ข้าวฟ่างหวาน เป็นพืชอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ได้อย่างไร?
โดย รศ.ดร.กฤตพล สมมาตย์ และ รศ. ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Email : Kritapon@kku.ac.th //home.kku.ac.th/kritapon

ข้าวฟ่างหวาน เป็นพืชอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ได้อย่างไร?

ต้นทุนหลักในการเลี้ยงโคขุนหรือโคนมมากกว่า 60% เป็นค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนและภาวะวิกฤติราคาอาหารสัตว์แพงในปัจจุบัน จึงควรหาทางเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ให้ชีวมวลสูง มีคุณค่าทางโภชนะสมดุล มีราคาถูกและเพาะปลูกใช้ได้เอง ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ของเราชาวผู้เลี้ยงโคเนื้อ-โคนมครับ

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยการใช้ประโยชน์จากลำต้นข้าวฟ่างหวานเพื่อเป็นพืชอาหารสัตว์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 พบว่า ข้าวฟ่างหวาน (Sweet sorghum : Sorghum bicolor) เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ผลิตเอทานอล น้ำเชื่อม และอาหารสัตว์ จัดเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นจึงปลูกได้ปีละหลายครั้ง มีปริมาณน้ำตาลในลำต้นใกล้เคียงกับอ้อย จัดเป็นพืชที่มีคุณสมบัติทนแล้งได้ดีและให้ผลผลิตชีวมวลสูงกว่าต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 20-30% ค่าความหวานของข้าวฟ่างหวานแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 7.3-24.0 องศาบริกซ์ ผลผลิตต้นสดของข้าวฟ่างหวานแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันโดยมีค่าอยู่ระหว่าง 4-10 ตัน ต่อไร่ (ประสิทธิ์, 2549)

ข้าวฟ่างทั่วไปมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา จัดเป็นพืชที่ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเมล็ดเป็นอาหารมนุษย์และสัตว์ และยังใช้ลำต้นเป็นพืชอาหารสัตว์เป็นระยะเวลามายาวนาน ทั้งในแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศอินเดีย การใช้ลำต้นเลี้ยงสัตว์ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่เมล็ดอยู่ในระยะน้ำนม มีค่าความสามารถการย่อยได้ระหว่าง 52-65% DMD ค่าโปรตีนหยาบอยู่ในช่วง 5-12% CP ค่าเยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกลางอยู่ในช่วง 60-75% NDF ค่าเยื่อใยที่ไม่ละลายได้ในสารฟอกที่เป็นกรดอยู่ในช่วง 25-35% ADF (คุณค่าทางโภชนะของต้นข้าวฟ่างหวานเทียบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์บางชนิด ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ค่าความสามารถการย่อยได้ของเมล็ดข้าวฟ่างหมักมีค่ามากกว่า 90% ดังนั้น นอกเหนือจากความสามารถในการให้ผลผลิตต่อไร่สูงและทนแล้งแล้ว ต้นข้าวฟ่างหวานยังมีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสมสำหรับเป็นพืชอาหารโคเนื้อขุนและโคนมเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ปริมาณการใช้ข้าวฟ่างหวานในสูตรอาหารไม่ควรเกิน 50% และควรเสริมแหล่งโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ เพื่อให้เกิดความสมดุลของโภชนะกรณีการเลี้ยงโคนมที่ให้ผลผลิตสูง



วิธีการใช้ข้าวฟ่างหวานเป็นอาหารสัตว์

ต้นข้าวฟ่างหวานนิยมใช้ในรูปแบบการหมัก แต่ก็มีทางเลือกในการใช้เลี้ยงสัตว์ได้หลายรูปแบบ คือ ตัดให้กินสด ตากแห้ง และหมัก รวมทั้งการปล่อยแทะเล็มในแปลงหลังจากตัดครั้งแรกเมื่อเริ่มการแตกหน่อใหม่

การทำต้นข้าวฟ่างหวานหมัก (Silage) ควรเก็บเกี่ยวในขณะที่เมล็ดอยู่ในระยะน้ำนมหรืออายุหลังปลูกประมาณ 8-10 สัปดาห์ ซึ่งจะให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งและโปรตีนสูง โดยระดับโปรตีนจะลดต่ำลงเมื่อข้าวฟ่างมีอายุมากขึ้น การหมักควรมีความชื้นไม่เกิน 65-70% ข้าวฟ่างหวานมีขนาดลำต้นและใบใกล้เคียงกับต้นข้าวโพดแต่ให้ผลผลิตสูงกว่า อย่างไรก็ตาม คุณค่าทางโภชนะของต้นข้าวฟ่างหวานหมักต่ำกว่าต้นข้าวโพดหมักประมาณ 10-20% เนื่องจากมีสัดส่วนปริมาณเมล็ดต่ำกว่า แต่ข้าวฟ่างหวานหมักมีปริมาณเยื่อใยและโปรตีนหยาบสูงกว่า

การทำต้นข้าวฟ่างหวานตากแห้ง (Hay) จะให้ผลผลิตสูงควรเก็บเกี่ยวในขณะที่เมล็ดอยู่ในระยะแป้งอ่อน (Soft dough) เนื่องจากลำต้นมีความหวานจึงควรตากแดดให้แห้ง มีค่าความชื้นไม่เกิน 12% เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ดังนั้น จึงไม่เหมาะที่จะทำในช่วงฤดูฝนเนื่องจากดูแลลำบาก อาจทำให้คุณภาพต่ำเนื่องจากมีลำต้นขนาดใหญ่ ควรตัดให้ชิดดินเพื่อให้สามารถเกิดการแตกหน่อขึ้นใหม่จากตาที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะช่วยให้หน่อใหม่แข็งแรงกว่าหน่อที่งอกจากตาที่อยู่เหนือพื้นดิน โดยปกติแล้วจะสามารถไว้ตอได้อีก 1 ครั้ง

การใช้ต้นข้าวฟ่างหวานตัดสับให้กินสด (Green chop) เราสามารถตัดและสับให้กินแบบสดได้หลังจากออกดอก การสับช่วยให้มีความสม่ำเสมอและลดการเลือกกินของสัตว์ได้

การปล่อยแทะเล็มกินในแปลงปลูก (Pasture) ปล่อยเข้ากินในแปลงปลูกได้หลังจากอายุได้ 5-6 สัปดาห์ ควรใช้ระบบการปล่อยแทะเล็มแบบหมุนเวียนระยะสั้นภายใน 1 สัปดาห์ โดยกำหนดอัตราการปล่อยโคแทะเล็มจำนวนต่อหน่วยพื้นที่สูง (high stocking rate) ซึ่งการแทะเล็มจะช่วยลดความสูงของต้นข้าวฟ่างลงได้ต่ำกว่า 6-8 นิ้ว ภายในระยะเวลาสั้น ทำให้การแตกหน่อเร็วขึ้น



ข้อควรระวังและสารพิษในข้าวฟ่างหวาน

ข้าวฟ่างหวานมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสัตว์หากได้รับปริมาณมาก ชื่อ กรดไฮโดรไซยานิก (Cyanogenic glycosides หรือ Hydrogen cyanide, HCN หรือ prussic acid) กรดไฮโดรไซยานิกมีปริมาณและความเข้มข้นสูงในต้นอ่อนและหน่อที่งอกใหม่ ดังนั้น จึงแนะนำให้ตัดเก็บเกี่ยวมาเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยสัตว์แทะเล็มในแปลงปลูกเมื่อความสูงของต้นไม่ต่ำกว่า 2 ฟุต การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือปุ๋ยคอกสูงมีผลต่อการเพิ่มสารพิษไซยาไนด์และสารประกอบไนเตรต ซึ่งอาจสังเกตได้จากลำต้นอ่อนที่มีสีเขียวเข้ม อย่างไรก็ตาม สารพิษนี้สามารถระเหยออกจากพืชระหว่างการตากหรือผึ่งแดดกลางแจ้ง ดังนั้น ข้าวฟ่างหวานในรูปแบบหมักหรือตากแดดจะเหลือสารพิษตกค้างอยู่ต่ำมาก โดยทั่วไปสารพิษจะสลายหมดภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากการหมัก และการตากแดดให้แห้งนาน 2-3 วัน จะสามารถลดสารพิษ HCN จาก 119 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม เหลือ 9 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม นอกจากนี้แล้ว อาจพบสารพิษชนิดอื่นเหมือนกับที่เราพบในวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วไป หากตากแดดไม่แห้งหรือการปิดบ่อหมักไม่สนิท ทำให้มีเชื้อราเจริญเติบโตและสร้างสารบางชนิด เช่น อะฟลาท็อกซินและเซียราลีโนน เป็นต้น



คุณค่าทางโภชนะของข้าวฟ่างหวานที่ใช้เป็นพืชอาหารสัตว์

โดยทั่วไปมีคุณค่าทางโภชนะใกล้เคียงกับต้นข้าวโพดหมัก แต่ค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ต่ำกว่าต้นข้าวโพดหมักประมาณ 15-20% เนื่องจากมีสัดส่วนเมล็ดต่ำกว่า นอกจากนี้แล้ว ยังมีผิวเมล็ดที่แข็งกว่าทำให้การย่อยได้ต่ำ ค่าโปรตีนหยาบใกล้เคียงกับต้นข้าวโพดหมัก แต่อาจมีความแตกต่างผันแปรขึ้นอยู่กับระดับการใส่ปุ๋ยและอายุการเก็บเกี่ยว

ผลการวิจัย ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ส่วนประกอบทางเคมีของข้าวฟ่างหวานพันธุ์ใหม่ (มข. 40; : ซึ่งปรับปรุงพันธุ์โดย รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล) ที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8, 10, 12, 14, 16 และ 18 สัปดาห์ ประกอบด้วย วัตถุแห้ง (dry matter, DM), ash), อินทรียวัตถุ (organic matter, OM), เยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกลาง (neutral detergent fiber, NDF), เยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกรด (acid detergent fiber, ADF) และลิกนิน (acid detergent lignin, ADL) โปรตีนหยาบ (crude protein) และไขมันหยาบ (ether extract) ได้ผลดังรายละเอียด ในตารางที่ 2 และจากการประเมินค่าของพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ (Metabolizable energy, ME, MJ/kg) ของส่วนลำต้นที่ตัดเมื่ออายุ 8-18 สัปดาห์ มีค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้เพิ่มสูงขึ้นตามอายุการตัด หากพิจารณาโดยรวมร่วมกับการย่อยได้และการใช้ประโยชน์เลี้ยงโคขุนในสูตรอาหาร (ME = 10.5 MJ/kgDM; CP= 130 g/kgDM) แล้ว จะพบว่า อายุตัดไม่เกิน 10 สัปดาห์ จะให้คุณค่าทางโภชนะสูงเทียบเคียงได้กับหญ้าหรือถั่วอาหารสัตว์คุณภาพดี (ดูตารางที่ 2 และ 3) แร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสในข้าวฟ่างหวานโดยทั่วไปมีปริมาณสูงกว่าในต้นข้าวโพด นอกจากนั้นแล้ว ยังมีสัดส่วนที่เหมาะสมกว่าด้วย (ดูตารางที่ 1)

โดยสรุปแล้ว ข้าวฟ่างหวานจัดเป็นพืชที่ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่ในประเทศไทย หากพิจารณาด้านองค์ประกอบทางเคมี คุณค่าทางโภชนะและความสามารถในการย่อยได้ ต้นข้าวฟ่างหวานสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพืชอาหารสัตว์ได้ดีทั้งแบบแห้ง แบบสด และแบบหมัก อายุตัดไม่เกิน 8-10 สัปดาห์ มีคุณค่าทางโภชนะสูงเทียบเคียงกับพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพสูงทั่วๆ ไป



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2550 7:14:25 น.
Counter : 8649 Pageviews.

0 comments
ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มฟื้นคืนชีพ สวยสุดซอย
(12 เม.ย. 2567 14:13:40 น.)
เมนูยำมาม่า อร่อยรสแซ่บหลากสไตล์ทำกินง่ายทำขายดี สมาชิกหมายเลข 7986208
(29 มี.ค. 2567 17:26:43 น.)
โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 - "ฉุกละหุก" ทนายอ้วน
(28 มี.ค. 2567 14:24:52 น.)
เก๋งจีนดอกปลาดาว (Stapelia Gigantea) 2 ฟ้าใสวันใหม่
(27 มี.ค. 2567 08:42:58 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hoonvi.BlogGang.com

hoon_vi
Location :
ขอนแก่น  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]

บทความทั้งหมด