"ก๊าซมูลหมู" ในชุมชน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่สระบุรี
มนตรี แสนสุข


การ นำเอาก๊าซที่เกิดจากการหมักมูลสุกรมาใช้ประโยชน์ทำเป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้าน ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนลดค่าใช้จ่าย ค่าก๊าซหุงต้ม อันเป็นแนวทางหนึ่งของ คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" คือลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ สร้างฐานคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

โครงการ ผลิตก๊าซมูลหมูในชุมชนนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ร่วมกับ "มูลนิธิพลังงานสีเขียว" เข้าไปดำเนินการในชุมชนที่บ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกตูม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี คุณเติมศักดิ์ แก้วมรกต เกษตรอำเภอหนองแค กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงหมู ก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่น สร้างความรำคาญเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นอันมาก ทางนักวิชาการเกษตรของสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จึงได้จัดทำโครงการผลิตก๊าซมูลหมูในชุมชนขึ้นมา โดยประสานงานกับทางมูลนิธิพลังงานสีเขียวให้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งชาวบ้านทุกครัวเรือนก็สมัครใจให้ความร่วมมือเข้าโครงการมาแล้ว 1 ปี ใช้ก๊าซฟรีมาตลอด เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอหนองแค ที่ลดค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนแก่ทุกครัวเรือนในชุมชน

คุณวิชัย เอกจิตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เป็นผู้เริ่มดำเนินการโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน กล่าวว่า การที่ทำโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชนขึ้นมา ก็เพราะเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้กับฟาร์มเลี้ยงหมูของ คุณลุงบุญส่ง พรหมศาสตร์ เจ้าของฟาร์ม มีปัญหาได้รับผลกระทบจากกลิ่นมูลหมูอย่างต่อเนื่องทุกวันมาหลายปี มีการร้องเรียนถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบกันหลายครั้ง

คุณวิชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ในชุมชนบ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกตูม นั้น มีผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อยู่รายเดียวคือฟาร์มของคุณลุงบุญส่ง ในรัศมี 1 กิโลเมตร จากฟาร์มหมูมีบ้านเรือนราษฎรอยู่ 22 ครัวเรือน กับวัดอีก 1 วัด คือ วัดโคกแดง จึงได้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนในชุมชน ว่าจะทำโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน ลดปัญหามลภาวะทางกลิ่นลง ซึ่งชาวบ้านทุกครัวเรือนก็พร้อมเข้าร่วมโครงการ

"ผมอยู่ที่กรมส่ง เสริมการเกษตร กรุงเทพฯ เคยทำโครงการนี้มาก่อน จึงได้ติดต่อไปทางมูลนิธิพลังงานสีเขียว แล้วดำเนินการจัดทำโครงการขึ้นมา"

คุณ วิชัย กล่าวและว่า ในขั้นแรกทางมูลนิธิพลังงานสีเขียว มีงบประมาณช่วยเหลือมาประมาณ 370,000 บาท จากนั้นก็ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกครัวเรือน ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร จากฟาร์หมูของคุณลุงบุญส่ง ซึ่งมีทั้งหมด 22 ครัวเรือน สมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสร้างบ่อก๊าซเพื่อส่งก๊าซเข้าถึงทุก ครัวเรือน เป็นเงินครัวเรือนละ 2,000 บาท

หลังจากนั้น ทางมูลนิธิก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการมาสร้างบ่อผลิตก๊าซมูลหมูที่ฟาร์ม ของคุณลุงบุญส่ง แล้วต่อท่อ พีอี จากบ่อผลิตก๊าซเข้าถึงทุกครัวเรือน หัวท่อก๊าซหุงต้มในครัว ชาวบ้านสามารถใช้ก๊าซที่ผลิตจากมูลหมูในฟาร์มของคุณลุงบุญส่งได้เลย โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2551 มาจนถึงทุกวันนี้ เกือบ 2 ปีแล้ว ชาวบ้านใช้ก๊าซหุงต้มฟรีมาตลอด ประหยัดเงินตราค่าใช้จ่ายซื้อก๊าซหุงต้มได้มากมาย นับว่าเกิดประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

สำหรับคุณลุงบุญส่ง เจ้าของฟาร์มนั้น ถือว่าเป็นผู้เสียสละให้ใช้สถานที่เป็นที่ผลิตก๊าซมูลหมู ประโยชน์ก็เกิดกับคุณลุงบุญส่งเช่นกัน ทำให้โรงเรือนเลี้ยงหมูของคุณลุงไม่ส่งกลิ่นเหม็นไปรบกวนเพื่อนบ้าน การร้องเรียนก็ไม่เกิดขึ้น ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นความเกื้อกูลซึ่งกันและกันในชุมชน

ทางด้าน คุณลุงบุญส่ง พรหมศาสตร์ เจ้าของฟาร์มหมูที่บ้านโคกแดง หมู่ที่ 9 จุดกำเนิดโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน กล่าวว่า ตนเลี้ยงหมูมานานแล้ว เริ่มเลี้ยงหมูตั้งแต่เลี้ยงลูกหมูตัวเดียวจนกลายเป็นฟาร์มใหญ่ขึ้นมา เมื่อครั้งนั้นมีเพื่อนฝูงเอาลูกหมูเหลือนมเป็นลูกหมูเพศเมียมาให้

"เมื่อ เขาให้ลูกหมูมา ผมไม่รู้จะไปให้ใครต่ออีก จำต้องเลี้ยงเอาไว้ พอหมูโตขึ้นก็เอาไปผสมพันธุ์ได้ลูกออกมาเลี้ยงบ้างขายเป็นเงินทุนค่าอาหาร หมูต่อไปบ้าง จากจุดนั้นคือเลี้ยงหมูตัวเดียว ปัจจุบันนี้ ผมมีพ่อแม่พันธุ์หมู ประมาณ 80 ตัว มีลูกหมูทุกขนาด ประมาณ 400-500 ตัว เมื่อก่อนเคยมีพ่อแม่พันธุ์ถึง 140 ตัว ใช้โรงเรือนเลี้ยงหมู 5 โรงเรือนใหญ่"

คุณลุงบุญส่ง กล่าวพร้อมกับเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อมีประชากรหมูเป็นจำนวนมากเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียจากโรงเรือน เลี้ยงหมูขึ้นมา จนกระทั่งปลายปี 2551 ทางเกษตรก็มาแนะนำให้เข้าร่วมโครงการก๊าซมูลหมูในชุมชน โดยจะใช้สถานที่ฟาร์มของตนทำเป็นบ่อผลิตก๊าซส่งก๊าซไปให้ชุมชนได้ใช้กัน ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งลดปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งมวลด้วย จึงเข้าร่วมโครงการให้ใช้สถานที่ในฟาร์มทำเป็นที่ผลิตก๊าซ

คุณลุงบุญ ส่ง บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพลังงานสีเขียวเข้ามาทำบ่อหมักมูลหมูเพื่อนำก๊าซ ที่เกิดจากมูลหมูมาใช้ โดยทำเป็นบ่อโดมใหญ่ขุดลงไปใต้ดิน ลึกประมาณ 3 วา กว้าง 4 วา จากนั้นก็ทำรางน้ำต่อจากโรงเรือนเลี้ยงหมูทุกโรงมายังบ่อโดมใหญ่กลางพื้นที่ ท้ายบ่อทำเป็นทางน้ำล้น สามารถดูดกากมูลหมูออกได้

คุณลุงบุญส่ง อธิบายว่า จากโรงเรือนเลี้ยงหมูพอเราทำความสะอาดใช้สายยางฉีดมูลหมูในคอก น้ำล้างมูลหมูแต่ละคอกในโรงเรือนก็จะไหลลงสู่ท่อรางน้ำที่ทำไว้โดยรอบ แล้วไหลลงสู่บ่อโดมใหญ่กลางพื้นที่ เมื่อมูลหมูถูกหมักอยู่ในบ่อใหญ่จะเกิดเป็นก๊าซลอยตัวออกมาเข้าสู่ท่อส่ง ก๊าซเหนือบ่อใหญ่ ก๊าซจะลอยตัวไปตามท่อ พีอี ที่ต่อจากบ่อใหญ่ไปสู่หมู่บ้านในชุมชน จนถึงหัวท่อก๊าซในครัว ทุกบ้านสามารถเปิดใช้เป็นก๊าซหุงต้มได้เลย

คุณลุงบุญส่ง อธิบายต่ออีกว่า สำหรับกากของเสียในบ่อหมักก๊าซบ่อใหญ่จะถูกดันออกมาท้ายบ่อ ต้องใช้สายยางใหญ่สูบเอากากออกมาใส่ในลานตากกากที่ทำเป็นบ่อกว้างไม่ลึกมาก นัก เพื่อตากกากมูลหมูให้แห้ง พอแห้งก็เอาไปใช้เป็นปุ๋ยมูลหมูต่อไป

"ปุ๋ย มูลหมูนี้ ผมใส่กระสอบขาย กระสอบละ 22 บาท รายได้เป็นค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เสื่อมสภาพที่ใช้ในการผลิตก๊าซมูลหมู เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่อยู่ในฟาร์ม ผมต้องออกเองทั้งหมด"

คุณลุง บุญส่ง กล่าวและว่า ปุ๋ยมูลหมูทำออกมาก็ขายไป ส่วนน้ำที่ออกมาจากบ่อหมักก๊าซบ่อใหญ่ทางท่อน้ำล้น ตนเอาน้ำส่วนนั้นมากักเก็บไว้อีกบ่อหนึ่ง เพื่อเอาไปใส่ในนาข้าว โดยการสูบเข้าไปพร้อมกับน้ำที่สูบเข้านาข้าว อัตราส่วนให้น้ำจากแหล่งน้ำมากกว่าน้ำเสียจากบ่อหมัก

"ถามว่า ดีไหม ตอบว่า ผมได้ข้าวดีกว่าเขาก็แล้วกัน ผมเพิ่งจะมาทำนาประมาณ 20 ไร่ ใช้น้ำเสียจากบ่อหมักก๊าซ ครั้งแรกได้ข้าว 85 ถัง ครั้งที่ 2 ได้ 87 ถัง ครั้งที่ 3 ได้เกือบ 100 ถัง ก็เห็นผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกงวดๆ สำหรับปุ๋ยขี้หมูผมไม่เอามาใส่ ใช้น้ำของเสียจากมูลหมูใส่ในนาเดือนละครั้ง ส่วนปุ๋ยสูตรก็มีโรยๆ บ้างตอนข้าวตั้งท้อง ใส่ไร่หนึ่ง 3-4 กิโล เท่านั้น ใช้น้อยมากครับ"

คุณลุงบุญส่ง กล่าวอีกว่า ส่วนรกหมูนั้น ตนนำมาทำฮอร์โมนรกหมูฉีดพ่นทางใบ ได้ผลดีมากๆ ข้าวงามทั่วท้องทุ่ง จะลองทำใช้บ้างก็ได้ สำหรับการติดต่อสื่อสารติดต่อที่ทางเกษตรดีกว่า ทางผมไม่ค่อยสะดวก วันๆ วุ่นอยู่กับการเลี้ยงหมู (หัวเราะ) สำหรับสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแคหาไม่ยาก เลาะริมคลองชลประทาน จากถนนพหลโยธินไปทางซ้ายมือ โทร. (087) 938-2779 ในเวลาราชการขอรับ



Create Date : 29 มกราคม 2554
Last Update : 29 มกราคม 2554 9:20:37 น.
Counter : 1895 Pageviews.

0 comments
นุ่งซิ่นชมสวน๑/๖๗ ตะลีกีปัส
(3 เม.ย. 2567 10:35:45 น.)
ประโยชน์ของขอบคันหิน ไอเดียการตกแต่งสวน สมาชิกหมายเลข 7464993
(30 มี.ค. 2567 10:47:35 น.)
โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 - "ฉุกละหุก" ทนายอ้วน
(28 มี.ค. 2567 14:24:52 น.)
ภาพเก่า เล่าใหม่ ผลไม้และเบอร์รี่ชนิดต่างๆ ที่มีในสวน สวยสุดซอย
(27 มี.ค. 2567 14:20:01 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด