เห็ดยานางิ ตลาดผู้บริโภคยังดี ราคาสูง พิทยา เจียมประเสริฐ ผลิตก้อนป้อนผู้เลี้ยง ขายดอก
มนตรี แสนสุข



เห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีตลาดผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง สนนราคาของเห็ดปัจจุบันดี ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของเกษตรกรที่สนใจในเรื่องของการเพาะเห็ด และผู้ที่กำลังเพาะเห็ดอยู่แล้ว

คุณพิทยา เจียมประเสริฐ เกษตรกรหนุ่มคนเก่ง แห่งบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิด "พิทยาฟาร์ม" จำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น และก้อนเห็ดอีกหลายๆ ชนิด หลังจากที่ประสบความล้มเหลวกับการทำฟาร์มไก่ไข่ เมื่อต้องเจอกับวิกฤตไข้หวัดนกระบาด เป็นเหตุให้กิจการฟาร์มไก่ต้องล้มไปอย่างไม่เป็นกระบวน

ในเนื้อที่ 14 ไร่ กับโรงเรือนอีแว้ปที่เลี้ยงไก่ หลายโรงเรือนถูกทิ้งร้างเมื่อไข้หวัดนกมาเยือน คุณพิทยาเป็นงงอยู่นาน ที่สุดก็หันมามองการทำธุรกิจเกี่ยวกับเห็ด คุณพิทยามองไปที่การทำก้อนเชื้อเห็ดออกขายเป็นหลัก ส่วนการเพาะเก็บดอกเห็ดเป็นอาชีพรอง ใช้โรงเรือนอีแว้ปที่มีอยู่นำมาทำเป็นโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ด ซึ่งใช้ได้ดีกับเห็ดยานางิ ในพื้นที่ 14 ไร่ จัดระบบใหม่ แบ่งพื้นที่ทำโรงเรือนเพาะเห็ด 5 ไร่ ที่เหลือทำบ่อปลาเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน และปลาอื่นๆ เท่าที่จะหามาเลี้ยงได้ เน้นปลากินพืชเป็นหลัก

สำหรับเห็ดที่ทำก้อนเชื้อและเพาะ ก็มีเห็ดยานางิ เห็ดเป๋าฮื้อญี่ปุ่น เห็ดหูหนู เห็ดฮังการี และเห็ดขอนดำ-ขอนขาว ในกระบวนเห็ดที่ทำก้อนเชื้อทั้งหมด เห็ดยานางิมีราคาดีกว่าเพื่อน

ปัญหาเรื่องแรงงานกับการเพาะและทำก้อนเชื้อเห็ด คุณพิทยาบอกว่า เห็ดยานางิมีลักษณะพิเศษกว่าเห็ดชนิดอื่นๆ คือ จะออกดอกเป็นรุ่น รุ่นหนึ่งจะออกครั้งเดียว พอเก็บดอกหมดก็จะต้องหยุดพักก้อนไปอีก 20 วัน หลังจากนั้น เห็ดก็จะให้ดอกชุดใหม่ออกมาอีก ช่วงที่ออกดอกสามารถเก็บดอกได้ทุก 4 ชั่วโมง หรือจะทยอยเก็บไปเรื่อยๆ คือ 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมงครึ่ง แล้วแต่เจ้าของฟาร์มจะจัดสรรเวลาเก็บดอกเห็ดให้ดีๆ ใน 1-2 วันแรก เห็ดจะค่อยๆ ทยอยออกดอกมาให้เก็บ ระยะนี้ยังพอเก็บคนเดียวหรือสองคนได้ แต่พอเข้าวันที่ 3-4-5 เห็ดจะออกดอกมากสุด ถึงตอนนี้ต้องระดมกันเข้าไปเก็บดอกให้ทัน ไม่เช่นนั้นดอกจะบานเสียหายได้ พอหลังจากเก็บดอกชุดใหญ่หมด ก็จะมีดอกเห็ดค่อยๆ ทยอยออกมาให้เก็บ แต่ก็ไม่มากนัก จนถึง 70 วัน ดอกก็จะหมด เมื่อดอกหมดก็ต้องหยุดพักคอยสเปรย์น้ำ เห็ดจะพักอยู่ 20 วัน จึงจะให้ดอกชุดใหม่ออกมาอีก นี่คือวงจรของเห็ดยานางิกับการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นเกษตรกรถ้าจัดตารางเวลาการเก็บดอกเห็ดให้ดีๆ ก็จะไม่มีปัญหาในการเก็บผลผลิตดอกเห็ดออกจำหน่าย

คุณพิทยา บอกว่า 1 โรงเรือน จะมีก้อนเห็ด 5,000 ก้อน แรงงานเก็บดอกเห็ดใช้ 2 คนก็พอ แรกๆ เก็บไปตั้งแต่ 4-5 ทุ่มรอบหนึ่ง จากนั้นก็ไปเก็บดอกตอนตี 5 อีกรอบ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการแรงงานเก็บดอก เมื่อเก็บเอาดอกออกมาก็ต้องมาเอาขี้เลื่อยออกจากดอกให้หมด แล้วก็เป่าดอกเห็ดด้วยพัดลมให้ดอกแห้งไม่มีความชื้น ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการบานของดอกเห็ด ดอกเห็ดที่กลีบดอกมีความชื้นจะบานเร็วมาก พอดอกบานก็เสียราคา ฉะนั้นเมื่อเก็บดอกออกมาแล้วต้องเป่าให้แห้งทันที พอกลีบดอกแห้งก็บรรจุถุงพลาสติคจะเป็นถุงร้อน ถุงเย็น หรือกล่องโฟมก็ได้ ไล่อากาศในถุงออกด้วย จะทำให้ดอกบานช้าออกไปอีก

คุณพิทยากล่าวว่า ดอกเห็ดถ้าไม่รีบเป่าให้แห้ง ไม่ช้าดอกเห็ดกลีบดอกจะหลุดและบาน ทำให้เสียราคา เมื่อทำให้แห้ง บรรจุถุงแล้วนำเข้าแช่ในตู้เย็นสามารถเก็บรักษาดอกตูมไว้ได้ถึง 10 วัน เห็ดยานางิเก็บดอกส่งขาย ตลาดรับซื้ออยู่ที่ 150-200 บาท หากจะทำส่งตลาดลูกค้าประจำ เกษตรกรต้องทำหลายโรงเรือน หรือไม่ก็รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อนบ้านทำเห็ดชนิดเดียวกัน แล้วบริหารเรื่องเวลาการเปิดดอกเห็ด เพื่อให้มีดอกเห็ดให้เก็บทุกวัน สามารถป้อนตลาดลูกค้าได้ไม่ขาด วิธีนี้จะได้ลูกค้าขาประจำแน่นอน หากจะทำรายเดียวและให้มีเห็ดเก็บได้ตลอด ต้องทำถึง 4 โรงเรือน แล้วเปิดดอกทุกสัปดาห์ ก็จะมีดอกเห็ดทยอยให้เก็บได้ทุกวัน

สำหรับเกษตรกรสนใจจะโดดเข้าสู่การเพาะเห็ดขายบ้าง ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน คุณพิทยาแนะนำว่า โรงเรือนขนาดมาตรฐานประมาณ กว้าง 5 เมตร สูง 11 เมตร โรงเรือนแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มไม้นั้นได้ร่มเงาอยู่แล้ว หลังคาควรใช้ซาแรนจะประหยัดได้มาก ตัวฝาโรงเรือนโดยรอบใช้หญ้าแฝก ส่วนโรงเรือนกลางแจ้งใช้แฝกมุงเป็นหลังคาพราะต้องป้องกันความร้อนจากแสงแดด ในเรือนต้องให้เย็น การควบคุมป้องกันความร้อนจากภายนอกก็ต้องมี เมื่อทำโรงเรือนเรียบร้อยก็ต้องทำชั้นวางก้อนเชื้อเห็ดภายในโรงเรือน ชั้นนั้นควรใช้อิฐบล็อคจะดีกว่า ชั้นหนึ่งสูง 4 เมตร ใช้อิฐบล็อคราว 28 ก้อน ทำทั้งหมด 3 ล็อค ติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ใช้หัวสเปรย์น้ำชนิดฝอย วางหัวสเปรย์น้ำให้ทั่วโรงเรือน

เมื่อเตรียมโรงเรือนพร้อม ก็นำก้อนเชื้อเห็ดที่เชื้อเดินเต็มก้อนแล้ว มาวางเรียงกันบนชั้นในโรงเรือน จากนั้นก็เปิดจุกที่หัวก้อนเชื้อออก เขี่ยเมล็ดธัญพืชที่ปากก้อนเชื้อเห็ดออก เก็บเศษที่เขี่ยออกมาให้ดีอย่าให้ตกกระจัดกระจาย แล้วนำออกจากโรงเรือนเอาไปทำลายไกลๆ โรงเรือนเลย พอเขี่ยเมล็ดธัญพืชแล้วก็ให้น้ำสเปรย์ให้ทั่วโรงเรือน

การให้น้ำต้องดูอากาศด้วย ถ้าอากาศร้อนให้น้ำ 1-2 ชั่วโมง ต่อครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 นาที หากเป็นหน้าฝนอากาศชื้น ห่างการให้น้ำต้องปรับตามสภาพอากาศไม่มีกฎตายตัว

หลังจากให้น้ำถัดไปประมาณ 3-4 วัน จะเกิดเป็นฝ้าและมีเม็ดไข่ปลาเล็กๆ ให้เห็นที่ปากก้อนเชื้อเห็ด จากนั้นอีก 2 วัน เห็ดเล็กๆ ก็จะโตสามารถเก็บได้ ให้ทยอยเก็บดอกตูมที่โตเต็มที่ไปเรื่อยๆ นับจากวันแรกที่เก็บดอกเห็ดไป 10 วัน เห็ดก็จะไม่เจริญเติบโตให้เก็บ ถึงตอนนี้ก็ต้องพักการเก็บ เรียกว่า "พักก้อน" ใช้ระยะเวลาพักก้อน 20 วัน เห็ดก็จะออกดอกมาให้เก็บอีก เป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งเชื้อเห็ดในก้อนหมดก็ต้องเลิก เปิดโรงเรือนเอาก้อนเชื้อออกทิ้ง ทำความสะอาดโรงเรือนให้ดี ฆ่าเชื้อรา เชื้อโรคต่างๆ ให้หมด แล้วจึงนำเอาก้อนเห็ดชุดใหม่เข้ามาวางเรียงเป็นการทำเห็ดในรุ่นที่ 2

สำหรับการทำก้อนเชื้อเห็ดเองนั้น ถ้าเป็นเกษตรกรมือใหม่หัดขับไม่แนะนำให้ทำเอง ควรซื้อก้อนเห็ดมาเปิดเก็บดอกจะดีกว่า แต่สำหรับรายที่เพาะเห็ดจนชำนาญแล้ว อยากจะทำก้อนเชื้อดูบ้าง คุณพิทยาแนะนำว่า การทำก้อนเชื้อเห็ดเองนั้นสามารถทำแล้วเพาะเก็บดอกเห็ดขายเองได้ ประหยัดต้นทุนในส่วนของการซื้อก้อนเห็ดมาเก็บดอก อัตราก้อนเชื้อเห็ดอยู่ที่ราว 8-10 บาท

วิธีการทำก้อนเชื้อเห็ดนั้น ต้องหาวัตถุดิบคือขี้เลื่อย ที่ "พิทยาฟาร์ม" สั่งซื้อขี้เลื่อยยางพารามาจากทางภาคใต้ ขายกันเป็นรถสิบล้อ เที่ยวหนึ่งๆ ราคาเกือบสองหมื่นบาท เมื่อได้ขี้เลื่อยมาถึงก็ให้กองขี้เลื่อยตากแดดเอาไว้ จากนั้นก็หาสปริงเกลอร์น้ำมารดกองขี้เลื่อยให้ชุ่ม วางสปริงเกลอร์บนยอดกองขี้เลื่อยนั่นแหละเหมาะสมที่สุด สเปรย์น้ำให้กองเปียกชุ่มชื้นตลอด ใช้เวลา 2 สัปดาห์ จะได้ขี้เลื่อยหมักจนชุ่มสามารถนำมาบรรจุถุงได้แล้ว

เมื่อขี้เลื่อยเปียกชื้นดี ก่อนบรรจุถุงก็ให้ผสมขี้เลื่อย รำละเอียด ปูนขาว ดีเกลือ และน้ำเข้าด้วยกัน ใช้อัตราส่วน

ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม

รำละเอียด 5-7 กิโลกรัม

ปูนขาว 1 กิโลกรัม

ดีเกลือ 2 ขีด

คอยพรมน้ำขณะคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ต้องให้ชุ่มชื้นพอสมควรจึงบรรจุลงถุงพลาสติคขนาด 6x12 เป็นถุงร้อน แล้วก็นำถุงก้อนเห็ดไปนึ่งในตู้นึ่งฆ่าเชื้อก้อนเห็ด หลังจากนึ่งในอุณหภูมิเกิน 100 องศาเรียบร้อยแล้ว นึ่งประมาณ 4 ชั่วโมง ก็ให้เอาออกมาทิ้งไว้ให้ก้อนเห็ดเย็น พอก้อนเห็ดเย็นลงแล้ว คราวนี้ก็เอาหัวเชื้อเห็ดไว้ในโรงเรือนระบบปิด ประมาณ 2 เดือน เชื้อจึงจะเดินเต็มที่

เมื่อบ่มจนเชื้อเห็ดที่เป็นเส้นใยขาวๆ ในก้อนเต็มดีแล้ว ก็นำก้อนไปวางเรียงในโรงเรือนเปิดดอก สเปรย์น้ำให้ชุ่ม ทำการเปิดดอก ไม่ช้าก็จะได้เก็บดอกเห็ดเสร็จสมอารมณ์หมาย

การเพาะเห็ดจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คุณพิทยา บอกว่า อยู่ที่หลัก 3 ประการ คือ 1. ก้อนเชื้อเห็ดต้องคุณภาพดี 2. ต้องมีการจัดการในโรงเรือนที่ดี และ 3. การตลาดดี ถ้าได้ "ดี" ทั้ง 3 อย่างนี้ รับรองประสบความสำเร็จแน่ ปัจจุบัน "พิทยาฟาร์ม" ทำก้อนเชื้อเห็ดจำหน่าย เจ้าตัวบอกว่าเห็ดยานางิทำค่อนข้างยาก ไม่ค่อยมีใครทำก้อนเชื้อกัน

ผู้ใดสนใจลองโทร.ไปคุยกับคุณพิทยาดูก็ได้ที่เบอร์ (087) 933-7458 และ (089) 799-0325 เชิญครับผม



Create Date : 21 เมษายน 2551
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:09:37 น.
Counter : 5396 Pageviews.

0 comments
ล้อมรั้วกั้นกวางมากินดอกไม้ สวยสุดซอย
(8 เม.ย. 2567 14:56:09 น.)
ของไม่ตรงปก ผักไม่ตรงซอง? สวยสุดซอย
(3 เม.ย. 2567 12:54:31 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันกล้วยไม้โทนสีร้อน ทนายอ้วน
(3 เม.ย. 2567 13:06:31 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 2 ฟ้าใสวันใหม่
(27 มี.ค. 2567 08:42:58 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด