bloggang.com mainmenu search
พาโรซอง

ฉันชอบสถาปัตยกรรมซองที่มักจะสร้างอยู่ริมน้ำ แล้วเดินข้ามสะพานไป คงจะเหมือนกับการสร้างเมืองแต่ละที่ในสมัยโบราณที่เลือกถิ่นที่ตั้งใกล้แม่น้ำ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่ดี เพราะคนก็ต้องใช้สอยน้ำในชิวิตประจำวัน มาถึงที่นี่พวกเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนั่งชิลชิลริมฝั่งแม่น้ำ หย่อนขาลง อีกกลุ่มหนึ่งเดินข้ามสะพานมาถ่ายรูป ซึ่งระหว่างนั้นมีลามะเดินเข้าออกซองอยู่เป็นระยะ



ทางเดินเข้าซอง



ฝั่งตรงข้ามซอง



กีฬายิงธนู

ฉันเปรย ๆ เรียกร้องว่าอยากดูกีฬายิงธนู ถ้ามีโอกาส (ไม่มีในโปรแกรมทัวร์) เพราะเห็นรูปจากในหนังสือแล้วดูเท่มากกับการแต่งชุดประจำชาติ ยิงธนู โชคดีที่ระหว่างทางเจอแข่งยิงธนู จึงได้มีโอกาสเดินลงไปดู ฉันประหลาดใจมากกับระยะยิงธนู ไกลโพ้นจนสงสัยว่าเขามองเห็นหรือ หรือเขากะระยะเอา

ฉันอ่านข้อมูลเจอว่าในงานโอลิมปิคปี ค.ศ. 2004 นักกีฬายิงธนูคนดังของภูฎานได้ถือธงชาตินำขบวนด้วย ภูฎานได้สนับสนุนกีฬาประเภทนี้เข้าสู่เวทีสากลโลก

การยิงธนูแบบดั้งเดิมใช้ลูกธนูไม้ไผ่ ยิงเป้าไม้ที่ตั้งห่างออกไปประมาณ 140 เมตร ไกลกว่ามาตรฐานโอลิมปิค






ปั๊มในภูฎาน

ก่อนมาเที่ยว ฉันอ่านเจอในหนังสือว่าภูฎานมีปั๊มของบริษัทน้ำมันอยู่ 3 ยี่ห้อ คือ Bharat Petroleum, Indian Oil และ Royal Dutch Shell แต่ฉันเห็นอยู่ 2 ยี่ห้อแรก แม้แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมของปั๊มก็ยังเป็นลักษณะลวดลายแบบภูฎาน ไม่มีป้าย Highway Sign ใหญ่โตแบบของไทย ช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ (พ.ค. 51) ราคาเบนซินในภูฎานประมาณ 36 บาท ดีเซล 26 บาท (ราคาเบนซินพอ ๆ กับเบนซิน 91 บ้านเราในช่วงเวลาเดียวกัน ฉันไม่แน่ใจว่าเบนซินที่นี่มีค่าออกเทนเท่าไหร่ แต่ดีเซลเมืองไทยอยู่ที่ 32-33 บาท คงมีการ Subsidize เหมือนไทย)





ของที่ระลึกจากภูฎาน

เพราะข้าวของแพงไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ เครื่องเงิน (กล่องเครื่องเงินแต่ละที่ที่ฉันถาม ราคาหลักหลายพันอยู่ บางที่ก็เป็นหมื่น สองหมื่นก็มี เห็นเขาว่าเป็นของเก่า ไม่เอาล่ะ เดี๋ยวเจ้าของเก่ามาทวงคืน) ดังนั้นฉันจึงได้แค่แสตมป์ภูฎาน โปสการ์ดและเสื้อยืดภูฎานมาเป็นที่ระลึก

รู้ไหมว่าแสตมป์ภูฎานติดอันดับแสตมป์โลกเชียวนะ เป็นการมองการณ์ไกลของกษัตรย์ภูฎานที่ต้องการให้โลกรู้วัฒนธรรม ธรรมชาติ สัตว์ในภูฎาน และเป็นแสตมป์ที่นักสะสมแสตมป์ต้องหามาครอบครองในมือ

หน่วยงานไปรษณีย์ของภูฎานตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Universal Postal Union ในปี ค.ศ. 1969 ภาพในแสตมป์จะบอกเรื่องราวของประเทศผ่านรูปภาพ เป็นเสมือนตัวแทนทูตของประเทศให้ชาวโลกรู้จัก บางชุดมีการประมูลขายกันตามอินเตอร์เน็ทด้วย

บทสรุปจากภูฎานในความคิดของฉัน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและซาบซึ้งในความเป็นมาของวัฒนธรรม ไม่ผิดหวังแน่ ๆ หากได้มาเยี่ยมเยือนภูฎานสักครั้งหนึ่ง แต่หากถ้ายังชอบแสงสี สถานที่ทันสมัย หรือนิยมเริงร่ายามราตรีอาจจะไม่ถูกใจนัก ในมุมมองของฉัน หากภูฎานไม่มีคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังแต่งกายชุดประจำชาติ อันเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน หรือสถาปัตยกรรมที่มองที่ไปทางใดก็เป็นลักษณะไปในทางเดียวกัน ภูฎานก็คงไม่มีเอกลักษณ์ใด ๆ ที่มีบุคลิกของตนเองที่สร้างความประทับใจและแตกต่างจากเมืองอื่น

อีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าวางระบบการศึกษาดี ก็สามารถทำให้ผู้คนเก่งภาษาอังกฤษได้ คนไทยชอบพูดว่าเพราะเราไม่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คนไทยจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ นี่ไงภูฎานเป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นอิสระ ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร เหตุไฉนเด็ก ๆ ในภูฎานจึงทักทาย พูดคุย เข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

การมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่ต้องตามอย่างใคร แค่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหน แต่ไม่จำเป็นต้องตามไปทุกอย่างจนขาดความเป็นตัวเอง ความเป็นธรรมชาติ ที่ใสสะอาด โดยไม่ได้ปรุงแต่ง นี่ละคือความประทับใจของฉันที่มีต่อภูฎาน





Tip ประกอบในการมาภูฎาน

1. เตรียมอาหารไทยไปด้วยเพื่อจะได้ enjoy eating เพราะภูฎานอนุญาตให้นำอาหารเข้าไปได้ยกเว้นไก่ (กลัวไข้หวัดนก)
2. อุปกรณ์ยาดม ยาหม่อง เผื่อใช้ (เพราะนั่งรถวิ่งบนเขา หรือใช้เป็นอุปกรณ์นวดสปายามเดินเยอะ)
3. ควรใช้รองเท้าคู่เก่ง ไม่ใช่รองเท้าคู่สวย
4. เสื้อกันหนาว + ผ้าพันคอ + ถุงมือ + ถุงเท้า อุปกรณ์กันความหนาวเย็นทั้งหลาย (แล้วแต่สภาพร่างกายแต่ละคน)
5. เตรียมกางเกงขายาวไป (ขาสั้นกับขาสามส่วน สี่ส่วน จะไม่สุภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตเวลาเข้าวัดหรือวัง)






Create Date :30 กันยายน 2551 Last Update :1 ตุลาคม 2551 6:48:22 น. Counter : Pageviews. Comments :3