เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ดต้นทุนต่ำ ผลงานนักศึกษา ม.ขอนแก่น
สุเมธ วรรณพฤกษ์ โทร. (089) 861-3447



นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด ลดการใช้แรงงานคน ต้นทุนต่ำและประหยัดเวลา ผลการทดสอบใช้งานง่าย ได้มาตรฐาน และให้ผลผลิตสูงกว่า

ผศ.สมนึก ชูศิลป์ อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่อยู่ในความดูแล ได้สร้างเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด โดยออกแบบเครื่องผสมและเครื่องอัดก้อนเชื้อเห็ดให้อยู่ในเครื่องเดียวกัน แบบ 2 IN 1 ซึ่งผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน "การนำไปใช้ประโยชน์" จากสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ในการประชุมโครงงานวิชาการโครงงานวิศวกรรมเกษตร ครั้งที่ 14 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา

ผศ.สมนึก บอกว่า นักศึกษาที่สร้างเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ดดังกล่าว ประกอบด้วย คุณณัฐพล โสกุดเลาะ และคุณนิรัติศักดิ์ คงทน ซึ่งจะช่วยให้มีระบบการจัดการที่สามารถทำให้ปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องขึ้น ช่วยลดปัญหาแรงงานคน และการสิ้นเปลืองพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมถึงลดขั้นตอนการทำงานได้อีกด้วย เป็นการสนองความต้องการของกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเห็ดจำหน่าย สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้รวดเร็ว นาทีละ 10 ถุง และก้อนเชื้อเห็ดมีความเจริญงอกงามดี

คุณณัฐพล โสกุดเลาะ นักศึกษาที่สร้างเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด กล่าวว่า วัตถุดิบหลักโดยทั่วไปที่ใช้เป็นก้อนเชื้อเห็ด ได้แก่ ขี้เลื้อยจากไม้ หรือใช้วัสดุอื่นแทน เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว และซังข้าวโพด เป็นต้น แต่การทำงานยังต้องใช้แรงงานคนในขั้นตอนหลายๆ ขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการใช้เครื่องผสมวัสดุเพาะให้คลุกเคล้าเข้ากัน จากนั้นจะกรอกวัสดุลงถุง แล้วนำไปอัดด้วยเครื่องอัด ซึ่งแยกต่างหากจากเครื่องผสม แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลามากและขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน แต่เครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ มีความสามารถในการผสมและอัดในเครื่องเดียวกัน สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้รวดเร็ว นาทีละ 10 ถุง ใช้มอเตอร์ต้นกำลังเพียงตัวเดียว มีต้นทุนต่ำ ทำงานอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

"โครงสร้างตัวเครื่องประกอบด้วยส่วนผสม ซึ่งออกแบบให้เป็นถังผสมในแนวแกนนอน ใช้ในการผสมวัสดุให้เข้ากัน ภายในถังผสมมีใบผสมแบบเกลียวคู่ เมื่อเทส่วนผสมลงถังแล้วเปิดเครื่อง ใบผสมนี้จะทำการกวนวัสดุกลับไปกลับมาแนวแกน ทำให้วัสดุคลุกเคล้าเข้ากันได้สม่ำเสมอ เครื่องสามารถผสมวัสดุให้เข้ากันได้ใช้เวลา 15 นาที จากนั้นจะส่งไปส่วนอัดก้อนเชื้อเห็ด มีลักษณะการทำงานคล้ายกับการทำงานของกระบอกลูกสูบของเครื่องยนต์ ซึ่งส่วนการอัดมี 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วย กระบอกและจานอัด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ช่วงชัก 15 เซนติเมตร และส่วนสุดท้ายคือระบบถ่ายทอดกำลัง ใช้ระบบชุดเฟืองท้ายรถไถเดินตาม และใช้มอเตอร์ ขนาด 1/3 แรงม้า หรือขนาด 0.25 กิโลวัตต์ เป็นต้นกำลัง ส่งกำลังจากมอเตอร์มายังชุดเฟืองท้ายรถไถเดินตามโดยสายพาน"คุณณัฐพล บอก

คุณณัฐพล กล่าวต่อว่า ความหนาแน่นจะส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตเห็ด คือกรณีที่ก้อนเชื้อเห็ดมีความหนาแน่นสูง จะทำให้เชื้อเห็ดขยายตัวยาก ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ เช่นเดียวกันกรณีที่ความหนาแน่นต่ำ จะทำให้เชื้อเห็ดที่ใส่เกาะตัวกันได้น้อย ขยายตัวได้ยาก ผลผลิตก็จะต่ำ ดังนั้น จึงต้องใช้ค่าความหนาแน่นที่เหมาะสม ซึ่งจากการศึกษาทดลองพบว่า การอัดโดยใช้เกียร์ถอยหลัง อัด 1 ครั้ง สามารถอัดก้อนเชื้อเห็ดได้นาทีละ 10 ถุง ใช้เวลาในการทำงานถุงละ 6.17 วินาที และจะให้ค่าความหนาแน่นที่ดีที่สุด เหมาะสมกับการเจริญงอกงามของเห็ด นั่นคือ ความหนาแน่นเฉลี่ย 0.8 กรัม ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร และก้อนเชื้อเห็ดมีค่าน้ำหนักอยู่ในช่วง 800-1,200 กรัม ต่อถุง

"เห็ด เป็นแหล่งโปรตีนที่คนนิยมนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลากหลายประเภท โดยประเทศไทยมีการผลิตเห็ดปีละประมาณ 30,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,580 ล้านบาท การเพาะเห็ดจึงเป็นธุรกิจที่สำคัญ ที่สามารถเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมของเกษตรกรได้ ซึ่งวิธีการเพาะเห็ดทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมกันมากคือ การบรรจุเชื้อในถุงพลาสติค แล้วนำไปเพาะในโรงเรือนที่ควบคุมความชื้นและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นการเลียนแบบธรรมชาติที่ให้ผลผลิตสูง แต่ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ดยังมีความยุ่งยากหลายขั้นตอน ซึ่งเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตขึ้นนี้ ได้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์" คุณณัฐพล กล่าว



Create Date : 18 มิถุนายน 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2551 9:08:11 น.
Counter : 3688 Pageviews.

0 comments
นุ่งซิ่นชมสวน๑/๖๗ ตะลีกีปัส
(3 เม.ย. 2567 10:35:45 น.)
ดอกติ้วขาว บานแล้ว สมาชิกหมายเลข 4313444
(30 มี.ค. 2567 03:12:50 น.)
ประโยชน์ของขอบคันหิน ไอเดียการตกแต่งสวน สมาชิกหมายเลข 7464993
(30 มี.ค. 2567 10:47:35 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 2 ฟ้าใสวันใหม่
(27 มี.ค. 2567 08:42:58 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด