เชลย....ตอนเก้า ตอนที่คบกับเปปปิใหม่ๆนั้น พ่อเขาเพิ่งเสียชีวิตที่สถานสงเคราะห์คนโรคประสาทสไตน์ฮอฟ ที่ไกเซอร์ได้สร้างเอาไว้ และด้วยอิทธิพลของลุงที่มีชื่อเสียงและเส้นสาย แอนนา..แม่ของเขาจึงได้รับบำนาญมาใช้ทุกเดือน แอนนาเป็นที่ไม่ได้เรียนหนังสือหนังหาอะไรมากนัก แต่ไม่ใช่คนโง่ หล่อนเปลี่ยนเป็นยิวตอนที่แต่งงานก็จริง เพราะยังคงต้องการความช่วยเหลือในด้านเงินๆทองๆจากญาติทางสามี แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วก็ตาม...แต่เธอก็ยังแอบจุดเทียนบูชาพระเยซู และ ไปโบสถ์เป็นบางครั้งบางคราว.. ในปี 1934 แอนนาแต่งงานใหม่กับนาย ฮอฟเฟอร์ คนขายประกัน แต่ก็ยังเก็บไว้เป็นความลับ เพื่อจะได้รายมีได้จากหลายๆทาง.. แม้กระทั่งพิธีรับศิล บาร์ มิทซวาห์ เมื่อตอนที่เปปปิมีอายุได้ 13 ก็เถอะ แอนนาจัดไปตามแกนอย่างนั้นเอง เพียงเพื่อต้องการเงินทำขวัญจากญาติๆยิวของสามี แต่เธอก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะ ลุงเศรษฐีของของเปปปิไม่ได้ให้เงินสดตามที่หวังไว้ เขาให้ของขวัญเป็นกล่องที่บรรจุหนังสือดีๆหลายเล่มจากกวีชื่อดัง เช่น Schiller, Goethe แอนนาเป็นหญิงร่างท้วมที่สีสัน ยิ้มแต่ละทีปานว่าอวดฟันปลอมออกมาให้เห็นทั้งชุด ชอบแต่งตัวด้วยผ้าดอกดวง ฉูดฉาดไม่สมวัย ผมสีแดงของเธอถูดจัดแต่งเป็นก้อนหอยเล็กๆพรมด้วยเบียร์ให้แข็งอยู่เป็นรูป วันวันไม่ทำอะไรชอบซุบซิบนินทาชาวบ้าน แต่สำหรับลูกชายคนเดียวแล้ว..เธอปฏิบัติต่อเขาราวกับพระราชา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินที่ต้องใช้เครื่องกระเบื้องอย่างดี หรือคอยไล่เด็กๆข้างบ้านไม่ให้ทำเสียงดัง ยามที่เขายังไม่ตื่น.. และ ไม่ว่าเขาจะโตเป็นหนุ่มแค่ไหนแล้วก็ตาม แอนนาก็ยังนอนห้องเดียวกันกับลูกชาย ความรู้มากช่างพูดของแอนนานั้น เป็นไปได้ทุกเรื่อง และมีคำตอบให้ในทุกกรณี เช่นว่า..ถ้าลูกใครเกิดมาแล้วไม่สมประกอบ เช่นปากแหว่ง.. เธอก็จะนินทาว่า เป็นเพราะ แม่เด็กสำส่อน.. ถ้าเด็กมีขาโก่ง..ก็เป็นเพราะ พ่อมันเจ้าชู้ เปปปิได้รับคำบอกเล่าจากแม่ของเขาเองว่า พ่อตายเพราะโรคบุรุษ ซึ่งความจริงเท็จจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่..เธอก็คงจะเป็นคนแบบเดียวกับฮิตเล่อร์..หรืออาจจะบ้าเพราะกินน้ำที่ผสมยาพิษจากบ่อเดียวกันก็ได้ เพราะ ฮิตเล่อร์เอง..เป็นคนที่เชื่อว่า โรคซิฟิลลิส คือโรคของชาวยิวโดยเฉพาะ..!! แอนนาชอบซื้อไวน์ใหม่(ไม่ทันได้หมัก)มาดื่มเสมอๆ เพราะเธอเชื่อว่าไวน์ที่ไม่ได้หมักนาน จะไม่มีแอลกอออล์ และไม่ทำให้เมามาย.. แต่ตกเย็นทีไร..ทั้งฉันและเปปปิ ต่างก็มักพบเธอในสภาพ หน้าแดง.. ตาเยิ้ม นั่งเอนๆอยู่บนโซฟาในห้องรับแขก ตั้งอกตั้งใจฟังวิทยุสถานีนาซีด้วยใบหน้าที่เป็นทุกข์ "โอย..แม่ครับ ทำไมต้องเรื่องบ้าๆนี่อีกแล้ว เดี๋ยวก็เครียดแย่" คำทักทายจากลูกชายทำให้แอนนาหันมาดุเสียงเขียว "ต้องตั้งใจฟังซิ..นี่มันเรื่องใหญ่นะ พวกเขาเกลียดยิว..เขาว่ายิวเป็นต้นเหตุในทุกเรื่องเชียว" "ไม่มีใครเชื่อหรอกแม่" "จะบ้าหรือไง..ใครๆเขาก็เชื่อกันทั้งนั้น..ในโบสถ์ ในตลาด เขาพูดกันทั้งนั้น และ พากันเชื่อด้วย" แอนนาตีโพยตีพาย..เถียงด้วยเสียงสั่นสะท้าน น้ำหูน้ำตาพาลไหลพราก.. ซึ่งฉันเชื่อว่า มันคงเป็นเพราะพิษสงของ"ไวน์ใหม่" นั่นแหละ ในที่สุด ฉันก็ชนะ พ่อตกลงใจที่จะให้เรียนมหาวิทยาลัย.. วิชากฏหมาย.. ในสมัยนั้น ใครก็ตามที่อยากจะไปเป็นผู้พิพากษา หรือทนายความ ก็ต้องเรียนกฏหมายก่อน แล้วจึงไปแยกประเภทหลังจากจบตรงนี้ไปแล้ว.. วิชาที่เราต้องเรียนก็มี..กฏหมายโรมัน กฏหมายเยอรมัน กฏบัญญัติของพระอาราม กฏหมายแพ่ง กฏหมายอาญา รัฐศาสตร์ กฏหมายระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ ประมวลมาตราพานิชย์ และที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ จิตวิทยา.. และการถ่ายภาพเชิงนิติเวช ซึ่งวิชาสุดท้ายนี่ ทำให้ฉันต้องซื้อกล้องถ่ายรูปเล็กๆ เอาไว้ใช้.. ส่วนเปปปินั้น..แม่ของเขาลงทุนซื้อกล้องไลก้า [Leica] อย่างดี พร้อมกับทำห้องมืดสำหรับล้างฟิล์มเองอีกด้วย เขาชอบถ่ายภาพจำพวกสิ่งของแปลกๆเช่น แสงอาทิตย์สาดส่องเป็นสายจากท้องฟ้า หรือ หมากโดมินิที่ล้มกระจายบนโต๊ะ ส่วนฉันชอบถ่ายภาพคนโน้นคนนี้.. ในขณะที่ฮิตเล่อร์ขึ้นบัลลังค์ผู้นำที่เยอรมัน.. และเพื่อนจากชมรมสังคมนิยมยังสนุกสาน ไม่ได้คิดระแวงระไวอะไรเลยสักนิด ยังไปเที่ยวเล่นปีนเขากันอยู่ ก็มี เฮดดี้ ดอยทช์ ลูกสาวของนักการเมือง(ยิว)ที่มีตำแหน่งอยู่ในสภา เอลฟิ เวสเตอร์ไมย์ นักเรียนแพทย์ เราทั้งหมดสนุกสนานร้องเพลงลั่นทุ่งกันแบบเด็กๆ กลางคืนก็นอนค้างแรมในโรงนาที่สุมเต็มไปด้วกองฟาง ในบริเวณริมทะเลสาบ ที่ Saint Gilden แต่ยามอยู๋ในช่วงของภาคการศึกษา เรามักจะชุมนุมกันเสมอพูดคุยถกการเมืองแบบเอาจริงเอาจัง ขอให้เข้าใจความเป็นไปในสมัยนั้นก่อนว่า..ผู้คนหรือแม้กระทั่งพวกวันรุ่นสนใจเรื่องการเมืองมาก อีกทั้งเป็นพวกที่หัวแข็งและหัวรุนแรงก็มีไม่น้อย บางคน..พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์เชียว แต่กลุ่มของเราไม่ถึงขนาดนั้น ถนัดไปทางบ้าน้ำลายอย่างเดียว ในกลุ่ม..ก็มีเด็กหนุ่มสองคน ฟริทซ์ และ ฟรังค์ ที่เอาแต่เล่นปิงปอง ไม่ได้เคยสนใจโลกภายนอกใดๆทั้งสิ้น เพื่อนผู้หญิงอีกสองคนก็เป็นฝ่ายเสบียง คือส่งเค้กจากฝีมือแม่มาให้เพื่อนๆชิม เด็กผู้ชายอีกคนหนึ่งก็เอาเครื่องเล่นจานเสียงมาเปิดเต้นรำ เปิปปิเอากระดานหมากรุกมา ให้เราสามคนเล่นกัน คือ ฉัน เขา และ วูฟกัง ระหว่างที่เล่นหมากรุกไป เปปปิมักจะพูดเรื่องราวความเป็นไปในบ้านเมืองเสมอ เช่น " Oswald Spengler พูดไว้ว่า วัฒนธรรมอันสูงสุดของเรากำลังจะหายไป..เขาว่าพวกเรากำลังกลายเป็นพวกบริโภทนิยม และ คลั่งปรัชญา แต่ไม่รู้จักการลงมือปฎิบัติพัฒนา(ทรัพยากร).." "งั้นเหรอ..ถ้างั้นพวกนาซีต้องรักเขาตายเลย.." วูฟกังแทรกขึ้นมา..และต่อด้วยว่า "เพราะว่า พวกนาซีมักประกาศว่า..พวกเขาคือ คณะลงมือปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ" "ที่ไหนได้ล่ะ..พวกนาซีสั่งแบนนายนี่น่ะซิ..เพราะพวกเขาไม่ชอบให้ใครมาเที่ยวบอกว่า สิ่งที่ไม่ดีๆกำลังจะเกิด" พูดจบ..เปปปิโขกรุกอย่างขัดใจ "ก็..สำหรับพวกเขาอนาคตมันช่างสวยงามเสียเหลือเกินไง" ฉันกล่าวเสริม..และ" พวกเขากำลังจะสร้างอารยะอาณาจักร ที่มีแต่เจ้านายทั้งนั้น..และคนอื่นๆในโลกคือพวกข้าทาสที่ต้องคอยแต่รับใช้พวกเขา จริงมั๊ยล่ะ" "แล้วเธอล่ะ.. อีดิธ คุณจะทำยังไงกับอนาคต" ฟริทซ์ส่งคำถามข้ามาจากโต๊ะปิงปอง "อ๋อ..ชั้นเหรอ ขั้นจะมีลูกสักหกคน เอามาแต่งตัวนั่งล้อมโต๊ะอาหาร ผ้าเช็ดมือเหน็บที่คออย่างเรียบร้อย และพวกเขาจะบอกว่า แม่จ๋า..แอปเปิลสตูเดิลของแม่อร่อยจัง" เปปปิ..รีบเย้าว่า.."ไหนนะ..ใครจะทำขนมนะ..ถ้าเกิดแม่เธอไม่ว่างล่ะ จะทำยางง้ายยย??" ฉันเอื้อมมือไปทุบเขาเบาๆ..ด้วยความขวยอาย (Oswald Spengle เป็นปราชญ์ชาวเยอรมัน นักวิเคราะห์การเมืองและความเป็นไป เปรียบได้คือ คุณธีรยุทธ บุญมี ดีๆนี่เอง เมื่อปีที่ยุโรปตกต่ำสุด คือ 1918-1922 ภาวะระส่ำสายหลังสงคราม และ ความแร้นแค้นได้เข้ามาครอบคลุม ออสวัลด์ สเปงเกิล ได้เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ที่จัดว่าโดนใจที่สุด คือ The Decline of the West ที่ปัจจุบัน ยังถือเป็นกระจกส่องทางได้ดี สำหรับพวกที่ต่อต้านลัทธิทุนนิยม) วูฟกังเริ่มสนใจเรื่องรอบข้างถึงกับเอ่ยถามว่า "พวกเราได้ข่าวหรือเปล่า ที่ว่า ฮิตเล่อร์จะพรากเด็กไปเลี้ยงเอง ถ้าพ่อแม่ไม่รู้จักสั่งสอนให้ลูกรู้จักกับลัทธิชาตินิยม" "โอย..อย่างนี้ก็ฟ้องกันตายเลย ศาลไม่ยอมหรอก " ฉันเองที่เป็นคนโวย "ใครว่าไม่ยอม..สมาชิกพรรคนาซีนั่นแหละ นั่งกันหน้าสลอนเต็มศาลเชียว" "ไม่เข้าใจเลยนะ ว่า ไอ้เปี๊ยกนั่น(ฮิตเล่อร์) และพวกของมัน สามารถทำลายประชาธิปไตยของมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อย่างเยอรมันได้อย่างรวดเร็วราวสายฟ้าแลบได้อย่างไร?" วูฟกังทุบโต๊ะจนหมากรุกกระจายว่อนบนโต๊ะ "ฟรอยด์ คงจะบอกได้มั๊ง..ว่านี่คือชัยชนะของอัตตา..เพราะว่าพวกนี้เขาคิดว่าพวกเขาใหญ่คับโลก ความคิดของพวกเขาสร้างความบรรเจิดจ้าที่ทำให้ประชาชนตาบอดจนมองไม่เห็นความถูกต้องที่ควรเป็น ที่แย่ก็คือ พวกนาซีไม่เคยมีช่องว่างสำหรับการติเตียน ไม่เหมือนกับจักรพรรดิซีซ่าร์ ที่สร้างอาณาจักรได้โดยการขยายอาณาบริเวณในประเทศอื่นๆ แต่ก็ทรงให้ประเทศราชเหล่านั้นแสดงความสามารถในการปกครองกันเอง แต่พวกนาซี..ทำตรงกันข้าม เพราะ มันทำอย่างอื่นไม่เป็น..นอกจากการทำลายล้าง..ฉะนั้น..อนาคตก็ไปไหนไม่ได้ไกล นอกจากความยิ่งใหญ่ที่ลวงตา วันหนึ่งก็ต้องพังพินาศ" สิ้นเสียง..ทุกคนต่างจับจ้องไปที่ผู้พูดอย่างทึ่งจัด..เปปปิเป็นผู้ที่มีสติปัญญาหลักแหลมเสมอ "แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ?" "เราก็ต้องต่อสู้เพื่ออุดมการณ์น่ะซิ.. ด้วยความศรัทธาในสิ่งที่เราเชื่อมั่น(ระบบสังคมนิยม) อันเป็นสวรรค์ของมนุษยชาติ ที่ ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ไม่มีผิวขาว ไม่มีผิวดำ ไม่มียิว ไม่มีนาย ไม่มีบ่าว เราจะมีมีผิวสีเดียวกันหมดทั่วโลก คือ ผิวมนุษย์ สิ้นเสียงตอบ..ฉันภูมิใจเหลือเกินที่มีเขาเป็นชายคนรัก..และ ปลื้มใจที่คนเก่งๆอย่างเขาที่เลือกฉันมาเป็นคู่ใจที่จะเคียงข้างต่อไปในอนาคต.. ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งเวียนนาในปี 1933-37 นั้น เรามีเรื่องยุ่งเหยิงทางการเมืองอย่างไม่มีจบสิ้น ท่านนายกรัฐมนตรี Dollfuss ได้เปลี่ยนนโยบายอย่างกระทันหัน นั่นคือ ประกาศให้ออสเตรีย รัฐบาลคาทอลิคนิยม.. และสั่งแบนการเคลื่อนไหวฝ่ายสังคมนิยมทุกชนิด ซึ่งเล่นเอาสมาชิกและพวกฝักใฝ่ในฝ่ายนี้ที่ส่วนใหญ่คือนักศึกษาลุกขึ้นมาการต่อต้านกันเป็นการใหญ่ เมื่อมีคำสั่งห้ามชุมนุม..การแอบพบปะก็ย่อมเกิดขึ้น..วันนั้นเป็นวันที่จะมีการชุมนุมพร้อมกับนักอภิปรายชื่อดัง ซึ่งได้มีการซักซ้อมกันดีว่าถ้าตำรวจมา ทุกคนต้องทำเป็นว่าซ้อมร้องเพลงประสานเสียง ซึ่งพวกเราได้เลือกเพลง "Ode toJoy" ของ เบโธเฟน ซึ่งเพื่อให้สมจริง พวกเราจึงต้องซักซ้อมกันเป็นการใหญ่ ตลอดเวลาของการซ้อม..ฉันทำทุกอย่างตั้งแต่กัดริมฝีปาก กัดข้อนิ้วตัวเอง จนกระทั่งกัดแผ่นโน๊ตเพลง แต่ทั้งหมดนั้น ไม่สำเร็จ..จึงปล่อยออกมาก๊ากใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ฉันคนเดียวหรอกนะที่หลุด..เพราะเพื่อนๆทุกคนต่างพากันลงไปนอนขำกลิ้งกับคณะประสานเสียงจำเป็นอย่างเหลืออด ฝ่ายฝักใฝ่สังคมนิยมต่างเริ่มเรียกร้องให้ทำการประท้วงหยุดงานกันไปทั่ว ทั้งๆที่ในปี 1934 นั่นภาวะเศรษฐกิจแสนที่จะย่ำแย่ คนตกงานถึงหนึ่งในสามของประชากร ซึ่งไม่รู้ว่าจะประท้วงกันไปทำไม ในเมื่องานก็ไม่มีทำ นับว่าวิธีนี้ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่..แต่............. รัฐบาลของท่านนายก Dollfuss กลับยิ่งแสดงความไม่ฉลาดไปยิ่งกว่า กล่าวคือ เมื่อได้ยินเรื่องนัดประท้วงหยุดงาน และจะมีการเดินชบวน ก็จัดแจงแต่งกองทัพไปเตรียมพร้อมรับมือกับม๊อบ เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ การปะทะย่อมเกิดขึ้นเป็นของธรรมดา มีคนตายนับร้อย บาดเจ็บนับไม่ถ้วน สรุปว่า..สิ่งที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี มัวมาทะเลาะกันเอง แทนที่จะรวมตัวรวมใจกันไปต่อสู้กับนาซี นายกรัฐมนตรีทัก..เอ๊ย..ดอลล์ฟัส สั่งเนรเทศพวกฝักใฝ่ นาซีแบบเรียงตัว..ถ้าจับได้ ส่วนฮิตเล่อร์ก็ตามเก็บเอาไปเลี้ยงที่เยอรมันอีกทั้งขู่ออกรายการวิทยุประจำวัน ว่าจะเข้ามาจัดการพวกเราออสเตรียนซะให้สิ้นซากขวากหนาม รวมทั้งตีข่าวของกลุ่มชาวเยอรมัน-ออสเตรียน ที่ถูกทำร้าย..ทารุณ โดยพวกบอลเชวิคในเชคโกสโลวาเกีย โดยที่ไม่ลืมที่จะปิดท้ายรายการด้วยการด่าชาวยิวว่าเป็นพวกไอ้ขี้โกง..ไอ้ฆาตกร..ไอ้ขี้ปด ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเศรษฐกิจของโลกจนเกิดภาวะขาดแคลนฝืดเคือง ทำให้เกิดปัญหาให้คนว่างงานนับล้านๆคน..ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นการใส่ใคล้ ใส่ความ จนฉันไม่เคยสนใจที่จะฟังไอ้บ้านั่นแหกปากปาวๆ ด้วยเสียงที่แสบแก้วหูจะตาย.. ต่อมาก็มีการวุ่นวายในมหาวิทยาลัยเพราะพวกนักศึกษาที่หลงไหลในลัทธินาซีได้ก่อการจราจล ไล่ทุบตีฝ่ายที่คิดตรงข้าม ไม่เว้นแม้กระทั่งอาจารย์ ในการอภิปรายฉะฮิตเล่อร์ มีการขว้างระเบิดใข่เน่าเข้าไปในหอประชุม นักศึกษาเกิดการปะทะกัน ตำรวจต้องเข้ามาสยบเหตุการณ์ด้วยแก๊สน้ำตา.. ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ได้มีคนเตือนพวกเราแล้วว่า..ถ้านาซีเข้ามายึดครองได้เมื่อไหร่ จะยิ่งเลวร้ายไปกว่านี่อีก ดังที่ท่าน Thomas Mann ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการประพันธ์ (The Magic Mountain) ได้มายืนหน้าเวทีด้วยใบหน้าที่หม่นหมอง..ในการอภิปรายต่อต้านนาซีในครั้งหนึ่งว่า "ผมไม่รู้ว่า ค่ำคืนนี้จะมีความหมายอย่างไรกับพวกคุณบ้าง...แต่กับผมแล้ว..มันมีความหมายที่สุด" ในกลุ่มที่เข้ามาสังเกตการณ์อภิปราย..ถ้าเป็นพวกที่สวมถุงเท้าขาว นั่นคือพวกที่ฝักใฝ่นาซี.. และในนั้น มี รูดอล์ฟ กิสคา แฟนเก่าของฉัน..และที่ต้องประหลาดใจที่พบ นั่นคือ แม่หนูน้อยไอสไตน์ เพื่อนปัญญาทึบที่เคยให้ฉันติววิชาเลขให้ทุกเช้า ต่อมาก็คือ เอลฟิ เวสเตอร์ไมย์แม่เพื่อนสาวที่มากับแฟนหนุ่ม นาย ฟรานซ์ เซเกอร์ คนทั้งหมดที่พูดถึงมานี่ ถ้าจะเสียสติไปแล้วจริงๆ.. ยายเห็นท่าจะพูดถูก..ว่า..ต้นกระบองเพชรแห่งเมือง สตอคเคโรเนี่ยย..มันมาเจริญงอกงามผิดที่จริงๆ..!! (หมายเหตุ..กระบองเพชรที่เปรียบเทียบ..หมายถึง..เอลฟิ เวสเตอร์ไมย์ เพราะเธอคือ ลูกยิวค่ะ................วิวันดา) ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนี่งว่า..ยิวบางพวกที่อพยพมาอยู่ยุโรปนานแสนนาน จนไม่เหลือความเป็นยิวนั้นก็มีมาก แต่จะทราบกันจาก นามสกุล ถ้าต่อท้ายด้วย baum.. หรือ meyer ละก้อ คือใช่.. ในยุคนาซีนั้น มีการแปลงสัญชาติ ฉีกเอกสารทิ้งกันวุ่นวาย ยิ่งถ้าเป็นคนมีเส้นมีสายก็ได้กระทำกันได้เนิ่นๆ โดยเฉพาะ การไปหาซื้อนามสกุลของพวกผู้ดีเก่าตกยาก ที่มีคำว่า von หน้านามสกุล (โดยการทำว่าเป็นบุตรบุญธรรม) นั้นได้ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว ตัวอย่างเช่น นาย Joachim von Ribbentrop รมต. ต่างประเทศของฮิตเล่อร์ ที่มีที่มาที่ไปของต้นตระกูล ไม่ชอบมาพากล.. และตอนนั้น คือยุคที่เงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งจริงๆ.. การเมืองในออสเตรียเข้าขั้นวิฤกติ เพราะนายกรัฐมนตรี Dollfuss ถูกลอบสังหารโดยฝ่ายนาซีออสเตรียน ในวันที่ 25 กรกฏาคม 1934 กฏอัยการศึกถูกประกาศใช้ ถนนหนทางเต็มไปด้วยตำรวจ ยามพร้อมอาวุธได้ถูกจัดวางในทุกจุดที่มีที่ตั้งของสถานทูตต่างๆ วันหนึ่ง ขณะที่ฉันเดินกลับบ้านหลังเลิกเรียน..นักศึกษาชายสองคนที่เดินอยู่ข้างหน้า ถูกตำรวจขี่มอร์เตอร์ไซค์เข้ามาขอทำการตรวจค้น พอฉันเดินมาถึงมุมถนน..ก็พบกับชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังถูกจับกุม ส่วนแฟนสาวของเขากำลังถูกสอบสวนปากคำ ในใจจริงๆแล้ว..ฉันเองรู้สึกตื่นเต้น อยากจะโดนสกัดจากตำรวจอย่างพวกเขาเหมือนกัน เพราะน่ามันจะตื่นเต้น เอาไปคุยฟุ้งกับเพื่อนๆได้อีกหลายวัน แต่..ไม่มีใครสนใจฉันเลย..เพราะลักษณะฉันมันไม่โดดเด่น..หน้าตาจืดชืด..ดูราวกับเป็นเด็กอายุสิบสี่ ทั้งๆที่เป็นนักศึกษากฏหมายวัยยี่สิบเอ็ดปีเข้าไปแล้ว นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นาย เคิร์ท ฟอน ชูสชนิคค์ ( Kurt von Schuschnigg) เข้ามาแทนที่คนเก่าที่เพิ่งถูกสังหารไป ประชาชนยังไม่เลื่อมใสนัก แต่หวังว่า เขาคงปกป้องพวกเราให้พ้นจากเงื้อมมือนาซีได้ก็แล้วกัน ฉันและเปปปิชอบพากันไปเดินเล่นตามท้องถนน และช่วยกันวาดวิมานในอากาศถึงระบบปกครองแบบสังคมนิยมที่ควรจะเป็น ในขณะนั้น ฮิตเล่อร์ได้เข้าไปยึดครองเขตกันชน Rhineland (รอยต่อเยอรมัน-ฝรั่งเศส) แล้ว..ทั้งๆที่ตามสัยญาแวร์ซายย์ได้ระบุให้เป็นเขตปลอดทหาร เท่านั้นไม่พอ ฮิตเล่อร์ยังเข้าไปวุ่นวายกับสงครามกลางเมืองในสเปนด้วย อิตาลีที่เคยเป็นมหามิตรของออสเตรียมาแต่ไหนแต่ไร กลับแปรพักต์ไปเข้ากับเยอรมันอย่างหน้าไม่อาย เพราะ ตัวเองอยากจะเข้าไปรบเพื่อยึดครองเอธิโอเปีย.. และพร้อมกับความยุ่งเหยิงนี้..พ่อฉันได้จากไปอย่างไม่มีใครคาดฝัน..เดือนนั้นคือ เดือนมิถุนายน 1936 หลังจากที่พ่อได้เดินเข้าไปตรวจตราความเรียบร้อยในห้องอาหารที่ โฮเต็ล บริสตัล เสร็จสรรพ พ่อก็ล้มลง..และเสียชีวิตในทันที ข่าวที่มาถึงเรานั้นมันรุนแรงจนเหมือนกับสายฟ้าฟาด แม่นั่งนิ่งซึมด้วยใบหน้าที่อาบไปด้วยน้ำตา มิมินั่งเกาะกุมมือกับแฟนหนุ่มน้อยเพื่อนนักเรียน นายมิโล เกรนซ์บาวร์ ส่วนฮันซี่น้องน้อยนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้น.. ฉันต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าวิ่งออกในห้องครัว เพื่อที่จะดูแลเรื่องน้ำชากาแฟให้กับแขกที่เข้ามาแสดงความเสียใจ เยาท์สกี้ญาติสาวมากับคู่หมั้นรูปงาม นามว่า ออตโต ออนเดรจ ที่ช่างเอาอกเอาใจ คอยซับน้ำตาให้ตลอดด้วยผ้าเช็ดหน้าผืนน้อย เปปปิมาพร้อมกับแอนนาแม่ของเขา ที่ไม่ทันจะวางกระเป๋าเธอก็รีบมานั่งแปะข้างแม่ พร้อมกับพรรณาถึงชีวิตที่แสนลำเค็ญของการเป็นแม่หม้ายที่เธอผ่านมา เธอรู้ดี.. เท่านั้นไม่พอ..ยังเที่ยวถามใครต่อใครอย่างไม่เกรงใจ...ว่า...พ่อได้ทิ้งสมบัติอะไรไว้ให้พวกเราบ้าง? เปปปิเข้ามาฉันในครัว พร้อมกับลูบศรีษะปลอบโยนว่า ทำใจให้สบาย ทุกอย่างจะเรียบร้อยไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง.. แต่ฉันไม่ได้เชื่ออะไรนักหรอก เพราะมันเป็นประโยคมารยาทที่ใครต่อใครมักพูดกันเท่านั้น เพราะความจริงก็คือ เราได้เสียเสาหลักของครอบครัวไป ต่อไปนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร ใครจะมาคอยดูแลและปกป้องเรา แม่ตัดสินใจจะเปิดรับตัดเย็บเสื้อผ้า ตามที่ลูกค้าจะสั่ง และก่อนที่แม่จะลงมือทำอะไร ตามมารยาทของสังคมสมัยนั้น แม่ต้องไปหาเพื่อนบ้านที่ทำอาชีพนี้อยู่แล้วเพื่อเป็นการบอกกล่าว เชิงขออนุญาตแบบกลายๆ และพร้อมขอความช่วยเหลือแนะนำ ซึ่งทุกคนต่างพร้อมใจกันส่งเสริมสนับสนุนและยินยอมด้วยดี นี่คือสาเหตุที่เราเชื่อว่า..ทุกคนรักเรา เอ็นดูเรา ยอมรับเราเป็นเพื่อนอย่างแท้จริง.. หน้าที่ของฉันคือ การรับสอนหนังสือพิเศษเพื่อหารายได้พิเศษ และต้องเรียนให้หนักขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องผ่านการสอบขั้นสุดท้ายให้ได้ เพื่อที่จะเป็นนักกฏหมายจะได้มีงานดีๆทำ ครอบครัวจะได้อยู่ดีกินดี ส่วนเรื่องกระแสการเมืองที่กำลังวุ่นๆนั้นอีกหน่อยก็คงหายไปเอง แต่ที่พูดมานั้น มันไม่ใช่ของง่าย เพราะ ฉันแทบไม่มีสมาธิในการเรียน ยามที่ไปนั่งในห้องสมุด ตาก็มักจะจ้องไปที่หน้าหนังสือตรงหน้า..แต่ในใจนั้น เลื่อนลอยไปไกลแสนไกล.. จนวันหนึ่ง.. อันโทน เรเดอร์ หนึ่งในอดีตแฟนเก่าสมัยมัธยมปลาย เข้ามานั่งใกล้ๆ..เขาคนนี้กำพร้าพ่อตั้งแต่ครั้งยังเด็กๆ และเขาเข้าใจดีความรู้สึกของฉันถึง ความว้าเหว่ หวั่นไหว ไหนจะต้องเร่งให้เป็นผู้ใหญ่กว่าวัย.. เขาเอ่ยเบาๆว่า "คุณยังน่ารักเหมือนเดิมนะ" "คุณก็ยังดูดีเหมือนกัน" "ผมจะบอกคุณว่า ผมได้เข้าเรียนในวิชาการทูต แต่มันไม่ใช่เพราะความสมัครใจของผมหรอกนะ แต่เป็นเพราะผมได้ทุนน่ะ" "แต่มันก็ดีนี่..คุณจะได้ไปท่องเที่ยวประเทศโน้นประเทศนี้..บางทีอาจจะไปถึงอังกฤษ อเมริกาเชียว" "คุณจะไปกับผมมั๊ยล่ะ?" "อะไรนะ..?" "ฟังนะ..ผมรู้ดีว่าคุณกำลังคบกับ เปบปิ โรเซนเฟลด์ แต่ขอผมบอกอะไรอย่างนึงนะ..แฟนของคุณคนนี้จัดว่าเป็นพวกความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด เชื่อผมเถอะ ไปกับผมดีกว่า..เราจะเข้ากันได้ดี" พูดจบเขาก็เอื้อมมือมาเกาะกุมมือฉันไว้ แว้บเดียวที่พุ่งเข้ามาในความคิด ว่า..เออ..เป็นความคิดที่ดีเหมือนกันนะ.. แต่..จากนั้นฉันก็ให้เหตุผลสารพัดถึงความไม่เหมาะสมต่างๆนานา.. อันโทน..สมกับเป็นนักการทูตที่ดีต่อไปในอนาคต..เขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าฉันกำลังจะบอกอะไร เขายืนขึ้นและจุมพิตที่มือฉันเบาๆ ก่อนที่จะลาจากไปอย่างเงียบๆ เราได้ต้อนรับเพื่อนบ้านรายใหม่..เป็นวิศวกรพ่อหม้าย ชื่อว่า นายเดนเนอร์ เขามีลูกสาวสองคน เอลซ่า อายุ สิบเอ็ด และ คริสตัล อายุ สิบสี่ และเนื่องจาก ตัวพ่อต้องออกไปทำงานที่นอกเมืองบ่อยครั้ง ลูกสาวทั้งสองจึงต้องดูแลตัวเอง เขากำลังมองหาพี่เลี้ยงเด็กเพื่อช่วยในการสอนหนังสือ และช่วยดูแลเรื่องทั่วๆไปของเด็กทั้งสอง ผู้จัดการอาคารจึงแนะนำให้เขาพิจารณาฉันเป็นพิเศษ ซึ่งในที่สุดฉันก็ได้งานนี้โดยใช้เวลาที่เลิกเรียนจากมหาวิทยาลัยในยามบ่ายมาดูแลพวกเด็กๆที่เราทั้งหมดต่างเข้ากันด้วยดี.. ห้องชุดที่พำนักของครอบครัวนี้อยู่ในชั้นที่อดีตเคยเป็นห้องโถงสำหรับเต้นรำที่มีแต่แขกเหรื่อระดับเจ้านายและขุนน้ำขุนนาง** (** ในอดีต ตึกที่อยู่อาศัยนี้ คือ วังเก่า......วิวันดา) ซึ่งนำมาดัดแปลงโดยการแบ่งกั้นเป็นห้อง หน้าต่างแต่ละบานใหญ่โตมโหฬาร สูงจากพื้นไปติดเพดาน พื้นห้องเป็นไม้ขัดเงาที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ยามที่เห็นเด็กหญิงทั้งสองพยายามที่จะถูพื้นให้สะอาดนั้น ใจฉันให้สงสารเป็นกำลัง..จนต้องถามว่า "ใครจะเสด็จมาไม่ทราบคะ..เจ้านายแห่งราชวงค์ฮัฟบวร์คก็ไม่เหลือแล้ว..ส่วนราชวงค์บอร์บองก็ลี้ภัยไปนอกประเทศแล้วนี่นา" "ปล่าวหรอกค่ะ พ่ออยากให้พวกเราทำให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อเป็นการย้ำเตือนความจำว่า ในอดีต..ที่นี่เคยรุ่งเรือง" ทั้งสองต่างมีสัตว์เลี้ยงเป็นลูกสุนัขคนละตัว..มีชื่อเป็นภาษารัสเซีย เพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อมารดาที่ล่วงลับที่เป็นรัสเซียที่มีเชื้อสาย ตัวของเอลซ่า..น่ารัก นอนหลับบนตักของเจ้าของตลอดเวลา แต่ของคริสตัลนั้นช่างซุกซน วิ่งเล่นไล่นกทั้งวัน..ซึ่งเทียบแล้ว..สุนัขก็เหมือนเจ้าของไม่มีผิด เอลซ่าแสนเรียบร้อย สงบเสงี่ยม ส่วน พี่สาวนั้น ค่อนข้างขี้เล่น..สนุกสนาน คริสตัลหมายมั่นที่จะเรียนวิชาธุรกิจ แต่ไม่สนใจวิชาบัญชี เขียนจดหมายไม่เป็น และไม่ตั้งใจทำอะไรอย่างจริงจัง..ตัวอย่างเช่น..ยามที่ฉันนั่งเฝ้าดูเธอทำการบ้าน ซึ่งก็ได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว เพราะหลังจากนั้น เธอจะใช้เหตุผลมาอ้างสารพัดที่จะขอไปทำอย่างอื่น.. ยามที่เราพาสุนัขไปเดินเล่นบนถนนใกล้ๆบ้าน..เด็กหนุ่มๆมักมาคอยดักดู ผิวปากกันวิ๊วว๊าว หรือไม่ก็ตามมาส่งช่อดอกไม้..เพราะหน้าตาที่น่ารัก ร่างสูงสมส่วน ตาสีฟ้าอมม่วงของสาวน้อยคริสตัลผู้ทรงเสน่ห์ พอเธออายุได้ 15 ฉันก็เต็ม 23 ตอนนั้น คริสตัลกำลังมีความรักกับเพื่อนหนุ่ม นามว่า อันส์ เบอเรน ซึ่งใครก็ก็เรียกเขาว่า เบอร์สกี้ นายเดนเนอร์ พูดถึงเขาว่า.."ไอ้นี่ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ แต่มันรู้จักใช้สตังค์ ไม่สุรุ่ยสุร่ายแบบเด็กหนุ่มในวัยเดียวกัน" แต่ความรักของคนทั้งสองช่างเต็มไปด้วยปัญหาจุกจิก เดี๋ยวดี เดี๋ยวทะเลาะ เดี๋ยวหึง เดี๋ยวง้องอนที่ต้องโทรศัพท์หากันดึกๆดื่นๆ หลายครั้งที่ฉันปรากฏตัวขึ้น..คริสตัลรีบเข้ามาต้อนรับและดึงตัวไปกระซิบกระซาบในที่ลับตาคน ใจความว่า เธอต้องการความช่วยเหลือด่วน แล้วเธอก็จะเล่าเรื่องการขัดอกขัดใจกับแฟนหนุ่มที่มีขั้นได้ในสารพัดเรื่อง ลงท้ายว่า ขอให้ฉันช่วยเขียนจดหมายให้ "ได้โปรดเถอะ อีดิธจ๋า ถ้าไม่ช่วยเห็นทีจะแย่แน่ๆเลย เขียนให้หน่อยนะ นะ..?" แล้วฉันจะไปปฏิเสธแม่สาวน้อยที่รักปานประหนึ่งน้องสาวแท้ๆคนนี้ได้อย่างไร เมื่อคริสตัลได้สอบผ่านจากวิทยาลัยธุรกิจได้ นายเดนเนอร์ ได้จัดงานเลี้ยงใหญ่โต โดยเช่าเรือล่องออกไปตามแม่น้ำดานูป พร้อมปาร์ตี้ที่มีทั้งอาหารและเครื่องดื่มสำหรับแขกจำนวนไม่น้อย ก่อนที่งานจะเลิก บริกรได้นำช่อกุหลาบแดงมามอบให้ฉัน ซึ่งฉันพยายามมองหาว่ามาจากใคร..แต่ช่อดอกไม้สีสวยสดนั้นคงเป็นปริศนาเพราะไม่มีการ์ดแนบติดมาด้วย ที่บ้านแม่กำลังปักนกลงบนเสื้อสีเหลืองตัวใหม่ให้ฉัน และแม่สามารถเดาได้ทันที ว่า กุหลาบช่อนั้นมาจากนายเดนเนอร์บิดาของเด็กๆ "คงเป็นการขอบคุณแหละลูก เพราะในยามที่เด็กๆพวกนี้ต้องการใครสักคนหนึ่งมาทำหน้าที่ให้ความอบอุ่น รักและเอาใจใส่ หนูก็ทำได้ดี อีดิธ ฟังแม่นะ..แม่เชื่อว่าถ้าหนูมีลูกของหนูเอง หนูจะเป็นแม่ที่วิเศษสุด " นายกรัฐมนตรี ฟอน ชูสชนิคค์ กำลังคิดที่จะมีนโยบายนำราชวงฮัฟบวร์คกลับมาครองบัลลังค์ออสเตรียใหม่ ซึ่งนาซีไม่ชอบใจอย่างยิ่ง ถึงกับขู่ฟ่อๆกันตรงๆอย่างไม่มีอ้อมค้อมว่า ถ้ากล้าดีก็ลองดู จะยกทัพเข้ามาจัดการให้เรียบในชั่วข้ามคืนเชียว.. เล่นเอาท่านนายกรีบระงับการการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างทันที แต่ก็ยังพยายามที่จะรักษาอิสรภาพของประเทศไว้ให้นานที่สุด ซึ่งนับเป็นการต่อต้านที่โดดเดี่ยวเอาซะจริงๆ เพราะคนอื่นๆนั้นโอนเอียงไปทางโน้นหมดแล้ว.. ค่ำๆของวันที่ 11 มีนาคม 1938 ที่ฉันและเปปปิได้จูงมือออกไปเดินเล่นในละแวกบ้าน เราคุยกันจุ๋งจิ๋ง เอียงตัวเข้าซบกันบ้าง กอดกันบ้าง..ตามประสาคู่รัก เสียงชาวบ้านตะโกนออกมาทางหน้าต่างว่า.."นายกฯได้ลาออกแล้ว" ทั้งถนนตกอยู่ในความเงียบสงัด..เปปปิโอบตัวฉันแน่นเข้า.. "เราคงอยู่ไม่ได้แล้วละ เปปปิ" เสียงฉันสั่นด้วยความหวาดหวั่นต่ออนาคตในภายหน้า "อย่าเพิ่งตื่นตูมซิ ที่รัก" "ไม่ได้แล้วละ เราต้องออกไปจากประเทศนี้ให้เร็วที่สุด " ฉันกอดเขาแน่น พูดด้วยเสียงที่ละล่ำละลัก "ใจเย็นๆเถอะน่า เพียงอาทิตย์เดียวทุกอย่างก็กลับมาอย่างเดิม" "แต่..ฉันกลัว..............." "ไม่ต้องกลัวซิ ผมอยู่ที่นี่ทั้งคน อย่าลืมซิว่า ผมรักคุณ พร้อมที่จะปกป้องคุณตลอดไป" พูดจบ..เขาก็บรรจงจูบฉันอย่างสุดพิสวาท ความกลัวค่อยๆหายไป เหลือไว้แต่ความอบอุ่น ความรัก และความหวัง มาถึงบัดนี้ ฉันไม่สนใจแล้วว่า รัฐบาลจะอยู่หรือไป ประเทศชาติจะพร้อมทำสงครามหรือไม่..เพียงแค่มีเขา พ่อยอดยาใจอยู่เคียงข้าง ฉันก็ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรต่อไปอีก.. เขาคนนี้..ฉันเชื่ออย่างหมดใจว่า..จะมาเป็นปราการกันภัยแทนที่พ่อผู้ซึ่งจากไปอย่างไม่มีวันกลับ Peppy วันต่อมาคือวันครบรอบห้าสิบปีของการครองคู่ของตากับยาย.. พวกเราทำขนมเค้ก ซื้อไวน์ บรรจุลงกล่องเพื่อเตรียมไปดื่มฉลองตอนอวยพรที่บ้านเมืองสตอคเคโร แต่..ทุกอย่างพลิกผันไปหมด การเดินทางที่เตรียมไว้อย่างดิบดีนั่นต้องงดอย่างกระทันหัน เพราะ ฮิตเล่อร์ได้เลือกวันนั้นเป็นวันยาตราทัพเข้ามาในออสเตรีย เป็นการบุกอย่างแปลกประหลาดที่สุด เพราะ เส้นทางเดินทัพของเยอรมันได้มีการต้อนรับอย่างดี ด้วยธงริ้วประดับประดาไปตามถนน วงดุริยางค์บรรเลงรับ สถานีวิทยุนาซี(ที่เหลืออยู่สถานีเดียวที่ออกอากาศ) ได้แพร่ข่าวทั้งวัน ผู้คนมาจากสารพัดทิศ นอกเมือง และในเมือง พากันหลั่งไหลมาชุมนุมตามท้องถนนเพื่อต้อนรับทัพนาซี ในวันที่ 10 เมษายน 1938 เสียงโหวตอย่างถล่มทะลายจากประชาชนที่ ยินดีและยินยอมให้.ออสเตรียเข้าเป็นขัณฑสีมากับเยอรมัน..ถึง เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็น เพื่อนในกลุ่มฝักใฝ่สังคมนิยมของฉันคนหนึ่งที่สูญเสียพ่อไปเพราะถูกนาซีลอบสังหารนั้น พยายามที่จะดำเนินการต่อต้านนาซีอย่างลับๆ โดยการทำงานแบบใต้ดิน เขาได้เสนอให้ฉันเข้ามามีส่วนร่วมการทำงานครั้งนี้ โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งสาสน์ ฉันรู้สึกตัวว่ามีความสำคัญขึ้นมาทันที..และ ยินดีที่จะเข้าร่วมทำงานในครั้งนี้อย่างเต็มใจ จึงรีบจับมือกับเขา..อันเป็นสัญญาในการตกลงใจร่วมคณะ แต่เมื่อได้มาเล่าให้เปปปิฟัง..เขาไม่เห็นด้วยอย่างแรง แถมตำหนิฉันอีกด้วยว่า..ช่างไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัวเสียจริง ถ้าเกิดว่า ถูกจับขึ้นมา ใครจะมาเลี้ยงแม่และน้อง ก็จริงของเขา..ฉะนั้น ฉันจึงรีบไปขอเลิกสัญญากับเพื่อนด้วยเหตุผลดังกล่าว อนิจจา..ฉันนี่ช่างเป็นเด็กดีเสียจริงๆ เพราะไม่ว่าสุดที่รักจะพูดอะไรก็เชื่อฟังเขาไปหมด..! |
บทความทั้งหมด
|