Group Blog
 
All Blogs
 
Bangkok – Book City



หากจะดูว่าเมืองไหนพัฒนาก้าวหน้ามากกว่ากันย่อมไม่ได้วัดกันที่ความเจริญทางวัตถุเพียงอย่างเดียว “หนังสือ” ถือเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่ง เมืองไหนที่มีร้านหนังสือดีๆ มีห้องสมุดดีๆ ย่อมเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางปัญญาของผู้คนในเมืองนั้น

กรุงเทพฯ.. เมืองฟ้าอมรของเรา.. หลายปีที่ผ่านมามีห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ถนนหนทาง ก่อสร้างขึ้นอย่างมากมาย แต่ห้องสมุดกับร้านหนังสือช่างมีน้อยเหลือเกิน ห้องสมุดที่มีอยู่ก็มีปริมาณหนังสือให้เลือกน้อย ขาดงบประมาณสนับสนุน จำได้ว่าคุณมาร์แซล บารัง เคยใช้คำว่า “น่าอาย” กับคุณภาพของ “หอสมุดแห่งชาติเมืองไทย”

ห้องสมุดที่ดีสุดของกรุงเทพฯในทัศนะส่วนตัวของผมคือ หอสมุดปรีดีที่ธรรมศาสตร์ ผมเคยยืมหนังสือจากที่นี่ไปอ่านจำนวนมาก หอสมุดปรีดีมีหนังสือภาษาอังกฤษให้เลือกอ่านเยอะ ถึงกระนั้นก็ยังขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ ผมนึกถึงตอนที่หาหนังสือ The World of Yesterday ของ Stefan Zweig หรือ Love ของ Stendhal ซึ่งไม่มีให้อ่าน แต่มุมหนังสือวรรณกรรมกลับเต็มไปด้วยหนังสือทฤษฎี ผมคิดในใจว่าคนเรียนคนสอนวรรณคดีในปัจจุบันคงสนใจ “ทฤษฎีวรรณกรรม” มากกว่า “วรรณกรรม” (ขอถอนหายใจดังๆ..)

ห้องสมุดเป็นทางเลือกในการอ่านที่ประหยัดที่สุด (ไม่ต้องซื้อ) ยืมได้ครั้งละหลายเล่ม เสน่ห์อย่างหนึ่งที่แฝงอยู่กับหนังสือในห้องสมุด ได้แก่ “บัตรยืมข้างหลังเล่ม” สมัยก่อนที่ยังไม่ใช้การยิงบาร์โค้ด ในกรณีห้องสมุดมหาวิทยาลัยเราต้องเขียนชื่อผู้ยืมและรหัสนักศึกษา เวลาผมยืมหนังสือ ชอบดูชื่อคนยืมครั้งก่อนๆ เขาหรือเธอเป็นใครกัน หลายเล่มยืมครั้งสุดท้ายเมื่อ 10-20 ปีก่อน หลายเล่มเรารู้จักชื่อคนยืมครั้งก่อนเรา เช่น หนังสือดนตรีคลาสสิค เจอชื่อคนยืม “อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์”

สำหรับร้านขายหนังสือต่างประเทศในกรุงเทพฯ หลักๆคงมีเพียงร้าน Kinokuniya ซึ่งความหลากหลายของหนังสือมีจำกัด ในส่วนร้านหนังสือมือสองแถวถนนข้าวสาร มีร้าน Shaman ซึ่งเจ้าของร้านเป็นชาวอิตาเลียน ร้านนี้มีหนังสือมากกว่าร้านอื่นในละแวกเดียวกัน แต่ตั้งราคาไว้สูงเกินไป

ความสะดวกของการซื้อหนังสือยุคนี้คือการซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต ผมสามารถเสิร์ชหาหนังสือและเปรียบเทียบราคาได้อย่างสบาย ส่วนใหญ่หนังสือมือสองทางเน็ตจะมีราคาถูก มาแพงตรงค่าขนส่งระหว่างประเทศ บางเว็บไซต์ของอเมริกาที่ผมเคยซื้อ ราคาหนังสือปกแข็งขายเพียง 3.98 USD (ราว 140 บาท) แต่คิดค่าส่งมาเมืองไทย 3.97 USD ถือว่าถูกเมื่อเทียบกับอีกหลายเว็บ แต่จะดีเพียงไรถ้าผู้สั่งอยู่ในอเมริกา เพราะเว็บนี้บอกว่าจัดส่งในประเทศฟรี

ผมซื้อหนังสือทางอินเตอร์เน็ตบ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ซื้ออดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเมืองไทยไม่มีหนังสือดีๆราคาประหยัดขาย? ทำไมเราไม่แปลหนังสือจากต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากมายให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไปได้มีไว้อ่าน?


Create Date : 27 พฤษภาคม 2552
Last Update : 27 พฤษภาคม 2552 15:29:41 น. 4 comments
Counter : 602 Pageviews.

 
น่าคิดคะ
ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆนะคะ


โดย: pinklilac วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:15:47:01 น.  

 
ผมก็ชอบดูชื่อคนยืมเหมือนกันครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 27 พฤษภาคม 2552 เวลา:19:48:06 น.  

 
คนเรียนคนสอนวรรณคดีในปัจจุบันคงสนใจ “ทฤษฎีวรรณกรรม” มากกว่า “วรรณกรรม”

ชอบประโยคนี้มากครับ ซึ้งจริงๆ


โดย: drstit วันที่: 22 กันยายน 2552 เวลา:21:08:38 น.  

 
" เสน่ห์อย่างหนึ่งที่แฝงอยู่กับหนังสือในห้องสมุด ได้แก่ “บัตรยืมข้างหลังเล่ม” สมัยก่อนที่ยังไม่ใช้การยิงบาร์โค้ด ในกรณีห้องสมุดมหาวิทยาลัยเราต้องเขียนชื่อผู้ยืมและรหัสนักศึกษา เวลาผมยืมหนังสือ ชอบดูชื่อคนยืมครั้งก่อนๆ เขาหรือเธอเป็นใครกัน หลายเล่มยืมครั้งสุดท้ายเมื่อ 10-20 ปีก่อน"

นึกว่าเราเป็นคนเดียวซะอีก 555


โดย: ตอง IP: 125.27.207.238 วันที่: 18 ตุลาคม 2552 เวลา:0:01:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

BlueWhiteRed
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add BlueWhiteRed's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.