ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 
"กฎอัยการศึก" คืออะไรและยังประกาศใช้ได้จริงหรือ ?

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

นักกฎหมายอิสระ

facebook.com/verapat


- กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายโบราณซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 100 ปี โดยถูกตราเป็นพระราชบัญญัติครั้งสุดท้ายเมื่อพระพุทธศักราช 2457


- กฎอัยการศึกมุ่งหมายให้ใช้ได้ในพื้นที่จำกัดเท่าที่จำเป็น ในยามสงครามหรือจลาจลแต่ไม่ได้นิยามความหมายของยามสงครามหรือจลาจลไว้โดยชัด และไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายทหารว่าเป็นไปโดยสุจริตได้สัดส่วน และสมควรแก่เหตุหรือไม่


- กฎอัยการศึกให้อำนาจฝ่ายทหารประกาศได้เอง โดยเมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด ให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้นซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพันหรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด


- ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธการระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร


- เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น,ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้ามการกระทำ,ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย,ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่ ทั้งข้าศึกและประชาชน และหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจและเกิดความเสียหาย บุคคลหรือบริษัทใด ๆจะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย


- ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลของฝ่ายทหารมีอำนาจ กล่าวคือ ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ปกติเว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก


- ในเวลาสงครามหรือจลาจล แม่ทัพใหญ่หรือแม่ทัพรองมีอำนาจออกข้อบังคับเพิ่มเติมให้ดำเนินไปตามกฎอัยการศึกนี้และเมื่อได้ประกาศแล้ว ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติ


- การที่จะเลิกใช้กฎอัยการศึกแห่งใดนั้น ต้องมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอ


- ที่ผ่านมา กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้ในยามที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ การประกาศใช้และแก้ไขหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติช่วงปี 2534 และการประกาศใช้ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 มาถึงช่วงการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2550


ข้อสังเกต :


การจะพิจารณาวินิจฉัยในทางนิติศาสตร์ว่ากฎอัยการศึกถือเป็นกฎหมายที่มีผลให้นำมาบังคับใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้นจำเป็นต้องพิจารณาตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน ภายใต้หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมดังนี้


ในด้านความจำเป็น เห็นได้ว่า กฎอัยการศึกอาจเคยมีความจำเป็นในยุคสมัยโบราณที่การจัดการภัยคุกคามไม่อาจทำได้ทันท่วงทีและการสื่อสารสั่งการโดยรัฐบาลพลเรือนไปยังฝ่ายทหารมีข้อจำกัดในยามวิกฤติจึงต้องให้อำนาจฝ่ายทหารดำเนินการได้อย่างเต็มที่และทันท่วงที  อย่างไรก็ดี สภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันปรากฏชัดว่าเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและเครื่องมือในด้านความมั่นคงมีความก้าวหน้าและมีการนำเงินภาษีประชาชนไปใช้จ่ายพัฒนาและบำรุงกองทัพอย่างมหาศาล และแม้คณะรัฐมนตรีจะอยู่ที่ใด ก็ยังบัญชาสั่งการฝ่ายทหารได้อย่างทันท่วงทีกฎอัยการศึกจึงมีลักษณะไม่ชอบด้วยหลักความจำเป็นในทางรัฐธรรมนูญ


ในด้านความได้สัดส่วน กฎอัยการศึกมีบทบัญญัติให้อำนาจฝ่าทหารประกาศใช้อำนาจได้เองโดยปราศจากนิยามหรือหลักเกณฑ์อีกทั้งให้อำนาจฝ่ายทหารในการตรวจค้น เกณฑ์กำลัง ที่จะห้ามการกระทำ ยึด เข้าอาศัย ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่ขับไล่ได้เต็มที่โดยปราศจากเงื่อนไขชัดเจน โดยเฉพาะการให้อำนาจฝ่ายทหารทำหน้าที่ทั้งด้านบริหารสถานการณ์ ออกข้อบังคับในทางนิติบัญญัติ และพิพากษาคดีทหารและอาญาศึกแทนตุลาการ โดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลอันเป็นการละเมิดหลักนิติธรรมและนิติรัฐอย่างร้ายแรง กฎอัยการศึกจึงมีลักษณะไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนในทางรัฐธรรมนูญ


นอกจากนี้ ในหลักกฎหมายขั้นพื้นฐาน เห็นได้ว่า ในปัจจุบันยังได้มีการตรากฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในปัจจุบันมากขึ้นอาทิ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงและตราขึ้นในภายหลัง ย่อมถือได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติและผู้แทนปวงชนได้ดำเนินการยกเลิกกฎอัยการศึกไปโดยปริยายแล้วกฎอัยการศึกจึงอยู่ในสภาพกฎหมายที่ถูกยกเลิกและไม่อาจนำมาประกาศหรือบังคับใช้ได้อีกต่อไป หรือหากจะยังตีความให้บังคับใช้ได้บางส่วนก็จะต้องเป็นกรณีที่มีข้าศึกจากทั้งภายในและภายนอกที่มีแสงยานุภาพขั้นสูงและได้เข้าจับกุมควบคุมตัวรัฐบาลพลเรือนจนรัฐบาลพลเรือนอยู่ในสภาพที่สั่งการบังคับบัญชาฝ่ายทหารไม่ได้เท่านั้น


ดังนั้น ในทางนิติศาสตร์ จึงเห็นได้ว่า กฎอัยการศึกมีบทบัญญัติที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน  ขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม อีกทั้งยังได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยปริยายทั้งหมดหรือบางส่วน ส่งผลให้นำมาบังคับใช้ดังในอดีตอีกไม่ได้ โดยตราบใดที่ยังมีรัฐบาลพลเรือนปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาการณ์อยู่ฝ่ายทหารย่อมไม่อาจนำกฎอัยการศึกมาอ้างใช้ในภาวะจลาจลหรือสงคราม และหากประกาศใช้ไปก็เท่ากับกระทำการละเมิดต่อหลักกฎหมาย หลักรัฐธรรมนูญ และหลักประชาธิปไตยเสียเอง รวมทั้งอาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบหรืออาจเข้าขั้นความผิดฐานกบฏ เป็นความผิดทางอาญารุนแรงอันมีอายุความติดตัวต่อไปอย่างยาวนานอีกด้วย

ที่สำคัญ ฝ่ายทหารพึงระลึกเสมอว่า กฎอัยการศึกถูกออกแบบมาใช้กับข้าศึกที่รุกรานประเทศชาติในลักษณะการสงคราม แต่หากกฎอัยการศึกถูกนำมาใช้ในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งทางการเมืองสูงและมีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมวลชนต่อต้านอันจะนำไปสู่ความบาดเจ็บล้มตายที่ร้ายแรงขึ้นในที่สุด

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ฐานข้อมูลทางออกประเทศไทยโดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //www.verapat.com/p/crisis.html





Create Date : 20 พฤษภาคม 2557
Last Update : 20 พฤษภาคม 2557 7:24:58 น. 0 comments
Counter : 892 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.