อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม /กังต๊อก ตอน 33.ความลับของรุมเต็ก

ความลับของรุมเต็ก

 

..............

 

                เมื่อคืนฝนตกตลอดคืนและต่อเนื่องมาถึงเช้านี้ช่างสมกับเป็นหน้าฝนของเมืองภูเขาจริงๆ โดยสภาพของภูมิประเทศของสิกขิมที่อยู่บนที่สูงมากแต่ไม่ถึงขั้นสูงสุดทำให้มีสภาพอากาศที่เย็นสบายเป็นส่วนใหญ่แต่ในช่วงฤดูหนาวคนที่มาจากที่ลุ่มอย่างฉันคงเดาได้อย่างเดียวว่าน่าจะหนาวสุดขั้วหัวใจ

 

                โดยที่ วิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มีหลักฐานในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นอยู่มากโดยเฉพาะวัดวาอารามที่อลังการตามรูปแบบของทิเบตจะมีอยู่หลายแห่ง ดังนั้น สำหรับหน้าฝนซึ่งกำลังมีละอองฝนเบาบางโปรยปรายลงมาในเช้าวันนี้ เราสามคนจึงตัดสินใจไปเที่ยววัด นั่นคือวัดรุมเต็ก (Rumtek Monastery) เป็นวัดทิเบตที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่แบบดั้งเดิมในสิกขิม ผู้คนล่ำลือว่าสวยงามนักวัดนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 24 กิโลเมตร ไม่ใกล้ไม่ไกลน่าจะกลับมาเที่ยวในตัวเมืองต่อได้อีกในช่วงบ่าย

 

           เราไปขึ้นรถที่คิวรถซึ่งไม่ใช่ที่เดียวกับคิวรถที่ฉันมาถึงเมื่อวานนี้ ที่นี่บริเวณกว้างกว่าเป็นเหมือนไหล่เขาที่ถูกปรับสภาพให้เป็นลานจอดรถซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าย่านการค้าและที่พักของเราแต่ก็เดินลงไปถึงได้ไม่ไกล

 

                รถไต่ไปตามเนินเขาสองข้างทางผ่านตึกรามบ้านช่องที่เกาะอยู่บนไหล่เขาสลับกับป่าไม้ ไม่นานเราก็มาถึงเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดรุมเต็กฝนยังคงโปรยปรายละอองลงมาอย่างสม่ำเสมอแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอันใดในความรู้สึกของพวกเรา

 

                 เราต้องเดินจากเชิงเขาขึ้นไประยะหนึ่งก่อนจึงจะถึงตัววัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ระหว่างทางเดินซ้ายมือเป็นซุ้มกงล้ออธิษฐานเรียงยาวขึ้นไปเช่นเดียวกับวัดทิเบตทั่วๆไป พอได้เหนื่อยกันทั่วเราก็ขึ้นไปถึงหน้าวัด

 

                 มองย้อนกลับไปไม่ไกลหญิงชราในชุดพื้นเมืองของทิเบตที่ดูรุ่มร่ามแต่ให้ความอบอุ่นได้ดี เราเดินแซงแกขึ้นมาไม่นาน ตอนนี้แกเดินเกือบถึงจุดหมายแล้วแม้จะด้วยอาการเหนื่อยหอบแต่ก็สำรวม ปากแกขมุบขมิบมีสมาธิกับการนับลูกประคำที่ร้อยเป็นสร้อยในมือ แม้อาการแกจะเชื่องช้าแต่ระยะทางของเนินเขาที่แม่เฒ่าป่ายปีนขึ้นมานั้นบ่งบอกได้ถึงร่างกายที่แข็งแกร่งและการมีสมาธิที่มั่นคงเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อสถานที่ที่อยู่เบื้องหน้า

 

                 สิ่งที่แม่เฒ่ากระทำอยู่ตอนนี้บางคนอาจลงความเห็นว่าเป็นความเชื่อที่งมงาย แต่ที่ประจักษ์ต่อสายตาและรู้สึกได้ของฉันขณะนี้ก็คือสมาธิและความมานะพยายามของแม่เฒ่าที่เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาอันแก่กล้านั้น ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวแกอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือร่างกายที่แข็งแรงและการมีจิตที่มั่นคงนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

 

 

              ที่บริเวณประตูทางเข้าวัดมีทหารหลายนายเฝ้าดูแลอย่างเข้ม และขอตรวจพาสปอร์ตของพวกเรา วัดนี้เดิมเคยเป็นวัดหลักของนิกายกากยู (Kagyu)หรือลามะนิกายหมวกดำแห่งสิกขิม  สร้างในศตวรรษที่ 16 โดยผู้นำทางศาสนาท่านการ์มาปา วังชุก ดอร์เจ (Karmapa Wangchuk Dorje) องค์ที่ 9      

 

                ในปี 1959 (พ.ศ.2502) การ์มาปาองค์ที่ 16  ได้หนีจากทิเบตมาถึงสิกขิม สมัยนั้นวัดนี้อยู่ในสภาพปรักหักพังมากท่านไม่ยอมไปสร้างวัดใหม่ กลับบูรณะวัดรุมเต็กเพราะท่านเห็นว่าสถานที่ตั้งมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมงคล (ฮวงจุ้ยดี) เช่น ด้านหน้ามีลำธารไหลผ่าน ด้านหลังมีแนวเทือกเขาหิมะ เป็นต้น

 

                 ด้วยความอุปถัมภ์ของราชวงศ์สิกขิมและรัฐบาลอินเดียทำให้วัดนี้กลายเป็นที่ลี้ภัยของการ์มาปาที่ 16  ท่านใช้เวลา 4 ปีในการบูรณะวัดจนเสร็จสมบูรณ์ มีการขนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาจากวัดเซอพู (Tsurphu) ในทิเบตมาประดิษฐานไว้ที่นี่ และในวันปีใหม่ของทิเบตเมื่อปี 1966 (พ.ศ.2509) ก็มีการสถาปนาวัดนี้ให้เป็นศูนย์กลางธรรมจักร (Dharmachakra Center )  ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมของหมู่

ลามะ

 

         วัดนี้ประกอบด้วยอารามที่สวยงามหลายหลัง ตัวอารามถูกแต่งแต้มด้วยลวดลายและสีสันสดใสตามรูปแบบของทิเบต หลังคามองดูเรียงเหลื่อมขึ้นไปบนไหล่เขาต้องกับแสงอาทิตย์ดูอร่ามตา บริเวณใกล้ๆกันมีทั้งหอสวดมนต์ กุฏิ และสถาบันการศึกษาทางพุทธศาสนาชั้นสูงที่ชื่อ Karma Shri Nalanda Institute for Higher Buddhist Studies ซึ่งมีลามะเข้ามาศึกษาเรียนรู้หลายร้อยรูป 

 

     ลามะหนุ่มใจดีรูปหนึ่งได้เล่าประวัติความเป็นมาของวัดให้เราฟังแล้วนำเราเดินชมจุดสำคัญๆ เช่น เจดีย์ทอง(golden stupa) ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของท่านลามะกามาปาองค์ที่ 16 ผู้สร้างวัดนี้  และได้เล่าต่อไปถึงการกลับชาติมาเกิดของท่านลามะองค์นี้  โดยบอกว่าปัจจุบันท่านได้กลับชาติมาเกิดใหม่แล้วเป็นลามะรูปหนึ่งซึ่งขณะนี้พำนักอยู่ที่วัดในเมืองธรรมศาลาซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศอินเดียซึ่งเป็นวัดเดียวกับที่ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันได้พำนักอยู่ ทุกวันนี้ลามะรูปนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในสิกขิมด้วยเหตุผลทางการเมือง ลามะหนุ่มเล่าด้วยสีหน้าเจือแววรันทด

 

     ดังนั้นที่วัดนี้จึงมีแต่รูปภาพของท่านลามะองค์นั้นไว้เป็นตัวแทนเพื่อการเคารพบูชา และภาพนี้เองพลันทำให้ฉันนึกได้ว่าเป็นภาพเดียวกันกับภาพของลามะที่อยู่ในแผ่นกระดาษหลายแผ่นที่แปะติดไว้เป็นระยะๆบนผนังห้องชั้นล่างของอาคารที่เราเดินผ่านมา ข้อความในนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ลามะในรูปภาพเข้ามาพำนักอยู่ในวัดนี้ได้ ซึ่งครั้งแรกที่ได้อ่านฉันเองก็ยังงงๆอยู่ว่ามันคืออะไร...และทำไมลามะท่านนี้จึงจะอยู่ในวัดนี้ไม่ได้....แต่ตอนนี้เริ่มกระจ่างแล้ว... มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า...

                      และเหมือนอยากให้โลกได้รับรู้ไปด้วย สุดท้ายลามะหนุ่มก็ได้แย้มความจริงในเรื่องนี้ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังว่า การที่ท่านลามะรูปนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสิกขิมได้ก็เพราะมีบุคคลสำคัญในวงการเมืองคนหนึ่งของสิกขิมที่อาจเสียผลประโยชน์กับการเข้ามาอยู่ในสิกขิมของท่าน จึงได้พยายามกีดขวางทุกวิถีทางที่จะไม่ให้รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ลามะท่านนี้เข้ามาในสิกขิมได้....เรื่องน่าอดสูแบบนี้แม้แต่วงการศาสนาก็ยังหนีไม่พ้น

 

      ระหว่างที่เดินชมสถานที่จะเห็นมีทหารถือปืนยืนอยู่ตามจุดต่างๆหลายแห่งฉันอดถามด้วยความสงสัยไม่ได้ว่าทำไมต้องมีทหารมาดูแลวัดนี้มากมายขนาดนั้น ลามะหนุ่มให้คำตอบที่ไม่กระจ่างนัก

 

           “ที่นี่ถือเป็นจุดสำคัญจำเป็นต้องมีทหารมาดูแลเพื่อความปลอดภัย...”

                  จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉันอดเดาเพื่อเอาตื่นเต้นเข้าว่าไม่ได้.... ‘ คงเป็นการป้องกันการแอบปลอมตัวเข้ามาอยู่ในวัดของท่านลามะผู้อดีตชาติเคยพำนักและเป็นใหญ่อยู่ที่นี่มาก่อนนั่นเอง..มั๊ง’

 

     เราเดินตามลามะหนุ่มขึ้นบันไดไปบนอาคารหลังใหญ่ซึ่งมีหลายชั้นผ่านลามะน้อยๆท่าทีซุกซน 2-3 รูปที่มองเราด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็น แต่ละชั้นของอาคารมีทั้งที่ใช้เป็นชั้นเรียน ห้องสวดมนต์   และห้องที่ใช้สอยในวาระสำคัญ ห้องหนึ่งเราได้เข้าไปไหว้พระพุทธรูป และภาพดาไลลามะหลายองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงองค์ปัจจุบัน รวมทั้งลามะองค์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับที่นี่ด้วย จากนั้นเราจึงบอกลา

 

              เราออกมาทานมื้อกลางวันและเสร็จเอาเกือบบ่ายสองโมง รถเข้าเมืองเที่ยวสุดท้ายของที่นี่ก็คือบ่ายสองโมง ดังนั้น เราจึงไม่สามารถไปเที่ยวสวนรุกขชาติเยาวหราลเนห์รูต่อตามที่ตั้งใจแต่แรกได้ พอถึงในเมืองอากาศก็ดีฝนหยุดตกเราเลยไปหาร้านแลกเงินต่อกว่าจะเสร็จเรื่องแลกเงินก็ไปขึ้นกระเช้าลอยฟ้าชมเมืองกังต็อกไม่ทัน เลยได้แต่เดินเที่ยวชมตลาดในเมืองต่อ

 

                เมืองนี้มองไปทางไหนเจอแต่ตำรวจกับทหาร ไม่ว่าจะตำรวจหญิงหรือชายเดินกันขวักไขว่ให้ทั่วมีชุดเครื่องแบบตำรวจหรือว่าทหาร(ชักไม่แน่ใจ) แบบหนึ่งที่ฉันติดใจ เพราะดูแล้วเทห์มากโดยเฉพาะที่หมวกทรงสูงลวดลายสวย..... แต่ที่เทห์กว่านั้นแถมนึกถึงทีไรก็ชื่นใจไม่หายนั่นก็คือภาพลักษณ์ของเมืองไทยดูดีมากในสายตาของคนที่นี่ พอเขารู้ว่าเราเป็นคนไทยต่างก็ยิ้มแย้มพูดคุยกับเราด้วยความชื่นชมในประเทศของเรา....จะยกเว้นก็แต่พวกบริษัททัวร์เท่านั้นที่คอยจ้องจะเอาเปรียบเราตลอดเวลาเมื่อมีโอกาส....

 

......................................

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




Create Date : 25 พฤษภาคม 2555
Last Update : 9 มิถุนายน 2555 21:53:57 น.
Counter : 779 Pageviews.

0 comments
ทริปอเมริกา #9 - แวะไปส่องไทยทาวน์#2 ฟ้าใสทะเลคราม
(1 ก.ย. 2567 22:31:57 น.)
review ไปดู concert ที่ ญป ครั้งแรก Tonkaow20
(31 ส.ค. 2567 06:59:07 น.)
ทนายอ้วนชวนเที่ยวใกล้ๆบ้าน - วัดชลอ บางกรวย นนทบุรี ทนายอ้วน
(29 ส.ค. 2567 14:46:42 น.)
A perfect day for...Buffet' babyL'
(27 ส.ค. 2567 00:10:11 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Tibet3.BlogGang.com

SmileIce
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด