เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นในเด็กไทยได้อย่างไร ?
["ตัดแปะ" เรื่องอื่น]


ข้าพเจ้าได้รับบทความนี้จากอาจารย์ดำรง ทาง e-mail หลังจากอ่านดูแล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ซึ่งอาจารย์ดำรงได้อนุญาตแล้ว

อนึ่ง บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2551 โดยในส่วนที่มีการอ้างคำกล่าวของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ (พระพรหมคุณาภรณ์) นั้น อาจารย์ดำรงได้ขอท่าน ฯ ตรวจสอบแก้ไขแล้ว



เราจะสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นในเด็กไทยได้อย่างไร ?

ดำรง ลีนานุรักษ์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้



เพื่อนอาจารย์ที่แม่โจ้ถามหลังจากอ่านบทความเรื่อง “ไอน์สไตน์ว่า โรงเรียนต้องฟูมฟักฉันทะของเด็กนักเรียน” (มติชนรายวัน ๒๑ มค. ๒๕๕๑) ว่า “แล้วเราจะสร้างฉันทะให้นักศึกษาแม่โจ้ได้อย่างไร?”

วันนี้คิดว่าจะตอบคำถามเพื่อนอาจารย์ได้ดีกว่าที่เคยตอบ ด้วยได้ไปกราบท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ และโชคดีที่มีโอกาสได้ฟังท่านฯสนทนาธรรมกับคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลในเรื่องเกี่ยวกับฉันทะและแรงจูงใจต่อการศึกษา ถึงแม้ที่ได้รับฟังจะเป็นส่วนท้ายๆแล้ว

ตอนหนึ่งท่านฯได้กล่าวไว้มีใจความว่า เรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายที่บางส่วนได้เขวไป นั่นคือเรื่อง การจัดการศึกษาของเด็กแบบ เล่นและเรียน หรือ Play and Learn เพราะใจของเด็กชอบเล่นชอบสนุก สุดท้ายเป้าหมายซึ่งคือการเรียนเลยเขวไปเป็นการเล่นและเสพความสนุกแทน ในแง่การเรียนนั้นครูต้องทำตัวเป็นกัลยาณมิตรที่สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องที่จะน้าวโน้มให้เด็กสนใจในวิชาที่เรียนให้เห็นคุณค่าในตัวความรู้ที่จะได้ เพื่อให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของเขาในการคิดไตร่ตรองเอาใจใส่ การที่เด็กมีความสนใจไฝ่เรียนเพื่อให้ได้ความรู้ ก็คือการสร้างฉันทะให้เกิดขึ้นในตัวเด็กนั่นเอง ที่สำคัญควรที่จะได้ปลูกฝังเด็กให้มองกว้าง คิดไกล ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก และต้องให้รู้จักคิดแบบมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมนั่นคือคิดแบบเพื่อสังคม

ได้ถามท่านฯต่อว่า ถ้าอย่างนั้น ด้วยความอยากเล่นของเด็กเพื่อเสพความสนุกจัดเป็นตัณหา ก็แปลว่าวงการศึกษาไทยเรากำลังเอาตัณหามาล่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กเรียนหนังสือ ? ท่านฯว่า ก็นั่นนะซิ มันจะเขวไป ถ้าความสนุกนั้นไม่ได้มาช่วยให้เกิดความสนใจในตัววิชา ก็คือความล้มเหลว

หลังจากกราบลาท่านมา ได้ไตร่ตรองครุ่นคิดต่อว่าถ้าอย่างนั้นวงการศึกษาของเราน่าจะทำบาปครั้งใหญ่ต่อลูกหลานไทยเราที่ไปเอาหลักเรื่องนี้ตามฝรั่งมา เพราะตามหลักปฏิจจสมุปบาท ท่านว่า ...เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน... เมื่อนำมาอธิบายปัจจยาการของ ความชอบเล่นเพราะสนุกและเมื่อเสพเสวยเวทนานี้แล้วเกิดปิติเกิดความสุข ก็จะทำให้เกิดความอยาก(ตัณหา)โหยหาที่จะหามาเล่นอีก และความอยากนี้ก็จะเป็นปัจจัยต่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นโดยมีตัวตนของตัวเองเป็นแกนเป็นที่ตั้ง ซึ่งใจของเด็กก็จะเหมือนเสพติดการกระตุ้นด้วยการเล่นนี้ นั่นคือความสำคัญของการเล่นมาก่อน เล่นไปแล้วใจก็โหยละห้อยวนเวียนแต่การเล่น ถึงแม้บางรูปแบบหรือบางโมดูลของการเล่นและเรียนได้ถูกออกแบบมาดูแล้วเหมือนมีประสิทธิผล แต่ต้องไม่ลืมว่ากลไกนี้เป็นการฟูมฟักตัณหาของเด็กให้ฟอกโตฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจ นั่นคือต้องกระตุ้นตัณหาของเด็กเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เด็กเรียน ที่จะติดตัวนอนเนื่องเป็นอนุสัย

ที่ท่านฯแนะนำว่าต้องสอนเด็กให้คิดใหญ่ คิดไกล ไฝ่รู้ สู้งานยาก เป็นการสอนให้เด็กได้ใช้ศักยภาพความเป็นมนุษย์ในเรื่องของการเรียนรู้ไปในด้านบวก ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างหรือปลูกฝังวิถีคิดให้พุ่งไปในทางบวก ที่ช่วยให้เขามองเห็นโลกอย่างรู้เท่าทันมากขึ้น และดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์ได้อย่างถูกต้องไม่เป็นโทษต่อทั้งตนเอง ครอบครัว คนรอบข้าง และกว้างไกลออกไปนั่นคือต่อสังคม ทั้งนี้ในวิถีชีวิตของปุถุชนที่ต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสาร หรือจะว่าไปแล้ว โลกของเรากลับไปเอาตัณหาเป็นแกนที่ผลักดันให้คนเราต้องเดินตามหรือยึดตาม ที่เห็นง่ายๆชัดเจนก็คือเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างทั่วหน้า ก็มีแกนหลักของทฤษฎีที่เอาความอยาก(ตัณหา)ของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเหตุปัจจัยที่กระตุ้นหรือทำให้เกิดหรือก่อให้ตัวสภาวะตัณหามีขึ้น มีอยู่ดาษดื่นและชินชาจนกลับกลายเป็นเห็นเป็นธรรมดาในสังคมในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้เท่าทัน การเสริมสร้างให้เด็กมีหลักคิดที่เป็นบวก หรือการออกแบบระบบการเรียนของเด็กในโรงเรียนที่เอื้อต่อการฟูมฟักฉันทะจึงจะต้านกระแสโลกได้

เชื่อว่านักการศึกษาไทยเราคงจะต้องมาทบทวนกันใหม่ว่า หลักและเนื้อหาของพระพุทธศาสนาของเราซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาโดยแท้ และเป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ตั้งแต่ระดับหยาบในระดับกายจนลึกซึ้งถึงระดับจิตใจที่หยั่งถึงยาก ทำไมหลักการเหล่านี้ไม่ถูกปรับใช้ในวงกว้าง ทำไมบทบาทของครูในฐานะกัลยาณมิตราจึงจางลงและพร่องไป ทำไมกลไกการเรียนรู้ที่เป็นศักยภาพที่สำคัญของมนุษย์ที่มีอยู่ในปัจเจกที่เรียก โยนิโสมนสิการ จึงกลายเป็นศัพท์แปลกหูที่ต้องถามกันต่อว่าแปลว่าอะไร แล้วเราจะไปสร้างไปฟูมฟักให้เกิดฉันทะในตัวเด็กได้อย่างไร ในเมื่อเราวางน้ำหนักให้ตัณหาเป็นแรงจูงใจต่อการเรียนของเด็กโดยไม่รู้เท่าทัน

ท่านนักการศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารฯระดับสูงของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งส่วนใหญ่เคยกราบท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์มา เคยนิมนต์ท่านกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการศึกษาหลายครั้ง พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการศึกษา การสร้างจริยธรรมฯ ของท่านแจกจ่ายก็เยอะ น่าจะถึงเวลาไปกราบขอรบกวนท่านปรึกษาเพื่อปรับรื้อระบบการเรียนการสอนตรงนี้ใหม่ ถึงท่านฯจะมีสุขภาพไม่ค่อยจะดีแต่เชึ่อว่าท่านฯมีเมตตาและฉันทะที่จะยังประโยชน์แก่พหูชนในกรณีนี้





["ตัดแปะ" เรื่องอื่น]



Create Date : 24 เมษายน 2551
Last Update : 24 เมษายน 2551 22:26:14 น.
Counter : 1502 Pageviews.

29 comments
พ่อแม่ที่ติดโทรศัพท์ มีผลต่อลูกอย่างไร newyorknurse
(22 มิ.ย. 2568 21:04:21 น.)
กำแพงแสน : นกตบยุงเล็ก ผู้ชายในสายลมหนาว
(12 มิ.ย. 2568 08:52:18 น.)
กำแพงแสน : นกโพระดกธรรมดา ผู้ชายในสายลมหนาว
(10 มิ.ย. 2568 12:43:20 น.)
Generative AI in Education peaceplay
(4 มิ.ย. 2568 19:10:15 น.)
  
คงจะถึงเวลาของ Alternative Education อย่างจริงจังเสียที
โดย: May be IP: 203.147.36.34 วันที่: 25 เมษายน 2551 เวลา:9:31:07 น.
  
May be = Mayom แน่นอน
เพราะตะกี้นี้ ผมเพิ่งตามลบอีกสอง comment ที่ซ้ำกันออกไป
โดย: Plin, :-p วันที่: 25 เมษายน 2551 เวลา:10:37:43 น.
  
Play and Learn ผสมในสัดส่วนที่สมดุล โดยยึดหลักทางสายกลาง น่าจะเป็นผลผลิตที่มีประโยชน์เพื่อป้อนให้กับเด็กๆ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำในสิ่งที่ตนเองชอบ รัก และสนุกที่จะทำ ผลลัพธ์จะออกมาดี ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการศึกษา
โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 25 เมษายน 2551 เวลา:18:43:04 น.
  
ดูเหมือนว่า บทความที่ผมเอามาเนี่ย เค้าไม่เห็นด้วยกับ Play and Learn น่ะครับ เพราะเค้ามองว่า มันจะมีผลเสียในระยะยาว

คือ มองตามทฤษฎีทางศาสนาแล้ว มันเป็นการกระตุ้น ตัณหา มากกว่าการสร้าง ฉันทะ

คือ ไม่ได้ทำให้เห็นดีเห็นงาม เป็นประโยชน์ ของสิ่งที่เรียน แต่ต้องเอาอะไรมาล่อ เลยไม่น่าจะยั่งยืนเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า บทความนี้ เขียนไม่จบ คือ ไม่ได้ให้ทางออกว่า แล้วจะทำอย่างไร คือ รุ้ว่าต้องทำให้เกิดอะไรต่าง ๆ แบบนี้นะ แต่ไม่ได้บอกว่า ทำไมมันถึงทำไม่ได้ ทำไมมันมีอุปสรรคอะไรบ้าง

โดย: Plin, :-p วันที่: 25 เมษายน 2551 เวลา:19:33:55 น.
  
ข้าพเจ้าคิดว่า......บทความนี้นอกจากจะเขียนไม่จบแล้ว ยังทิ้งช่องโหว่ไว้เป็นระยะๆด้วย

เช่น การพูดถึงทฤษฎี Play and Learn ว่าจะเป็นการกระตุ้นและเสพติดตัณหามากกว่าเป็นการสร้างฉันทะ ที่จริงในการออกแบบหลักสูตรการศึกษานั้น การ Play and Learn จะใช้ในการเรียนการสอนของเด็นปฐมวัยเท่านั้น ไม่ได้ใช้แบบนี้ทุกช่วงชั้น ทุกวัย

...คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในเด็กปฐมวัยนั้น การเล่นคือการเรียนรู้ของเขา การสัมผัสจากอยาตนะทั้งหมด ก่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาไปเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในวัยต่อไป

มะยมเห็นด้วยกับบทความนี้มากๆๆๆ........ที่ว่า" หลักและเนื้อหาของพระพุทธศาสนาของเราซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาโดยแท้" แต่ว่ารูปธรรมของการศึกษาพุทธศาสนาในไทยคืออะไร???

คือการให้พระมาเทศน์ที่โรงเรียน? ด้วยภาษาที่ฟังง่ายแต่เข้าใจยาก เช่น คำว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้อย่างไร ตื่นอย่างไร เบิกบานอย่างไร??? ฯลฯ

หรือคำว่า โยนิโสมนสิการ ถ้าได้มีโอกาสรู้ว่า คืออะไรแล้ว....ก็จะถึงบางอ้อว่า ที่จริงก็คือ Systemic Thinking ที่ฝรั่งนำเสนอน่ะเอง ชาวพุทธอย่างเราเพิ่งมารู้ทีหลัง....

นั่นเป็นเพราะเรามีความรู้สึกว่า พุทธศาสนาเป็นพิธีกรรม...ที่พูดภาษาที่เราไม่เข้าใจ เป็นรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของวัดและคนแก่ที่ไม่มีอะไรจะทำแล้ว!!! อ้อ...เป็นที่ผลิตวัตถุมงคลด้วย

มะยมก็อยากตั้งคำถามกับทุกท่านในวงการพุทธศาสนาเหมือนกันค่ะว่า ท่านเสียดายหรือไม่ ที่เด็กๆของเราจะสูญเสียความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพียงเพราะวิถีแห่งพุทธศาสน์ เบี่ยงเบนตัวเองออกไปจากวิถีชีวิตของผู้คน...ห่างออกไปเรื่อยๆ.....

ในเรื่องการพัฒนาการศึกษาของไทย อาจจะไม่สามารถฝากไว้กับผู้บริหารการศึกษา......ตามที่เห็นและเป็นอยู่....ในปัจจุบันได้หรอก เพราะปัญหาระบบการศึกษาได้สั่งสมมานานและมีความซับซ้อนอย่างมาก

และมะยมก็ยังเห็นว่า ถึงเวลาของการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลายรูปแบบ ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม

โดยเฉพาะการจัดการศึกษาทางพุทธศาสนา เรียนรู้ความเป็น "คนพุทธ" ที่แท้จริงควรต้องรีบตื่นได้แล้ว......
โดย: มะยม IP: 117.47.53.180 วันที่: 26 เมษายน 2551 เวลา:19:21:54 น.
  
ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ว่า Play and Learn = เพลิน เนี่ย เค้าจะขยายไปถึงชั้นไหนบ้างหรือเปล่า เพราะว่า ไม่ได้ติดตามข่าวเลย

ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นการ เข้าไปฟัง พระพรหมคุณาภรณ์ สนทนาธรรมกับ อาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วเอามาเล่าต่อ

ตกลงแล้ว คนคุยเป็นคนจัดการหลักสูตร ??
โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog) IP: 202.28.62.245 วันที่: 26 เมษายน 2551 เวลา:19:43:53 น.
  
เท่าที่มะยมทราบ (ถ้าท่านใดมีข้อมูลที่ Updateกว่านี้ก็ช่วยแนะนำแก้ไขให้ด้วยค่ะ)

ปกติสำนักพุทธศาสนา ท่านก็จะมีหลักสูตรเกี่ยวกับการเรียนพุทธศาสนาให้กับ กศธ. เพื่อนำไปใช้เป็นหลักสูตรกลาง มอบให้กับโรงเรียนไปจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงชั้น

ทีนี้ประเด็นของมะยมก็คือว่า....

1. การศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นแค่หัวข้อหนึ่งในสาระวิชาสังคมศึกษา ซึ่งในสาระนี้จะมีหลายๆเรื่อง เยอะแยะไปหมด

2. วิธีการเรียนการสอน ก็เป็นการเรียนแบบท่องจำภาษาที่ทั้งฟังยากและเข้าใจยากและฟังง่ายแต่เข้าใจยาก โดยไม่ต้องนึกถึงว่าปฏิบัติจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดปฏิเวธ(ส่วนในมหาวิทยาลัย เข้าใจว่ามีคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นดูแลการจัดทำหลักสูตรเหล่านี้

ที่จริง ศาสนาเป็นวิถีชีวิต เป็นวิธีคิด เป็นทัศนคติที่ต้องสั่งสมมาตั้งแต่เด็กเริ่มรู้ความ จากบ้าน ชุมชน จนมาถึงโรงเรียน ไม่ใช่การมาท่องจำศัพท์ต่างๆเพื่อสอบ อะไรอย่างนี้...

ทราบว่าสำนักพุทธฯ เดี๋ยวนี้มีนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาที่จบปริญญาโท-เอก หลายท่าน เราน่าจะทำให้การเรียนการสอนพุทธศาสนาเป็นแบบ Lifelong Learning

...ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งในและนอกโรงเรียน โดย"ครู"ที่เป็นผู้รู้ในชุมชน หรือเป็นเครือข่ายของครูทั้งด้านปฏิบัติ ปริยัติ อะไรประมาณนี้..

เราถึงจะถือได้ว่าเป็น"คนพุทธ" อย่างแท้จริง ไม่ใช่พุทธเฉพาะในบัตรประชาชนเท่านั้น
โดย: มะยม IP: 222.123.164.251 วันที่: 27 เมษายน 2551 เวลา:21:01:53 น.
  
เอ ผมเข้าใจว่า การศึกษาในบทความนี้ ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะ เรื่องพุทธศาสนา เท่านั้นน่ะครับ
โดย: Plin, :-p วันที่: 28 เมษายน 2551 เวลา:21:05:39 น.
  
ก็ใช่ค่ะ แต่มะยมเหนื่อยที่จะ comment เพราะค่อนข้างหมดหวังกับระบบการศึกษาของเราแล้ว

มะยมค่อนข้างจริงจังกับระบบการศึกษาทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะ......การพัฒนาการเรียนรู้จากภายในตน
จะทำให้คนเรารู้จักและเข้าใจตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมได้ดี

ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรดีเท่ากับแนวทางของพระพุทธศาสนาอีกแล้ว....
โดย: มะยม IP: 117.47.112.32 วันที่: 29 เมษายน 2551 เวลา:20:59:52 น.
  
เคยดู รายการ คนค้นคน ตอนนึงที่นำเสนอเรื่องราวของครูสอนพระพุทธศาสนาที่ใช้การเล่น (Play) เป็นวิถีเพื่อให้ถึงจุดหมาย คือ การเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวเป็นคนดีของสังคม (Learn) ซึ่งคิดว่าเป็นการผสมผสานที่ลงตัวดีค่ะ เลยคัดลอกจากทางรายการมาให้ได้อ่านกัน

20 ปีแล้วที่คุณครูอุทุมพร ได้ย้ายมาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบางมดสีสุกหวาดจวนอุปถัมป์ เขตบางมด กรุงเทพมหานครแห่งนี้ และได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนวิชาพุทธศาสนาทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยสอนแต่วิชาสังคม อังกฤษ หรือวิชาทั่วไป ส่วนวิชาพุทธศาสนานั้นไม่เคยสอนมาก่อนเลยด้วยซ้ำ ครูอุทุมพรเล่าถึงเหตุการณ์ที่เริ่มสอนวิชานี้เป็นครั้งแรกว่า.. “ชั่วโมงแรกที่ครูเข้าไปสอน เด็กๆไม่ฟังเลย วิ่งเล่นกันเหมือนกับจิ้งหรีด ครูยืนเหงื่อตกเลยนะ ไม่รู้จะทำยังไง จะเริ่มยังไง สักพักครูก็ไปยืนหน้าชั้นแล้วบอกว่า เอาละ..สอนเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วดีกว่า นักเรียนก็เฮกันลั่นห้อง มีเด็กคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า คนดีเพิ่งตายไปเมื่อวานนี่เอง เราก็อึ้ง ไม่รู้จะพูดยังไง ก็ชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้อู้ให้หมดชั่วโมงไป จากความล้มเหลวในการสอนวิชาพุทธศาสนาครั้งแรกนั้นทำให้ครูรู้สึกเป็นทุกข์ไม่น้อยแต่ก็ไม่ทำให้ครูรู้สึกท้อแม้แต่น้อยกลับทำให้ต้องพยายามคิดค้นหาวิธีที่จะสอนวิชาที่ใครๆก็บอกว่า น่าเบื่อ นักเรียนไม่อยากเรียน ทั้งระบบการเรียนการสอนก็ไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก ครูคิดว่าจะสอนพุทธศาสนายังไงไม่ให้เด็กๆ เบื่อและหันมาสนใจเรียนให้มากขึ้นและที่สำคัญเด็กจะมองว่าวิชานี้มันล้าสมัย คร่ำครึน่าเบื่อ หน่วยกิตแค่ 0.5 ทำให้เด็กไม่เห็นความสำคัญและพุทธศาสนาก็ไม่ถูกทำให้สำคัญ ทั้งๆ ที่มันสำคัญมากเพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยการสร้างคนให้เป็นคน โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันนี้ความเป็นคนน้อยลงทุกที ครูคิดแล้วก็รู้สึกเสียใจเลยพยายามค้นหาวิธีสอนที่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจและอยากเรียนรู้ให้ง่ายขึ้น มันเป็นวิชาการปลูกฝังความเป็นคนที่ดีได้ไม่มากก็น้อย ครูคิดอย่างนี้นะ” “โดยเราต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ครูพยายามหาความรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อน เริ่มจากสามีซึ่งเขาก็เป็นคนธรรมะธัมโมมากๆ เพราะเมื่อก่อนเขาลำบากแต่อยากเรียนหนังสือเลยบวชเรียนจนจบก่อนที่จะทำงานเป็นเสมียนแต่ยังพยายามเรียนต่อไปอีก ก่อนที่จะมาเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ปัจจุบันสามีครูเสียแล้ว บ้างก็ไปเรียนรู้จากหลวงพ่อวัดสีสุก บางครั้งก็เข้าห้องสมุดหรืออะไรก็ตามที่ครูจะไปขอความรู้ได้ โดยครูยึดหลักว่า เมื่อครูไม่มีน้ำในตุ่มครูจะไปตักน้ำให้คนอื่นกินได้ยังไง เมื่อคิดยังนี้ครูจึงไปเรียนธรรมศึกษาที่วัดราชโอรส และสอบนักธรรม และก็เริ่มต้นสอนแบบเข้าใจพุทธศาสนาจากตัวครูเอง ซึ่งวิชานี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ถึงแม้จะมีประโยชน์แต่บริโภคยาก เปรียบเหมือนยาขมแต่จะทำยังไงที่จะเอายาขมนี้มาเคลือบด้วยช๊อคโกแลตให้สวยงามเหมาะแก่การบริโภค” และสุดท้ายความพยายามของครูอุทุมพรก็สำเร็จ เมื่อครูได้ไปเรียนการทำภาพหนังกระดาษที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ที่ครูเรียกว่าภาพกระดุ๊กกระดิ๊กมาจากวัดชลประทานแล้วนำมาพัฒนาปรับใช้กับนักเรียนและหาวิธีการต่างๆ มาเป็นสื่อการสอนเพิ่มเติมอย่างรูปดารา ดาบเลเซอร์ ของเล่นเด็ก ตุ๊กตา พร้อมกับการเล่าเรื่องแบบละครมีการพากษ์เสียงประกอบภาพ นอกจากนี้ครูอุทุมพรยังหาวิธีการและเทคนิคอีกมากมายมาสอน นับจากวันนั้นวิชาพุทธศาสนาก็เป็นที่นิยมของเด็กๆ ครูเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากกลับมาสอนครั้งนั้นว่า "เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้ หลังจากที่ครูกลับมาอีกครั้งด้วยภาพประกอบที่เคลื่อนไหวได้ เด็กๆ หัวเราะชอบใจกันใหญ่และมีการตอบโต้กับสิ่งที่ครูสอน หลังจากนั้นวิชานี้ก็กลายเป็นวิชาที่เด็กๆ รอคอยที่จะให้ถึงเร็วๆ ส่วนอุปกรณ์การสอนทุกชิ้นครูจะประดิษฐ์เองกับมือ บ้างก็ไปหาชื้อตามตลาดนัดมาบ้าง” ครูบอกว่าที่ครูค้นพบวิธีการสอนแบบนี้ได้ ถือได้ว่าเด็กๆ มีบุญคุณมากเพราะครูได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เด็กๆ ไม่สนใจเรียนทำให้ครูต้องพยายามหาวิธีเปลี่ยนทัศนคติของเด็กให้ได้ นอกจากจะเป็นครูสอนพุทธศาสนาแล้ว โดยส่วนตัวของครูเองก็ได้นำหลักคำสอนของศาสนามาใช้ในชีวิตประจำมาโดยตลอด ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย ทุกวันครูจะห่อข้าวมาทานที่โรงเรียนซึ่งครูต้องการสื่อให้เด็กๆ เห็นด้วยว่าสิ่งที่ครูสอนไปนั้น ครูเองก็ได้ปฏิบัติตัวเองด้วยเช่นกัน หลังจากเป็นครูมายาวนานกว่า 40 ปี วันเกษียณอายุราชการก็มาถึง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทางโรงเรียนบางมดวิทยาได้จัดพิธีมุฑิตาจิตแด่ครูอุทุมพรขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศอาลัยอาวรณ์ของบรรดาลูกศิษย์ทั้งเก่าและใหม่และอาจารย์ในโรงเรียนทุกท่าน แม้ความเป็นครูในอาชีพจะจบลงแต่ความเป็นครูด้วยหัวใจยังคงไม่สิ้นสุดลงไปด้วย ชีวิตหลังเกษียณของครูอุทุพรแทนที่จะอยู่บ้านพักผ่อนอย่างมีความสุขอย่างควรที่จะเป็นแต่ครูยังคงทำงาน ไม่ว่าจะมีหน่วยงานไหน โรงเรียนอะไร เชิญให้ไปเป็นวิทยากรจะใกล้ไกลแค่ไหน ครูก็จะเดินทางไปด้วยความรู้สึกที่มีความสุขที่ได้ไปสอน ที่ครูยังต้องทำงานต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่า รอไม่ได้แล้ว เพราะสังคมเราทุกวันนี้สับสนวุ่นวาย เพราะคนไม่มีหลักศีลธรรมในการใช้ชีวิต มีแต่เห็นแก่ตัว ไม่คิดทำประโยชน์เพื่อใครทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ครูหยุดไม่ได้ที่จะทำงานต่อ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม ครูก็จะทำให้ถึงที่สุดที่จะเผยแพร่วิชาพุทธศาสนานี้ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันครูอุทุมพรได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ การเรียนการสอนวิชาพุทธศาสนา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ครูรู้สึกภาคภูมิใจเท่ากับการที่ลูกศิษย์ได้นำคำสอนในวิชาพุทธศาสนาที่ครูพยายามเพียรสอนไปใช้ในชีวิตปัจจุบันและในอนาคตสำหรับการดำรงอยู่ในสังคมทุกวันนี้
โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 30 เมษายน 2551 เวลา:18:27:30 น.
  
เดี๋ยวผม forward อันนี้ ไปให้ เจ้าของบทความอ่าน ดีกว่าครับ
โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog ตัวจริง ไม่ได้ login) IP: 202.28.62.245 วันที่: 30 เมษายน 2551 เวลา:18:41:45 น.
  
อาจารย์ผู้เขียนบทความ ตอบมาแบบนี้ครับ



เรียนคุณ Plin,


ขอบคุณที่ส่งเอกสารที่คุณmaple post เข้ามา
ซึ่งถ้าพิจารณาสิ่งที่ครูอุทุมพรกระทำคือได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ดี
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เราอยากให้มีอยู่เป็นอยู่ในตัวครูทุกคน(ซึ่งยากมาก) 
นั่นคือครูอุทุมพรได้หาวิธีที่จะน้าวโน้มให้เด็ก(เลิกเล่น)
มาสนใจเรียน โดยจะเห็นได้ว่าครูเองได้พยายามเข้าถึงเนื้อหาของวิชาก่อน
เพื่อที่จะได้หาวิธีการถ่ายทอดที่จะดืงความสนใจที่จดจ่ออยู่ที่การเล่นของเด็กออกมา
เปลี่ยนเป็นสนใจเนื้อหาของวิชา ขั้นตอนต่างๆตรงนี้พิจารณาดูให้ดี
นี่เป็นการกระทำที่เปี่ยมด้วยฉันทะของครูอุทุมพร 
ซึ่งสรุปได้จากคำพูดครูอุทุมพรที่คุณmaple post มา  นั่นคือ  " ครูบอกว่า
ที่ครูค้นพบวิธีการสอนแบบนี้ได้ ถือได้ว่าเด็กๆ
มีบุญคุณมากเพราะครูได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เด็กๆ
ไม่สนใจเรียนทำให้ครูต้องพยายามหาวิธีเปลี่ยนทัศนคติของเด็กให้ได้
"  


จะเห็นได้ว่าครูไม่ได้นำเอาการเล่นที่เด็กชอบหรือเล่นอยู่มาล่อให้เด็กตั้ง
ใจเรียน  ในการสอนพุทธศาสนาให้แก่เด็กที่ได้ผลและท่านใช้กันมาแต่โบราณกาล
นั่นคือการสอนหลักธรรมที่สอดแทรกในชาดกที่ดำเนินเรื่องอย่างสนุก
หรือเรื่องแต่งใหม่ที่เข้ากับยุคสมัย เช่นสมัยผมเรียนชั้นประถม
มีหนังสือเรื่องอุดมเด็กดี ที่นำเรื่องทำให้เราสนใจ
เสริมสร้างความอยากอ่านหนังสือ
และซึมซับคุณธรรมดีๆของตัวละครในเรื่องหรือทำให้เกิดการกระตุ้นความคิดพิจารณา
ว่าอันนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่น่าเอาอย่าง
อย่างเช่นชลอหลังยาวในเนื้อเรื่องที่สอดแทรกอยู่อย่างชวนติดตามสำหรับเด็กอายุขนาดนั้น  


ย้อนกลับมาเรื่องคุณครูอุทุมพร  ถ้าคุณครูอุทุมพรขาดฉันทะ คุณครูก็จะไม่เริ่มที่ตัวเองที่จะ ไฝ่รู้ สู้งานยาก ขวนขวายให้ตัวเองรู้จริงในเบื้องต้นด้วยตัวเอง  ด้วย " ได้
รับมอบหมายให้เป็นครูสอนวิชาพุทธศาสนาทั้งๆ
ที่เมื่อก่อนเคยสอนแต่วิชาสังคม อังกฤษ หรือวิชาทั่วไป
ส่วนวิชาพุทธศาสนานั้นไม่เคยสอนมาก่อนเลยด้วยซ้ำ
" ทั้งนี้โดยมีเจตน์จำนงที่จะกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของวิชานี้ ตามที่ว่า " และ
ที่สำคัญเด็กจะมองว่าวิชานี้มันล้าสมัย คร่ำครึน่าเบื่อ หน่วยกิตแค่ 0.5
ทำให้เด็กไม่เห็นความสำคัญและพุทธศาสนาก็ไม่ถูกทำให้สำคัญ ทั้งๆ
ที่มันสำคัญมากเพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยการสร้างคนให้เป็นคน โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันนี้ความเป็นคนน้อยลงทุกที
" ครูจึงมีจิตใจแน่วแน่ที่จะเอาชนะอุปสรรคด้วยมีความคิดว่า " มันเป็นวิชาการปลูกฝังความเป็นคนที่ดีได้ไม่มากก็น้อย ครูคิดอย่างนี้นะ "  


ถ้าขาดฉันทะครูก็จะสอนไปตามหน้าที่โดยไม่สนใจว่าผลสัมฤทธิ์ของการสอนจะเป็นอย่าง
ไร  ยิ่งไม่ได้เข้าใจพุทธศาสนาหรือเห็นว่าน่าเบื่อเสียเอง
แต่ตัวเองต้องสอนให้จบชั่วโมง(ทั้งเทอม)จะพูดๆอู้ๆให้จบชั่วโมงเรียน
(อย่างชั่วโมงแรกของครูอุทุมพร)ก็ไม่ได้ 
ก็อาจจะล่อเด็กด้วยการเล่นเป็นแรงจูงใจ เช่น 
เอ้าเรามาเรียนกันก่อนเดี๋ยวครูจะปล่อยให้ไปเล่นเวลา10นาทีก่อนหมดชั่วโมง
หรือฯลฯที่เอาการเล่นมาเป็นตัวล่อ  จะเห็นได้ว่า ครูอุทุมพรไม่ได้เขวไป(อย่าง
ที่ท่านเจ้าคุณฯปรารภ)
ไม่มีตรงไหนเลยที่ครูเอาการเล่นมาล่อเด็กให้สนใจเรียน  ตรงกันข้าม 
ครูขวนขวายสร้างกระบวนการเรียนที่เน้นนำเข้าสู่เนื้อหาวิชาตั้งแต่ต้น
ไม่มีกระบวนการเล่น(เพื่อความสนุกมาล่อ) แล้วนำไปสู่การเรียน


บทความที่ผมนำเสนอ เป็นเพียงการสท้อนข้อปรารภของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ตรงที่ ถ้าไม่ทำความเข้าใจตัวหลักให้ชัด ก็จะเขวไปได้  ประกอบเข้ากับแนวคิดที่ว่าโรงเรียนจะต้องเป็นที่บ่มเพาะฉันทะของเด็ก ยิ่งเป็นไปได้ยากถ้ามันเกิดเขวไป


แนวคิดเรื่อง play&learn ต้องเอาตัวหลักมาทำความเข้าใจให้ชัด
อย่าให้เขว และถ้าศึกษาให้ดี ต้นแบบที่อ้างว่าใช้แนวคิดplay&learn
ก็ไม่ได้เขว เช่นดู www.onec.go.th/publication/t_jourus/t_jarourus.pdf 
ดูสาระในหน้า41-42
จะพบว่าไม่มีกระบวนการเล่นมาเป็นหลักหรือเครื่องมือเลยในสรุปปัจจัยสำคัญในการสนับ
สนุนการเรียนรู้   และในหน้า59ครูจรวยรัตน์ครูต้นแบบ
และครูดีเด่นจากบุรีรัมย์ได้สรุปเทคนิคการสอนไว้สั้นๆว่า

                                                    - เสริมแรงทางบวก

                                                    -มอบความรักความเมตตา

                                                    -นำสื่อรอบตัวมาเรียน


ขอใครที่มีลูก ลองนึกดู
ท่านเคยทำอย่างที่ผมเคยเห็นพ่อแม่บางคนทำกับลูกอย่างนี้ไหม เช่น
พูดอย่างอ่อนโยนกับลูก  "ลูกจ๋า ลูกเล่นเกมส์มาตั้งชั่วโมงแล้ว เลิกเล่น
ไปทำการบ้านก่อนเถอะลูก " 
เจ้าลูกชายทั้งมือทั้งตาทั้งหมดจดจ่ออยู่กับเกมส์ตะโกนกลับบอกแม่ว่าเดี๋ยวก่อนจะจบ
แล้ว  สักพักใหญ่แม่ก็พูดประโยคเดิม แถมพูดเสียงเข้มขึ้นว่า "
เอ้าแม่ให้อีก10นาทีนะถ้าไม่เลิกแม่ปิดเครื่องนะ ไปทำการบ้านก่อน
แล้วค่อยกลับมาเล่น "   


ผมคงไม่ขอแสดงความคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมอีกต่อไปในประเด็นนี้
เพราะถือว่าได้นำเสนอความเห็นแล้ว
ข้อวิพากษ์ต่อเนื้อหาที่นำเสนอก็จะหลายหลาก  ใครจะได้ประโยชน์
ได้เรียนรู้ จะได้มากได้น้อยก็จะต่างๆกันไป  เป็นธรรมดาครับ


นับถือ 

ดำรง  


โดย: Plin, :-p วันที่: 2 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:59:33 น.
  
ขอบคุณนะคุณ Plin ที่เอามาบอกเล่าเก้าสิบกันต่อ
อืม...ข้อความที่อ.ดำรง ตอบกลับมาทำให้เข้าใจบทความครั้งแรกที่คุณ Plin เอามาแปะมากขึ้นนะ และรู้สึกว่าอาจารย์ก็มีคำตอบอยู่แล้วว่า กุญแจสำคัญก่อนการจะสร้างฉันทะให้เกิดแก่เด็กนั้น ควรจะสร้างฉันทะให้เกิดแก่ครูบาอาจารย์ก่อนเป็นสำคัญ

ว่าแต่ว่า หนังสืออุดมเด็กดี นี่ ใช่รุ่นเดียวกับ มานะ มานี ชูใจ ปิติ หรือเปล่าเนี่ย
โดย: Maple IP: 202.129.59.2 วันที่: 2 พฤษภาคม 2551 เวลา:16:58:38 น.
  
เสียดายน่ะ....แม่พิมพ์ที่ดี มีน้อย

แต่แม่พิมพ์ที่ตั้งใจอยากทำ ให้ดี ก็มีเยอะ
ปัญหาส่วนตัวที่รุมเร้า อาจมีผลกระทบต่อการเรียนการสอน

แต่ เผยแพร่ หลักการ แนวคิด เทคนิค
ก็เป็นวิทยาทานอย่างหนึ่ง..
หลายแม่พิมพ์อาจใช้เป็นประโยชน์

แม่พิมพ์ที่ว่า...ไม่ได้หมายถึงครู เท่านั้นน่ะ
โดย: icechick วันที่: 3 พฤษภาคม 2551 เวลา:8:14:16 น.
  
อันที่จริงแล้ว เมื่ออยู่ในสังคม ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้สอน และ ผู้เรียน ได้
โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog) IP: 202.28.62.245 วันที่: 3 พฤษภาคม 2551 เวลา:10:32:40 น.
  
วันนี้เห็นข่าว การออก software game เพื่อเสริมสร้างเรื่องธรรมะกับเด็ก ๆ
นัยว่า เพื่อปลูกฝังตามสภาวะ ที่เด็กไทยเป็นอยู่ขณะนี้
เป็น Play & Learn อย่างหนึ่งหรือเปล่าน่ะ?

แต่ดูเหมือนแนวคิดตั้งต้น ต้องการปลูกฝังแก่เด็กจริง ๆ
เพียงแต่ว่า คนต่อยอดความคิด...จะนำไปขยายผลอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่อง

ในความคิดส่วนตัว...รู้สึกแปลก ๆ ยังไงก็ไม่รู้
คงต้องย้อนไปอ่านข้างต้นใหม่อีกสักรอบ!!
โดย: icechick วันที่: 4 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:12:34 น.
  
อืม ผมว่า อันที่ อ ดำรง ตอบไ้ว้ใน คคห 12 กับ ตัว บทความ ไม่ได้ไปในทางเดียวกันทั้งหมด แต่หลัก ๆ คือ ต้องสร้างฉันทะก่อน

ที่วา ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ผมหมายถึงว่า ในตัวบทความ เ้น้นว่า ต้องสร้างให้เด็ก โดยไม่สร้างตัณหาให้ แต่ใน คคห 12 บอกว่า อาจารย์สร้างฉันทะให้ตัวเองก่อน ซึ่งอันนี้ไม่ปฏิเสธ อันนี้ดีแน่

แต่.. ไม่ได้ตอบคำถามว่า แล้วตกลง วิธีกระตุ้นความสนใจให้เด็กเนี่ย มันมี pitfall อยู่อีกไหม แล้วพอสร้างฉันทะให้ครู้ได้แล้ว จะสร้างให้เด็กตาม (โดยไม่เผลอสร้างตัณหา) ได้ไหม

แล้วก็ัยังไม่รู้เลยว่า ทำไมจู่ ๆ อ มหิดล กับ พระพรหมคุณาำภรณ์ ถึงไป discuss เรื่อง play and learn ได้ แล้ว มีตัวอย่างหรือยังว่า ไปสร้างตัณหาจริง ๆ

ผมก็เลยต้องไปอ่านอีกรอบเหมือนกัน

แต่ อ ดำรง ได้บอกไว้ใน คคห 12 แล้วว่า ขอไม่แสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกแล้ว ดังนั้น สงสัยถ้าเราอยากรู้ว่าเรื่องมันเป็นมายังไงจริง ๆ ผมอาจจะลองหาทางสอบถามไปที่ต้นเรื่องจริง ๆ ว่า วันนั้นได้สนทนาธรรมกันอย่างไรกันแน่ (คงต้องสืบก่อนว่า จะไปถามไ้ด้ยังไง)
โดย: Plin, :-p ไม่ได้ login IP: 202.28.62.245 วันที่: 4 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:23:35 น.
  
ที่จริงมะยมเข้ามาอ่านเรื่องนี้บ่อยมาก พยายามทำความเข้าใจว่า อ.ดำรง พยามสื่ออะไรและต่อประเด็นคำถามที่ว่า.....จะสร้างฉันทะให้กับนักศึกษาแม่โจ้ได้อย่างไร?

ที่จริงไม่ว่าแนวคิดแบบสมัยใหม่หรือแนวคิดทางพุทธศาสนา ต่างก็เห็นว่า "สิ่งเร้า" คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เหล่านี้ ทำให้มนุษย์เกิดเวทนา คือ ชอบหรือไม่ชอบ>>>>เกิดเป็นตัณหา คือ อยากได้หรือไม่อยากได้>>> พัฒนาไปสู่อุปาทาน คือ ยึดเอา (ตัวกู-ของกู)

แต่ปัญหาเริ่มเกิด....เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และศาสนามีมุมมองในการแก้ปัญหาที่ต่างกันสุดขั้ว

คือวิทยาศาสตร์มองว่าสิ่งเร้าที่เป็นต้นเหตุเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ "มีความสุข" ส่วนพุทธศาสนามองว่าสิ่งเร้านี้ ทำให้เกิด "ความทุกข์"ในตอนปลาย (คือสุขชั่วคราว)

พอถึงขั้นตอนการ Implement ก็เลยกลายเป็นคนละขั้ว แต่แนวปฏิบัติในทางวิทยาศาสตร์จะมากกว่าเพราะเป็นเรื่องของความสุข คนชอบ และก็มีคนคอยคิดกลยุทธให้มากมาย แม้กระทั่งพระที่เป็นนักการศึกษาก็เริ่มเข้ามาในทางนี้ด้วยเหมือนกัน....

เรื่องของการสร้างฉันทะ เป็นนามธรรมที่ท้าทายเราในการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกระแสของวัตถุนิยมเช่นนี้

แต่ถ้าในสังคมมี "ครู"แบบครูอุทุมพรมากๆ ก็คงพอเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์บ้าง

เห็นด้วยกับคุณ Plin ที่ว่าเราทุกคนเป็นได้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้ แต่ผู้บริหารการศึกษา ต้อง"มีการจัดการ" ในเรื่องนี้อย่างรู้จริงและแหลมคม...จึงจะเห็นรูปธรรมของการสร้างฉันทะในเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งสังคม
โดย: มะยม IP: 222.123.164.104 วันที่: 5 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:10:42 น.
  
ขอนอกเรื่องนิดนึง คือรู้สึกตะขิดตะขวงใจมานานแล้ว กับการที่พยายาม บอกว่า พุทธศาสนาเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ เช่น เป็นประชาธิปไตยบ้างล่ะ หรือ เป็นวิทยาศาสตร์บ้างล่ะ แล้วเอามาไว้ในบทเรียนให้เด็ก ๆ เรียน

ทำไมต้องเอาลัทธิการเมืองมาอ้าง ทำไมต้องเอาวิทยาศาสตร์มาอ้าง

คือ ตรงนี้มองว่า เป็นการทำเพื่อหวังให้คนที่ไม่ศรัทธา เข้ามาศรัทธา แต่เหมือนว่าจะใช้เหตุผลที่ดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลเท่าไหร่นัก

อย่างเช่น เราก็เห็นอยู่ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ถึงจะมีส่วนซ้อนทับกัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นอย่างเดียวกัน

จำได้ว่าในบทเรียนสำหรับมัธยม พยายามยก Einstein ขึ้นมาอ้างอีกด้วย

ทำไมเราต้องเอาคนอื่นมายืนยัน ว่าพุทธศาสนาดีด้วย ในเมื่อพุทธศาสนาก็คือพุทธศาสนา เราไม่สามารถเอาสิ่งดี ๆ ภายใน มาเชื้อชวนให้คนศรัทธาได้เลยหรือ จึงต้องเอาอย่างอื่นมาอ้างด้วย
โดย: Plin, :-p วันที่: 5 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:49:19 น.
  
ประโยคสุดท้าย เป็นโจทย์ที่ใหญ่และน่าสนใจมากค่ะว่า......เราไม่สามารถเอาสิ่งดีๆภายใน มาเชื้อชวนให้คนศรัทธาได้เลยหรือ?....

ได้ค่ะ...แต่เราต้อง"รู้อย่างลึกซึ้ง"ในแก่นแท้ของพุทธศาสนาก่อนค่ะ....แล้วด้วยวิธีไหนล่ะ?

เรามีทางเลือกอะไรบ้างในการที่จะเข้าถึงการที่จะเป็นผู้รู้อย่างลึกซึ้งในพระศาสนา.....เป็นโจทย์ให้คิดต่อนะคะ
โดย: มะยม IP: 222.123.164.104 วันที่: 5 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:58:29 น.
  
บวช มั้ง
โดย: Plin, :-p วันที่: 9 พฤษภาคม 2551 เวลา:22:50:31 น.
  
ทำไมมีคำว่า...มั้ง...ต่อท้ายคะ?
โดย: มะยม IP: 222.123.161.124 วันที่: 10 พฤษภาคม 2551 เวลา:5:57:08 น.
  
ก็บางคนไม่ต้องบวช ก็เข้าใจได้ไง
โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog) IP: 202.28.62.245 วันที่: 10 พฤษภาคม 2551 เวลา:9:06:25 น.
  
....เก็บมาฝากค่ะ

แนวคิดด้าน contemplative Education(จิตปัญญาศึกษา)

....ภายใต้ความคิดกระแสหลักทั้ง 2 สายในปัจจุบัน คือ ปัจเจกเสรีนิยมและสังคมนิยมที่ต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต่างพัฒนาไปคนละทิศอย่างสุดขั้ว จึงล้วนไม่สามารถทำให้มนุษย์พบกับอิสรภาพอย่างแท้จริงได้ และหากปราศจากการใคร่ครวญอย่างจริงจัง ย่อมจะปักใจเชื่อไปตามกระแสใดกระแสหนึ่งอย่างสุดโต่ง

แต่ถ้าตั้งโจทย์ให้กับสังคมเสียใหม่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีทั้งความเก่งที่จะสามารถดำรงตนให้อยู่รอด และมีความดีที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น สามารถรังสรรค์ชุมชนของตนให้น่าอยู่ ยังจะเกิดการต่อสู้เพื่อกระแสใดกระแสหนึ่งอีกกระนั้นหรือ

ดังนั้น หนทางที่ตรงและเร็วที่สุดในการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคือ การปฏิวัติการเรียนรู้ของมนุษย์ทั้งหมด เพื่อบ่มเพาะให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี

ซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ที่ตนศึกษาอย่างถ่องแท้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการพัฒนาคุณภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในระดับจิตวิญญาณหรือจิตสำนึกใหม่ ที่รู้จักรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ของสังคมและมีหัวใจที่จะดูแลโลกให้ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพอย่างที่ฝัน เนื่องจากศาสตร์แนวหน้าต่างๆ ล้วนมีความยากและซับซ้อน เพียงการถ่ายทอดแต่ละวิชาให้นักเรียนเข้าใจก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว

ดังนั้น การจะนำเรื่องแก่นปรัชญาในเชิงคุณธรรมจริยธรรมของแต่ละศาสตร์มาประยุกต์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่า และเป็นที่รู้กันว่าเรื่องใดยาก จะทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เกิดความท้อใจและเบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้ในที่สุด

ดังนั้น เมื่อจบออกไป คนเหล่านั้นจะยังคงมีความสับสนในชีวิต วิชาการก็ไม่แม่นยำ แก่นแท้ก็ไปไม่ถึง เป็นอันตรายต่อการสร้างชาติอย่างยิ่ง เพราะถ้าบุคลากรในประเทศไม่สามารถนำวิชาความรู้มาแก้ไขความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องจริงของชีวิตได้ มิหนำซ้ำยังเอาไปหาประโยชน์ใส่ตัว เบียดเบียนผู้อื่นและเกิดการบริโภคอย่างเกินพอดี ยิ่งจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม จนกลายเป็นสังคมแห่งความทุกข์

จนเมื่อถึงวันหนึ่ง ที่ความสุขด้านนอกตัวไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงของคนในสังคมได้แล้ว นั่นแหละ จึงค่อยย้อนกลับมาสู่ประตูธรรม หันหน้าเข้าพึ่งพาความรู้ที่ช่วยเยียวยาจิตใจ เช่น หลักศาสนาของตน เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากบุคลากรของชาติมัวไปเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชาติโดยรวม กว่าจะเข้าใจชีวิตและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ อาจใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต

ซึ่งเราไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้นแล้ว.......

มีความพยายามของกลุ่มคนหลายกลุ่มทั่วโลก ที่ร่วมกันพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ให้สามารถเลือกใช้วิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ มาประสานเชื่อมโยงกันอย่างชาญฉลาด เพื่อแก้ไขในสิ่งที่มนุษย์เคยทำผิดพลาดไว้กับโลกและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์อย่างอ่อนน้อมอ่อนโยน


วิชาเหล่านี้รวมเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาที่เน้นการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นคุณภาพด้านในของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ ไม่แบ่งแยกหรือตัดสิน ถูก-ผิด ขาว-ดำ


ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เกิดความรักความเมตตา มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และเป็นการร่วมสร้างสังคมพื้นฐานปัญญา (Wisdom-Based Society)


การเรียนรู้หลักๆ ของจิตตปัญญาศึกษาคือ ศาสตร์ต่างๆ บนโลกที่สามารถอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่ง และทำให้ทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ


เช่น ความรู้เรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) หรือจักรวาลวิทยา (Cosmology) เป็นต้น รวมทั้งการฝึกฝนในเรื่องของจิตใจ การฝึกสติ สมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรปฏิบัติควบคู่ไปกับวิชาในห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเปิดรับข้อมูลหรือความรู้อย่างเต็มที่ สุขภาพกายและใจจะดีขึ้น ผลการเรียนย่อมจะดีขึ้นด้วย เรียกว่าเรียนอย่างมีความสุข

ขณะนี้ได้เกิดภาคีการเรียนรู้จิตตปัญญาศึกษาขึ้นในประเทศไทยแล้วเช่นกัน โดยความร่วมมือของหลายองค์กร เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนสัตยาไส สถาบันขวัญเมือง เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โครงการจิตวิวัฒน์ (แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

เนื่องจากรากฐานทางวัฒนธรรมที่แท้ของสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันนี้เอง ดังนั้น การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งการวิจัยจึงเป็นเรื่องไม่ยากนัก อีกทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาหลายคนมีความตระหนักแล้วว่าถึงเวลาที่คนไทยควรจะกลับมาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพราะเรามีประเพณีและกิจกรรมมากมายที่งดงามและส่งเสริมต่อการพัฒนาจิตใจ หากสามารถนำมาประยุกต์เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

และย่อมจะเกิดผลต่อการพัฒนาความรู้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และการทำร้ายทำลายกัน แต่เกิดเป็นทางออกที่แสดงถึงปัญญาร่วมของมนุษย์ในที่สุด

สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่NewConsciousness@thainhf.org
โดย: มะยม IP: 222.123.164.162 วันที่: 10 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:14:29 น.
  
การเรียนรู้หลักๆ ของจิตตปัญญาศึกษาคือ ศาสตร์ต่างๆ บนโลกที่สามารถอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่ง

อืม....

ปัจเจกเสรีนิยมและสังคมนิยม


อืม...

ที่จริง เวลาทำข้อสอบตอนประถม จะมีข้อสอบประเภทนึง เค้าจะถามประมาณว่า ข้อใดต่างจากพวก ซึ่งเราก็ต้องหาว่า ใน chioce ต่าง ๆ มีจุดร่วม มีจุดเหมือน อะไรบ้าง แล้วจะมี choice นึง ซึ่งต่างจากชาวบ้านเขา

ก็ดี แต่มีปัญหาหน่อย คือ บางที มันจัดกลุ่มได้มากกว่า 1 กลุ่ม คือ บางทีตัวที่ไม่เหมือนชาวบ้าน อาจจะไปเหมือนกับชาวบ้านในแง่อื่นได้ แล้วครูก็เฉลยไม่เหมือนเรา

และบางที เราก็มองว่า choice ต่าง ๆ มันก็เหมือนกันหมด ซึ่งถ้าเป็นอัตนัย บางทีเราอาจจะชอบกว่า คือ ได้อธิบายด้วยว่า มันเหมือนยังไง

อันนี้มองว่า การที่โจทย์เป็น choice ก็เป็นการฝึกให้หาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสิ่งต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ก็บังคับให้หาความต่างด้วย ไม่รู้เหมือนกันว่า ดีหรือไม่ดี ก็ต้องไปถามนักการศึกษา

อืม...

ที่จริง ตรงนี้วัดสองอย่าง คือ สังเคราะห์ synthesis กับ วิเคราะห์ analysis ไปด้วยกัน เราก็แยกย่อยว่า แต่ละ choice มีคุณสมบัติใดบ้าง ย่อย ๆ ๆ ๆ analyse มัน แล้วก็ หาจุดร่วม จุดต่าง synthesis มาเป็นคำตอบ

ระหว่าง คนที่เห็นจุดร่วม คือ บอกได้ว่า ของสองอย่างเหมือนกันอย่างไร กับ คนที่เห็นจุดต่าง คือ ของสองอย่างมันต่างกันอย่างไร

ใครเก่งกว่ากัน ?
โดย: Plin, :-p วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:10:25:58 น.
  
อืมม...ใครเก่งกว่าเหรอคะ?

อยู่ที่สถานการณ์มากว่าต่ะ บางสถานการณ์เราต้องการหาจุดร่วม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำบางอย่างร่วมกัน แต่บางสถานการณ์เราต้องการหาความแตกต่าง เพื่อเปิดช่องทางในการพัฒนา

...ถ้าจำได้ ในสังคมไทยยุคนึง ก็ใช้ยุทธศาสตร์ในเรื่อง"แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง"นี่คะ

แนวคิดในการเรียนรู้พัฒนาจากด้านใน มีลักษณะร่วมที่สำคัญคือ เป็นการเรียนรู้ระดับฝังลึก(Tacit Learning)
โดยเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของ Paradigm ที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ในบริบทของตนเอง ผ่านประสบการณ์ตรง โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นแค่ผู้เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้สอนตัวเอง ซึ่งมุ่งละวางการยึดติดกับความคิดและ"ตัวตน"ที่คับแคบ

...และแนวคิดของจิตตปัญญาศึกษานี้ พัฒนามาจากพื้นฐานของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน

ซึ่งก็เป็น Alternative Education อีกทางหนึ่งค่ะ

โดย: มะยม IP: 222.123.166.120 วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:31:51 น.
  
จำชื่อหนังจีนเรื่องนึงไม่ได้ละ นานทีเดียว

จะมีเกาะอยู่แห่งนึง บนเกาะจะสลักเคล็ดวิชาไว้ ซึ่งลึกลับ ซับซ้อน และ ลึกซึ้ง มาก ใครอ่านยังไง ก็จะตีความได้ต่าง ๆ กัน

ประมาณว่า ประโยคเดียวกัน ต่างคนอ่าน ก็ ต่างคนตีความได้เป็นเคล็ดวิชาต่าง ๆ กัน แล้วก็ มีอิทธิฤทธิ์ร้ายกาจด้วยกันทั้งนั้น แถมยังเป็นวิชาที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย

แล้วการตึความอันไหนดีกว่า พวกเค้าก็มาประลองกัน ก็ชนะ แพ้ กันไป ก็ยังไม่รู้ว่า จะตึความแบบไหนดีที่สุด พยายามมองต่างมุมกัน

ปรากฎว่า พระเอกของเรา มาที่เกาะนี้ด้วย แต่ด้วยความที่ "อ่านหนังสือ" ไม่ออก เลยไม่ได้พยายามอ่านเพื่อตีความ แต่พอเห็นตัวอักษรปุ๊บ ก็จินตนาการเห็นท่าทางร่ายรำ เห็นท่ามวย ในตัวอักษร

อันนี้ยิ่งกว่าบอกว่า "มองภาพรวม" ของการตีความอีก คือ ไม่ตีความ แต่มองเป็นภาพไปเลย เป็นจุดร่วมของทุกการตีความ

แล้ววิชาที่พระเอกได้มา ก็มีอิทธิฤทธิ์สูงสุด

ก็ไม่รู้ว่า คนแต่งเค้าใช้ปรัชญาอะไรมาแต่ง หรือ แค่อยากจะตบหน้าคนอ่านเฉย ๆ แต่ สมมติว่า ถ้าเค้าใช้ปรัชญาอะไรมาแต่ง ผมว่า ลึกซึ้งพอสมควรเลย
โดย: Plin, :-p (เจ้าของ blog) IP: 202.28.62.245 วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:36:51 น.
  
เรื่องนี้ไม่เคยดูเลยค่ะ แต่จากที่เล่าให้ฟัง เดาว่า น่าจะเป็นปรัชญาแบบเต๋า มังคะ

เพราะเต๋า กล่าวว่า "ความไม่รู้ไม่ใช่กำแพงหรือเครื่องกีดขวางที่ปิดกั้นจากความเป็นจริง ความรู้ต่างหากที่เป็นเครื่องกีดขวาง"

เคล็ดวิชาที่สลักไว้ อาจเป็นแค่เรื่องราว(Story) ที่ให้คนเข้ามาศึกษา เพื่อ"ก้าวข้าม"สิ่งนี้ ไปสู่สิ่งที่เป็นจริงมากกว่า เหมือนกับเต๋าที่ไม่มีทฤษฎี มีแต่เรื่องเล่าที่เป็นปลายเปิด ให้คนตีความกันไปต่างๆนานาตามประสบการณ์

เรื่องราวเหล่านี้ เต๋าเปรียบว่าเหมือนมือที่ชี้ไปที่ดวงจันทร์ จงอย่าเกาะติดที่นิ้วมือนั้น.....นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ตรงประเด็น จงมองไปที่ดวงจันทร์ ในตัวเรื่องเล่านั้นมันสวยงามมาก แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของมัน มันไปไกลกว่านั้น มันเป็นสิ่งที่ลึกล้ำ(จากเรื่องเต๋า:มรรควิถีที่ไร้เส้นทาง)

พระเอกของเรา อาจจะมองเห็นดวงจันทร์ได้ทันที เพราะไม่ติดอยู่กับการตีความตามตัวหนังสือก็ได้นะคะ
โดย: ... IP: 117.47.52.76 วันที่: 11 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:44:17 น.
  
เห็นด้วยกับความคิดเห็นที่ 19 นะคะ รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน
โดย: จอย IP: 58.8.141.179 วันที่: 17 มิถุนายน 2551 เวลา:19:28:22 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin.BlogGang.com

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]

บทความทั้งหมด