เชลย....ตอนหก คืนนั้น ฉันและเวอร์เน่อร์ แอบหมุนคลื่นวิทยุไปที่สถานี BBC โดยภาวนาในใจขอให้ได้ยินข่าวเยอรมันเพลี่ยงพล้ำต่อสัมพันธมิตรด้วยเถิด เจ้าพระคุณเอ๋ย สงครามจะได้จบๆเสียที.. เพราะสำหรับฉันแล้ว มันเหมือนกับการปลดปล่อยชีวิตสู่อิสรภาพจากการเสแสร้งที่ทำอยู่เสียที คนที่ไม่รู้"ความนัย" เลย นั่นคือเวอร์เน่อร์ ซึ่งฉันไม่เคยปริปากเล่าให้ฟังแม้แต่นิดถึง"เนื้อใน" ความเป็นมาของตัวฉันที่มองจากภายนอกคือ หญิงร่างเล็กที่พูดด้วยเสียงอ่อนๆ ขี้เกรงใจคน ขี้อาย นี่คือสิ่งที่ฉันได้ใช้เป็นเกราะปราการป้องกันตัวมาโดยตลอด โดยไม่เคยปริปากบอกใครเลยว่า.. ฉันนี่แหละ คือ หญิงยิวเดนตายที่หลบหนีการถูกสังหารจากค่ายนรก ฝ่าฟันมาจนได้มาอยู่ท่ามกลางชาวอารยันในมหาอาณาจักรไรคซ์ หลายปีต่อมาฉันได้ พบรักและแต่งงานกับ เฟรด เบียร์ และได้มาอาศัยพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เกราะหุ้มตัวนั้นได้ถูกถอดออก..ฉันก็ได้ใช้ชีวิตอย่างปรกติธรรมดาอีกครั้ง แต่เมื่อเฟรดได้จากไปอย่างชั่วนิรันดรแล้วนั้น.. ความอ้างว้าง โดดเดี่ยว ความชราและความหลังเก่าๆเริ่มมาเยือน..ฉันจึงนำเกราะนั่นมาสวมใส่อีกครั้ง ที่นี่..ที่ร้านกาแฟร้านโปรดกลางกรุง Netanya ใกล้ทะเลของฝั่งประเทศอิสราเอล ที่ฉันกำลังนั่งคุยกับคุณอยู่นี่.. ปรกติคนคุ้นเคยผ่านไปมามักหยุดทักทายว่า "ไหน คุณนายกิเวเร็ต เบียร์ เล่าเรื่องครั้งกระโน้นให้ฟังหน่อยซิ สมัยที่คุณแกล้งทำตัวเป็นชาวอารยัน จนเข้าไปอยู่กับพวกนาซี แล้วกลัวเขาจับได้น่ะ " ฉันมักทำท่าไม่รู้ไม่ชี้ ทอดสายตาเลื่อนลอย เหม่อมองไปอย่างไร้จุดหมาย ตอบด้วยเสียงทอดอ่อนว่า.. "โอ..ไม่รู้ซิ ฉันจำอะไรไม่ได้เลย" เสียงนั้น ..ฉันจำได้ดีว่า ครั้งหนึ่ง..มันเคยเป็นเสียงของฉันเมื่อครั้งที่อยู่ในบรันเดนเบอร์ค ในคราบของผู้ช่วยพยาบาลสาววัย 21 ปี ทั้งๆที่ที่จริงแล้ว..ฉันคือ สาวยิว..นักศึกษากฏหมายในมหาวิทยาลัยวัยยี่สิบเก้าที่หลบหนีหมายจับของเกสตาโปอย่างสุดชีวิต แต่เอาละ..มันสมควรแก่เวลาแล้วละนะ..ฉันจะเล่าให้คุณฟัง.. ถ้าเสียงฉันจะแผ่วหรือขาดหายไปบ้าง..ช่วยเตือนหน่อยนะ..เพราะเหตุการณ์มันก็ล่วงเลยมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว !! เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนในเวียนนา ยามที่ได้ไปนั่งรับแสงแดดอ่อนๆคุยกับใครต่อใคร ได้จิบกาแฟและขนมเค๊กอร่อยๆในร้าน มันช่างมีความสุขจนเหมือนว่าว่าโลกทั้งใบเป็นของเราแต่ผู้เดียว ฉันมักเดินกลับจากโรงเรียน ผ่านตึก Josefsplatz และ Michaelerplaz ที่สวยงามตระการตา บางครั้งก็แวะวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ หรือไม่ก็หยุดชื่นชมพวกคุณนายที่แต่งตัวกันโก้เก๋ สวมหมวกทรงเรียว ถุงน่องไหม พวกผู้ชายก็เดินอย่างสง่าผ่าเผยควงไม้เท้า เล่นในมือ นาฬิกาพกพร้อมสายห้อยตุ๊กติ๊ก แต่อีกด้านหนึ่ง ยังมีคนงานก่อสร้างที่มาจากบ้านนอกกำลังโบกปูนทาสีหน้าตึกอย่างชำนาญและว่องไว ร้านค้าในตลาดก็อัดแน่นไปด้วยผลไม้แปลกๆที่ถูกนำเข้ามา ไหนจะแก้วเจียรไนเนื้อดี... ไหมจะผ้าไหมสีสดสวย สิ่งประดิษฐใหม่ๆได้ประดังเกิดขึ้นมาในสมัยของฉันนี่เอง อย่างวันหนึ่ง ที่ฉันต้องเบียดเสียดผู้คนเพื่อที่จะได้ยื่นหน้าเข้าไปดูหน้าต่างของห้าง ได้เห็นพนักงานสาวแต่งตัวในชุดแม่บ้าน ในมือเธอกำลังสาธิตการใช้เครื่องยนตร์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า"ฮูเว่อร์" เธอคนนั้นกวาดฝุ่นมากองรวมให้เห็น และเปิดเครื่องที่ว่า..ฝุ่นกองนั้นหายวับไปราวกับเนรมิต..มหัศจรรย์เหลือเกิน ฉันอุทานขึ้นมาอย่างตื่นเต้นต่อสิ่งที่ได้เห็น...ก่อนที่จะรีบวิ่งแจ้นนำข่าวนี้ไปกระจายให้เพื่อนๆที่โรงเรียนให้รู้กันให้เป็นที่เอิกเกริก พออายุได้สิบขวบ ฉันก็ได้ร่วมยืนเข้าแถวเพื่อที่จะรอพบกับสิ่งประดิษฐ์อีกชนิดหนึ่งที่หน้าสำนักงานของนิตยสาร Die Buhne เมื่อถึงคิวของฉัน เขาพาไปนั่งที่เก้าอี้ ที่ข้างหน้ามีกล่องไม้ขนาดใหญ่ พนักงานสาวได้นำหูฟังมาครอบศรีษะให้ กล่องนั้นเริ่มทำงาน..หูฉันได้ยินเสียงแว่ว แว่ว..เข้ามา..มันเป็นเสียงไพเราะของเพลง สิ่งประดิษฐ์ใหม่ล้ำยุคในกล่องไม้..มันคือ...สิ่งที่ถูกเรียกว่า..วิทยุ คราวนี้ก็อีก..ที่ฉันรีบแจ้นไปเล่าให้พ่อและทุกคนฟังที่ร้าน แม่น้องสาวคนรองไม้เบื่อไม้เมาที่อายุห่างกันปีเดียว.. มิมี..ไม่ได้สนใจที่จะฟัง ส่วนน้องสาวคนเล็ก โจฮันน่า หรือ ที่เราเรียกว่า ฮันซี่ ก็ยังเล็กเกินไปกว่าจะเข้าใจ พอกับแม่ก็มัวแต่ง่วนอยู่กับงานจนไม่ได้มีโอกาสเล่า แต่ฉันรู้อยู่แก่ใจดีว่า นี่คือสิ่งที่จะยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต เปรียบได้ราวพระเจ้า...นั่นคือปี 1924 ที่วิทยุได้ออกมาปรากฏต่อสายตาของชาวยุโรป และอีกต่อไปล่ะ..มันจะมีอยู่ทั่วไปในโลก..การส่งสาสน์จะมีถึงกันทั่ว ฉันได้ไปคุยให้ศาสตราจารย์ สปิตเซ่อร์ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี ที่เป็นลูกค้าประจำของร้านในเรื่องนี้ ว่า "คิดดูซิคะ ว่าคนพูดอาจอยู่ส่วนไหนไกลๆของโลก แต่อาจารย์ขา เสียงของเขาชัดแจ๋วเลยค่ะ มันล่องลอยมาในอากาศราวกับเสียงนก อีกหน่อยนะคะ..เราจะได้ยินเสียงของคนทั้งโลก" หรือเรื่องข่าวสารบ้านเมืองจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่พ่อมาจัดวางไว้ให้ลูกค้านั้น..ถูกฉันเก็บอ่านจนหมด แต่ส่วนใหญ่ที่สนใจก็คือ เรื่องกฏหมายหรือคดีความต่างๆ ซึ่งบางคดีก็ยุ่งเหยิงจนเป็นปริศนาที่ซับซ้อน แต่ฉันก็ยังชอบที่จะตระเวณไปรอบๆเวียนนา เอาเรื่องที่ได้อ่านได้พบได้เห็น ไปคุยหรือถกกับเพื่อนที่มีความเห็นต่างๆกันไป ที่โปรดของฉัน คือโรงเรียน...ที่มีแต่หญิงล้วน เพราะพ่อไม่ชอบเรื่องการเรียนแบบสหศึกษา แต่ฉันก็จัดได้ว่าเป็นเด็กเรียนดี ซึ่งผิดกันกับ ยัยมิมี..แม่น้องสาว เราถูกสอนให้จำไว้ว่า ฝรั่งเศสคือ ศัตรูตัวสำคัญ อิตาลีคือ พวกทรยศ และที่ออสเตรียต้องพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น เป็นเพราะเราถูก"แทงข้างหลัง" แต่..ขอบอกตรงๆนะ จนป่านนี้ฉันยังไม่รู้ว่า..ใครคนไหนที่เป็นคนแทงเรา ?? หลายต่อหลายครั้ง ที่ครูพยายามแอบถามว่า ที่บ้านเรา..พูดภาษาอะไรกัน? เพราะนั่นคือวิธีการตรวจสอบแบบเลียบเคียง เพื่อที่จะรู้ว่า เราได้ใช้ภาษายิดดิช (ที่เราไม่ได้พูด) หรือเปล่า.. อันเป็นผลที่จะได้แน่ใจว่า เราเป็นยิว (อันนี้เราเป็นจริงๆ) พวกเขาอยากรู้ เพราะอะไรรู้ไหม..เพราะว่าพวกเขากลัว กลัวว่าจะถูกหลอก เพราะท่าทางของเรา หน้าตาของเรา ไม่มีบ่งบอกว่าสักนิดว่าเป็น"ยิว" มิหนำซ้ำยังออกแวว"อารยัน" อย่างเต็มเปี่ยม นั่นคือยุค 1920's ที่คนยังไม่วายรังแครังคัดเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธ์ และยังสนใจอยากรู้ว่าใครเป็นพวกไหน... ยิว หรือไม่ยิว.. ศ. สปิตเซ่อร์ ได้มาคุยกับพ่อในวันหนึ่งว่า คิดวางแผนการต่อไปในอนาคตของฉันอย่างไร? พ่อตอบว่า ให้เรียนจบชั้นมัธยมและออกมาเรียนตัดเย็บ เป็นช่างเย็บเสื้ออย่างแม่.. "แต่เด็กคนนี้ฉลาดมากนะ คุณฮาห์น คุณต้องส่งเธอไปเรียนมัธยมปลาย อาจต่อด้วยมหาวิทยาลัย" พ่อหัวเราะแบบกลั้นไม่อยู่ เพราะว่าฉันเป็นผู้หญิง..ที่ไม่มีใครเขาส่งเสียกันให้เรียนสูงๆ ลองถ้าฉันเป็นผู้ชายละก้อ พ่อยอมแม้กระทั่งเป็นขอทานเพื่อที่จะให้ได้เรียนจนถึงที่สุด แต่ในฐานะที่คนระดับศาสตราจารย์มาพูดทั้งที พ่อก็เลยแบ่งรับแบ่งสู้ ขอลองมาปรึกษากับแม่ก่อน พ่อ..ลีโอโปลด์ ฮาห์น ผู้มีผมสีดำสนิท หนวดเรียบกริบ เป็นคนคล่องแคล่ว อารมณ์ขัน เหมาะสมกับการเป็นเจ้าของร้านอาหาร พ่อเป็นน้องชายคนสุดท้องของพี่ชายหกคน ซึ่งกว่าจะเรียนถึงมัธยมปลาย..ทางบ้านก็หมดทุน แต่กระนั้นพ่อก็หันไปเอาดีด้านอื่น โดยไปเรียนการเป็น"บริกร"อยู่หลายปี. แทบไม่น่าเชื่อเลยนะ ที่จะบอกว่า ในสมัยก่อนนั้น คนที่จะเป็นบริกรได้จะต้องผ่านการเรียนและฝึกหัดอย่างช่ำชอง คนอย่างพ่อ..ถูกฝึกมาให้เป็นนักฟังที่ดี จนใครต่อใครวางใจที่จะเล่าเรื่องราวส่วนตัวให้ฟัง อาจเป็นเพราะผ่านโลกมามาก เข้าใจชีวิต จากประสบการณ์พ่อเคยทำงานที่ริเวียร่า นอกเหนือไปจากการท่องราตรีอย่างโชกโชนในวัยหนุ่ม พ่อเคยไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งป้องกันแนวชายแดนฝั่งฮังการี ได้รับบาดเจ็บและถูกจับไปเป็นเชลย แต่ก็หนีออกมาได้ในที่สุด บาดแผลที่ไหล่นั้นมันฉกรรจ์มากพอที่ทำให้แขนใช้งานได้ไม่สะดวก ขนาดโกนหนวดเองไม่ได้.. ร้านอาหารของเราตั้งอยู่ที่ย่านตลาดการค้าของเวียนนา ซึ่งเป็นที่เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของพ่อ ตั้งแต่เปิดประตูมาก็พบบาร์ที่ทำด้วยไม้ขัดเงาวับตั้งยาว ด้านหลังต่อมาคือบริเวณของห้องอาหาร ลูกค้าส่วนใหญ่คือขาประจำที่มาทุกวันติดกันเป็นปีๆ ซึ่งพ่อรู้ใจหมดทุกคนว่าชอบอาหารชนิดไหนโดยไม่ต้องสั่ง..จากนั้นก็จะเตรียมหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารให้ตามความต้องการ พ่อมีให้ครบหมดทุกอย่างทั้งในด้านความสะดวกสะบายและความเชื่อถือไว้เนื้อเชื่อใจ Edith Hahn ในวัยละอ่อน บ้านที่เราอยู่เป็นอพาร์ตเม้นท์ขนาดสองห้องนอน เลขที่ 29 ถนนอาร์เจนติเนียร์ ซึ่งตึกนี้อดีตของมันคือ วังที่นำมาดัดแปลงเป็นอาคารชุดที่พักอาศัย เจ้าของคือ สำนักงานดูแลทรัพย์สินส่วนของราชวงค์ฮัฟบวร์ค-ลอธริงเจน แม่ของฉัน ชื่อว่า..คลอทธิลด์ เป็นหญิงร่างกลม หน้าตาดี ผมดำขลับที่ปล่อยเลี้ยงไว้จนยาว นิสัยดี หัวเราะง่าย อารมณ์เย็น ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ตอนที่ยังเด็กๆ แม่ต้องจ้างแม่บ้านมาช่วยดูแลงานบ้าน และดูแลพวกเรา เพราะต้องช่วยดูแลงานที่ร้านอาหารทุกวันไม่มีหยุด ฉันทุ่มเทจิตใจช่วยเลี้ยงฮันซี่น้องคนเล็กที่ห่างกันถึงเจ็ดปี ด้วยความรักและทนุถนอม ฮันซี่..งดงามน่ารักราวกับรูปปั้นของเทพธิดาน้อยๆที่ประดับอยู่ตามพระวิหาร แก้มยุ้ยเป็นพวง ผมหยิกเป็นขอด เนื้อตัวน่าฟัดไปหมด แต่ ยัยมิมี่ แม่เจ้าปัญหานั่น ฉันแทบไม่มีความรู้สึกพิศวาสอะไรตรงไหน เธอใส่แว่นสายตาหนาเตอะตะ หน้างอทั้งวันแถมยังขี้อิจฉา ซึ่งนี่คือสาเหตุที่แม่เป็นห่วงมาก จึงพยายามเอาใจ ประเคนให้ทุกอย่าง เผื่อว่ามิมีจะมีความสุขขึ้นมาบ้าง แต่กับฉัน..คนที่ไร้ปัญหา แม่จึงไม่อาทรมากนัก ยิ่งมิมีไม่มีเพื่อน เลยกลายเป็นว่า ฉันต้องแบ่งเพื่อนของฉันให้กับเธอด้วย ไม่ว่าจะไปเที่ยวกันที่ไหนฉันจึงต้องหนีบกระเตงเอาไปทุกหนทุกแห่ง พ่อเลี้ยงดูพวกเราแบบปกป้องไม่ให้ต้องมาเผชิญกับโลกที่แสนโหดร้าย พ่อเตรียมแม้กระทั่งการเก็บหอมรอมริบเพื่อการ"ออกเรือน"ของลูกๆ วันดีคืนดี ยามที่พ่อนึกอย่างจะใช้เงินขึ้นมา..พ่อจะแวะร้านค้าของประมูลตอนขากลับบ้าน เลือกซื้อทองหยอง หรือเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ต่างหู เพื่อเอามากำนัลแก่แม่.. ฉันจำได้ว่า พ่อชอบยืนพิงเก้าอี้หนังบุนวม คอยดูเวลาที่แม่ค่อยๆแกะห่อของขวัญด้วยสายตาที่อ่อนหวาน และ จากนั้น..ก็พร้อมเสมอที่จะอ้าแขนรับแม่เข้าสู่อ้อมกอด ทั้งสองรักกันมาก ไม่เคยทะเลาะกันเลย.. ในยามค่ำ ยามที่เราอยู่พร้อมหน้ากัน แม่จะเพลิดเพลินอยู่กับการเย็บผ้า พ่อนั่งเอกเขนกอ่านหนังสือพิมพ์ เด็กๆนั่งทำการบ้าน นี่คือ สันติสุขภายในบ้าน หรือ shalom bait ของพวกเราอย่างแท้จริง !!! |
บทความทั้งหมด
|