bloggang.com mainmenu search
กูโซซางโปลา (เป็นคำว่า "สวัสดี" ในภาษาภูฎานค่ะ)

เริ่มต้นที่สนามบินภูฎานเมืองพาโร

สถาปัตยกรรมของสนามบินก็มีความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมภูฎาน ขนาดอาคารของสนามบินภูฎานทำเอาฉันนึกถึงสนามบินแม่ฮ่องสอนบ้านเรา ภายในเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งแต่งชุดประจำชาติ บนฝาผนังมีรูปกษัตริย์องค์ปัจจุบันที่พวกเรารู้จักกันในนาม “จิ๊กมี่” อีกด้านหนึ่งเป็นรูปกษัตริย์องค์ก่อน




ไกด์ภูฎานมารอเราที่สนามบินอยู่แล้ว เขานำผ้าสีขาวมาคล้องคอพวกเราทีละคน เป็นการแสดงความต้อนรับ (เหมือนที่เคยเห็นในหนัง Seven years in Tibet หรือตามสารคดี) และให้ของที่ระลึกเป็นตะกร้าสานไม้ไผ่ ในนั้นมีเหรียญจำนวน 25 เหรียญ เป็นเหรียญที่ปัจจุบันภูฎานไม่ใช่แล้ว แต่ใหม่เอี่ยม เนื่องจากไกด์ไปแลกมาจากธนาคารมาให้

สนามบินภูฎานมีที่เมืองพาโรที่เดียว จากปัจจัยเรื่องภูมิประเทศนั่นแหละ เพราะที่นี่พอจะมีเนื้อที่ที่เป็นที่ราบมากที่สุด คืนแรกพวกเราจะไปพักที่โรงแรมในเมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฎาน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม. แม้ว่าระยะทางแค่ 40 กม. แต่เราต้องเดินทางลัดเลาะไปตามเทือกเขาแบบทางภาคเหนือของไทย

วัด Chang gang kha lhakhang

หลังจอดรถหน้าวัด เดินขึ้นเขาไปนิดเดียว ด้านบนสามารถมองเห็นวิวเมืองทิมพูได้ วัดนี้สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ชาวภูฎานจะพาเด็กเล็กมา และนำชื่อที่ตั้งไว้มาถามพระว่าเหมาะหรือไม่ พวกเราได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้เฉพาะภายนอกเท่านั้น บริเวณด้านนอกมีกงล้อภาวนา (Prayer Wheel) ฉันเดินไปหมุนกงล้อภาวนา ซึ่งจะมีมนตราบันทึกไว้ ชาวภูฎานเชื่อว่าการหมุนกงล้อ 1 รอบถือเป็นการสวดมนต์ 1 รอบเช่นกัน ฉันว่าเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนมีสติอยู่กับสิ่งหนึ่ง ชาวภูฎานส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ฉันพบหญิงภูฎานเดินแกว่งกงล้อมือถือ หมุนไปพร้อมพร่ำภาวนาสวดมนต์เดินรอบวัด





ด้านในของวัดซึ่งเราไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปได้ ดังนั้นจึงต้องบันทึกไว้ในความทรงจำอย่างเดียว ฉันมองเห็นชาวภูฎานพาเด็ก ๆ มา มือถือตะกร้าสานไม้ไผ่ใส่ของมาถวายพระ ไกด์บอกว่าอาจมีพวกข้าว ธูป มาถวาย พระจะนำของที่มาถวายไปวางไว้ และนำตะกร้ามาคืน

วิธีการพรมน้ำมนต์ที่นี่จะแตกต่างจากบ้านเรา คือพระจะถือกาน้ำมนต์แล้วให้เรายกมือรอรับน้ำมนต์ ฉันเห็นไกด์และชาวภูฎานแตะน้ำมนต์ที่ปากเหมือนจะดื่มเล็กน้อย และแปะพรมที่หัวและหน้า แต่ฉันไม่กล้าดื่มน้ำมนต์หรอก ได้แต่พรมที่หน้าผากอย่างเดียว น้ำมนต์จะมีกลิ่นของเครื่องหอมกำยานละกระมัง ฉันมาอ่านข้อมูลเจอในภายหลังว่ามีนักท่องเที่ยวถามว่าน้ำดื่มเข้าไปไม่เป็นไรหรือ ชาวภูฎานตอบว่าน้ำสะอาดเพราะมาจากแหล่งน้ำบริสุทธิ์ เป็นเพราะประเทศเขา ทรัพยากรยังใสสะอาด

ฉันเห็นพระองค์หนึ่งจะนั่งสวดมนต์ภาวนาตลอดเวลาเลย และพระอีกองค์จะทำหน้าที่นำของถวายไปวางและรดน้ำมนต์แทน

ทิมพูซอง

ซอง (Dzhong) ในความหมายของภูฎานคือป้อมปราการในอดีตที่เป็นแหล่งบัญชาการป้องกันข้าศึกศัตรู ปัจจุบันเป็นเสมือนทั้งวัด และมุมของสถานที่ราชการ ซองจะมีอยู่ทุกเมือง ส่วนที่ทิมพูซองจะเป็นที่ทำงานของจิ๊กมี่ด้วย ไกด์เล่าว่าหลังเลิกงาน จิ๊กมี่จะเดินกลับวังที่อยู่ไม่ไกล เป็นการสนองนโยบายประหยัดพลังงาน ชื่นชมธรรมชาติ กับออกกำลังกายไปในตัวเลย

ไกด์พวกเราชื่อ Nidup แต่พวกเราเรียกใหม่ว่า “นิรุตน์” นำรถมาจอดที่หน้าซอง นิรุตน์แต่งกายชุดประจำชาติอยู่แล้ว ชุดของผู้ชายเรียกว่า “โก” ผู้หญิงเรียกว่า “คีรา” ขณะอยู่หน้าซอง นิรุตน์พาดผ้าสีขาวเพิ่มเรียกว่า เคบเน่ (Kebney) เป็นเสมือนการแสดงความเคารพเมื่อจะเข้าบริเวณซอง (เหมือนดังเช่นเมื่อครั้งจิ๊กมี่มาไทย ท่านก็ได้ผ่านเคบเน่สีเหลืองอันเป็นสีที่แสดงความเป็นกษัตริย์)

พวกเราได้รับอนุญาตให้เข้าซองได้เฉพาะส่วนที่เป็นวัดเท่านั้น ก่อนเข้าต้องผ่านการตรวจกระเป๋าจากเจ้าหน้าที่ก่อน เช่นเคยบริเวณภายในวัดจริง ๆ จะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป แต่บริเวณโดยรอบไม่มีปัญหา วันนี้โชคดีมาก ๆ ที่มีคณะเราคณะเดียว 10 คน วันนี้ป็นวันหยุดราชการเพราะภายในเมืองจะมีการจัดงานครบรอบวันเกิดของ Third King



ทางเข้าทิมพูซอง







บริเวณด้านในทิมพูซอง







ลืมแนะนำค่ะ ไกด์ประจำ trip ของเรา

Create Date :26 กันยายน 2551 Last Update :29 กันยายน 2551 14:58:07 น. Counter : Pageviews. Comments :6