ไม่หวั่นปุ๋ยแพง เกษตรกรผสมปุ๋ยยางได้เอง
พรรณพิชญา สุเสวี

ไม่หวั่นปุ๋ยแพง เกษตรกรผสมปุ๋ยยางได้เอง

การผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพาราที่เป็นสินค้าหลักของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นแหล่งธาตุอาหารหลัก ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีและเพิ่มผลผลิตสูง ปัจจุบันปุ๋ยเคมีกลับมีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่ามีประสิทธิภาพต่อการผลิตพืชทุกชนิด เนื่องจากมีปริมาณธาตุอาหารสูงมากกว่าปุ๋ยชนิดอื่นๆ นอกจากทำให้ดินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้ว ยังให้พืชนำไปใช้ได้ทันที จะเห็นได้ว่า ปีหนึ่งๆ ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการผลิตพืชให้มีคุณภาพประมาณ 3.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท แม้ปุ๋ยเคมีจะมีราคาแพงมาก แต่เกษตรกรจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยต่อไปทุกปี ทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรได้ คือให้เกษตรกรผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง

คุณนุชนารถ กังพิศดาร ผู้อำนวยการส่วนการผลิตยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร บอกว่า การแนะนำให้เกษตรกรรู้จักผสมปุ๋ยเคมีใช้เองถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยได้ทุกสูตรตามที่ต้องการ ประจวบกับปัจจุบันเกษตรกรปลูกยางกันมากขึ้น ความต้องการใช้ปุ๋ยจึงมีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถซื้อปุ๋ยสูตรสำเร็จในท้องตลาดได้ การผสมปุ๋ยใช้เองจึงเป็นทางเลือกที่เกษตรกรสามารถทำได้ ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ ปุ๋ยผสมใช้เองยังมีต้นทุนต่ำกว่าปุ๋ยสูตรสำเร็จเสียอีก

คุณนุชนารถ จึงอยากชักชวนให้เกษตรกรหันมาผสมปุ๋ยเคมีใช้เองซึ่งทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ซื้อแม่ปุ๋ยมา 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 18-46-0 และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ สูตร 0-0-60 โดยนำแม่ปุ๋ยทั้ง 3 ชนิด มาผสมกันซึ่งจะให้เนื้อธาตุอาหารตามสูตรที่เราต้องการ สูตรปุ๋ยผสมที่สถาบันวิจัยยางแนะนำสำหรับยางก่อนเปิดกรีด ให้ใช้ สูตร 20-8-20 ในเขตปลูกยางเดิม และสูตร 20-10-12 ในเขตปลูกยางใหม่ และสำหรับยางหลังเปิดกรีด ใช้สูตร 30-5-18 ทั้งในเขตปลูกยางเดิมและเขตปลูกยางใหม่

เมื่อได้สูตรปุ๋ยยางแล้วต้องรู้ว่าจะผสมปุ๋ยต้องใช้น้ำหนักกี่กิโลกรัม โดยคำนวณจากจำนวนต้นยางและอัตราปุ๋ยตามอายุของต้นยางที่จะใส่แต่ละครั้ง และปริมาณแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ โดยมีขั้นตอนการผสมปุ๋ย ดังนี้

1. ชั่งแม่ปุ๋ย ชั่งตามน้ำหนักที่จะใช้ตามสูตรที่ต้องการ โดยให้นำแม่ปุ๋ยที่ใช้ปริมาณมากมาชั่งก่อน แล้วเทลงบนลานกว้างเกลี่ยให้แบน แล้วจึงชั่งแม่ปุ๋ยที่ใช้ปริมาณน้อยตามลำดับ เททับให้ทั่วกอง

2. ใช้จอบหรือพลั่วพลิกกลับไปมาจนผสมกันเข้าได้ดี จากนั้นตักปุ๋ยผสมใส่กระสอบ นำไปใส่ต้นยางทันที แต่ถ้าใช้ไม่หมดให้ใส่ถุงพลาสติคปิดปากถุงให้แน่น และใส่ในถุงปุ๋ยอีกชั้นหนึ่ง มัดให้แน่นอีกที เก็บไว้ใช้ได้อีก แต่ไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์

คุณนุชนารถย้ำอีกว่า สำหรับวิธีการใส่ปุ๋ยยาง หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง จะทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อยางพารา กล่าวง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นช่วงยางก่อนเปิดกรีด 1-2 ปีแรก ใส่ปุ๋ยรอบๆ โคนต้นบริเวณทรงพุ่ม ถ้ายางอายุ 2 ปีขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ยเป็นแถบ 2 ข้าง บริเวณระหว่างแถวยางตามแนวทรงพุ่ม หรือใส่ปุ๋ยด้วยการขุดหลุมลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร จำนวน 2 หลุม ต่อต้น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีด้วยจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น สำหรับยางหลังเปิดกรีด ใส่ปุ๋ยอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500 กรัม ต่อต้น ต่อปี ใส่ครั้งแรกช่วงต้นฤดูฝน และครั้งที่ 2 ช่วงปลายฤดูฝนและควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยเช่นกัน

สำหรับอัตราและเวลาการใส่ปุ๋ยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง หากเกษตรกรท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. (02) 579-7557-8 ต่อ 181, 522 ในเวลาราชการ



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:09:15 น.
Counter : 1166 Pageviews.

0 comments
ล้อมรั้วกั้นกวางมากินดอกไม้ สวยสุดซอย
(8 เม.ย. 2567 14:56:09 น.)
นุ่งซิ่นชมสวน๑/๖๗ ตะลีกีปัส
(3 เม.ย. 2567 10:35:45 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 3 ... เมื่อดอกไม้บาน ฟ้าใสวันใหม่
(29 มี.ค. 2567 09:15:33 น.)
เอื้องตีนนก สมาชิกหมายเลข 4313444
(27 มี.ค. 2567 12:00:01 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด