|
เมืองปัวนี้เป็นเมืองดี: ว่าด้วย ปัว หรือ วรนคร เมืองปัวนี้เป็นเมืองดีโดย สลุงเงิน sahlungngurn@hotmail.com
เมืองปัว หรือในปัจจุบันคือ อ.ปัว จ.น่าน เป็นศูนย์กลางของเมืองน่านทางตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันได้รับอิทธิจากชาวไทลื้อเป็นส่วนมากและมีกลุ่มชนต่างๆ หลากหลาย ด้วยเป็นเมืองโบราณแต่เดิม อันเป็นปฐมบทแห่งเมืองน่านในกาลต่อมา จึงทำให้ชาวเมืองปัวมีความภูมิใจในนามภูมิของตนยิ่งนัก
รูป 1 ท้องทุ่งเมืองปัว มองจากวัดพระธาตุเบ็งสกัด
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีกระแสมาว่า นายอำเภอปัว มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนชื่ออำเภอปัว มาเป็น อำเภอ วรนคร ด้วยเหตุผลที่ว่า ชื่ออำเภอเดิม คือ ปัว นั้น ไม่มีความหมาย กอปรกับที่กล่าวว่า วรนคร แปลว่าเมืองดี และสอดคล้องกับตำนานของเมืองน่านกล่าวไว้ด้วย การนี้ได้มีผู้ไม่เห็นด้วยกันอย่างมาก ดังที่แสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนาของเว็บไซด์ น่านทูเดย์ดอทคอม (www.nan2day.com) มีผู้ไม่เห็นด้วยถึง ๓ ใน ๔ โดยยกเหตุผลมาต่างๆ เช่น ชื่อ ปัวเป็นเอกลักษณ์ จำง่ายและเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง หากเปลี่ยนก็จะต้องประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักคำว่า วรนคร ใหม่ นั่นก็หมายถึงการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หรือ หากเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนป้ายและเอกสารทั้งหมดจะนำมาซึ่งความยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เป็นต้น1 ฉะนั้นจึงขอรวบรวมที่มาของนามเมืองนี้ว่า มีอะไรบ้าง ทั้งชื่อปัว และ วรนคร เป็นที่รู้จักกันดี จากราชวงศ์ปกรณ์ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ อันเป็นเอกสารหลักในการใช้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองน่านตลอดมา ที่กล่าวว่า มาฮอดที่ ๑ ไกลน้ำน่านประมาณ ๕๐๐๐ วา ที่นั้นควรตั้งบ้านตั้งเมือง พระยาเถรจิงเอาไม้เท้าขีดไปเปนเตชะกะพยุหะ จิงใส่ชื่อว่าวรนคร ว่าอันแล ภายลุนคนทั้งหลายจักเรียกว่าเมืองปัว ว่าอันแล 2 แต่ฉบับนี้จึงเป็นฉบับเดียวที่มีความแปลกจากฉบับอื่นทั่วไป คือเป็นงานเชียนรุ่นหลังโดยแสนหลวงราชสมภาร เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗3 และเผยแพร่คราวงานปลงศพพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งนับว่าเป็นงานที่เขียนขึ้นภายหลัง โดยอาศัยพื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิดเป็นต้นฉบับ นอกจากนี้แล้วเมื่อมีการตีพิมพ์ จึงมีการปรับเปลี่ยนอักษร ทำให้คำบางคำ ไม่ได้รักษาศัพท์เดิมเอาไว้ แต่จะเขียนตามเสียง เช่น คำว่า ปัว เป็นต้น อันเป็นการเขียนตามเสียงอ่าน และเมื่อเห็นแบบนี้ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเปนคำเดียวกับคำว่า ปัว() ที่ออกเสียงว่า /ปั๋ว/ ที่หมายถึง การดูแล ปรนนิบัติ อันมาจากคำว่า ปัวรบัติ หรือ ปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละคำกันโดยสิ้นเชิง เมื่อกลับมาดูในพื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิดที่มีการเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ก็นับว่าเก่ามาก และที่สำคัญ เก่ากว่าประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๐ ถึง ๖๙ ปี ทำให้พื้นเมืองน่านฉบับนี้น่าเชื่อถือกว่า อันก็มีการกล่าวถึงชื่อเมืองในสองชื่อเช่นกัน คือ เมืองพัว () โดยจะออกเสียงว่า /เมือง-ปัว/ ซึ่งตามหลักของการออกเสียงระหว่างเสียงทางภาคกลางกับทางล้านนาที่มีคู่ปฏิภาคกันอยู่ คือ ตัวอักษร พ ในภาคกลาง ก็จะออกเป็นเสียง ป ในภาษาเหนือ เช่น พอ ก็ออกเสียงเป็น ปอ และทำให้ พัว จึงออกเสียงเป็น ปัว ซึ่งการเขียนและการออกเสียงแบบนี้จะพบอีกต่อไปข้างหน้า ในฉบับวัดพระเกิดมีข้อแตกต่างจากฉบับประชุมพงษาวดารภาค ๑๐ อยู่บ้าง ดังนี้ มาเถิงที่นึ่งวันออกแม่น้ำน่าน (ไกล) แม่น้ำน่าน ๕ พันวา ที่นั้นควรตั้งบ้านเมือง พระญาเถรเอาไม้เท้าขีดไป หื้อเปนเตชพยุหะ จิ่งใส่ชื่อว่า ตวรนคร เมื่อพายลูนคนทังหลายร้องว่า เมืองพัว ด่าย 4 และนอกจากนั้น คราใดหากจะกล่าวถึงเมืองปัว ก็จะเขียนว่า เมืองพัว (แต่อ่านว่าเมืองปัว) อยู่เสมอ ไม่พบการใช้คำว่า วรนคร แทนเลย ทำให้ชื่อที่เป็นทางการคือ เมืองพัว ตามการเทียบอักษรจากอักษรธรรมล้านนา () ฉะนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ชื่อเมืองปัว (ตามเสียงอ่าน) จึงเป็นที่ยอมรับมากกว่าตั้งแต่สมัยนั้น
รูป 2 อนุสาวรีย์พระญาผานอง หรือเจ้าหลวงปัว วีรบุรุษของเมืองปัว บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอปัว
หากจะย้อนไปไกลกว่านั้น ก็จะพบแต่เมืองปัว โดยจะเขียนว่า เมืองพลัว และจะไม่พบคำว่า วรนคร เลย ดังจารึกทางเมืองสุโขทัย ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือ จารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ในอิทธิพลของสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า ...เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน... เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว... 5 ในจารึกเขาสุมนกูฏ หรือ จารึกหลักที่ ๘ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ ก็กล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ก็กล่าวถึงเมืองปัว ว่า ...เบื้องเหนือน้ำน่านถี แดนเจ้าพระยาผากองเจ้าเมืองน่านเมืองพลัว ...6 ส่วนจารึกคำปู่สบถ หรือ จารึกหลักที่ ๖๔ ที่พบบริเวณวัดพระธาตุช้างคำวรวิหาร ซึ่งเป็นจารึกที่เป็นหนังสือสัญญา คู่กับจารึกปู่สบถหลาน หรือจารึกหลักที่ ๔๕ ที่พบบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ในจากรึกคำปู่สบทก็กล่าวถึงเมืองปัว ว่า ...อนึ่ง บ้านเมืองเราทั้งหลาย และเมืองแพร่เมืองงาว เมืองน่านเมืองพลัว ปู่พระยาดูดังเดียวอันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระยาเป็นเจ้าเห็นว่ามีในราชสีมาท่านแล... 7 จะเห็นว่า จารึก ที่เป็นหลักฐานร่วมสมัย ในยุคนั้น ก็เรียกกันว่า เมืองพลัว โดยออกเสียงเป็นเมืองปัว กันทั้งนั้น ไม่พบชื่อที่เป็นภาษาบาลีเลย ต่อมาในยุคของการเขียนตำนานโดยพบในล้านนาเป็นจำนวนมาก โดยการที่พระสงฆ์โดยเฉพาะในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ได้ไปศึกษาบาลีถึงศรีลังกา และได้นำขนบการเขียนตำนานแบบลังกามาด้วย ทำให้มีคตินิยมในการเขียนตำนานเป็นภาษาบาลี ทั้งที่เป็นภาษาบาลีล้วน หรือบาลีแทรกเป็นช่วงๆ ก็ตาม ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเรียกชื่อเมืองต่างๆ เป็นภาษาบาลี ทำให้ในยุคของการเขียนตำนานนี้ มักจะมีชื่ออยู่สองแบบด้วยกัน คือ ชื่อที่ใช้เรียกกันอยู่โดยทั่วไป และเป็นชื่อในภาษาตระกูลไทหรือภาษาท้องถิ่นนั้น และอีกแบบหนึ่งคือชื่อที่เป็นภาษาบาลี หรือเรียกกันว่า ชื่อจับบวช
รูป 3 คูเมืองเดิมของเมืองปัว อยู่หลังที่ว่าการอำเภอปัว
การแปลงชื่อเป็นภาษาบาลี มีอยู่ ๒ แบบด้วยกัน คือ การแปลความ และการลากเข้าเสียง การมีชื่อสองชื่อนี้ยกตัวอย่างเช่น เมืองเชียงใหม่ ก็เป็น นพบุรี เมืองน่านก็เป็น นันทบุรี โดยเหล่านี้เป็นการลากเข้าเสียงทั้งสิ้น และเมื่อกับมาเมืองปัว ก็ย่อมที่จะมีชื่อเป็นภาษาบาลีกำกับ และที่รู้จักกันก็คือ วรนคร นั่นเอง บางทียังอาจพบเป็น พลวนคร 8 โดยกลายรูป พลัว มาเป็น พลว ตามการจับบวชเข้าบาลี ฉะนั้น ตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบัน ชื่ออันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป คือ เมืองปัว หรือเมืองพัวตามรูปอักษรล้านนา นอกจากนี้ การตั้งชื่อเมือง หรือเรียกชื่อเมือง ในภูมิภาคนี้มักจะเรียกตามภูมิประเทศ โดยเฉพาะชื่อแม่น้ำ โดยกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท นั้น มีลักษณะร่วมกันหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำสำคัญ เพื่อการเพาะปลูก ทำให้การเรียกเมืองก็เรียกตามชื่อแม่น้ำ เช่นเมืองปัว เรียกตามชื่อแม่น้ำปัวที่ไหลผ่าน หรือเมืองน่าน ที่ตั้งอยู่ริมน้ำน่านเป็นต้น หรือหากจะต้องการความหมายของคำว่า พัว หรือ ปัว แล้วนั้น จะกล่าวไว้อยู่สองประการ คือ ประการที่หนึ่ง เมื่อยึดตามตัวอักษรแล้ว คือ เมื่อเทียบเคียงกับอักษรไทย คือ พัว โดยที่ออกเสียงเป็น ปัว ตามเสียงไทยวน และภาษาไทดำ ก็ออกเสียงคล้ายปัว เพียงแต่ต่างกันที่โทนเสียงวรรณยุกต์ที่จะผิดแผกกันไปบ้าง9 ก็คือคำว่า พัว ในภาษาไทย อันแปลว่า ติดกัน10 ส่วนมากจะพบเป็น พัวพัน อันแปลคล้ายๆ กันคือ ต่อเนื่องกัน ฉะนั้นเมืองปัว ใน ณ ที่นี้ก็แปลได้ว่า เมืองที่ติดกัน หรือเกี่ยวเนื่องกัน หากจะพิจารณาตามตำแหน่งของเมืองแล้ว ก็อาจจะตีความว่า เป็นเมืองที่ติดกันกับเมืองย่างก็ได้อีกทางหนึ่ง ด้วยคราวทางไม่ห่างกันมากนัก ดังปรากฏในหนังสือคราวทางเมืองน่านว่า ...ย่างไปฅว่าง ๕๐๐๐ ฅว่างไปพัว ๓๐๐๐... 11 โดยที่เมือง ฅว่างนั้นสร้างในสมัยพระญาผานองที่สร้างให้กับเจ้าอามป้อม ประการที่สอง คือเป็นคำเก่าแก่ของดินแดนแห่งนี้ ทั้งเป็นชื่อแม่น้ำ และเป็นชื่อเมืองในภาษาตระกูลไทแล้ว อาจยังเป็นคำของ กลุ่มไทกาว ก็เป็นได้ ด้วยกลุ่มไทกาว นั้นเป็นชนพื้นเมืองของเมืองน่านไปตลอดถึงหลวงพระบาง โดยตำนานต่างเมืองก็มักจะเรียกผู้ปกครองเมืองปัวตลอดถึงเมืองน่านว่าพระญากาว อันกลุ่มไทกาวนี้ในเมืองน่านได้สูญหายและผสมกลมกลืนไปกับกลุ่มชาวไทยวนไปทั้งหมดทั้งสิ้น อันจะเหลือแต่ท่วงทำนองซอล่องน่านที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และอาจจะรวมถึงคำว่า ปัว อีกคำหนึ่งก็เป็นได้ ถ้าหากเป็นคำในกลุ่มไทกาวแล้ว ก็นับว่าควรจะรักษาไว้เป็นอย่างยิ่งเพราะทุกวันนี้นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ไม่มีอะไรจะสืบไปถึงไทกาวน่านแต่ดั้งเดิมได้อีกแล้ว ฉะนั้น เมืองปัว หรือ อำเภอปัว จึงควรค่าแก่การดำรงอยู่ ด้วยความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์และความเป็นมาอันยาวนานของเมืองปัวให้กับลูกหลานชาวปัวทุกคนได้ตระหนักถึง และส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไปด้วยความรักในถิ่นเกิด๚๛
เชิงอรรถ 1 ดูใน เว็บไซด์น่านทูเดย์ดอทคอม [onlin] Accessed 2010,Jan 13. Available From //www.nan2day.com/forum/index.php?topic=3816.0 2 แสนหลวงราชสมภาร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ เรื่อง ราชวงษ์ปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน. (พิมพ์ครั้งที่ ๑). (กรุงเทพฯ:โรงโสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๑) หน้า ๗๖ 3 สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรตและจัดทำ). พื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๓๙) หน้า (๑๙) 4 เรื่องเดียวกัน. หน้า ๕๓ 5 ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘) หน้า ๕๑ 6 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๖ 7 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖๖ 8 จากคำอธิบายในส่วนเชิงอรรถ ของ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ใน รัตนปัญญาเถระ ; แปลโดย แสง มนวิทูร. ชินกาลมาลีปกรณ์. (พิมพ์ครั้งที่๒). (<ม.ป.ท.> : มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๑๐) หน้า ๑๐๗ 9 มีวรรณ ลีรวัฒน์ และคณะ. พจนานุกรมภาษาไทยเปรียบเทียบ : กรุงเทพ เชียงใหม่ ไทยลื้อ ไทยดำ. (เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๕) หน้า ๒๐๐ 10 พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. [online] Accessed 2010, Jan 13. Available from: //rirs3.royin.go.th/dictionary.asp 11 อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ ศรีธน คำแปง ผู้ปริวรรต. พื้นนาเมืองน่านและคาวทางเมืองน่าน : ต้นฉบับ วัดหัวข่วง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. (เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่, ๒๕๒๘) หน้า ๒๑
หนังสืออ้างอิง
หนังสือ
ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘
มีวรรณ ลีรวัฒน์ และคณะ. พจนานุกรมภาษาไทยเปรียบเทียบ : กรุงเทพ เชียงใหม่ ไทยลื้อ ไทยดำ. เชียงใหม่ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๕
รัตนปัญญาเถระ ; แปลโดย แสง มนวิทูร. ชินกาลมาลีปกรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). <ม.ป.ท.> : มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๑๐
สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรตและจัดทำ). พื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, ๒๕๓๙
แสนหลวงราชสมภาร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๐ เรื่อง ราชวงษ์ปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน. (พิมพ์ครั้งที่ ๑).กรุงเทพฯ:โรงโสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๑
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ ศรีธน คำแปง ผู้ปริวรรต. พื้นนาเมืองน่านและคาวทางเมืองน่าน : ต้นฉบับ วัดหัวข่วง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่, ๒๕๒๘
สื่ออิเล็กโทรนิก
เว็บไซด์น่านทูเดย์ดอทคอม //www.nan2day.com/forum/index.php?topic=3816.0
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. //rirs3.royin.go.th/dictionary.asp
|
Sasis.BlogGang.com
ศศิศ
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [ ?]
|
|
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!