Group Blog
 
All Blogs
 

Speak, Memory : Nabokov | The Reader หนังสือและภาพยนตร์



Speak, Memory ของนาโบคอฟ มักได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสืออัตชีวประวัติอันยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20 และเมื่อผมอ่านจบ ก็เข้าใจว่าเหตุใดคนจำนวนมากจึงคิดเช่นนั้น

อัตชีวประวัติในแบบนาโบคอฟไม่ใช่เรื่องราวลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กจนเขาเติบใหญ่ แต่เป็นห้วงความทรงจำถึงช่วงเวลาที่เขาติดตรึงใจ ถึงเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อเราอ่านจบบทหนึ่งแล้ว บทถัดมาอาจข้ามกระโดดไปหลายปี หรือบางบทถัดมาอาจเขียนย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เป็นอัตชีวประวัติในแบบ ”กระแสสำนึก”

หนังสือเล่าถึงช่วงชีวิตของนาโบคอฟก่อนอพยพมายังสหรัฐอเมริกา เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1899 ในครอบครัวผู้ดีมีตระกูลของรัสเซีย คุณปู่นาโบคอฟเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ครอบครัวฐานะดี มีคฤหาสน์ในชนบทไว้พักผ่อนในฤดูร้อน ห้อมล้อมไปด้วยคนรับใช้ เขาถูกสอนให้รู้ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษก่อนภาษารัสเซีย ผมชอบตอนที่เขียนถึงวัยเยาว์ในรัสเซียก่อนการปฏิวัติใหญ่ปี ค.ศ. 1917 แม้การปฏิวัติรัสเซียเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก แต่นาโบคอฟกลับเขียนถึงน้อยมาก เขาเล่าถึงความสุขในวัยเยาว์มากกว่าเรื่องราวทางการเมือง เขาบอกไว้ว่า "The nostalgia I have been cherishing all these years is a hypertrophied sense of lost childhood, not sorrow for lost banknotes."

เวลาอ่านนาโบคอฟผมจะรู้สึกว่า นี่เป็นคนที่เขียนหนังสือได้สวยเหลือเกิน แต่ละประโยคช่างประดิดประดอยอย่างงดงาม เป็นคนที่ใช้ภาษาเก่งมาก…

ผมเพิ่งได้ดูหนัง The Reader .. ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ หนังเรื่องนี้สร้างมาจากหนังสือขายดี ซึ่งตัวผมอ่านแล้วเฉยๆ เห็นหลายคนชอบกันมาก ผมไม่ถึงกับประทับใจอะไร ที่ดังในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโอปรา วินฟรีย์ เลือกเล่มนี้ใน Book Club ของเธอ สำหรับเมืองไทยคงเป็นเพราะหนังสือได้รับการแปลออกมา โดยส่วนตัวผมคิดว่า หนังสือของ W.G. Sebald ดีกว่า Bernhard Schlink เป็นร้อยเท่า แต่หนังสือของเขาไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย ทำให้ไม่ค่อยมีคนรู้จัก

อย่างแรกที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ คือไม่ชอบนักแสดงนำหญิง Kate Winslet เป็นทุนเดิม เธอเป็นนักแสดงที่ไม่มีเสน่ห์ ไม่ชอบมาตั้งแต่ Titanic หลายปีหลังผมไม่รู้สึกประทับใจนักแสดงหญิงคนไหนเป็นพิเศษ นึกถึงนักแสดงหญิงที่ดูดี มีเสน่ห์ แบบรุ่นอินกริด เบิร์กแมน และเกรซ เคลลี่ ซึ่งปัจจุบันหาแบบนี้ไม่ได้แล้ว

หนังสือใช้แง่มุมทางเพศเป็นสิ่งเชื่อมร้อยไปถึงปมสำคัญในชีวิตนางเอก (ตัวเอก “ฮันนา” ไม่รู้หนังสือ แฝงนัยถึงความเป็นอนารยชนของนาซีเยอรมัน) โดยมีประเด็นที่พูดถึงคนเยอรมันในรุ่นหลังที่ต้องเผชิญกับบาดแผลของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกร่วมถึงความเจ็บปวดของบาดแผลนั้น ผมชมแล้วรู้สึกเฉยๆ…




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2552 17:09:27 น.
Counter : 923 Pageviews.  

Hadrian จักรพรรดิโลกไม่ลืม | I'll always have Paris!



เมื่อปีที่แล้ว British Museum จัดนิทรรศการเกี่ยวกับจักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian) ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากผู้เข้าชมเป็นอย่างสูง เป็นการเลือกนำเสนอจักรพรรดิได้ถูกพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเฮเดรียนถือเป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาจักรพรรดิโรมันทั้งหมด

ผมเพิ่งได้ชมสารคดีของ BBC ที่พูดถึงจักรพรรดิเฮเดรียน ความยาวเกือบ 1 ชั่วโมง ผู้ดำเนินรายการพาไปยังสถานที่ต่างๆในจักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกรในอดีต ไปดู Hadrian’s Wall ที่อังกฤษ พาไปแอฟริกาเหนือเพื่อดูซากเมืองและกำแพงในประเทศตูนิเซียและลิเบีย ไปอียิปต์ ตุรกีและกรีซ และไม่พลาดกับสถานที่สำคัญในกรุงโรมที่เฮเดรียนเป็นคนสร้าง อย่างวิหาร Pantheon, Castel Sant’Angelo และ Hadrian’s Villa

ก่อนหน้าเฮเดรียน ในยุคของจักรพรรดิ Trajan จักรวรรดิโรมันขยายขอบเขตไปอย่างกว้างไกล เฮเดรียนเสมือนเป็นบุคคลที่หลอมรวมอาณาจักรโรมัน เขากำหนดขอบเขตพรมแดน และถอนกำลังที่อยู่ไกลโพ้นจากเมโสโปเตเมีย ในทางศิลปะ เฮเดรียนเป็นจักรพรรดิที่ชอบศิลปะคลาสสิคของกรีก ดังจะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างอันงดงามที่เขาสร้างขึ้น



ในปี 2007 BBC เคยทำสารคดีเกี่ยวกับกรุงปารีส โดยแบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ City of Dreams, Blood & Chocolate และ Bohemian Rhapsody ผู้ดำเนินรายการคือ Sandrine Voillet (สำเนียงอังกฤษของเธอเจือฝรั่งเศส)

มีคนโพสต์ตอนที่ 2 (Blood & Chocolate) ไว้ในเว็บ Google Video ความยาว 1 ชั่วโมง แม้สถานที่ซึ่งเธอกล่าวถึงเป็น “Tourist Sights” อันคุ้นตา อาทิ Notre-Dame, Saint-Chapelle, Pont Neuf, Place des Vosges แต่ใครชอบปารีส ดูแล้วคงรู้สึกสุขใจทุกครั้งไปครับ

เห็นแล้วอยากไปฟังดนตรีตรง Square du Vert Galant ริมแม่น้ำแซนจริงๆ

“Paris is not only a place but a state of mind. Whoever goes there takes away the greatest meal he has ever had in his life, a romance that will linger forever, and a dream that will never be repeated. All you have to say is ‘Paris’ and the movie will begin.” - Art Buchwald




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2552 17:01:15 น.
Counter : 1441 Pageviews.  

84 Charing Cross Road หนังสือเชื่อมใจข้ามขอบฟ้า



ทราบข่าวจากเว็บ Guardian ว่าร้านหนังสือ Murder One ในย่าน Charing Cross Road ของลอนดอนได้ปิดกิจการลง และถนนเส้นนี้ได้สูญเสียเสน่ห์บรรยากาศของร้านหนังสือที่เคยมีในอดีต



ทำให้ผมนึกถึงความประทับใจจาก 84 Charing Cross Road ซึ่งมีโอกาสอ่านฉบับหนังสือและได้ชมฉบับภาพยนตร์

หนังสือเป็นการรวบรวมจดหมายระหว่าง Helene Hanff และ Frank Doel โดยที่ Helene Hanff เป็นนักเขียนในนิวยอร์ก เธอเสาะหาหนังสือวรรณกรรมเก่าหายาก ซึ่งหาไม่ได้ในร้านหนังสือที่นิวยอร์ก จึงต้องใช้วิธีติดต่อสั่งซื้อทางจดหมายกับร้านขายหนังสือเก่า Marks & Co ที่ย่าน Charing Cross Road กรุงลอนดอน เธอซื้อหนังสือบ่อยครั้งจนทำให้สนิทสนมกับ Frank Doel เจ้าของร้าน กลายเป็นความผูกพันของหนอนหนังสือผ่านตัวอักษรทางจดหมาย

ฉบับภาพยนตร์ได้แอนน์ แบนครอฟท์ และแอนโทนี ฮอปกินส์ นำแสดง หนังดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่าย สำหรับคนรักหนังสือคงรู้สึกร่วมไปกับเนื้อเรื่อง Hanff และ Doel แลกเปลี่ยนวรรณกรรมคลาสสิคที่เป็นอมตะ อาทิ Elizabethan Poetry, John Donne, Pepys Diary ฯลฯ

"If you happen to pass by 84, Charing Cross Road, kiss it for me. I owe it so much."










 

Create Date : 31 มกราคม 2552    
Last Update : 31 มกราคม 2552 19:11:04 น.
Counter : 2764 Pageviews.  

Robert McCrum on Three Modern Greats | Washington Post to End Book World as Stand-Alone Section



Robert McCrum ได้เขียนบทความ “Three Modern Greats” ใน Guardian ซึ่งเขาเลือกนักเขียนที่โดดเด่นในรอบ 15 ปี ไว้ 3 คน คือ W.G. Sebald, Zadie Smith และ Ted Hughes

ผมเคยอ่านเพียง W.G. Sebald ซึ่งเป็นนักเขียนที่ผมชื่นชอบเป็นอันมาก ส่วน Zadie Smith เคยเล็งว่าจะอ่าน White Teeth พอมาอ่านความคิดเห็นของผู้อ่านในส่วนท้ายบทความชิ้นนี้ ดูมีคนจำนวนมากที่ไม่คิดว่าหนังสือของ Zadie Smith ดีเยี่ยมอยู่ในระดับเดียวกับ W.G. Sebald

------------------------------------------------------------------------

ข่าวร้ายสำหรับแฟนเซ็คชั่น “Book World” ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อมีข่าวออกมาว่า “Book World” กำลังจะปิดตัวลง โดยฉบับวันที่ 15 ก.พ. นี้จะเป็นฉบับพิมพ์ครั้งสุดท้าย จากนั้นจะไปรวมกับส่วนอื่นของหนังสือพิมพ์

แม้รายงานข่าวจะบอกว่าฉบับออนไลน์จะดำเนินการต่อไป แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆตามมาหรือไม่ สำหรับ “Book World” แค่ได้อ่านเพียงคอลัมน์ของไมเคิล เดอร์ดาก็คุ้มแล้ว

น่าผิดหวังถ้าอนาคตเราจะไม่มี “Stand-Alone Section เกี่ยวกับหนังสือ” แบบนี้ ไม่รู้ว่าในอนาคต New York Times Book Review และ TLS จะเป็นอย่างไร หรือต่อไปเราต้องอ่านรีวิวแต่หนังสือประเภท Chick Lit?

Sigh..




 

Create Date : 29 มกราคม 2552    
Last Update : 29 มกราคม 2552 14:36:08 น.
Counter : 1004 Pageviews.  

เมื่อคนอินเดียตั้งชื่อลูกตามนักเขียนรัสเซีย | ตัวเต็งรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม Claudio Magris



ผมมีโอกาสชมหนังเรื่อง “The Namesake” (Mira Nair, 2006) ทางเคเบิลทีวีช่องหนึ่งโดยบังเอิญ เปิดมาดูตอนที่ตัวเอกชาวอินเดียอยู่ในห้องเรียนในสหรัฐอเมริกา เขาพูดถึงปัญหาของชื่อตัวเอง “โกกอล” (Gogol) ซึ่งเขาไม่ชอบเลย ชื่อนี้ดูแปลกในหมู่คนอเมริกัน

ฉากถัดมาเขาบ่นกับเพื่อนฝูงร่วมชั้นว่า ทำไมพ่อถึงไม่ตั้งชื่อว่า “Leo” (ตอลสตอย) หรือ “Anton” (เชคอฟ) แต่กลับตั้งชื่อเขาว่า “โกกอล”

เรื่องดำเนินไปสักพักจึงรู้ว่า พ่อของเขาเป็นชาวอินเดียที่อพยพมาทำงานอยู่ในอเมริกา เขาชอบยอดนักเขียนชาวรัสเซีย “นิโคไล โกกอล” เป็นอย่างมาก โดยที่หนังสือของโกกอลมีความผูกพันส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากครั้งหนึ่งเขานั่งรถไฟในอินเดีย ขณะที่กำลังอ่านรวมเรื่องสั้นของโกกอล ทันใดนั้นรถไฟเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เขาจมอยู่ในซาก แต่ห้วงความเป็นตายนั้นได้ชูหนังสือโกกอลขึ้นมา ทำให้มีคนเห็นและนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน

หนังเรื่องนี้ดัดแปลมาจากนิยายของ Jhumpa Lahiri หนังพูดถึงประเด็นความเป็นอินเดียในสังคมอเมริกัน รากเหง้าอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่คนรุ่นใหม่พยายามสละทิ้ง กับความขัดแย้งสับสนภายในใจ

เสียดายผมชมหนังเรื่องนี้ไม่จบ เพราะต้องออกไปทำธุระข้างนอก



ก่อนหน้าการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีที่แล้ว บริษัทรับพนันถูกกฎหมายในอังกฤษได้ออกอัตราต่อรองตัวเต็งที่จะได้รางวัลโนเบลอันทรงเกียรตินี้ อันดับแรกคือ นักเขียนชาวอิตาเลียน Claudio Magris

หนังสือเล่มเอกของเขา “Danube” ซึ่งเกี่ยวกับ Central European Cultural History ผมอยากอ่านมานานแล้ว (ส่วนตัวชอบ Cultural/Intellectual History) แต่ก็ไม่มีโอกาสสักที หนังสือของเขาไม่ค่อยเห็นตามร้านหนังสือ ถ้าจะซื้อคงต้องสั่งทางอินเตอร์เน็ต

Magris เป็นอาจารย์สอนวรรณคดีเยอรมันในมหาวิทยาลัย เขาเติบโตมาในเมือง Trieste เมืองนี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรียมาก่อน บรรยากาศจึงผสมผสานความเป็นอิตาลี, ออสเตรีย-เยอรมัน และสโลเวเนีย นักเขียนดังอย่างเจมส์ จอยซ์ และอิตาโล สเวโว เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

ผมไปเห็นบทความ “The Self That Writes” ของเขา ดาวน์โหลดมาอ่านกันได้ครับ (PDF file)




 

Create Date : 27 มกราคม 2552    
Last Update : 27 มกราคม 2552 16:26:11 น.
Counter : 1361 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.