ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน (ตอนที่ ๓)
ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน*
(ตอนที่ ๓)
ส่วนระบำซอทางเมืองน่านนั้น จะใช้ซอประกอบกับสะล้อและซึง (ที่ทางเมืองน่านเรียกว่า ปิน) โดยคาดว่าแต่ก่อนเมืองน่านอาจจะซอโดยใช้ปี่มาก่อน โดยมีคำของช่างซอหลายคำที่ซอมาคู่กับปี่ นอกจากนี้จังหวะการซอของทางเมืองน่าน ก็จะมีท่วงทำนองที่ช้า เนิบนาบ ไม่ค่อยตื่นเต้นเร้าใจเหมือนทางเชียงใหม่ จึงมักจะใช้ในการงานบุญงานกุศลต่าง ๆ เป็นส่วนมาก
ระบำที่ทางเมืองน่านใช้ในการซอ ก็จะมีแตกต่างไปจากเชียงใหม่บ้าง ดังนี้
ระบำขึ้นเชียงใหม่ เป็นระบำที่รับมาจากเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับมาเต็มฉบับ จะรับมาเฉพาะท่อนที่เรียกว่า ตั้งก๋าย แต่ระบำที่ต่อจากนี้ไปก็อาจจะเป็นระบำดาดแพร่เป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะเป็นระบำดาดน่านก็ได้
ระบำดาดแพร่ ระบำนี้คล้ายกับระบำจะปุ โดยมีฉันทลักษณ์ซอเฉกเดียวกันแต่ท่วงทำนองการขึ้นลงของเสียงผิดเพี้ยนกันไปเล็กน้อยที่ได้พัฒนาผ่านมาทางเมืองแพร่ จึงเรียกว่าดาดแพร่
ระบำดาดน่าน เป็นระบำหลักที่ใช้ในการซอทางเมืองน่าน และระบำนี้มักสับสนกับระบำล่องน่าน ซึ่งมักจะใช้ในการซอประวัติของการย้ายเมือง ในช่วงที่กล่าวถึงการล่องตามลำน้ำน่านมาสร้างเวียงพูเพียงแช่แห้ง อันเป็นต้นกำเนิดของระบำล่องน่าน ทำให้เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ระบำดาดน่าน เป็น ระบำล่องน่าน
ระบำล่องน่าน เมื่อกล่าวถึงดาดน่านก็ต้องกล่าวล่องน่านต่อไป ซึ่งก็คือระบำพระลอ ดังที่เคยกล่าวมาในข้างต้น ทำนองล่องน่าน(พระลอ) เหมาะสมกับการซอบรรยายหรือพรรณาฉากทิวทัศน์หรือบรรยายสิ่งของข้าวของต่าง ๆ ที่พบเห็นปรากฏแก่สายตา และจากประวัติการซอล่องลำน้ำน่านมานั้น ก็เหมาะที่จะซอบรรยายป่าเขาลำเนาไพร สายน้ำ สัตว์บกสัตว์น้ำ จึงมีท่วงทำนองที่อ่อนหวานและรื่นไหล จนเป็นที่ต้องพระทัยของพระราชายาเจ้าดารารัศมี
ระบำลับแลง ชื่อนี้คาดว่าน่าจะมาจากทางเมืองลับแลง หรือ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ในปัจจุบัน ที่เป็นที่มาของทำนอง โดยทำนองนี้จะคล้ายกับระบำดาดน่าน (เหมือนที่ทำนองละม้ายคล้ายจะปุนั่นเอง) คือฉันทลักษณ์ซอจะเหมือนกัน แต่เสียงจะสูงและหวานกว่ากัน ซึ่งจะต้องใช้พลังเสียงมากกว่าระบำดาดน่าน ทำให้ระบำนี้มักจะใช้ซอต่อจากดาดน่านเมื่อใกล้จะถึงคราวหยุดหรือจบเรื่องที่จะซอ
ระบำเงี้ยว ก็เฉกเดียวกับทางเชียงใหม่ แต่จะมีท่วงทำนองต่างกันเล็กน้อย ซึ่งก็ยังเป็นทำนองเดียวกันอยู่
ระบำพม่านางบัวคำ ก็จะเป็นระบำพม่าแบบเชียงใหม่ บางที่จะเรียกว่าซอนางบัวคำเลย แต่ในที่นี้ของเอาชื่อนางบัวคำต่อท้าย ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะว่าทางเมืองน่านยังมีระบำพม่าอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือระบำพม่า(ตะโตงเตง)
ระบำพม่า (ตะโตงเตง) ระบำนี้มักมีบทซอตายตัว ไม่เคยได้ยินว่าเอาทำนองนี้ไปซอในบทอื่นๆ และมักจะขึ้นต้นว่า ตะโตงเตง ทำให้ซอนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซอตะโตงเตง โดยต้นเค้าอาจจะมาทางเชียงใหม่ โดยบทซอและท่วงทำนอง แต่มีการปรับท่วงทำนองและฉันทลักษณ์ไปจนสามารถที่จะฉีกแนวเพลงพม่าออกไปเป็นเอกเทศ แต่ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก
ระบำปั่นฝ้าย ระบำนี้อาจเรียกว่าเป็นระบำใหม่ที่สุดก็เป็นได้ ผู้ที่แต่งเนื้อและทำนองซอปั่นฝ้ายนี้คือพ่อครูไชยลังกา เครือเสน ศิลปินแห่งชาติ โดยจำลองมาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านในการปลูกฝ้าย ตั้งแต่แผ้วถางไร่ ไปจนถึงทอผ้าได้ผ้ามาเป็นผืน เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนชีวิตของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
เมื่อการซอพัฒนามาได้ระดับหนึ่งแล้ว มีท่วงทำนองที่หลากหลาย เป็นที่นิยมของผู้ฟังมาจากอดีต แต่ปัจจุบันความนิยมนั้นได้ลดลงอย่างหนัก จนเรียกว่าเป็นช่วงวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเสื่อมสูญ และไม่เพียงแต่การซอเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพลงพื้นบ้านทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง และมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของวงการเพลงในล้านนา
จุดเปลี่ยนของวงการเพลงพื้นบ้านนี้ มีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายใน คือ การขาดการสืบทอดของเพลงพื้นบ้าน ซึ่งแต่ก่อนจะต้องใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการฝึกฝนจนชำนาญเป็นอย่างดี ทำให้คนที่จะมาสืบทอดต่อไปนั้นหายากไปเต็มที นอกจากนี้ระบบการสืบทอดก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เพลงพื้นบ้านล้านนาขาดช่วง เพราะว่าการเรียนการสอนก็จะเป็นการสอนกันแบบปากต่อปาก ไม่มีการจดจารเป็นโน้ตเพลงแบบสากลสมัยใหม่ และยิ่งนับวันเพลงที่เคยมีในอดีตก็เหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ และสูญหายกันไปทุกที
ปัจจัยภายนอกคือ สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็มีผลกระทบถึงความนึกคิดและค่านิยมของคนก็เปลี่ยนไปด้วย และที่สำคัญ คือมีเพลง ลูกทุ่งไทย เดินทางขึ้นมาและได้รับความนิยมจากชาวบ้านแทนที่เพลงพื้นเมืองแบบเดิม ๆ ซบเซาเสื่อมความนิยมลงไป
หากไม่มีการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าเพลงพื้นบ้านล้านนาอาจตายไปก็เป็นได้
ในการการซอ ก็มีปรับเปลี่ยนกันขนาดใหญ่ อยู่สองประการ นั่นคือ การปรับเปลี่ยนเป็นการแสดงละครซอ และซอสตริง
ละครซอนั้นเริ่มโดย อำนวย กลำพัด ที่ตั้งคณะละครซอขึ้น โดยนำไปแสดงทั่วในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการผูกเป็นเรื่องขึ้นพร้อมให้ช่างซอสวมบทบาทเป็นตัวละครที่สมมุตขึ้นนั้น ก็เป็นที่นิยมในระดับหนึ่ง และเมื่อ ศิริพงษ์ ศรีโกไสย หรือย่าบุญ ได้นำช่างซอและละครซอไปแสดงออกโทรทัศน์ที่ช่อง ๘ ลำปางขณะนั้น ก็ทำให้วงการซอฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับการซอสตริง ก็เป็นการผสมผสานเข้ามาพร้อมกับเพลงลูกทุ่งไทย โดยทางเชียงใหม่นั้น เริ่มด้วยอิทธิพลของเพลงลูกทุ่งที่เข้ามา ทำให้นำเครื่องดนตรีสากลมาใช้บรรเลงเพลงซอ โดยใส่เนื้อร้องที่เป็นเพลงซอแต่เดิมเข้าไป จนถึงมีการอัดเป็นเพลงออกมา เพลงซอสตริงเพลงแรกที่อัดออกมา ก็ได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบันนั้นก็คือเพลง หนุ่มซอรอแฟน โดยคุณวีรพล คำมงคลเป็นผู้ขับร้อง แต่งเนื้อร้องโดยแสงจันทร์ สายวงค์อินทร์
ส่วนซอสตริงทางฝั่งเมืองน่านนั้น เกิดจากเหตุปัญหาชายแดนที่คุกรุ่น โดยเมืองน่านจัดว่าเป็นพื้นที่สีชมพู ทำให้มีการเฝ้าระวังกันในทุกทาง ทั้งทางทหาร และประชาชน โดยมีการจัดอบรมในโครงการไทยอาสาป้องกันชาติ โดยเริ่มจากอำเภอเวียงสา นำโดย อ.ประจักษ์ กาวี วิทยากรที่ให้ความบันเทิง ได้ขับซอประกอบการเต้นเข้ากับจังหวะชะชะช่า ทำให้การอบรมประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมา บัญเย็น แก้วเสียงทอง ก็ได้พัฒนาและฝึกซ้อมจนได้รับความนิยมอย่างสูง จนได้รับฉายาว่า ขุนพลเพลงซอสตริง
และปัจจุบัน เพลงซอสตริงก็ยังคงได้รับความนิยมกันอย่างสูง ทั้งที่เป็นนักร้องจากศิลปินส่วนกลางรวมถึงตัวของช่างซอเองที่ผันตัวเองมาเป็นนักร้อง ก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้บรรดาที่ทั้งเป็นช่างซอและไม่ใช่ช่างซอต่างก็ออกผลงานเพลงที่เป็นทำนองเพลงซอสตริงกันอย่างคึกคัก
ส่วนทางด้านเพลงคำเมืองนั้น ก็พัฒนาการมาจากเพลงลูกทุ่งไทย ที่เข้ามา ทำให้มีลูกทุ่งคำเมืองเกิดขึ้น ที่ผสมผสานระหว่างเพลงพื้นเมือง ภาษาคำเมือง เข้ากับดนตรีสากล โดยเริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ๒๔๙๘ โดยมีวงดนตรีต่าง ๆ ขึ้นมาเช่น วงลูกระมิงค์ วงดาวเหนือ วงดุริยะเวียงพิงค์ เป็นต้น โดยเฉพาะวงลูกระมิงค์ ที่มี สุริยา ยศถาวร เป็นผู้แต่งเพลงลูกทุ่งคำเมืองที่ถือว่าเป็นเพลงอมตะ เช่นเพลง ลืมอ้ายแล้วกา คนสึงตึง ปิ๊กเก๊าบ่าตัน เป็นต้น และทำให้มีนักแต่งเพลงใหม่ ๆ อีกหลายท่าน เช่น วีรพล คำมงคล, ถวิล รัตนแก้ว
ต่อมาวงดนตรีที่ได้รับความนิยมในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ มีวง ซี.เอ็ม. เพิ่มเข้ามา และต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๐๗ ก็มีวงดนตรีใหม่ที่ได้แยกตัวออกจากวงซี.เอ็ม นั่นคือวงศรีสมเพชร ก่อตั้งโดยศิริพงษ์ ศรีโกไสย(ย่าบุญ)ร่วมกับประสิทธิ์ ศรีสมเพชร โดยเป็นวงดนตรีที่ยืนยาวมากว่า ๓๐ ปี โดยเป็นแหล่งรวมนักร้อง นักแต่งเพลง ช่างซอไว้มากที่สุดในขณะนั้นก็ว่าได้ จวบจนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๑ ก็ได้มีการบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร และเพลงแรกที่ได้รับการบันทึกเสียงเป็นเพลงแรกคือเพลงเย็นฤดี
จวบจนระยะต่อมา ประมาณช่วงพ.ศ. ๒๕๒๐ ความนิยมของเพลงลูกทุ่งคำเมืองก็ลดลง ด้วยมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ โดยกลุ่มหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตในเมืองนิยมเครื่องดนตรีพื้นเมืองของตะวันตก เข้ามาประกอบในการเล่นดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์ เป็นการแรกเริ่มของดนตรีที่เรียกว่า โฟล์คซอง (Folk Song) อาจถือว่าเป็นดนตรีลูกผสม ระหว่างท้องถิ่นกับตะวันตก โดยแรกเริ่มนั้นเป็นการนำเอาเพลงลูกทุ่งคำเมืองมาร้องในแนวของโฟล์คซองคำเมือง
ผู้ที่มีบทบาทต่อวงการเพลงโฟล์คซองคำเมืองอย่างยิ่งก็คือ มานิต อัชวงศ์ เจ้าของท่าแพบรรณาคาร ได้ทำการบันทึกเสียงเพลงโฟล์คซอง ศิลปินในแนวโฟล์คซองกลุ่มแรกก็คือ ต่องและเพื่อน ส่วนลำดับถัดไป อันถือว่าเป็นเพชรเม็ดเอกของวงการโฟล์คซองก็ว่าได้ นั่นคือ จรัล มโนเพ็ชร โดยนับผลงานเพลงนั้น ก็มีมากกว่า ๑๙ ชุด และเป็นผู้บุกเบิกสำหรับเพลงคำเมืองไปสู่ส่วนกลาง ทำให้ผู้คนทั้งประเทศรู้จักเพลงคำเมืองกันมากขึ้น
ขณะที่เพลงโฟล์คซองคำเมืองได้พัฒนาอยู่นั้น ก็ได้มีเพลงแนวใหม่ขึ้นมา นั่นคือในแนวของเพลงสตริง ซึ่งได้รับอิทธิพลวงดนตรีแนวป๊อบจากทางตะวันตกเข้ามา มีการผสมผสานในด้านดนตรีกับเนื้อหาที่เป็นภาษาคำเมือง โดยวงดนตรีแนวสตริงคำเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๗ นั้น คือ วงนกแล เช่นเพลง นกแล ไอ้หนุ่มดอยเต่า คอนเสริตคนจน ฯลฯ
ต่อมาก็มีการขับร้องในแนวของเมดเล่ย์ และในแนวของไทยสากลด้วย
ซึ่งเป็นพัฒนาการของวงการเพลงผสมระหว่างเนื้อร้องกับดนตรีที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกระแสนิยมของสังคม ทำให้มีงานเพลงออกมาให้ได้รับรู้อีกหลากหลายและหลากหลายแนวเพลงไม่ว่าจะเป็น นิทัศน์ ละอองศรี, วงคิงแอนด์ฮา ที่เป็นโฟล์คซองภาษายอง, วงแม่คำ, วงเดอะม้ง ฯลฯ
หากจัดรูปแบบเพลงคำเมืองบ้านเราปัจจุบันนี้ ก็จะจัดได้เป็น
๑. เพลงลูกทุ่งคำเมือง โดยมีสองแบบย่อย นั่นคือ เพลงที่เป็นเนื้อร้องตลอดเพลง และเพลงร้องสลับพูดหรือที่มักเรียกกันว่าเพลงตลกคำเมือง
๒. เพลงโฟล์คซองคำเมือง โดยผู้ที่เป็นจุดประกายให้เพลงแนวนี้ฟูเฟื่องขึ้นมาก็คือจรัล มโนเพชร จากนั้นก็มีนักร้องรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกหลายท่านที่ยึดถือแบบฉบับของจรัล มโนเพชร
๓. เพลงสตริงคำเมือง เป็นแนวเพลงที่ดังเป็นพลุแตกมาแล้ว และเงียบหายไปช่วงหนึ่ง ต่อมาก็มีเพลงคำเมืองในแนวสตริงยุคใหม่เข้ามา เช่น วงศ์พรหมมาส ฯลฯ
๔. เพลงเมดเล่ย์คำเมือง โดยนำเอาเพลงแนวต่าง ๆ มาเรียงร้อยต่อกันด้วยลีลาคึกคักสนุกสนาน
ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพลงบรรเลง เพลงแนวผสมระหว่างเนื้อร้องกับดนตรีต่างก็มีการพัฒนาไปข้างหน้า แต่เพลงที่มีแต่เนื้อร้องนั้นกลับซบเซาฟื้นคืนช้าที่สุดในบรรดาเพลงอีกสองประเภท
ฉะนั้นจากจุดนี้ต่อไปข้างหน้า คีตาล้านนาขับขาน จะไปกันในแนวทางใด เราคนล้านนาก็ต้องร่วมมือที่จะสืบสานและหันกลับมาให้ความสำคัญของเพลงล้านนาให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป๚๛
เอกสารอ้างอิง
ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล. จากเพลงพื้นบ้านลานนา ถึงโฟล์คซองคำเมือง. ใน วารสารมนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๑ (กรกฎาคม ธันวาคม ๒๕๒๕)
พรพรรณ วรรณา. เพลงคำเมือง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒
สนั่น ธรรมธิ. นาฎดุริยการล้านนา. เชียงใหม่:สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,๒๕๕๐
สมหมาย เปรมจิตต์และคณะ. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม. เชียงใหม่:สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,๒๕๓๗
อรพิน ลือพันธ์. บทเพลงแห่งวิญญาณล้านนา:จากซอพื้นบ้านถึงซอสตริงยุคปัจจุบัน. ใน นิตยสารไทย ปีที่ ๘ (มกราคม ๒๕๔๘ ธันวาคม ๒๕๔๙)
อุดม รุ่งเรืองศรี. พจนานุกรมล้านนา ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. ปรับปรุงครั้งที่ ๑. เชียงใหม่:โรงพิมพ์มิ่งเมือง,๒๕๔๗
อุดม รุ่งเรืองศรี. เพลงกล่อมเด็กและเพลงร้องเล่น. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒
*จาก
สลุงเงิน. ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน. สูจิบัตรงาน "สานทอ ต่อฝัน ตอน รอยจรัลกับฝันของฝันนี้" ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน
Believed in God
Even For the hardest things
with his help and blessing
everything will be just fine..
God please be with me and blessed me
for ever