Group Blog
 
All Blogs
 

The Story of India : Michael Wood | ฟัง Le Clezio คุยกับ Adam Gopnik | Gauguin เป็นคนตัดหู Van Gogh?



ผมเพิ่งมีโอกาสชมสารคดี "The Story of India" ของ BBC สารคดีชุดนี้มีทั้งหมด 6 ตอน ดำเนินรายการโดย Michael Wood (ใครชอบชมสารคดีคงคุ้นหน้าผู้ดำเนินรายการคนนี้) ออกฉายครั้งแรกในปี 2007 ส่วนทางอเมริกาเพิ่งฉายทางช่อง PBS ต้นปีนี้

นี่เป็นสารคดีที่ดูสนุกมากครับ วูดเดินทางรอบอินเดีย พาผู้ชมย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เขาพบปะสัมภาษณ์ผู้คนท้องถิ่น ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของประเทศอันกว้างใหญ่

เป็นสารคดีที่ทำให้อยากกลับไปเที่ยวอินเดียอีกครั้ง..

ทางเว็บ Google Video มีคนโพสต์สารคดีชุดนี้ไว้ด้วยครับ




ข้อดีของอินเตอร์เน็ตที่ผมชอบมากคือ ได้ฟังบทสัมภาษณ์พูดคุยของนักคิด นักเขียน ในอดีตคงไม่มีโอกาสแบบนี้ ล่าสุดใน PEN World Voices Festival of International Literature ได้ลงคลิปเสียงสัมภาษณ์ระหว่าง Le Clezio กับ Adam Gopnik

Le Clezio เป็นนักเขียนรางวัลโนเบลคนล่าสุด แต่ผมไม่เคยอ่านงานเขียนของเขาเลย ส่วน Adam Gopnik ผมชอบหนังสือ Paris to the Moon ของเขามาก

ในงาน PEN นี้ยังมีหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจได้แก่ Resonances: Writers on the Great Works มีผู้ร่วมสนทนามาพูดถึงหนังสือเล่มโปรด 4 คน คือ Muriel Barbery, Salwa Al Neimi, Jose Manuel Prieto และ George Packer

Muriel Barbery ผู้เขียนหนังสือ The Elegance of the Hedgehog บอกว่า เธอชอบ Japanese culture จึงเลือกหนังสือ The Book of Tea ของ Okakura Kakuzo



รายงานข่าวล่าสุดจากเว็บ Guardian และ Telegraph ได้เปิดประเด็นใหม่ ตามเรื่องราวที่หลายคนรับรู้ว่า ฟาน ก็อกห์ ตัดหูตัวเอง ทว่านักประวัติศาสตร์ศิลป์เยอรมันได้ค้นคว้าวิจัยว่า แท้ที่จริงโกแกงเป็นคนตัดหูฟาน ก็อกห์! ซึ่งตัวโกแกงปิดบังความจริง ส่วนฟาน ก็อกห์ ก็ปกป้องโกแกงโดยบอกว่าตัวเองทำ

เรื่องน่าสนใจแบบนี้คงทำให้นักวิชาการต้องศึกษาหาข้อมูลกันต่อ




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 5 พฤษภาคม 2552 14:21:12 น.
Counter : 1188 Pageviews.  

French : The Language of Freedom | หนังใหม่ “Coco Chanel” | กรณีของยอดนักเปียโน Zimerman

ใน Guardian Weekly เดือนนี้มีบทความ "French : The Language of Freedom" พูดถึงนักเขียนต่างชาติที่เขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นแง่มุมที่น่าสนใจ เหตุใดพวกเขาถึงเลือกเขียนในภาษาฝรั่งเศส (เพราะปัจจุบันใครๆต่างก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษ)



ข่าวใหญ่ในแวดวงดนตรีไม่กี่วันก่อน เมื่อยอดนักเปียโนชาวโปแลนด์ Krystian Zimerman พูดแสดงจุดยืนทางการเมืองในงานคอนเสิร์ตที่อเมริกา เขาบอกว่า “Get your hands off of my country”

ผมชื่นชอบเสียงเปียโนของ Zimerman และนับถือความกล้าในการแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ผู้ฟังที่เข้ามาต้องการฟังดนตรี ไม่ได้ต้องการฟังเขาวิจารณ์นโยบายการทหารของอเมริกา

ลองนึกถึง Rostropovich ตอนรัสเซียมีปัญหา เขาไม่พรั่น จับเครื่องบินสู่มอสโคว์ ประจัญกับรถถัง ยืนเคียงข้างเยลต์ซินกับจุดยืนประชาธิปไตย

Zimerman ยังมีเวทีอื่นในการแสดงความเห็นเรื่องนี้



เห็นตัวอย่างหนังใหม่ Coco avant Chanel ที่มี Audrey Tautou รับบทนำ น่าชมทีเดียวครับ




 

Create Date : 30 เมษายน 2552    
Last Update : 30 เมษายน 2552 17:56:47 น.
Counter : 1084 Pageviews.  

Just Asking .. Daniel Barenboim | How the Kindle will change the world.



วันที่ 9 พ.ย. นี้ จะครบรอบ 20 ปี ของการสิ้นสุดกำแพงเบอร์ลิน เห็นบทสัมภาษณ์ Barenboim บอกว่า ทางเยอรมนีจะจัดงานคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิค โดย Barenboim จะอำนวยเพลงหน้าประตู Brandenburg เป็นคอนเสิร์ตฟรี น่าชมมากครับ

ผมชอบประโยคที่ Barenboim พูดถึง Furtwangler ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

Wilhelm Furtwangler for me represents all that is good about music-making, because he was a very cultured person. He was extremely well read, had many interests -- he saw music in that context. He saw the connection between Beethoven's slow movements and Greek philosophy. And that's what is missing from music-making today. Because of the influence of the movies, music is descriptive of other things now. Or else it's something completely outside the real world, something for a small number of very enthusiastic people who play it, and for a very small number of people who are passionate about listening to it. Furtwangler's music-making was based on the fact that music was really part of humanity, that it has human value.



ใน Slate มีบทความ “How the Kindle will change the world ตั้งแต่ผมเห็น Kindle รุ่นแรก ก็อยากลองใช้ พอมาเห็นเวอร์ชั่น 2 ดูดีขึ้นอีก แต่ราคายังสูงอยู่ ผู้เขียนบทความบอกว่า

The Kindle 2 signals that after a happy, 550-year union, reading and printing are getting separated. It tells us that printed books, the most important artifacts of human civilization, are going to join newspapers and magazines on the road to obsolescence.

ในความคิดผม .. ข้อด้อยสองประการของการเปลี่ยนวิธีอ่านจากหนังสือกระดาษไปสู่อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ได้แก่

ประการแรกและเป็นข้อสำคัญ สมาธิในการอ่าน - ความรู้สึก “จมหาย” กับการอ่านจะหายไป อุปกรณ์แบบนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต มีลิงค์ต่างๆ ทำให้ผู้อ่านขาดสมาธิ เรามักได้ยินเสมอว่าคนรุ่นใหม่ไม่ทนต่อการอ่านอะไรยาวๆ ไม่ทนต่อสิ่งที่ต้องครุ่นคิด ไตร่ตรอง

ประการที่สอง อนาคตจะแยกไม่ออกว่าใครอ่านหนังสืออะไร ไม่มีปกหนังสือ ต่อไปดูเหมือนกันหมด อนาคตจะไม่มีเรื่องราวแบบที่คุนเดราเขียนใน “The Unbearable Lightness of Being” ซึ่งโทมัสเห็นเทเรซ่าถือปกหนังสือ “Anna Karenina” ความรื่นรมย์อย่างหนึ่งของคนรักหนังสือ คืออยากรู้ว่าคนอื่นอ่านอะไร ยิ่งได้เห็นคนอ่านเล่มที่ตัวเองชอบ จะรู้สึกประทับใจมาก

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่โตมากับอินเตอร์เน็ตจะไม่รู้สึกเสียดายกับหนังสือเล่มที่เป็นกระดาษ คนที่รู้สึก Nostalgia ต้องเคยผ่านประสบการณ์ความสุขจากการอ่านหนังสือกระดาษ.. ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น..




 

Create Date : 28 เมษายน 2552    
Last Update : 28 เมษายน 2552 10:57:17 น.
Counter : 745 Pageviews.  

Marcel Proust : Edmund White พรูสต์อย่างสั้น



"In England not long ago a survey of writers and critics revealed that the twentieth-century novelist they most admired - and who they thought would have the most enduring influence on the next century - was Marcel Proust.” - Edmund White

ผมไม่ได้หมายถึงจำนวนหน้าของหนังสือ “In Search of Lost Time” เพราะความยาวสี่พันหน้าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ครั่นคร้ามผลัดวันอ่านหนังสือเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จนปีนี้ตั้งใจว่าจะอ่านซะที อยากหาประวัติของพรูสต์มาอ่านก่อน ที่ผมมีอยู่สองเล่มคือเล่มของ Edmund White ซึ่งยาว 165 หน้า กับเล่มของ Jean-Yves Tadie ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นประวัติที่สมบูรณ์มาก แต่หนาเป็นพันหน้า

เลือกง่ายมากครับ ไหนๆจะต้องอ่านยาวขนาดนั้น ขออ่านฉบับสั้นของ White ดีกว่า

พออ่านจบกลับรู้สึกทำไมสั้นจัง ไม่จุใจ ได้รู้ประวัติพรูสต์เพิ่มขึ้นก็จริง ทว่าไม่ได้ลงลึก White เขียนได้ดี แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่หนังสือ ทำให้เขาอาจต้องตัดเกร็ดประวัติหลายอย่างออกไป

สิ่งที่ผมเกรงอย่างหนึ่งก่อนเริ่มอ่านหนังสือประวัติเล่มนี้คือ กลัวว่า White จะเขียนถึงผู้คนแวดล้อมในชีวิตพรูสต์ว่าเป็นที่มาของตัวละครคนนั้นคนนี้ ในเล่มนี้มีเขียนถึงต้นแบบของ Swann, Odette, Albertine แต่ก็ไม่เยอะมาก

พรูสต์เริ่มเขียนเล่มแรกของ “In Search of Lost Time” ในวัยเกือบ 40 (เขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 51 ปี) ก่อนหน้านั้นแทบไม่ได้เขียนอะไรที่โดดเด่นเลย ผมเคยทราบว่า อังเดร ชีด ปฏิเสธที่จะตีพิมพ์เล่มแรกของ “In Search of Lost Time” White อ้างอิงข้อมูลว่าคนในสำนักพิมพ์ของชีด (รวมตัวชีดด้วย) ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แค่เปิดผ่านๆ ตอนหลังพวกเขาถึงตระหนักว่าพลาดการตีพิมพ์มาสเตอร์พีซแห่งยุค

White เขียนถึงความเป็นโฮโมฯของพรูสต์ เขียนถึงการเข้าสังคมในวัยหนุ่มที่ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต เข้าใจเรื่องราวในสังคม เขียนถึงการเป็นโรคหอบหืดที่ทำให้ต้องใช้เวลาในแต่ละวันกับการนอนอยู่ในห้อง ครุ่นคิดถึงตัวตนกับอดีตที่ผ่านมา ประสบการณ์จากโลกภายนอกและการดื่มด่ำกับโลกภายในคือที่มาของ “In Search of Lost Time”

ผมหวนนึกย้อนไป 2-3 ปีก่อนที่ได้สะพายเป้เที่ยวพม่า วันที่ไปล่องทะเลสาบอินเลได้รู้จักฝรั่งชาวเบลเยี่ยมร่วมทริป (ดูแล้วอายุไม่มาก พอๆกับผม) ตอนทานข้าวเที่ยงมีเวลาว่างคุยกันหลายเรื่อง แรกๆคุยเรื่องท่องเที่ยว จากนั้นก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น พอคุยเรื่องหนังสือ ผมถามถึงพรูสต์ ปรากฏว่าฝรั่งเบลเยี่ยมเคยอ่านแล้ว

ผมจึงบอกว่า “คุณนับเป็นไม่กี่คนที่ผมเคยเจอ ที่พบมาเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น ยังไม่เจอเพื่อนคนไทยที่อ่านจนจบ”

เขายิ้ม และพูดประโยคที่ยังจำได้จนถึงวันนี้ “คุณต้องอ่านให้ได้ .. มันไม่เหมือนอะไรทั้งหมดที่คุณเคยอ่านมาในชีวิต.. เชื่อผม”




 

Create Date : 27 เมษายน 2552    
Last Update : 2 กันยายน 2552 8:46:04 น.
Counter : 1175 Pageviews.  

Departures (Okuribito) หนังญี่ปุ่นแห่งปี “จากนักเชลโลมาเป็นสัปเหร่อ”



เพิ่งได้ชมหนังญี่ปุ่นที่ได้รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศเวทีออสการ์ปีนี้เรื่อง Departures (Okuribito) นี่เป็นหนังที่สงบนิ่ง ติดตรึงใจ ให้ความรู้สึกถึงช่วงขณะของการดำรงอยู่และความตายที่เข้ามาเยือน หนังถ่ายภาพได้งดงาม และบทเพลงที่เล่นด้วยเชลโลก็ให้อารมณ์ละเมียดละไมมาก

ในเรื่องพระเอกมีอาชีพเป็นนักเชลโลในวงออร์เคสตรา แต่ต้องตกงาน พระเอกเดินทางกลับบ้านเกิดที่ชนบท เขาได้งานใหม่คืออาชีพ “รับทำศพ” มีหน้าที่ต้องทำความสะอาดศพคนตาย ทำหน้าตา เช็ดตัว และจัดเสื้อผ้าให้คนที่ตายแล้ว ท่ามกลางครอบครัวและญาติมิตรของผู้ตายที่คอยเฝ้าดู จากความสะอิดสะเอียนไม่คุ้นชินในช่วงแรก เขาได้เริ่มเรียนรู้ถึงคุณค่าของงานที่ทำ การได้ใกล้ชิดกับ “ความตาย” ทำให้พระเอกได้ “ตกผลึก” อะไรบางอย่างในชีวิต แต่เขาจะทำอย่างไรที่จะอธิบายงานที่ทำอยู่ให้ภรรยาของตัวเองเข้าใจ

กล้องถ่ายฉากที่พระเอกและหัวหน้าทำความสะอาดศพไว้นานมาก ดังนั้นจึงให้อารมณ์คะนึงถึงความตายแก่ผู้ชมอย่างนิ่งสงัดจับใจ ตัวละครแสดงได้ดีเยี่ยม คงต้องฝึกทักษะการทำศพก่อนแสดง

เนื้อเรื่องนอกจากเป็นการออกเดินทาง (Departures) จากการมีชีวิตไปสู่ความตายแล้ว ยังเป็นการออกเดินทางจากเมืองใหญ่ “โตเกียว” มายังชนบท “ยามากาตะ”ของพระเอก จากความฝันนักเชลโลในวงออร์เคสตรามาสู่อาชีพใหม่ อย่างไรก็ตามการออกเดินทางไม่ใช่สิ่งสิ้นสุด ศาสนาบอกว่าแม้ร่างกายสูญสิ้น แต่จิตวิญญาณยังดำรงอยู่ พระเอกสูญเสียงานเชลโลในวงออร์เคสตรา แต่หัวใจก็ยังเต็มไปด้วยบทเพลงเชลโล เปลี่ยนจากการเล่นในสังคีตสถานขนาดใหญ่มาเป็นท้องทุ่งในชนบทท่ามกลางท้องฟ้าและขุนเขาอันงดงาม ฉากที่พระเอกเล่นเชลโลบทเพลง Ave Maria ของ บาค/กูโนด์ในวันคริสต์มาส ทำเอาผมซึมไปชั่วขณะ (ราวกับวิญญาณยอดนักเชลโลอย่างคาซาลส์หรือรอสโทรโปวิชเข้าสิงพระเอก)..

Trailer ของหนังเรื่องนี้



ความดังของหนังเรื่องนี้ทำให้สถานที่ถ่ายทำคือเมือง Sakata ใน Yamagata กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยของแฟนหนัง ดูรายละเอียดได้จากเว็บ Japan-guide และเว็บ Yamagata ครับ




 

Create Date : 21 เมษายน 2552    
Last Update : 21 เมษายน 2552 20:41:31 น.
Counter : 6402 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.