bloggang.com mainmenu search
เมื่อข้ามแดนไปสู่ฝั่งลาวแล้ว สองข้างทางในลาวดูไม่แตกต่างจากเมืองไทยนัก ผิดกันก็แต่ว่าเราต้องเปลี่ยนเลนวิ่งมาวิ่งที่ถนนฝั่งขวาตามแบบฝรั่งเศสซึ่งลาวเคยตกอยู่ภายใต้การปกครอง กับอีกอย่างหนึ่งคือตัวอักษรตามสองข้างทางที่เป็นภาษาลาว พออ่านได้พร้อม ๆ ไปกับความรู้สึกขำ ๆ

ผ่านประตูชัยฝรั่งเศส



มื้อกลางวัน ชิมเฝอตามร้านข้างทาง ต้องสั่งอาหารกันดี ๆ นะสำหรับคนที่ไม่ทานเนื้อ ต้องเน้นว่าหมู แล้วถ้าเราบอกว่าเอาลูกชิ้น หรือย่อ ๆ ว่า ชิ้นหมู ล่ะก็ จะได้ทานทั้งเนื้อหมู ผสมกับลูกชิ้นเนื้อกันล่ะ เป๊บซี่ในลาวที่นี่กระป๋องละ 16 บาท (ปี 2548) ค่าครองชีพในลาว ฉันว่าสูงทีเดียวเมื่อเทียบกับไทย จากเดิมทีในความคิดที่คิดว่าลาวจนกว่าไทย ฉันว่าคนลาวน่าจะแบ่งออกเป็นไม่รวยก็ธรรมดาหรือจนไปเลย แต่คนรวยน่าจะมีอยู่ไม่กี่เปอร์เซนต์ รถที่เห็นในลาวก็เป็นรถมีราคา น้ำมันเบนซินที่นี่มีเกรดเดียวคือออกเทน 92 ณ ช่วงที่ฉันไปราคาอยู่ที่ 28-29 บาทต่อลิตร ในขณะที่ไทยเกือบ 23 บาท ส่วนดีเซลที่ลาวตกลิตรละ 25 บาท ในขณะที่ดีเซลในไทย 18 บาท คนก็บ่นกันใหญ่แล้ว

ต้องปรับการคิดค่าเงินกีบกันใหม่ ที่นี่ใช้เงินบาทได้ แต่แนะนำให้ใช้แบงก์ย่อย เดี๋ยวเขาจะไม่มีทอน หรือไม่ก็ได้ทอนเป็นเงินกีบมาเพียบ แม่ค้าไม่นิยมรับเหรียญไทย ยกเว้นบางร้านที่มีการติดต่อค้าขายกับไทย สามารถใช้เหรียญได้ เพราะใช้เงินบาทได้ ฉันจึงแลกเงินกีบเพียงแค่เก็บไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น คือ 25,000 กีบซึ่งเท่ากับ 100 บาท พร้อมกับในการเดินทางครั้งนี้ฉันได้เงินกีบมาอีก 2,000 กีบจากเงินทอนในการซื้อของ อัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบกับเงินบาทคือ 1,000 กีบเท่ากับ 4 บาท เป็นการเอาค่า 250 หารด้วยเงินกีบก็คือค่าเงินบาท ถ้ามูลค่ามากกว่า 100,000 กีบล่ะ จะใช้ 260 หาร ออกมาได้เป็นค่าเงินบาท





ระหว่างทางสู่หลวงพระบาง แวะสัมผัสธรรมชาติของลำน้ำซอง ที่นี่เป็นภูเขาหินปูนที่ได้รับฉายาว่าเป็น “กุ้ยหลินเมืองลาว” ( ในไทยเองก็มีเขื่อนเชี่ยวหลานที่ได้รับสมญานามว่า “กุ้ยหลินมืองไทย” เหมือนกัน ) ที่นี่มีห้องพักสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ฉันเห็นชาวต่างชาติที่เป็นชาติตะวันตกเยอะทีเดียว เดินไปมาและนั่งที่ร้านกาแฟที่เราแวะกัน ราคาที่พักแถบนี้ประมาณ 30 ดอลลาร์/คืน ทั้งที่ไม่ใช่โรงแรม ฝรั่งนักท่องเที่ยวที่พักอยู่แถบนี้ ไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่จะชอบความเรียบง่าย สงบ ชอบอ่านหนังสือ







ไกด์พาไปทางอาหารบนถนนสายหนึ่ง ใกล้พระราชวังหลวงพระบาง เมืองเก่าในอดีต ร้านอาหารแถบนี้ฉันพบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากมาย จนฉันคิดว่าเหมือนเดินอยู่ในเมืองท่องเที่ยวของไทย กระบี่ ภูเก็ต พัทยา ยังไงยังงั้น ส่วนใหญ่พวกนี้จะวางตัวดี เรียบร้อย ฉันติดใจหนุ่มสาวต่างชาติคู่หนึ่งในร้านอาหารที่เราทาน ผู้หญิงเป็นสาวสวยน่ารัก นั่งอ่านหนังสือคนละเล่มระหว่างรออาหาร

ระหว่างรออาหาร ฉัน survey สถานที่ช็อปปิ้งก่อน ไม่ไกลกันจะมีสาว ๆ เมืองหลวงพระบางมาวางของขายตามริมถนน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นจะปิดถนนในตอนเย็นทุกวัน สองข้างทางคือพระราชวังหลวงพระบาง อีกฝั่งคือพระธาตุภูสีอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวลาว

คนไทยนี่ยังไงก็ชอบช็อปปิ้ง แต่ฝรั่งส่วนใหญ่เขาจะเดินดู เขามายังไงก็กลับอย่างนั้น ฉันอยากได้ของพื้นเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการมาเยือนหลวงพระบางกลับไปเป็นที่ระลึก แต่ไม่พบ ของที่วางขายส่วนใหญ่ไม่ต่างจากเดินไนท์บาร์ซ่าที่เชียงใหม่ และราคาสินค้าบางอย่างก็ไม่ต่างจากไทยนัก

ดู ๆ แล้วสินค้าที่น่าซื้อกลับคือพวกผ้าทอ ผ้าไหม ผ้าฝ้ายต่าง ๆ แต่ต้องต่อรองราคากันดี ๆ ไม่เช่นนั้นก็ซื้อที่ไทยก็ได้ ที่นี่มีหมู่บ้านทอผ้า ฉันเจอข้อมูลในอินเตอร์เน็ทก่อนไป เขาว่าในอดีตที่ลาวยังปกครองโดยกษัตริย์ ซึ่งที่ลาวจะเรียกว่า “เจ้ามหาชีวิต” นั้น จะมีหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีข้าราชบริพารอาศัยอยู่ สาว ๆ ที่นี่จะทอผ้าแล้วส่งเข้าไปในวัง มีการสืบทอดศิลปะการทอผ้ามายังรุ่นต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่าหมู่บ้านผานม เป็นหมู่บ้านทอผ้า ไกด์พาชมหมู่บ้านนี้อยู่เหมือนกัน ทุกร้านจะมิสินค้าวางขายเหมือนกันหมด ฉันว่าเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์เลยหละ ขึ้นอยู่กับการเลือกร้านและต่อรองราคากันอย่างเดียว





ที่หลวงพระบาง ฉันตื่นแต่เช้ามาใส่บาตรข้าวเหนียว การใส่บาตรข้าวเหนียวเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหลวงพระบาง ที่พระภิกษุและสามเณรจากทุกวัดจะมารวมตัวกันเดินเรียงรายเป็นแถวยาวให้ชาวบ้านใส่บาตร ผู้คนจะเอาเสื่อมาปูพื้น พร้อมวางกระติ๊บข้าวเหนียวไว้ด้านหน้า ถ้าเป็นชาวหลวงพระบาง ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง นักท่องเที่ยวบางคนก็เตรียมผ้าถุงไปใส่ เมื่อพระเดินผ่าน ก็จะปั้นข้าวเหนียวใส่ในบาตร ที่นี่จะใส่เฉพาะข้าวเหนียว ส่วนกับข้าว ชาวหลวงพระบางจะนำไปไว้ที่วัดต่างหาก แต่นักท่องเที่ยวบางคนมักทำไปด้วยความไม่รู้ คือใส่หลายอย่างรวมไปในบาตร ฉันเองเห็นผู้ชายคนหนึ่งใส่แบงค์ลงไปในบาตรด้วย

ฉันได้รับการแนะนำจากไกด่ว่าให้ซื้อข้าวเหนียวกันเองที่อื่นที่ไม่ใช้บริเวณใส่บาตร ราคากิโลละ 20 บาท เพราะจุดบริเวณถนนที่พระเดินบิณฑบาตรนั้น จะมีแม่ค้ามาขายข้าวเหนียวกระติ๊บใหญ่ประมาณ 80 บาท ไกด์บอกว่าอย่าไปซื้ออะไรจากกลุ่มนี้ ที่ทำลายการท่องเทียว และให้ระวังแม่ค้าบางคนจะนำถาดใส่ข้าวเหนียวหรือขนมห่อใบตองมาวางข้าง ๆ เราขณะใส่บาตร แล้วเราอาจเผลอหยิบใส่บาตรด้วย เมื่อนั้นนักท่องเที่ยวจะถูกเรียกราคาสูงจากแม่ค้า ฉันเห็นคุณป้าคนหนึ่งมากับทัวร์คณะหนึ่ง ท่านเจอเหตุการณ์นี้อยู่ มีการถกเถียงกันหลังใส่บาตรเสร็จแล้ว ไกด์กรุ๊ปนั้นเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ได้ยินว่าบอกล่วงหน้าลูกทัวร์ไว้แล้ว แต่ก็มีการเผลอเรอกันอีก ฉันว่านี่แหละที่จะทำให้เสน่ห์ของหลวงพระบางจืดจางไป ทำให้คนต้องมาหัวเสียหลังจากที่เพิ่งมีความสุขจากการทำบุญมาหยก ๆ

เช้าวันแรกของการใส่บาตร ยังไม่รู้เทคนิคปั้นข้าวเหนียว เพราะเพิ่งซื้อข้าวเหนียวมาร้อน ๆ แล้วนำมาปั้น มือพองไปตาม ๆ กัน ปั้นไม่ทันเพราะร้อน จนพระบางองค์เดินผ่านไปแล้ว วันแรกพวกเรานำกระดาษหนังสือพิมพ์ในรถมาปูพื้นนั่ง พอวันถัดมาพวกเราขอแก้ตัว (จัดฉากถ่ายรูป) ด้วยการยืมผ้าทอมาปูพื้น พร้อมยืมกระติ๊บมาใส่ข้าวเหนียว (เพราะข้าวเหนียวที่พวกเราซื้อมาใส่ในถุงก๊อปแก๊ป) และยืมช้อนจากโรงแรมเพื่อไว้เป็นตัวช่วยปั้นข้าวเหนียว เจ้าหน้าที่โรงแรมแนะนำให้วางแก้วน้ำไว้ข้าง ๆ เมื่อเอามือจุ่มในระหว่างนั้นจะทำให้ข้าวเหนียวไม่ติดมือ และไม่ร้อนมือจนเกินไปด้วย

มุมต่าง ๆ ในหลวงพระบาง












City tour ในหลวงพระบางของการสัมผัสเมืองมรดกโลก หลวงพระบางในอดีตเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง ถ้ามองตามแผนที่โลก หลวงพระบางจะอยู่ในระดับเดียวกับ จ.เชียงรายของไทย มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร เสน่ห์ของหลวงพระบางในวันนี้คือการสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ ที่เรียบง่าย “Life is easy” เหมือนย้อนวิถีชีวิตของไทยไปในอดีต สาว ๆ ที่นี่ยังนุ่งผ้าถุงกันเป็นเอกลักษณ์ ชุดนักเรียนหญิงเป็นเสื้อสีขาว ปักตัวอักษร แต่ยังนุ่งผ้าถุง ในวันนี้เรายังสามารถมองเห็นสาว ๆ นุ่งผ้าถุง ขี่จักรยาน กางร่มกันตามท้องถนน



ในวันนี้ส่วนหนึ่งของหลวงพระบางเปลี่ยนไปบ้าง เนื่องจากที่นี่ก็ไม่ต่างจากมุมอื่น ๆ ในโลกที่เมื่อความเจริญทางวัตถุเข้ามา การรับสื่อสัญญาณดาวเทียม (ที่นี่เรียกสัญญาณดาวเทียมว่า “อ่างดาวเทียม”) ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าค่านิยม ความฟุ้งเฟ้อจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่นี่มากน้อยแค่ไหนหนอ

นับจากองค์การยูเนสโก UNESCO ยกย่องให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม นับแต่นั้นนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งตรงมาเพื่อสัมผัสความงดงวามของเมืองมรดกโลก ที่มีเอกลักษณ์ความเป็นตัวของตัวเองในแบบอาณาจักรล้านช้างเมื่อวันวาน

พระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงแบบฝรั่งเศส แต่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นลาวและฝรั่งเศส หลังคายอดปราสาทเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ที่นี่จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นลักษณะของฝรั่งสวมชฎา เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์เป็นกษัตรย์องค์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์




ที่นี่ห้ามนำสิ่งของสัมภาระเข้าไป เขาจะมีตู้ล็อกเกอร์ ให้เราไปเก็บของและล็อกกุญแจไว้ รวมทั้งห้ามถ่ายรูปภายใน ไกด์ลาวพาชมห้องต่าง ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวิถีชาวลาวโดยช่างฝีมือชาวฝรั่งเศส ชมห้องนอนเจ้ามหาชีวิต ห้องนอนพระมเหสี เตียงบรรทมเป็นไม้สักฝีมือชาวไทยในสมัยนั้น ที่ท้องพระโรงปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทอง อีกด้านหนึ่งของอาคารพระราชวังเป็นที่ประดิษฐานของ “พระบาง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์

สิ่งที่ฉันประทับใจในห้องหนึ่งเป็นรูปภาพวาดของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ พระมเหสีและพระโอรส เป็นภาพวาด 3 มิติ ไกด์ลาวบอกว่าวาดโดยช่างชาวฝรั่งเศส ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ ณ จุดไหนของห้องจะเหมือนภาพในรูปวาดมองตามเราไปทุกจุด พวกเรารวมทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นต่างสนุกสนานกับการเดินไปรอบ ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไปตามที่ไกด์เล่าหรือเปล่า เสียดายจังที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป

วัดเชียงทอง สร้างเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้วโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมามากที่สุด ได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สมบูรณ์ที่สุดของศิลปะสกุลช่างล้านช้าง ลักษณะสำคัญคือมีหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น เรียกว่า “หลังคาปีกนก






จุดที่น่าสนใจคือผนังด้านหลังของพระอุโบสถทำจากกระจกสีตัดต่อกันเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เคยมีอยู่ในหลวงพระบางคล้ายกับต้นโพธิ์ อีกจุดหนึ่งคือโรงเก็บราชรถ ประตูด้านนอกแกะสลักเรื่องรามเกียรติ์ เดิมเป็นการลงรักปิดทอง แต่ปัจจุบันบูรณะใหม่ด้วยการทาสีทอง







พระธาตุภูสี อีกแห่งหนึ่งที่เป็นที่เคารพของชาวหลวงพระบาง อยู่ฝั่งตรงข้ามพระราชวังหลวงพระบาง เดินขึ้นบันไดประมาณ 300 ขั้นเพื่อไปสักการะ ระหว่างทางมีจำปาลาว (ซึ่งก็คือต้นลั่นทมนั่นเอง) เป็นต้นไม้อันเป็นสัญลักษณ์หลวงพระบางอยู่รายรอบ มองลงมาจากพระธาตุจะเห็นตัวเมืองหลวงพระบางทั้งหมด



มุมมองจากด้านบนของพระธาตุภูสี






เสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่มีต่อฉันคือการสัมผัสวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และสามารถรักษาสิ่งนั้นให้ยาวนาน แน่ละหลวงพระบางในวันข้างหน้า บริเวณรอบข้างคงมีการเปลี่ยนไปมากตามกาลเวลาที่ผ่านไป แต่ในฐานะที่เป็นเมืองมรดกโลก ฉันหวังว่าที่นั่นจะยังคงรักษารูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งภูมิภาคแถบนี้และอีกซีกโลกหนึ่งมาเยี่ยมเยือนตราบนานเท่านาน

Create Date :29 กันยายน 2551 Last Update :30 กันยายน 2551 7:18:11 น. Counter : Pageviews. Comments :8