อภัยมณีชาดก การเดินทางที่กลับด้าน ท่านทั้งหลายไม่ได้ตาฝาด หรืออ่านผิดหรอกครับ อภัยมณีชาดก จริง ๆ นั่นแหละ ไม่ได้เขียนผิด หรือแกล้งว่าแต่อย่างใด ซึ่งหลายท่านอาจจะคิดว่า มันมีด้วยหรือ? ขอตอบว่า มีครับ ซึ่งเป็นชาดกนอกนิบาตใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นไม่เกิน 130 ปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งทางล้านนามักนิยมนำนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ มาแต่งเป็น ชาดก ที่จัดว่าเป็น ชาดกนอกนิบาต คือไม่อยู่ในพระไตรปิฎก อันเป็นจารีตสืบมาแต่ครั้นสมัยหริภุญไชยโน่นแล้ว ดังจะเห็นมีผลงานที่นับว่าเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมล้านนา และสังคมไทยอยู่มากเช่นกัน นั่นก็คือ ปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาต ๕๐ เรื่อง และปัญญาสชาดกนี้เอง ได้แพร่กระจายไปในดินแดนล้านนา เมืองพม่า สิบสองปันนา ล้านช้าง อยุธยา และอีกหลาย ๆ เมือง ทำให้เรื่องราวนี้ได้แพร่กระจายกันออกไป และได้มีการนำเอานิทานพื้นบ้าน (ซึ่งอาจจะกลายมาจากปัญญาสชาดก หรือ ที่เคยนำไปเป็นปัญญาสชาดกก็ได้) มารจนาด้วยภาษาของกวี เป็นวรรณคดีหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สังข์ทอง กับ สุวรรณสังขกุมารชาดก, สมุทรโฆษคำฉันท์ กับ สมุทรโฆสชาดก ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้นนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ ก้ได้รับอิทธิพลของปัญญาสชาดก ไม่ว่าจะเป็น จำปาสี่ต้น, พระสุธน-มโนราห์, นางสิบสอง (พระรถ-เมรี), สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ ก็ล้วนแต่มาจากการกระจายตัวของพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่เรื่อง อภัยมณีชาดก เป็นการเดินทางที่สวนทางกับชาดกเรื่องอื่น ๆ ในบรรดาชาดกนอกนิบาต ที่จะแต่งเป็น วรรณคดี จาก ชาดก แต่นี่ แต่งชาดก จากวรรณคดี และไม่เพียงแต่เรื่องพระอภัยมณีเท่านั้นที่จับมาใส่ในรูปแบบของชาดก เรื่อง รามเกียรติ์ ก็เช่นเดียวกัน นำมาเป็นชาดกในล้านนาถึง ๓ เรื่องด้วยกัน คือ ปรัมมเหียร, หอรมานและ พรหมจักร ส่วนทางเมืองสิบสองปันนาก็จะไปเป็นเรื่อง ลังกาสิบโห(หัว) นั่นเอง สำหรับเรื่อง อภัยมณีชาดก มีที่มาดังนี้ ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ นั้นก็มีการติดต่อกับทางราชสำนักของกรุงเทพฯมากขึ้น ก่อนจะมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การไปมาหาสู่กันก็มีมาเสมอ ครั้งหนึ่ง แม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งเป็นเจ้าแม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ลงไปทางเมืองกอก ก็นิยมชมชอบนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ของรัตนกวีสุนทรภู่ จึงนำเรื่องนี้กลับมา และมอบหมายให้ พญาพรหมโวหาร แต่งเป็น คร่าวซอ (อ่านว่า ค่าว-ซอ) อันเป็นรูปแบบของกวีนิพนธ์ชนิดหนึ่งของล้านนา แต่งไว้เมื่อ จุลศักราช ๑๒๓๙ ปี เมืองเป้า หรือปีฉลู นพศก พุทธศักราช ๒๔๒๐ ดังคร่าวบทนำว่าไว้ว่า ปฐมะ มูละกถา ฟังเทอะน้อง บ่ต้องปุจฉา จักพรรณา แต่เค้าเบื้องเบ้า เอากถา พระจันทราเข้า มาตกแต่งทำ ไค้ค้อน คณะอันไหน คือไฟอันร้อน บ่เอาแต่งสร้าง เป็นมูล คณะอันร้าย บ่หื้อมาสูน เมื่อแปงทำทูล พระคุณเหนือเกล้า องค์เสวย ธานีบ่เศร้า เป็นเงางำ นวระ เป็นจิกจอม เมืองพิงนพพะ ปราสาทกว้าง บวร ทังองค์ทรงยศ ทิพพเกสร จอมธานี เทวีแม่เจ้า บ่หื้อโสกา โรคาแฝงเฝ้า ในกาโยเงา วระ อิทธิมันโต เตโชชนะ อำนาจป้อง บุรี เอาคณะ จันทะเรืองศรี แปงวาทีแรกเค้า ทำสร้าง ชุติมันโต รุ่งเรืองเอกอ้าง ตนทรงบุญ เรืองรส วัณณวันโต มีวรรณและยศ ลือเลิศด้วย สมพาร หื้ออยู่วุฒิ จำเริญสันฐาน รุ่งเรืองบาน บ่ผานโศกเศร้า หื้อสุขเกษม ร่มเย็นเป็นเจ้า ตราบเนานาน เนิ่นช้า เอาคณา พระจันทร์ส่องฟ้า มาตกแต่งสร้าง วาทา หลอนมีผู้ทัก ผู้โจษถามหา ว่าคนใดชา ริร่ำทำสร้าง อภัยมณี เรื่องราวคร่าวกว้าง กลอนคำวอน เรื่องนี้ อายุสังขาร ประมาณกล่าวชี้ สักมอกอั้น เพียงใด นามประเทศ อยู่เขตแดนไหน ปัจฉิมัย ไถงฟ้าต้อง หนบุพพา ทักษิณาห้อง ฤๅหนอุดร ฝ่ายซ้อย จักเป็นขนาน ฤๅบัณฑิตน้อย ผู้แปงกาพย์สร้อย ซอใย จงใฝ่รู้ ชื่อนามไฉน เป็นคนใด แน่แท้ทำสร้าง อัตนา บ่จาอวดอ้าง การใคร่ยิน ใคร่รู้... ค่าวบทนำนี้ ปริวรรตโดย พระครูอดุลสีลกิตติ์ วัดธาตุคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ รู้สึกว่า พญาพรหมโวหารจะแต่งไม่จบ ท่านได้สิ้นไปเสียก่อน หลังจากนั้น ก็นำ คร่าวซอพระอภัยมณี ของพญาพรหมโวหารเป็นแบบอย่างในการนำมาแต่งเป็น ชาดก ซึ่งในใบลานก็ไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นคนที่แต่งในรูปแบบของชาดก แต่คัดลอกกันมาอยู่สองสำนวน แต่รายละเอียดเหมือนกันทั้งหมด มีอยู่ ๑๒ ๒๔ ผูก เช่นที่วัดบ้านเอื้อม จ.ลำปาง เป็นต้น การแต่งเป็นชาดก ก็อาศัย รูปแบบ (Form) เดียวกับชาดกทั่วไป ที่มี สาเหตุการเล่าชาดก เนื้อความชาดก อันเป็นอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ และสุดท้ายย่อมมีการประชุมชาดก เรื่องนี้เริ่มจากที่พระสงฆ์ต่าง ๆ พูดคุยถึงการพลัดที่นาคลาที่อยู่ ทำให้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า พระองค์ก็เคยพลัดพรากจากบ้านจากเมืองด้วยเช่นกัน จึงเล่าเรื่อง อภัยมณีชาดกนี้ขึ้นมา ส่วนเรื่องชื่อ ก็มีแตกต่างกันไปอีก บ้างก็ว่า อภัยมณีชาดก หรือ อภัยมณีสรีสุวัณณ์ชาดก ด้วยพระเอกของเรื่องหรือองค์โพธิสัตว์นั้น ไม่ใช่พระอภัยมณี หากแต่เป็น สรีสุวัณณ์ ส่วนฝ่ายหญิงคือนาง เกสสรา ส่วนตัวร้ายก็คือ ท้าวอุเทน เนื้อเรื่องก็มีการตัดทอนและปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย ด้วยเรื่องเดิมนั้นยาวและมีตัวละครมาก เมื่อนำมาเล่าเป็นชาดก จึงมีการปรับเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของชาดกด้วย ซึ่งจะเล่าถึงต้นเรื่องจากเมืองรัตนา เหมือนของสุนทรภู่ทุกประการ จวบจนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไป จากนั้นก็จะกล่าวถึงสรีสุวัณณ์โดยเฉพาะที่ตามหาพระอภัยมณี จนเข้าไปในเมืองพบกับนางเกสสรา ซึ่งประสบปัญหาว่า ท้าวอุเทนจะมารบชิงเอาตัวไป สรีสุวัณณ์จึงเข้ารบและช่วยเหลือบ้านเมืองนางเกสสราให้รอดพ้นจากอันตรายได้ และสุดท้ายก็รับเอาพี่ชายคือพระอภัยมณีพร้อมกับหลานชื่อสิงสมุด มาอยู่ด้วย ในเรื่อง ชื่อบางชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย อย่างลูกของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร จากสินสมุทร ก็เป็น สิงสมุด เป็นต้น และมีอีกหลายชื่อที่มีการปรับเปลี่ยน (ด้วยตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ใกล้มือ) จากนี้จะเห็นว่า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสองดินแดน อยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนับว่าเป็นการดีมากที่มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากภายนอกที่รับมานั้นให้เข้ากันกับท้องถิ่น หรือที่เรียกวันว่า Localization และผมว่าปัจจุบันที่มีปัญหามากก็มาจากขาดการทำให้เป็นท้องถิ่นนี้เช่นกัน และเรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างอันดีอีกอย่างหนึ่ง สวยมาก
โดย: ปลื้ม IP: 124.157.137.82 วันที่: 28 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:17:59 น.
ขออนุญาตเอาลิ้งค์ไปลงใน //www.lannapoem.com เน้อครับ ว่างๆ ไปแอ่วไปกอยกั๋นพ่องเน่อครับ
โดย: เดอะจิ๊กุ่ง -- ชมรมคนรักค่าว IP: 222.123.134.81 วันที่: 8 กันยายน 2550 เวลา:19:45:44 น.
โดย: กิ๊ฟ IP: 203.172.162.19 วันที่: 12 กันยายน 2550 เวลา:14:02:36 น.
โดย: ต้น IP: 58.10.146.44 วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:17:51:47 น.
คิดถรักมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆj
โดย: จุไรรัตน์ ลำน้อย IP: 125.26.242.232 วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:19:01:48 น.
ชอบเจ ท่าคำมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
โดย: นาย 5/1 IP: 125.26.242.232 วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:19:07:03 น.
*-*
โดย: ------------- *-* IP: 61.19.65.56 วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:10:45:39 น.
งง แต่เข้าใจ
โดย: 6/6 IP: 118.172.203.76 วันที่: 18 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:52:33 น.
สยรสสสสสสสตขร
ส โดย: สเรรรรร IP: 222.123.116.206 วันที่: 26 สิงหาคม 2552 เวลา:19:07:41 น.
|
บทความทั้งหมด
|