154. เปิดแผน"ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" เส้นทางสู่ฝันอุตฯยานยนต์ไทย
Resource://www.ftawatch.org/cgi-bin/content/news/show.pl?1584


เปิดแผน"ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" เส้นทางสู่ฝันอุตฯยานยนต์ไทย


สู่ฝัน"ไทย..ดีทรอยต์เอเซีย"

นโยบายพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้

แต่ทำไมต้องเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" และมีรายละเอียดความเป็นมาอย่างไร นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ หนึ่งในผู้ผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นความจริง ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงโครงการนี้

ที่มาของโครงการดีทรอยต์แห่งเอเชียนั้น มาจากการอุปมาอุปไมยเปรียบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเหมือนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมือง Detroit ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองที่ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อยู่ในรัฐมิชิแกน ติดกับทะเลสาบมิชิแกน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก และมีผู้ประกอบรถยนต์สหรัฐอเมริการายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ ฟอร์ด, จีเอ็ม, ไคสเลอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม "Big Three" ตั้งฐานการผลิตอยู่ในดีทรอยต์

สาเหตุที่เปรียบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็น "Detroit of Asia" เพราะไทยเป็นฐานการผลิตของรถยนต์และฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่หลายค่ายด้วยกัน ทั้งจากสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก

นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและการประกอบรถยนต์ที่สั่งสมกันมากว่า 40 ปี ทำให้มีความพร้อมของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมอยู่ในบริเวณที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง


8จุดแข็งรองรับฝันให้เป็นจริง

กล่าวได้ว่า สถานะปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความพร้อมที่จะสามารถส่งเสริมการเป็น Detroit of Asia ได้จากจุดแข็งของประเทศไทย 8 ประการ คือ

1.การเป็นศูนย์รวมของผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และมีเครือข่ายที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย มีโรงงานประกอบรถยนต์ 14 โรงงาน มีกําลังการผลิตรวมประมาณ 1.212 ล้านคัน โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ 5 โรงงาน มีกําลังการผลิตรวมประมาณ 2.5 ล้านคัน

นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งถือเป็นส่วนสนับสนุนหลัก ประกอบด้วยโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 709 โรงงาน แบ่งเป็น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ผู้ประกอบรถยนต์โดยตรง 386 โรงงาน

ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่งให้ผู้ประกอบรถจักรยานยนต์โดยตรง 201 โรงงาน และอีก 122 โรงงาน เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ผลิตให้ทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการวัตถุดิบอีกประมาณ 1,000 บริษัท ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง พลาสติก ยาง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในลักษณะ Cluster ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการหลังการขาย กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจรถยนต์มือสอง บริการขนส่งสินค้าทางเรือ และทางอากาศ กลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร กลุ่มสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หน่วยงานให้บริการฝึกอบรม และสถาบันวิจัย กลุ่มสมาคมและสถาบันเฉพาะทาง

2.มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางการส่งออก ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออํานวยต่อการติดต่อค้าขายไปยังทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่มีความร่วมมือกัน ทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศไทยไปยังประเทศอาเซียนเสียภาษีที่ต่ำ

3.ตลาดในภูมิภาคมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับกําลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทําให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในปี พ.ศ.2546 มีทั้งสิ้น 533,176 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.25 โดยรถกระบะ 1 ตัน ยังครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด แต่รถรถยนต์เพื่อการพาณิชย์(ไม่รวมรถกระบะ 1 ตัน) มีอัตราการเติบโตมากที่สุด ขณะที่ปี 2546 ยังมีการส่งออกรถยนต์รวม 235,122 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.56 มูลค่าส่งออก 102,207.92 ล้านบาท โดยผู้ส่งออก 3 ค่ายหลัก คือ มิตซูบิชิ ออโต้อัลลายแอนซ์ 5,214 คัน และฮอนด้า

ส่วนการผลิตมีปริมาณรวม 742,062 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.86 นอกจากนี้ยังมีการส่งออกจักรยานยนต์กว่า 600,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 มูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านบาท รวมทั้งมีปริมาณการลงทุนเพิ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยอีกกว่า 60,000 ล้านบาท จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

4.มีประสบการณ์ที่สะสมเทคโนโลยี การผลิตขั้นพื้นฐานที่ดี และมีพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

5.ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพและรถยนต์ของค่ายรถยนต์รายใหญ่ของโลก และยังสามารถผลิตเพื่อส่งออกไปยังทั่วโลก

6.มีกําลังการผลิตเพียงพอกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ปัจจุบันกําลังการผลิตรถยนต์ 1,212,000 คันต่อปี รถจักรยานยนต์ 2.5 ล้านคัน และยังใช้กําลังการผลิตไม่เต็ม 100% จึงพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

7.ความสามารถด้านทักษะของแรงงานไทยได้รับการยอมรับ

8.มีเสถียรภาพทางการเมืองจากจุดแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย


ท้าทายรัฐผลักดันสู่เป้าหมาย

จากคุณสมบัติในเชิงภาพลักษณ์ของการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียของประเทศไทยข้างต้น จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันหากรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการนี้ได้สําเร็จ จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมาก

ที่ผ่านมาหลายประเทศต่างมีความตั้งใจ และอยากให้ประเทศของตนเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม และยังมีธุรกิจต่อเนื่องอีกมาก เช่น การประกอบรถยนต์หนึ่งคัน ทําให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปทั้งการหล่อและฉีดพลาสติก การพ่นสี รวมถึงการผลิตชิ้นส่วน การขนส่ง แม้กระทั่งการซ่อม หรือธุรกิจที่ให้บริการหลังการขายอื่นๆ อีกเป็นอันมาก


ปี2554..ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์

สำหรับโครงการดีทรอยต์แห่งเอเชีย มีที่มาและวัตถุประสงค์ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่วางเป้าหมายไว้ถึงปี พ.ศ.2553 ดังนี้

จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ ดําเนินการศึกษาจัดทําแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ พ.ศ.2545-2549 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้กําหนดวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พ.ศ.2554 ไว้ดังนี้ คือ "ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชีย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง"

แผนแม่บทฉบับดังกล่าวได้เสนอแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ 13 โครงการ แต่เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ขึ้น เพื่อทําหน้าที่บริหารจัดการโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์

หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อให้คําปรึกษาแนะนําการจัดทําโครงการดีทรอยต์แห่งเอเชีย ให้ดําเนินไปได้ด้วยความร่วมมือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอจัดทําโครงการดีทรอยต์แห่งเอเชียขึ้น เพื่อกําหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้บรรลุตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชีย โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เพื่อสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด โดยแผนงานโครงการภายใต้โครงการดีทรอยต์แห่งเอเชียจะสามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีบูรณาการด้วยความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกํากับดูแลของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม


แผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์

- เป้าหมายในเชิงคุณภาพ

1.เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของเอเชีย

2.เป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านยานยนต์ของเอเชีย

3.เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมสนับสนุน

4.เป็นศูนย์กลางการส่งออกยานยนต์ของเอเชีย

5.เป็นศูนย์รวมธุรกิจยานยนต์

6.เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และข้อมูลยานยนต์ของเอเชีย


- กลยุทธ์

1.สร้างสภาวะแวดล้อมในการดําเนินธุรกิจให้กับบริษัทระหว่างชาติ(CompetitiveEnvironment Build Up for Multi National Corporation)

2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย(Competitive Build Up for Thai Automotive Parts Manufacturer)

- ระยะเวลา

โครงการดีทรอยต์แห่งเอเชีย มีระยะเวลาดําเนินการเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2547-2553

- การบริหารโครงการ

โครงการดีทรอยต์แห่งเอเชีย มีโครงสร้างการบริหารโครงการ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กํากับดูแลการดําเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างมีบูรณาการ

- งบประมาณ

จะดําเนินการโดยจัดลําดับความสําคัญของโครงการภายใต้แผนงาน โดยใช้งบประมาณเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์จากภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพ และอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่รัฐบาลจะมุ่งพัฒนาและให้ความสําคัญ



แผนปฏิบัติการ

ประกอบด้วย 4 แผนงานและโครงการ ภายใต้แผนงาน ดังนี้

1.แผนงานวางนโยบายส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชีย และสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศร้อยละ 70

-โครงการวางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์

-โครงการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์(อยู่ระหว่างการศึกษาการผลิตรถยนต์ประเภทใหม่ หรือ Eco. Car เพื่อเสริมตลาดให้สามารถผลิตถึงเป้าหมาย 1.8 ล้านคันภายในปี 2553)

-โครงการส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

-โครงการปรับโครงสร้างภาษี

-โครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจยานยนต์ โดยร่วมกับสถาบันยานยนต์ดําเนินการ อันประกอบด้วยโครงการสนับสนุนภายใต้โครงการเดียวกันนี้อีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชิ้นส่วนยานยนต์ โครงการพัฒนาการจัดการและเทคโนโลยีการผลิต โครงการพัฒนาบุคลากร

-โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์

-โครงการเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

-โครงการ SME Auto Complex

-โครงการผลิตวิศวกร

-โครงการผลิตช่างเทคนิค

-โครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน

3.แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีและการมาตรฐาน

-โครงการกําหนดมาตรฐานยานยนต์

-โครงการศูนย์ทดสอบและวิจัยพัฒนายานยนต์

-โครงการศูนย์เทคโนโลยีการออกแบบพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์

4.แผนงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด

-โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยียานยนต์

-โครงการศูนย์สารสนเทศยานยนต์

-โครงการส่งเสริมการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์

-โครงการการตลาดและสร้างสรรค์กลยุทธ์ธุรกิจ

-โครงการประสานงานการเชื่อมโยง

-โครงการเอเชี่ยนออโต้มอลล์

-โครงการสนับสนุนการเงิน

-โครงการสนับสนุนการลงทุน


9 พ.ค. 47


โดย มติชน วันที่ 10 พ.ค. 47








Thailand Team จะสร้าง Mission: Impossible






Create Date : 07 มกราคม 2552
Last Update : 7 มกราคม 2552 8:38:21 น.
Counter : 2272 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Moonfleet.BlogGang.com

moonfleet
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]

บทความทั้งหมด