สุเทวบรรพต...ดอยศักดิ์สิทธิ์เหนือเมืองเชียงใหม่
สุเทวบรรพต...ดอยศักดิ์สิทธิ์เหนือเมืองเชียงใหม่

สลุงเงิน



แสงสีทองสะท้อนแสงตะวัน ดูวาววับระยับอยู่บนยอดดอยทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนมุมของเมืองเชียงใหม่ (แม้นว่าจะถูกตึกสูง และป้ายโฆษณาบดบังไปบ้าง หรือบางคราวก็มีควันไฟฝุ่นละอองปกคลุมห่อห้อมล้อมไว้ก็ตามที) จะเห็นองค์พระธาตุเรืองรองประหนึ่งเป็นสิ่งที่คอยปกป้อง คุ้มครองเมืองเชียงใหม่อยู่ตลอดมา
หากว่าเราเปรียบแม่ระมิงค์ เป็นแม่ แม่ที่คอยหล่อเลี้ยงสัพพะชีวิตในเมืองเชียงใหม่ และพ่อนั้นก็คงเป็นดอยสุเทพเบื้องตะวันตกของเมืองเป็นแม่นมั่น
พ่อ ผู้ก่อกำเนิดชีวิต ภายในเมือง ด้วยสิ่งที่พ่อมี
หากจะกล่าวถึงอายุอานามของดอยสุเทพแห่งนี้ นับว่า อยู่ยืนยาวมานานจนเทียบไม่ได้กับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุเพียง ๗๐๙ ปี (นับถึงปี ๒๕๔๘)เท่านั้น ด้วยอายุของดอยสุเทพ อาจอยู่ในช่วง ๓๕๐ – ๖๐๐ ล้านปีล่วงมา หากนับเป็นยุคก็คือตั้งแต่ยุคก่อนแคมเบรียนไล่มาจนถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัส เลยทีเดียว ด้วยมีทั้งหินแปร หินแกรนิต และหินตะกอน อยู่ยืนยงมาถึงปัจจุบัน ก็นั่นก็แสดงถึงความเก่าแก่ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตของโลกมานานนับ จนเป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ที่เอื้อต่อสรรพชีวิต
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบันนั้น พบว่าในอุทยานดอยสุเทพ – ปุยเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของเมือง จากการศึกษาของ J.F. Maxwell และ Stephen Elliott พบว่าพรรณไม้ต่าง ๆ ในอุทยานนี้มีอยู่ถึง ๒๒๔๗ สปีชีส์ และในจำนวนนี้เป็นพืชที่มีท่อลำเลียงอยู่ ๕๑๒ สปีชีส์ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีพืชที่ใช้ชื่อของดอยสุเทพ เป็นส่วนหนึ่งในชื่อวิทยาศาสตร์อีกด้วย แต่สะกดเป็น Sootep ซึ่งเป็นการสะกดแบบเก่าก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาเป็น Sutep แต่ว่าเมื่อใช้ชื่อดอยสุเทพแบบเก่าในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว จึงไม่สามารถที่จะนำมาแก้ไขในการเขียนตัวสะกดได้ ถึงอย่างไรก็หมายถึงดอยสุเทพอยู่ดี พืชเหล่านั้นก็ได้แก่ Gardenia sootepensis Hutch. (Golden Gardenia) ในกลุ่มเดียวกับดอกเก็ดถวาแต่ดอกที่แก่จะมีสีเหลืองทอง , Indigofera sootepensis Craib. หรือต้นคราม, Antidesma sootepense Craib. หรือต้นเหม้าสาย เป็นต้น เหล่านี้ ช่วยย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของดอยสุเทพเป็นอย่างยิ่ง



ดอยสุเทพอุดมไปด้วยพฤกษานานาพรรณ ที่เกาะกลุ่มขึ้นตามความลาดชันและความสูงของภูดอยนั้นทำให้ดอยสุเทพมีความหลากหลายของพืชพรรณและสภาพของป่า โดยไล่ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และป่าดิบชื้นตามลำดับความสูง ส่งผลให้ฝนตกตามยอดดอยในปริมาณที่มาก กอปรกับมีชั้นหินอุ้มน้ำกระจายอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ดอยสุเทพเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารอยู่หลายสายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นห้วยแก้ว ห้วยกู่ขาว ห้วยผาลาด ห้วยช่างเคี่ยน ฯลฯ อันถือว่าเป็นหนึ่งในมงคล ๗ ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยของพระญามังราย ที่ว่า
“อัน ๑ อยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุจฉุปัพพตะดอยสุเทพ ไหลลงมาเปนแม่น้ำ ไหลขึ้นไหนเหนือ แล้วไหลกระหวัดไพหนวันออก แล้วไหลไพใต้ แล้วไหลไพวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เปนนครคุณเกี้ยวกระหวัดเมือง อันนี้เปนไชมังคละถ้วน ๕ แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยลงมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า ไหลเมือวันออกแล้วไหลไพใต้เถียบข้างแม่พิง ได้ชื่อว่าแม่โทร ต่อเท้าบัดนี้แล”
และมงคลอีกอย่างหนึ่งสำหรับการสร้างเมืองเชียงใหม่ ที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ อันเป็นภูเขาที่อยู่ทางตะวันตก ทำให้พื้นที่ทางตะวันตกจะมีความลาดลงไปยังตะวันออก ที่ว่า “อัน ๑ ภูมิฐานเราจักตั้งเวียงนี้สูงวันตกหลิ่งมาวันออก เปนไชยมังคละอันถ้วน ๔ แล”
จากความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่า และสายน้ำนี้เอง ทำให้ดอยสุเทพเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนมาแต่โบราณ จากตำนานต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ผูกพันกับดอยสุเทพเป็นอย่างยิ่ง และชุมชนเหล่านั้นอาจจะเป็นชุมชนในระดับง่าย ๆ เช่นอยู่กับเป็นแบบชนเผ่าที่มีสัตว์ต่าง ๆ เป็นตัวแทน ด้วยหลายตำนานมักกล่าวถึง “คนในรอยตีนสัตว์” ดังตำนานสุวรรณคำแดงหรือเชียงใหม่ปางเดิม ในตอนที่เจ้าหลวงคำแดงเดินทางตามทรายคำจากเชียงดาวมาจนถึงดอยสุเทพ ก็พบกับคนอยู่ในรอยตีนสัตว์สามชนิด คือ ทรายคำ, แรด และช้าง อย่างละคู่ คือ ชายหนึ่ง และหญิงหนึ่ง รวมเป็น หกคน ซึ่งคนทั้งหกนี้ พระรสีเจ้าก็ได้ไขปัญหาไว้ว่า “หื้อท่านทั้งหลายได้เอาเขาเป็นอธิปัตติเป็นที่จั้งที่เพิ่งแด่เทอะ เหตุว่าคนอันเกิดอยู่ยังรอยตีนทรายคำนั้น เขาเกิดมาก็ย่อมหัวตำดิน ตีนมันตำหญ้า เขาเกิดหั้นเป็นหั้น หื้อได้ฟังคำเขานั้นเทอะ คนอันสูท่านทังหลายได้หันเกิดอยู่ในรอยตีนแรดนั้น คือดั่งเห็ดเกิดกับขอนนั้นแล มันหากเกิดหั้นเป็นหั้น อันสูได้คนในรอยตีนช้างนั้น พร่ำเป็นดั่งบอนเกิดกับห้วยนั้นแล” ซึ่งคำเหล่านี้ นั้นย่อมเป็นคำกล่าวที่ย้ำให้เห็นถึง ในดินแดนแห่งนี้เป็นสถานที่ของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมานานแล้วนั่นเอง
ต่อมาผู้คนก็มีสร้างเมือง “ล้านนา” ของเจ้าหลวงคำแดง สืบเช่นมาแต่ลูกของเจ้าหลวงคำแดงกับนางผมเฝือและนางสาดกว้าง จนเมืองล่ม แล้วก็สร้างเมืองใหม่อีกนามว่า “เมืองนารัฏฐะ” แล้วก็ล่มอีก และในที่สุดก็ร่นลงมาสร้างเวียงใหม่ในเชิงดอยด้านตะวันออกของดอยสุเทพ คือเวียงเจ็ดริน หรือ “เวียงเชฏฐปุรี” ต่อมาผู้คนมากขึ้น บ้านเมืองขยายตัวมากขึ้น ก็พากันไปสร้างเวียงใหม่อีกแห่งหนึ่งทางด้านตะวันออก คือ “เวียงสวนดอก” เมื่อมาสร้างเวียงใหม่แห่งนี้ ก็พบปัญหาเดียวกัน คือมีประชาการหนาแน่น จึงขยายเมืองไปทางทิศตะวันออกอีกครั้ง คือไปสร้างเมือง “นพบุรี” ตามตระกูลของลัวะทั้ง ๙ ตระกูลนั้นเอง ซึ่งว่ากันว่าเป็นบริเวณเดียวกับเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน
สำหรับตำนานนี้เป็นช่วงต้นของตำนานการเกิดเสาอินทขีล ซึ่งหากจะฟังเอา “ความจริง” ในตำนานนี้ ก็คงจะอยากเต็มที ว่าเมืองเหล่านั้นมีจริงหรือไม่มีจริงกันแน่ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับทำให้เราได้ทราบว่า “ดอยสุเทพ” เป็น “บ้าน” บ้านอันก่อเกิดชุมชนขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ของกลุ่มชนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่บนดอยสุเทพที่ถือรูปสัตว์ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ แล้วขยับขยายลงมาสู่ที่ราบเชิงดอย อันเป็นแหล่งรับน้ำจากดอยสุเทพ ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้
ทำให้เมืองเชียงใหม่แต่เดิมออนก่อนนั้นมีความเจริญอยู่ก่อนในระดับหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะมีการเข้ามาของพระญามังรายที่สร้างเมืองใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ และหลังจากนั้นเป็นต้นมานั้นมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ของดอยสุเทพด้วย
นอกจากที่ “ดอยสุเทพ” จะเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตแล้ว ดอยสุเทพ ยังเป็นแหล่งกำเนิดความเชื่อและศรัทธาอีกประการ ด้วยถือว่า ดอยสุเทพสืบต่อไปถึงดอยคำ หรือในตำนานเรียกว่าดอยเหนือ ดอยใต้นั้น ที่เป็นแหล่งแห่งที่สถิตของ “ปู่แสะ” กับ “ย่าแสะ” ที่ผู้คนทั้งเคารพและยำเกรงเป็นที่ยิ่ง โดยที่แต่ละปีนั้นจะมีการเซ่นสรวงปู่แสะที่เชิงดอยสุเทพแถววัดฝายหิน ต่อมาเมื่อสถาบันการศึกษาเข้าไป จึงมีการย้ายการเลี้ยงผลีกรรมไปรวามกันเสียที่เดียวกับย่าแสะที่เชิงดอยคำ ริมน้ำแม่เหียะ ด้วยถือว่าหากไม่มีการเลี้ยงผลีกรรมนั้นไซร้ บ้านเมืองก็อาจถึงขั้น “ตกขึด” เลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วความศักดิ์สิทธิ์อันเนื่องมาจากปู่แสะย่าแสะแล้ว ตัวของ “ฤๅษีวาสุเทพ” เองนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์คู่ดอยสุเทพแห่งนี้ ด้วยหนึ่งนั้น นามของท่านก็นำมาเรียกขานดอยแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน ว่ากันว่าท่านฤๅษีเป็นบุตรของปู่แสะและย่าแสะ ความศักดิ์สิทธิ์จึงเท่าทวี กอปรกับสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งบำเพ็ญเพียรของท่านฤๅษีวาสุเทพอยู่ตลอดมาและครั้นเมื่อสิ้นสุเทวะฤๅษีลง ก็ได้มีการสร้างกู่ฤๅษีไว้บนดอยแห่งนี้ด้วย



นั่นก็นับว่า ดอยแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นแม่นมั่น จวบสมัยของพระญากือนา ราชวงสาที่ ๖ สืบมาแต่พระญามังราย ได้ทำการประดิษฐานความเชื่อเรื่องของพระธาตุไว้บนดอยแห่งนี้ ด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่เชื่อกันว่าพระสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย ด้วยช้างเผือกขึ้นไปจนถึงยอดดอยสุเทพแล้วฐาปนาพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่แห่งนั้นตราบจนปัจจุบัน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพทวีความสำคัญขึ้นมามากขึ้น ด้วยความเชื่อเก่าและความเชื่อใหม่ยืนอยู่บนฐานอันเดียวกัน นั่นก็คือ “ดอยสุเทพ” อันตระหง่านเงื้อมของเมืองเชียงใหม่
ตั้งแต่มีการประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ที่ยอดดอย ก็ทำให้มีการเดินทางขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุ โดยเฉพาะงาน “เตียวขึ้นดอย” หรืองาน “ขึ้นพระธาตุ” ในวันเพ็ญเดือน ๙ ซึ่งต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นในวันวิสาขบูชาแทน ถึงอย่างไรจะวันไหนก็ตาม ศรัทธาก็ยังมั่นคงต่อพระธาตุอยู่นั่นเอง
การเดินทางขึ้นดอยสุเทพนี้ แต่เดิมจะลัดป่าเลาะเขาไต่เต้าตามทางขึ้นไปสู่ยอดดอย ซึ่งจะออกเดินทางตั้งแต่เย็นของวันออก ๑๔ ค่ำ บางท่านอาจจะขึ้นเอาเมื่อกลางดึก ถึงอย่างไรก็จะต้องพร้อมกันบนวัดพระธาตุดอยสุเทพในเช้าวันออก ๑๕ ค่ำ ก่อนที่จะออกเดินทางจะต้องตระเตรียมเข้าปลาอาหาร ดอกไม้ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม ขึ้นไปด้วย ซึ่งเดินทางทางวัดฝายหิน ลัดเลาะขึ้นไปถึงผาลาด จนในที่สุดก็จะถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพอันเป็นที่หมาย
เส้นทางเดินนี้ นับว่าเป็นเส้นทางสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่ นอกจากจะใช้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่ห้อมล้อมอยู่นั้นซึ่งหลายปีก่อนได้จัดทำเส้นทางไว้ด้วย เรียกว่า เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด มีจุดที่ให้ความรู้ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันนั้นร้างรา และผุพังไปมาก ด้วยไม่มีหน่วยงานไหนดูแลได้อย่างทั่วถึง หากว่ามีการรื้อฟื้นเส้นทางนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จะเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพอย่างมาก ด้วยอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเท่าใดนัก ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็ยังคงอยู่
ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติแล้ว ยังเป็นแหล่งศึกษาศิลปะ และประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะเส้นทางเดินนี้ มีโบราณสถานเก่าแก่หลายจุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเนินดิน ที่อยู่ห่างจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ ประมาณ ๑ กิโลเมตรนั้น เป็นเนินดินที่มีการเรียงตัวของก้อนอิฐก้อนหิน และศิลาแลง สูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ × ๔๐ เมตรเห็นจะได้ นอกจากนี้ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งบอกไปมากกว่านี้ บ้างก็ว่าเป็นวิหารของวัดสามยอบ หรือวันโสดาปันนาราม อันเป็นหนึ่งในสี่วัดที่เป็นตัวแทนของอริยสงฆ์ทั้งสี่ ได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันตา แล้วความเชื่อเรื่อง สี่วัดนี้ เห็นชัดในสมัยของครูบาเจ้าศรีวิชัย ดังปรากฏในนิราศพระธาตุดอยสุเทพ ของ แมน สุรตโน ที่ว่า

“...สร้างถนน ผลมี มั่งจีรัง......... บางตอนยัง ย้ำชัด สร้างศรัทธา
คือขั้นตอน ปฏิบัติ สร้างวัดก่อน ....... เริ่มขั้นตอน ต้นคิด ปริศนา
คืออาราม นามมี ศรีโสดา....... สกิทาคา อนาคา- มี- นัย
อรหันต์ ชั้นสุด ถึงจุดยอด...... ทางตลอด ผาลาด ก็ขาดไข..”

โดยวัดศรีโสดา ที่เชิงดอยนั้นยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบันที่เป็นวัดโสดาบัน และวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นวัดอรหันตา ส่วนซึ่งเนินดินนั้น ก็ต้องมีการศึกษากันต่อไป
เมื่อเลยจากเนินโบราณสถานนี้แล้วก็จะล่วงลุถึงวัดผาลาด ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างทั้งเก่าและใหม่ หลายช่วงสมัยอยู่ด้วยกัน ในสมัยก่อนถือว่า จุดนี้เป็นจุดครึ่งทาง และจุดที่จะวัดบุญในการขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ กันเลยทีเดียว หากใครบุญไม่ถึงก็จะต้องประสบความขัดข้องนานาประการ
วัดผาลาด นับว่าเป็นวัดโบราณที่ยังคงมีโบราณสถานที่ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิหาร เจดีย์ บ่อน้ำ พระพุทธรูปที่เพิงผา เป็นต้น และยังมีที่เคยมีอยู่บนเส้นทางเดินนี้ แต่ปัจจุบันไม่อาจทราบได้ว่าอยู่ตรงไหน หรือจุดไหน นั่นก็คือ “พระเจ้าเกิด็กา” อันหมายถึงพระพุทธรูปที่สกัดกาไม่ให้ขึ้นไปบนยอดดอย ทำให้บนดอยไม่มีกาเลย จึ่งได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ดอยกาละ”
สำหรับพระเจ้าเกิด็กา นี้ปรากฏใน “ค่าวฮ่ำตำนานดอยสุเทพเจ้า” ของขนานหลวงเป็ง กาวิโล และปริวรรตโดยพระครูสิริพัฒนานุกูล วัดพวกหงษ์ ที่ได้พรรณนาการเดินทางขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยสุเทพ ในเส้นทางเดินเดิม ก่อนที่จะมีการสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นไปบนดอยสุเทพ ได้บอกไว้ว่าอยู่เลยวัดผาลาดขึ้นไป

“...ที่ผาลาดหลวง อารามที่พัก เป๋นวัดเก่าเกื้อ บัวราณ
มีเจติยะ ศาลาวิหาร ริมหนทาง ขึ้นไปธาตุเจ้า
อกพุทโธ คนโซแก่เฒ่า หัวใจ๋ดีใน ชื่นย้าว
พ่องเอาอาหาร กล้วยไข่กล้วยค้าว ไปใส่เข้า ปูชา
พ่องเอาดอกไม้ ธูปเทียนบุบผา ไปถวายปูชา องค์พระที่ไหว้
พระเจ้าเกิ๊ดก๋า ชื่อนามบอกให้ เป๋นที่คนไป ยั้งพัก...”

และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องค้นหาและศึกษากันอีกต่อไป ทำให้เส้นทางเดินนี้เป็นเส้นทางเดินที่มีคุณค่า การที่ได้สัมผัสธรรมชาติและร่องรอยอันเป็นอารยะ ที่บรรพชนได้สร้างสมเอาไว้
นอกจากนั้นหลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนหนทางขึ้นบนดอยสุเทพ ต่อจากถนนห้วยแก้วแล้ว ระหว่างทางก็มีซากวัดอยู่อีกหลายวัด ไม่ว่าจะตรงที่ หน่วยป้องกันไฟป่า หรือตรงข้ามกับหอดูดาว ก็ยังคงมีร่องรอยให้เห็นอยู่ คาดว่าอาจจะเป็นวัดในชุดของวัดตัวแทนของอริยสงฆ์ก็เป็นได้ รวมไปถึง “สันกู่” อันเป็นตัวแทนหนึ่งในความรุ่งเรืองมาแต่อาณาจักรหริภุญไชยกันเลยทีเดียว



กอปรกับภายหลังมีการสถาปนาความเชื่อเรื่อง “ชุธาตุ” ก็ได้เอาพระธาตุดอยสุเทพ เป็นหนึ่งในบรรดาชุธาตุ ของคนเกิดปีเม็ด หรือปีมะแม ก็ยิ่งให้ดอยสุเทพ เป็นดินแดนที่อบอวลไปด้วยความเชื่อ และศรัทธายิ่งนัก นับแต่เชิงดอยขึ้นไปถึงยอด ตั้งแต่อดีตกาลโพ้นมาถึงปัจจุบัน การเคารพและศรัทธาก็ทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งจากคนเชียงใหม่เอง และคนทั่วทั้งประเทศ



ดังเหตุการณ์ในสมัยหนึ่ง เมื่อจะมีการสร้างกระเช้าขึ้นไปยังดอยสุเทพ ประมาณปี ๒๕๒๘ นั้นปรากฏว่ามีการคัดค้านกันอย่างแพร่หลาย จนต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยในตอนนั้น และได้พบว่า มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงก็คือต้องโค่นไม้ลงมาเป็นจำนวนมากถึง ๑๕๓ ต้น ซึ่งไม่รวมที่ต้องทอนกิ่งลงไปอีก ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้น ก็ทำให้เรือนยอดไม่ต่อเนื่องกัน เกิดผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บนเรือนยอด และในที่สุด โครงการนั้นก็เป็นอันพับไป
ดอยสุเทพ นับว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นคลังทรัพยากรอันสำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ทั้งคลังทรัพยากรธรรมชาติ และคลังทรัพยากรองค์ความรู้ที่ดำรงอยู่ คอยหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเมืองเชียงใหม่ เปรียบเหมือน “พ่อ” ผู้ที่คอยแต่จะให้ เพื่อให้ลูก ๆ ที่อยู่ในเมืองอยู่สุขสบาย สืบแต่อดีตมา ลูก ๆ ทั้งหลายต่างเคารพ และศรัทธาในความสำคัญอันยิ่งยวดของดอยสุเทพ และเชิดชูขึ้นเหนือหัวเหนือเกล้า และจะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีทำลายลงไปได้
และดอยสุเทพ จักเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่ง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันควรแก่การเคารพของเมืองเชียงใหม่ไปอีกยาวนานสมกับคำขวัญที่ว่า
“ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุบผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์”



Create Date : 11 สิงหาคม 2550
Last Update : 11 สิงหาคม 2550 21:46:13 น.
Counter : 994 Pageviews.

8 comments
ปากพลี : black kite ผู้ชายในสายลมหนาว
(3 ธ.ค. 2567 11:12:42 น.)
นอนไม่หลับ นอนหลับยากเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง? สมาชิกหมายเลข 8284441
(28 พ.ย. 2567 04:08:51 น.)
อลูมิเนียมคอมโพสิต ต่างจาก ผนังกันความร้อนภายนอก อย่างไร สมาชิกหมายเลข 6460794
(27 พ.ย. 2567 10:02:02 น.)
ประโยชน์ของการออมเงินที่มือใหม่ควรรู้ สร้างกำลังใจในการออม สมาชิกหมายเลข 7654336
(26 พ.ย. 2567 12:22:35 น.)
  
ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมล้านนาอีกซักคนนะครับ
บนยอดของดอยสุเทพเป็นที่ตั้งของสันกู่ลัวะครับ ชนชาติลัวะเคยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อน จนมีการสันนิษฐานกันว่าปู่แสะ ย่าแสะ รวมทั้งวาสุเทพฤาษีก็เป็นบรรพบุรุษของลัวะ เช่นกัน


ชอบมากครับที่เอาภาพฝาพนังวัด๓มินทร์ มาเป็น Background
Eik_q128@hotmail.com
โดย: รักล้านนา IP: 202.28.27.6 วันที่: 11 สิงหาคม 2550 เวลา:21:18:25 น.
  
ยินดีครับผม ที่เข้ามาแอ่วหากันในนี้ ไว้จะทยอยเอาบทความมาลงให้ถึ่ขึ้นละกันครับผม อิอิ

ขอบคุณที่ติดตามครับผม
โดย: ศศิศ วันที่: 11 สิงหาคม 2550 เวลา:21:24:00 น.
  
อ่าน Blog ไปเรื่อยๆ เพิ่งรู้ว่าเป็นเด็กมอชอ.....งั้นก็ขอความกรุณาเลยนะครับ
ผมก็เด็กมอชอ(ศิษย์ปัจจุบัน รหัส 47.....) ยังไงมีเรื่องราวดีๆ ที่ทริปเด็ดๆ ขอร้องเลยครับ 0840772503 ติดต่อมาด้วยนะครับ ผมสนใจมากๆครับ
ยินดีที่ได้รู้จักครับ
โดย: Eik_q128@hotmail.com IP: 202.28.27.6 วันที่: 11 สิงหาคม 2550 เวลา:21:37:23 น.
  
อย่างไรขอชวนเลยละกันครับผม วันที่ ๓ กันยายน นี้ มีงาน "สานตอ ต่อฝัน จรัล มโนเพ็ชร" ตอน...สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

จัดขึ้นที่ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน หลัง ม.เทคโนตีนดอย นะครับผม
โดย: ศศิศ วันที่: 11 สิงหาคม 2550 เวลา:21:59:54 น.
  
รักนะจะบอกให้
โดย: มาลาศรี IP: 222.123.235.6 วันที่: 24 สิงหาคม 2550 เวลา:12:00:39 น.
  
โดย: ว IP: 124.121.55.93 วันที่: 22 กันยายน 2550 เวลา:17:13:08 น.
  
เธอเป็นนักศึกษารามคำแหง ด้วยนี่ อิ อิ
เก่งจังมีบลีอกของตนเองด้วย มีเรื่องน่าสนใจให้อ่าน
เยอะเลย .... ไม่ใช่คนล้านนา แต่พีชอบวัดทางเหนือ
เพราะว่ามีความสวยงาม ไม่เหมือนวัดทางภาคกลาง
และพี่ก็ชอบผลไม้ทางเหนือด้วย จึงสนใจอะไรๆๆ
ที่เกี่ยวกับภาคเหนือ เป็นพิเศษ.... เสียดายที่บอกว่า
คนเกิดวันจันทร์ จะมีแฟนเป็นคนที่อาศัยทางภาคใต้ นี่สิ
..... เฮ้อ .... นึกว่าบุพเพฯ จะอยู่ทางเหนือซะอีก
อิอิ มาให้กำลังใจจ้ะ เรียนจบไวๆนะนักประวัติศาสตร์
คนเก่ง อิอิ ..... อายุน้อยกว่าที่คิดอีกนะเนี่ย 27 เองรึ
ส่วนพี่อิอิ ...... ห่างไกลเลย อิอิ


โดย: a... IP: 124.121.148.135 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:40:40 น.
  
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:0:12:14 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sasis.BlogGang.com

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด