bloggang.com mainmenu search



ไปภูฎานมาครบรอบ 2 ปีพอดิบพอดี ได้โอกาสบันทึกตอนจบซะที
หลังจากเขียนบล็อกไป 16 ตอนแล้ว


....บทสรุปจากภูฎานในความคิดของฉัน.....

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและซาบซึ้งในความเป็นมาของวัฒนธรรม ไม่ผิดหวังแน่ ๆ หากได้มาเยี่ยมเยือนภูฎานสักครั้งหนึ่ง แต่หากถ้ายังชอบแสงสี สถานที่
ทันสมัย หรือนิยมเริงร่ายามราตรีอาจจะไม่ถูกใจนัก


ในมุมมองของฉัน หากภูฎานไม่มีคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังแต่งกายชุดประจำชาติ อันเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน หรือสถาปัตยกรรมที่มองที่ไปทางใดก็เป็นลักษณะไปในทางเดียวกัน ภูฎานก็คงไม่มีเอกลักษณ์ใด ๆ ที่มีบุคลิก
ของตนเองที่สร้างความประทับใจและแตกต่างจากเมืองอื่น




อีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ถ้าวางระบบการศึกษาดี ก็สามารถทำให้ผู้คนเก่งภาษาอังกฤษได้ คนไทยชอบพูดว่าเพราะเราไม่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คนไทยจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ นี่ไงภูฎานเป็นตัวอย่างของประเทศที่เป็นอิสระ ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร เหตุไฉนเด็ก ๆ ในภูฎานจึงทักทาย พูดคุย เข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี


เด็กนักเรียนกำลังเดินไปโรงเรียนยามเช้า



การมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ไม่ต้องตามอย่างใคร แค่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหน แต่ไม่จำเป็นต้องตามไปทุกอย่างจนขาดความเป็นตัวเอง ความเป็นธรรมชาติ
ที่ใสสะอาด โดยไม่ได้ปรุงแต่ง นี่ละคือความประทับใจของฉันที่มีต่อภูฎาน

กาทินชีลา (ขอบคุณภาษาภูฎาน) ขอบคุณที่ทำให้ฉันสัมผัสธรรมชาติที่ยัง
สวยสดงดงาม แม่น้ำที่ไหลผ่านขนานไปกับภูเขา สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์รายล้อมด้วยหุบเขา อากาศที่ยังใสเป็นธรรมชาติ สัมผัสความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อศาสนาพุทธจนกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต


วันข้างหน้าในอนาคต การเปิดประเทศ สื่อทางทีวีหรือทางอื่น ๆ คงเผยแพร่วัฒนธรรมจากภายนอกสู่ภายในมากขึ้น ฉันหวังว่าในภายภาคหน้าภูฎานจะยังคงหวงแหนและรักษาวัฒนธรรมประจำชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งยังอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของโลกในดินแดนอื่นมีแต่จะลดลงไปตามกาลเวลาของกระแสทุนนิยม



....Tip ประกอบในการมาภูฎาน....

1. เตรียมอาหารไทยไปด้วยเพื่อจะได้ enjoy eating เพราะภูฎานอนุญาตให้นำอาหารเข้าไปได้ยกเว้นไก่ (กลัวไข้หวัดนก)
2. อุปกรณ์ยาดม ยาหม่อง เผื่อใช้ (เพราะนั่งรถวิ่งบนเขา หรือใช้เป็นอุปกรณ์นวดสปายามเดินเยอะ)
3. ควรใช้รองเท้าคู่เก่ง ไม่ใช่รองเท้าคู่สวย
4. เสื้อกันหนาว + ผ้าพันคอ + ถุงมือ + ถุงเท้า อุปกรณ์กันความหนาวเย็น
ทั้งหลาย (แล้วแต่สภาพร่างกายแต่ละคน)
5. เตรียมกางเกงขายาวไป (ขาสั้นกับขาสามส่วน สี่ส่วน จะไม่สุภาพหรือไม่ได้รับอนุญาตเวลาเข้าวัดหรือวัง)



....ค่าใช้จ่ายในการมาภูฎาน....

ค่าเครื่องบินไปกลับ 783 ดอลลาร์สหรัฐ (มีสายการบินเดียว เป็นสายการบินประจำชาติภูฎานเท่านั้น)

ค่าทำวีซ่า 20 ดอลลาร์

Land cost 200 ดอลลาร์ต่อวัน (เงินจำนวนนี้จะเป็นของรัฐบาล 35% ที่เหลือไกด์จะจัดสรรเป็นค่าที่พักและค่าอาหาร)

ไกด์เล่าว่าไกด์จะได้รับเงินจากรัฐบาลหลังจากที่คณะเรากลับแล้ว
การโอนเงินจะเข้าบัญชี Bank of NewYork เป็นเบอร์บัญชีของ Bank of Bhutan (เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้โอนต่อประเทศภูฎาน ซึ่งยังเป็นประเทศค่อนข้างปิด)



....ข้อมูลพื้นฐานประเทศภูฎาน...

** ภูฎานอยู่ที่ส่วนไหนของโลก???
อยู่ใต้ทิเบต ทางขวาของเนปาล ติดกับอินเดีย




** ธงชาติภูฎาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนโดยการทแยงมุม
ด้านบนเป็นสีเหลือง หมายถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นสีที่แสดงถึง
ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม

ด้านล่างเป็นสีส้ม หมายถึงการปฏิบัติธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาต่อ
ศาสนาพุทธของชาวภูฎาน

มีมังกรสีขาวอยู่ตรงกลางผืนธง มังกรเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า

สีขาวของมังกร หมายถึงความจงรักภักดีของคนทุกเชื้อชาติทุกภาษา
ที่อยู่ในประเทศ

ท่ามังกรกำลังคำรามอ้าปาก แสดงถึงความมีอำนาจน่าเกรงขามของผู้เป็นเจ้าทั้งชายและหญิงที่ปกป้องภูฎาน




** สัตว์ประจำชาติ คือ “ทาคิน” เป็นสัตว์หายาก หน้าเหมือนแพะ ตัวเหมือนวัว กินไม้ไผ่เป็นอาหาร

** ต้นไม้ประจำชาติ คือ ต้นไซเปรส เป็นสนชนิดหนึ่ง
ดอกไม้ประจำชาติ คือ ดอกป๊อปปี้สีฟ้า

** ภาษาประจำชาติคือภาษาซองคา (Dzongkha)

** เมืองหลวงคือ ทิมพู (Thimphu)

** รายได้หลักของประเทศ มาจากการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้ประเทศอินเดีย และส่งออกไม้ ผลิตผลทางการเกษตร งานหัตถกรรม และซีเมนต์

** สกุลเงิน นูลทรัม (Ngul trum)

** ประวัติศาสตร์ภูฎาน ราชวงศ์กษัตริย์ภูฎานเพิ่งครบรอบ 100 ปีนี่เอง คือเริ่มราชวงศ์วังชุกในปี พ.ศ. 2450 เมื่อพระเจ้าอูเกน วังชุก แห่งเมืองตงซา ทรงรวบรวมอาณาจักรน้อยใหญ่แถบเทือกเขาหิมาลัยขี้นเป็นประเทศได้สำเร็จ


....ตัวอย่างแสตมป์ที่ช็อปปิ้งมาจากภูฎาน.....













โปสการ์ดกษัตริย์ภูฎานองค์ปัจจุบัน




......รัชชี่.......


To : คุณ Holly รูปภาพโรงแรมแห่งหนึ่งที่ไปพักค่ะ








Create Date :05 มิถุนายน 2553 Last Update :30 กันยายน 2553 9:42:10 น. Counter : Pageviews. Comments :36