"ยวน" ผู้นิราศร้างห่างมาตุภูมิ
คำว่า “” หรือ ยวน หมายถึง ชื่อเผ่าของคนไท ในล้านนา เรียก “ไทยวน” ซึ่งแผลงเป็น “โยน” และ “โยนก” ได้[1] อันเป็นนามแห่งนครในตำนาน นั่นคือเมืองโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติ

กลุ่มไทยวนนั้นเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ในบริเวณ ๘ จังหวัดภาคเหนือ และนอกจากนั้น ก็ยังมีกระจายอยู่ในบางอำเภอของจังหวัดต่าง ๆ เช่น อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก สระบุรี ราชบุรี นครราชสีมา จะสังเกตเห็นว่า คนไท ยวนที่อยู่นอกจาก ๘ จังหวัดภาคเหนือ มักจะเรียกตัวเองว่า “ยวน” ส่วนคนที่อยู่ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือ จะเรียกตัวเองว่า “คนเมือง” [2]

ไทยวนพลัดถิ่นส่วนใหญ่ เป็นไทยวนที่มาจากเมืองเชียงแสน ในคราวที่เชียงแสนแตกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ หรือตามพระราชพงศาวดารว่าไว้ว่า “...ลุศักราช ๑๑๖๖ ปีชวด ฉศก เปนปีที่ ๒๓ เมื่อ ณ เดือนห้า พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าพระยายมราชนายทับนายกองไทยลาว ก็ยกลงไปเมืองเชียงแสน... ” [3] เพื่อเป็นการทำลายฐานที่มั่นของพม่าในล้านนา หลังจากที่พระเจ้ากาวิละได้ตีเมืองเชียงใหม่จากพม่าได้สำเร็จ พม่าก็ไปรวมกันและตั้งมั่นอยู่ที่เชียงแสน เพราะสมัยหลังนั้น พม่าใช้เชียงแสนเป็นหลักในการควบคุมเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ตลอดถึงรัฐของชาวไทยใหญ่ได้ง่าย เพื่อเป็นการขับไล่พม่าออกไปจากราชอาณาจักร จึงจำต้องตีเชียงแสนให้ได้



ซึ่ง “กองทัพลาว” ที่ว่านั้น มีทั้งลาวล้านนา และลาวล้านช้าง ดังที่ว่า “...เจ้าอิน เมืองจันทปุรี แลเจ้าอุปราชาอนุตนน้อง แลอโยธิยา แลเจ้ากาวิละเชียงใหม่ ลคอร เมืองแพล่ เมืองน่านทังมวล กำลังมีแสน ๒ หมื่นขึ้นมารบเชียงแสน... ” [4]

ในขณะนั้น ชาวเชียงแสนเอง ก็เบื่อหน่ายและได้รับความไม่เป็นธรรมจากพม่าเท่าไรนัก เมื่อกองทัพล้านนา ลาว และสยามมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนนั้น ชาวเชียงแสนบางส่วนก็เป็นใจให้กับกองทัพที่มาตี ดังที่นายทหารนายหนึ่งได้เขียนเล่าไว้ใน “คร่าวเชียงแสนแตก” ไว้ดังนี้

“...๒๖๖. พวกเชียงแสน ชวนกันแล่นเลี้ยว เข้ามาฆ่า นายทวาร
พร่องปืดง้าง ประตูกระบาน บ่มีนาน รือรุดร่วนก้อง... ” [5]

ในที่สุดก็ตีเชียงแสนได้ และขับไล่พม่าออกเมืองได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พม่าย้อนกลับมาใช้เชียงแสนเป็นฐานที่มั่นอีกครั้ง จึงจำต้องกวาดต้อนผู้คนออกจากเมืองเชียงแสน ดังที่ว่า

“...แล้วพระเปนเจ้า ค็เอาริพลสกุลเสนาโยธา แลฅนครัวเชียงแสน ออกจากเมืองเชียงแสน เดือน ๑๐ แรมฅ่ำ ๑ วันเสาร์... ” [6]

จากนั้นก็ออกจากเมืองเชียงแสนโดยแบ่งครัวชาวเชียงแสนที่กวาดได้ออกเป็น ๕ ส่วน ดังที่ว่าไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ที่ว่า

“...กองทับกวาดได้ครอบครัวสองหมื่นสามพันเสศ รื้อกำแพงเผาบ้านเมืองเสีย แล้วแบ่งปันครอบครัวกันเปนห้าส่วน ให้ไปแก่เมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง เมืองนครลำปางส่วนหนึ่ง เมืองน่านส่วนหนึ่ง เมืองเวียงจันท์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งถวายลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้าง แบ่งไปเมืองราชบุรีบ้าง... ” [7]



สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น พระเจ้ากาวิละได้นำครัวชาวเชียงแสนมาไว้ที่ บ้านฮ่อม บ้านเมืองสารท บ้านเจียงแสน ( บริเวณแขวงมังราย ปัจจุบันนี้ ) [8] ซึ่งส่วนใหญ่แล้วชาวเชียงแสนจะมีฝีมือในเชิงช่าง เมื่อมาเชียงใหม่ก็ได้สร้างวัดหลายวัด เช่น วัดอู่ทรายคำ วัดช่างดอกเงิน วัดดอกคำ เป็นต้น ส่วนเมืองลำปางนั้น ได้เอาคนมาไว้ที่วัดปงสนุก วัดเชียงราย ทางด้านเมืองน่านส่วนใหญ่จะไปไว้แถว อ.เวียงสาในปัจจุบัน เป็นต้น

ส่วนยวนที่อยู่ไกลที่สุดเห็นจะเป็นที่ เวียงจันทน์ ราชบุรี และสระบุรี แต่การเดินของไทยวนยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น โดยเฉพาะที่เสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่มีการขยายชุมชนออกไปอีก เพื่อหาที่ดินทำกิน[9] และขยายพื้นที่การเลี้ยงโค จากเสาไห้ ไปยังที่สีคิ้วอีกต่อหนึ่ง แล้วพากันจับจองที่ดินตั้งหลักฐานถาวรสืบมา[10]

นอกจากนี้ ยวน กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนไปยังเวียงจันทน์นั้น ครั้งถึงสมัยเมื่อสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยตีได้เมืองเวียงจันทน์ ตอนขากลับได้กวาดต้อนเชลยมาเป็นอันมาก ในบรรดาเชลยเหล่านี้คงมีเชลยที่เป็นชาวยวน...สมทบมาด้วย พอมาถึงนครจันทึก...ก็พบชาวยวนซึ่งมีเชื้อสายเดียวกันกับพวกตน จึงขออนุญาตตั้งหลักปักฐานอยู่ร่วมกับชาวยวนสีคิ้วต่อไป[11]

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ไกล อยู่ใกล้ ต่างก็เป็นชาติเชื้อเครือเดียวกัน และไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไว้วันหน้าถ้ามีโอกาส จักไปเยือน...

------------------------
เชิงอรรถ

[1] อุดม รุ่งเรืองศรี รวบรวม. พจนานุกรมล้านนา-ไทย : ฉบับแม่ฟ้าหลวง. พิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๑.เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๔๗ หน้า ๕๗๘
[2] ดูเพิ่มเติมใน ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๔ หน้า ๑๕ - ๓๐
[3] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ; นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ ; นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ.พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ : ฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙ หน้า ๑๘๕ – ๑๘๖
[4] คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน ใน สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์,๒๕๔๖ หน้า ๒๕๒
[5] ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว. คร่าวเชียงแสนแตก. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๕ หน้า ๒๙
[6] คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่,๒๕๓๘ หน้า ๑๓๗
[7] พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ : ฉบับตัวเขียน. อ้างแล้ว หน้า ๑๘๖
[8] ประวัติวัดอู่ทรายคำ [online] Accessed July 30, 2006. Available from //www.jadebuddha.net/history/History.htm
[9] ลัดดา ปานุทัย, ลออทอง อัมรินทร์รัตน์, สนอง โกศัย. วัฒนธรรมพื้นบ้านสีคิ้ว จังหวัดครราชสีมา. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ๒๕๒๖ หน้า ๑๖ – ๑๗
[10] สุริยา สมุทคุปติ์, พัฒนา กิติอาษา. "ยวนสีคิ้ว" ในชุมทางชาติพันธุ์ : เรื่องเล่า ความทรงจำและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดนครราชสีมา. นครราชสีมา : สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ๒๕๔๔ หน้า ๕๓ – ๕๔
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๔




Create Date : 22 สิงหาคม 2549
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2550 23:26:17 น.
Counter : 2069 Pageviews.

9 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)
  
เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ครับ
โดย: เ ม ฆ ค รึ่ ง ฟ้ า วันที่: 22 สิงหาคม 2549 เวลา:4:16:37 น.
  
ชื่นใจจังที่ยังไม่ลืมเรา
โดย: คนยวน IP: 202.69.139.194 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2549 เวลา:13:35:45 น.
  
ดีใจค่ะที่ยังมีคนที่รู้ว่ายังมีพวกเราอยู่เพราะคนเหนือหลายคนไม่รู้จักคำว่ายวน ไม่รู้จักคนยวน(แอบเสียใจนิดหน่อย) ทั้งๆเราคิดอยู่เสมอว่าเราเป็นคนเหนือคนหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะกลับไปที่ๆจากมา
โดย: ยวนพลัดถิ่น IP: 124.121.1.176 วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:16:39 น.
  
ภูมิใจค่ะที่เป็นลูกหลานยวน
โดย: แป้ง IP: 202.28.77.32 วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:29:32 น.
  
แวะมาดูบล็อคสวยๆ ที่เป็นแบบไทยๆค่ะ..
นู๋ญ่ามีเชื่อสาย มอญค่ะ..ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกันไหม
มีประวัติมอญไหมคะ..
โดย: นู๋ญ่า (kayook ) วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:20:18 น.
  
ขอให้คนยวนช่วยกันรักษาบ้านเมืองไว้ในสุวรรณภูมินี้ตลอดกาล ผมก็สืบสายจากคนยวนมาหลายชั่วอายุแล้ว
โดย: ยวนผู้รักแผ่นดิน IP: 118.174.39.12 วันที่: 15 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:04:04 น.
  
เราก็ควรรักษาวัฒนธรรมไว้นะคะ
โดย: อ่ะๆ ไม่บอก IP: 118.172.34.130 วันที่: 21 ธันวาคม 2551 เวลา:17:32:08 น.
  
ตาของผมก็เป็นยวน เหมือนกันครับ อยู่อำเภอสีคิ้ว
โดย: ลูกหลานยวน สีคิ้ว IP: 110.49.224.242 วันที่: 24 พฤษภาคม 2555 เวลา:19:18:48 น.
  
ระลึกถึงกันนะครับ
โดย: บ้านฮ่อมเชียงใหม่ IP: 171.4.248.133 วันที่: 31 ตุลาคม 2558 เวลา:22:56:53 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Sasis.BlogGang.com

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด