฏิบัติ อย่างไร้ปรุงแต่ง ทุกอย่างซ่อนแง่มุมของตัวเองไว้ในหุบดอยเดียวกันอย่างเงียบเซียบ



          ตะวันดวงเดิมค่อย ๆ ลับหาย ฟ้ากลายเป็นสีส้มแดงอยู่เพียงครู่ ควัน ไฟของหมู่บ้านโคะผะโด้ที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อตัวพร้อม ๆ ฝูงวัวเดินกลับส่งเสียงฟืดฟาดและกระดึงกรุ๋งกริ๋ง หมอกบาง ๆ ห่มคลุมเทือกดอยก่อนค่ำ จากมุมสูงขององค์พระธาตุ ต่างคนต่างยืนมองถนนเส้นเดียว ขอบดอยที่ทอดโค้งลับหายไปในความสลัวราง และยังคงเก็บงำปลายทางนั้นไว้อย่างเงียบงัน

อาหารง่าย ๆ แต่มากไปด้วยบรรยากาศของแดนดอยถูกปรุงขึ้นในครัวของหน่วยฯ สาวน้อยเจ้าหน้าที่ชาวปกากะญอหุงข้าวไว้รอการกลับมา "เอาะ เม" เธอบอกให้เราร่วมกินข้าวเย็นร่วมกัน นาทีมื้อค่ำคือเรื่องของการทำความรู้จัก เรียนรู้ และมิตรภาพได้ถักทอ

          หลังมื้อค่ำ เราย้ายมาตรงระเบียงริมผา จุดที่มองเห็นเบื้องล่างเต็มตา ลมแรงหนาวเย็นพัดตึงจนต้องกระซับแจ็กเก็ต กาแฟของเราผลัดเปลี่ยนกับขาของพี่น้องปกากะญอ "เอาะ ที" พวกเขาเชื้อเชิญ ไออุ่นในชาร้อน ๆ ทำให้คืนหนาวไม่ว่างเปล่า มากไปกว่านั้น เรื่องเล่าถึงชีวิตที่ผันผ่าน ทั้งการปรับเปลี่ยนเรียนรู้จากคนรุ่นต่อรุ่น บางนาทีก้าวลึกเข้าไปถึงความคิดความเชื่อโบราณที่เดินขนานกับโลกยุคใหม่เบื้องล่าง หลายคนบนนี้ทำให้ผมเข้าใจว่า โลกไม่มีวันหยุดนิ่งแม้แต่บนภูเขา และความไม่เท่าเทียมยังมีอยู่จริง แม้ข้างล่างจะพยายามป่าวประกาศสวนทางสักเท่าใด

          แสงไฟข้างล่างแถบแม่ด้าน ที่ฝั่งท่าสองยาง ระยิบเมื่อมองผ่านความมืดมิด ดาวในคืนดึกประกายชัดทั่วผืนฟ้า ข้างล่างราวคู่ไม่ไกลนัก ด้วยความมีดหลอมเลือนคลื่นภูเขาไปเป็นหนึ่งเดียว แต่ดูเหมือนการเชื่อมโยงข้างบนและข้างล่างเข้าด้วยกัน "หนทาง" ดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

          "คี เลอะ นา เน่อ เก๊อะ บะ ต่า โซ่ เง" ขอให้โชคดี

          ม่านหมอกสีขาวในหุบดอยชัดเจนเมื่อผ่านพ้นค่ำคืนเหน็บหนาวยาวไกล กลั่นตัว แผ่ผืน ฟุ้งกระจายไปตามแรงลมและความสว่างของดวงแดด เราตื่นเช้ามามองภาพที่คนข้างบนดอยเปเปอร์เห็นมันแทบทุกเมื่อเชื่อวันของฤดูหนาว รวบสัมภาระใส่ท้ายรถ ถ้อยคำอวยพรของพี่สอนจากเมื่อคืนยังจำขึ้นใจ เราจากหน่วยฯ ดอยเปเปอร์ไปตามถนนดินอวลฝุ่นสีแดงเส้นเดิม องค์พระธาตุที่ดูยิ่งใหญ่กลายเป็นจุดเล็ก ๆ สีทองประดับยอดดอยเมื่อเราผ่านพ้นไปในเขาอีกสองสามลูก

          วันนี้ฟ้าเปิดใสสด ภูเขาเบื้องหน้ากว้างไกลยิ่งกว่าภาพพานอรามา เราเข้าสู่เขตอำเภออมก๋อยของเชียงใหม่ แต่รอบด้านดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลง ทางยาก คดโค้ง และขุนเขา เหล่านี้คือสิ่งวนเวียนทุกรอยล้อ ผ่านทางแยกหลักบนสันดอย ที่หากเลี้ยวขวาจะมุ่งลงไปทางแม่เมย บางแยกเล็ก ๆ ไปไกลได้ถึงแม่อุสุ นอกเหนือไปจากความงดงามของแดนดอยไม่มีสิ่งใดดีกว่าพาตัวเองไปรู้จักชีวิตที่ไหลวนอยู่ตามซอกมุมของภูเขา

          เราแวะไปเที่ยวบ้านขุนตื่นใหม่ บ้านไม้คงทาถาวรหลายหลังกระจัดกระจายไปตามไหล่เขา จะว่าไป หมู่บ้านชาวปกากะญอที่มีคำลงท้ายว่าใหม่ คือกลุ่มซึ่งย้ายออกมาตั้งรกรากอีกแห่ง เนื่องจากไหล่ดอยที่เป็นหมู่บ้านเดิมนั้นมีพื้นที่เหลือไม่เพียงพอ แม้จะหลงเหลือบ้านแบบดั้งเดิมไม่มาก ตามความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องปกากะญอสะกอบนเทือกดอย

แต่เมื่อเข้าไปทำความรู้จักพวกเขาที่ "ข้างใน" นาที คล้ายหมุนกลับ พะตี หรือลุงคนหนึ่งเคี้ยวหมากฟันดำ รอยยิ้มนั้นราวคนเอ็นดูลูกหลาน รอยสักแทบทั่วตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของพรานโบราณชัดเจน จะว่าไป ผมเห็นลายแบบนี้บนร่างกายชายที่มีอายุแทบทุกคน มันดำทะมึนอยู่ตามหน้าท้อง ที่โคนขาเป็นรูปเหลี่ยมปะติดปะต่อกันคล้ายภาพกราฟิกสมัยใหม่ ตามท้องแขนเหมือนรูปลดทอนของสัตว์เลื้อยคลาน พะตีว่ามันเป็นลายที่หมายถึงให้มีคุ้มครอง ปลอดภัยต่อสิ่งเลวร้ายในป่า ป่าที่เป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิตคนดั้งเดิม

          ตามชานบ้านหน้าเส้าฟีนไฟ ฝ่ายหญิงนั่งทอผ้าโดยใช้เอวแทนกี่ หรือที่เรียกกันว่าทอผ้าแบบ "ห้างหลัง" ลูกเดือยสีขาวก่ายกองรอวันปักลงไปประดับเมื่อผ้าทอผืนสวยเสร็จสิ้น ต้นเดือยสองกอคือชนิดพันธุ์ที่คนปกากะญอว่าลูกของมันได้ขนาดและคงทน ป้าว่าพวกผู้ชายต้องเก็บมาตั้งแต่เม็ดยังเขียว เอาไปตากแดดแล้วจะขาวเอง หากปล่อยให้ขาวคาต้น เม็ดเดือยที่ได้จะไม่ค่อยทน

ชีวิตผูกพันกับป่าและภูเขาชัดเจน แม้รูปแบบหรือปัจจัยภายนอกจะเดินทางขึ้นมาถึง ผ่านถนนเส้นเดียวกัน หากเลาะลงไปในผืนนาที่ยามนี้ผ่านพ้นการเก็บเกี่ยว ล้วนแทรกแชมด้วยมะเขือเทศ แตงกวา ฟักทอง ผัก อีหลิน ถั่ว มัน ผักกาด และนานาสิ่งยังชีพหลากหลายพันธุ์ ข้าวของพวกเขาพอกินไปตลอดปี แม้ข้าวไร่จะลดจำนวนลงตามการเลิกทำไร่หมุนเวียน แต่ยามสายลมสะอ้านพดแนวข้าวไหวเอน หลายคนที่นี่บอกว่าข้าวไร่ยังคงอร่อยนัก หากเทียบกับข้าวพันธุ์อื่น ๆ ที่พวกเขาสองปลูก

          เราออกจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนั้น ผ่านพารถคันเล็กไปตามเส้นทางที่ไกลขึ้นเรื่อย ๆ บางช่วงมันพาเวียนวกลดความชันลงสู่หุบอันเย็นขึ้น สวนกล้วยขึ้นรายเรียง ขณะบางคราวก็หลงเหลือร่องรอยของฤดูฝนไว้ตามร่องดินมากรูปทรง ให้ต้องใช้ทักษะกับเส้นทางประเภทภูเขาอันจริงแท้



          เสียงเจื้อยแจ้งของเด็ก ๆ ที่บ้านขุนตื่นน้อยช่วยผ่อนคลายหลายสิบกิโลเมตรกับเวลาสามสี่ชั่วโมงลงไปได้มาก ธารสายหลักดังแว่วมาจากป่าเบื้องลึก มันคือต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลลงสู่อมก๋อย ก่อนไปหลมอรวมกับอีกหลายสายมุ่งลงสู่เชียงใหม่ ทางดินตามเนินดอยเปี่ยมสีสันมากที่สุดด้วยเสื้อผ้าของเด็ก ๆ ทั้งชุดประจำเผ่าและเสื้อกันหนาวสีสด



          โรงเรียนเล็ก ๆ ของที่นี่มีครูสาวชาวปกากะญอจากบ้านแม่ตื่นที่ตีนดอยเปเปอร์สอนอยู่สองคน พวกเธอยังเด็กนัก หากเทียบกับวัยเดียวกันที่ในเมือง หากแต่พื้นที่องหัวใจนั้น ผมว่ามันยิ่งใหญ่เยี่ยงเดียวกับขุนเขา "โรงเรียนที่นี่ไม่ได้มีไว้ให้เด็กอย่างเดียวนะคะ ผู้ใหญ่ที่อยากรู้หนังสือ อยากสื่อสาร ก็มาเรียน เราไม่อยากเห็นพี่น้องเราลงไปข้างล่างแล้วไม่รู้เรื่องเหมือนสมัยปู่ย่า โดนหลอก หรือว่าเสียเปรียบเขา" เธอว่าการสื่อสารในโลกใบเดียวกันนั้นจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นซอกมุมใด

ภายในห้องเรียนอันเรียบง่ายนั้นไม่เพียงอักษรปกากะญอ ที่ว่ากันว่าคิดค้นโดยมิชชันนารีที่ดัดแปลงมาจากตัวอักษรพม่าราวร้อยกว่าปีก่อนถ้อยคำต่าง ๆ ถูกแปลอยู่บนกระดาน ไม่นับภาษาไทยแล้ว มันคือเรื่องของคณิตศาสตร์เบื้องต้น ภาระหน้าที่ คติธรรม รวมไปถึงเรื่องราวของการใช้ชีวิต นอกห้องเรียนดูยิ่งน่าใส่ใจไม่แตกต่าง เด็ก ๆ กึ่งวิ่งกึ่งเดินไปยังโบสถ์บนเนินสูง ที่ซึ่งมองเห็นไร่ข้าวและบ้านเรือนวางตัวหลังดงไม้ โอบล้อมอยู่ด้วยภูเขาแทบทุกทิศทาง



          ถนนเล็ก ๆ ภายในหมู่บ้านนำพาไปเห็นโรงสีชุมชน แปลงเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์จากโครงการหลวง ที่สำคัญมันไม่ร้างไร้ผู้คนอย่างบางหมู่บ้านข้างล่าง พวกเขาเห็นทุกประโยชน์ที่มันก่อเกิด และร่วมน้อมนำมาให้อยู่ในชีวิตจริงกลางป่าเขา เคียงคู่กับความเชื่อและวิถีดั้งเดิมอย่างน่ารื่นรมย์

          เราใช้เวลาอยู่ที่นี่เนิ่นนาน คุยกับคุณครู เด็ก ๆ แวะไปดูผ้าทอของหญิงชรา หรือกระทั่งฟังเตหน่า-พิณของคนปกากะญอ จากเด็กหนุ่มที่อยู่ในเครื่องแต่งกายของวัยรุ่น ก่อนจากกันและไปสู่ถนนที่นำพาเราขึ้นมา ราวกับป่าเขาและทุกรอยยิ้มในหมู่บ้านคล้ายโลกในอุดมคติ โลกที่มิตรภาพมีอยู่อย่างจริงแท้ บริสุทธิ์ราวหมอกในยามเช้า และอบอุ่นเหมือนแดดอาบฉายลงเหนือยอดเขาเมื่อค่ำเย็น

          "ซะ คือ เลอะ เน่ สิ ยา บะ นา" ยินดีที่รู้จัก

          วันทั้งวันจากหน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ ด้วยระยะทาง 47 กิโลเมตร เราผ่านพ้นมาถึงบ้านใหม่ ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย หลุดออกจากความสูงของเทือกดอยเปเปอร์มาด้วยถนนฝุ่นแดงสายเดิมที่มากล้นไปด้วยความกันดาร หากแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงามของขุนเขาและรอยยิ้มผู้คน น้ำแม่ตื่นไหลรื่นชื่นเย็นอยู่เบื้องหน้า ไม่แตกต่างจากข้างบน

          พื้นที่แถบนี้เป็นเชิงดอยของพี่น้องปกากะญออีกมากมาย ราวกับภูเขาเท่านั้นคือถิ่นที่พวกเขายินดีจะเรียกมันว่าบ้านมากที่สุด บ้านที่ส่งต่อความคิดความเชื่อ ตลอดจนเป็นที่ฝังรกราก ตราบต่อถึงดับสิ้นลมหายใจกับพวกเขาเอง ตราบทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะร้อน ฝน หนาว ถนนที่คดเคี้ยวตัวเองขึ้นสู่เบื้องบนดูจะมีค่าไม่ต่างไปจากที่เรารู้จักนิยามของมัน

หากถนนเป็นดั่งตัวแทนของการทำความรู้จัก เคลื่อนไหว และถ่ายเทผสมผสานให้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตต่างรู้จักคำว่าการพึ่งพา นาทีบนนั้น ไม่มีคำใดจะเหมาะสมเมื่อก้าวร่วมไปกับเส้นทางสายนั้น ถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้เราและเขาต่างพร้อมทำความรู้จักและยอมรับในความเป็นตัวตนของกันและกัน

          "โอ๊ะมื่อโซเปอ"---สวัสดี

          คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

          จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 (แม่สอด-แม่สะเรียง) ผ่านอำเภอแม่ระมาด เข้าเขตอำเภอทำสองยาง ก่อนถึงตัวอำเภอท่าสองยางราว 5 กิโลเมตร แยกขวาที่กิโลเมตรที่ 80 บ้านพะนอคี ผ่านเส้นทางคอนกรีตในช่วงแรก จากนั้นผ่านเส้นทางดินลูกรังไต่ไปตามความสูงชันของขุนขาอีกราว 15 กิโลเมตร ถึงที่ทำการหน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง (ในฤดูหนาวที่เส้นทางแห้งสนิท)

          จากหน่วยฯ ดอยเปเปอร์ แวะไปเที่ยวพระมหาธาตุโลกวิทู 4 กิโลเมตร จากนั้นต่อเนื่องไปตามเทือกดอยจนไปทะลุออกที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อีกราว 47 กิโลเมตร ระหว่างทางมีหมู่บ้านพี่น้องชาวปกากะญอให้แวะเที่ยวมากมาย

          จากแม่ตื่นเข้าสู่อำเภออมก๋อยด้วยทานลาดยางสบาย ๆ อีกราว 70 กิโลเมตร

          เส้นทางทั้งหมดบนดอยเปเปอร์ล้วนมากไปด้วยความสูงชันและร่องดิน หากฤดูฝนยากต่อการเดินทาง กว่าทางแห้งในฤดูหนาว รกขับเคลื่อนสี่ล้อประเภทไม่ตกแต่งสามารถเดินทางได้สบาย และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของเทือกดอยชายแดนตากเชียงใหม่แห่งนี้







ที่พัก

          ที่หน่วยฯ ดอกเปเปอร์มีห้องพัก 1 ห้อง นอนได้ราว 4 คน และลานทางเต็นท์ ไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ รวมไปถึงห้องน้ำให้บริการฟรี

อาหารการกิน

          ที่ตลาดสดอำเภอแม่สอดถือเป็นแหล่งซื้อหาของสด กับข้าวรวมไปถึงอาหารแห้งชั้นดี ที่หน่วยฯ ไม่มีอาหารบริการ การเตรียมอาหารไปทำกินเองจึงเป็นเรื่องน่าสนุก ได้ทดลองใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างเพลิดเพลิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

          หน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โทรศัพท์ 0 5322 1045(สำนักงานที่เชียงใหม่) หรือ 08 1451 2812 (คุณราชันย์)

ปล. เมืองไทยมีที่เีที่ยวสวยงามมากมายอย่าลืมไปเที่ยวกันนะค่ะชีวิตที่เรียบง่าย แนวธรรมชาติ Smiley




 

Create Date : 21 เมษายน 2556    
Last Update : 21 เมษายน 2556 17:24:07 น.
Counter : 1710 Pageviews.  

บ้านป่าหมาก อ้อมกอดขุนเขาใต้เดือนดาวมิตรภาพ

บ้านป่าหมาก

บ้านป่าหมาก อ้อมกอดขุนเขาใต้เดือนดาวมิตรภาพ (อ.ส.ท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ ปณต คูณสมบัติ...ภาพ


          กลางหุบเขา วันที่สายลมหนาวเคล้าแดดจัดเหือดหล่มโคลน ให้กลายเป็นทางดินลูกรังคลุ้งฝุ่น ใครสักคนอาจได้รู้ว่า หน้าตาของ "โลกภายนอก" ระหว่างกันและกันล้วนแตกต่าง คนในขุนเขาและอีกฝ่ายจากปลายน้ำ

เราผ่านพ้นตัวเองไปในรกคันเก่า หลายคราวนึกสงสารมันอยู่ว่าเราต่างมาทำอะไรในดินแดนแปลกเปลี่ยวกันอยู่เรื่อย ๆ ภาพถ่ายสักเฟรมสำหรับเพื่อนช่างภาพ หรือถ้อยคำบางประโยคที่ผมคิดไปองว่ามันแสนจริงจังโรแมนติกจากปากของคนตัวเล็ก ๆ สักคนในเมืองไกล

          เกือบห้าโมงเย็นป่าเขาในเขตเทือกตะนาวศรีโอบล้อมเราไว้ คิดถึงยามบ่ายที่ลากตัวเองตามเพื่อนรุ่นพี่ข้ามมาสู่ทางลูกรังแสนขรุขระ ที่เหมาะสมเฉพาะรักบางประเภทและคนบางจำพวก ผ่านค่ำคืนไร้แสงไฟ ทว่าดวงดาวกะพริบพราย กาแฟกรุ่นโชยหอมขณะนกกลางคืนบางชนิดร้องระวังไพร สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้เราก้าวเดินจากถิ่นฐานที่มา เพียงเพี่อจะไปพบพานกับโลกเล็ก ๆ อีกหลายใบที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างไร้การรับรู้ บางคนพยายามค้นหาคำตอบเหล่านั้นเงียบ ๆ ผ่านชีวิตเปล่าเปลือยนิยาม ไร้คำถาม ปราศจากสิ่งที่เรียกว่าตัวตน


บ้านป่าหมาก

บ้านป่าหมาก


          หากเป็นฤดูฝนโปรยไพร หนทางที่ลากเราเข้ามาคงฉ่ำชื้น ไร่สวนบ่มเพาะรอฤดูเก็บดอกผล ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3219 บ่ายตัวเองจากเส้นบายพาสหัวหิน มุ่งหน้าในทิศทางที่สวนความสูงขึ้นไปยังน้ำตกป่าละอู ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี รถราในช่วงก่อนปีใหม่เบาบาง ช้างป่าลัดเลาะแนวหากินลงมาเนิบนาบอยู่ริมถนน ชีวิตซ้อนทับระหว่างการทำกินและอนุรักษ์ตกสะท้อนอยู่ตรงหน้า

ก่อนถึงป่าละอูราว 16 กิโลเมตร ใครสักคนตีไฟเลี้ยวซ้ายก่อนถึงบ้านป่าละอูน้อย ตรงกิโลเมตรที่ 44 ฉีกเราออกจากทางหลวงเรียบกริบมุ่งหน้าผ่านบ้านห้วยผึ้ง บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ สู่หนทางแอสฟัลต์มากหลุมบ่อรอบด้านแผ่กว้างด้วยไร่สับปะรด ข้าวโพด และภาพการอยู่กินตามชายขอบอุทยานฯ ทางเดินอันต้องการการจัดการระหว่างป่ากับชุมชน หากรอยยิ้มเป็นอีกเรื่องอันแสนจริงแท้ ยามเราแวะซื้อเสบียงและถามไถ่ถึงทิศทาง "อีกไกลละ ป่าหมาก แต่ช่วงนี้ทางแห้ง ไปสบาย" ลุงปกากะญอ ที่บ้านคลองน้อยบอกเล่าถึงหนทางที่รอเราอยู่ข้างหน้า เราจากลาพร้อมกับภาพชายชราเดินลงไปสู่ไร่

          ชีวิตตามป่าเขาเปลี่ยนหน้าตาไปไม่น้อย ยามที่เขาเลือกปักหลักทำกิน ไร้การเร่ร่อนรุกทำลายผืนป่าที่โอบอุ้มชีวิตมาหลายรุ่น โลกกว้างและทางไกล สำหรับใครบางคนอาจเป็นเรื่องเดียวกับวิถีชีวิต ยามที่เลือกเดินอยู่บนหนทางอันอาจจะอยู่นอกกรอบ หากแต่ชัดเจนจุดหมายปลายทาง

ปราการขุนเขาในเขตตะนาวศรีโอบล้อมเราไว้ทุกทิศทาง ที่ราบจากการทำกินเพาะปลูกสลับกับบ้านเรือนเรียบง่ายตลอดสองข้างทางเป็นระยะ ราวกับรถจี๊ปคันเล็กทั้ง 3 คัน กำลังผ่านเลยไปในแดนนิรนาม แดดบ่ายไล้ภาพทางตาอุ่นงาม อากาศเย็นชื่นยามลดกระจกลงและปล่อยให้สายลมข้างนอกหน้าต่างทายทัก

บ้านป่าหมาก

ถึงบ้านแพรกตะคร้อ กิโลเมตรที่ 64 เราแยกซ้ายและทิ้งแนวเสาไฟฟ้า อันมาสิ้นสุดลงที่นั่น ความโดดเดี่ยวกันดารพานพบตลอดทางลูกรังขุ่นแดง รถมอมฝุ่น ทว่าเรื่องราวของการผจญภัยคล้ายค่อย ๆ ชัดเจนตามรอยล้อ

          ด้วยความแปลกใหม่ในดวงตา หลายคนเผลอไผลไปกับวิวภูเขางดงามเส้นทางคดโค้งเป็นแนวสวย ใกล้เย็นย่ำเรามาถึงได้เพียงบ้านแพรกตะลุย หมู่บ้าน "สุดท้าย" บนที่ราบกลางแนวเขาตะนาวศรี เพื่อนร่วมทางตัดสินใจตั้งแคมป์ในไร่อันแสนโรแมนติก กระแตแต้แว้ดร้องเสียงแหลมยามเสียงเครื่องยนต์เงียบสิ้น เต็นท์และเปลถูกเลือกทำเลก่อนมืด สวนทุเรียนวัยละอ่อนไล่แถวเป็นแนวแปลง ธารน้ำฉ่ำเย็นไหลเอื่อยอยู่แนบใกล้ มื้อค่ำอันแสนพิเศษผ่านพ้นอยู่ตรงลานกว้าง ฟ้าก่อนสิ้นแสงฉายสีม่วงแดงคลุมผืนเขา ตะเกียงและเทียนเล่มเล็ก ๆ คือแสงสว่างชั่วคราวก่อนที่ใครสักคนจะค้นพบว่า จันทร์ฉายกลางเดือนมีดค่อนดึกนั้นสว่างนวลและน่าแหงนมองกว่าแหล่งกำเนิดแสงอื่นใด

บ้านป่าหมาก


          รุ่งเช้าเราพรากแคมป์หลังจากเพื่อนช่างภาพเก็บทางเดินของดวงดาวไว้ในหน่วยความจำของกล้องดิจิทัล เขาอมยิ้มกับภาพไม่เคยคุ้น เช่นเดียวกับผมที่ปล่อยให้หมอกชื่นยามเช้าค่อย ๆ เคล้ากาแฟกรุ่นหอม เรากลับสู่หนทางที่เลือก ไต่สันเขาขึ้นลงเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เรียกกันหลวม ๆ ว่าจุดมุ่งหมาย หนทางผ่านบ้านแพรกตะลุยและเริ่มเปลี่ยนสัมผัสของผิวถนนไปสู่ความรกเรื้อ ธารน้ำสายแรกทอดผ่านสะท้อนความอุดมชุ่มของป่าเขาตะนาวศรีที่ไหลแรงแม้ในฤดูน้ำน้อย รถคันเก่าค่อย ๆ หยอดตัวเองไปบนหินลอยสีดำคล้ำ โดดดิ้นไปมาก่อนจะผ่านพ้นขึ้นอีกฝั่งธาร รอบด้านร่มรื่นและเงียบงัน นาน ๆ ทีจะมีรถของพี่น้องปกากะญอสวนมาสักคัน

          ฤดูแล้งเชื่อมโยงคนของขุนเขาออกสู่ภายนอกด้วยหนทางที่สะดวกสบายขึ้น หลังจากพวกเขาถูกม่านฝนและหล่มโคลนกักขังให้โดดเดี่ยวตัวเองกลางขุนเขามาตลอดฤดูกาล ข้ามธารที่สองด้วยเวลาและการขับรถแบบเชื่องช้าเช่นเดียวกัน เราก็ใช้เวลาไปกับทางภูเขาอีกจนถึงกิโลเมตรที่ 77 ต้นน้ำปราณบุรีจากสายธารน้อยใหญ่ไหลเย็นให้ใครสักคนนั่งมองมันแม้ในยามบ่ายแดดแรง

          ทางดินดิ่งชันเหนือความสูงราว 400 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจไม่ยากนักสำหรับคนที่มีทักษะ แต่สำหรับผมและเพื่อนบางคน มันดูเหมือนบททดสอบเล็ก ๆ ยามที่เลือกเดินออกมาจากหนทางปกติที่คุ้นเคยกล่าวกันอย่างถึงที่สุด ทุกทางคดโค้งที่ตัดเลาะไปตามหุบเขาอาจคือเสน่ห์ที่ดึงดูดวิญญาณของคนรักการขับรถให้โลดแล่นพรึงเพริด เสียงจอแจของเด็ก ๆ เปลี่ยนภาพทางป่าให้มีสีสัน เรามาถึง บ้านป่าหมาก ในเขตของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนไทย-พม่า เหนือเขตเขาตะนาวศรี ชีวิตของผู้คนปกากะญอราว 559 คน ของที่นี่ห่มคลุมอยู่ด้วยความเรียบง่าย ศรัทธาทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีบรรพบุรุษอันเกี่ยวโยงกับป่าเขา ล้วนหล่อหลอมให้ชีวิตงดงามดำรงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น

          แนวหมากเสียดยอดสูงเด่นไปตามทางเดินเล็ก ๆ ที่เวียนเป็นวงกลมกลางหมู่บ้านราว 117 หลังคาเรือน กระท่อมไม้ไผ่สับฟากมุงตับหญ้าข้างในทึบทึม ทว่าที่ก้อนเส้าไม่เคยจางหายควันไฟ บางหลังเปลี่ยนแปลงสู่ความมั่นคงแข็งแรงตามชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเพาะปลูกพืชผลอย่างกาแฟ โรบัสตา งานจักสานจากหวาย

"เดี๋ยวนี้ดีกว่าที่ผมขึ้นมาเมื่อทอนเยอะครับ" ผู้ใหญ่เยี่ยม โต๊ะไธสง หนุ่มใหญ่จากที่ราบสูงที่หันเหชีวิตมาอยู่ร่วมกับคนที่บ้านป่าหมากร่วม 20 ปี เล่าสบายอารมณ์ระหว่างเคี้ยวหมากสลับใบยาสูบควันหอม จะว่าไป บ้านป่าหมากเกิดการก่อร่างชุมชนมาไม่นาน จากการอพยพย้ายถิ่นทำกินของพี่น้องชาวปกากะญอจากบ้านสวนทุเรียน แถบทางไปน้ำตกแพรกตะคร้อ ผู้คนอาศัยป่าเพื่ออยู่กินและผูกพันกับมันมาเนิ่นนาน หากแต่ชีวิตกลางป่าเขาล้วนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกที่ก้าวเดินแตกต่างกันอย่างสุดขั้วไปลิบลับ

บ้านป่าหมาก

ราวปี พ.ศ. 2547 ยามที่สายพระเนตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดผ่านจากมุมมองเหนือป่าเขาตะนาวศรี เมื่อเฮลิคอปเตอร์นำเสด็จหย่อนลงจอด คล้ายชีวิตกลางแดนไพรกลับเย็นชื่นด้วยพระกรุณาธิคุณ

          "ตอนนั้นป่าหมากเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ โดดเดี่ยวครับ มีเพียงศูนย์ตชด. มาตั้งระวังภัย เราอยู่กันลำบาก" ยามนั้นผู้ใหญ่เยี่ยมยังเป็นเพียงคนนอกที่รอนแรมจากข้างล่างขึ้นมาใหม่ ๆ "พระองค์ดำริให้สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนขายแดนบ้านป่าหมาก ครูอาสาทั้งที่เป็น ตชด.และคนข้างล่างล้วนเริ่มทันมาก็คราวนั้น"

          จากพระกรุณาธิคุณ สืบต่อถึงงานพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทยอยกันขึ้นมา ปรับเปลี่ยนภาพเมืองไกลของบ้านป่าหมากให้ก้าวเดินไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย พืชพรรณต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมการยังชีพกาแฟโรบัสตารวมถึงพืชไร่ต่าง ๆ ได้หยั่งรากและมีนักวิชาการขึ้นมาแนะนำ รวมไปถึงงานฝีมืออันตกทอดอยู่ในลายเลือดของพวกเขา ทั้งผ้าทอผืนสวยมากมายลวดลาย ทักษะการสานหวายเป็นตะกร้า เปล ทั้งหมดหลอมรวมเป็นทางเลือกอีกหนึ่งเส้นที่เคียงคู่ไปกับการเพาะปลูก

จากลานเฮลิคอปเตอร์อันเป็นสนามกว้างหน้าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก เราเดินลัดเลาะไปตามชีวิตจริงแท้ที่โอบล้อมท้ายบ้านบางหลัง หญิงชราและลูกหลานผลัดกันเหยียบยืนบนคานกระเดื่องของครกไม้ตำข้าวเก่าคร่ำ ลานดินกว้างหน้าบ้านคือแผงตากผลสุกของกาแฟ ไล่ลึกไปตามสันเนินคือสวนกาแฟติดผลสีแดงเข้ม รอความหวังที่แปรรูปมาสู่ชีวิตที่พวกเขาคาดเดาว่ามันคือความยั่งยืน

บ้านป่าหมาก

บ้านป่าหมาก

          เสียงร้องเพลงของเด็ก ๆ กลางโบสถ์ที่เป็นอาคารไม้ไผ่เรียบง่ายในช่วงคริสต์มาสแสนอ่อนหวาน สื่อสารถึงความรักของพระเจ้าและความเชื่อความศรัทธาที่บางคนยึดมั่น ขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมตกสะท้อนอยู่ที่การเดินลับหายไปบนภูเขาของหลายคน

          "คืนนี้เป็นวันไหว้พระจันทร์ตามความเชื่อโบราณครับ พวกเขาจะขึ้นไปที่บ้านของคนก่อตั้งชุมชน ไหว้ร่ายรำกันตอนกลางคืน พระจันทร์คือที่นั่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขายึดถือ" ผู้ใหญ่อธิบายหลังจากที่ผมสงสัยว่าพวกเขาเดินเลาะลำห้วยเป็นทิวแถวไปไหนกันยามใกล้เย็น

ใกล้อาศรมภาวนาวัดป่าข้างขาว เราขออนุญาตหลวงพ่อตั้งแคมป์กันริมธาร เด็ก ๆ ตามมาเล่นน้ำและช่วยหาผักกูดรวมถึงผักสวนครัวยาม ใครสักคนเปลี่ยนตัวเองจากเจ้าของร้านอาหารในเมืองกลายเป็นพ่อครัวใหญ่กลางป่าเขา มื้อค่ำแสนพิเศษอีกครั้งด้วยความเงียบงันหนาวเย็น กองไฟไม่เคยมอดฟืนตลอดคืนที่เดือนดาวยังสะท้อนตัวเองลงบนธารน้ำ เสียงสุดท้ายที่ได้ยินหลังบทสนทนาคือฟืนไผ่แตกปะทุ หลังจากนั้นค่ำคืนแสนสงบของบ้านป่าหมากก็หลอมรวมทั้งพี่น้องปกากะญอ ศรัทธาทางศาลนาและความเป็นอยู่ รวมถึงผู้มาเยือนจากพื้นล่างให้หลับใหลไปรีมลำธารอันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรี

บ้านป่าหมาก

          บางมุมในยามเข้าของบ้านป่าหมากงดงามอยู่ตรงสะพานไม้ขึงสลิงสีเหลืองสด พระสงฆ์ 3 รูป เดินผ่านเหนือธารน้ำเขาไปในหมู่บ้าน ศรัทธาของพวกเขาต่อพระพุทธศาสนาเพิ่มความสงบร่มเย็นนอกเหนือไปจากป่าเขาอันแสนสมบูรณ์ เราจากลาบ้านไกลกลางตะนาวศรีกันอย่างยากเย็น เด็ก ๆ เวียนแวะมาหาใครบางคน พอ ๆ กับที่เปลหวายของพี่สาวชาวปกากะญอนั้นงดงามละเอียดลอออย่างน่าทึ่ง ชวนให้นั่งมองการจักลานอันมีชีวิตชีวา หลังพร้อมกันทั้งใจและรถ

          เราใช้เส้นทางสายเดิมที่พาเราขึ้นมารู้จักพวกเขา มันไมใช่หนทางแปลกเปลี่ยวอีกต่อไป บางคนจดจำคดโค้งและสันเนินได้พอ ๆ กับที่จดจำรอยยิ้มและมิตรภาพแสนสั้นในถ้อยคำของหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาที่เรามาอาศัยแรมนอน กลับถึงบ้านแพรกตะคร้อใครบางคนเลือกพาเราไปเยือนน้ำตกแพรกตะคร้อเป็นการส่งท้าย 24 กิโลเมตร กลางทางภูเขาโอบล้อมมอบอากาศฉ่ำชื้นติดปลายจมูก ดินชุ่มแม้เป็นฤดูห่างฝน ทากตัวจ้อยดีดตัวยามใครสักคนเผลอยืนซึมซับกับความสมบูรณ์ของเส้นทาง ป่าไผ่และป่าเบญจพรรณคลี่คลุมเส้นทางตลอด สลับกับห้วยธารใสเย็นที่เราต้องข้ามพ้นสี่ห้าสาย

บ้านป่าหมาก

          เมื่อจอดรถและก้าวเดินด้วยสองเท้าและตาเปล่าไปตามหนทางสวนแรงดึงดูด ธารน้ำตกแพรกตะคร้อก็รอรับการมาถึงด้วยมวลน้ำขาวนวลไหลเรื่อยไปตามโตรกหิน เราใช้เวลาอยู่กับชั้นที่ 1 และ 2 ไม่นาน เมื่อผ่านไปสู่ชั้นที่ 4 ลานกว้างก็เชื้อเชิญให้นั่งมองความบริสุทธิ์อันเย็นรื่น ว่ากันว่าหากผ่านทางภูเขาขึ้นไปตามหนทางทรหดถึงชั้นที่ 10 ข้างบนจะงดงามด้วยธารน้ำโจนตัวผ่านแผ่นผาเหนือความสูงกว่า 50 เมตร

กลับสู่หนทางสายเดิม แง่มุมป่าและภูเขาหยุดเราเป็นช่วง ๆ ตามความงดงามของมัน ทั้งโตรกผา สายธาร หรือคดโค้งของภูเขา บางนาทียามขับรถตามเพื่อนร่วมทาง ผ่านคดโค้งที่เรา ไม่อาจคาดเดาถึงอะไรก็ตามแต่ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า ผมคิดถึงหลายชีวิตที่วางแนบตัวเองอยู่กลางความยิ่งใหญ่ของผืนป่า หากภูเขาคือการเปิดช่องว่างให้ใครหลายคนรู้จักเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่าชีวิตหนทางของพวกเขาอาจไม่ตายตัว ไร้ตัวเลขมากำกับ และอยู่ที่ว่าใครจะแต่งเติมมันลงไปด้วยความคิดความเชื่อประเภทใด มากไปกว่านั้น คุณค่าคำตอบของแต่ละคนล้วนแปลกแยกแตกต่าง ทว่าเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

บ้านป่าหมาก

ขอขอบคุณ

คุณนิพนธ์ สอนส่งกลิ่น และคุณสุวรรณชัย พานิช จาก www.vitara4x4.com สำหรับมิตรภาพและการช่วยเหลือดูแล ตลอดเส้นทางสู่บ้านป่าหมาก

คู่มือนักเดินทาง

          บ้านป่าหมาก คือ ชุมชนของพี่น้องปกากะญอที่ตั้งอยู่แถบชายแดนไทย-พม่า ห่างไกลด้วยหนทางลูกรังกลางขุนเขา มากมายวิถีชีวิตสงบงามและความสมบูรณ์ของป่าเขาและสายน้ำ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวประเภทแคมป์คาร์สัมผัสชีวิตกลางแจ้ง

บ้านป่าหมาก

การเดินทาง

          จากทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม เส้นบายพาลหัวหิน) แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3219 มุ่งหน้าสู่น้ำตกป่าละอู ก่อนถึงบ้านป่าละอูน้อย แยกซ้ายผ่านบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ บ้านห้วยผึ้ง เส้นทางลาดยางทว่ามีหลุมบ่อ หลังบ้านห้วยผึ้งเข้าสู่ทางลูกรังมุ่งไปบ้านคลองน้อย บ้านแพรกตะคร้อ แยกซ้ายผ่านบ้านแพรกตะลุย จากนั้นเส้นทางลัดเลาะผ่านสันเขา ข้ามห้วยธารอีก 2 ห้วย สู่บ้านป่าหมาก

กินอิ่ม

เลือกเที่ยวแบบแคมป์ปิ้ง ควรตระเตรียมของสด ของแห้ง และอุปกรณ์แคมป์ไปให้พรักพร้อม ทำกับข้าว สนุกกับกิจกรรมกลางแจ้งก่อนเข้ามาตามเส้นทาง

ที่บ้านหนองพลับมีโลตัสเอ็กซ์เพรสให้เตรียมของสดของแห้งอย่างสะดวกสบาย

ในหมู่บ้านป่าหมากมีร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งเล็ก ๆ ของคนปกากะญออยู่ 1 ร้าน ใกล้ทางเดินไปอาศรมภาวนาวัดป่าช้างขาว

นอนอุ่น

ที่บ้านป่าหมากไม่มีที่พัก หากแต่ที่สนามฟุตบอลหน้าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมากมีที่กางเต็นท์บรรยากาศดี มีห้องน้ำเล็ก ๆ เพียงพอต่อการให้บริการ

บริเวณรีมลำธารหน้าอาศรมภาวนาวัดป่าช้างขาวมีลานกว้างพอให้กางเต็นท์และเซตแคมป์ได้บรรยากาศดี สามารถขออนุญาตใช้ห้องป้าของอาศรมฯ ได้ หากแต่ควรเคารพสถานที่และดูแลเรื่องความสะอาด




 

Create Date : 18 เมษายน 2556    
Last Update : 18 เมษายน 2556 14:59:39 น.
Counter : 1969 Pageviews.  

โพลชี้ ชาวต่างชาติอยากเล่นสงกรานต์ เชียงใหม่-ภูเก็ต มากสุด

โพลชี้ ชาวต่างชาติอยากเล่นสงกรานต์ เชียงใหม่-ภูเก็ต มากสุด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบร้อยละ 70 มั่นใจจะเล่นน้ำสงกรานต์ โดยอยากเล่นน้ำที่เชียงใหม่มากที่สุด ตามมาด้วย ภูเก็ต ข้าวสาร สมุย พัทยา แต่ขอรัฐดูแลความปลอดภัย

วันนี้ (10 เมษายน) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจเนื่องด้วยในวันที่ 13 - 15 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเรื่อง "นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกับเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย ปี 2556" โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 2 - 4  เมษายนที่ผ่านมา ตามหัวข้อดังต่อไปนี้


1. สิ่งโดดเด่นของประเทศไทยที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยากมาท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน 5 อันดับแรก คือ

โบราณสถานและโบราณวัตถุ ร้อยละ 26.9
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ร้อยละ 24.4
วัฒนธรรมประเพณีและศิลปะพื้นบ้าน ร้อยละ 14.5
อาหารไทย ร้อยละ 12.0
อัธยาศัยไมตรีของคนไทย ร้อยละ 10.2


2. ความตั้งใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อการเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

ตั้งใจว่าจะเข้าร่วม ร้อยละ 69.9
ตั้งใจว่าจะไม่เข้าร่วม ร้อยละ 30.1

            โดยสถานที่ที่ตั้งใจว่าจะไปร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ (5 อันดับแรก) ได้แก่

เชียงใหม่ ร้อยละ 14.9
ภูเก็ต ร้อยละ 10.3
ถนนข้าวสาร ร้อยละ 8.4
เกาะสมุย ร้อยละ 6.7
พัทยา ร้อยละ 6.0


3. เรื่องที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้สึกกังวลใจมากที่สุดหากเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อและถามเฉพาะผู้ที่คิดว่าจะเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์)

เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 32.5
เรื่องการจราจรติดขัด ร้อยละ 29.3
เรื่องการเล่นสงกรานต์ด้วยความรุนแรง ร้อยละ 15.0
เรื่องการฉวยโอกาสลวนลามทางเพศ ร้อยละ 4.8
มีการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 3.1
ไม่กังวล ร้อยละ 26.3


4. คะแนนความพึงพอใจต่อการมาท่องเที่ยวประเทศไทย  ในภาพรวม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.65 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในหัวข้อย่อยดังนี้

ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี 8.58 คะแนน           
อาหารและเครื่องดื่ม 8.55 คะแนน             
ความสวยงามน่าประทับใจของสถานที่ท่องเที่ยว 8.33 คะแนน         
ความคุ้มค่าเงิน 8.31 คะแนน     
อัธยาศัยไมตรีของคนไทย 8.25 คะแนน
แหล่งช้อปปิ้ง 8.23 คะแนน    
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว 7.71 คะแนน
บริการจากมัคคุเทศก์ 7.39 คะแนน
ระบบขนส่งสาธารณะ 7.34 คะแนน
ข้อมูลด้านการเดินทางท่องเที่ยว 7.23 คะแนน
ความสะอาด 6.31 คะแนน
คุณภาพอากาศ 5.62 คะแนน     


5. ความต้องการจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

จะกลับมาอีก ร้อยละ 80.9
จะไม่กลับมาอีก ร้อยละ 1.9
ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2


6. การยินดีที่จะแนะนำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นมาเที่ยวประเทศไทย

จะแนะนำหรือบอกต่อ ร้อยละ 93.6
จะไม่แนะนำ ร้อยละ 1.3
ไม่แน่ใจ ร้อยละ 5.1


7. ความเชื่อมั่นต่อการให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย

เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 96.0
เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 4.0


//hilight.kapook.com/view/84526
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพโพลล์




 

Create Date : 11 เมษายน 2556    
Last Update : 11 เมษายน 2556 13:56:05 น.
Counter : 1146 Pageviews.  

ฮิต! คลิป ชวนเที่ยวไทย ยอดคนแชร์ในเฟซบุ๊กเกือบ 3 หมื่นคน



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก  AmazingThailand.ch

คลิปชวนเที่ยวไทยสุดฮิต ยอดคนแชร์ในเฟซบุ๊กเกือบ 30,000 ครั้ง และได้รับการกดไลค์ มากกว่า 17,000 ครั้ง จาก Amazing Thailand

          เป็นอีกหนึ่งคลิปโปรโมทการท่องเที่ยวจาก Amazing Thailand ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในเฟซบุ๊ก ล่าสุด (7 เมษายน 2556) ได้รับการกดไลค์ มากกว่า 17,000 ครั้ง และแชร์ต่อกันอีกเกือบ 30,000 ครั้ง สำหรับ คลิป "สนุกสนานไปกับความประทับใจสุดทึ่งในประเทศไทย" ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผ่านแฟนเพจ AmazingThailand.ch ที่นำเสนอความน่าตื่นตาของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาผจญภัยและผ่อนคลาย ท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นไทยที่แสนวิจิตร สวยงาม เป็นมิตร สนุกสนาน ผ่อนคลาย และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม สร้างความตื่นตาสุดประทับใจ


          โดย คลิปเริ่มต้นด้วยคำถามว่า "ถ้าคุณมีเวลาว่าง คุณจะไปที่ไหนดี" ก่อนที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายแล้วบินลัดฟ้ามาผจญภัยในประเทศไทยทันที และเริ่มออกตระเวนเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ โดยเริ่มจากจุดหมายแรกคือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ต่อด้วยการนั่งรถตุ๊กตุ๊กชมเมือง และลองเข้าไปนวดแผนไทย และพบกับอาหารแปลกใหม่ในตลาดสด

จากนั้นนักท่องเที่ยวรายนี้ก็เริ่มขึ้นเหนือล่องใต้ ไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำ ชมการแสดงผีตาโขน เยือนแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทุ่งนา ไร่บนดอย ล่องแก่งที่น้ำตก และร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล ทั้งการนั่งเรือ ชมถ้ำในเกาะ รวมถึงออกเรือไปจับหมึก

           นอกจากความน่าตื่นตาด้านภาพแล้ว คลิปยังกล่าวยังได้นำเสียงของเครื่องดนตรีไทยชนิดต่าง ๆ อาทิ ฉิ่ง กลอง ตะโพน ระนาดเอก และเปิงมาง มาผสานกับกีตาร์ไฟฟ้า และเสียงร้องของคนได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดจังหวังที่สนุกสนานสร้างบรรยากาศในการผจญภัยของนักท่องเที่ยวรายนี้ให้อบอวลไปด้วยความอารมณ์ดีของคนไทย และความสนุกสนานของเขาที่ได้มาเยือนเมืองไทย จนเขาแทบไม่อยากจะเชื่อเลยว่าสถานที่ที่เหมือนสวรรค์เช่นนี้จะมีอยู่จริง ๆ จนตัวเขาแทบไม่อยากจะกลับบ้านเลย






























 

Create Date : 08 เมษายน 2556    
Last Update : 8 เมษายน 2556 16:19:32 น.
Counter : 894 Pageviews.  

นมัสการพระบาทพลวง ที่ เขาคิชฌกูฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Mogmag, อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ และ คู่หูเดินทาง

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ หรือที่ใคร ๆ เรียกกันจนติดปากว่า "เขาคิชฌกูฏ" มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และยังเป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำจันทบุรี สภาพป่าในบริเวณนี้มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีสมุนไพรและกล้วยไม้ป่านานาชนิด รวมทั้งมีพันธุ์ไม้หายาก คือ ไม้กฤษณา

           สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้แก่ น้ำตกกระทิง, น้ำตกคลองช้างเซ, ยอดเขาพระบาท และที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษนั้น เห็นจะเป็นการนมัสการรอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ หรือ พระบาทพลวง นั่นเอง

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

          ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏมีอยู่ว่า นายติ่งและคณะได้ขึ้นบนเขาเพื่อไปหาไม้กฤษณามาขาย และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง ระหว่างนั้นเพื่อนของนายติ่งคนหนึ่ง ได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ เเละเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ รุ่งขึ้นก็มีงานปิดรอยพระพุทธบาทจำลอง นายติ่งซื้อทองไปปิดแล้วจึงพูดว่าแถวบ้านตนก็มีรอยแบบนี้เช่นเดียวกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดรับทราบ เจ้าอาวาสจึงเรียกนายติ่งเข้าไปสอบถาม พร้อมกับส่งคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็พบว่าเป็นความจริง และเมื่อตรวจดูบริเวณรอบ ๆ ก็พบกับสิ่งประหลาดมหัศจรรย์อีกหลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้ร้อยกว่าคน บนยอดเขาสูงสุด กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร

ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดออกมาได้ และยังมีหินอีกลูกอยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่ารอยเท้าพญามาร เพียงแหงนหน้าขึ้นไปจะมองเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร

          ต่อจากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 15 วา มีหินลูกข้างบนเป็นลานและมองเห็นรอยรถหรือรอยเกวียน เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทจะเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไป จะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้างจริง เลยจากช้างไปสูงสุดนั้นเรียกกันว่าห้างฝรั่ง เพราะฝรั่งได้ขึ้นไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่ มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกว่าถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างบนถ้ำมีลักษณะคล้าย ๆ เรือสำเภา และยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่าถ้ำตาฤาษี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

พระบาทพลวง หรือ พระพุทธบาทพลวง ประดิษฐานอยู่บน เขาคิชฌกูฎ โดย พระบาทพลวง นี้ เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ที่จังหวัดจันทบุรี และถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดของประเทศไทย และอยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 40 กิโลเมตร

           ทั้งนี้ ประชาชนจะนิยมไปนมัสการพระบาทหลวงเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี จะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืน ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของเขาคิชฌกูฏ ก็ได้จัดงานนมัสการพระบาทพลวงเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ได้มีการจัด งานนมัสการพระบาทพลวง (เขาคิชฌกูฏ) โดยเปิดให้ขึ้นนมัสการ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 11 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ บริเวณยอดเขาคิชฌกูฏ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ ซึ่งจะมีพิธีบวงสรวง "ปิดป่า - เปิดงาน" ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

          ทั้งนี้ จะทำพิธีบวงศรวงเปิดป่า วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดยภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท และการจัดเดินป่าขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ

Smiley      สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่...

วัดกระทิง โทรศัพท์ 0 3945 2056
เทศบาลตำบลพลวง โทรศัพท์ 0 3930 9281
ศูนย์กู้ชีพเทศบาลตำบลพลวง โทรศัพท์ 08 1722 1662 หรือทางวิทยุสื่อสารเครื่องแดง ช่อง 30 ทางความถี่วิทยุสมัครเล่น 145.3375MHz เรียก HS2LWX เขาคิชฌกูฏ

          โดย ศูนย์กู้ชีพเทศบาลตำบลพลวง มีจุดบริการทางการแพทย์ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และให้ยาสามัญรักษาโรคเบื้องต้น จำนวน 2 จุด ได้แก่...

1. ลานจอดรถพระสีวลี (จุดสุดท้ายที่รถยนต์ขึ้นได้ก่อนเดินเท้าขึ้นเขา)
2. วัดกะทิง ที่ตั้งสรีระสังขาร หลวงพ่อเขียน

          อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 จุด สามารถขอรับบริการทางการแพทย์หรือเหตุฉุกเฉินเช่น เป็นลม ป่วย บาดเจ็บ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


เขาคิชกุฏจันทบุรี

เขาคิชกุฏจันทบุรี

โดยการจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก...ในอดีตจะเป็นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขา แต่ในปัจจุบันมีรถบริการให้ประชาชน ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ส่วนกิจกรรมในงานกราบสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฎ การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ทิวทัศน์บนยอด เขาคิชฌกูฏ หรือ เขาพระบาท นี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน

เขาคิชกุฏจันทบุรี


           ซึ่งในช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาจะเดินทางขึ้นเขาไปแสวงบุญเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากจะได้นมัสการพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังจะได้ชมความงดงามแปลกอัศจรรย์ของหินลูกพระบาท ก้อนหินกลมใหญ่ริมหน้าผา และได้รับความสดชื่นจากบรรยากาศบนยอดเขาคิชฌกูฏ นอกจากนี้ ผู้ที่ถึงวัดพลวงตอนเย็น สามารถพักค้างคืนเพื่อเริ่มขึ้นยอดเขาในตอนเช้าได้ โดยทางวัดมีที่พัก และที่อาบน้ำไว้รองรับคนได้จำนวนมาก (ว้าว...) 

เขาคิชกุฏจันทบุรี แผนที่

สำหรับการเดินทางนั้นก็ง่ายแสนง่าย หากมาตามถนนสุขุมวิท ถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) ให้เลี้ยวลงถนนทางน้ำตกกระทิง หรือถนนบำราศนราดูร จากทางแยกเขาไร่ยา ไปถึงน้ำตกกระทิงประมาณ 20 กิโลเมตร เลยวัดระทิงไป 400 เมตร ถึงแยกขวามือไปวัดพลวง เป็นถนนลูกรังระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดพลวง จะเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นไปยังยอดเขา มีรถรับจ้างทดเฟืองพิเศษรับไปส่งถึงจุดที่ใกล้ที่สุด และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 40 นาท

Smiley  ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิดชฌกูฎโทรศัพท์ 0 3945 2075, กิ่งอำเภอเขาคิดชฌกูฎ โทรศัพท์ 0 3945 2437 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลพลวง โทรศัพท์ 0 3930 9281




 

Create Date : 18 มีนาคม 2556    
Last Update : 18 มีนาคม 2556 13:43:38 น.
Counter : 1379 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.