bloggang.com mainmenu search
 

 

ไม่ได้อัพบล็อกมา 2 เดือน บล็อกนี้เลยมาบันทึกเรื่องราวที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านค่ะ เพราะเรากำลังก้าวสู่อาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้านี่เอง

มานึกดูประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้เคยมีโอกาสไปเยือนก็มีลาว (หลวงพระบาง) มาเลเซีย  เวียดนาม แต่ตอนที่ไปก็ไม่ได้คิดถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี 2558 เลย

สิ่งที่ทำให้พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละประเทศแตกต่างกัน ก็คงเป็นเพราะพื้นฐานการเลี้ยงดู วัฒนธรรม แนวความคิดที่แตกต่างกัน การนับถือศาสนา    เราลองมาดูกันค่ะว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไรกัน

---------------------------------------------

“ไลฟ์สไตล์ รสนิยม และวัฒนธรรมของของคนประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน”

ที่มา : “อาเซียนกระเป๋าตุง” โดย ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ SMEs ในอาเซียน  

 

สิงคโปร์  

คนสิงคโปร์ชอบดำเนินชีวิตอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ ชอบความเป็นระบบ มีการศึกษาดี มีรายได้สูง จึงมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงไปด้วย  นิยมสินค้าแบรนด์เนม ได้รับอิทธิพลเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจากตะวันตกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น สนใจติดตามกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกมาก กระแสนิยมในโลกมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าสูง     

ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพค่อนข้างมาก นิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย ผู้มีรายได้และมีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น  ผู้หญิงสิงคโปร์มีความเป็นวัตถุนิยม และให้ความสำคัญเรื่องเงินมาก  

 ----------------------------------

มาเลเซีย  

เนื่องจากเศรษฐกิจที่พัฒนาไปในระดับค่อนข้างสูงแล้ว  ทำให้ชาวมาเลเซียมีกำลังซื้อสูง มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น กลุ่มวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ  มีการใช้จ่ายสินค้าไอทีสูงกว่าด้านอาหารและการพักผ่อนอื่น ๆ  คนมาเลเซียมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและสนใจเรื่องข้อมูลข่าวสาร

มาเลเซียมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ กลุ่มหลัก ๆ คือ ชาวมาเลย์ ชาวจีนและชาวอินเดีย รสนิยมจึงแบ่งย่อยตามกลุ่มเชื้อชาติด้วย แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตก นิยมสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น ด้านอาหารนิยมบริโภคอาหารสด แต่ด้วยความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น อาหารแปรรูปก็เริ่มมีแนวโน้มได้รับความนิยม ระหว่างวันมักพักดื่มน้ำชาพร้อมอาหารว่างเป็นขนมต่าง ๆ เช่น บิสกิต ประชาชนกลุ่มวัยทำงานนิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  

 -----------------------------

อินโดนีเซีย :

ในเรื่องรายได้ ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง ยังมีคนรายได้น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงยังอ่อนไหวกับราคาสินค้า ไม่ค่อยนิยมสินค้าราคาแพง ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทั้งสินค้านำเข้าจากเอเซียและจากประเทศตะวันตก มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

ชาวอินโดนีเซียใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารค่อนข้างสูง  สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้  นิยมออกมารับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อผ่อนคลายและใช้เวลาร่วมกับครอบครัว เนื่องจากมีความเป็นสังคมเมืองเพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มเริ่มหันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทานมาเก็บไว้ที่บ้านแทนการออกไปซื้ออาหารสดทุกวันเช่นเดิม  อาหารจำพวกซีเรียลเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันสำหรับทุกกลุ่มรายได้ และคนอินโดนีเซียชอบรับประทานอาหารรสเผ็ด  

 

-------------------------------

ฟิลิปปินส์  

ชาวฟิลิปปินส์มีระบบคิดและวัฒนธรรมคล้ายชาวตะวันตก เพราะเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมานาน มักไม่ค่อยหลงไปกับกระแสสินค้าแบรนด์เนมราคมแพงแต่มีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์สินค้าที่เลือกแล้วสูง  มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย เน้นความเรียบง่าย สะดวก เหมาะสมกับรายได้ ใส่ใจการดูแลสุขภาพ การดูแลความสวยงามและผิวพรรณ ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก แนวโน้มนิยมซื้อสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ชนิดต่าง ๆ  

คนไทยน่าจะเข้าใจลักษณะนิสัยของคนฟิลิปปินส์ได้ไม่ยาก เพราะมีอุปนิสัยคล้ายคนไทยมากในเรื่องการเป็นคนร่าเริง รักความสนุกสนาน ชอบเขาสังคม บุคลิกสบาย ๆ แต่มีความต่างคือ คนฟิลิปปินส์มีความพร้อมที่จะเข้าใจความเป็นสากลมากกว่า มีความเป็นประชากรโลกสูงมาก บุคลิกและระบบคิดเหมือนฝรั่งที่หน้าตาเป็นเอเขีย  คนฟิลิปปินส์ไม่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ขอบไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง

-------------------------------

บรูไน :

บ้านเมืองเงียบสงบ เป็นระเบียบ ไม่มีผับบาร์ ไม่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ประชากรมีรายได้สูงเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าหลัก  มีประชากรเพียง 4 แสนคน ร้อยละ 80 เป็นข้าราชการ  ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก นิยมสินค้าแบรนด์แนมหรูหราราคาแพงและสินค้าฟุ่มเฟือยนำเข้าจากต่างประเทศ มีรสนิยมทันสมัยและสนใจติดตามวัฒนธรรมตะวันตก

ด้านการบริโภค นิยมอาหารฮาลาลที่ผลิตตามหลักการของศาสนาอิสลาม ใส่ใจเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารมาก วัฒนธรรมการบริโภคอาหารคล้ายชาวมาเลเซีย  

---------------------------- 

พม่า :

ชาวพม่าเป็นคนชอบสังคม  ชอบพบปะสังสรรค์ แม้ในเช้าวันอาทิตย์ที่ฝนตกหนัก ชาวบ้านก็ยังออกจากบ้านมาพบปะพูดคุยกัน เกี่ยวกับร้านอาหารชาวพม่ามีมุมมองที่น่าสนใจว่า ยิ่งเก้าอี้สูง อาหารก็ยิ่งแพง หากไปที่พม่าเราจะเห็นร้านอาหารของชาวบ้าน ร้านข้างทางที่มีเก้าอี้เตี้ย ๆ สำหรับนั่งทานอาหาร  พม่ากับเวียดนามมีมุมมองเรื่องนี้คล้ายกัน คือ ยิ่งเก้าอื้ต่ำ อาหารยิ่งถูก ยิ่งเก้าอี้สูง อาหารก็ยิ่งแพง

ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก  การตัดสินใจซื้อเน้นเลือกจากประโยขน์ของสินค้าเป็นสำคัญ มักซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น  พิจารณาเรื่องราคาเป็นหลัก สินค้าประเภทเดียวกันหากยี่ห้อไหนราคาถูกกว่าก็จะซื้อยี่ห้อนั้น  สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะไทยและจีนมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า  สินค้าอุปโภคบริโภคในพม่ายังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก  ประชาชนส่วนใหญ่ยังซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูงจำนวนไม่มาก  ในกลุ่มนักการเมือง ทหาร นักธุรกิจ

หรือข้าราชการระดับสูง  

----------------------------

เวียดนาม :

พฤติกรรมการซื้อสินค้าของชาวเวียดนามแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทางตอนใต้พิจารณาเรื่องราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะดูที่ฟังก์ชั่นการใช้งานและความคงทน  อย่างไรก็ตาม ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างมาก รสนิยมการบริโภคของชาวเวียดนามเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมความทันสมัย ชื่นชอบสินค้าแฟชั่น สินค้าไอที  คนเมืองวัยแรงงานและวัยรุ่นมีความอ่อนไหวต่อกระแสความนิยมในตลาดโลกมากขึ้น  

รสนิยมเรื่องอาหาร เริ่มนิยมอาหารสไตล์ตะวันตกเพิ่มขึ้นมาก แฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เข้ามาจึงค่อนข้างประสบความสำเร็จมากในเมืองใหญ่ ๆ   อาหารเวียดนามยังเป็นอาหารสดและผักสดเป็นหลัก  มักออกไปซื้ออาหารสดอาหารแห้งมาเก็บไว้สัปดาห์ละครั้ง  อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น  

ด้านสังคม มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามเริ่มซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ในบ้านมากขึ้น  อย่างไรก็ตามยังคงนิยมสินค้าราคาประหยัด  

-------------------------- 

กัมพูชา 

กัมพูชามีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้าไปลงทุนสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก  การตัดสินใจซื้อเน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าและราคาเป็นสำคัญ

สินค้าอุปโภคบริโภคยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน มักเป็นสินค้าจากไทย จีนและเวียดนาม  แนวโน้มความนิยมสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกเริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูง นักการเมืองและนักธุรกิจ

--------------------------

ลาว

ชาวลาวมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย  รักสบาย รู้จักพอ ไม่ใช่คนขี้เกียจแต่ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ไม่เร่งรีบ ไม่โลภ ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อไม่สูง  มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อย  การตัดสินใจซื้อสินค้าเน้นพิจารณาจากประโยชน์การใช้งานเป็นสำคัญ

ด้านอาหารการกิน ชาวลาวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมากพอสมควร   แต่อาหารท้องถิ่นก็ยังคงเป็นที่นิยมแพร่หลายเป็นหลัก  นิยมทำอาหารทานเองที่บ้าน  หากออกไปทานอาหารที่ร้านอาหารต้องเป็นโอกาสพิเศษและเลือกทานในร้านอาหารระดับกลางถึงสูง ซึ่งยังมีให้เลือกน้อย  

ที่เมืองหลวงเวียงจันทน์เป็นเมืองที่กำลังโต การก่อสร้างมีมากขึ้น ประชาชนในเมืองโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นติดตามกระแสแฟชั่นสมัยใหม่จากไทย  สื่อโทรทัศน์ของไทยมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้า  สินค้าด้านเครื่องแต่งกายและการดูแลสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง  ลาวไม่นิยมสินค้าเงินผ่อน  มักเก็บออมแล้วซื้อเงินสด คนลาวยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับสินค้าเงินผ่อนอยู่

สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดยังมีให้เลือกไม่หลากหลายนัก  ในขณะที่ตลาดมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม  แต่ถ้าเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้บริโภค ของกินของใช้ สินค้าที่ใช้กับร่างกายและมีผลต่อสุขภาพ  ชาวลาวเชื่อถือในคุณภาพ ความปลอดภัย และนิยมสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจากจีนและเวียดนาม



.....รัชชี่...

 

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตค่ะ













  





Create Date :28 กันยายน 2556 Last Update :28 กันยายน 2556 12:28:26 น. Counter : 8837 Pageviews. Comments :20