ฟรีบรา โคไทย เพื่อเกษตรกรไทย
ฟรีบรา โคไทย เพื่อเกษตรกรไทย

ผลจากการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน 5 ปี ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างระบบการผลิตโคสายเลือดสูง จนได้สายพันธุ์ที่ชื่อว่า ฟรีบรา ที่สามารถใช้เป็นโคพื้นฐานในการพัฒนาเป็นโคนมไทย ที่มีสายเลือดสูงเพิ่มขึ้นต่อไปได้

ทำไมจึงมาเป็นโครงการนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจัง หลัง พ.ศ. 2500 และขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับที่คนไทยนิยมบริโภคนมกันมากขึ้น จนถึงปัจจุบันอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรและผู้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นในอัตราสูง แต่การขยายจำนวนโคนมยังไม่ทันกับความต้องการ

โดยสาเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเลี้ยงโคนม คือการจัดหาพันธุ์โคนมมาเพิ่ม โดยหนทางที่ดำเนินการมาคือ ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง รวมทั้งสาเหตุจากการขาดอาหารหยาบที่มีคุณภาพ ขาดการศึกษาวิเคราะห์ และพัฒนาพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูในประเทศไทย

ปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดตั้งโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมขึ้น

วัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตโคนมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้มีและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้

ทั้งนี้พันธกิจของโครงการ คือเพื่อสร้างระบบการผลิตโคฟรีบรา จากแม่โคบราห์มันลูกผสม ซึ่งเป็นแม่โคนอกฝูงโคนมสำหรับเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเป็นโคนม-โคเนื้อ ที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงดู ซึ่งจัดการได้สะดวก ในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกร

"งานด้านปศุสัตว์และการผสมเทียม จึงเป็นอีกสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้เข้ามามีส่วนในการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์เศรษฐกิจอย่าง โคเนื้อ โคนม โดยเฉพาะด้านโคนมได้ดำเนินการปรับปรุงโคนมเพื่อให้ได้โคนมสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศและการเลี้ยงดูในประเทศไทย"

"การขยายจำนวนโคให้เพียงพอกับความต้องการ นับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนมจนได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ ฟรีบรา ที่เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกรในประเทศไทย นับเป็นการส่งเสริมให้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาโคนม โคเนื้อให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว" ดร.ประวิชกล่าว



เป้าหมายที่หนึ่ง เป็นทางเลือกด้านโคนม...

โคฟรีบรา ดังกล่าว จะถูกใช้เป็นโคพื้นฐานในการพัฒนาพันธุ์โคนม ที่มีคุณสมบัติและความโดดเด่นคือ เลี้ยงดูง่าย ให้ลูกถี่ ให้นมพอดี มีผลผลิตยืนนาน เหมาะสำหรับการเลี้ยงดูและใช้ประโยชน์ในประเทศโดยให้ผลตอบแทนสูงสุด

การดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการ ได้คัดเลือกแม่โคของเกษตรกรที่มีคุณลักษณะตามกำหนด คือ เป็นแม่โคลูกผสมที่มีสายเลือดโคบราห์มัน 75 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป มาผสมเทียม ด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดี อย่างพันธุ์ไฮล์สไตน์ฟรีเชี่ยนแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อแม่โคของเกษตรกรให้ลูกออกมาแล้ว ทางโครงการได้รับซื้อลูกโคหย่านมคืนจากเกษตรกรในราคาประกัน

ลูกโคฟรีบราเพศเมียจะถูกเลี้ยงเป็นโคสาวและผสมด้วยน้ำเชื้อพันธุ์ดี และจำหน่ายโคสาวตั้งท้องให้กับเกษตรกร มาถึงปัจจุบัน โครงการผลิตโคฟรีบราได้ 830 ตัว และจำหน่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ว 470 ตัว โดยเป็นโคสาวและโครีดนม 150 ตัว

สำหรับโคฟรีบราที่ถูกนำไปเลี้ยงขณะนี้ มีทั้งในส่วนของเกษตรกรรายย่อยและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ในเขตจังหวัดลพบุรี บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู รวมทั้งในเขตอำเภอขามทะเลสอ ขามสะแกแสง และปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ทั้งนี้จากการติดตามและเก็บบันทึกข้อมูลการให้น้ำนมของโคฟรีบราในระยะการให้นมที่ 1 และ 2 ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ปากช่อง ฟาร์มของเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา และสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ขามทะเลสอ พบว่า ระยะการให้นมที่ 1 และ 2 โคฟรีบราเพศเมีย จะให้น้ำนม 11.6 และ 14.1 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ตามลำดับ

ทั้งนี้หากสรุปลักษณะเด่นของโคฟรีบราเพศเมีย จะพบว่า

หนึ่ง เลี้ยงดูง่าย โดยโคฟรีบราเป็นโคนมที่หากินเก่ง ใช้อาหารหยาบในแปลงหญ้าได้ดี ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี มีภูมิต้านทานโรคและพยาธิสูง ไม่สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลและยาบำรุง

สอง ได้ลูกถี่ เนื่องจากเป็นสัดและกลับเป็นสัดหลังคลอดเร็ว ผสมติดง่าย สามารถให้ลูกได้ปีละตัว ในสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกร

สาม ให้นมพอดี โคฟรีบราเพศเมียจะให้น้ำนมพอประมาณด้วยการเลี้ยงดูที่ใช้อาหารหยาบเป็นหลัก ทำให้ได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูง

สี่ มีผลผลิตยืนนาน โคฟรีบรามีอายุยืน ให้ลูกได้หลายตัว และให้น้ำนมในช่วงอายุได้มากและได้ราคาเมื่อขายปลดระวางเป็นโคเนื้อ

นายสารกิจ ถวิลประวัติ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนม กล่าวว่า ทางโครงการยังได้จัดการฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรด้วย เพราะมีเกษตรกรให้ความสนใจในโคฟรีบราเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีความแน่ใจในการเลี้ยงดู จึงจัดให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นและประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรทั้งในเรื่องพันธุ์ อาหาร การจัดการ ระบบการจัดการ การรีดนม การรักษาคุณภาพของน้ำนมสดก่อนส่งศูนย์รวมนม ตลอดจนสถานการณ์เลี้ยงโคนมในปัจจุบัน โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรจากอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอพิมาย อำเภอประทาย และกิ่งอำเภอบัวลาย จำนวน 40 คน เป็นรุ่นแรกแล้วที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง

สำหรับราคาของโคฟรีบราเพศเมียที่จำหน่ายให้กับเกษตรกรนั้น ถ้าเป็นประเภท ฟรีเชี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์ โคสาว อายุ 11-14 เดือน ราคาตัวละ 28,000 บาท โคตั้งท้อง 3 เดือน ขึ้นไป อายุ 16-21 เดือน ราคาตัวละ 33,000-35,000 บาท และโครีดนม อายุ 22 เดือน ขึ้นไป ราคาตัวละ 35,000 บาท ขณะที่ประเภท ฟรีเชี่ยน 75 เปอร์เซ็นต์ ลูกอายุแรกเกิดถึง 1 เดือน ราคาตัวละ 4,000 บาท อายุ 1-13 เดือน ราคากิโลกรัมละ 95 บาท โคสาว อายุ 13 เดือน ขึ้นไป ราคาตัวละ 30,000 บาท



เป้าหมายที่สอง เป็นทางเลือกด้านโคขุน...

สำหรับลูกโคฟรีบราเพศผู้ จะนำมาเลี้ยงขุนและจำหน่ายให้กับเกษตรกรต่อไป ในเวลานี้โคฟรีบราเพศผู้ได้ขยายตลาดมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากลูกโคฟรีบราเพศผู้ที่ได้จากโครงการนี้จะมีลักษณะเด่นคือ

หนึ่ง โตเร็ว ขุนได้ดี อัตราการเจริญเติบโตสูง

สอง เอวยาว ช่วงเอวยาวทำให้เนื้อสันมีปริมาณมาก

สาม อกใหญ่ ตัวใหญ่ ลำตัวลึก เนื้อหน้าอกลำตัวมาก

สี่ บั้นท้ายเต็ม มีเนื้อสะโพก และต้นขาเต็ม ทำให้ได้เนื้อส่วนนี้มาก

ทางโครงการได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโคขุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้โคฟรีบรา ซึ่งในเบื้องต้นได้ดำเนินการประเมินคุณลักษณะการให้เนื้อ โดยนำมาขุนและทดสอบซาก ด้วยการนำโคฟรีบราที่ได้รับการเลี้ยงดูในแปลงหญ้ามาเป็นระยะเวลา 19-20 เดือน แล้วนำมาขุนอีก 2 เดือน พบว่าเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงและพื้นที่หน้าตัดเนื้อสันมีความใกล้เคียงและอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเปรียบเทียบกับโคพันธุ์ลูกผสมบราห์มัน ลูกผสมชาร์โรเลส์ และโคมัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว โครงการได้ปรับแผนการผลิตและผสมพันธุ์โคฟรีบราให้มีลักษณะค่อนข้างเป็นโคเนื้อ โดยใช้น้ำเชื้อโคเนื้อพันธุ์ต่างๆ เช่น พันธุ์บราห์มันแดง พันธุ์ชาร์โรเลส์ พันธุ์ตาก และพันธุ์กำแพงแสน ปรากฏว่าโคลูกผสมดังกล่าวเป็นที่สนใจและต้องการของเกษตรกร โดยมีลูกค้าในกลุ่มหลัก เป็นสหกรณ์โคเนื้อและเอกชนผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ เช่น สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน ลุงเชาว์ฟาร์ม และบริษัท 505 เป็นต้น ถึงวันนี้ทางโครงการได้จำหน่ายโคฟรีบราเพศผู้ขุนแล้วทั้งสิ้น 326 ตัว

ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคฟรีบรา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โครงการวิจัยและพัฒนาธุรกิจการผลิตโคนม 1207 หมู่ 11 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทร. (044) 328-511, (044) 249-173





*แก้ปัญหาโคผสมไม่ติดด้วยเทคโนโลยีเหนี่ยวนำการตกไข่

การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่สร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมากกว่า 40 ปี ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนและรณรงค์ให้มีการบริโภคนมเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรวม 23,439 ครอบครัว มีจำนวนโคนมทั้งหมด 408,350 ตัว ให้ผลผลิตน้ำนม 2,045 ตัน ต่อวัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตน้ำนมในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ในปี 2547 ประมาณ 746,646 ตัน ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศสูงถึง 1.5-1.6 ตัน ต่อปี

ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมคือ ความสมบูรณ์พันธุ์ของแม่โคในฟาร์ม การเลี้ยงโคนมในประเทศเกือบทั้งหมดใช้วิธีผสมเทียม เพื่อปรับปรุงพันธุกรรมของแม่โค และลดภาระการเลี้ยงดูพ่อโค แต่ปัญหาที่มักพบคือ แม่โคไม่แสดงอาการเป็นสัด รวมทั้งปัญหาทางด้านระบบสืบพันธุ์

แม่โคจำนวนมากจึงพลาดโอกาสได้รับการผสมเทียมและตั้งท้อง

วิธีการแก้ไขปัญหาแบบหนึ่งคือ ใช้การเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องสังเกตอาการเป็นสัดของแม่โค

เทคโนโลยีนี้ได้พัฒนาและเริ่มประยุกต์ใช้ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี 2538 แต่วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและให้ผลไม่ดีนักในแม่โคที่เลี้ยงในประเทศไทย เนื่องจากความแตกต่างทางสรีรวิทยาของแม่โคที่เลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมตามเวลาที่กำหนด วิธีการนี้ได้ทดสอบมาแล้วระยะหนึ่งว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจและมีราคาถูก เพียงครั้งละ 200 บาท ถูกกว่าวิธีที่พัฒนาในมลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึง 5 เท่า ที่สำคัญอย่างยิ่งใช้ได้ผลค่อนข้างดีกับโคนมที่เลี้ยงในประเทศไทย

ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากให้ความสนใจกับเทคโนโลยี ซึ่งไบโอเทคได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการเหนี่ยวนำการตกไข่ให้กับแม่โค โดยให้ทางฟาร์ม สหกรณ์เป็นผู้ผสมเทียม โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้บริการไปแล้วกับสหกรณ์และบริษัทหลายแห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย และสหกรณ์โคนมปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์โคนมหนองโพ และสหกรณ์โคนมเขาขลุง จังหวัดราชบุรี รวมทั้งบริษัทที่ดำเนินกิจการฟาร์มโคนมขนาดใหญ่หลายแห่งได้นำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการเหนี่ยวนำการตกไข่และผสมเทียมแก่เกษตรกรรายย่อย ทำให้แม่โคของเกษตรกรที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์กลับมาตั้งท้องได้

พร้อมกันนี้ไบโอเทคได้ปรับเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้กับแม่โคเนื้อ และถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้แม่โคที่มีปัญหาการผสมพันธุ์ติดยากกลับมาตั้งท้องได้ การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้มูลค่าของแม่โคที่มีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์มีราคาเพิ่มขึ้นจากการเป็นโคคัดทิ้งที่มีราคาเพียงตัวละ 12,000-15,000 บาท กลายเป็นแม่โคที่มีมูลค่าถึงตัวละ 30,000-32,000 บาท

ติดต่อขอรับบริการได้ที่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 564-6700 ต่อ 3227



Create Date : 20 พฤษภาคม 2549
Last Update : 20 พฤษภาคม 2549 11:52:12 น.
Counter : 1664 Pageviews.

1 comments
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
  
ชื่อวิทยาศาสตร์ กับชื่อสามัญของตัวนี้คืออะไรหรอครับ
ขอความกรุณาช่วยตอบหน่อยได้ป่ะครับ
โดย: boss IP: 27.130.141.107 วันที่: 20 มีนาคม 2555 เวลา:23:02:57 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด