แนวทางการเพาะเลี้ยงจระเข้ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ร.อ.น.พ.ปัญญา ยังประภากร บริษัท จระเข้ทองการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด



หนังจระเข้ไทยสู่ตลาดโลก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้อยู่เป็นจำนวนมาก รวมแล้วมีจระเข้พันธุ์น้ำจืด ประมาณ 300,000 ตัว ในแต่ละปีจะมีการเพาะลูกจระเข้เกิดใหม่ ประมาณ 50,000-80,000 ตัว แต่เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้หนังจระเข้ทั่วโลกซึ่งแต่ละปีใช้กันอยู่ประมาณ 1-2 ล้านผืน จะเห็นได้ว่าปริมาณลูกจระเข้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนไม่มาก สามารถแทรกเข้าไปในตลาดโลกได้ ซึ่งการเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นได้นั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่

1. คุณภาพหนังสวย

2. ราคาที่สามารถสู้กับตลาดโลกได้

3. สามารถแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้า

3.1 กฎหมายภายในประเทศของคู่ค้า

3.2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขสากล เช่น GAP, GMP, HACCP

4. เพิ่มมูลค่าจากหนังดิบเป็นหนังฟอก หรือผลิตภัณฑ์



ทิศทางการเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย

ปัญหาและการแก้ไข

การเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยยังไม่มีทิศทางและรูปแบบที่แน่นอน เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างเลี้ยง เวลามีปัญหาก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการวางแผนร่วมกับหน่วยงานราชการ ทั้งๆ ที่จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าได้ เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหา

1. ข้าราชการที่ต้องดูแลตามกฎหมาย หากขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงวิธีปฏิบัติ การออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับผู้เลี้ยงจระเข้ก็จะเป็นปัญหา

2. ประชาชนผู้เลี้ยงจระเข้สับสน ไม่ทราบรายละเอียด วิธีการขออนุญาต ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินเรื่อง เดินทาง และเวลา อีกทั้งกังวลใจในข้อกฎหมายต่างๆ

3. ควรกำหนดพื้นที่ในการเลี้ยงจระเข้ เช่น ไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพราะเป็นปัญหาเมื่อน้ำท่วม จระเข้หลุด

4. เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์

4.1 หนัง เพื่อทำผลิตภัณฑ์โดยไม่สนใจเนื้อ เพราะขายลำบาก เนื้อถูกนำไปใช้เป็นอาหารให้จระเข้กิน

4.2 หนังและเนื้อ หนังนำไปทำผลิตภัณฑ์ เนื้อขายให้คนบริโภคเป็นอาหาร โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก

4.3 หนังและเนื้อเพื่อบริโภคในบางประเทศ เช่น จีน นิยมรับประทานเนื้อจระเข้ติดหนัง เพราะนอกจากความอร่อยของหนังแล้ว ยังมั่นใจว่าเป็นเนื้อจระเข้แท้อีกด้วย

4.4 ขายจระเข้มีชีวิต อวัยวะภายใน เลือด กระดูก ฯลฯ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้ต่างคนต่างเลี้ยง ทิศทางการเลี้ยงก็จะไม่แน่นอน คือการเลี้ยงเพื่อเอาหนังและเนื้อ วิธีการเลี้ยงก็จะถูกกำหนดให้ฟาร์มเลี้ยงจะต้องได้รับ GAP กล่าวคือ คุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงต้องอยู่ในเกณฑ์กำหนด มีการบำบัดน้ำทิ้ง อาหารจระเข้ต้องมาจากแหล่งที่ตรวจสอบได้ ปลอดภัย ฯลฯ โรงงานที่ชำแหละเนื้อและหนังต้องได้รับ GMP, HACCP แต่สำหรับผู้ที่เลี้ยงเพื่อเอาหนังอย่างเดียวก็บอกว่าเขาไม่ใช้เนื้อ ดังนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่อง GAP เวลาชำแหละก็ชำแหละข้างบ่อ ไม่จำเป็นต้องมี GAP, HACCP

การวางแผนการเลี้ยงจระเข้ให้มีระบบที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อ

1. ทุกฟาร์มปฏิบัติเหมือนกัน ง่ายต่อการดูแลของทางราชการ

2. เมื่อมีการส่งออกเนื้อจระเข้ได้ก็ไม่มีปัญหาว่าเนื้อมาจากฟาร์มที่ได้ GAP หรือไม่ การผลิตในโรงงานที่มี GMP, HACCP หรือไม่

หากมีมาตรการที่กำหนดแน่นอนเพื่อปฏิบัติ เกษตรกรที่จะเลี้ยงจระเข้จะได้ทราบแต่แรกและดูว่าสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ ต้นทุนเป็นอย่างไร มิใช่เลี้ยงไปแล้วมีการออกมาตรการให้ปฏิบัติ เช่น เรื่องน้ำทิ้ง เรื่องที่มาของอาหาร เพื่อให้เป็นระบบ GAP ซึ่งอาจเป็นการลำบากที่จะปฏิบัติและเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่หากไม่มีการกำหนดที่แน่นอน หน่วยราชการก็ควรจัดระดับฟาร์มเพื่อเป็นมาตรฐานให้ทราบกันทั่วไปโดยกำหนด

ระดับ A ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP, HACCP

ระดับ B ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP

ระดับ C ฟาร์มมี GAP โรงผลิตมี GMP หรือไม่มีโรงผลิต

ระดับ D ฟาร์มไม่มี GAP



การพัฒนาการเลี้ยงจระเข้ให้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ต้องพยายามลดต้นทุน

ต้นทุนในการเลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปลายทางคือหนัง ต้องไปสู้กับราคาตลาดโลก ซึ่งบางแห่งหนังจระเข้มาจากการล่า หรือเก็บไข่และลูกจระเข้มาเลี้ยง ทำให้เขามีต้นทุนในการผลิตลูกจระเข้ต่ำกว่าประเทศไทย ต้นทุนในการเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทยจึงเป็นปัจจัยสำคัญมากต่ออนาคตจระเข้ไทย

1. ค่าใบอนุญาตต่างๆ รวมทั้งค่าเดินทางในการติดต่อ

1.1 การขอใบอนุญาตครอบครองซึ่งมีอายุของใบอนุญาต 3 ปี และใบอนุญาตค้าซึ่งมีอายุของใบอนุญาต 1 ปี การขอใบอนุญาตครั้งเดียว และสามารถต่ออายุได้เมื่อใบอนุญาตหมดอายุ ไม่ต้องขอใหม่ แต่ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่และเกษตรกร เวลาขายจระเข้แต่ละครั้งก็ต้องขออนุญาตค้าทุกครั้ง ทำให้เสียค่าขอใบอนุญาตค้าโดยไม่จำเป็น เป็นการสิ้นเปลือง

1.2 การเตรียมเอกสารไม่ครบ เพราะไม่ทราบ ทำให้ต้องเดินทางไปขอใบอนุญาตหลายครั้ง ซึ่งบางแห่งผู้เลี้ยงจระเข้จะต้องเดินทางไป-กลับแต่ละครั้งกว่า 100-200 กิโลเมตร เพื่อ

1.2.1 ยื่นคำขอ

1.2.2 เตรียมเอกสารเพิ่มเติมเพราะไม่ครบถ้วน กลับไปเตรียมใหม่

1.2.3 ไปรับใบอนุญาต ซึ่งบางครั้งมาตามนัด แต่ใบอนุญาตยังไม่เสร็จ ต้องไปรับใหม่

1.2.4 บางครั้งใบอนุญาตพิมพ์ผิด ต้องกลับไปแก้ไขใหม่

หากเกษตรกรเลี้ยงจระเข้จำนวนน้อย เช่น 20-50 ตัว ต้นทุนในการขอใบอนุญาต ค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายครั้ง เวลาที่เสียไปก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง แต่หากเลี้ยงจระเข้หลายร้อยตัวก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ไม่สูง

2. ต้นทุนบ่อ

ผู้เลี้ยงควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเริ่มสร้างบ่อ ผู้ที่เป็นแหล่งข้อมูลคือ ฟาร์มจำหน่ายลูกพันธุ์ และเจ้าหน้าที่ราชการ

สถานที่เลี้ยงจระเข้ควรคำนึงถึง

- การเดินทางสะดวก

- น้ำท่วมถึงหรือไม่

- สร้างบ่อได้ถูกต้องตามแบบ

- น้ำที่ใช้เลี้ยงเหมาะสมหรือเพียงพอหรือไม่

- ต้องบำบัดน้ำเสียที่ปล่อยทิ้งหรือไม่

- แหล่งอาหารที่ใช้เลี้ยงจระเข้เหมาะสมหรือไม่ มีเพียงพอหรือไม่

เพราะการสร้างบ่อจระเข้ต้องลงทุนสูง ควรใช้เลี้ยงเป็นระยะเวลานาน จึงจะคุ้ม ถ้าเลือกสถานที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหา ต้องสร้างที่ใหม่ หรือต้องแก้ไข ทำให้เป็นการเพิ่มทุน อีกทั้งถ้าไม่ได้กำหนดให้มีการบำบัดน้ำก่อนทิ้ง ผู้เลี้ยงไม่มีเนื้อที่เผื่อไว้แล้ว ทางราชการมากำหนดภายหลังว่าต้องมี ทำให้เกิดความยุ่งยากมากในการแก้ไข ดังนั้น เรื่อง GAP มีความสำคัญ หากกำหนดนโยบายที่แน่นอนได้ จะได้รู้ว่าการเลี้ยง สถานที่ และการสร้างบ่อจะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของ GAP ด้วยหรือไม่

3. ลักษณะการเลี้ยง

- เลี้ยงบ่อรวม ต้นทุนจะต่ำ เพราะหนึ่งบ่อเลี้ยงจระเข้หลายตัว และการดูแลจัดการง่าย ประหยัดพลังงานแต่หนังจะไม่สวย จึงขายได้ในราคาถูกและหาตลาดยาก

- เลี้ยงบ่อเดี่ยว ต้นทุนค่าบ่อสูง เพราะหนึ่งบ่อใส่จระเข้ 1 ตัว การให้อาหาร ทำความสะอาดบ่อจะเสียเวลามากกว่า และจระเข้จะโตช้ากว่าบ่อเลี้ยงรวม ทำให้มีต้นทุนในการเลี้ยงสูงกว่า แต่หนังที่ได้มีคุณภาพดีกว่า ทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าและขายได้ง่ายกว่าบ่อรวม

4. ต้นทุนลูกพันธุ์

เกษตรกรควรซื้อลูกพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยขอข้อมูลจากหน่วยราชการ เพราะถ้าได้ลูกพันธุ์ที่ดีจะสูญเสียน้อย โตเร็ว ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำลง รวมทั้งควรคำนึงถึงการรับซื้อจระเข้คืน มีการรับซื้อคืนตามที่ตกลงกันไว้จริงหรือไม่

5. ต้นทุนค่าอาหาร

ปัจจุบันการเลี้ยงจระเข้ค่อนข้างมีปัญหา แต่เดิมใช้ไก่ตายตามเล้าเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงจระเข้ ซึ่งสามารถหาได้ง่าย มีคนหามาส่งเป็นประจำ ราคาถูก แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกขึ้น ไก่ตายเหล่านั้นต้องทำลายห้ามเคลื่อนย้าย ทำให้ผู้เลี้ยงหาอาหารได้ยากขึ้นและราคาแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนกาเลี้ยงสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น หากมีการวิจัยเพื่อผลิตอาหารสำเร็จรูปสำหรับจระเข้ได้ จะทำให้การเลี้ยงจระเข้สะดวกขึ้น และมีต้นทุนที่แน่นอนขึ้นกว่าการใช้อาหารสดที่หายากและราคาไม่แน่นอน

6. ความรู้ในการเลี้ยง

ฟาร์มใหญ่และหน่วยราชการเป็นแหล่งความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้เลี้ยงได้ดีและโตเร็ว

7. การทำประวัติจระเข้

การทำเครื่องหมายจระเข้เพื่อติดตามและตรวจสอบประวัติ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตัดเกล็ดหางจระเข้ การติด Tag การฝังไมโครชิป แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อด้อยต่างกันไป แต่วิธีที่ได้ผลดีและมีราคาถูกคือ การตัดเกล็ดหางจระเข้ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำประวัติและควบคุมจระเข้ในประเทศ ส่วนการใช้ Tag หรือไมโครชิป มักจะทำในจระเข้มีชีวิตที่ส่งขายระหว่างประเทศ

8. ภาษีอื่นๆ จากท้องถิ่น

- ภาษีสัตว์น่ารังเกียจ

- ภาษีโรงเรือน

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งพยายามจะเก็บภาษีในทุกรูปแบบ และก็พยายามมองว่าจระเข้เป็นสัตว์น่ารังเกียจ เมื่อเลี้ยงแล้วต้องมีการเก็บภาษีสัตว์น่ารังเกียจโดยเรียกเก็บทุกปี และบ่อเลี้ยงจระเข้ อบต. ก็พยายามตีความเป็นโรงเรือนเพื่อเก็บภาษีโรงเรือน โดยไม่คำนึงว่าเป็นอาชีพประมง เกษตรกรรม เช่นเดียวกับการเลี้ยงปลาและกุ้ง ไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่ละ อบต. ก็มีการกำหนดและเก็บแตกต่างกันไป ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน ดังนั้น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมควรเข้ามามีบทบาทในการออกกฎต่างๆ เพื่อช่วยเหลืออาชีพเกษตรกรรมประมง และให้เป็นหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ มีหลักการที่ถูกต้อง มิให้ท้องถิ่นตีความต่างๆ กัน เรียกเก็บแพงๆ เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต

จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงจระเข้เป็นอาชีพที่ใช้ระยะเวลานานอย่างน้อยประมาณ 2-4 ปี จึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องดูศักยภาพของตนว่าเหมาะสมที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เพราะตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงจะมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ และต้องดูปัจจัยอื่นๆ เช่น อาหาร น้ำ ที่ดิน แรงงาน อยู่ในต้นทุนต่ำหรือไม่



ตลาดส่วนมากส่งออกต่างประเทศ

การบริโภคหนังและเนื้อจระเข้ในประเทศไทยยังน้อยอยู่ ดังนั้น เกือบทั้งหมดจึงเป็นการส่งออก ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ หากแก้ไขได้ก็จะทำให้ตลาดเปิดกว้างสำหรับหนังและเนื้อจระเข้ไทย และราคาจะสูงขึ้นอีกด้วย

- หนังจระเข้ไทยไม่สามารถส่งไปขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งๆ ที่หนังจระเข้ไทยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ CITES ทุกประการ และสหรัฐอเมริกาก็เป็นสมาชิก CITES ทราบว่าจระเข้ไทยเป็นจระเข้เพาะเลี้ยง แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ยอมแก้ไขกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งห้ามหนังจระเข้ไทยเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดสำหรับหนังจระเข้ไทยแคบ และหลายประเทศไม่กล้าซื้อหนังจระเข้ไทยไปฟอก ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะส่งขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ หากแก้ไขกฎหมายนี้ได้ หนังจระเข้ไทยจะมีตลาดกว้างขึ้นและราคาจะสูงขึ้นอีก

- ผู้ผลิตหนังจระเข้ไทยบางส่วนต้องขายหนังจระเข้หมักเกลือ ซึ่งเป็นหนังดิบไปยังต่างประเทศ ซึ่งได้ราคาน้อยกว่าหนังฟอก เนื่องจากไม่สามารถหาที่ฟอกหนังจระเข้ในประเทศได้ เพราะโรงฟอกหนังส่วนใหญ่จะไม่รับฟอกหนังจระเข้จากผู้เลี้ยงทั่วไป ดังนั้น หากภาครัฐสามารถหาโรงฟอกหนังจระเข้จากผู้เลี้ยงอื่นๆ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับหนังจระเข้ไทย หรือมีการขอยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษีสำหรับหนังจระเข้ที่ส่งไปฟอกในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขายหรือทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหนังจระเข้ไทยด้วย

- เนื้อจระเข้เป็นที่ต้องการของคนจีน โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เนื่องจากประเทศไทยได้มีข้อตกลงการซื้อขายสินค้าเกษตรกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนำเนื้อจระเข้ไปผูกกับเนื้อไก่ โดยประเทศไทยส่งเนื้อจระเข้ไปขายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะเดียวกันก็ให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถส่งเนื้อไก่มาขายยังประเทศไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่อนุญาตให้เนื้อจระเข้ไทยเข้าประเทศได้ หากแก้ไขปัญหานี้ได้ และให้เนื้อจระเข้เข้าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เสรี เนื้อจระเข้ก็จะมีตลาดกว้างขึ้นและขายได้หมด

- เนื้อจระเข้ปลอมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ากลัว ไม่กล้าซื้อเนื้อจระเข้จากประเทศไทย โดยทั่วไปเนื้อจระเข้ปลอมส่วนใหญ่จะใช้เนื้องูและเนื้อตะกวด เนื้อปลามาทำเป็นเนื้อจระเข้ตากแห้งปลอม หากทางภาครัฐสามารถตรวจคุณภาพของเนื้อว่าเป็นเนื้อจระเข้จริงหรือปลอมได้ ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อได้ และไม่เสียชื่อเสียงประเทศไทย

- เมื่อมองภาพปัญหาและการแก้ไขการเลี้ยงจระเข้ของประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าหากมีการจัดระบบและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้ว สามารถที่จะลดต้นทุนการเลี้ยงลงได้ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจระเข้มีรายได้จากการเลี้ยงจระเข้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก และสามารถขยายการเลี้ยงให้กว้างขวางขึ้น

ตลาดหนังและเนื้อของจระเข้ไทยก็จะกว้างขวางมากขึ้น และได้ราคาดีด้วย



Create Date : 21 เมษายน 2551
Last Update : 21 เมษายน 2551 8:21:17 น.
Counter : 2885 Pageviews.

0 comments
ถั่วควาย หรือ กระจับเขาควาย รู้จักมั้ย สมาชิกหมายเลข 4313444
(13 เม.ย. 2567 04:11:51 น.)
เมนูยำมาม่า อร่อยรสแซ่บหลากสไตล์ทำกินง่ายทำขายดี สมาชิกหมายเลข 7986208
(29 มี.ค. 2567 17:26:43 น.)
โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 - "ฉุกละหุก" ทนายอ้วน
(28 มี.ค. 2567 14:24:52 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 2 ฟ้าใสวันใหม่
(27 มี.ค. 2567 08:42:58 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด