เชลย....ตอนยี่สิบสาม เพื่อนบ้าน ไฮซ์ ชเลเกล แนะนำเราด้วยความหวังดีว่าควรจะออกไปทานอาหารนอกบ้านเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบ้าง เพราะไหนๆก็ได้รับบัตรปันส่วนเพิ่มขึ้นมาแล้ว อีกทั้งฉันเพิ่งได้รับของขวัญจากคนไข้ในความดูแลที่ได้ส่งไวน์ Moselle มาให้ นับว่าเป็นสิ่งที่วิเศษสุดจริงๆในยามขัดสนเช่นนี้ คุณๆคงสงสัยว่า..ฉันมาใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงพวกนิยมนาซีได้อย่างไร จึงต้องขอตอบว่า ไม่มีทางเลือกอื่นใดในชีวิตจริงๆ และ ไม่พยายามคิดให้มากไปกว่าที่จำเป็น การที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมันยามนั้น หมายถึง ในฐานะของชาวอารยัน หมายถึงว่า การที่ต้องอยู่ในวงสังคมของนาซี คิดอ่านเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพราะคนรอบข้างทั้งหมดคือ นาซีล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ตาม สำหรับฉัน..เรื่องที่จะแยกแยะไปว่าเพื่อนอย่างไฮล์ดี้ คือ นาซีชั้นดี หรืออย่างนายทะเบียนนั่น คือ นาซีชั้นเลว ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะเพื่อนชั้นดีที่ว่านั่น อาจจะมีพิษมีภัยต่อตัวได้ง่ายๆ ส่วนชนิดที่คิดว่าแย่แสนแย่นั้นอาจจะช่วยชีวิตเราได้อย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้ สามีหมาดๆใหม่ๆของฉันนั้นเล่า ก็ยังแยกชนิดไม่ค่อยถูกเช่นกัน บางทีเขาก็ดูเหมือนกับเป็นนักลุยแสวงโชค บางทีก็ดูเหมือนคนที่คอยคิดแต่เรื่องฝันเฟื่อง เพ้อเจ้อไปได้เรื่อยๆ อย่างในคืนวันแต่งงาน ขณะที่ฉันกำลังยืนล้างจานอยู่นั้น เขาเดินเข้ามาโอบจากข้างหลัง ใช้มือสัมผัสเบาๆไปที่บริเวณช่วงท้อง และบอกอย่างมั่นใจว่า "ลูกจะต้องเป็นผู้ชายแน่ๆเลย ผมจะตั้งชื่อให้เขาว่ เคล้าส์ (Klaus)" เขาเคยพูดเสมอว่า เลือดยิวนั้นมักจะแรงกว่าเลือดของมนุษย์สายพันธ์อื่นๆ และไม่ว่าจะผสมกับอะไรก็จะโดดเด่นนำหน้าเสมอ ข้อความทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลโปรปะกันดาของนาซีล้วนๆ แต่ เวอร์เน่อร์ได้หลงเชื่อตามอย่างหมดใจ และตราบใดที่ ลูกที่ออกมาเป็น"ผู้ชาย"ตามสั่งแล้วละก้อ เลือดยิวหรือไม่ยิว เขารับได้ทั้งนั้น (เขาว่า) วันที่ไปตรวจสุขภาพครรภ์..หมอถึงกับส่ายหน้าหลังจากที่ตรวจเสร็จ เพราะอาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วที่ฉันเคยเป็นมาก่อน และลืมไปด้วยซ้ำว่าตัวเองนั้นมีโรคประจำตัวอยู่ หมอบอกว่า "เสี่ยงมากเลยนะ คุณ หัวใจคุณไม่ค่อยดี ไม่ควรที่จะมีครรภ์ แต่..ในเมื่อคุณก็ท้องขึ้นมาแล้ว ผมจะจัดยาให้ไปบำรุง และ จะเขียนใบลาให้หยุดทำงานไปเลย จนกว่าจะคลอด" ใครต่อใครคงคิดว่า นั่นคือข่าวดี..แต่ไม่ใช่เลย เพราะนั่นหมายถึงเรื่องบัตรปันส่วนและเงินค่าขนมที่ได้รับจากสภากาชาดก็ต้องหดหายไปด้วย และฉันจะกินอะไรเข้าไปในระยะหกเดือนที่ต้องคอยนั่น บัตรปันส่วนที่ว่านั่น หมายถึงว่าฉันจะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไปแสดง และ บัตรนั้น..ต้องไปขอกับสำนักงานที่เกี่ยวข้อง (ตอนนั้นคือ กระทรวงเศรษฐการ) ฉันจะไปขอรับได้อย่างไรที่จะรอดหูรอดตาเกสตาโปไปได้ แต่เพื่อลูก...ฉันไม่มีทางเลือกอีกแล้ว นอกจากต้องภาวนาขอพรจากพระเจ้า..ขอให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีเถิด นี่คือครั้งแรกที่ฉันได้บรรจงแต่งกายให้ดูดี ภูมิฐานให้มากที่สุด ต่อการไปปรากฏร่างที่สำนักงานทะเบียนบัตร ที่ต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หญิงร่างอ้วนกลม หลักฐานที่ฉันได้ส่งให้ นั่นคือ บัตรเจ้าหน้าที่ของสภากาชาด และจดหมายจากแพทย์ ในการยื่นความจำนงขอบัตรปันส่วนอาหาร หล่อนคนนั้นได้ไล่หาชื่อฉันไป..ตามทะเบียนราษฏร์ที่ซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ ซ้ำแล้วซ้ำอีกสามสี่ครั้ง ก่อนที่จะเงยหน้าบอกว่า "ไม่มีในนี้นี่" "คงต้องอยู่ที่ไหนสักแห่งละค่ะ" ฉันยิ้มๆน้อยๆ ทำท่าทางมั่นใจ และ ใสซื่อ เจ้าหน้าที่หญิงคนนั้น ทำท่าเหมือนนึกขึ้นมาได้ พูดว่า.. "เออ.จริงซินะ ยังมีบัญชีรายชื่อของคนที่ย้ายมาใหม่อีกเล่มหนึ่ง ยังไม่ได้เอามาเข้าเล่มรวมกัน คงต้องอยู่ในนั้นแน่ๆ" ว่าแล้ว เธอรีบกระวีกระวาดไปค้นดูในบัญชีอื่นทันที ค้นแล้ว..ค้นอีก..ก็ยังไม่พบ ฉันเริ่มสังเกตเห็นไรเหงื่อเม็ดเล็กๆที่ผุดขึ้นมาประปรายตามใบหน้าของเธอ ด้วยอาการที่หายใจไม่ทั่วท้อง..จิตใจที่ประหวั่นอย่างไม่แพ้กัน หากแต่ยังต้องคงสีหน้าให้ราบเรียบ ไม่ให้เป็นพิรุธ "บางทีลองดูบัตรของสามีดิฉันซิคะ อยู่ด้วยกันหรือเปล่า?" ฉันฝืนใจให้ความเห็น ซึ่งแน่นอนว่า เธอพบกับบัตรของเวอร์เน่อร์ และ ถ้าเดาไม่ผิด เธอคงต้องมีความคิดว่า เจ้าหน้าที่อาสากาชาด..ภรรยาของนายช่างโรงงานเครื่องบิน สมาชิกพรรคนาซี จะไม่มีบัตรประจำตัวได้อย่างไร เธอจึงพูดว่า.."สงสัยอะไรคงต้องผิดพลาดแน่ๆเลย..เอางี้..ในฐานะที่บัตรของคุณอาจสลับที่ไปที่ไหนไม่รู้นั้น ฉันจะออกบัตรอีกใบให้ก็แล้วกัน" ว่าแล้ว..บัตรใบใหม่ ในนามว่า Christina Maria Margarethe Vetter ก็ลอยเข้ามาสู่ฉันอย่างไม่คาดฝัน ซึ่ง..ฉันได้พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดอาการลิงโลดออกมา เพราะ บัตรใบนี้ใบเดียว จะทำให้ฉันและลูกอยู่รอดไปจากการอดอยากและ จากเงื้อมมือของเกสตาโปโดยเด็ดขาด ในเดือนเมษายน เวอร์เน่อร์ต้องออกเดินทางบ่อยๆ เนื่องจากต้องไปหาวัสดุในการประกอบเครื่องบิน เพราะ เส้นทางลำเลียงวัตถุดิบที่เคยส่งมาให้เสมอนั้น ถูกขัดขวางโดยการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร ทุกครั้งที่เขากลับถึงบ้าน ก็มักอยู่ในสภาพเหนื่อยอ่อน หัวถึงหมอนก็หลับเป็นตาย ฉันเริ่มรู้สึกเจ็บท้องจี๊ดๆ ลุกขึ้นเดินไปรอบๆห้อง พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ปลุกเขา จนเวลาล่วงเลยไปกว่าห้าทุ่ม เห็นทีจะทนไม่ไหว จึงต้องไปกระซิบบอกเขาเบาๆว่า "สงสัยจะคลอดแล้วละ..เจ็บท้อง" "เออ..เหรอ..เดี๋ยวนะจะอ่านคู่มือให้ฟัง เออ..เขาว่า อย่างแรกเลย ความเจ็บปวดจะเริ่มแผ่กระจายอย่างช้าๆ และทารกจะเริ่มเปลี่ยนอิริยาบท.." "โอย..รู้แล้ว เรื่องนั้นน่ะ ไม่ต้องมาสาธยาย..รีบไปโรงพยาบาลกันเถอะ" เราสองคนพากันเดินดุ่มๆไปบนถนนสายเปลี่ยวแห่งบรันเดนเบอร์ค ฉันต้องเกาะแขนเขาไว้ตลอดเวลา และกว่าจะถึงโรงพยาบาลเราใช้เวลาร่วมชั่วโมง เพราะฉันค่อยๆก้าวไปอย่างต้วมเตี้ยม ระมัดระวังอย่างที่สุด เมื่อถึง..ฉันได้ถูกต้อนไปรวมกับคนไข้ใกล้คลอดรายอื่นๆในห้องรวมห้องใหญ่..ฉันได้ยินเสียงแพทย์พูดว่า "คอยสักพัก ค่อยให้ยากล่อมประสาท" ตอนนั้น...ฉันกำลังพะวงอยู่กับอาการปวดจนแทบไม่ได้คิดตาม แต่สมองฉุกคิดถึงเรื่องการ"การเพ้อหลังคลอด"ขึ้นมาได้ ที่เคยได้ยินมาจากการที่ทำงานเป็นอาสากาชาด ว่า..ทุกอย่างในจิตใต้สำนึกจะออกมาหมด แล้ว..ในสภาพอย่างฉัน..คำว่า ยิว..คริสตัล..หรือ บทสวดฮีบรู อาจจะออกมาเป็นชุดก็ได้ใครจะไปรู้ และถ้าพลาด..หมายถึงอันตรายจะมาสู่เพื่อน..และบุคคลผู้มีพระคุณอีกหลายต่อหลายคน ฉันจะปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งที่ผุดคิดขึ้นมาได้คือ ในโบราณกาลผู้หญิงเราก็ไม่เคยใช้ยาช่วยคลอด ทุกคนคลอดกันเองแบบธรรมชาติทั้งนั้น ทำไม..ฉันจึงจะเผชิญหน้ากับมันไม่ได้เล่า? เมื่อนางพยาบาลเดินเข้ามาพร้อมกับเข็มฉีดยาในมือ ฉันรีบปฏิเสธเสียงหลงว่า "ไม่ต้องค่ะ..ดิฉันจะคลอดแบบธรรมชาติ" นางพยาบาลคนนั้นไม่ได้โต้แย้งอะไร เธอเดินกลับไปพร้อมกับเข็มฉีดยานั่นอย่างไม่แคร์ เพราะตราบใดที่ฉันไม่แหกปากตะโกนโวยวาย พวกเธอก็ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว และ..นั่นคือบทเรียนที่ได้สอนให้ฉันได้รู้ซึ้งว่า ตลอดเวลาของการทนทรมานที่เล่ามาทั้งหมดในชีวิต ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่อยากตายมากที่สุด เท่ากับครั้งนี้.. ในที่สุด..เช้าของวันอาทิตย์ที่ตรงกับวันอีสเตอร์ 9 เมษายน 1944 ลูกได้คลอดออกมาอย่างปลอดภัย เธอเป็นลูกสาวที่มีหน้าตาน่ารัก จิ้มลิ้มไปหมด น้ำตาที่ไหลพรากด้วยความปิตินั้น บังเกิดขึ้นทันทีที่ได้เห็นหน้าลูกเป็นครั้งแรก ฉันได้จูบพรมไปที่นิ้วมือนิ้วเท้าน้อยๆอย่างสุดแสนรักใคร่ แต่ปากก็บ่นกับนางพยาบาลว่า "สามีของฉันอยากได้ลูกชายค่ะ คงผิดหวังทีเดียวที่ทราบ" "แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะคุณนาย..จะให้ยัดกลับไปใหม่ม๊ะล่ะ..เผื่อว่าจะเปลี่ยนเพศได้ นี่..บอกกับสามีของคุณนะว่า การมีลูกที่แข็งแรง สมประกอบนั้นถือว่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พระเจ้าได้ประทานมาให้แล้ว" และเธอต่อด้วยว่า "อ้อ..อย่าลืมบอกเขาด้วยล่ะ ว่าผู้ชายต่างหากที่จะประกาศิตในเรื่องเพศของลูกได้จะให้เป็นชายหรือหญิง ถ้าไม่ได้ดังใจละก้อ มันเป็นความผิดของเขาคนเดียว" ฉันมองวงหน้าของทารกในอ้อมกอดด้วยความชื่นใจ.. แต่แล้ว..เสียงหวอเตือนภัยได้ก้องกังวานขึ้น ฝูงบินทิ้งระเบิดของอเมริกาที่แห่กันมาแบบตาข่ายคลุม ที่ไม่จำกัดว่าจะทิ้งทุ่นแค่ที่เบอร์ลิน หรือ พ๊อตดัมเท่านั้น เพราะคราวนี้มันเลยเถิดมาถึงที่ บรันเดนเบอร์คด้วย ความโกลาหลวุ่นวายได้บังเกิด คนที่เดินได้ต่างก็วิ่งแข่งกันไปที่หลุมหลบภัย ที่เหลือ ก็จะถูกเข็นทั้งเตียงไปเรียงรวมกันอยู่ในใต้ถุนตึกอับๆ โชคดีที่ตอนนั้นลูกได้อยู่ในอ้อมอกของฉันที่ได้กอดเธอไว้อย่างแนบแน่น ทุกคนนิ่งเงียบอยู่ในความมืด..ด้วยจิตใจที่ประหวั่นพรั่นพรึง ในความเงียบนั้น ฉันได้แต่นึกก่นด่าตัวเองว่า.."อีบ้าเอ๋ย..ทำไมถึงสิ้นคิด โง่เง่าอย่างนี้ ทำไมถึงได้ตัดสินใจมีลูกออกมาให้เผชิญหน้ากับความชั่วร้ายอย่างนี้ ดูซิ ถ้าไม่ตายเพราะโดนระเบิด เป็นจุลก็อาจตายเพราะนาซีมาลากตัวไปฆ่าก็ได้ ตัวเราตายนั่นก็ไม่เท่าไหร่ แต่ใครเล่าจะเลี้ยงดูแม่หนูต่อไป.." ฉันคิดโทษตัวเองอย่างไม่เป็นส่ำ กว่าเวอร์เน่อร์จะผ่าการติดขัดของสภาพถนนมาถึงโรงพยาบาลได้ก็อย่างลำบากยากเย็น เขาวิ่งตามหาฉันและลูกอย่างคนขวัญเสีย "กรีท..กรีท..คุณอยู่ไหน??" ฉันรีบตะโกนขานรับด้วยเสียงอันดัง..แต่มันคงไม่ได้ดังพอ เพราะเขาผ่านกลับไปมาถึงสองสามครั้งกว่าจะพบ จนเมื่อมาประจันหน้า..ฉันรู้สึกถึงความห่วงใยที่เขามีให้อย่างที่สุด หน้าตาของเขายุ่งยิ่ง เหนื่อยอ่อนเหมือนกับคนที่อดนอนมาทั้งคืน ผมเผ้ายุ่งเหยิง แต่แววตานั้นสดใสนัก แต่เมื่อเขาได้อุ้มลูกขึ้นมา..พบว่าเป็นผู้หญิง..ท่าทีเขาเปลี่ยนไปอย่างทันควัน เสียงแหวแว๊ดดังขึ้นมาทันทีว่า "นี่ไง..นี่มันเป็นความคิดของคุณคนเดียวเลยนะนี่ที่อยากจะท้องกะเขานัก..แล้วไงล่ะ..เชอะได้ลูกสาว ลูกสาวอีกแล้ว ตูจะบ้า " ท่าทางเขาขัดเคือง แววตากราดเกรี้ยว ความชุ่มชื่นหัวใจที่ฉันมีอย่างหลั่งล้นเมื่อครู่ก่อน..เหือดหายมลายไปสิ้น ที่แท้เขาก็คือ ไอ้ผู้ชายนาซีธรรมดาๆนี่เอง จะไปหวังอะไรกันหนักหนากับมนุษย์ในลัทธิบ้าๆนี่..ฉันหมดความอดทน ตะโกนกลับไปลั่นว่า "ก็ไม่ต้องมายุ่งซิ..นี่มันลูกของฉัน..ลูกของฉันคนเดียวได้ยินไหม??" วันต่อมา..จดหมายแสดงความเสียใจในมารยาททรามของเขาที่มีต่อฉันก็ส่งมาถึงมือ โดยที่เขาอาจลืมไปว่า ในช่วงของความเจ็บปวดเพราะสาเหตุจากการทำร้ายจิตใจกันนั้น มันอาจหายไปได้ โดยการไม่นำมาคิดหนึ่ง การให้อภัยหนึ่ง หากแต่ มันก็เปรียบได้กับการแตกร้าวทำให้เกิดการเปราะบางอย่างอันตราย เพราะ มันจะอยู่ที่นั่น ตรงนั้น ไม่ไปไหน รอเพียงการกระทบซ้ำ ..เพื่อที่จะแตกหักไปเป็นเสี่ยงๆ แต่ในสถานะอย่างฉันนั้น..ทำอะไรไปไม่ได้มากกว่าการลืม เพราะเขาคือเกราะกำบังให้พ้นภัย อีกทั้งเขาคือ พ่อของลูกเพิ่มขึ้นมาอีกสถานะหนึ่ง และ เมื่อเขามางอนง้อ..ฉันก็ต้องทำใจให้ยอมรับสภาพ แต่ไม่วายที่จะย้ำเตือนว่า "รอหน่อยเถอะ อีกหน่อยคุณก็จะหลง เธอออกน่ารักอย่างนั้น" เขายิ้มนิดๆ ทำท่าเหมือนกับจะอ้อล้อกับทารก แต่อยู่ในขั้นตอนของการพยายาม แต่..ลึกๆแล้วคือความผิดหวังอย่างมากมายจนปกปิดด้วยสีหน้าไม่มิด ฉันรีบฟื้นไข้ให้เร็วกว่าปรกติ เพราะไหนจะต้องกลับมาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านหุงหา ดูแลสามีที่ไม่ยอมหยิบจับอะไรอีก และได้ตั้งชื่อให้ลูกสาวว่า Angelika ซึ่งนำมาจากศิลปินสาว Angelika Kauffman ในยุคศตวรรษที่สิบแปด เพื่อนหญิงรุ่นเดียวของเกอเธ และเป็นศิลปินที่เวอร์เน่อร์ประทับใจในความสามารถ จากรูปภาพที่ขุนศึกเยอรมันมีชัยชนะเหนือกองทัพโรมัน ภาพนั้นได้ติดอยู่ที่ทำเนียบของรัฐบาล เพราะงานชิ้นนี้เธอเป็นที่ชื่นชอบของท่านผู้นำอีกด้วย (ในต่อๆมา..เอนเจลิกา ได้เปลี่ยนชื่อของตัวเองมาเป็น แอนเจล่า เพราะเธอชอบมากกว่า และในการเขียนต่อไปก็จะเขียนว่า แอนเจล่า) |
บทความทั้งหมด
|