อินเดีย...เดินเดี่ยวสู่สิกขิม /กังต๊อก ตอน 31.สู่สิกขิม สู่..สิกขิม
.......
นับตั้งแต่มาอยู่บนผืนแผ่นดินอินเดีย นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันนั่งรถโดยสารออกจากตัวเมืองแล้วมีผู้โดยสารรวมทั้งฉันเองด้วยเพียงห้าคน นับว่าวันนี้ฉันได้นั่งสบายๆคนเดียวเคียงข้างคนขับและฉันก็เป็นหนึ่งหญิง(แก่)ในรถซะด้วย
ความจริงตอนแรกที่รถออกจากคิวรถเมืองนามชิ มีผู้โดยสารเพียงสามคนทั้งๆที่รถออกช้ากว่ากำหนดตั้งสิบกว่านาที ที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะเขาหวังจะได้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแต่ก็เปล่า... และหลังจากที่รถวิ่งซอกแซกไปตามไหล่เขาผ่านบ้านคนบ้างเป็นระยะทางไกลพอควรซึ่งฉันคิดว่าน่าจะออกนอกเมืองนามชิไปแล้วแต่พอมาผ่านคิวรถเดิมอีกครั้งนี่แหละถึงได้รู้ว่าที่วิ่งไปนั่นคุณท่านพาตระเวนหาผู้โดยสารต่างหาก ซึ่งก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกแค่สองคน
คราวนี้รถวิ่งออกนอกเมืองผ่านทิวไม้และไหล่เขามาได้ระยะหนึ่งก็ถึงสะพานข้ามแม่น้ำทีสตาของเมืองเมลลี่(Melli) รถเคลื่อนตัวไปช้าๆบนสะพานเหนือลำน้ำที่เชี่ยวกรากและขุ่นข้น พอข้ามถึงอีกฝั่งก็จอดตรงหน้าอาคารชั้นเดียวใกล้ตีนสะพาน คนขับสะกิดให้ฉันเอาพาสปอร์ตลงไปตรวจเช็คประทับตรา ใช่แล้ว...นี่คือจุดตรวจคนเข้าเมืองทางใต้ของรัฐสิกขิม ฉันเป็นคนเดียวที่ต้องยื่นพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ตรวจ นี่แสดงว่าฉันได้เข้ามาในเขตรัฐสิกขิมอย่างเป็นทางการแล้ว มีหญิงสติไม่สมประกอบคนหนึ่งเดินมาหาแล้วยื่นมือขอเงินฉันส่งให้ไปสิบรูปีเธอยิ้มและหัวเราะชอบอกชอบใจอย่างเปิดเผย
ระหว่างทางฝนยังคงตกตลอดและทิวทัศน์ข้างทางก็ยังสวยจับใจทั้งทะเลภูเขาที่มีเมฆหมอกขาวสะอาดคลุมทับ แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวไปตามซอกเขาขนานไปกับทางรถ รวมไปถึงน้ำตกที่ทิ้งตัวอย่างแรงแข่งกับสายฝนอยู่ริมทาง
ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งเรียนหนังสือชั้นมัธยมปลาย สิกขิมยังคงมีฐานะเป็นประเทศเอกราช ฉันจำต้องท่องชื่อเมืองกังต๊อก(Gangtok)ซึ่งเป็นเมืองหลวงไว้เผื่อข้อสอบจะออก ตอนนั้นรู้สึกว่าประเทศเล็กๆชื่อแปลกๆนี้ช่างอยู่ห่างไกลตัวเราซะเหลือเกินนึกภาพไม่ออกว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่บัดนี้ประเทศดังกล่าวซึ่งอดีตเคยอยู่อย่างสงบได้ด้วยตัวเองเป็นเวลายาวนานกลับไม่อาจที่จะดำรงสถานภาพให้คงเป็นประเทศเอกราชได้ดังเดิมแล้ว
ในอดีตสิกขิม ดาร์จีลิ่ง และกาลิมปง ล้วนแล้วแต่เป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองโดยสิกขิมเป็นศูนย์กลางของดินแดนแถบนี้และมีการปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์นัมเกล(Numgyal) ที่เรียกว่าช็อกยัล(Chokgyal) ยาวนานกว่า 300 ปี ช่วงหนึ่งของอดีตสิกขิมเคยทั้งมีอำนาจด้วยชนะการสู้รบและอ่อนแอลงจนถูกรุกราน ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เนปาล จีน ภูฏาน และประเทศนักล่าอาณานิคมจากแดนไกลเช่นอังกฤษมาแล้ว ซึ่งก็มีผลทำให้สิกขิมได้เคยครอบครองดาร์จีลิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็มีอันต้อง เสียดาร์จีลิ่งให้กับอังกฤษเพื่อแลกกับความอยู่รอดของประเทศ และในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็มีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้เกือบทั้งหมดซึ่งก็แน่นอนรวมทั้งมีอำนาจเหนืออินเดียด้วย และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการต่อต้านอังกฤษของรัฐต่างๆในดินแดนแถบนี้
หลังจากประเทศอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947( พ.ศ.2490 ) ในเวลาต่อมาก็ได้สถาปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐอินเดีย และการได้รับเอกราชของอินเดียก็มีผลกระทบต่อการเมืองในดินแดนทางตอนเหนือให้เปลี่ยนแปลงไปโดยกาลิมปงและ ดาร์จีลิ่งถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเบงกอลตะวันตก(
การที่รัฐสภาสิกขิมลงมติเช่นนั้นก็เป็นผลมาจากการทำประชาพิจารณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกที่จะผนวกสิกขิมเข้ากับอินเดีย เหตุหนึ่งก็ด้วยความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อเพื่อนบ้านผู้ทรงอานุภาพซึ่งก็คือจีนนั่นเอง เพราะเกรงจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับที่ทิเบตได้ถูกกระทำจากจีนมาแล้วและนี่ก็เป็นการสิ้นสุดการปกครองโดยระบอบกษัตริย์ของสิกขิมโดยกังต็อกยังคงเป็นเมืองหลวงของรัฐเช่นเดิม
รถยังคงวิ่งไปบนเส้นทางคดเคี้ยวปีนป่ายขึ้น-ลงไปตามเขาสูง บางช่วงก็แทรกซอนไปตามซอกเขาซึ่งขนานไปกับแม่น้ำทีสตาที่ไหลแรงและขุ่นข้น มีช่วงหนึ่งที่น้ำกลายเป็นโคลนสีดำข้นคลั่กเคลื่อนตัวอย่างแรงและเสียงดังเหมือนทะลุทะลวงดินหินลงมาจากที่สูงไกล ฉันรู้สึกตลึงกับสิ่งที่เห็น... มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์จริงๆ!
ผิวถนนแม้จะอยู่กลางเขาลึกแต่สภาพก็เรียบและดูดีกว่าเส้นทางกาลิมปง นามชิ ความงามจากข้างทางยังคงมีตลอด ช่วงหนึ่งรถไต่ขึ้นไปอยู่ ณ จุดสูงมากจนเบื้องหน้าเห็นยอดเขาสูงต่ำสุดลูกหูลูกตานับไม่ถ้วน มันโผล่ขึ้นมาเป็นหย่อมๆเหนือเมฆหมอกสีขาวที่คลุมไปทั่ว ภาพข้างหน้าฉันไม่เพียงแต่จะสัมผัสได้ด้วยสายตาแต่ยังเหมือนจะรู้สึกได้ถึงความนุ่มเย็นของปุยเมฆและหมอกขาว ชวนให้นึกถึงปุยขาวของน้ำแข็งใสซึ่งเกาะเป็นกลุ่มกอดกันในชามใบโตที่ขาดเพียงน้ำหวานสีแดงมาราดหน้าเท่านั้น
.....................................
|
บทความทั้งหมด
|