0114. 5 มีนาคม 2544 คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ( พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ) ในการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาล
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ( พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร )

ในการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลแก่ผู้บริหารในระดับสูง

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2544 เวลา 09.00 น.

กล่าวทักทาย

ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ทุก ๆ คน วันนี้ผมและคณะรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกคน และได้มา เป็นประธานในการเปิดการชี้แจงนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ได้เข้าใจการทำงานร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

มอบนโยบาย

วันนี้นอกจากเป็นการชี้แจงนโยบายของรัฐบาล และชี้แจงแนวการทำงานร่วมกันของ รัฐบาลแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสมาพบปะกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อย่างเป็นทางการ ซึ่งผม ถือว่าเป็นวาระที่ดีที่สุด โดยเฉพาะต่อจากการที่ได้มีการประชุมชี้แจงนโยบายกับรัฐสภาแล้ว หลายคนคงจำได้ว่า วันนั้นผมพูดคำว่า 36 คนของคณะรัฐมนตรี ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้าได้ 700 คนในสภาฯ ผมได้ไปชี้แจงขอความร่วมมือไปแล้ว แต่อีก 2 ล้านคน ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญพลังหนึ่ง ที่เราจะต้องมีความเข้าใจในทิศทางที่จะเดินไปด้วยกันและแน่นอนว่า 61 ล้านคนเศษ ของประชากรทั้งหมดก็ต้องเข้าใจว่าเราจะ นำพาเขาไปที่ไหน แล้วจะเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่เขาอย่างไร เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นขั้นที่ 3 ที่ผมได้ทำหน้าที่ โดยในขั้นที่ 1 ผมได้ชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีในการประชุมนัดแรก ถึงการทำงานร่วมกันแล้ว ขั้นที่ 2 ผมได้ชี้แจงกับรัฐสภา 700 คนแล้ว และนี่คือขั้นที่ 3 คือการชี้แจงแก่ผู้บริหาร เพื่อท่านจะได้ไปชี้แจง ต่อ และแน่นอนว่าหลังจากนั้นแล้วผมจะต้องพบกับประชาชน พูดให้ประชาชนฟังถึงความจริงของประเทศไทย และแนวทางที่ผมจะทำงานให้เขา วันนี้จึงต้องขอขอบคุณเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทุกคนที่ได้กรุณามาร่วมการประชุมชี้แจงนโยบายในวันนี้ ซึ่งผมขอเสนอแนวคิดและแนวนโยบาย แบบคนที่จะต้องทำงานร่วมกัน ที่มีภารกิจร่วมกัน และผมขอพูด แบบสบาย ๆ ไม่เป็นทางการ แต่ขอให้ช่วยกันรับฟังด้วย เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

ข้าราชการมืออาชีพ

สำหรับสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเห็นคือ อยากเห็นข้าราชการเป็นมืออาชีพ ผมไม่อยากเห็นข้าราชการสังกัดพรรค อยากเห็นสังกัดประเทศไทย เพราะสิ่งที่ผ่านมาบางครั้งผมเห็นใจ ข้าราชการ บางครั้งข้าราชการทำตัวลำบาก แต่บางคนทำงานโดยยึดแนวนโยบายของการบริหารในขณะนั้น แต่ก็ทำตัวเป็นมืออาชีพมาก ซึ่งอันนี้ผมขอยกตัวอย่างกระทรวงการคลัง สาเหตุที่ยกตัวอย่างกระทรวงการคลังก็เพราะว่า ได้ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง ในขั้นการเตรียมการรับตำแหน่ง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องยอมรับว่าในอดีตทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลมาก แต่ว่าพอถึงเวลาเปลี่ยนหน้าที่ เขาก็ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลคือเป็นมืออาชีพ คือผมอยากเห็นอย่างนี้มาก เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไปไม่ได้ สังคมไทยเราบางทีบางครั้งเราก็คิดกันมาก จึงขอให้รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่เปิดใจกว้าง ให้พวกเราทำงานอย่างมืออาชีพเพื่อประชาชน เพราะเรายังต้องทำงานเพื่อประชาชน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชี้แจงนโยบายต่อสมาชิกรัฐสภา และให้ความเห็นต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย ทั้งเสริม ทั้งไม่เห็นด้วยทั้งหมด หรือว่าไม่เห็นด้วยบางส่วน สำหรับทางส่วนราชการต่าง ๆ ทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประมวลมา ซึ่งจะเข้าคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 มีนาคม 2544 เพื่อทราบ จะได้นำไปอ่านเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยใช้สมองของคน 700 คน ที่มากกว่า 36 คน และวันนี้เราก็จะใช้สมองของคนอีก 2 ล้านกว่าคน มากกว่า 36 คน และ 700 คน โดยแจกข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ในนโยบายหลาย ๆ อย่างให้กับทุกคน เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ผมต้องขอขอบคุณข้าราชการหลายคนที่ได้ช่วยกันให้ข้อมูลกับรัฐบาล ในการตอบคำถามของรัฐสภาในวันที่ 26 - 28 กุมภาพันธ์ 2544 ซึ่งผมได้ไปขอบคุณด้วยตัวเองมาแล้วรอบหนึ่ง แต่อาจไม่ทั่วถึง วันนี้ผมจึงขอถือโอกาสขอบคุณทุกคนในที่นี้อีกครั้ง

อัญเชิญพระราชดำรัส

วันนี้ผมจะต้องพูดชี้แจงทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย แต่ช่วงบ่ายเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นหลัก เพราะเป็นการประชุมร่วมกันของฝ่ายบำบัดทุกข์บำรุงสุข ส่วนผมจะทำหน้าที่ไปเปิดและให้แนวทาง หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็จะชี้แจงต่อ ผมขอเรียนว่า รัฐมนตรีที่มาร่วมชี้แจงในช่วงบ่ายกับผมในวันนี้ หลังจากที่ผมพูดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะให้ทุกคนได้ ซักถามรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเขียนนโยบาย จะมาร่วมช่วยชี้แจงด้วย ก่อนอื่นผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในพิธีถวายสัตย์ ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่มีคุณค่ายิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อเตือนใจในการที่เราจะทำงานร่วมกัน ท่านทรงย้ำว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน ถ้าทำดีก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า มีชื่อเสียงมีฐานะดี เป็นความเจริญของประชาชนและประเทศชาติ ถ้าผิดพลาดก็เป็นความผิดพลาดของประเทศชาติ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ามีความผิดพลาดใด ๆ ก็ถือว่าเป็นอันตรายต่อส่วนรวมและมีผลก้าวไกล และท่านยังทรงให้ข้อคิดว่า ประเทศชาติของเราประกอบด้วย ประชาชน คนทั่วประเทศ ซึ่งมีความคิด มีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน แม้แต่ถิ่นที่อยู่ก็แตกต่างกัน ฐานะก็แตกต่างกัน ทรงย้ำเตือนว่า หน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ที่หนักมาก ต้องทำด้วยความเฉลียวฉลาด ด้วยความรู้หลักวิชา ด้วยความมีคุณธรรมที่สูง จึงขอให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ทั้งกาย ทั้งใจและสติปัญญา ถ้าทำได้ก็จะได้รับผลสำเร็จ ทรงขอให้คณะรัฐมนตรีทุกคนทำงานด้วยความสามารถเต็มที่ ด้วยความอุตสาหะ ด้วยความ เสียสละ ด้วยความฉลาดและด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะต้องรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมยึดถือมาปฏิบัติ เพราะฉะนั้นผมจึงขอถ่ายทอดให้กับทุกคน ในฐานะที่เราจะต้องทำงานร่วมกันว่า นี่คือแนวทางที่เราจะต้องทำ

สรุปก็คือว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเราอยู่ในฐานะที่จะผิดพลาดไม่ได้อีกแล้ว เงินก็ เหลือน้อย หนี้ก็สูง ความอดทนของประชาชนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเราก็ถือว่า เราขอร้องให้ประชาชนอดทนมามากแล้ว ถึงแม้ประชาชนต้องทนต่อ แต่ว่าเราเองก็จะต้องเร่ง เราจะปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปแบบวันต่อวันคงไม่ได้ ประชาชนต้องอดทนต่อ คือสรุปแล้วเราต้องฟิต คณะรัฐมนตรีก็ต้องฟิต ข้าราชการก็ต้องฟิต แม้กระทั่งคนที่ใกล้เกษียณอายุก็ต้องฟิต เพราะว่าประเทศจะเสียโอกาส เมื่อวันเสาร์ท่านก็คงทราบข่าวใหญ่ แต่ผมเองก็ขอเรียนว่าไม่ได้หวั่นไหวอะไร ก็ขอทำหน้าที่อย่างเดิม วันเสาร์ – อาทิตย์ที่จะต้องไปประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องยาเสพติด กันที่เชียงรายก็จะไปเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ตรงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าที่ทางด้านความปลอดภัย ไม่ได้หมายความว่าผมจะขวัญเสียหรืออะไรเลย ก็เพียงแต่ว่ากันไปตามกติกาบ้านเมือง แต่สำหรับผมเอง ผมถือว่าผมต้องทำงาน ผมต้องเคลื่อนไหว ต้องเคลื่อนตัวเข้าสู่ปัญหา ถึงที่ปัญหา ผมเองก็จะต้องทำของผมอย่างนี้ เหตุที่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าเราก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ว่ายังไม่รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรก็จริงอยู่ แต่ว่าไม่ทำให้ผมต้องชะลอการทำงาน ฉะนั้น ก็ขอร้องว่าเราจะต้องช่วยกัน

หลักการบริหารของรัฐบาล

ผมอยากจะขอพูดถึงหลักคิดและหลักบริหารของรัฐบาลที่จะใช้ในการทำงานใน วันข้างหน้า คือ ผมขอเรียนว่าการที่รัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนโดยพรรคแกนนำ ซึ่งรวมกันเป็นรัฐบาลที่มี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรมาก ผมก็บอกกับสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า ผมจะไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่ผมใช้ความที่มีเสียงข้างมากครั้งนี้เป็นนาทีทองของประเทศในการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มันควรจะเปลี่ยนมานานแล้ว แล้วไม่ได้เปลี่ยน จะถือโอกาสเที่ยวนี้ที่จะเปลี่ยน ฉะนั้น ผมอยากให้ข้าราชการทุกท่านได้ไปนั่งฝันว่าที่กระทรวง ทบวง กรม ของตัวเอง เคยฝันว่าจะเปลี่ยนอะไรแล้วเปลี่ยนไม่ได้เพราะการเมือง วันนี้ถึงเวลาที่ท่านจะต้องสานฝันของท่านแล้ว เพราะคิดว่าการเมืองจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป แล้วผมขอเรียนว่าผมจะบริหารรัฐบาลนี้ที่เป็นรัฐบาลผสมให้เหมือนกับว่า ไม่ใช่รัฐบาลผสม เราจะชวนกันทำลายกำแพงกั้นความคิด ทำลายกำแพงกั้นการทำงานด้วยกันที่จะใช้พลังร่วมกันออกจากกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกำแพงระหว่างกรม ระหว่างกระทรวง ระหว่างรัฐมนตรี ว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ หรือรัฐมนตรีต่างพรรค ไม่มี ถ้ามีเมื่อไรผมไม่ยอม เพราะว่าไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียโอกาส ที่ผ่านมาเราสูญเสียมามากแล้ว เราไม่ต้องโทษใครแต่เราคิดว่าระบบของเรา วันนี้ได้พัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนอยากเห็น

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดแล้ว พรรคการเมือง การเมืองเกิดขึ้นภายใต้กติกาใหม่แล้ว ฉะนั้นการบริหารต้องบริหารด้วยกติกาใหม่ ทฤษฎีใหม่ด้วยความตั้งใจ ความมุ่งมั่นใหม่ ฉะนั้นวิธีเก่า ๆ ที่คิดเก่า ๆ ในกรอบเดิม ๆ ว่าจะติดตรงนั้น เกรงใจรัฐมนตรี ต้องไม่มี ผมพูดดัง ๆ ให้ รัฐมนตรีของผมได้ยินด้วย ข้ามพรรคก็ต้องไม่มี และผมก็ขอเรียนว่า การที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกคนที่อยู่ในรัฐบาล ผมคือผู้บังคับบัญชา แต่ทางการเมืองหัวหน้าพรรคก็เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ทางการบริหารผมเป็นผู้บังคับบัญชา ฉะนั้นผมเป็นรูปแบบของผู้นำเข้มแข็ง เรื่องนี้ผมถือว่าผมมุ่งเข้าสู่แนวทางพื้นฐาน ก็คือความผาสุกของประชาชน ฉะนั้นเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็กหมด ผมจะไม่ใช้ การเมืองนำการบริหารแน่นอน ผมจะใช้หลักการบริหารเด็ดขาด ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงคงทำไม่ได้ชั่วข้ามคืน แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นระดับที่เปลี่ยนเป็นขั้น ๆ ไป ในปีที่หนึ่งการเปลี่ยนอาจจะเบา ปีที่สองก็เข้มขึ้น ปีที่สาม ปีที่สี่จะเริ่มเข้มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ขอเรียนว่าจะก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบนั้น เราเปลี่ยนเพราะถูกบังคับให้เปลี่ยนมานานแล้ว วันนี้เราจะเปลี่ยนล่วงหน้า การจะเปลี่ยนล่วงหน้าได้นั้นจะต้องมีวิสัยทัศน์

ปรับเปลี่ยนการบริหารให้มีประสิทธิภาพที่สุด

เราจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารมากพอสมควร เราจะคิดนอกกรอบเดิมหมด กรอบเดิมที่เราเคยคิดไว้ เอากฎหมายเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างกฎหมายว่าอย่างนี้ ทำไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนด ต่อไปนี้เปลี่ยนโดยเอาที่หมายปลายทางเป็นตัวตั้ง แล้วกำหนดวิธีการที่จะเดินสู่ที่หมาย ปลายทาง เมื่อกำหนดวิธีการแล้ว วิธีการนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด เราเลือกวิธีการนั้นแล้วค่อยมาดู ถ้ายังไม่มีกฎหมายรองรับก็ทำกฎหมายรองรับ ถ้ามีกฎหมายอยู่เป็นอุปสรรคก็แก้ไข

ผมจึงเรียนกับผู้บริหารบางท่านว่า วันนี้กฎหมายที่มีอยู่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราต้องถือว่ามีไว้ให้แก้ไข แต่กฎหมายอนาคตนั้นคือกฎหมายสำหรับการผลักดันขับเคลื่อนประเทศ ฉะนั้นเราจะต้องมีการสังคายนาพอสมควรทีเดียว ผมได้คุยกับทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้ขอให้ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ มาเป็นประธานในการปฏิรูประบบกฎหมายของเรา เพื่อที่จะนั่งดูกฎหมาย เป็นชุดว่าเราจะแก้ไขเรื่องนี้ อย่างเช่นเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งเราจะพูดกันตอนเย็นนี้ มีกฎหมาย กี่ฉบับที่เกี่ยวข้องแล้วมีปัญหาอะไร เรามองทั้งพวง ถ้ามองเป็นชิ้น ๆ เราแก้ไขปัญหาประเทศไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่ติดขัดมานานแล้ว ต้องถือว่าช่วงนี้คือนาทีทอง ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะทำตอนไหนแล้ว ผมไม่รู้ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะให้มาแบบนี้อีกหรือไม่ ฉะนั้น วันนี้เราจะต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเราถือว่าจะไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ในเมื่อวันนี้มีพลัง มีฉันทานุมัติมาแล้วเราต้องรีบแก้ไข เพื่อให้ประเทศชาติได้มีโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ดีที่สุด นั่นคือความตั้งใจของผม



ระบบราชการไทยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

การคิดนอกกรอบของผม นอกจากไม่ยึดกฎหมายเก่า ๆ แล้ว ไม่ยึดการเมืองแล้วยัง ไม่พอ จะยึดการมีส่วนร่วม นั่นคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งใหญ่ มีหลักการบริหาร อันหนึ่งเขาบอกว่าผู้นำที่ดีต้องมีความสามารถในการปลดปล่อยพลังสมองของคนในองค์กร ถ้าเราไม่สามารถปล่อยพลังสมอง เราไม่ได้ใช้สมองของคนในองค์กร เราไม่มีทางที่จะเป็นองค์กรที่แข่งขันได้ นั่นคือระบบราชการไทยของเรามีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีข้อที่หนึ่งก็คือว่า สังคมไทยเราตอนเด็ก ๆ พ่อแม่สอนตลอดเวลาว่า โตขึ้นขอให้เป็นเจ้าคนนายคนนะลูก เราก็รับราชการกันหมด ฉะนั้นราชการเป็นทางเลือกแรกของคนหัวดี คนที่เป็นข้าราชการ โดยเฉพาะชั้นผู้ใหญ่อย่างท่านรับรองเลยว่า อายุขนาดนี้ภาครัฐบาลมีคนที่มีไอคิวสูงกว่าภาคเอกชน แต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะว่าภาคเอกชนเติบโตเร็ว แต่ในสมัยก่อนคือทุกคนอยากรับราชการ ฉะนั้นคนที่อยู่ระดับพวกท่านคือคนไอคิวสูงทั้งนั้น แต่ระบบทำให้ไอคิวเหล่านี้เริ่มไม่ทำงาน เพราะว่าทุกคนมีวินัยหมด ใครพูดอะไรต้องดูบ่าคือดูตำแหน่ง ดูยศ ใครใหญ่กว่าคนนั้นถูกหมด ฉะนั้นระดับล่างเลยไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าทำงาน การไม่มีส่วนร่วมตรงนี้คืออันตรายของประสิทธิภาพการบริหาร

วันนี้ต้องเริ่มในระบบราชการก่อนแล้วประชาชนก็อยากร่วมด้วย แม้กระทั่งภาคธุรกิจก็เหมือนกัน ถ้าธุรกิจไหนทำการตลาดโดยคิดเองแล้วเสนอความคิดเอง เจ๊งทุกราย แต่ถ้ารู้จักมีการทำการสำรวจตลาด ให้รู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรชอบอะไร แล้วออกผลิตภัณฑ์อย่างนั้น โฆษณาสินค้าอย่างนั้นชนะหมด เหมือนกับภาคราชการ ผมถึงเรียกว่า การเอาภายนอกเข้ามา ไม่เหมือนตีกอล์ฟ ตีกอล์ฟคือการเอาภายในออกไป ถ้าหากบริหารต้องเอาภายนอกเข้ามา คือรับฟังความคิดเห็นจากคนในองค์กรและจากประชาชนให้มากที่สุด เพื่อท่านจะได้ตอบสนองถูก เพราะหน้าที่ของเราคือการ ตอบสนองประชาชน ฉะนั้นแนวคิดของกรอบจึง เป็นแนวคิดอีกอันหนึ่งที่เราจะต้องใช้ลักษณะแนวทางนำภายนอกเข้ามา มากกว่าการนำภายในออกไป เพราะภาคราชการจะเคยชินกับระบบเดิมที่นำ ภายในออกไป สมัยก่อนระบบสื่อสารข้อมูลยังไม่ดี ในเมื่อเราเป็นหลัก เราก็คิดเอง ช่วยคิดนำ ประชาชนตลอด แต่วันนี้อย่าไปคิดว่าเราเก่งคนเดียว เราต้องรับฟังทั้งหมด ฉะนั้น ระบบราชการที่ผมพูดไว้ข้อดีก็คือเรื่องของการที่เรามีคนซึ่งเก่ง ๆ อยู่มาก แต่ข้อเสียคือระบบที่ทำให้เราไม่ได้ปล่อยให้คนในองค์กรมีส่วนร่วม เราไม่สามารถปลดปล่อยพลังสมองของคนในองค์กรนั้น คือข้อเสียที่สำคัญของระบบราชการ ถ้าท่านปรับข้อเสียเป็นข้อดีได้ตรงนั้นจะเป็นองค์กรที่เข้มแข็งมาก

การทำงานในเชิงรุก

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือรัฐบาลจะทำงานเชิงรุก ผมต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา ถ้าผมเผลอเมื่อไหร่ ผมต้องตั้งรับ ถ้าผมตั้งรับเมื่อไหร่รับรองเลยว่าผลักดันประเทศนี้เคลื่อนต่อไปไม่ไหว เพราะปัญหามันรุมเร้า ปัญหาเยอะมาก แฟ้มก็รุมเร้า ถ้าหากเรานั่งดูแฟ้มทั้งหมด ทับตัวตายหมด สมองไม่ทำงาน ฉะนั้นผมจึงกระจายอำนาจมากที่สุด และจะแบ่งงานอีก แต่วันนี้ยังแบ่งงาน ไม่เต็มที่เพราะว่าอยากจะเห็นสายของงานนิดหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อไรผมจะทำงานเชิงรุกแล้ว ผมจะต้องแบ่งงานออกทั้งหมด เพราะผมต้องการใช้โอกาสที่เราได้มานั่งทำงานตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด ก็คือใช้สมองของเราให้มากที่สุด ใช้ประสบการณ์มากที่สุด ใช้การประสานงานให้มากที่สุด ฉะนั้น ถ้าผมนั่งเซ็นแฟ้ม ทุกวัน เรื่องมะโนสาเร่ก็เซ็น ตรงนี้ผมจะตั้งรับเลย

ฉะนั้น ผมจะทำงานเชิงรุก ส่วนรัฐมนตรีก็เป็นชั้น ๆ ไป รัฐมนตรีต้องรุกในส่วนของกระทรวง และต้องรับสิ่งที่เป็นภาพรวมของประเทศที่มาจากนายกรัฐมนตรี มาจากมติคณะรัฐมนตรี ข้าราชการก็ต้องรุกในส่วนของท่าน ท่านต้องรับในส่วนของข้างบน แต่ถ้าท่านไม่รุกเลย ท่านรับ อย่างเดียว หน่วยงานของท่านจะเป็นหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ท่านจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผมพูดทำนายไว้เลย ถ้าท่านรุก ต่อไปท่านจะกลายเป็นคนที่มีความสามารถ ท่านจะเป็นคนไม่มี ความสามารถทันที ถ้าท่านตั้งรับ ในโลกยุคนี้จะกลายเป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพทันที ฉะนั้นท่านต้องทั้งรุกและรับ

ผมจะบริหารจากเชิงยุทธศาสตร์ไปสู่เชิงวิสัยทัศน์ เพราะว่าการบริหารเชิงยุทธศาสตร์กับการบริหารเชิงวิสัยทัศน์นั้นมีความแตกต่างกัน รูปแบบยุทธศาสตร์ นั้นคือ เรียกร้องและสั่งการ แต่รูปแบบของเชิงวิสัยทัศน์ คือจะต้องสื่อสาร ต้องสื่อสารให้คนได้เห็นว่า เราจะไปตรงไหนกัน อย่างวอลดิสนีย์ เขามีวิสัยทัศน์ของเขาว่า ต้องการทำให้คนมีความสุข ฉะนั้น เขาจะทำทุกอย่างที่ทำให้คนมีความสุข นั่นคือวิสัยทัศน์ของเขา ง่าย ๆ บรรทัดเดียว ฉะนั้นเราจะต้องสร้างวิสัยทัศน์ให้กับคนที่เป็นผู้ที่เราจะบริหาร หรือที่จะตามกันมาเป็นผู้ตาม เราได้รู้ว่าเราจะไปตรงไหนมากกว่า ที่จะเป็นลักษณะเรียกร้องและสั่งการ เพราะลักษณะนี้เป็นลักษณะแบบการนำภายในออกไป จะเป็นเชิงวิสัยทัศน์ ก็คือการที่เราจะต้องเป็นผู้นำในยุคใหม่ จะต้องเป็นนักเล่าเรื่อง เป็นคนที่เล่าเรื่องได้ดี เพื่อให้คนที่ฟังแล้วคล้อยตามแล้วปฏิบัติตามให้ได้ นั่นคือผู้นำยุคใหม่ เล่าเรื่องเพื่ออะไร เพื่อมีแรงกระตุ้น เพื่อแรงบันดาลใจ เพื่อให้เขาคล้อยตาม เพื่อให้เห็นด้วย เพื่อจะผลักดันสิ่งที่ไปสู่เป้าหมายได้ เหมือนกับ รัฐบาลจะต้องนำไป จากจุดเชิงยุทธศาสตร์หนึ่งไปสู่การเป็นเชิงวิสัยทัศน์ สมัยก่อนนี้เราต้องยอมรับว่า แม้กระทั่งการเป็นรัฐบาล ยุทธศาสตร์ประจำก็คือแฟ้มมาก็เซ็นไป ถึงเวลานัดประชุมก็ประชุมไป ถึงเวลานั้นก็ประชุม ประชุมเสร็จก็เดินตามแฟ้ม แฟ้มก็เดินไปเรื่อย โลกหมุนเร็วกว่า โลกหมุนเร็วกว่าการบริหารแบบประจำวัน แล้ววันนี้โลกต้องการมากกว่าการเป็นเพียงผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ เพราะระบบการสื่อสารเปลี่ยนไป ฉะนั้นต้องนำทีละขั้น ๆ วันนี้เราต้องนำ ต้องบอกกันให้รู้ว่าเราจะผลักดันกันอย่างนี้ แล้วทุกวันเราจะรู้ว่าเรากำลังจะไปกันที่จุดนี้

รัฐบาลนี้ต้องทำสงคราม 3 อย่าง

1. ทำสงครามกับความยากจน ต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพื่อให้คนพ้นจากความ ยากจน ซึ่งจะทำให้มีฐานะดีขึ้นทั้งระบบ เหมือนกับยกฐานรากให้สูงขึ้น ตึกทั้งตึกก็สูงขึ้นตาม เป็นลักษณะของการมีวิสัยทัศน์อย่างหนึ่ง ว่าเราจะประกาศสงครามกับความยากจน เพราะฉะนั้นเราจะสู้กับความยากจนอย่างเต็มที่เพื่อให้ชนะ

2. ประกาศสงครามกับยาเสพติด เราถือว่านี่คือปัญหาใหญ่ของชาติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดยาเสพติด

3. ประกาศสงครามกับคอร์รัปชั่น นั่นคือวิสัยทัศน์ที่บอกกับทุกท่านให้รู้ว่านี่คือภารกิจหลักในช่วงนี้

ช่วยกันพัฒนาให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

นอกเหนือจากเรื่องอื่นทั้งหมดนี่คือภารกิจหลักที่เราจะต้องทำ ผมจะมีกลไกการทำงาน มีคณะทำงานของผมนอกเหนือจากรัฐมนตรี ผมจะมีทีมงานของผมอยู่ 3 ทีม วันนี้รัฐบาลเหลือ 36 คน รัฐมนตรีเมื่อก่อนมี 49 คน วันนี้เหลือ 36 คน เพราะฉะนั้นวันนี้การมีน้อยก็ไม่ได้หมายความว่า ประสิทธิภาพน้อย ต้องให้มีน้อยแล้วประสิทธิภาพมาก ญี่ปุ่นมี 13 คน ทั้งนายกรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีทุกคนต้องมีทีมงาน ไม่ใช่มีมือหาเงิน เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีต้องมีทีมงานเพื่อช่วยคิด ช่วยทำ ช่วย ติดตามผลงาน ผมก็จะมี 3 ชุด

ชุดที่ 1 เป็นพวกนักฝัน ฝันแล้วก็เขียนเป็นนโยบาย แต่ฝันนั้นต้องฝันบนพื้นฐานของการได้มีแนวคิดจากข้างนอก

ชุดที่ 2 คือผู้ที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น ชุดทางเศรษฐกิจ ชุดทางปฏิรูปกฎหมายของนายมีชัยฯ เป็นชุดที่จะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการ ชุดแรกเป็นชุดฝัน ปรับเปลี่ยนแนวคิดนโยบายเพื่อให้ทันโลกทันเกณฑ์ ชุดที่ 2 คอยมาสนับสนุนผลักดันให้การปฏิบัติงานนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ชุดที่ 3 เป็นชุดที่ตรวจติดตามประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายเปรียบเสมือน ยารักษาโรค นโยบายนั้นได้ทำแล้วมีผลข้างเคียงอะไร มีผลดีต่อการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน มีผลข้างเคียงไหม แล้วไปทั่วถึงไหม เพราะฉะนั้น 3 กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ทำงานให้ผม แล้วผมจะทำหน้าที่คอยรับมาแล้วก็คิดต่อ เพราะฉะนั้น ผมจะทำงานด้วยการใช้ความคิดมากที่สุดกับการผลักดัน เป็นหลัก

ขอเรียนว่าหมดยุคคอร์รัปชั่นและซื้อขายตำแหน่ง ไม่มีในระดับรัฐบาล ระดับข้าราชการประจำต้องไม่มี ถ้ามีอะไรมาบอกผมได้ ผมมั่นใจว่ารัฐมนตรีผมไม่ทำ เพราะฉะนั้นห้ามแอบอ้าง แล้วท่านทั้งหลายก็ต้องไม่ทำ และไม่ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านทำด้วย บางกระทรวง ซี 7 ยังขายตำแหน่ง ผมว่ามันไม่ไหวแล้ว ทำเหมือนเซ้งห้องแถว ที่ไหนทำเลดีก็แพงหน่อย เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องหมดยุค ไม่มีเด็ดขาด ที่เคยชินกันมาผมเข้าใจเห็นใจครับ บางยุคการเมืองทำ ข้าราชการเลย ทำตาม แต่ขอร้องว่ายุคนี้ต้องไม่มี สงสารข้าราชการ ผมก็ข้าราชการเก่า ผมไม่สบายใจถ้าหากมีการซื้อขายตำแหน่ง วิ่งเต้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย มันขาดไม่ได้ แต่ขอตีกรอบให้วัวที่จะแข่งกันนั้นมีน้อยตัวหน่อย ตีกรอบให้ดีหน่อย ถ้าไม่มีกรอบก็ไม่รู้ว่ามีกี่คนมาวิ่งกันอุตลุด อันนั้นมันไม่ไหว คือให้มันมีกรอบแล้วกรอบนั้นต้องพยายามให้มันเป็นหลักเป็นเกณฑ์ แล้วก็ใช้นาน ๆ หน่อย ไม่ใช่ ใช้ปีต่อปี บางที 6 เดือนเปลี่ยนหนึ่งหน เพื่อตีความให้เข้ากับคนที่นายอยากได้ อันนี้ผมว่าต้องเริ่มตีกรอบไว้ แต่อย่าตีกรอบคนของรัฐมนตรีเพื่อจะให้เป็นกรอบของตนเองมากเกินไป คือต้องมีหลักเกณฑ์ต้องมีคำตอบได้ทุกอย่างอันนี้ขอฝากไว้ด้วย

ข้าราชการต้องทันโลก

เรากำลังจะต้องพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ให้ได้ เพราะว่าวันนี้โลกก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) เป็นเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ใช้ปัญญา ในการทำมาหากินมากขึ้น ๆ แต่ว่าเราเองต้องพัฒนาตัวเองมากเพื่อจะเข้าไปสู่จุดนั้น เพราะฉะนั้นเรา จะต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

ข้าราชการก็ต้องอ่านหนังสือ เพราะว่านายกรัฐมนตรีขยันอ่านหนังสือ รัฐมนตรีผมก็ต้องอ่านหนังสือ ถ้าไม่เช่นนั้นท่านไม่ทันสมัย เดี๋ยวเราจะพูดเรื่องสัมมนาเชิงปฏิบัติการณ์ ตอน สัมมนาเชิงปฏิบัติการณ์นั้นจะรู้เลยว่า พูดออกมาแล้วพัฒนาตัวเองหรือเปล่า เพราะฉะนั้นท่านต้องพัฒนาตนเอง ถึงแม้ว่าเรียนมา ผมพูดตลอดเวลาว่า คนจบดอกเตอร์เรียนจบไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ได้มีความเก่งกว่าคนที่จบปริญญาตรีแล้วอ่านหนังสือทุกวัน เพราะที่เราเรียนแล้วจบมาแล้วนั้นมันล้าสมัย ทันทีที่จบ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หนังสือออกวินาทีหนึ่งหลายตำรา หลายเล่มทั่วโลกนี้ เพราะฉะนั้นความรู้จะมีมาก ท่านต้องพัฒนาตัวเองมาก ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทันจริง ๆ เพราะท่านกำลังเป็น ผู้นำ เป็นส่วนสำคัญของประเทศ แล้วถ้าใครทำตัวเองทันสมัยแล้ว จะมีความสุข มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ตกโลกไม่ล้าสมัย คุยกับลูกได้ อันนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องพัฒนา

แข่งขันกันด้วยความเร็วและความแม่นยำ

เราต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เราต้องพัฒนาตัวเองเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจที่ต้อง แข่งขันกันบนพื้นฐานความรู้ วันนี้การที่จะเป็นเศรษฐกิจบนฐานความรู้นั้น ข้อมูลเมื่อก่อนนี้ตำราเก่าสมัย อัลวิน ท๊อฟเลอร์ ที่ตกรุ่นไปแล้วที่บอกว่าข้อมูลคืออำนาจ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ข้อมูลมีมาก ต้องมีความสามารถในการหยิบว่าจะเลือกใช้ข้อมูลไหน และวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูก จึงจะเกิดองค์ความรู้ และองค์ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นต้องมีเรื่องของวิจัยพัฒนา สิ่งนี้เราขาดหมดเลยครับ ทั้งประเทศข้อมูลเราไม่มี ข้อมูลที่ทันสมัย ของโลกก็ไม่ค่อยได้สนใจจะดูจะฟัง ไม่รู้เราและก็ไม่รู้เขา แล้วจะแข่งยังไง ถ้าจะแข่งกันต้องรู้ทั้งเรา รู้ทั้งเขา เพราะฉะนั้นข้อมูลของเราต้องดี แล้วโลกข้างหน้ามันแข่งกันที่เศรษฐกิจความเร็ว แข่งกันที่ความเร็ว เร็วแล้วต้องแม่นยำ แม่นยำก็ต้องมีข้อมูล ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเป็น หยิบข้อมูลถูกจึงจะเร็วได้ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจใครเร็วคนนั้นได้เปรียบ ถ้าจะเร็วต้องแม่น ความจริงแล้วความรู้บางอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเราคิดขึ้นมาเราเก่งคนเดียวหรอก แต่ปรากฏว่าคนอื่นก็คิด แต่มันกระจายอยู่ มีคนหนึ่งเข้าไปถึงคว้าเลย วิเคราะห์ถูก คว้ามาเร็วกว่าได้เปรียบ เหมือนนโยบายพรรคไทยรักไทย ทำไมผมเร็ว เพราะผมมีข้อมูลพอ ผมรู้ว่าประชาชนกำลังต้องการอะไร ผมรู้ว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร ผมรู้เพราะผมพบกับประชาชน ผมก็ประกาศเลย กล้า เร็ว แม่นยำ สำคัญเพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างนี้ ต้องนำไปสู่การที่จะต้องพัฒนาข้อมูล เพราะ ถ้าไม่อย่างนั้นเราไม่มีทางเลยที่จะไปแข่งกับเขาได้ สิ่งที่เรามีความสำคัญละเอียดอันหนึ่งคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วโลกข้างหน้าจะผลักดันไปสองตัว คือ รูปแบบชีวิตกับเทคโนโลยีข้อมูล ข่าวสาร ผมกำลังมองว่าประเทศไทยมีข้อแข็งคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ

มุ่งไปสู่ E - Government

ขอฝากท่านที่เกี่ยวข้องคิดด้วยกัน ผมอยากจะมุ่งไปสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิค โลกยุคอินเตอร์เน็ตวันนี้หลายร้อยล้านคนทั่วโลกใช้อินเตอร์เน็ต แต่ของเราการเตรียมพร้อมเรื่องอินเตอร์เน็ตของเราต่ำมาก อาจจะด้วยประการทั้งปวง แต่ผมจะทะลวงค่าบริการที่แพง เรื่องของการสื่อสาร องค์การโทรศัพท์ต่าง ๆ ต้องคุยกัน เพื่อที่จะให้อินเตอร์เน็ตไปสู่ชาวบ้านให้มากที่สุด แน่นอนผมพูดเรื่องอินเตอร์เน็ตตำบล ซึ่งรัฐบาลที่แล้วตั้งงบประมาณทิ้งไว้คือคำว่า อินเตอร์เน็ตตำบลนั้นไปเน้นเฉพาะตัว T ต้องเน้นตัว I ตัว T คือเราเน้นเฉพาะเทคโนโลยี จัดซื้อจัดหาเสร็จเรียบร้อยคือจบ นั่นคือล้มเหลว ต้องเรื่องข้อมูลเราจะเอาอะไรไปใส่ สำคัญกว่าคำว่าเทคโนโลยี ก่อนอื่นเราต้องคิดว่า จะเอาอะไรไปใส่ แล้วต้องการอะไรจากมัน แล้วค่อยไปดูเทคโนโลยี พอบอกว่าจะมีอินเตอร์เน็ตตำบล เตรียมจัดซื้อจัดหา ตรงนั้นจะสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมองให้ดี ซึ่งอินเตอร์เน็ตตำบลนี่ผมจะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการส่งเสริม 1 ผลิตภัณฑ์ ต่อ 1 ตำบล

สรุปแล้วก็คือ รัฐบาลอยากเห็นข้อมูลจากหน่วยเล็ก ๆ ของประเทศคือ ตำบล โยงขึ้นมาจนถึงกระทรวง นี่ผมกำลังหาให้คนมาช่วยออกแบบแล้วคุยกับทางกระทรวง เพราะผมอยากกดคอมพิวเตอร์แล้วเห็นทันที เห็นว่าขณะนี้เดือนนี้สินค้าเกษตรตัวไหนจะออกพื้นที่เพาะปลูกเท่าไหร่ แล้วผลผลิตจะเป็นอย่างไร ความต้องการภายในเป็นเท่าไร การส่งออกเป็นอย่างไร ต้องดักปัญหา ล่วงหน้า วันนี้เราตั้งรับอย่างเดียว มีกลุ่มต่าง ๆ มาร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แล้วเรา ก็มาทะเลาะกัน รบราฆ่าฟันตีกันเอง ตีกับคนจน เขาก็เดือดร้อน เราก็เดือดร้อน วันนี้เราจะต้องมานั่งดักปัญหาล่วงหน้า ข้อมูลต้องมี ผมจำได้ครั้งหนึ่งตอนผมเป็นตำรวจ ตอนผมจบปริญญาเอกมาจากเมืองนอก เป็นหัวหน้าแผนกแผนกองวิจัยวางแผน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องการ ตัวเลขจำนวนคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่ในภาคใต้ 7 วันยังหาไม่ได้ เพราะเอกสารกองท่วม เพราะไม่มีระบบข้อมูล แต่สมัยนี้มีอยู่แล้ว ผมยังเชื่อว่าหลายกระทรวงวันนี้ยังไม่ค่อยได้ทำ ทั้ง ๆ ที่เวลานี้คอมพิวเตอร์ถูกและใช้ง่าย ที่โรงเรียนบ้านสันกำแพง ผมให้ทุนเขาไปทำห้องแล็ปคอมพิวเตอร์ เด็กประถมปีที่ 4 นั่งเล่นอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่เรื่องยาก ผมเชื่อว่าหลายคนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์เล่น แต่ใครที่ไม่เล่นอย่าคิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องยาก ความจริงก็คือน้อง ๆ พิมพ์ดีดสมัยเก่า เพราะฉะนั้นก็เล่นหน่อย เพื่อท่านจะได้ทันสมัย เสร็จแล้วเรามาคิดร่วมกันอีกทีว่าเราจะทำเว็บไซด์ของแต่ละกระทรวงอย่างไร อยากให้กระทรวงมีอินเตอร์เน็ตของตัวเอง แล้วกลายเป็นอินเตอร์เน็ตของรัฐบาล เดี๋ยวเราต้องมาวางดีไซน์ระบบกันหน่อย ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเรื่องใช้เงินมาก เงินกับการสูญเสียในการทำงานที่ไม่เป็นทางการมากกว่า พวกนี้จะเป็นทางการกว่าและเร็ว ทั้งนี้ผมไม่ได้หวังว่า 3 เดือนเสร็จ เรา คิดว่าทุกอย่างมันใช้เวลา เพียงแต่ว่าผมบอกให้รู้กำลังและทิศทางการสื่อสารให้ท่านฟัง

ปรับปรุงวิธีการทำงานของรัฐบาล

รัฐบาลจะปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่พอสมควร เริ่มตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี ผมไม่อยากให้ข้าราชการต้องเสียเวลาวันอังคาร 1 วัน มานั่งตั้งแต่เก้าโมงเช้า ห้าโมงเย็นถึงได้กลับบ้าน บางทีก็ไม่ได้ชี้แจง ปลัดกระทรวงก็มานั่งรอ อธิบดีก็มานั่งรอเป็นแถว เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจะใช้วิธีอย่างนี้ เราประชุมคณะรัฐมนตรี 08.30 น. ออกจากบ้านจะตรงเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเลย เพราะถ้าประชุม 09.30 น. รัฐมนตรีต้องเข้ากระทรวงก่อน แล้วมาช้าเพราะวาระของตัวเองอยู่ลำดับ 3-4 พอตอนคุยเรื่องยุทธศาสตร์ รัฐมนตรีบางคนยังไม่มา ก็เลยไม่รู้ว่าใครจะนั่งทำยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ก็เลยประชุม 08.30 น. ครึ่งวันเสร็จแล้วครับ ข้าราชการจะชี้แจงก็มาช่วงสั้น อีกครึ่งวันยังได้ทำงาน อย่าเสียเวลาทั้งวันเลย การเสียเวลาผมถือเป็นเรื่องใหญ่ สาเหตุที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้สั้นลงจะได้เนื้อหามาก เพราะเราจะนำเรื่องเข้าไปในคณะรัฐมนตรีน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพื่อทราบ เพราะถือว่าต้องไปอ่านหนังสือเอง ต้องมีทีมงานเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็จะนำมาพูดกัน เรื่องพิจารณาจะน้อยลง เรื่องเพื่อทราบก็จะแบ่งงานไปตามสายนั้น รัฐมนตรีว่าการเข้าประชุมชุดนี้ไม่ได้ เพราะต้องประชุมพร้อมกัน ก็ให้รัฐมนตรีช่วยฯ เข้าแทน เรื่องไหนสำคัญปลัดกระทรวงไม่เข้า ก็ให้อธิบดีไปแทนได้ รองปลัดกระทรวงไปแทนได้ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง 5 ชุด ความสำคัญขอให้อยู่ที่เนื้อเรื่อง อย่าไปสำคัญที่ตัวรองนายกฯ เอาเนื้อเรื่องเป็นหลัก วันนี้ขอให้เป็นเรื่องของคำว่า “ใคร” น้อยลงไป

ทุกกระทรวงแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ผมเรียนไว้ว่าโลกใหม่การมีส่วนร่วมสำคัญ ผมจะทลายกำแพงอย่างไรของการกั้น ความสามารถของการบริหารระหว่างกระทรวง กั้นการบริหารระหว่างกรมอย่างไร จะมีสัมมนาเชิง วิชาการเรื่องใหญ่ เรื่องที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายกระทรวง เรื่องที่ต้องอาศัยความเกี่ยวพันกับภาคเอกชน ตรงนี้ผมจะทำเป็นสัมมนาเชิงวิชาการ ครั้งแรกที่ทำแล้วที่ชะอำเรื่องบรรษัทบริหาร ทรัพย์สินแห่งชาติ บางครั้งหลังจากที่เอาไปประชุมกันแล้วอาจแตกต่างกันบ้าง ผมก็ขอเรียกกรรมการ ที่ผมตั้งมาคุยซักซ้อมกันอีกรอบก่อนจะไปอีกแห่งหนึ่ง เราประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ ผมนั่งเป็น ประธาน ผมอยู่ตลอด ตีปัญหาที่คั่งค้างมานานให้จบภายในสุดสัปดาห์ให้ได้ เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ถูกเชิญไปขอให้ทำการบ้าน เราจะคุยกันได้เร็ว ผมจะทำการบ้านของผม เมื่อผมทำการบ้าน ท่านทำ การบ้าน ไปถึงคุยกันเดี๋ยวเดียวก็จบ เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนติดเกรงใจกันบ้างอะไรบ้าง และสัมมนา เชิงวิชาการอันนี้จะเกิดขึ้นในหลาย ๆ เรื่อง เท่าที่ผมคิดได้วันนี้คือเรื่องของยาเสพติดวันเสาร์ - อาทิตย์หน้า และเรื่องของการท่องเที่ยว ต่อไปก็อาจจะมีเรื่องอื่น เรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือเรื่อง ภัยแล้ง เรื่องน้ำ แต่ฝากให้ท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดกระทรวงทั้งหลายไปช่วยคิดว่าท่านมีเรื่องอะไร สำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ในอดีตแก้ไม่จบ ท่านลองคิดแล้วเสนอมา แล้วเราไปทำสัมมนาเชิงวิชาการร่วมกันอย่างนี้เพื่อให้งานเดินได้เร็วขึ้น ไม่ใช่เป็นคณะรัฐมนตรีสัญจร แต่เป็นการประยุกต์ในการทำงานเพื่อไปทำในพื้นที่ที่เป็นปัญหาจริง ๆ อย่างน้อยก็คือโดยจิตวิทยาแล้วถือว่าเราได้มีความตั้งใจในการจะเจาะปัญหานั้นจริง ๆ แล้วเราจะได้แก้ปัญหานั้นอย่างจริงจังร่วมกัน เพื่อจะได้แก้ปัญหา ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เรื่องยาเสพติดเราก็ไปเชียงราย ท่องเที่ยวเราก็ไปเชียงใหม่ เรื่องปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำก็อาจจะไปอีสาน เราก็ต้องทำงานอย่างนั้น ฉะนั้น เรื่องของสัมมนาเชิงวิชาการ ขอให้เอาคนไปน้อยหน่อย เอาที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่เกี่ยวข้องก็อย่าเอาไป หัวหน้าส่วนราชการก็พยายามทำการบ้านเยอะ ๆ และมีผู้ช่วยสัก 1-2 คน เพื่อจะได้ช่วยกันคิด

ร่วมกันใช้ของไทย

ผมอาจปรับโครงสร้างกระทรวง กรม ที่ล้าสมัย เรามาช่วยกันคิด เราไม่ได้เกษียณอายุ 100 ปี รัฐบาลไม่ได้อยู่ 20 ปี ดังนั้น วันนี้เมื่อเรามีโอกาสทำงานร่วมกันแล้ว เราต้องคิดถึงคนรุ่นหลังว่าโครงสร้างที่มีอยู่ไม่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกของความต้องการและปัญหาของประชาชน เราต้องเปลี่ยน วันก่อนท่านปลอดประสพฯ เจอกับผม คุยกันว่าเรื่องทรัพยากรกับเรื่องสิ่งแวดล้อม คิดกันคนละมุม ทรัพยากรคิดในเชิงปริมาณ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมคิดในเรื่องคุณภาพ และอยู่กันคนละฟาก พูดกันไม่รู้เรื่องและมีเรื่องกันตลอด เป็นไปได้ไหมที่จะตั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ปริมาณและคุณภาพมาเจอกัน ให้มารู้จักคำว่าทางสายกลางคืออะไร ฉะนั้น เราต้องมาปรับสิ่งที่มีอยู่ให้ทันสมัยรองรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของโลก

เราต้องประหยัด ต้องใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งด้านของสิ่งที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วกับภูมิปัญญาของเราเองที่มีอยู่ ต้องใช้อย่างเต็มที่ อย่างวันที่เกิดวิกฤตถ้าเราไม่ใช้สิ่ง ที่มีอยู่กลับไปลงทุนใหม่ และลงทุนแบบชนิดที่ไม่รู้ว่าจะตอบแทนอย่างไร อันตราย ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เราห่วงกันมาก และวันนี้ต้องเตือนกันและขอร้องกันคือการนำเข้า เรานำเข้าอย่างเผลอนึกว่ารวยแล้ว การจัดซื้อจัดหา ภาครัฐก็นำเข้ากันใหญ่ เราเห็นหรือยังว่าตัวเลขส่งออกเริ่มชะลอ ทางเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอแล้วเรายังนำเข้ากันเพลินอย่างนี้จะเกิดผลเสีย เงินบาทก็อยู่ไม่ได้หมดความเชื่อถือ วันนี้ผมได้มอบหมายนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไปและฝากท่านด้วย เราจะกระตุกแล้วการจัดซื้อ จัดหาที่มีการนำเข้า ถ้าไม่จำเป็น ถ้าสามารถชดเชยสินค้าที่ผลิตในประเทศได้ต้องให้รีบ ถือเป็น ความสำคัญก่อนหลัง ไม่ได้ต่อต้าน แต่วันนี้ต้องเอาตัวรอด ไม่ได้ต่อต้านสินค้าต่างประเทศ แต่เรา ถือว่าของไทยเรามีดีมาก ถ้าข้าราชการไม่ใช้ของไทยแล้วใครจะใช้ เพราะฉะนั้น ส่วนราชการในการ จัดซื้อจัดหาแน่นอนเราต้องใช้ของไทย แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อเครื่องบิน ถ้าไม่มีของไทย อันนี้ต้องนำเข้าช่วยไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องนำเข้าก็ต้องนำเข้า พระพุทธเจ้าก็สอนแล้วว่าเดินทางสายกลางคืออะไร เราก็ต้องรู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน แต่วันนี้เราต้องตื่นตัวเรื่องของการนำเข้าเพราะว่าเราขาดดุลการค้ามาก ตอนนี้จะขาดดุลการค้าอีกไม่ได้ ต้องประคองในช่วงวิกฤตตรงนี้ไม่ให้ขาดดุลการค้า แล้วประเทศจะกลับฟื้นตัวมาเร็ว แต่ถ้ายังขืนขาดดุลส่งสัญญาณมาแล้วเดือนมกราคม เริ่มอันตราย 280 กว่าล้านเหรียญ จากที่ชื่นชมกับส่วนเกินถึง 1000 ล้านเหรียญ กลายเป็นขาดดุล 280 กว่าล้านเหรียญ อันนี้เหนื่อย และแถมยังเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องฝากท่านว่า งบประมาณปีหน้าเรื่องวิธีการจัดหาอะไรที่ใช้สินค้าไทยได้ต้องทำ โดยเฉพาะภาครัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาเพลินไปหน่อย และขอเรียนว่าอย่าเสนอโครงการให้รัฐมนตรีหาเงิน รัฐมนตรีชุดนี้ไม่เอา ขอเสนอโครงการที่สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศจริง ๆ

เราจะทบทวนวิธีการงบประมาณ สำคัญคือต้องตอบสนองต่อวิสัยทัศน์และนโยบาย ไม่ใช่งบประมาณประจำ ปีที่แล้วตั้งเท่าไร ปีนี้นโยบายบอกว่าให้เพิ่ม 5 ก็บวก 5 ขอให้คิดใหม่ทุกปี อย่าอ้างอิงของเก่าจนมากเกินไป ของเก่าใช้อิงในเชิงของงบประจำได้ แต่งบโครงการต้องคิดใหม่ทุกปีเพื่อตอบสนองนโยบาย สนองวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็จะตั้งงบประมาณแบบประจำ

อีกเรื่องที่ต้องฝาก ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณอาจจะชี้แจงเพิ่มเติมภายหลังก็ได้ ขณะนี้มีงบประมาณอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นงบกระจายอำนาจที่ต้องกระจายให้ท้องถิ่น ยังอยู่ที่จังหวัดและอยู่ที่กรมรวมกันประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท รีบปล่อยออกไปเพื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจชนบท เพราะเป็นงบประมาณที่ส่วนท้องถิ่นจะต้องทำงาน ต้องตามไล่จี้กันหน่อยอย่าเก็บไว้ ตอนนี้สินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะกำลังซื้อในชนบทไม่มีเหลือแล้ว งบประมาณที่ตัดราคากลางลง 10% งบฯ เบี้ยหัวแตกที่อยู่ตามต่างจังหวัดนั้นไม่ต้องนำส่งส่วนกลาง แต่ขอให้เอาไปใช้ในชนบท เช่น งบฯ ประมูลงานสร้างถนน 30 ล้านบาท ตัด 10% เหลือ 3 ล้านบาท 3 ล้านบาทนั้นแทนที่จะเอากลับก็ขอให้เอาไปจ้างงานในชนบทต่อ ให้ท้องถิ่นนั้นเขาทำต่อไป ซึ่งงบฯ เล็กๆ น้อย ๆ อย่างนี้มีมาก รวมกันแล้วประมาณ 2 พันล้านบาท

ข้าราชการปฏิบัติตามนโยบายทางการเมือง

อีกอันหนึ่งที่ผมอยากจะเรียนว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของบทบาทระหว่างรัฐบาลกับ ข้าราชการ เมื่อก่อนนี้เราเอาบทบาทของเสนาบดีมามอบให้รัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วรัฐมนตรีในอดีตก็ทำตามกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน บทบาทนั้นก็คือ บทบาทเรื่องของคน เรื่องของเงิน เรื่องของอำนาจ ภาคราชการก็เลยกลายเป็นคนเขียนนโยบายแทนภาคการเมือง ต่อไปนี้นโยบายภาคการเมืองเป็นคนทำ ภาคข้าราชการมีหน้าที่ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ภาคการเมืองก็พยายามอย่าไปแย่งงานข้าราชการประจำทำ ข้าราชการประจำบทบาทต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ถ้าไม่เช่นนั้นนักการเมืองคนไหนก็มาเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะอะไรไปถึงก็เซ็นแฟ้มตามที่ข้าราชการเสนอมา เป้าหมายที่จะตอบสนองประชาชนไม่ใช่นโยบายในการอยากได้อย่างนี้จะเอาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ภาค การเมืองจะต้องคิดนโยบาย เพราะภาคการเมืองจะต้องตอบสนองต่อประชาชนมากที่สุด คือเรามีประชาชนเป็นตัวตั้ง ภาคการเมืองต้องตอบสนองต่อการแก้ปัญหากับประชาชน ประชาชนเป็นตัวสะท้อนกลับมาที่ภาคการเมือง ส่วนภาคข้าราชการต้องทำงานบริการประชาชน และขณะเดียวกันก็ต้องทำงานตามนโยบายของรัฐบาล บทบาทตรงนี้ต้องปรับเข้าสู่จุดที่ผมอธิบายให้ฟัง เพราะถ้ารัฐมนตรี ไม่สนใจเรื่องนโยบายประเทศเลยไม่มีทิศทาง ดังนั้น ต่อไปนี้ทิศทางประเทศต้องนำด้วยนโยบาย และเราคิดร่วมกันทำร่วมกันตั้งแต่ภาคประชาชน ภาคราชการ ภาคการเมือง คิดร่วมกันทำร่วมกัน แล้วต้อง ชี้นำด้วยนโยบายไม่ใช่ ชี้นำด้วยความรู้สึกต่อไปแล้ว อยู่ ๆ ก็สั่งการไป เป็นความรู้สึก ประเทศไม่ได้มีทิศทางเลย ไม่รู้จะพาประเทศไปทางไหน ข้าราชการก็ไม่เข้าใจ ฉะนั้นต่อไปนี้การเปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานต้องเกิดขึ้น อาจจะมีลองผิดลองถูกบ้างก็ต้องยอมรับ เพื่อให้ขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศ

วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ภารกิจหลักปัจจุบันของรัฐบาลก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเราเพิ่งเกิดวิกฤติและยังไม่ พ้นดี วิธีการก็คงต้องต่างกัน เพราะเรามีสังคมที่ต่างกัน 2 สังคม คือสังคมเมืองกับสังคมชนบท เราเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ 2 สังคม อย่าไปคิดว่าทฤษฎีเดียวใช้ทั้งหมด เพราะอาการของโรคก็ไม่เหมือนกัน คนเราป่วยเป็นโรค 5 อย่าง นึกว่ายาเม็ดเดียวรักษาหายทั้ง 5 โรค ไม่หายหรอก เพราะฉะนั้นวิธีการ แก้ปัญหาต้องใช้วิธีการที่ต่างกัน เพราะสังคม ความต้องการ ความเดือดร้อน ความทนต่อสภาพปัญหา ก็ต่างกัน ถ้าเราคิดจะแก้ปัญหาแล้ว เราต้องเข้าใจความแตกต่างของสังคม 2 สังคมนี้ ขอให้ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางมหาดไทย เน้นสังคมชนบทอยู่แล้ว กระทรวงการคลังก็คงต้องมองเรื่องของปัญหาเมืองมากพอสมควรเหมือนกัน อย่างวันนี้จริง ๆ แล้วถามว่าเราพังเพราะระบบอะไร เพราะระบบกระดาษ เราโดนกระดาษตีกระดาษจนพังไปหมด เกี่ยวข้าวทั้งหมดคนไทยไม่กินสักเม็ด ส่งออก เมืองนอกก็ยังไม่พอใช้หนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอากระดาษสู้กระดาษบ้างเหมือนกัน ส่วนข้าวก็ทำไปปลูกไป เพราะฉะนั้นสรุปแล้วสังคมเมืองก็ต้องส่งเสริมให้เข้มแข็ง สังคมชนบทก็แก้ปัญหาให้เขารอด เพราะโลกยุคใหม่เป็นโลกของคำว่า “ความเชื่อถือ”

แก้ปัญหาแบบแบ่งประเภท

เมื่อเกิดความเชื่อถือก็สามารถทำกระดาษเป็นเงินได้มาก เมื่อทำกระดาษเป็นเงินก็เอากระดาษสู้กับกระดาษบ้าง เราต้องพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ มาสู้กันบ้าง เพราะฉะนั้นเราต้องดูว่าเรามี สินทรัพย์อะไรที่จะเกิดเครื่องมือดี ๆ เรื่องนี้อาจจะซับซ้อน หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในโลกซีกของการเงินการคลังซีกของธุรกิจจะไม่เข้าใจ แต่ผมพูดกว้าง ๆ ให้รู้ว่าวิธีการแก้ปัญหากับกลุ่มเป้าหมาย ปัญหา นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีเดียวกัน เหมือนกับที่ผมบอกกับกลุ่ม ที่พยายามไปปรับโครงสร้างหนี้ ผมบอกว่าเราปรับโครงสร้างด้วยการใช้กติกาเดียวกันทั้งระบบไม่ได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ ปรส. คนมีตึกสองตึกอยู่ติดกัน ตึกหนึ่งกู้ธนาคารไม่ล้มเหลวต้องจ่ายดอกเบี้ย ทุกบาท อีกตึกหนึ่งไปกู้ไฟแนนซ์เสร็จแล้วขายทอดตลาดได้คืน ไปซื้อหนี้กลับคืนมาได้ 25-30% ต้นทุนผิดกันแล้ว เก็บค่าเช่าที่ต่างกัน ตึกที่อยู่ข้างกันกู้แบงก์จ่ายดอกเบี้ย 100% ก็สู้ไม่ได้ สู้ไม่ได้ก็กลายเป็นเอ็นพีแอลกับแบงก์ต่อ ถ้าขืนปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้รับรอง งูกินหางไม่มีจบ ผมเลยบอกว่าแบ่งธุรกิจทุกประเภทในประเภทเดียวกัน ใช้มาตรฐานเดียวกัน ต่างประเภทอาจจะต่างมาตรฐาน เป็นไปตามความต้องการของประเภทที่จะต้องการการจ้างงานจากอุตสาหกรรมนั้น ธุรกิจนั้น หรือความจำเป็นที่ต้องการจะมีธุรกิจนั้นให้เข้มแข็งในการที่จะแข่งขันกับเขา นั่นคือต้องแบ่งกลุ่มของหนี้ออกมาตามประเภทธุรกิจ ประเภทอุตสาหกรรม แล้วค่อยมาบริหารในประเภทเดียวกันด้วยกติกาเดียวกัน ถ้าเราบริหาร ด้วยกติกาที่ต่างกันในธุรกิจเดียวกัน เพราะต่างแบงก์หรือต่างสถาบันการเงิน ต่างคนจัดการบริหาร สินทรัพย์จะล้มเหลว เพราะฉะนั้นรายละเอียดเหล่านี้ต้องคิด ผมอยากซักซ้อมให้เข้าใจกันก่อน เพราะ วันแรกถ้าเข้าใจกันก่อนแล้วต่อไปจะทำงานด้วยกันง่ายขึ้น

นโยบายพักหนี้เกษตรกร

นโยบายหลัก 9 ข้อกับนโยบายเสริมมีดังนี้ 1. นโยบายพักหนี้เกษตรกร การปรับ โครงสร้างหนี้ภาคเอกชน เราทำกันหมดเงินเป็นแสน ๆ ล้านบาท เราทำกันเพราะเราบอกว่ามันจำเป็น มันวิกฤต แต่เราลืมไปว่าประชาชนก็วิกฤต เกษตรกรก็คือนักธุรกิจเพราะลงทุนปลูกและขาย แต่ โชคร้ายเพราะไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เหมือนธุรกิจก็เลยขาดทุน เราให้เขารองรับปัญหามานานตั้งแต่แผน 1 ปี 2500 เราเก็บพรีเมี่ยมส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาสร้างถนนสร้างไฟฟ้า เราต้องไปขายต่างประเทศ ถ้าราคาต่างประเทศขายได้ 100 บาท ถ้าเราเก็บพรีเมี่ยม 20 บาท พ่อค้ากำไรอีก 20 บาท ราคาก็เหลือ 60 บาท ถ้าเราไม่เก็บพรีเมี่ยมราคาก็เป็น 80 บาท แต่เราเก็บ พรีเมี่ยมนั่นคือเกษตรกรรุ่นแรกรับปัญหามาแล้ว พอมาแผน 3 แผน 4 เงินเฟ้อครับ เราก็คุมเงินเฟ้อด้วยการคุมราคาเครื่องอุปโภคบริโภค ก็ว่ากันเรื่องสินค้าเกษตร ผักเท่าไร หมูเท่าไร วันนี้ วิกฤต เขาต้องรับภาระ เมื่อเขารับภาระ เราต้องคิดว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรในการที่จะให้คนเหล่านี้ได้ขึ้นมาแข็งแรงอีกที ก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้เขา คือเปลี่ยนหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะกลาง คืออีก 3 ปีค่อยใช้ ระหว่างนี้ลำบาก เพราะเราเห็นแล้วว่าอีก 3 ปีข้างหน้ายังไม่สบายเท่าไร เราก็รับภาระ รัฐบาลเปรียบเสมือนพ่อแม่ เมื่อลูกป่วยก็ต้องยอมรับ พ่อแม่ยอมอดทนเพราะต้องหาเงินมารักษาลูก เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยให้ 3 ปี อันนี้เฉพาะรายย่อย เขาจนจริง ๆ ถ้าเขาไม่จน เขามีเงินมากกว่านี้ก็เป็นรายใหญ่ นั่นคือวิธีคิด

นโยบายเรื่องกองทุนหมู่บ้าน

2. เรื่องกองทุนหมู่บ้านนั้น วิธีคิดก็มาจากระบบทุนนิยม ใครเข้าหาแหล่งทุนได้คนนั้น ได้เปรียบ วันนี้ใครมีเครดิตอยากได้เงินสักหมื่นล้านบาท แบงก์รีบให้เลยเพราะแบงก์เงินเหลือ ดอกเบี้ยให้ถูกด้วย ดีไม่ดีต่อรองช่วยเอาไปหน่อย ดอกเบี้ยที่บอกว่าเอ็มแอลอาร์เท่าไร 7.5 % เอาน่า 5% ก็เอา เอาไปหมื่นล้านบาท เอาไปเลย ส่วนอีกคนหนึ่งเอาที่ดินไปจำนองไม่ได้ ไม่มี ผมกลัวคุณล้ม นี่คือความเป็นจริง แต่ชาวบ้านไม่มีแม้กระทั่งจะจำนอง ไม่มีแม้กระทั่งจะผูกเนคไทไปแบงก์ ใส่รองเท้าแตะไปแบงก์ แล้วจะไปกู้ที่ไหน เอาอะไรจำนองก็ไม่มี หน้าตาก็ทำนามาผิวกร้านผิวดำ รูปร่างลักษณะ ไม่ดีแบงก์ก็ไม่ปล่อย ปล่อยตามรูปร่างลักษณะก็ไม่ปล่อย ปล่อยตามสินทรัพย์ก็ไม่ปล่อย อยู่ได้อย่างไร เมื่อเขาอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องเอาทุนไปหาเขา เอาทุนไปไว้ในชุมชนเพื่อให้เขามีโอกาส เอาเงินเหล่านี้มาเลี้ยงชีพเขา ในยามวิกฤตอย่างนี้ถ้าเราแจกฟรีรับรองระบบเสียหมด แต่นี่เอาไปให้เขากู้ยืมในดอกเบี้ยต่ำ ๆ เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านมีกองทุนอยู่ในนั้น เขาจะได้กู้ไปประกอบอาชีพมีรายได้เสริม ไปแปรรูปสินค้าเกษตรบ้าง กู้ไปทอผ้า ไปทำหัตถกรรมที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายสอนมาบ้าง เขาจะได้มีรายได้

นี่คือวัตถุประสงค์ของการทำกองทุนหมู่บ้านที่เป็นกองทุนที่ได้รับการเห็นชอบแล้ว นั่นคือ วิธีการคิดด้วยระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นนโยบาย



Create Date : 12 มีนาคม 2551
Last Update : 12 มีนาคม 2551 14:07:28 น.
Counter : 690 Pageviews.

0 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Moonfleet.BlogGang.com

moonfleet
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]

บทความทั้งหมด