ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน (ตอนที่ ๒)
ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน*


(ตอนที่ ๒)

ประการที่สอง เพลงที่มีเนื้อร้องแต่ไม่มีดนตรี ซึ่งทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ก็ยังได้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ประเภทมุขปาฐะ และ ประเภทที่มาจากวรรณกรรมลายลักษณ์
เพลงประเภทมุขปาฐะ เช่นเพลงเบ็ดเตล็ดทั่วไป และเพลงสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงสิกก้องกอ เพลงสิกจุ้งจา และจะขอยกตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กและเพลงสิกก้องกอไว้เป็นตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็ก เช่น
“อื่อ จา จา อี่แม่ไปไร่ต้นสา
อี่พ่อไปนานอกบ้าน เก็บบ่าส้านใส่ถง
เก็บบ่ากงใส่ซ้า เก็บบ่าห้าใส่พก
หน่วยนึ่งเอาไว้ส้ากินแลง หน่วยนึ่งเอาไว้แปลงเพื่อนเจ้า”
ตัวอย่างเพลงสิกก้องกอ เช่น
“สิกก้องกอ บ่าลออ้องแอ้ง
บ่าแคว้งสุก ปลาดุกเน่า
หัวเข่าปม หัวนมปิ้ว
ปิดจะหลิ้ว ตกน้ำแม่ของ
ควายลงหนอง ตะล่มพ่มพ่ำ”
ส่วนเพลงเบ็ดเตล็ดก็อย่างเพลงที่ใช้ร้องเล่นกันทั่วไป เช่น
“ฝนตกสุยสุย ซุ้ยหมายุยเข้าเหล่า
อี่พ่อได้เต่า หื้ออี่แม่แกงแค
แกงแคใส่ใบพริกแต้ ชิมคอยก็ลำพ่องแท้”
หรือเพลงที่ร้องยั่วคนให้โกรธเล่น เช่นร้องยั่วคนฟันหลอ ว่า
“เขี้ยวเว่า เป่าไฟดับ
ลักกินตับ เสี้ยงทึงหม้อ
ไม้ข้อหล้อ บุบหัวเขี้ยวเว่า”
นอกจากนี้ยังมีบทซอเบ็ดเตล็ดอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ซอก้อม ซอบ่รู้จบ ซอคบเกิ่ง ซอลายสอง ซอลายอำ ซอกับล้ำ ซอว้อง เป็นต้น เหล่านี้เป็นเพลงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการร้องเล่น ร้องกล่อม และร้องรำกันอย่างสนุกสนานและจดจำสืบทอดกันมา โดยไม่ผ่านตัวอักษร
หากว่าสืบกันผ่านตัวอักษรแล้ว จะเรียกว่าบทเพลงที่มาจากวรรณกรรมลายลักษณ์ มักจะออกมาในรูปของ กะโลง ค่าว จ๊อย กาพย์ เทศน์ คำร่ำ ต่างๆ โดยจะมีระบำทำนองแตกต่างกันไป แต่บางครั้งอาจจะก้ำกึ่งกับบทเพลงผสมระหว่างเสียงร้องกับดนตรีก็มี เช่นการจ๊อย ซึ่งอาจจะมีดนตรี หรือไม่มีดนตรีประกอบก็ได้ แล้วแต่โอกาส
สำหรับการจ๊อย (ช้อย) นั้นแรกเริ่มอาจจะมาจากอาการอัดอั้นตันทรวง ด้วยอารมณ์โศกเศร้าสร้อยละห้อยหาบางสิ่งบางอย่างอันเป็นที่รักยิ่งก็เป็นได้ ดังปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมตอนที่พระยาแมนตาทอก ผู้เป็นราชบุตรเขยแห่งพระยารัมมเหียร ได้พานางอุทุมพกาย มากินเมืองเชษฐบุรี และถูกผีตายยืนทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้นางอุทุมพกายเศร้าโศกเสียใจที่ผัวแห่งนางนั้นได้สียชีวิตลงไป จึงร้องร่ำไห้ไปมา ด้วยคำว่า “ผัวรักอี่แม่เหย ผัวแพงอี่แม่เหย” ว่าอย่างนั้นแล้ว คนทั้งหลายได้ยินคำที่ร่ำไห้ออกมาแล้วก็เห็นว่าม่วนเพราะ จึงเลียนเสียงสำเนียงที่นางอุทุมพกายร้องไห้หาผัวนั้น จดจำสืบ ๆ กันมากลายเป็นการ จ๊อยจนถึงปัจจุบันนี้

ประการที่สาม คือเพลงผสม ที่มีทั้งเนื้อร้องและเสียงดนตรีประกอบ แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นในล้านนาจะมีอยู่เพียงประการเดียว นั่นก็คือการขับซอ
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล กล่าวว่า ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านที่จัดอยู่ในลักษณะ เพลงปฏิพากย์ โดยการขับซอโต้ตอบกันระหว่างชาย – หญิง เรียกว่า คู่ถ้อง ซึ่งจะใช้ปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบและแก้ลำบทซอกันฉับพลันทันด่วน ฉะนั้นผู้ที่จะซอได้นั้นต้องมีปฎิภานไหวพริบดี และได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ การขับซอนั้นมีมาอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่อาจจะมีที่มาหลายกหลายที่หลากหลายทาง ทั้งที่เป็นเรื่องราวของความรัก ที่ใช้วาจาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกันไปมา หรืออาจจะคิดค้นฉันทลักษณ์เพื่อการจดจำและทำให้ชวนรับฟังก็เป็นได้ แต่อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้นั้น ก็คือ การซอน่าจะมาจากพิธีกรรม เช่นการเลี้ยงผีเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหลายที่หลายทางในการเลี้ยงผีหลวงก็จะมีข้าวจ้ำจะซอเชิญผีให้มารับเครื่องเซ่นหรือมาเข้าประทับร่างของร่างทรง มีท่วงทำนองเสียงสอดประสานสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำให้ฟังแล้วไพเราะชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล จึงจดจำสืบๆ กันมาและได้พัฒนาออกมาเป็นท่วงทำนองหลากหลาย และมักจะแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน อย่างเช่น
ระบำซอทางเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ซอปี่ ตามเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบ ระบำต่าง ๆ ดังนี้
ระบำตั้งเชียงใหม่ หรืออาจจะเรียกว่าระบำขึ้นเชียงใหม่ก็น่าจะได้ โดยถือว่าเป็นบทไหว้ครู เพราะเป็นระบำแรกในการซอแต่ละครั้ง และมีการเกริ่นนำ และแนะนำว่าการซอต่อจากนี้ไปนั้น จะเป็นการซอเรื่องอะไร
ระบำชาวปุ หรือ จะปุ คาดว่าทำนองนี้อาจจะมาจากเมืองปุ อันเป็นหัวเมืองทางเหนือแถบรัฐฉาน โดยการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม ทำนองนี้เป็นทำนองที่หวาน ซึ่งเมื่อไปถึงเมืองแพร่ ก็พัฒนาระบำนี้ออกไปเป็นอีกระบำหนึ่งนั่นคือ ระบำดาดแพร่ สำหรับระบำจะปุนี้ มักจะลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนา’
ระบำละม้าย ละม้ายแปลว่าคล้าย คือคล้ายจะปุ โดยฉันทลักษณ์ซอแล้ว ระบำละม้ายจะเหมือนกันทุกประการกับจะปุ แต่ลีลาจังหวะจะเป็นคนละเพลง ซึ่งระบำละม้ายจะมีลีลาจังหวะที่คึกคัก เร้าใจกว่า และเป็นระบำหลักในการซอแต่ละครั้ง และมักจะมีคำลงท้ายซอแต่ละบทว่า ‘จิ่มแลนอง’
ระบำอื่อ เป็นระบำที่พัฒนามาจากเพลงกล่อมเด็กของล้านนา ตัวอย่างเพลงซอทำนองเพลงอื่อ ก็เช่น ซอตำฮายา ซอไก่หน้อยดาววี เป็นต้น
ระบำเงี้ยว ได้รับอิทธิพลมาจากทำนองของไทยใหญ่ ระบำนี้มีทั้งคึกคักสนุกสนานและความอ่อนหวานปนกันอยู่ มักใช้ในการรำพังรำพัน หรือซอปัดเคราะห์ปัดภัยต่างๆ
ระบำพม่า ระบำนี้ออกเสียงสำเนียงพม่า ท่วงทำนองหวาน ฉันทลักษณ์ต่างจากซอระบำอื่น ซึ่งฉันทลักษณ์ของซอระบำพม่านี้ เป็นแบบฉบับของร่าย โดยเฉพาะซอที่รู้จักกันดีนั่นก็คือ ซอเจ้าสุวัตร – นางบัวคำ เป็นต้น ซึ่งระบำนี้ได้แพร่กระจายไปสู่เมืองน่าน ก็ได้พัฒนาไปอีกระบำหนึ่ง ดังที่จะกล่าวไปข้างหน้า และพบว่า เต้ยพม่าของทางอีสาน ก็มีท่วงทำนองจังหวะจะโคลนเหมือนกับซอพม่าของทางล้านนาด้วย
ระบำบ่าเก่ากลาง คือซอกลางเก่ากลางใหม่ อาจจะได้รับอิทธิพลราชสำนัก(ล้านนา) เข้ามา และมีท่วงทำนองที่ช้า อ่อนหวาน ปรากฏว่าปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม กอปรกับหาช่างซอที่ซอระบำบ่าเก่ากลางนี้ได้น้อยเต็มที
ระบำพระลอ (ระบำล่องน่าน) ระบำนี้ มีการถ่ายเทและเลื่อนไหลกันอย่างมากมาย ซึ่งเดิมเป็นทำนองล่องน่าน โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี นำมาใส่บทซอ สำหรับประกอบการแสดงละครซอเรื่องพระลอ และทำให้มีผู้เรียกชื่อระบำไปตามชื่อเรื่องที่แสดงออกไป จนภายหลังแม้แต่เมืองที่เป็นต้นกำเนิดเองยังคงสับสนกับชื่อทำนองนี้ด้วยเช่นกัน
ระบำล่องน่าน เป็นชื่อที่เชียงใหม่เรียก เพราะเอาทำนองนี้มาจากทางเมืองน่าน แต่ทำนองจริง ๆ ที่ทางเมืองน่านเรียก คือระบำลับแลง ระบำนี้เป็นการนำมาปรับเข้าปี่ และทางเมืองน่านมักไม่มีคำลงท้ายซอ แต่เชียงใหม่นิยมคำลงท้ายซอ เฉกเช่นระบำจะปุ หรือละม้าย ทำให้ต้องมีคำลงท้ายซอระบำนี้ไปด้วย โดยมักจะลงเป็นว่า “โอ้ละนอ ละนอ น้องเอย”

(มีต่อ)

*จาก

สลุงเงิน. ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน. สูจิบัตรงาน "สานทอ ต่อฝัน ตอน รอยจรัลกับฝันของฝันนี้" ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน




Create Date : 15 กันยายน 2552
Last Update : 15 กันยายน 2552 13:48:46 น.
Counter : 1443 Pageviews.

0 comments
Friday I'm In Love - The Cure ... ตะภาพหลักกิโลเมตรที่ 364 พักผ่อน tuk-tuk@korat
(1 ธ.ค. 2567 13:54:58 น.)
: กะว่าก๋าแนะนำหนังสือ - นิพพาน : กะว่าก๋า
(1 ธ.ค. 2567 05:44:13 น.)
แปลเพลง Boulevard of broken dreams – Green Day First Step
(28 พ.ย. 2567 13:00:46 น.)
แปลเพลง Babe – Styx First Step
(26 พ.ย. 2567 06:41:05 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sasis.BlogGang.com

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด